ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือน กินแบบไหนลูกปลอดภัย แข็งแรง

เมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือน กินแบบไหนลูกปลอดภัย แข็งแรง

 

Enfa สรุปให้

  • เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ คุณแม่จะต้องใส่ใจกับอาหารการกินมากเป็นพิเศษ เพราะนับจากนี้ไม่ว่าแม่จะกินอะไรเข้าไป ทารกในครรภ์ก็จะได้รับด้วย จึงจำเป็นที่จะต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ทารกในครรภ์แข็งแรง สมวัย
  • คำว่าอาหารที่มีประโยชน์นั้นกว้างและหลากหลายมาก คุณแม่จึงสามารถเลือกได้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นผักต่าง ๆ ผลไม้ต่าง ๆ เนื้อสัตว์ นม ชีส โยเกิร์ต รวมถึงอาหารทะเลก็ถือว่าดีต่อการตั้งครรภ์เช่นกัน
  • กลุ่มสารอาหารที่แม่ท้องไตรมาสแรกควรจะได้รับอย่างเพียงพอ เพื่อลดความเสี่ยงของการพิการ หรือความบกพร่องต่าง ๆ ของทารก คือ กรดโฟลิก โปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินซี วิตามินดี ไอโอดีน แคลเซียม โคลีน และดีเอชเอ

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • อาหารคนท้อง 1 - 3 เดือน สำคัญอย่างไร
     • โภชนาการคนท้องไตรมาสแรก
     • คนท้อง 1-3 เดือน กินอะไรได้บ้าง
     • แนะนำ 10 เมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือน
     • ผลไม้สําหรับคนท้อง 1-3 เดือน
     • ข้อควรรู้ อาหารคนท้องอ่อนห้ามกินมีอะไรบ้าง
     • ไขข้อข้องใจเรื่องเมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือนกับ Enfa Smart Club

เมื่อตรวจพบว่ากำลังตั้งครรภ์ สิ่งที่จะต้องเริ่มปฏิบัติการทันทีนั่นก็คือเรื่องของอาหารการกินค่ะ ยิ่งคุณแม่สามารถปรับพฤติกรรมการกินให้เหมาะสมได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีต่อทารกในครรภ์มากเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสแรก คุณแม่จำเป็นจะต้องได้รับสารอาหารกลุ่มสำคัญเพื่อช่วยให้พัฒนาการของทารกในครรภ์เป็นไปได้อย่างสมบูรณ์และห่างไกลจากความเสี่ยงต่าง ๆ แต่เมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือนจะเป็นอย่างไร คนท้องไตรมาสแรกควรกินอาหารแบบไหน ไปหาคำตอบพร้อมกับกับ Enfa ได้เลยค่ะ

เมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือน สำคัญอย่างไร


อาหารคนท้องไตรมาสแรกนั้นถือว่าสำคัญมากค่ะ เพราะในระยะนี้ทารกจะอยู่ในกระบวนการสร้างเซลล์และอวัยวะต่าง ๆ หากได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ก็จะช่วยให้กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์

มากไปกว่านั้น หากคุณแม่ขาดสารอาหารหรือได้รับสารอาหารบางชนิดไม่เพียงพอในช่วงไตรมาสแรก เช่น กรดโฟลิก ธาตุเหล็ก อาจเสี่ยงที่จะทำให้ทารกเกิดความพิการหรือปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่าง ๆ ได้ในอนาคต

ดังนั้น เรื่องอาหารการกินจึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่คุณแม่จะละเลยมิได้ จำเป็นจะต้องดูแลและใส่ใจเป็นพิเศษอยู่เสมอไปจนกว่าทารกจะคลอดและหย่านม

เมนูอาหารคนท้องไตรมาส 1 ควรเสริมโภชนาการใดบ้าง


เมนูคนท้อง ไตรมาสแรกนั้นเรียกได้ว่ามีหลากหลายมากค่ะ คุณแม่สามารถที่จะสรรค์สร้างอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้ตามความต้องการของตัวเองเลย ข้อสำคัญคือจะต้องกินอาหารที่หลากหลาย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ กินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ไม่กึ่งสุกกึ่งดิบ มากไปกว่านั้น ยังจะต้องเป็นเมนูที่มีสารอาหารสำคัญสำหรับคนท้องไตรมาสแรกด้วย ได้แก่

