ช่วงนี้ถ้าลูกไม่นอนหลับก็เคลื่อนไหวตัวตลอด กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ แข็งแรงและทำงานประสานกันได้ดีขึ้นมาก จึงเคลื่อนไหวคล่องแคล่วกว่าแต่ก่อน...มาดูพัฒนาการแต่ละด้านของลูกน้อยเดือนนี้กันค่ะ

ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้

  • เรียนรู้เรื่องขนาด ความหนักเบา และรูปร่างได้ดีจากการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ทั้งพาตัวเองไปดูให้รู้ให้เห็นสิ่งต่างๆ และย้ายที่ ใส่เข้า ดึงออก ลาก ผลักไส ขว้าง ปา สิ่งของรอบๆ ตัว

  • ระยะนี้ลูกขยันฝึกใช้มือหยิบของมาวางซ้อนๆ กัน และหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะสร้าง ต่อ หรือประกอบสิ่งของต่างๆ เข้าด้วยกัน

  • เมื่อเห็นผู้ใหญ่หยิบจับอะไร ก็จะทำเลียนแบบ เช่น หยิบดินสอมาเขียน จับไม้กวาดมากวาดบ้าน ยกหูโทรศัพท์มาพูด หากคุณแม่เปิดโอกาสให้ลูกได้ลองใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ในบ้าน ลูกก็จะเรียนรู้ว่าสิ่งของต่างนั้นมีไว้ทำอะไร โดยต้องแนะนำและคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย  

ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว

  • เคลื่อนไหวแขนขาได้ดี เดินคล่องขึ้น ปีนป่ายไปเอาสิ่งที่ต้องการได้ อาจมีหกล้มบ้างเป็นธรรมดา คุณแม่อย่ากังวลจนเผลอไปสกัดนักเคลื่อนไหวตัวน้อย เมื่อลูกได้ฝึกฝนจนเกิดความมั่นใจในทุกย่างก้าวแล้ว ก็จะเจ็บตัวน้อยลง

  • ลูกมักเดินลาก ดึง พลิก ขว้างหรือแบกของไปด้วยเสมอ

  • ชอบทดลองเคลื่อนไหวแบบแปลกๆ เช่น เดินถอยหลัง ก้าวเดินไปด้านข้าง หรือยืนกระต่ายขาเดียวโดยมีสิ่งที่จับยึดไว้ 

  • ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือหยิบของชิ้นเล็กๆ ขึ้นมาแล้วปล่อยใส่ในภาชนะปากแคบได้

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ด้านภาษาและการสื่อสาร

  • ยังใช้ภาษาอืออา พูดได้มากกว่าหนึ่งพยางค์ แต่มักลืมคำเชื่อม เช่น นั่งตัก (นั่งบนตัก) คุณแม่ควรพูดคำเหล่านี้บ่อยๆ เช่น นั่งลง ยืนขึ้น บนโต๊ะ ใต้โต๊ะ ใน นอก

  • ลูกชี้และเรียกชื่อสิ่งของที่คุณแม่สอนไว้ก่อนหน้านี้ได้ค่อนข้างมากแล้ว ตอนนี้จึงถึงเวลาขยายความให้ลูกเข้าใจสิ่งนั้นๆ มากขึ้น  เช่น สิ่งนี้ใช้ทำอะไร มีกี่แบบกี่ชนิด และให้ลูกมีประสบการณ์ ได้เห็น ได้สัมผัสกับสิ่งนั้นด้วยตัวเอง หรือเปิดหนังสือภาพสำหรับเด็กให้ดู จะช่วยให้ลูกพูดและรู้จักคำต่างๆ ได้ดี

  • ลูกเริ่มพูดตอบมากขึ้น และอาจทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้บ้าง

ด้านอารมณ์และสังคม

  • ลูกยังควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ จึงอาจหงุดหงิด อารมณ์เสีย เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์หรือกิจวัตรประจำวัน คุณแม่ต้องเข้าใจ อดทน และยอมยืดหยุ่นกับลูกบ้าง

  • ความมั่นใจของลูกอาจถูกบั่นทอนเมื่อโดนตำหนิ ดังนั้นแม้ลูกจะทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง คุณแม่ก็ควรบอกเฉพาะเจาะจงลงไปที่การกระทำนั้น พูดดีๆ กับลูก ไม่ดุ หรือเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น

     นอกจากนี้ คุณแม่ยังเริ่มเสริมสร้างระเบียบวินัยให้หนูน้อยนักเคลื่อนไหวได้ จากการตั้งกฎเล็กๆ เพื่อไม่ให้ซุกซนจนเกินขอบเขตหรือทำตามใจเกินไปนัก  ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยนั่นเอง