Enfa สรุปให้
- ท้อง 4 เดือนนี้ คุณแม่จะสัมผัสถึงอาการคนท้องได้หลายอย่าง และสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะหน้าท้องเริ่มป่องมากขึ้น เนื่องจากมดลูกเริ่มขยายตัวเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์มากขึ้นแล้ว
- ในช่วงท้อง 4 เดือนหรือราว ๆ สัปดาห์ที่ 14 -17 เป็นอีกหนึ่งช่วงที่สำคัญสำหรับลูกน้อย เพราะเป็นช่วงเวลาที่สมองและสายตาของทารกกำลังเริ่มพัฒนา แต่ทารกจะยังมองเห็นได้ไม่ชัดนัก จนกว่าจะคลอดออกมาแล้วสักพักหนึ่ง
- มากไปกว่านั้น รอยแยกบนสมองส่วนนอกก็กำลังเริ่มพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน สมองส่วนนี้จะเติบโตขึ้นเป็นส่วนที่ทำหน้าที่จดจำ ควบคุมทักษะด้านภาษา และการรับรู้ ซึ่งสมองของทารกในครรภ์จะมีเซลล์ประสาทกว่า 100 ล้านเซลล์ ที่คอยทำหน้าที่ควบคุมประสาทการมองเห็น แม้ว่าจะเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นแต่จอประสาทตาของทารกก็อาจไวต่อแสงจ้าแล้ว
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• ท้อง 4 เดือน นับจากอะไร
• อาการคนท้อง 4 เดือน เป็นอย่างไร
• ปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์ 4 เดือน
• ร่างกายของคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 4 เดือน
• อัลตราซาวนด์ท้อง 4 เดือน
• พัฒนาการทารกในครรภ์ 4 เดือน
• เช็กลิสต์สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 4 เดือน
• ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์ 4 เดือนกับ Enfa Smart Club
เมื่อตั้งท้องมาถึง 4 เดือน ถือว่าคุณแม่เข้าสู่ครึ่งทางของการตั้งครรภ์แล้ว และเดือนที่ 4 ก็ถือเป็นเดือนแรกของการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 ระยะนี้คุณแม่หลาย ๆ คนก็จะเริ่มสังเกตเห็นอาการคนท้องที่เห็นชัดเจนมากขึ้น
ในช่วงท้อง 4 เดือนนี้ จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายอย่าง รวมถึงทารกในครรภ์เองก็เริ่มมีพัฒนาการที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย บทความนี้จาก Enfa มีสาระดี ๆ สำหรับคุณแม่ที่อายุครรภ์ 4 เดือนมาฝากค่ะ
ท้อง 4 เดือน แปลว่าอะไร อายุครรภ์ 4 เดือน นับจากอะไร
ท้อง 4 เดือน คือ คุณแม่มีอายุครรภ์ได้ 4 เดือนแล้ว และมีอายุครรภ์ระหว่าง 14-17 สัปดาห์ นับว่าเป็นเดือนแรกของการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 โดยอายุครรภ์ของคุณแม่จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือนครั้งล่าสุด
จากนั้นก็จะนับเพิ่มสัปดาห์ถัดไปเรื่อย ๆ เป็น 2 เดือน 3 เดือน เรื่อยไปจนกระทั่ง 9 เดือน ซึ่งจะเป็นช่วงไตรมาสสาม และใกล้จะมีการคลอดเกิดขึ้น
อาการคนท้อง 4 เดือน เป็นยังไงบ้าง
อายุครรภ์ 4 เดือนนี้ คุณแม่จะสัมผัสถึงอาการคนท้องได้หลายอย่าง และสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะหน้าท้องเริ่มป่องมากขึ้น เนื่องจากมดลูกเริ่มขยายตัวเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์มากขึ้นแล้ว มากไปกว่านั้น คนท้อง 4 เดือนยังอาจพบกับอาการดังต่อไปนี้ในขณะตั้งครรภ์ด้วย
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
- แสบร้อนกลางอก และอาหารไม่ย่อย
- ปวดหลัง
- เริ่มมีรอยแตกที่หน้าท้องมากขึ้น
- เริ่มมีปัญหาเส้นเลือดขอด
- มีอาการหายใจถี่บ่อยขึ้น
- จมูกบวม มีอาการคัดจมูก
- มีอาการระคายเคืองที่เหงือก หรือมีเลือกออกตามเหงือก
- ท้องผูก
- มีอาการปวดบริเวณเส้นเอ็นที่อยู่ด้านข้างมดลูก