กรดโฟลิก

กรดโฟลิกหรือโฟเลต หรือวิตามินบี 9 ถือเป็นหนึ่งในสารอาหารที่สำคัญที่สุดของโภชนาการในไตรมาสแรกที่คุณแม่ควรจะต้องได้รับอย่างเพียงพอ เพราะกรดโฟลิกมีบทบาทสำคัญในการป้องกันความบกพร่องของท่อประสาท ป้องกันความบกพร่องของการสร้างเซลล์สมอง ช่วยป้องกันความพิการของหัวใจ ป้องกันความพิการในช่องปากแต่กำเนิด หรือปากแหว่งเพดานโหว่

กรดโฟลิกพบได้มากในอาหารจำพวกผักใบเขียว ผลไม้ตระกูลเบอร์รี ส้ม ถั่วต่าง ๆ พืชตระกูลหัว เช่น บีตรูต กะหล่ำปลี เป็นต้น

โปรตีน

ร่างกายของคุณแม่จำเป็นจะต้องได้รับโปรตีนอยู่เสมอ นอกจากจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงและเพิ่มพลังงานให้แก่ตนเองแล้ว ก็ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์กล้ามเนื้อของทารกในครรภ์ด้วย

โปรตีนพบได้มากในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ไข่ โยเกิร์ต

ธาตุเหล็ก

ร่างกายของคุณแม่จำเป็นที่จะต้องใช้ธาตุเหล็กในการสร้างฮีโมโกลบิน  เพื่อลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้น เมื่อตั้งครรภ์ร่างกายของคุณแม่จึงต้องการธาตุเหล็กมากขึ้นเป็นสองเท่า เพื่อให้มีปริมาณธาตุเหล็กที่เพียงพอต่อการสร้างงฮีโมลโกลบินในร่างกายตนเอง และเพียงพอที่จะใช้ลำเลียงส่งออกซิเจนไปยังทารกในครรภ์ เพราะทารกเองก็ต้องใช้ธาตุเหล็กในการสร้างเซลล์เลือดของตัวเองด้วย มากไปกว่านั้น การขาดธาตุเหล็กในขณะตั้งครรภ์อาจนำไปสู่ความเสี่ยงของโรคโลหิตจางได้

ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวกผักใบเขียว ธัญพืชต่าง ๆ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล

วิตามินซี

วิตามินซีทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนากระดูกและเนื้อเยื่อของทารกในครรภ์ มากไปกว่านั้น ยังมีบทบาทช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้มากขึ้น ยิ่งได้รับวิตามินซีเพียงพอ ร่างกายก็จะดูดซึมธาตุเหล็กมาใช้งานได้มากขึ้นเท่านั้น

วิตามินซีพบได้มากในอาหารจำพวกส้ม ซิตรัส สับปะรด บรอกโคลี เบอร์รีต่าง ๆ

ไอโอดีน

ไอโอดีนเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการเพื่อสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายสามารถใช้และเก็บสะสมพลังงานจากอาหารที่กินเข้าไปได้ มากไปกว่านั้น ไอโอดีนยังมีบทบาทสำคัญช่วยให้ระบบเซลล์ประสาทและสมองของทารกพัฒนาอย่างสมบูรณ์

ไอโอดีนพบได้มากในอาหารจำพวกปลา นม ชีส โยเกิร์ต อาหารเสริมไอโอดีน

แคลเซียม

แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่ช่วยพัฒนากระดูก ฟัน หัวใจ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาทของทารกในครรภ์ ถือเป็นอีกหนึ่งสารอาหารสำคัญที่คุณแม่ไม่ควรละเลย

แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม ชีส โยเกิร์ต บรอกโคลี ผักเคล

