Leaving page banner
 
Leaving page banner
 

ท้องนอกมดลูก

ท้องนอกมดลูก ความผิดปกติของการตั้งท้องที่ควรระวัง

Enfa สรุปให้

  • โดยปกติแล้ว หลังจากที่ไข่เกิดการปฏิสนธิ ก็จะไปฝังตัวที่มดลูก และค่อย ๆ เจริญเติบโตเป็นทารกตัวน้อย ๆ แต่สำหรับกรณีท้องมดลูก (Ectopic Pregnancy) ไข่นั้นกลับไปฝังตัวอยู่นอกมดลูกแทน ซึ่งมักพบที่บริเวณท่อนำไข่ข้างใดข้างหนึ่ง โดยการท้องนอกมดลูกถือเป็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์รูปแบบหนึ่ง และพบได้ไม่บ่อยนัก

  • ท้องนอกมดลูกอาการแรกเริ่มนั้น แทบไม่มีอาการใดที่จะทำให้เอะใจจนรู้สึกถึงความผิดปกติ หญิงตั้งครรภ์บางรายมารู้ตัวว่ากำลังท้องนอกมดลูกก็ช่วงที่อาการเกือบจะรุนแรง หรือรุนแรงแล้ว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ที่อาจจะกำลังเผชิญอยู่

  • ในกรณีที่ท้องนอกมดลูกผ่านไปจนถึงระยะที่ตัวไข่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และท่อนำไข่ไม่สามารถจะขยายออกได้อีกต่อไปแล้ว ท่อนำไข่ก็จะแตก และเมื่อท่อนำไข่แตกออก ก็จะเกิดเลือดไหลในช่องท้อง และนั่นถือว่าเป็นสัญญาณที่อันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการผ่าตัดรักษาอย่างทันท่วงที

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้องนอกมดลูกคืออะไร
     • สาเหตุของการตั้งครรภ์นอกมดลูก
     • ท้องนอกมดลูกตรวจเจอได้ตอนไหน
     • สัญญาณและอาการท้องนอกมดลูก
     • ท้องนอกมดลูกแต่ไม่รู้ตัว เกิดขึ้นได้จริงไหม
     • ท้องนอกมดลูก เก็บเด็กไว้ได้ไหม
     • การรักษาเมื่อเกิดภาวะท้องนอกมดลูก
     • วิธีดูแลตัวเองหลังผ่าตัดท้องนอกมดลูก
     • ภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกสามารถป้องกันได้ไหม
     • ไขข้อข้องใจเรื่องอาการท้องนอกมดลูกกับ Enfa Smart Club

การตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่อบอวลไปทั้งความน่ายินดีและความหวาดหวั่น ยินดีที่กำลังจะมีสมาชิกตัวน้อยลืมตาออกมาดูโลก และหวาดหวั่นถึงความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ ทั้งในรูปแบบที่ป้องกันได้ และป้องกันได้ยาก

โดยหนึ่งในภาวะเสี่ยงของการตั้งท้องก็คือ ท้องนอกมดลูก ที่ถือว่าอันตรายและมีความเสี่ยงต่อชีวิตของแม่เป็นอย่างมาก แต่ท้องนอกมดลูกคืออะไร และสามารถรับมือได้อย่างไรนั้น มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันได้เลย

รู้จักการท้องนอกมดลูก


ท้องนอกมดลูกคืออะไร

การตั้งครรภ์เกิดขึ้นเมื่อสเปิร์มกับไข่ปฏิสนธิกัน และหลังจากที่มีการปฏิสนธิแล้วก็จะไปฝังตัวที่มดลูก ก่อนจะค่อย ๆ เจริญเติบโตเป็นเจ้าตัวเล็ก แต่สำหรับกรณีท้องมดลูก (Ectopic Pregnancy) กระบวนการตั้งครรภ์จะแตกต่างออกไป

โดยไข่ที่เกิดการปฏิสนธิแล้ว แทนที่จะไปฝังตัวที่มดลูก แต่กลับไปฝังตัวอยู่นอกมดลูกแทน ซึ่งมักพบที่บริเวณท่อนำไข่ข้างใดข้างหนึ่ง โดยการท้องนอกมดลูกถือเป็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์รูปแบบหนึ่ง และพบได้ไม่บ่อยนัก

