ตรวจสอบข้อมูลโดย : ผศ.พญ.ดิษจี ลุมพิกานนท์
กุมารแพทย์ สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล

 

ทารกไม่ถ่ายหรือถ่ายยาก เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็กเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กที่กินนมผงมักพบปัญหานี้มากกว่าเด็กที่กินนมแม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายใจของลูก และสร้างความกังวลใจให้คนเป็นแม่เป็นอันดับต้นๆ เมื่อทารกไม่ถ่ายหรือถ่ายยากคุณแม่ก็อาจมีคำถามว่าลูกของตนกำลังมีปัญหาท้องผูกอยู่หรือไม่ เรามาหาคำตอบกันว่าอาการทารกไม่ถ่ายหรือถ่ายยากแบบไหนที่เรียกว่า “ท้องผูก”

ธรรมชาติการขับถ่ายของทารก

ก่อนอื่นเรามารู้จักธรรมชาติการขับถ่ายของทารกกันสักนิด ในช่วงสัปดาห์แรก ทารกจะถ่ายบ่อย คือประมาณ 8-10 ครั้ง แตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน โดยเด็กที่กินนมแม่จะถ่ายบ่อยกว่าเด็กที่กินนมผง และอุจจาระที่ถ่ายออกมาจะนิ่มหรือเหลว ขณะที่เด็กกินนมผงจะถ่ายน้อยครั้งกว่า ลักษณะของอุจจาระจะแข็งและเป็นรูปทรงมากกว่า เมื่ออายุมากขึ้นจำนวนการถ่ายก็จะลดลง เนื่องจากร่างกายมีการดูดซึมเพิ่มมากขึ้น หรืออาจเรียกได้ว่าร่างกายมีการกักเก็บกากสารอาหารที่มากขึ้นนั่นเอง เด็กบางคน 2-3 วันอาจจะถ่ายสักครั้งก็ได้ แต่จำนวนการถ่ายที่ลดลงก็ไม่ได้บอกว่าลูกท้องผูกหรือถ่ายยาก

ลูกถ่ายยาก อาจเป็นเพราะมีความผิดปกติในทางเดินอาหาร ซึ่งอาจมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป

 

ดังนั้นอาการไหนบ้างที่อาจแสดงว่าลูกท้องผูก

  • ไม่ค่อยถ่าย

    จำนวนการขับถ่ายแต่ละวันของเด็กแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน บางคนถ่ายมากบางคนถ่ายน้อย หากสังเกตว่าลูกถ่ายยาก อุจจาระน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ อาจเป็นสัญญาณของท้องผูกได้

  • อุจจาระเป็นก้อนแข็ง

    หากลักษณะอุจจาระที่ลูกถ่ายออกมาเป็นก้อนแข็ง แห้ง หรือถ่ายเป็นเม็ดแข็ง แม้ลูกจะถ่ายทุกวัน ลักษณะอุจจาระแบบนี้อาจเป็นสัญญาณว่าลูกท้องผูกได้ ในทางกลับกัน หาก 2-3 วัน ถ่ายหนึ่งครั้งแต่อุจจาระนิ่มไม่แข็งก็ไม่เรียกว่าท้องผูก

  • มีเลือดปนอุจจาระ

    เด็กที่ท้องผูกอาจมีเลือดปนมากับอุจจาระได้ เนื่องจากผนังทวารหนักฉีกขาดจากการออกแรงเบ่งอุจจาระ เมื่อการเบ่งทำให้เจ็บ เด็กจึงไม่อยากเบ่ง นั่นทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการท้องผูกเรื้อรัง

  • ต้องเบ่งถ่าย

    พ่อแม่ควรสังเกตว่าขณะถ่ายลูกต้องออกแรงเบ่งอุจจาระมากกว่าปกติ ลูกถ่ายยาก หรือมีอาการเจ็บขณะถ่ายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การเบ่งถ่ายอาจพบได้ในทารกปกติที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน โดยทารกอาจมีการเบ่งถ่าย หรือบางครั้งมีร้องหรือหน้าแดงร่วมด้วย แต่อุจจาระมีลักษณะนิ่มหรือเหลว โดยมักมีอาการเริ่มต้นในเดือนแรกและหายได้เอง ลักษณะแบบนี้ไม่ใช่อาการท้องผูก

  • กินอาหารได้น้อย

    ลูกจะไม่ค่อยกินนมหรืออาหาร กินน้อย และมักรู้สึกอิ่มเร็ว เนื่องจากอึดอัดและไม่สบายท้องจากการไม่ได้ขับถ่ายของเสียเดิมออกมา

  • ท้องตึงแข็ง

    ลักษณะท้องของลูกจะตึง แน่น หรือแข็ง ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นร่วมกับการท้องผูก

     