วิตามินดี

วิตามินดีจะช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมมาใช้งานได้ดี หากได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ ร่างกายอาจจะดูดซึมแคลเซียมไว้ได้น้อย มากไปกว่านั้น วิตามินดียังมีส่วนช่วยในการทำงานของเส้นประสาท กล้ามเนื้อ และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมถึงดีต่อกระดูกและฟันของทารกด้วย

วิตามินดีพบได้มากในอาหารจำพวกนม ปลาต่าง ๆ

โคลีน

โคลีนเป็นสารอาหารที่ทำหน้าที่คล้ายวิตามินต่าง ๆ ที่ร่างกายได้รับ โดยมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาเซลล์สมองและระบบประสาท กระตุ้นความจำ มีส่วนช่วยสำคัญต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของทารกในอนาคต

โคลีนพบได้มากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ปลาแซลมอน บรอกโคลี กะหล่ำดอก

ดีเอชเอ

ดีเอชเอ มีส่วนช่วยสำคัญในการพัฒนาระบบประสาทและสมองของทารก รวมถึงช่วยในการพัฒนาจอประสาทตาและสุขภาพดวงตาของทารกด้วย

ดีเอชเอพบได้มากในอาหารจำพวกนม ไข่ ปลาทะเลต่าง ๆ เช่น ปลาแซลมอน ปลาแฮร์ริ่ง ปลาแอนโชวี่

มากไปกว่านั้น เพื่อให้สุขภาพของแม่ตั้งครรภ์ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและดีต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ แม่ท้องสามารถที่จะดื่มนมสำหรับคนท้อง เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ด้วย

สิ่งสำคัญคือนมสำหรับคนท้องนั้น ควรจะเลือกที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญสำหรับคนท้องอย่าง ดีเอชเอ โคลีน โฟเลต และ แคลเซียม ซึ่งเป็นกลุ่มสารอาหารสำคัญของคนท้องที่คุณแม่ควรจะได้รับอย่างเพียงพอ เพื่อให้ทารกในครรภ์เติบโตได้อย่างสมบูรณ์และสมวัย

คนท้อง 1-3 เดือนกินอะไรได้บ้าง


สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่อยู่ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ อาจจะสงสัยว่าอาหารสําหรับคนท้อง 1 เดือน ควรเป็นอย่างไร อาหารสําหรับคนท้อง 2 เดือน ควรเป็นอย่างไร และอาหารสําหรับคนท้อง 3 เดือน ควรเป็นอย่างไร

ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่จำเป็นจะต้องแยกเลยค่ะว่าเดือนนี้กินอะไร เดือนที่สองกินอะไร และเดือนที่สามกินอะไร เพราะคนท้องไตรมาสแรกสามารถกินอาหารได้หลากหลายมากค่ะ ไม่ว่าจะเป็น:

  • เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว
  • ปลาต่าง ๆ ทั้งปลาน้ำจืดและปลาทะเล
  • นม หรืออาหารที่ทำมาจากนมเช่น ชีส โยเกิร์ต
  • ผักต่าง ๆ
  • ผลไม้ต่าง ๆ
  • อาหารเสริมคนท้องเฉพาะที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
     

 สิ่งสำคัญคือควรจะต้องกินอาหารที่หลากหลายและมีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายของแม่และทารกมีสารอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตและลดความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความบกพร่องหรือปัญหาสุขภาพของทารกในครรภ์

Enfa Kitchen สบายท้อง สมองดี

แนะนำ 10 เมนูอาหารคนท้อง 1 - 3 เดือน


สำหรับคุณแม่ที่อาจจะนึกไม่ออกว่าควรจะทำเมนูอะไรดีหนอ เพราะพอบอกว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์ มันกว้างมากใช่ไหมคะ บางทีเราเองก็อาจจะนึกไม่ออกว่าวันนี้จะกินอะไรดี ดังนั้น Enfa จะขอนำเสนอเมนูคนท้องไตรมาสแรกที่ทำได้ง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ

1. ผัดผักรวมหมูสับ


วัตดุดิบ

  • หมูสับ
  • บรอกโคลี
  • ข้าวโพดอ่อน
  • เห็ดออรินจิ
  • แคร์รอต
  • พริกหวานแดง
  • ซอสหอย
  • ซีอิ๊วขาว
  • น้ำตาล
  • แป้งข้าวโพดละลายน้ำ
  • น้ำเปล่า
  • กระเทียมสับ
  • น้ำมันพืช
     

วิธีทำ

  • ล้างผักให้สะอาด จากนั้นนำมาวางพักไว้
  • ตั้งกระทะ ใส่น้ำมัน พอร้อนแล้วเริ่มเจียวกระเทียม จากนั้นใส่หมูสับลงไปผัด
  • เติมน้ำสะอาดลงไปนิดหนึ่ง จากนั้นนำผักที่ล้างสะอาดแล้วลงไปผัด ส่วนเห็ดให้ใส่ลงไปผัดเป็นส่วนสุดท้ายนะคะ
  • ปรุงรสให้อร่อยขึ้นด้วยน้ำมันหอย ซีอิ๊วขาว และน้ำตาลทราย เพิ่มความหนืดเล็กน้อยด้วยน้ำจากแป้งข้าวโพดที่ละลายทิ้งเอาไว้
  • เมื่อผัดจนเข้ากันได้ที่แล้ว ก็ตักใส่จาน เสิร์ฟพร้อมข้าวสวยได้เลยค่ะ
     

2. กุยช่ายผัดตับ

วัตถุดิบ

  • ตับหมู
  • ดอกกุยช่าย
  • กระเทียม
  • น้ำมันหอย
  • ซอสถั่วเหลือง
  • น้ำตาลทราย
  • น้ำเปล่า
     

วิธีทำ

  • ขั้นตอนแรกให้นำตับและกุยช่ายมาล้างให้สะอาด จากนั้นหั่นตับและกุยช่ายเป็นชิ้นพอดีคำ
  • นำตับไปลวกในน้ำเดือด แต่ยังไม่ต้องลวกให้สุกมากนัก เสร็จแล้วตักขึ้นมาพักไว้ก่อน
  • ตั้งกระทะโดยใช้ไฟแรงปานกลาง ใส่น้ำมันลงไป พอกระทะเริ่มร้อนนิด ๆ ก็นำกระเทียมสับลงไปผัดให้พอเหลือง จากนั้นจึงนำตับลงมาผัด และผัดไปเรื่อย ๆ จนตับเริ่มสุก
  • เมื่อตับสุกแล้วนำดอกกุยช่ายใส่ลงไปในกระทะ ผัดให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำมันหอย ซอสถั่วเหลือง น้ำตาลทรายเล็กน้อย เติมน้ำเปล่านิดหน่อยเพื่อไม่ให้แห้งจนเกินไป
  • คลุกเคล้าจนเข้ากัน ตักขึ้นเสิร์ฟพร้อมข้าวสวยร้อน ๆ ได้เลย
     

3. ต้มจืดตำลึง

วัตถุดิบ

  • ใบตำลึง
  • เต้าหู้ไข่
  • หมูสับ
  • ซอสปรุงรสต่าง ๆ
  • พริกไทยป่น
  • ซุปก้อนรสหมู
  • น้ำปลา
  • น้ำเปล่า
     

วิธีทำ

  • เด็ดใบตำลึง แล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นหั่นเต้าหู้ไข่เป็นแว่น ๆ แล้วพักไว้
  • หมักหมูสับด้วยซอสปรุงรส พริกไทยป่น คลุกเคล้าให้ละเอียด แล้วปั้นหมูสับเป็นก้อนขนาดพอดีคำ
  • ตั้งน้ำให้เดือด ใช้ไฟแรง แล้วใส่ซุปก้อนรสหมูลงไป รอจนน้ำเดือด ค่อย ๆ ใส่หมูก้อนลงไป
  • เมื่อหมูสุก ให้ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว น้ำปลา จากนั้นใส่เต้าหู้ไข่ลงไป แล้วคนเบา ๆ เพื่อไม่ให้เต้าหู้แตก
  • จากนั้นใส่ใบตำลึงลงไป คนเบา ๆ จนกระทั่งใบตำลึงเริ่มนิ่ม ปิดเตาแล้วตักเสิร์ฟพร้อมข้าวสวยได้เลย
     

