ตรวจสอบข้อมูลโดย : ผศ.พญ.ดิษจี ลุมพิกานนท์
กุมารแพทย์ สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล
Enfa สรุปให้
- ลูกดูหิวนมบ่อยแม้จะเพิ่งกินนมไป เพราะในช่วงอายุ 6 สัปดาห์เป็นต้นไป ทารกมักจะเข้าสู่ช่วงที่ร่างกายเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้หิวมากกว่าปกติ
- ควรให้ลูกกินนมจนอิ่ม ในปริมาณที่เหมาะสมตามน้ำหนักตัว หากลูกร้องขอเพิ่มอีกให้เบี่ยงเบนความสนใจลูกด้วยการทำกิจกรรมอื่น เช่น เล่นกับลูก อุ้มเดิน ให้ดูดจุกหลอก
- คุณแม่ที่ลูกมีพฤติกรรมร้องหิวตลอด หากดูแล้วว่าไม่ใช่ร้องเพราะลูกหิวนมก็ไม่ควรป้อนนมเพิ่ม เนื่องจากอาจเป็นการ Overfeeding
คุณแม่มือใหม่ทุกคนมีความสุขเมื่อลูกกินได้นอนหลับ แต่จะเกิดความสงสัยว่าลูกเพิ่งกินนมไป แต่ทำไมถึงดูท่าทางแล้วเหมือนกับว่าลูกหิวนมอยากกินนมอีก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น และต้องให้นมลูกเพิ่มหรือไม่ ถ้าให้นมลูกมากตามอาการที่ลูกแสดงว่าต้องการนม จะทำให้ลูกได้รับนมมากเกินไปหรือไม่ เรามาหาคำตอบกันค่ะ
ทารกกินไม่รู้จักอิ่ม ทารกหิวทุกชั่วโมงปกติไหมนะ หิวบ่อยเพราะร่างกายกำลังเติบโตหรือเปล่า?
เป็นไปได้ว่าสาเหตุที่ทำให้ลูกดูหิวนมบ่อยแม้จะเพิ่งกินนมไป เพราะในช่วงอายุ 6 สัปดาห์เป็นต้นไป ทารกมักจะเข้าสู่ช่วงที่ร่างกายเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้หิวมากกว่าปกติ ลูกต้องการดูดนมมากเพื่อเป็นการตอบสนองการเจริญเติบโตนี้
ทารกบางคนมีลำตัวยาวขึ้นได้ถึง 1.5 เซนติเมตร ใน 24 ชั่วโมง จึงไม่น่าแปลกใจว่าลูกจะต้องการนมมากเป็นพิเศษในช่วงนี้ เพราะฉะนั้น หากสังเกตเห็นว่าลูกหิวบ่อยๆ คุณแม่ควรเพิ่มความถี่หรือเพิ่มปริมาณนม และรอให้อาการดังกล่าวลดลงจนกลับสู่สภาพเดิมเมื่อร่างกายเข้าสู่การเจริญเติบโตเป็นปกติ
อย่างไรก็ตาม บางครั้งคุณแม่อาจพบว่าลูกยังหงุดหงิด งอแง เหมือนยังไม่อิ่มนม แม้จะลองให้นมถี่ขึ้นแล้ว หากเป็นกรณีนี้ คุณแม่ควรปรึกษากุมารแพทย์เพื่อสอบถามถึงสาเหตุที่ลูกไม่อิ่มนมหรือการได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ เพื่อจะได้แก้ไขให้ตรงจุด
ทารกกินไม่รู้จักอิ่ม สัญญาณแบบไหนบอกว่าลูกต้องการนมเพิ่ม
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่าลูกต้องการนมเพิ่มเพราะร่างกายเจริญเติบโต หรือเพราะลูกได้รับน้ำนมไม่เพียงพออย่างที่ควรจะเป็น คุณแม่สามารถสังเกตว่าลูกต้องการนมเพิ่มได้จากสัญญาณอาการต่อไปนี้
