ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ลูกในท้องดิ้น ลูกในท้องสะอึก

พัฒนาการการดิ้น และการสะอึกของทารกในครรภ์คุณแม่

เมื่อคุณแม่เริ่มมีอายุครรภ์ประมาณ 16 – 24 สัปดาห์ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์ การดิ้นของลูกจะเป็นสิ่งหนึ่งที่บอกถึงสุขภาพของลูกน้อยว่าแข็งแรงหรือไม่ หากอายุครรภ์เลย 24 สัปดาห์แล้ว คุณแม่ยังไม่รู้สึกว่าลูกในท้องดิ้น ควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน เพื่อรับคำแนะนำวิธีกระตุ้นให้ลูกดิ้น และตรวจเช็กสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ 

เราจะรู้สึกอย่างไรเมื่อลูกดิ้น ลูกจะดิ้นบ่อยขนาดไหน


ความรู้สึกการดิ้นของลูกน้อย อาจจะคล้าย ๆ เหมือนมีอะไรหมุน หรือมีอะไรสะบัดเคลื่อนไปมาอย่างนุ่มนวล และเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ก็จะรู้สึกว่าลูกน้อยเตะ การดิ้นของลูกน้อยในครรภ์ไม่มีจำนวนครั้งที่ตายตัวมากนัก ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน แต่สิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรสังเกตและใส่ใจคือ ลูกดิ้นแบบไหนอันตราย? ลูกดิ้นแบบไหนผิดปกติ? ดังนี้

          • ลูกดิ้น หรือเคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ
          • ไม่รู้สึกว่าลูกดิ้นเลย
          • มีการเปลี่ยนรูปแบบการดิ้น หรือเคลื่อนไหวไปจากเดิม

หากคุณแม่สังเกตแล้วพบว่า ลูกน้อยในครรภ์มีการดิ้นที่น้อยกว่าเดิม เปลี่ยนรูปแบบจากปกติ หรือลูกไม่ดิ้นเลย ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เนื่องจากการดิ้น เป็นสิ่งที่สามารถบอกถึงสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ได้ หากลูกดิ้นน้อยลง เปลี่ยนรูปแบบ หรือไม่ดิ้นเลย มีสิทธิ์ที่ลูกน้อยจะอยู่ในภาวะเสี่ยง และเป็นอันตราย

ทำไมการดิ้นของลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญ ลูกไม่ดิ้นกี่ชั่วโมงต้องไปหาหมอ?


เพราะการดิ้นของเด็กในครรภ์ จะเป็นสัญญาณที่แจ้งให้ทราบว่า สุขภาพของเด็กนั้นดี หรือไม่ดี คุณแม่ควรทราบวิธีกระตุ้นให้ลูกดิ้น ควรเฝ้าระวัง และสังเกตการดิ้นของลูก การดิ้นที่น้อยลง ผิดจากปกติ หรือไม่ดิ้นเลย มักจะเกี่ยวข้องกับอาการป่วย เช่น ภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรัง ซึ่งเป็นภาวะอันตราย ที่ลูกจะดิ้นน้อยลง หรือหยุดดิ้น ในระยะเวลา 12 – 24 ชั่วโมงก่อนที่จะเสียชีวิต รวมไปถึงอาการป่วยอื่น ๆ เป็นต้น

ดังนั้น ควรหมั่นสังเกต และเฝ้าระวัง หากพบความผิดปกติของลูกน้อย ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

บางครั้งรู้สึกเหมือนลูกในท้องสะอึก เป็นไปได้หรือไม่


การสะอึกของเด็กในครรภ์เช่นเดียวกับเด็กแรกเกิดสะอึก เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งการสะอึกของทารกในครรภ์จะเกิดในช่วงอายุครรภ์ประมาณ ไตรมาสที่ 2 (4 – 6 เดือน) หรือไตรมาส 3 (7 – 9 เดือน) คุณแม่จะรู้สึกกระตุก หรือเกร็งเล็กน้อยบริเวณท้อง เด็กบางคนอาจจะสะอึกวันละครั้ง สะอึกสม่ำเสมอทุกวัน หรือบางคนอาจสะอึกแบบไม่แน่นอน

สาเหตุที่เด็กในครรภ์สะอึก ยังเป็นที่ไม่แน่ชัดมากนัก แต่มีการศึกษาหลายชิ้น ได้สร้างทฤษฎีอธิบายเรื่องการสะอึกของเด็กในทารก เช่น การสะอึกของเด็กในครรภ์อาจจะเกี่ยวข้องกับพัฒนาการในการเติบโตของปอด เกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองของเด็กในครรภ์ หรือเกิดจากการที่ของเหลวไหลเข้าไป และออกจากปอดของเด็กในครรภ์ ทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมมีการหดตัวอย่างรวดเร็วจนทำให้ลูกสะอึกในท้องได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การสะอึกของเด็กในครรภ์ เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีเป็นอันตราย หรือเป็นผลเสียอะไร เราสามารถมองเห็นการสะอึกของเด็กในครรภ์ ได้ขณะทำอัลตร้าซาวด์