4. โจ๊กข้าวกล้อง

วัตถุดิบ

  • ข้าวกล้อง
  • น้ำเปล่า
  • หมูบด
  • ซุปก้อนรสหมู
  • ต้นหอมซอย
  • ขิงซอย
  • ซอสปรุงรส
  • พริกไทยป่น
     

วิธีทำ

  • น้ำข้าวกล้องมาซาวให้สะอาด จากนั้นเทน้ำเปล่าใส่หม้อเยอะ ๆ แล้วนำไปตั้งไฟ ต้มไปเรื่อย ๆ จนข้าวกล้องสุก คอยระวังอย่าให้น้ำแห้ง ถ้าน้ำเริ่มแห้งต้องหมั่นเติมน้ำเรื่อย ๆ เมื่อข้าวกล้องสุกดีแล้ว ยกหม้อออกมาพักไว
  • เมื่อข้าวกล้องเย็นแล้วให้นำมาปั่น แต่ไม่ต้องปั่นจนละเอียดมากนัก
  • ปั่นเสร็จแล้วให้นำข้าวกล้องไปต้มอีกรอบ แต่รอบนี้ต้องคนบ่อย ๆ เผื่อไม่ให้ข้าวติดหม้อ
  • เมื่อข้าวเริ่มเดือดให้ใส่ซุปก้อนกับหมูบดลงไป คนเรื่อย  ๆจนหมูสุก แล้วยกลง ใส่ต้นหอมซอย ขิงซอย พริกไทยป่น และปรุงรสด้วยซอสปรุงรสตามใจชอบ
     

5. ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์

วัตถุดิบ

  • อกไก่ 
  • เม็ดมะม่วงหิมพานต์อบ
  • พริกแห้งเม็ดใหญ่
  • พริกชี้ฟ้าสีแดง 
  • แป้งสาลี
  • กระเทียมไทย
  • เกลือป่นธรรมดา
  • น้ำตาลทราย
  • น้ำมันงา
  • พริกไทยป่น
  • น้ำมันหอย
  • ซีอิ๊วขาว
  • ต้นหอม
     

วิธีทำ

  • นำเนื้อไก่ลงในถ้วย แล้วใส่แป้งสาลี พริกไทย เกลือป่นตามลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากัน
  • เสร็จแล้วนำไก่ลงไปทอดจนเนื้อไก่เหลืองสวย จากนั้นตักขึ้นมาพักไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน
  • ทีนี้มาจัดการทอดเม็ดมะม่วง ใช้ไฟอ่อน ๆ ทอดเอาพอเหลือง เสร็จแล้วตักขึ้น พักไว้
  • จากนั้นให้เริ่มหั่นพริกแห้งเป็นชิ้น แล้วนำลงไปคั่วด้วยไฟอ่อน พอพริกเริ่มกรอบและเปลี่ยนสี ตักขึ้นแล้วพักไว้
  • ตั้งกระทะอีกครั้ง ใส่กระเทียมลงไปผัด จากนั้นนำไก่และเม็ดมะม่วงที่พักไว้ลงไปผัดให้เข้ากัน
  • ปรุงรสตามใจชอบด้วยน้ำมันหอย ซีอิ๊วขาว น้ำตาลทราย และน้ำมันงา
  • ปิดท้ายด้วยการใส่ต้นหอม พริกชี้ฟ้า และพริกคั่ว ผัดให้เข้ากันอีกครู่หนึ่งก็ตักขึ้น พร้อมเสิร์ฟ
     

6. ไก่ผัดขิง

วัตถุดิบ

  • เนื้อไก่
  • ขิง
  • กระเทียม
  • หอมหัวใหญ่
  • พริกชี้ฟ้า
  • ต้นหอม
  • เห็ดหูหนู
  • ซีอิ๊วขาว
  • น้ำมันหอย
  • น้ำตาลทราย
     