ท้องนอกมดลูกเกิดจากอะไร


ท้องนอกมดลูกสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่

  • อายุ โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งครรภ์เมื่อมีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป มีโอกาสที่จะเกิดการท้องนอกมดลูก

  • มีประวัติการท้องนอกมดลูกมาก่อน หากเคยท้องนอกมดลูกมาก่อน ท้องครั้งต่อไปก็มีโอกาสที่จะเป็นท้องนอกมดลูกอีกครั้ง

  • การติดเชื้อในระบบสืบพันธ์หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาจทำให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อที่บริเวณท่อต่าง ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การท้องนอกมดลูกในอนาคตได้

  • เคยผ่านการผ่าตัดที่บริเวณมดลูกหรือท่อนำไข่ ผู้ที่เคยผ่าตัดมดลูกหรือผ่าตัดท่อนำไข่ การผ่าตัดครั้งก่อนหน้านั้นอาจทำให้บริเวณท่อนำไข่หรือมดลูกเกิดความเสียหาย จึงเพิ่มโอกาสที่จะมีท้องนอกมดลูก

  • การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่จัดช่วงก่อนจะตั้งครรภ์นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพปอดแล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์นอกมดลูกด้วย

  • ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล การที่ระดับของฮอร์โมนในร่างกายลดลงหรือไม่สมดุล อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ หรือนำไปสู่การตั้งครรภ์นอกมดลูก

ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการที่ค่อนข้างเหนือการควบคุมเช่นนี้ จึงทำให้ท้องนอกมดลูกเป็นความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ที่ไม่สามารถป้องกันได้ล่วงหน้า

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ท้องนอกมดลูกอันตรายไหม


ในกรณีที่ท้องนอกมดลูกผ่านไปจนถึงระยะที่ตัวไข่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และท่อนำไข่ไม่สามารถจะขยายออกได้อีกต่อไปแล้ว ท่อนำไข่ก็จะแตก และเมื่อท่อนำไข่แตกออก ก็จะเกิดเลือดไหลในช่องท้อง และนั่นถือว่าเป็นสัญญาณที่อันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการผ่าตัดรักษาอย่างทันท่วงที

ท้องนอกมดลูกตรวจเจอกี่สัปดาห์


อาการท้องนอกมดลูกโดยทั่วไปแล้วจะปรากฎให้เห็นในช่วงการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 4 ถึงสัปดาห์ที่ 12 แต่บางคนก็ไม่มีอาการอะไรแสดงออกมาให้เห็นเลยในช่วงแรก ๆ จนกระทั่งไปเข้ารับการตรวจเช็กถึงได้ทราบว่าตัวเองกำลังตั้งท้องนอกมดลูกอยู่

ท้องนอกมดลูก อาการเป็นยังไง และสัญญาณเตือนที่คุณแม่สังเกตได้


ด้วยความที่ท้องนอกมดลูกไม่ได้แสดงออกถึงอาการที่เด่นชัดมากขนาดนั้น จึงทำให้ในระยะแรก ๆ คุณแม่ที่ตั้งท้องไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังท้องนอกมดลูกอยู่ โดยอาการในระยะเริ่มต้นของการท้องนอกมดลูก ได้แก่

อาการท้องนอกมดลูกในระยะเริ่มต้น

จะเห็นได้ว่าบางอาการนั้นแทบจะเป็นอาการปกติของผู้หญิงตั้งครรภ์ จนแยกไม่ออกว่านี่เป็นอาการคนท้องปกติหรือกำลังท้องนอกมดลูก แต่ถ้ามีอาการท้องนอกมดลูกดังต่อไปนี้ นั่นอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องระวัง

อาการท้องนอกมดลูกระดับรุนแรง

การที่ไข่ไปฝังตัวอยู่ในท่อนำไข่ ซึ่งไม่ได้เหมาะกับการเจริญเติบโต และเมื่อไข่นั้นเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ก็เสี่ยงที่จะทำให้ท่อนำไข่แตกได้ ซึ่งอาการท่อนำไข่แตกถือเป็นเรื่องอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดทันที เพราะเมื่อท่อนำไข่แตก จะทำให้มีเลือดออกในช่องท้องเป็นจำนวนมาก และมีอาการต่าง ๆ ตามมา คือ