คุณแม่ลองสังเกตลูกน้อยนะคะว่าเข้าข่ายข้อใดบ้าง แล้วปรึกษาแพทย์เมื่อสงสัยว่าลูกท้องผูกหรือไม่ สิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรตระหนักคือ จำนวนของการอุจจาระในแต่ละวันไม่ได้บอกว่าลูกท้องผูก สิ่งสำคัญคุณแม่ต้องดูลักษณะของอุจจาระลูกว่าแข็งทำให้ลูกถ่ายลำบาก ต้องออกแรงเบ่ง และมีเลือดปนออกมาหรือไม่ เด็กบางคนถ่ายทุกวัน แต่หากลักษณะอุจจาระเข้าข่ายดังกล่าวถือว่าท้องผูกถ่ายยาก เด็กบางคน 2-3 วันอาจจะถ่ายสักครั้ง แต่ถ้าอุจจาระนิ่ม ถ่ายง่าย ถ่ายคล่องก็ไม่ถือว่าท้องผูก

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ข้อควรระวังเมื่อทารกไม่ถ่าย ถ่ายยาก หรือท้องผูก

เมื่อลูกไม่ถ่าย ถ่ายยาก หรือท้องผูก หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว จะนำไปสู่ปัญหาท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของเขา เพราะเขาจะเกิดความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว เช่น เด็กบางคนกินนมได้น้อย อิ่มเร็ว เพราะอึดอัดจากการไม่ได้ขับถ่ายของเสียเดิมออกมา ทำให้มีน้ำหนักน้อย ไม่โตตามวัย (พัฒนาการด้านร่างกาย) งอแง หงุดหงิดง่าย (พัฒนาการด้านอารมณ์) ไม่สนใจเรียนรู้สิ่งรอบตัว (พัฒนาการด้านสติปัญญาและการเรียนรู้) เป็นต้น

เมื่อพบว่าทารกไม่ถ่าย ถ่ายยาก หรือท้องผูก คุณแม่สามารถให้การดูแลเบื้องต้นได้เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาดังกล่าว

วิธีดูแลเบื้องต้น เมื่อทารกไม่ถ่าย ถ่ายยาก หรือท้องผูก

  • ให้ทารกกินนมแม่

    ทารกที่กินนมแม่จะมีปัญหาไม่ถ่าย ถ่ายยาก หรือท้องผูกน้อยกว่าทารกที่กินนมผง

  • ชงนมตามสัดส่วนที่แนะนำ

    หากมีความจำเป็นต้องกินนมผง ควรชงนมให้ได้สัดส่วนตามคำแนะนำข้างกล่องผลิตภัณฑ์นมชนิดนั้นๆ ไม่ชงนมเข้มหรือจางจนเกินไป

  • เลือกนมสูตรที่มีใยอาหารช่วยย่อย

    หากกินนมผงแล้วลูกไม่ถ่าย ถ่ายยาก หรือท้องผูก คุณแม่สามารถเลือกนมสูตรที่มีใยอาหารช่วยในการย่อย อย่างเช่น พีดีเอ็กซ์ (PDX) และ กอส (GOS) ซึ่งเป็นเส้นใยอาหารคุณภาพ และมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก ซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์สุขภาพที่มีอยู่ในลำไส้ใหญ่ ด้วยโครงสร้างของพีดีเอ็กซ์ที่ซับซ้อนกว่าไฟเบอร์ชนิดอื่น จึงทำให้กระบวนการย่อยเป็นไปอย่างช้าๆ ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของจุลินทรีย์สุขภาพ ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ได้อย่างทั่วถึง เป็นการรักษาสมดุลในลำไส้ ขณะที่กอส ก็จะช่วยกระตุ้นและเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เด็กระบบขับถ่ายที่ดี ไม่มีปัญหาท้องผูกแล้ว ยังเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับเด็กอีกด้วย

  • เพิ่มน้ำ ผัก ผลไม้

    หากลูกอยู่ในวัยกินอาหารเสริมตามวัยแล้ว ควรให้ลูกกินน้ำให้มากขึ้น และเพิ่มเมนูอาหารที่เป็นผักให้มากขึ้น ให้ลูกกินผลไม้ช่วยย่อย เช่น ส้ม มะละกอสุก มะม่วงสุก ฯลฯ ระหว่างมื้อทุกวัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คุณแม่ควรเข้าใจก็คือเด็กไม่จำเป็นต้องถ่ายอุจจาระทุกวัน เพราะระบบขับถ่ายของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน สิ่งสำคัญที่ควรสังเกตคือ แม้ไม่ได้ถ่ายทุกวัน แต่ถ้าลูกยังร่าเริง มีสุขภาพแข็งแรง น้ำหนักขึ้นดี ไม่แสดงอาการอึดอัดขณะที่ถ่าย รวมถึงลักษณะของอุจจาระยังนิ่ม ขับถ่ายสะดวก ก็แสดงว่าลูกไม่ได้ท้องผูก คุณแม่ยังไม่ต้องกังวล แต่หากพบว่าลูกมีอาการเข้าข่ายของอาการท้องผูกถ่ายยาก การแก้ไขปัญหาทารกไม่ถ่าย ถ่ายยาก หรือท้องผูกแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ลูกกลับมาขับถ่ายเป็นปกติได้ แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษากุมารแพทย์เพื่อช่วยวินิจฉัยและรักษาค่ะ

อึไม่ออก ต้องทำยังไง พบคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญได้ที่นี่