วิธีทำ

  • หั่นเนื้อไก่เป็นชิ้นขนาดพอดีคำ แล้วหมักด้วยซีอิ๊วขาว
  • ล้างผักทุกชนิดให้สะอาด จากนั้นหั่นเห็ดหูหนูขนาดพอดีคำ ซอยขิง สับกระเทียม หั่นพริกชี้ฟ้าและหอมใหญ่เตรียมไว้
  • ตั้งน้ำมันในกระทะให้เดือด จากนั้นใส่กระเทียมลงไปเจียวพอหอม แล้วจึงใส่เนื้อไก่ลงไปผัด
  • ใส่ขิง หอมใหญ่ เห็ดหูหนูลงไปผัดให้เข้ากัน
  • ปรุงรสชาติตามใจชอบด้วยน้ำตาลทราย น้ำมันหอย โรยพริกชี้ฟ้าและหอมหัวใหญ่ลงไป ผัดจนเข้ากันอีกครั้ง แล้วจึงตักเสิร์ฟ
     

7. บรอกโคลีผัดกุ้ง

วัตถุดิบ

  • กุ้งขาว
  • บรอกโคลี
  • กระเทียมสับ
  • แคร์รอต
  • ซอสหอยนางรม
  • ซีอิ๊วขาว
  • น้ำตาลทราย
  • เกลือป่น
  • น้ำมันพืช
  • น้ำเปล่า
     

วิธีทำ

  • หั่นแคร์รอตและบรอกโคลีขนาดพอดีคำ จากนั้นนำไปต้มในน้ำเดือดจนสุก จากนั้นตักขึ้น พักไว้
  • ตั้งไฟกลาง ใส่น้ำมันลงในกระทะ เจียวกระเทียมให้หอม แล้วใส่กุ้งขาวลงไปผัด
  • นำผักที่ลวกไว้ลงไปผัดให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยซอสหอยนางรม ซีอิ๊วขาว น้ำตาลทราย และเกลือป่น เติมน้ำเปล่าเล็กน้อยเพื่อไม่ให้แห้งเกินไป ผัดเข้ากันอีกครู่หนึ่ง ตักขึ้น พร้อมเสิร์ฟ
     

8. ปลากะพงนึ่งมะนาว

วัตถุดิบ

  • ปลากะพง
  • กระเทียมฝาน
  • พริกขี้หนูซอย
  • ขึ้นฉ่าย
  • มะนาวฝาน
  • น้ำปลา
  • น้ำตาลทราย
  • น้ำเปล่าหรือน้ำซุป
     

วิธีทำ

  • บั้งปลากะพง นำไปล้างให้สะอาด แล้วพักไว้ จากนั้นนำน้ำเปล่าหรือน้ำซุปก็ได้ ใส่ถ้วยให้เรียบร้อย แล้วผสมน้ำปลา น้ำมะนาว น้ำตาลทรายให้เข้ากัน จากนั้นนำไปราดคลุกเคล้ากับปลากะพง แล้วนำไปนึ่งประมาณ 20 นาที
  • เสร็จแล้วโรยหน้าด้วยมะนาวฝานซีก พริกขี้หนูและขึ้นฉ่ายซอย พร้อมเสิร์ฟ
     

9. ปลาช่อนผัดขิง

วัตถุดิบ

  • ปลาช่อนแดดเดียว
  • ขิงซอย
  • น้ำตาลทราย
  • น้ำมันพืช
     

วิธีทำ

  • หั่นปลาช่อนแดดเดียวออกเป็นชิ้นขนาดพอดีคำ แล้วนำไปทอดในกระทะให้พอเหลืองสวย จากนั้นตักขึ้น พักไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน
  • นำขิงซอยลงมาผัดกับน้ำมันจนสีเริ่มเปลี่ยน นำปลาช่อนที่ทอดพักไว้ลงมาผัดให้เข้ากัน แล้วเติมน้ำตาลทรายลงไป
  • ผัดต่ออีกครู่หนึ่งจนเข้ากันดี ตักขึ้น พร้อมเสิร์ฟ
     