  • มีอาการปวดอย่างรุนแรง และเฉียบพลัน

  • หน้ามืด เป็นลม หมดสติ หรือช็อค

  • หน้าซีดผิดปกติ

  • บางกรณีอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดอย่างหนัก

หากมีอาการดังที่กล่าวไปนี้ ควรพาไปพบแพทย์ทันที

ท้องนอกมดลูกกี่เดือนถึงรู้


ผู้หญิงที่ท้องนอกมดลูกมักจะไม่รู้ตัว จนกระทั่งได้รับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์จึงจะพบความผิดปกติว่ากำลังตั้งท้องมดลูก ซึ่งอาการท้องนอกมดลูกสามารถตรวจพบได้ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ดังนั้นหากรู้ตัวว่าตั้งครรภ์อย่าลืมไปฝากครรภ์กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเข้ารับการตรวจหาความเสี่ยงต่าง ๆ รวมถึงหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์อยู่เสมอ

ท้องนอกมดลูกไม่รู้ตัว เกิดขึ้นได้จริงไหม


ท้องนอกมดลูกอาการแรกเริ่มนั้น แทบไม่มีอาการใดที่จะทำให้เอะใจจนรู้สึกถึงความผิดปกติ หญิงตั้งครรภ์บางรายมารู้ตัวว่ากำลังท้องนอกมดลูกก็ช่วงที่อาการเกือบจะรุนแรง หรือรุนแรงแล้ว

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ที่อาจจะกำลังเผชิญอยู่ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลาย ๆ กรณีที่ประจำเดือนมาปกติ แต่ก็มีการตั้งท้องนอกมดลูกโดยไม่รู้ตัวด้วย

ท้องนอกมดลูกเก็บไว้ได้ไหม


การคลอดจากการท้องนอกมดลูกนั้นอาจกล่าวได้ว่าอยู่ในจุดที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ และเพื่อรักษาชีวิตของแม่เอาไว้สำหรับโอกาสในการตั้งครรภ์ในครั้งต่อ ๆ ไปที่อาจเกิดขึ้น แพทย์จำเป็นจะต้องผ่าตัดซ่อมแซมท่อนำไข่และเอาตัวอ่อนที่ฝังตัวอยู่นอกมดลูกนั้นออก ก่อนที่จะเติบโตจนทำให้ท่อนำไข่แตก ซึ่งหากปล่อยเอาไว้จนถึงตอนนั้นก็จะเป็นอันตรายต่อชีวิตของแม่

ดังนั้น หากถามว่า ท้องนอกมดลูก ลูกจะรอดไหม คำตอบที่แน่ชัดก็คือการรักษาชีวิตของแม่เอาไว้สำคัญกว่า เพื่อให้สามารถมีโอกาสตั้งครรภ์ในอนาคต

การวินิจฉัยการท้องนอกมดลูก


หญิงตั้งครรภ์ที่กังวลว่าอาจจะมีความเสี่ยงของการท้องนอกมดลูก สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ โดยการตรวจหาท้องนอกมดลูกทำได้หลัก ๆ 2 วิธี ได้แก่

  • ตรวจด้วยการอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอด โดยการสอดหัววัดเข้าไปในช่องคลอด และปล่อยคลื่นเสียงเพื่อสะท้อนภาพภายในช่องคลอดให้เห็นว่ามีความผิดปกติของการตั้งครรภ์หรือไม่ แต่การตรวจอัลตร้าซาวด์ก็ใช่ว่าจะตรวจพบการท้องนอกมดลูกเสมอไป

  • ตรวจเลือดเพื่อหาฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (Human Chorionic Gonadotropin) หรือ hCG โดยจะทำการตรวจสองครั้ง ห่างกัน 48 ชั่วโมง เพื่อเช็กระดับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนตั้งครรภ์ ซึ่งมักจะใช้วิธีนี้เมื่อตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอดแล้วไม่พบความผิดปกติ