ซึ่งกลุ่มอาการจำพวก เส้นเลือดขอด เลือดออกตามเหงือก เกิดขึ้นเพราะว่าร่างกายของคุณแม่ในอายุครรภ์ 4 เดือนนี้มีการไหลเวียนของเลือดมากขึ้น และอาการเช่นนี้จะดำเนินต่อไปจนถึงไตรมาส 3 ของการตั้งครรภ์ด้วย
ปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์ 4 เดือน
อาการท้อง 4 เดือน ปวดท้องน้อยนั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่น่าวิตกกังวล และสาเหตุที่ไม่ได้เป็นอันตราย ดังนั้น หากมีอาการปวดท้องน้อยเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ควรไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรับการรักษา
ร่างกายของคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 4 เดือน มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
คนท้อง 4 เดือน ท้องใหญ่แค่ไหน: เข้าใจลักษณะหน้าท้องของคนท้อง 4 เดือน
หลังจากยืนงก ๆ เงิ่น ๆ อยู่หน้ากระจกมากว่า 3 เดือน เพื่อคอยสังเกตว่าหน้าท้องใหญ่ขึ้นบ้างหรือยังนะ แต่เมื่อถึงเดือนที่ 4 นี่แหละค่ะ ที่คุณแม่จะเริ่มเห็นว่าหน้าท้องมีการขยายตัวขึ้นมาบ้างแล้ว มากไปกว่านั้น คุณแม่ก็จะเห็นได้ว่าเริ่มมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม หน้าท้องของอายุครรภ์ 4 เดือน ก็ไม่ได้ใหญ่ชนิดที่ว่าเท่าลูกแตงโมหรือลูกมะพร้าวขนาดนั้นหรอกค่ะ แต่จะเริ่มใหญ่ขึ้นเล็กน้อย และสามารถสังเกตเห็นได้ แต่...ก็ไม่ใช่คุณแม่อายุครรภ์ 4 เดือนทุกคนนะคะที่จะเริ่มเห็นว่าหน้าท้องขยายใหญ่ขึ้น เพราะร่างกายคุณแม่แต่ละคนนั้นต่างกันค่ะ
และนอกจากปัจจัยในเรื่องของอายุครรภ์แล้ว ขนาดของหน้าท้องตอนตั้งครรภ์ก็ยังขึ้นอยู่กับสรีระ ส่วนสูง น้ำหนัก และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวด้วย ดังนั้น ในช่วงเดือนที่ 4 ของการตั้งครรภ์นี้คุณแม่อาจจะมีหน้าท้องที่ขยายขึ้นเล็กน้อยหรือไม่ก็ได้ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ
ท้อง 4 เดือน น้ำหนักควรเพิ่มขึ้นกี่กิโลกรัม
คุณแม่แต่ละคนมีน้ำหนักตัวที่แตกต่างกัน นั่นทำให้น้ำหนักที่จะต้องเพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งก่อนจะรู้ว่าน้ำหนักแม่ตั้งครรภ์ควรจะเพิ่มน้ำหนักขึ้นเท่าไหร่ในแต่ละไตรมาส คุณแม่จะต้องคำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย BMI ของตัวเองเสียก่อน
เมื่อได้ค่า BMI มาแล้ว น้ำหนักของคุณแม่ในแต่ละไตรมาสจะมีการเพิ่มขึ้นที่แตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปแล้ว สำหรับคุณแม่ที่มีค่า BMI ปกติ จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในแต่ละไตรมาส ดังนี้
- ไตรมาสที่ 1 ไตรมาสแรกนี้ทารกยังตัวเล็กอยู่ คุณแม่ยังไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มน้ำหนักให้มากเกินกว่า 1-2 กิโลกรัม
- ไตรมาสที่ 2 ระยะนี้ทารกมีขนาดตัวที่โตขึ้น ทำให้คุณแม่อาจจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นราว ๆ 5-6 กิโลกรัม
- ไตรมาสที่ 3 ไตรมาสสุดท้ายทารกมีขนาดตัวที่พร้อมสำหรับการคลอดที่เริ่มใกล้มาถึง โดยจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 3.5-4.5 กิโลกรัม แต่เนื่องจากเป็นช่วงที่ทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น คุณแม่บางคนอาจอึดอัดท้องจนกินอะไรได้น้อยลง
ในช่วงไตรมาสที่สามคุณแม่บางคนมีน้ำหนักที่ลดลง หากน้ำหนักลดลงมาไม่กี่กิโลกรัมก็อย่าตกใจ ถือเป็นเรื่องปกติ
อัลตราซาวนด์ท้อง 4 เดือน คุณแม่จะเห็นอะไรบ้างนะ?