10. ยำผลไม้รวม

วัตถุดิบ

  • แอปเปิ้ล
  • สับปะรด
  • มะเขือเทศ
  • มะม่วง
  • ถั่วลิสงหรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์
  • น้ำตาลปี๊บ
  • น้ำปลา
  • น้ำมะนาว
  • เกลือ
  • พริกขี้หนู
  • กระเทียม
     

วิธีทำ

  • หั่นผลไม้ทุกอย่างเป็นชิ้นพอดีคำ คลุกเคล้าเกลือเล็กน้อย แล้วนำไปแช่เย็นรอไว้ก่อน
  • เริ่มทำน้ำยำง่าย ๆ โดยใส่น้ำมะนาว น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทราย เกลือ พริกขี้หนูซอย และกระเทียมสับลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากัน ชิมรสได้ตามใจชอบ
  • จากนั้นนำผลไม้ลงมาคลุกเคล้าให้กัน โรยด้วยถั่วลิสงหรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ พร้อมเสิร์ฟ
     

ผลไม้สําหรับคนท้อง 1-3 เดือน


คนท้องสามารถกินผลไม้ได้ทุกชนิดค่ะ เพราะผลไม้ไม่ได้ส่งผลเสียใด ๆ ต่อสุขภาพ เว้นเสียแต่ว่าคุณแม่จะมีปัญหาต่าง ๆ เช่น:

  • มีอาการแพ้ผลไม้บางชนิด เช่น แพ้แอปเปิ้ล แพ้พีช
  • เป็นโรคเบาหวาน หรือมีปัญหาเกี่ยวกับน้ำตาลในเลือดสูง และจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย คุณแม่ที่มีปัญหาเหล่านี้จะต้องงดผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง เช่น ละมุด เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย เป็นต้น
     

แต่ถ้าคุณแม่ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพใด ๆ ก็สามารถเลือกกินผลไม้ได้ตามใจชอบเลยค่ะ

ข้อควรรู้ อาหารคนท้องอ่อนห้ามกินมีอะไรบ้าง


คุณแม่ท้องไตรมาสแรกนอกจากจะต้องได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์แล้ว สิ่งสำคัญก็คือยังต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีผลเสียต่อการตั้งครรภ์ด้วย เพราะถ้าหากกินหรือดื่มเข้าไปมาก ๆ อาจส่งผลเสียต่อร่างกายคุณแม่เอง และส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์

อาหารที่คนท้องอ่อน ๆ ห้ามกิน คนท้องห้ามกินอะไรบ้าง มาดูกัน

  • อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เสี่ยงที่จะได้รับแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส และทำให้เกิดการติดเชื้อต่อทารกในครรภ์ได้
  • อาหารที่ไม่สะอาด ไม่ว่าจะล้างไม่สะอาด หรือปรุงในพื้นที่ที่ไม่สะอาด ควรหลีกเลี่ยงด้วยประการทั้งปวง เพราะอาจมีการตกค้างของสิ่งสกปรก เชื้อโรค แบคทีเรียต่าง ๆ ซึ่งอาจนำมาซึ่งการเจ็บป่วยหรืออาการติดเชื้อรุนแรงได้
  • อาหารทะเลที่มีความเสี่ยงของการปนเปื้อนสารปรอทสูง เช่น ปลาฉลาม ปลากระโทงดาบ ซึ่งหากร่างกายสะสมเสารปรอทในปริมาณมาก จะมีผลเสียต่อระบบประสาทและสมองของทารก
  • อาหารที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อหรือไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ เช่น นมวัว นมแพะ ชีสต่าง ๆ เพราะเสี่ยงที่ทารกในครรภ์จะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสต่าง ๆ ได้
  • สมุนไพรต่าง ๆ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบของชาสมุนไพร รากไม้ ผงแคปซูล หรือรูปแบบใด ๆ ก็ตาม หรือต่อให้จะมีใครมาบอกว่าเขากินกันมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า คุณแม่ไม่ควรกินเด็ดขาด เพราะสมุนไพรส่วนมากนั้นยังไม่มีผลการรับรองที่ปลอดภัยต่อสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรค่ะ อาจมีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์และส่งผลเสียของทารกในครรภ์ได้
  • แอลกอฮอล์ หากร่างกายได้รับในปริมาณมากจะเสี่ยงต่อการแท้ง เสี่ยงที่ทารกจะคลอดก่อนกำหนด หรือคลอดออกมาพิการ หรือมีปัญหาเรื่องพัฒนาการด้านต่าง ๆ ได้
     