การรักษาภาวะท้องนอกมดลูก


การรักษาท้องนอกมดลูก ควรได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะหากปล่อยไว้จนไข่เจริญเติบโต อาจเสี่ยงที่ท่อนำไข่จะแตก ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อชีวิตของคุณแม่เป็นอย่างมาก โดยการรักษาท้องนอกมดลูกมีอยู่ด้วยกันหลัก ๆ ดังนี้

รักษาโดยการใช้ยา

หากสามารถตรวจพบการท้องนอกมดลูกได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ แพทย์จะฉีดยาที่ชื่อ เมทโธเทร็กเซต (Methotrexate) เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์ และหลังจากฉีดยาแล้ว แพทย์จะทำการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนตั้งครรภ์อีกครั้งว่ายังคงมีความผิดปกติอยู่หรือไม่

รักษาโดยการผ่าตัด

อีกหนึ่งวิธีรักษาท้องนอกมดลูกคือการผ่าตัด ซึ่งมักจะเป็นวิธีที่ใช้ในกรณีที่การท้องนอกมดลูกดำเนินมาถึงช่วงที่ค่อนข้างอันตรายแล้ว โดยหลัก ๆ แล้วการผ่าตัดกรณีท้องนอกมดลูกจะทำกันอยู่ 2 แบบ คือ

  • การผ่าตัดด้วยกล้องส่อง (Laparoscopic Surgery) โดยจะทำการผ่าที่ท้องส่วนล่างแล้วสอดกล้องเข้าไปยังท่อนำไข่ เพื่อตรวจดูความเสียหายและทำการผ่าตัดท่อนำไข่ส่วนที่เสียหายเกินกว่าจะเก็บไว้ออกมา

  • การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง การผ่าตัดรูปแบบนี้มักใช้ในกรณีที่มีเลือดออกอย่างรุนแรง นั่นหมายความว่าคนไข้ถึงมือหมอในระดับที่เป็นอันตรายแล้ว แพทย์จะทำการเปิดหน้าท้องคล้ายกับการผ่าคลอดปกติ แล้วทำการซ่อมแซมท่อนำไข่ ตรวจดูความเสียหายของท่อนำไข่ และทำการผ่าตัดท่อนำไข่ส่วนที่เสียหายเกินกว่าจะเก็บไว้ออกมา

ผ่าตัดท้องนอกมดลูก พักฟื้นกี่วัน?


การผ่าตัดท้องนอกมดลูกโดยทั่วไปจะใช้วิธีการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง ซึ่งจะใช้เวลาในการพักฟื้นประมาณ 2 - 6 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หลังการผ่าตัดเพียง 1 สัปดาห์ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็สามารถเริ่มกลับมาทำกิจวัตรประจำวันตามปกติได้  อย่างไรก็ตาม ร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน ควรพักฟื้นให้เพียงพอก่อนเริ่มทำกิจวัตรประจำวันตามเดิม

ดูแลตัวเองอย่างไร หลังผ่าท้องนอกมดลูก


โดยมากแล้วหลังจากผ่าตัดท้องนอกมดลูก เพียง 2-3 วันก็สามารถกลับบ้านได้ ส่วนการดูแลตัวเองนอกเหนือไปจากการพักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงงานหนักในช่วงแรกของการพักฟื้น ก็คือเรื่องการดูแลรักษาความสะอาดของบาดแผล โดยเฉพาะผู้ที่ทำการผ่าตัดด้วยวิธีการเปิดหน้าท้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อตามมาในภายหลัง

ผ่าตัดท้องนอกมดลูกกี่วัน ถึงมีเพศสัมพันธ์ได้?


