ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
การกระตุ้น พัฒนาการลูกน้อย เดือนที่ 30

การกระตุ้น พัฒนาการลูกน้อย เดือนที่ 30

ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้

ชวนคุย ช่วยพัฒนาความจำลูก

     เมื่อลูกเริ่มพูดได้คล่องมากขึ้น ความจำก็เริ่มมีมากขึ้นตามไปด้วย คุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นและพัฒนาความจำของลูกได้ ด้วยวิธีการง่ายๆ นั่นคือ  ”การคุย”

     การที่คุณแม่ชวนลูกพูดคุยเล่าเรื่องราวต่างๆ ทั้งคุณแม่เล่าเอง หรือจะให้ลูกเป็นฝ่ายเริ่มต้นเล่าก็เป็นเรื่องดี เพราะการเล่าเรื่องจะช่วยพัฒนาความจำได้มาก เด็กจะจดจำว่าจะเริ่มต้นอย่างไร การลำดับความ จนกระทั่งถึงตอนจบ เด็กในวัยนี้จะถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วได้ เช่นอาจจะลองให้ลูกเล่าเรื่องไปเที่ยวทะเลครั้งล่าสุด แกจะทบทวนว่าแกไปกับใครมาบ้าง ใส่ชุดว่ายน้ำสีฟ้า  เล่นตักทรายและเล่นน้ำทะเลกับคุณแม่

     เด็กวัยนี้จะเริ่มจดจำสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น เรื่องของสี การนับหนึ่งถึงสิบ ตัวอักษร ก-ข-ค หรือ ABC โดยเก็บข้อมูลแบบความจำระยะสั้น  เมื่อเรียกใช้ก็ต้องทบทวนความจำกันหน่อย ซึ่งนานวันเข้ากระบวนการทวนความจำก็อาจหายไปได้ เมื่อใช้สีฟ้า เด็กก็พูดออกมาได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องนึกว่าสีนี้เรียกว่าอะไร เด็กจะเริ่มจำเรื่องราวที่ซับซ้อนได้ โดยอาศัยการซ้ำ คุณแม่สามารถช่วยได้โดยการเล่าเรื่องซ้ำๆ การเล่าซ้ำๆ ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การเล่านิทานก่อนนอน ลูกอาจจะขอให้เล่าอยู่เรื่องเดียว นั่นเป็นการเรียนรู้ผ่านการจำของเขาค่ะ

ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว

เล่นยืนทรงตัว เคล็ดลับฝึกกล้ามเนื้อลูก

    เคล็ดลับฝึกกล้ามเนื้อลูกให้แข็งแรงสามารถทำได้ผ่านการชวนลูกเล่นยืนทรงตัว ดังนี้

  • ยืนตรงตัวท่านกกระสา 
    • ยืนตรง ไหล่ผึ่ง วางมือสองข้างไว้ที่เอว 

    • ค่อยๆ ยกเท้าขวาขึ้นมา พักไว้ที่ด้านหน้าขาซ้าย 

    • พยายามทรงตัวให้ได้นานที่สุด โดยคุณแม่อาจจะช่วยนับ 1 2 3 

    • จากนั้นค่อยสลับข้างทำใหม่อีกครั้ง

เคล็ดลับความสนุก : การที่ลูกพยายามที่จะทรงตัวให้นานที่สุดจะเป็นเรื่องสนุกสำหรับเขา ในรอบแรกๆ คุณแม่อาจกำหนดระยะเวลาไว้แค่นับ 1 2 เมื่อลูกทำได้ ก็ชมเขา แล้วชวนลองทำใหม่ ดูซิว่า รอบนี้จะทำ (นับ) ได้นานเท่าไร หรืออาจจะชวนกันเล่น เพื่อหาวิธีใหม่ๆ ที่จะช่วยให้สามารถยืนได้นานขึ้น เช่น อาจลองกางแขนออก หรือชูแขนขึ้นไปด้านบน ลองดูว่าวิธีไหนจะช่วยให้ยืนได้นานกว่ากัน ทำแบบนี้ลูกๆ จะสนุก เพราะเหมือนกับการเล่นเกมนั่นเองค่ะ 