เมื่อทำอัลตราซาวนด์ในอายุครรภ์ 4 เดือนนี้ คุณแม่จะได้เห็นหัวใจของลูกน้อยเต้น เริ่มเห็นนิ้วมือ นิ้วเท้า แขนและขาของทารกชัดขึ้น นอกจากนี้คุณแม่อาจจะยังได้เห็นสมอง กระดูกสันหลัง และทราบเพศที่แน่นอนของลูกด้วยเช่นกัน
ทารกจะเริ่มพัฒนาประสาทสัมผัส และอาจเริ่มสำรวจท้องของคุณแม่จากในครรภ์ คุณแม่สามารถรับรู้ได้ถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในเวลาที่เขาจับสายสะดือ ดูดนิ้ว หรือเริ่มเตะ ซึ่งทั้งหมดเป็นการฝึกประสาทสัมผัสของเขานั่นเอง
ขนาดและน้ำหนักทารกในครรภ์ 4 เดือน
ในช่วง ท้อง 4 เดือนนี้ ทารกจะมีขนาดประมาณ 12.7 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 113 กรัม หรือขนาดประมาณเท่าผลอะโวคาโด และทารกจะมีขนาดที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละสัปดาห์ ดังนี้
อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ มีขนาดเท่ากับส้ม
อายุครรภ์ 15 สัปดาห์ มีขนาดเท่ากับลูกแพร์
อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ มีขนาดเท่ากับผลอะโวคาโด
อายุครรภ์ 17 สัปดาห์ มีขนาดเท่ากับหอมหัวใหญ่
ท้อง 4 เดือนลูกอยู่ตรงไหน
หลังการปฏิสนธิ ตัวอ่อนหรือทารกจะเคลื่อนตัวไปที่ท่อนำไข่ และผ่านไปถึงมดลูกที่อยู่บริเวณอุ้งเชิงกราน ก่อนจะทำการฝังตัวอ่อนลงในโพรงมดลูก และเริ่มกระบวนการเจริญเติบโตต่อไป โดยทารกอายุครรภ์ 4 เดือนก็จะเติบโตเป็นทารกในโพรงมดลูกที่มีการขยายตัวใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
แล้วท้องแฝด 4 เดือน จะเป็นยังไงบ้างนะ
สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด ทารกแต่ละคนก็จะมีพัฒนาการเหมือนกับการตั้งครรภ์ลูกคนเดียวตามปกติ ทั้งน้ำหนักและขนาดตัว เพียงแต่พัฒนาการของทารกแฝดในครรภ์นั้น จะเป็นพัฒนาการแบบคูณสอง เพราะว่ามีทารกในครรภ์มากกว่า 1 คน ดังนั้น พัฒนาการของทารกในครรภ์ ก็จะเป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน 2 คน
พัฒนาการทารกในครรภ์ 4 เดือนที่คุณแม่ควรรู้
ในช่วงอายุครรภ์ 4 เดือนหรือสัปดาห์ที่ 14 -17 เป็นอีกหนึ่งช่วงที่สำคัญสำหรับลูกน้อย เพราะเป็นช่วงเวลาที่สมองและสายตาของทารกกำลังเริ่มพัฒนา แต่ทารกจะยังมองเห็นได้ไม่ชัดนัก จนกว่าจะคลอดออกมาแล้วสักพักหนึ่ง
มากไปกว่านั้น รอยแยกบนสมองส่วนนอกก็กำลังเริ่มพัฒนาไปพร้อมๆ กัน สมองส่วนนี้จะเติบโตขึ้นเป็นส่วนที่ทำหน้าที่จดจำ ควบคุมทักษะด้านภาษา และการรับรู้
โดยสมองของลูกน้อยในครรภ์จะมีเซลล์ประสาทกว่า 100 ล้านเซลล์ ที่คอยทำหน้าที่ควบคุมประสาทการมองเห็น แม้ว่าจะเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นแต่จอประสาทตาของทารกก็อาจไวต่อแสงจ้าแล้ว มากไปกว่านั้น ก็ยังพบว่าทารกมีพัฒนาการอื่น ๆ ที่สำคัญร่วมด้วย ได้แก่
- อวัยวะเพศชัดขึ้น และสามารถมองเห็นอวัยวะเพศผ่านการอัลตร้าซาวด์ได้อย่างชัดเจน
- ผมเริ่มยาวขึ้น
- ทารกเพศชายเริ่มมีการพัฒนาต่อมลูกหมาก
- สำหรับทารกเพศหญิง รังไข่จะเริ่มเคลื่อนตัวจากช่องท้องไปอยู่ที่อุ้งเชิงกราน และรังไข่เริ่มมีการผลิตไข่ขึ้นมาหลายแสนฟอง
- เริ่มมีการสร้างเพดานในปาก
อาหารบํารุงครรภ์ 4 เดือนที่คุณแม่ควรรับประทาน
หากจะถามว่า ท้อง 4 เดือนควรกินอะไร ก็แน่นอนว่าจะต้องเป็นอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย ดังนี้