- ลูกดูไม่กระปรี้กระเปร่าและร้องกวนตลอดเวลา ดูเหมือนลูกจะไม่พอใจ หงุดหงิด และไม่ร่าเริงหลังจากกินนมแล้ว
- ขณะกินนม ลูกดูดเสียงดังจ๊วบๆ หรือคุณไม่ได้ยินเสียงกลืน ซึ่งแสดงว่าลูกดูดนมไม่ถูกวิธี
- ผิวของลูกมีสีเหลืองขึ้น
- หากคุณแม่กังวลว่าลูกน้อยได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ ลองให้ลูกดูดนมบ่อยขึ้น และควรอุ้มลูกไว้แนบตัว ถ้าลูกยังอยากกินนมอีก เขาจะหันหน้าเข้าหาเต้านมเอง
ลูกทำท่าหิวนมเพราะต้องการความพึงพอใจ
สิ่งที่คุณแม่ไม่ควรมองข้ามก็คือ เด็กบางคนจะชอบดูดนมเพื่อความอุ่นใจ สบายใจ และทำท่าเหมือนว่าอยากดูดนมอีกทั้งที่เพิ่งกินไป แต่นอกจากการดูดนมแล้ว การกอดหรือการตอบสนองลูกด้วยวิธีอื่นจะช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่นได้เช่นกัน
คุณแม่จึงไม่จำเป็นต้องให้ลูกกินนมทุกครั้งที่ลูกร้อง ถ้าเห็นลูกพุงป่องแล้วร้องอีก ให้เบี่ยงเบนความสนใจลูกไปที่อื่น เช่น เล่นกับลูก อุ้มเดิน เคลื่อนไหวไปมา ใช้เปลไกว ดูดจุกหลอก ฯลฯ ไม่ต้องกลัวลูกติดมือ ติดเปล หรือติดจุกหลอก เพราะจะใช้แค่ช่วง 3-4 เดือนแรก
ซึ่งลูกอยู่ในช่วงปรับตัวเท่านั้น หากลูกต้องการดูดจริงๆ อาจพิจารณาใช้จุกนมหลอก (ในทารกอายุ 1 เดือนขึ้นไป) เพื่อจะได้ไม่ได้รับปริมาณนมเข้าไปมากเกินไป เพราะจริงๆ แล้วลูกไม่ได้หิว แต่ต้องการดูดเพื่อความพึงพอใจและรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ
อย่าให้อาหารเสริมเร็วเกินไป
สำหรับคุณแม่ที่ลูกในวัย 3-4 เดือน หลายคนอาจสงสัยว่าการที่ลูกมีอาการหิวมากกว่าปกตินั้น คือสัญญาณบ่งบอกว่าถึงเวลาการให้เสริมลูกหรือไม่ อย่าเพิ่งคิดแบบนั้นนะคะ เพราะเวลาที่เหมาะสมที่เด็กควรได้รับอาหารตามวัยก็คือในช่วง 6 เดือนขึ้นไป ก่อนหน้านั้นควรให้กินนมตามปกติ
พยายามอย่าเร่งการให้อาหารเสริมก่อนลูกอายุ 6 เดือน เพราะระบบย่อยอาหารของลูกยังบอบบางเกินไปสำหรับอาหารอื่นที่ไม่ใช่นมแม่หรือนมผงสำหรับทารก ซึ่งนมทั้ง 2 ชนิดมีพลังงานและสารอาหารสำคัญที่ลูกต้องการอยู่แล้ว
นอกจากนี้ในนมแม่ยังมี แลคโตเฟอร์ริน ซึ่งโปรตีนในนมแม่ที่จะพบได้มากที่สุดในน้ำนมเหลือง หรือน้ำนมระยะแรกที่จะไหลออกมาใน 1-3 วันแรกหลังคลอด ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา จึงช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย
ทารกหิวทุกชั่วโมง ให้บ่อยระวัง Overfeeding การกินมากเกินไป