ไขข้อข้องใจเรื่องเมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือนกับ Enfa Smart Club


ท้อง 3 เดือนแรก กินวิตามินอะไร

คนท้องไตรมาสแรกควรจะได้รับวิตามินที่หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายมีแร่ธาตุที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

โดยกลุ่มวิตามินสำคัญที่ควรจะได้รับอย่างเพียงพอคือ

  • วิตามินดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม ช่วยในการทำงานของเส้นประสาท กล้ามเนื้อ และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมถึงดีต่อกระดูกและฟันของทารกด้วย
  • วิตามินซี ส่งเสริมการพัฒนากระดูกและเนื้อเยื่อของทารกในครรภ์ และช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กมาใช้งานได้มากขึ้น
  • วิตามินบี 9 มีบทบาทสำคัญในการป้องกันความบกพร่องของท่อประสาท ป้องกันความบกพร่องของการสร้างเซลล์สมอง ช่วยป้องกันความพิการของหัวใจ ป้องกันความพิการในช่องปากแต่กำเนิด หรือปากแหว่งเพดานโหว่ 
     

ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ควรกินอะไร

คนท้องไตรมาสแรกสามารถกินอาหารได้หลากหลายชนิดมากเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น:

  • เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว
  • ปลาต่าง ๆ ทั้งปลาน้ำจืดและปลาทะเล
  • นม หรืออาหารที่ทำมาจากนมเช่น ชีส โยเกิร์ต
  • ผักต่าง ๆ
  • ผลไม้ต่าง ๆ
  • อาหารเสริมสำหรับคนท้องเฉพาะที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
     

ขอเพียงเป็นอาหารที่มีประโยชน์ และครบทั้ง 5 หมู่ ถือว่าเป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับคนท้องไตรมาสแรกทั้งสิ้น

เมนูคนท้องเบื่ออาหาร รับประทานอะไรดี

สำหรับคนท้องที่เบื่ออาหาร สามารถลองทำเมนูใหม่ ๆ ตามที่สนใจได้เลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น

  • ยำผลไม้รวม
  • ไก่ผัดขิง
  • ปลากะพงนึ่งมะนาว
  • ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์
  • บรอกโคลีผัดกุ้ง
     

ขอเพียงเป็นอาหารที่มีประโยชน์ และครบทั้ง 5 หมู่ ถือว่าเป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับคนท้องไตรมาสแรก

ไตรมาสแรกแม่แพ้ท้องหนักมาก แทบจะกินอะไรไม่ได้เลย ลูกจะได้รับสารอาหารไหม

แม้ว่าจะแพ้ท้องจนกินอาหารไม่ค่อยได้ แต่คุณแม่ก็ยังจำเป็นจะต้องฝทนกินอาหารให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ร่างกายมีสารอาหารไว้หล่อเลี้ยงร่างกายของคุณแม่เอง และเพื่อให้ทารกในครรภ์ได้รับอาหารและสารอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต

ในกรณีที่คุณแม่มีอาการแพ้ท้องรุนแรงจนส่งผลต่อการขาดสารอาหาร คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและการรักษา ตลอดจนรับคำแนะนำในเรื่องโภชนาการที่จำเป็น หรือแพทย์อาจสั่งจ่ายอาหารเสิรมสำหรับคนท้องเพื่อให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน แม้ว่าจะกินอาหารเองได้น้อยมาก



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

คนท้องนอนอย่างไร
morning-sickness
6 เทคนิคลดเครียด เมื่อใกล้คลอด
Enfa Smart Club

Leaving page banner

 

Leaving page banner