- โฟเลตหรือกรดโฟลิก เป็นสารอาหารมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาสมองและไขสันหลังของทารก และคุณแม่ควรได้รับโฟเลตอย่างเพียงพอในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาหารที่อุดมด้วยโฟเลต ได้แก่ บร็อคโคลี่ ผลไม้รสเปรี้ยว ถั่ว ถั่ว ถั่วเลนทิล อะโวคาโด กะหล่ำดาว กระเจี๊ยบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง และผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักโขมและคะน้า
- ดีเอชเอ DHA (Docosahexaenoic Acid) คือ กรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท นอกจากนี้ยังอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์บางอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้อีกด้วย อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น คุณแม่ควรกินอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้ง หรือดื่มนมสูตรเสริมดีเอชเอก็ดีเช่นกันค่ะ
- ไอโอดีน หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ อาจทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายผิดปกติ และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ได้ ซึ่งไอโอดีนอยู่ในจำพวกอาหารทะเลทุกชนิด ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา
- คาร์โบไฮเดรต การกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยลดอาการแพ้ท้องในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากเป็นสารอาหารที่ย่อยง่าย และให้พลังงานสูง ช่วยลดอาการคลื่นไส้ อย่างไรก็ตาม คนท้องไม่ควรกินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป เพราะอาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนระหว่างตั้งครรภ์ได้
- โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น จัดว่าเป็นอีกหนึ่งสารอาหารสำคัญที่คุณแม่ควรได้รับจากการกินอาหารในแต่ละวัน เพราะโคลีนมีส่วนสำคัญในการบำรุงระบบประสาทและสมอง ช่วยพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ การกินอาหารที่ให้สารโคลีนอย่างเพียงพอจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ได้
- ไฟเบอร์ เป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญที่ไม่ว่าจะเป็นแม่ก่อนคลอด แม่อุ้มท้อง แม่หลังคลอด หรือแม่ให้นมลูกก็ควรได้รับอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างตั้งครรภ์ ควรกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเป็นประจำ เพราะไฟเบอร์จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ไฟเบอร์ยังช่วยลดความเสี่ยงของความดันโลหิตสูงและอาจช่วยป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้อีกด้วย โดยสามารถได้ไฟเบอร์จากอาหารจำพวกผักและผลไม้ต่าง ๆ
- สังกะสี เป็นแร่ธาตุสำคัญที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทที่แข็งแรง อาหารที่อุดมด้วยสังกะสี เช่น เนื้อวัว ผักโขม จมูกข้าวสาลี เห็ด หอยนางรม เนื้อแกะ เมล็ดฟักทองและสควอช ไก่ ถั่ว เป็นต้น