เมื่อลูกร้อง คุณแม่มือใหม่บางคนอาจทนฟังเสียงร้องของลูกไม่ไหว จึงให้ลูกกินนมทุกครั้งที่ลูกร้อง ทั้งที่บางครั้งลูกไม่ได้ร้องเพราะหิว แต่คุณแม่เข้าใจผิดเอง พอลูกกินนมเข้าไปปริมาณมาก ท้องก็ป่อง ตึง อึดอัด ไม่สบายตัว ลูกก็ร้องไห้ แต่ไม่ใช่เพราะหิว
หากคุณแม่ยังให้ลูกกินนมอีก เขาก็จะอาเจียนออกมา เพราะนมล้นกระเพาะของเขาแล้ว เรียกอาการเช่นนี้ว่า Overfeeding หรือการกินเกิน ซึ่งมักมีอาการดังนี้
- ลูกบิดตัว แขนขาเหยียดออก
- มีเสียงครืดคราดในคอ คล้ายมีเสมหะในคอ ซึ่งเสียงนี้เกิดจากนมที่ล้นขึ้นมาที่คอหอยนั่นเอง
- ท้องป่องตึง ไม่ยุบตลอดเวลา
- ร้องกวน ทำท่าไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว
- สำรอกนมออกมาทางปากและจมูก
ข้อแนะนำหากไม่อยากให้ลูกมีอาการ Overfeeding
- ให้ลูกกินจนอิ่ม ในปริมาณที่เหมาะสมตามน้ำหนักตัว หากลูกร้องขอเพิ่มอีกให้เบี่ยงเบนความสนใจลูกด้วยการทำกิจกรรมอื่น เช่น เล่นกับลูก อุ้มเดิน ให้ดูดจุกหลอก
- หากลูกแหวะนมหรืออาเจียนออกมา ให้คุณแม่อุ้มลูกไว้สัก 30 นาที อย่าให้ลูกนอนราบในทันที เพราะการอาเจียนบ่อยทำให้กรดจากกระเพาะอาหารย้อนออกมาทำให้หลอดอาหารเป็นแผลได้
คุณแม่ที่ลูกมีพฤติกรรมร้องหิวตลอด หากดูแล้วว่าไม่ใช่ร้องเพราะลูกหิวนม ก็อย่าได้ป้อนนมให้เขาอีกนะคะ ไม่อย่างนั้นจะเสี่ยงต่อการเกิดการกินแบบ Overfeeding ซึ่งทำให้ลูกมีพฤติกรรมกินจุ กระเพาะขยายตัวมาก สุดท้ายจะนำไปสู่โรคอ้วนได้ค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
- นมแม่ สารพันประโยชน์ และคุณค่าดี ๆ จากอกแม่
- น้ำนมหด น้ำนมน้อย น้ำนมไม่ไหล จะกู้น้ำนมยังไงได้บ้าง
- อาหารหลังคลอด ที่แม่ให้นมลูกห้ามกิน เลี่ยงได้เลี่ยง
- ปั๊มนมยังไงให้ถูกวิธี ปั๊มแบบไหนให้นมเกลี้ยงเต้า
- วิธีอุ่นนมแม่ อุ่นยังไงให้ถูกต้อง และน้ำนมไม่เสียคุณภาพ
- แนะนำอาหารบำรุงน้ำนม กินแล้วช่วยเสริมน้ำนมให้คุณแม่
- ลดน้ำหนัก ลดหน้าท้องหลังคลอด ลดยังไงให้ปลอดภัย และได้ผล
- เริ่มเลย! ออกกำลังกายหลังคลอด ทวงหุ่นฟิต พิชิตความเฟิร์ม
- Solid Food อาหารมื้อแรกของลูก เริ่มเมื่อไหร่ เริ่มยังไง
- ฝึกลูกกินอาหารเองด้วยวิธี BLW คืออะไร ฝึกยังไงให้ได้ผล
- ลูกไม่กินข้าว เบื่ออาหาร ปัญหาชวนปวดจิตที่รับมือได้
- รู้ไหม? นมแม่อยู่ได้กี่ชม. เก็บนมแม่ยังไงให้อยู่ได้นานๆ
- ให้ลูกเข้าเต้าทุกกี่ชั่วโมงดีนะ? เข้าใจการให้ลูกดูดเต้า
- ลูกแหวะนม ลูกแหวะบ่อย ปัญหากวนใจที่รับมือได้ไม่ยาก
- แม่เป็นหวัด ทารกจะติดไหม แม่ไม่สบาย ให้นมลูกได้ไหมนะ
- สีน้ำนมแม่ สีนี้บอกอะไรได้บ้าง สีแบบไหนถึงอันตราย