ด้านภาษาและการสื่อสาร

เล่นพูดโทรศัพท์จ๊ะจ๋า  พัฒนาการพูดคุยของลูก

     เด็กวัย 2 ขวบขึ้นไป พัฒนาการทางภาษาพัฒนามากขึ้น ทั้งเรื่องการใช้ภาษา คือ การพูด และความเข้าใจภาษาที่ได้ยิน เขาสามารถใช้ภาษาสร้างบทสนทนาเลียนแบบบทสนทนาที่ตนเองเคยได้ยินจากผู้ใหญ่ในชีวิตประจำวันได้แล้ว เช่น ชวนน้องกระต่ายกินข้าว โทรศัพท์ชวนเพื่อนมาเล่น เป็นต้น 

     คุณแม่อาจชวนพูดคุยโทรศัพท์ เหมือนที่เขาเคยเห็นผู้ใหญ่คุยกัน  ถามคำถามให้เขาตอบ เช่น กินข้าวหรือยัง กินกับอะไร ไปเที่ยวไหน ทำอะไรมาบ้าง เป็นต้น   นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถตรวจสอบความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการลูก ด้วยการบอกให้ลูกเล่นคุยโทรศัพท์กับคุณพ่อคุณแม่ โดยที่ไม่มีอุปกรณ์ให้ ดูว่าลูกจะแก้ปัญหาอย่างไร  เด็กบางคนอาจจะยกบล็อกไม้ ขวดน้ำ ฯลฯ มาพูดแทนโทรศัพท์ เป็นต้น

ด้านอารมณ์และสังคม             

ฝึกหนูเรียนรู้การปฏิเสธ

     การรู้จักปฏิเสธเป็นทักษะทางสังคมอย่างหนึ่ง  คุณแม่จึงมีบทบาทสำคัญที่ช่วยจะสอนลูกให้รู้จักการปฏิเสธ   ด้วยการสอนให้ลูกรู้จักแยกแยะได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีควรทํา อะไรไม่ดีเป็นอันตรายควรหลีกเลี่ยง อาจใช้นิทานเป็นสื่อช่วยสอน ซึ่งพฤติกรรมของตัวละครในนิทานจะช่วยให้ลูกเข้าใจและจดจําได้ง่าย  หรือคุณแม่อาจสมมติเหตุการณ์ขึ้นมา เช่น ลองคุยกับลูกดูว่าหากมีคนที่ไม่รู้จักเดินเข้ามาและให้ขนมกิน ถามลูกว่าควรทำอย่างไร สอนให้ลูกพูดคำว่าไม่ พร้อมกับบอกเหตุถึงการกระทำเช่นนั้น ว่าเพื่อความปลอดภัยของลูกเอง ไม่ควรที่จะรับหรือไปไหนกับคนแปลกหน้า

     คุณแม่ไม่ควรบังคับให้ลูกกอดหรือหอมใครที่เขาไม่ต้องการ  แม้คนนั้นจะเป็นญาติหรือเพื่อนสนิทของคุณแม่  ลูกจะกอดหรือหอมใครหรือไม่ ปล่อยให้เป็นความต้องการของลูกเองจะดีกว่า และหากลูกมีท่าทีปฏิเสธหรือเอ่ยปาก “ไม่” ด้วยตัวเองก็อย่าได้ตำหนิหรือต่อว่าเขานะคะ

     แม้ว่าการสอนลูกให้รู้จักปฏิเสธนั้น จะเป็นเพียงการสมมติหรือจำลองสถานการณ์ให้ลูกฟังเท่านั้น แต่เมื่อลูกเติบโตขึ้นและได้พบเจอกับเหตุการณ์จริง สิ่งที่คุณแม่สอนจะทำให้ลูกนึกถึง และโต้ตอบด้วยการกระทำและคำพูดของตนเอง ลูกจะพร้อมปฏิเสธได้อย่างทันท่วงที  ซึ่งการสอนในเรื่องนี้ ไม่ควรที่จะทำเพียงหนึ่งหรือสองครั้งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ควรนำมาคุยและฝึกกันบ่อย ๆ เมื่อมีโอกาสค่ะ

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

บทความที่แนะนำ

โภชนาการลูกน้อย เดือนที่ 30
Enfa Smart Club

Leaving page banner