- โปรตีน เป็นส่วนประกอบสำคัญของดีเอ็นเอ เนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อ ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเอนไซม์ในร่างกายและจำเป็นสำหรับการพัฒนาที่เหมาะสมของทารกในครรภ์อาหารที่อุดมด้วยโปรตีน เช่น พืชตระกูลถั่ว คีนัว ถั่วเลนทิล ไก่ เนยถั่ว เนื้อสัตว์ และถั่วเหลือง เป็นต้น
- กรดไขมันโอเมก้า 3 มีความจำเป็นต่อการพัฒนาดวงตาและสมองในทารกในครรภ์ และมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพของหัวใจ การทำงานที่เหมาะสมของระบบสืบพันธุ์ และการเจริญเติบโตของผิวหนัง ผม และกระดูก อาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า เช่น น้ำมันพืช ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ถั่วเหลือง ถั่วและธัญพืชต่าง ๆ เป็นต้น
- ธาตุเหล็ก สำคัญต่อกระบวนการสร้างเม็ดเลือดและการลำเลียงออกซิเจนไปยังทารก หากคุณแม่ได้รับแคลเซียมน้อย ก็จะส่งผลให้การลำเลียงออกซิเจนไปยังทารกได้น้อย ซึ่งหากทารกได้ออกซิเจนน้อย ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโต ทั้งยังเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางอีกด้วย อาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก เช่น เนื้อสัตว์ ปลา เต้าหู้ ตับ ถั่วเหลือง ธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น ข้าวกล้อง ถั่วและเมล็ดพืช ผักใบเขียวเข้ม ผลไม้แห้ง และไข่ เป็นต้น
- วิตามินซี หากธาตุเหล็กเป็นสารอาหารสำคัญที่ขาดไม่ได้ วิตามินซีก็เป็นอีกหนึ่งคู่ดูโอ้ของธาตุเหล็กที่ไม่ควรห่างกัน เพราะวิตามินซีจะทำหน้าที่สำคัญในการการดูดซึมธาตุเหล็กในร่างกาย ช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้อย่างเพียงพอ อาหารที่อุดมด้วยวิตามินซี ได้แก่ พริกเขียวและแดง มะเขือเทศ มันเทศ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดาว กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี และผักใบเขียว เป็นต้น
- วิตามินดี เป็นสารอาหารที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกัน การพัฒนาฟันและกระดูกที่แข็งแรง และการแบ่งเซลล์ที่แข็งแรงในทารก อาหารที่อุดมด้วยวิตามินดี เช่น ปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ไข่แดง น้ำมันตับปลา และนมหรือซีเรียลเสริมวิตามินดี
- วิตามินบี 6 มีสรรพคุณช่วยลดอาการคลื่นไส้และอาเจียน อาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี 6 เช่น เนื้อไม่ติดมัน สัตว์ปีก ไข่ ผลไม้รสเปรี้ยว พืชตระกูลถั่ว ถั่วเหลือง ถั่ว เมล็ดพืช และอะโวคาโด
หรือกลุ่มอาหารที่คุณแม่ควรจะเน้นรับประทานให้เพียงพออยู่ตลอดการตั้งครรภ์ มีดังนี้
- ผักต่าง ๆ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรที่จะต้องกินผักหรือมีผักอย่างน้อย 3 ถ้วยต่อวัน เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของแม่และทารกในครรภ์ และควรเลือกผักหลากสี หลากชนิดเพื่อให้ได้รับสารอาหารและรสชาติที่หลากหลาย เช่น คะน้า ผักโขม บร็อคโคลี่ มันเทศ มะเขือเทศ แครอท ฟักทอง พริกหยวก ข้าวโพด มะเขือม่วง กะหล่ำปลี ไม้ตีกลอง เป็นต้น
