ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ภาวะครรภ์เป็นพิษ เรื่องที่คุณแม่ควรรู้

ภาวะครรภ์เป็นพิษ เรื่องที่คุณแม่ควรรู้

ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะที่อันตราย ที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยที่คุณแม่อาจไม่รู้ตัว การศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะครรภ์เป็นพิษจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อคุณแม่จะสามารถสังเกตได้ว่า ตนเองมีสัญญาณเตือนของภาวะร้ายนี้อยู่หรือไม่ ยิ่งสังเกตเห็นสัญญาณเตือนได้เร็ว ก็ยิ่งสามารถหาทางจัดการกับภาวะนี้ได้อย่างทันท่วงที เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและทารกน้อยในครรภ์ เรามาทำความรู้จักภาวะครรภ์เป็นพิษกับบทความนี้จากเอนฟากันค่ะ

ทำความรู้จักกับ ภาวะครรภ์เป็นพิษ

ภาวะครรภ์เป็นพิษถือเป็นอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุดของภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ทั้งก่อนคุณแม่คลอด ระหว่างคลอด และหลังคลอด โดยภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์คือ คุณแม่ที่พบความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวหรือความดันโลหิตตัวบน (Systolic Blood Pressure ; SBP) มากกว่าเท่ากับ 140 mmHg และ/หรือค่าความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัวหรือความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic Blood Pressure ; DBP) มากกว่าหรือเท่ากับ 90 mmHg ซึ่งความเสี่ยงนี้ ส่งผลต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ โดยคุณแม่ที่มีความเสี่ยงเป็นความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ มักมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ

ภาวะครรภ์เป็นพิษคือ ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ร่วมกับการตรวจพบโปรตีนรั่วในปัสสาวะ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

          1. คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว 
คือคุณแม่ที่พบความดันโลหิตสูงก่อนตั้งครรภ์ หรือก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ อาจสร้างความเสียหายต่อระบบอวัยวะอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น หัวใจ ตา ไต เป็นต้น

          2. คุณแม่ที่มีความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ 
ก็สามารถเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้เช่นกัน โดยภาวะนี้ เกิดขึ้นหลังการตั้งครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์ ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะที่ร้ายแรง จนถึงขึ้นเสียชีวิตได้ทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ สำหรับการรักษาของคุณแม่กลุ่มนี้ ก็คือ การให้ยาลดความดันโลหิต เฝ้าระวังการเกิดภาวะแทรกซ้อน และการคลอดลูกเมื่ออายุครรภ์มากกว่าหรือเท่ากับ 37 สัปดาห์ นอกจากมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่อชีวิตคุณแม่ เช่น ชัก เลือดออกตามอวัยวะที่สำคัญ เป็นต้น การรักษาอาจจะต้องทำให้ทารกคลอดก่อนครบกำหนด และหลังจากคลอดแล้วยังต้องเฝ้าระวังภาวะความดันโลหิตสูงต่ออีกอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง

สัญญาณเสี่ยง ภาวะครรภ์เป็นพิษ

การตรวจวัดความดันโลหิตจึงถือเป็นส่วนสำคัญในการดูแลตัวเองตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ จนถึงก่อนคลอด เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูงเป็นสัญญาณแรกของภาวะครรภ์เป็นพิษนั่นเอง นอกจากนั้น ยังมีอาการอื่น ๆ ของภาวะครรภ์เป็นพิษที่คุณแม่ควรสังเกต