จะแยกออกได้อย่างไร ว่าลูกสะอึก หรือลูกดิ้น


การสะอึกจะมีจังหวะที่คงที่ คุณแม่จะรู้สึกกระตุก หรือเกร็งบริเวณท้องในส่วนเดิมซ้ำ ๆ อาจจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 นาที

ในส่วนของการดิ้น โดยทั่วไปแล้วจะไม่มีจังหวะคงที่ และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณของท้องจากการเตะของลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งอาจจะศีรษะ แขน หรือเท้าของลูกที่กระแทกภายในท้อง บางครั้งคุณแม่อาจจะรู้สึกว่าเหมือนลูกหมุนไปมาอยู่ในท้อง

ถึงแม้ว่าการดิ้นของเด็กในครรภ์จะไม่มีจำนวนคงที่ แต่เราควรนับจำนวนการดิ้นด้วยไหม


อย่างที่กล่าวไปว่า การดิ้นของเด็กในครรภ์มีจำนวนไม่คงที่ แต่ก็ควรเฝ้าระวัง และสังเกตว่าลูกของเรานั้น มีการดิ้นที่น้อยลง ผิดปกติ หรือไม่ดิ้นเลยไหม เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพของลูก การที่เราจะนับจำนวนการดิ้น ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจจำนวนคร่าว ๆ ว่าลูกของเราเฉลี่ยปกติแล้ว เขาดิ้นมาก หรือน้อยขนาดไหน โดยสามารถทำได้ ดังนี้

          • เริ่มนับตั้งแต่ลูกเริ่มดิ้น ใช้เวลาทั้งวันในการนับจำนวน ว่าลูกของเราดิ้นถึง 10 ครั้งขึ้นไปใน 1 ชั่วโมงหรือไม่ นับรวมการดิ้นทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การเตะ การทีบ และการสะกิด รวมทั้งสังเกตว่า ในการดิ้นแต่ละครั้ง ใช้เวลาห่างกันเท่าไหร่
          • ถ้านับลูกดิ้นรวมกัน 3 เวลาหลังมื้ออาหาร 1 ชั่วโมง ลูกดิ้นมากกว่า 10 ครั้ง ถือว่าปกติ และในบางวันลูกอาจดิ้นมากกว่าปกติ ซึ่งแสดงว่าลูกยังมีสุขภาพที่แข็งแรงอยู่ คุณแม่ไม่ต้องกังวลใจไป
          • เด็กที่มีสุขภาพดี ส่วนใหญ่จะดิ้นหลายครั้งภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมง
          • ใช้เวลาเดิมของแต่ละวันนับจำนวนการดิ้น
          • หากลูกไม่ดิ้นมาก มีวิธีกระตุ้นให้ลูกดิ้นง่ายๆ ด้วยการลองดื่มน้ำเย็น ทานของว่าง หรือลองค่อย ๆ สะกิดลูกน้อยในท้อง เพื่อปลุกให้เขาตื่นก็ได้

จำนวนเฉลี่ยในการดิ้นส่วนมากอยู่ที่ 10 ครั้ง ภายในเวลา 30 นาที แต่อย่าพึ่งกังวลไป เราสามารถใช้เวลารอให้ลูกน้อยดิ้นได้ถึง 2 ชั่วโมง และถ้าลูกน้อยดิ้นน้อยกว่า 4 ครั้ง ในชั่วโมงแรก อาจเป็นไปได้ที่ลูกกำลังหลับ

นอกจากนี้ หากคุณแม่เริ่มสังเกตว่า ลูกในครรภ์ดิ้นน้อยกว่าปกติที่เคยเป็น หรือไม่ดิ้นเลย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อปรึกษา ตรวจเช็กว่าลูกน้อยมีปัญหาสุขภาพอะไรหรือไม่ และคุณแม่สามารถขอรับคำปรึกษากับแพทย์ที่เราฝากครรภ์ เกี่ยวกับข้อสงสัย และเรื่องที่กังวลใจ เพื่อเป็นข้อมูลดูแลสุขภาพคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้

ติดตามเคล็ดลับสำหรับคุณแม่อีกมากมาย เพียงร่วมเป็นครอบครัวเดียวกันกับเรา “Enfa Smart Club” พร้อมปรึกษาผู้เชี่ยวชาญผ่าน Live Chat ฟรี! และรับสิทธิพิเศษอีกมาก สมัครสมาชิกได้ที่นี่ คลิก และดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน A+ Genius Baby ที่นี่

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

บทความที่แนะนำ

เคล็ดลับคุณแม่ตั้งครรภ์
พัฒนาการลูกน้อยตลอด 9 เดือน
ตั้งครรภ์ 1-40 สัปดาห์ กับ พัฒนาการลูกน้อย
Enfa Smart Club

Leaving page banner