- ผลไม้ต่าง ๆ เนื่องจากผลไม้มีสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระมากมายที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดีของทารก ซึ่งผลไม้สดจะให้คุณค่าทางสารอาหารที่ดีกว่าน้ำผลไม้และผลไม้กระป๋องหรือผลไม้แช่แข็ง โดยผลไม้ที่เหมาะกับแม่ตั้งครรภ์ เช่น เมล่อน อะโวคาโด ทับทิม กล้วย ฝรั่ง ส้ม มะนาวหวาน สตรอเบอร์รี่ และแอปเปิ้ล เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม เพราะผลิตภัณฑ์จากนมนั้นถือเป็นแหล่งแคลเซียมชั้นดี ซึ่งแคลเซียมนั้นสำคัญมากสำหรับการพัฒนากระดูกที่แข็งแรงและแข็งแรง โดยคุณแม่สามารถได้รับแคลเซียมจากอาหารหลากหลายชนิด เช่น นม โยเกิร์ต และชีสแข็ง เป็นต้น
นมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ อีกหนึ่งอาหารคนท้องที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพการตั้งครรภ์ที่แข็งแรงได้
บางครั้งคุณแม่หลาย ๆ คนอาจจะมีปัญหาเรื่องของการแพ้นมวัว หรือแพ้นมจากพืชชนิดอื่น ๆ นมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีที่จะช่วยเสริมสุขภาพสำหรับแม่ตั้งครรภ์ ที่สำคัญคือควรเลือกนมสำหรับคนท้องที่มี DHA และโฟเลตสูง ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญสำหรับแม่ตั้งครรภ์
- DHA ซึ่งเป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากการกินอาหาร โดย DHA มีสำคัญต่อกระบวนการสร้างเซลล์ต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ เช่น สมอง ผิวหนัง ดวงตา ทั้งยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์บางอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือโรคซึมเศร้าหลังคลอด
- โฟเลต ซึ่งเป็นกลุ่มวิตามินบีที่สำคัญมาก หากคุณแม่ได้รับโฟเลตไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้ลูกน้อยเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทได้ เพราะโฟเลตทำหน้าที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง คุณแม่ตั้งครรภ์ในเดือนแรกจำเป็นต้องได้รับโฟเลตเพื่อช่วยในการสร้างหลอดประสาท และสมองที่สมบูรณ์ของทารก
เช็กลิสต์สำหรับแม่ท้อง 4 เดือน จะถึงครึ่งทางแล้วนะคุณแม่
ก่อนอื่นขอแสดงความยินดีกับคุณแม่ทุกท่านเลยค่ะ สำหรับการเดินทางที่ยาวนานกว่า 9 เดือนนี้ ในที่สุดคุณแม่ก็มาถึงครึ่งทางของการตั้งครรภ์แล้ว ซึ่งในอายุครรภ์ 4 เดือนนี้ คุณแม่ก็ยังคงมีหลาย ๆ สิ่งที่จะต้องคำนึงถึง ได้แก่
- เริ่มมองหาชุดคลุมท้อง หรือเริ่มเปลี่ยนมาสวมเสื้อผ้าที่หลงมมากขึ้น เพราะหน้าท้องจะเริ่มขยายใหญ่ขึ้นตั้งแต่เดือนที่ 4 เป็นต้นไป
- หากคุณแม่มีประวัติการโยกย้ายที่อยู่อาศัยบ่อย ในช่วงเดือนที่ 4 นี้ คุณแม่ควรจะเริ่มมีการลงหลักปักฐานจนกว่าจะคลอดได้แล้วนะคะ หรือควรเลือกที่อยู่อาศัยที่ใกล้โรงพยาบาล เพื่อที่ว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือใกล้คลอดขึ้นมา จะได้ไปโรงพยาบาลได้ทันเวลาค่ะ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย เพื่อให้ร่างกายของแม่และทารกในครรภ์ได้รับสารอาหารที่เพียงพอและเหมาะสมกับการเจริญเติบโต
- ดูแลเรื่องของน้ำหนัก เพราะระยะนี้คุณแม่เริ่มที่จะมีน้ำหนักขึ้นมาบ้างแล้วเล็กน้อย แต่ควรระวังอย่าให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเกินไป เพราะอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์อื่น ๆ ได้ เช่น โรคอ้วน เบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพราะภาวะขาดน้ำนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในการตั้งครรภ์ หมั่นจิบหรือดื่มน้ำอยู่เสมอ เพื่อเสริมความชุ่มชื้นให้แก่ร่างกาย
ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์ 4 เดือนกับ Enfa Smart Club
อาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ 4 เดือน ปกติไหม
ท้อง 4 เดือน ท้องแข็ง ถือว่าเป็นอาการปกติ เพราะอาการท้องแข็งนั้นก็จะเริ่มสังเกตเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อมีอายุครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 และ 3
อย่างไรก็ตาม บางครั้งอาการท้องแข็งก็อาจมีสาเหตุมาปัญหาในการตั้งครรภ์อื่น ๆ หากมีอาการท้องแข็งถี่เกินไป คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา
ท้อง 4 เดือน มีเลือดออกสีน้ำตาล อันตรายไหม
ปกติแล้วอาการเลือดออกขณะตั้งครรภ์นั้นมักสันนิษฐานว่ามีความผิดปกติขณะตั้งครรภ์เกิดขึ้น โดยอาจจะเป็นการแท้ง การท้องลม หรือมีปัญหาเกี่ยวกับมดลูกก็ได้ ดังนั้น ถ้าหากคุณแม่ที่ตั้งท้อง 4 เดือน มีเลือดออก ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา
ตั้งครรภ์ 4 เดือน ลูกดิ้นหรือยัง
เมื่อตั้งครรภ์เข้าไตรมาสสอง คุณแม่อาจจะเริ่มสงสัยอายุครรภ์ 4 เดือน ลูกดิ้นหรือยังนะ
ซึ่งแน่นอนว่าทารกจะเริ่มดิ้นเมื่ออายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป หรือราว ๆ สัปดาห์ที่ 16-20 เป็นต้นไปคุณแม่ก็จะสามารถสัมผัสว่าลูกดิ้นได้
ท้อง 4 เดือน ท้องไม่ใหญ่ ปกติหรือควรระวัง
ท้องของคุณแม่ที่อายุครรภ์ 4 เดือนหลาย ๆ คนเริ่มที่จะสังเกตเห็นว่าหน้าท้องขยายขึ้นมาแล้ว แต่ก็ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่จะสังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลงนั้น เพราะนอกจากปัจจัยในเรื่องของอายุครรภ์แล้ว
ขนาดของหน้าท้องตอนตั้งครรภ์ก็ยังขึ้นอยู่กับสรีระ ส่วนสูง น้ำหนัก และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวด้วย ดังนั้น ในช่วงเดือนที่ 4 ของการตั้งครรภ์นี้คุณแม่อาจจะมีหน้าท้องที่ขยายขึ้นเล็กน้อยหรือไม่ก็ได้ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ
ตั้งครรภ์ 4 เดือน ลูกไม่ดิ้น อันตรายไหม
อายุครรภ์ 4 เดือน คุณแม่สามารถเริ่มที่จะสัมผัสถึงการดิ้นของลูกได้ อย่างไรก็ตาม การที่รู้สึกว่าลูกไม่ดิ้นเลยก็มีสาเหตุ เช่น ลูกอาจจะดิ้นตอนที่คุณแม่กำลังทำกิจวัตรอื่น ๆ ทำให้ไม่รู้สึกว่าลูกดิ้น หรืออาจจะดิ้นตอนที่คุณแม่หลับ ก็ทำให้คุณแม่คลาดช่วงเวลาที่ลูกดิ้นได้
แต่ถ้าหากอายุครรภ์เริ่มมากขึ้น หรืออายุครรภ์ตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไป แต่ยังไม่รู้สึกว่าลูกดิ้นเลย ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติใดเกิดขึ้นกับลูกหรือไม่
ผลไม้สําหรับคนท้อง 4 เดือน ที่กินแล้วมีประโยชน์และปลอดภัยคืออะไร
ผลไม้ทุกชนิดถือว่าปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์ เว้นเสียแต่ว่าคุณแม่จะมีอาการแพ้ผลไม้บางชนิด ก็ควรจะหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีอาการแพ้หรือเสี่ยงต่ออาการแพ้กำเริบ
ปวดหน่วงท้องน้อยตอนตั้งครรภ์ 4 เดือน ปกติหรือควรรีบไปพบแพทย์