แพทย์แนะนำระยะปลอดภัยสำหรับการมีเพศสัมพันธ์หลังผ่าตัดท้องนอกมดลูกอยู่ที่ 6 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูเต็มที่ และท่อนำไข่ฟื้นตัวสมบูรณ์ และสำหรับคู่รักที่ต้องการจะมีลูกกันอีกครั้งหลังจากผ่าตัดท้องนอกมดลูกแล้ว ก็อาจจะต้องรออย่างน้อย 2 รอบเดือนหลังจากร่างกายฟื้นตัวจากการผ่าตัด แล้วจึงเริ่มวางแผนการมีลูกกันใหม่

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เคยมีประวัติท้องนอกมดลูกมาก่อน ก็ยังคงมีแนวโน้มที่ท้องต่อไปจะเป็นการท้องนอกมดลูกอีก ดังนั้น ก่อนตัดสินใจมีลูกอีกครั้ง ควรปรึกษาถึงความเสี่ยงและโอกาสที่เป็นไปได้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน

เข้าใจการผ่าตัดท่อนําไข่เมื่อมีการท้องนอกมดลูก


การผ่าตัดท่อนำไข่ เพื่อรักษาท้องนอกมดลูก แพทย์จะทำการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง คล้ายกับการผ่าคลอดโดยทั่วไป จากนั้นจะพิจารณาดูว่าส่วนของท่อนำไข่ส่วนใดที่ต้องพิจารณาตัดทิ้ง และส่วนใดที่สามารถเก็บเอาไว้ เพื่อให้สามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้อีกครั้ง

การท้องนอกมดลูกสามารถป้องกันได้ไหม?


เพราะสาเหตุของการท้องนอกมดลูกมีปัจจัยที่หลากหลาย และอยู่ที่ค่อนข้างเหนือการควบคุม จึงทำให้ท้องนอกมดลูกเป็นความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ที่ไม่สามารถป้องกันได้ล่วงหน้า

ไขข้อข้องใจเรื่องอาการท้องนอกมดลูกกับ Enfa Smart Club


 ท้องนอกมดลูกกี่เดือนถึงรู้?

ท้องนอกมดลูกสามารถตรวจพบได้ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หรือก็คือช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งท้อง

 ท้องนอกมดลูก แพ้ท้องไหม?

ไม่ใช่คนท้องทุกคนจะมีอาการแพ้ท้อง เราจะเห็นได้ว่าคนท้องที่อยู่รอบตัวเรามักมีอาการแพ้ท้องที่แตกต่างกัน บางคนแพ้ท้องหนักมาก บางคนแพ้ท้องน้อย และบางคนไม่แพ้ท้องเลย ดังนั้นผู้ที่ท้องนอกมดลูก จึงอาจมีอาการแพ้ท้องหรือไม่มีเลยก็ได้

 ท้องนอกมดลูก ตรวจครรภ์ขึ้นกี่ขีด?

แม้การใช้ที่ตรวจครรภ์โดยการตรวจปัสสาวะมักให้ผลการตั้งครรภ์ที่แม่นยำ แต่ก็ไม่ทุกครั้งเสมอไป บางครั้งการตรวจครรภ์ด้วยการตรวจเลือดจะให้ผลที่แม่นยำมากกว่า ซึ่งผู้ที่ท้องนอกมดลูก อาจตรวจครรภ์แล้วพบว่าผลตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีด

แต่ก็มีบางกรณีที่ผลตรวจครรภ์ขึ้นขีดเดียว แต่แท้จริงแล้วกำลังตั้งท้องนอกมดลูกอยู่โดยไม่รู้ตัว ดังนั้นเพื่อความแม่นยำสูงสุดในการตรวจครรภ์ ควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด

 ท้องนอกมดลูก อัลตราซาวด์เจอไหม?

การอัลตร้าซาวด์ท้อง อาจไม่พบความผิดปกตินี้ แต่การอัลตร้าซาวด์ช่องคลอดสามารถตรวจพบได้

อย่างไรก็ตาม บางครั้งการอัลตร้าซาวด์ช่องคลอดก็ไม่สามารถตรวจพบการท้องนอกมดลูกได้ ต้องใช้การตรวจเลือดและตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม

 ท้องนอกมดลูก มีประจำเดือนไหม?

ปกติแล้วผู้ที่ตั้งครรภ์มักจะไม่มีประจำเดือนแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตั้งท้องนอกมดลูกบางคนกลับพบว่ามีประจำเดือนมาปกติ ไม่มีอาการแพ้ท้อง หรืออาการใด ๆ ที่บ่งบอกว่าท้อง ก็จะถือเป็นกรณีที่ตั้งท้องนอกมดลูกโดยไม่รู้ตัว



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

EFB Form

EFB Form