          - โปรตีนรั่วในปัสสาวะ คือการสังเกตว่ามีปัสสาวะเป็นฟองมากผิดปกติหรือขาบวมแบบกดบุ๋ม
          - ปวดหัวอย่างรุนแรง
          - การเปลี่ยนแปลงในการมองเห็น รวมถึงการสูญเสียการมองเห็นชั่วคราว การมองเห็นไม่ชัด หรือสายตามีความไวต่อแสง
          - ปวดท้องส่วนบน โดยเฉพาะบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงด้านขวา
          - คลื่นไส้หรืออาเจียน
          - ปัสสาวะน้อยลง
          - ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ สังเกตได้จากการมีจ้ำเลือดตามร่างกาย หรือเลือดออกง่ายผิดปกติ
          - เหนื่อยง่ายขึ้น รู้สึกต้องพักบ่อยขึ้นเวลาเดิน เนื่องจากมีของเหลวภายในปอด
          - น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ
          - อาการบวมน้ำ เช่น เปลือกตาบวมผิดปกติ หน้าบวม มือบวม 

ทั้งนี้อาการน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันและอาการบวมน้ำ ใช้วิธีแก้เท้าบวมคนท้องแบบปกติอาจไม่ลดลง สามารถเกิดขึ้นได้ในการตั้งครรภ์ปกติ เช่นกัน หากคุณแม่ไม่แน่ใจ สามารถให้คุณหมอหรือคุณพยาบาลช่วยตรวจดูความดันโลหิตได้ค่ะ

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ

 

          - ภาวะครรภ์เป็นพิษเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ขณะตั้งครรภ์เท่านั้น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้แก่ ถ่ายทอดทางพันธุกรรม คุณแม่ที่มีคนในครอบครัวเคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษด้วยเช่นกัน
          - ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง หากคุณมีภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรังอยู่แล้ว คุณก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
          - การตั้งครรภ์ครั้งแรก ภาวะครรภ์เป็นพิษมักเกิดขึ้นในการตั้งครรภ์ครั้งแรก
          - อายุ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตอนอายุ 35 ปีจะมีความเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษสูงกว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตอนอายุยังน้อยเนื่องจากเมื่อคุณแม่มีอายุมากขึ้น ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันเลือดสูงมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษตามมาได้
          - โรคอ้วน ความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษจะสูงขึ้นหากคุณเป็นโรคอ้วน
          - การตั้งครรภ์ที่มีทารกมากกว่า 1 คน ภาวะครรภ์เป็นพิษพบได้บ่อยในผู้หญิงตั้งครรภ์แฝด หรือมากกว่านั้น
          - ช่วงเวลาระหว่างการตั้งครรภ์ครั้งก่อน สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดไม่ถึง 2 ปี หรือไม่ได้ตั้งครรภ์มานานกว่า 10 ปี จะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
          - โรคประจำตัวเดิม เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไมเกรน โรคไต ภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ หรือโรคลูปัส (Lupus) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ
          - การปฏิสนธินอกร่างกาย หรือการทำเด็กหลอดแก้ว ความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษจะเพิ่มสูงขึ้น หากคุณตั้งครรภ์ทารกด้วยการปฏิสนธินอกร่างกาย

ดังนั้น สำหรับคุณผู้หญิงท่านใดที่วางแผนตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเคยมีความดันโลหิตสูง หรือภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน ควรดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงที่สุด ลดน้ำหนักหากมีภาวะน้ำหนักเกิน และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพอยู่เสมอว่าตนเองนั้นมีโรคซ่อนอยู่หรือไม่ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต เป็นต้น

ในระหว่างที่คุณกำลังตั้งครรภ์ ซึ่งถือเป็นช่วงก่อนคลอด คุณควรดูแลตัวเองและลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ หากสามารถสังเกตพบอาการที่เข้าข่ายว่าจะมีภาวะครรภ์เป็นพิษได้เร็ว คุณและแพทย์ก็สามารถที่จะช่วยกันป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคุณและลูกน้อย หากคุณแม่ท่านใดต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับภาวะครรภ์เป็นพิษเพิ่มเติม สามารถศึกษาบทความดี ๆ ได้จาก Enfa Smart Club

References

บทความที่แนะนำ

อาการปัสสาวะเล็ด ในการตั้งครรภ์
Enfa Smart Club

Leaving page banner

 

Leaving page banner