อาการปวดหน่วงท้องขณะตั้งครรภ์ อาจเกิดจากสาเหตุที่อันตรายและสาเหตุที่ไม่น่าวิตกกังวล ดังนั้น หากมีอาการปวดหน่วงท้องเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ หรืออาการปวดหน่วงท้องติดต่อกันตั้งแต่ 1 วันขึ้นไปแล้วอาการไม่ดีขึ้นเลย ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา
- Healthline. What to Expect at 4 Months Pregnant. [Online] Accessed https://www.healthline.com/health/pregnancy/4-months-pregnant. [27 June 2022]
- Planned Parenthood. What happens in the fourth month of pregnancy?. [Online] Accessed https://www.plannedparenthood.org/learn/pregnancy/pregnancy-month-by-mo…. [27 June 2022]
- Baby Center. Fetal ultrasound - 4 months. [Online] Accessed https://www.babycentre.co.uk/a3279/fetal-ultrasound---4-months. [27 June 2022]
- Parenting First Cry. Fourth Month Pregnancy Diet (13-16 Weeks). [Online] Accessed https://parenting.firstcry.com/articles/fourth-month-pregnancy-diet13-1…. [27 June 2022]
- What to expect. Pregnancy Nutrition Chart: 32 Essential Nutrients for Pregnant Women. [Online] Accessed https://www.whattoexpect.com/pregnancy/diet/pregnancy-nutrition-chart/. [27 June 2022]
- What to expect. 16 Weeks Pregnant. [Online] Accessed https://www.whattoexpect.com/pregnancy/week-by-week/week-16.aspx#sectio…. [27 June 2022]
- What to expect. How Much Weight You Should Gain During Pregnancy. [Online] Accessed https://www.whattoexpect.com/pregnancy/weight-gain/#amount. [27 June 2022]
- สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย. น้ำหนักที่เหมาะสมระหว่างตั้งครรภ์. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.dmthai.org/index.php/knowledge/understand-diabetes/diabetes…. [27 มิถุนายน 2022]
- โรงพยาบาลบางปะกอก. การดิ้นของทารกในครรภ์ สัญญาณที่คุณแม่ควรรู้. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.bpksamutprakan.com/care_blog/view/114. [27 มิถุนายน 2022]
- โรงพยาบาลนนทเวช. ภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.nonthavej.co.th/pregnancy-Anemia.php. [27 มิถุนายน 2022]
- โรงพยาบาลเปาโล. ที่มาของเลือดออกทางช่องคลอดของคุณแม่ตั้งครรภ์. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.paolohospital.com/th-TH/phahol/Article/Details/%E. [27 มิถุนายน 2022]
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- ท้อง 1 เดือนใหญ่แค่ไหน อาการคนท้อง 1 เดือนเป็นอย่างไร
- ท้อง 2 เดือนใหญ่แค่ไหน อาการคนท้อง 2 เดือนเป็นอย่างไร
- ท้อง 3 เดือนใหญ่แค่ไหน อาการคนท้อง 3 เดือนเป็นอย่างไร
- ท้อง 5 เดือนใหญ่แค่ไหน อาการคนท้อง 5 เดือนเป็นอย่างไร
- ท้อง 6 เดือนใหญ่แค่ไหน อาการคนท้อง 6 เดือนเป็นอย่างไร
- ท้อง 7 เดือนใหญ่แค่ไหน อาการคนท้อง 7 เดือนเป็นอย่างไร
- ท้อง 8 เดือนใหญ่แค่ไหน อาการคนท้อง 8 เดือนเป็นอย่างไร
- ท้อง 9 เดือนใหญ่แค่ไหน อาการคนท้อง 9 เดือนเป็นอย่างไร
- น้ำหนักทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์เป็นอย่างไรบ้างนะ
- ฝากครรภ์ จำเป็นไหม? ไม่ฝากครรภ์ได้หรือเปล่า?