ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
พัฒนาการเด็ก/เตรียมตัวกลับไปทำงาน/วิธีนำนมที่แช่แข็งมาให้ลูกกิน

วิธีอุ่นนมแม่ อุ่นยังไงให้ถูกต้อง และน้ำนมไม่เสียคุณภาพ

 

Enfa สรุปให้

  • น้ำนมที่ออกจากอกแม่เวลาที่ทารกดูดกินนั้นมีอุณหภูมิที่ค่อนข้างอุ่น การที่เราอุ่นนมก็จะทำให้ทารกคุ้นชินกับน้ำนมแม่จากขวดนมได้ง่ายขึ้น มากไปกว่านั้น น้ำนมที่ถูกแช่เย็นมาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ไขมันในน้ำนมแม่จะมีการแยกชั้นและไปกองอยู่ที่ก้นถุง การอุ่นนมจะช่วยให้ไขมันส่วนนั้นกลับมารวมตัวกับน้ำนมอีกครั้ง
  • นมแม่ที่นำออกจากตู้เย็นหรือช่องแช่แข็ง จะอยู่ได้นานแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น หากพ้น 2 ชั่วโมงไปแล้ว และทารกกินนมนั้นไม่หมด หรือนมเหลือ ให้ทิ้งนมนั้นทันที ไม่ควรนำน้ำนมที่เหลือมาอุ่นซ้ำรอบสอง หรือนำกลับไปแช่แข็งแล้วเอากลับมาอุ่นให้ทารกกินอีก เนื่องจากจะทำให้ทารกท้องเสีย
  • อุณหภูมิที่ใช้ในการอุ่นนมแม่ ไม่ควรจะร้อนเกินกว่าอุณหภูมิห้องปกติ และไม่ควรอุ่นนมที่อุณหภูมิสูงเกิน 40 องศา เพราะความร้อนจะทำลายคุณค่าทางสารอาหารในน้ำนมแม่ มากไปกว่านั้น ยังไม่ควรอุ่นนมในไมโครเวฟ เพราะมีความร้อนสูง และเสี่ยงที่จะทำให้คุณภาพของน้ำนมแม่ลดลง
  • ในนมแม่ระยะแรก หรือที่เรียกว่า น้ำนมเหลือง จะมีสารอาหารสำคัญที่ชื่อว่า แลคโตเฟอร์ริน ที่จะทำหน้าที่ช่วยต่อต้านเชื่อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา จึงช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย คุณแม่จึงไม่ควรพลาดการเก็บน้ำนมในช่วงนี้

เลือกอ่านตามหัวข้อ

การอุ่นนมคืออะไร
วิธีอุ่นนมแม่หลังจากแช่ในตู้เย็น
วิธีอุ่นนมแม่หลังจากแช่ในช่องแช่แข็ง
นมแม่แช่แข็งอยู่ได้นานเท่าไหร่
น้ำนมเหลืองมีแลคโตเฟอร์รินช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน
ไขข้อข้องใจเรื่องการอุ่นนมแม่กับ Enfa Smart Club

คุณแม่เรียนรู้วิธีการปั๊มนมและการเก็บนมแม่แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องเอาน้ำนมแม่ที่เก็บไว้ในตู้เย็นออกมาชงให้เจ้าตัวเล็กกิน ซึ่งก็แน่นอนว่านมที่แช่อยู่ในตู้เย็นมาหลายวันนั้น ควรจะต้องนำมาอุ่นก่อนแล้วจึงให้ทารกกิน เพื่อให้น้ำนมแม่มีอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการดื่ม แต่การอุ่นนมสำคัญแค่ไหน วิธีอุ่นนมแม่ที่ถูกต้องคืออะไร ถ้าเราไม่ละลายนมแม่ก่อนกินได้หรือไม่ มาหาคำตอบพร้อม ๆ กันจากบทความนี้ของ Enfa เลยค่ะ

อุ่นนมคืออะไร


การอุ่นนมแม่ คือ การนำเอาน้ำนมแม่ที่ปั๊มและเก็บไว้ในตู้เย็นหรือช่องแช่แข็งออกมาอุ่นให้ได้อุณหภูมิที่เหมาะสมก่อนที่จะให้ทารกได้กินนมจากขวด ซึ่งหากถามว่าทำไมเราจะต้องอุ่นนมก่อนด้วยล่ะ เทใส่ขวดแล้วให้ทารกกินเลยไม่ได้หรือ?

จริง ๆ แล้วน้ำนมที่ออกจากอกแม่เวลาที่ทารกดูดกินนั้นก็มีอุณหภูมิที่ค่อนข้างอุ่น การที่เราอุ่นนมก็จะทำให้ทารกคุ้นชินกับน้ำนมแม่จากขวดนมได้ง่ายขึ้น

มากไปกว่านั้น น้ำนมที่ถูกแช่เย็นมาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ไขมันในน้ำนมแม่จะมีการแยกชั้นและไปกองอยู่ที่ก้นถุง การอุ่นนมจะช่วยให้ไขมันส่วนนั้นกลับมารวมตัวกับน้ำนมอีกครั้ง

วิธีอุ่นนมแม่ทำอย่างไร


วิธีอุ่นนมไม่ได้มีขั้นตอนที่ซับซ้อน สามารถทำได้ง่าย ๆ และไม่ได้ใช้เวลานาน คุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะอุ่นนมแม่ที่แช่ในตู้เย็นได้ ดังนี้

  • นำนมแม่ที่แช่ไว้ในตู้เย็น ออกมาวางพักไว้สักครู่ แต่อย่าเพิ่งเปิดฝาออก
  • ต้มน้ำให้พออุ่น โดยใช้กาต้มน้ำ หรือจะต้มน้ำในไมโครเวฟก็ได้ จากนั้นเทน้ำอุ่นลงในถ้วย หรือชามขนาดใหญ่พอจะใส่ขวดนมหรือถุงนม
  • ย้ำว่าน้ำที่ใช้อุ่นนม ควรเป็นน้ำแค่พออุ่นเท่านั้น อย่าใช้น้ำร้อน เพราะอุณหภูมิที่สูงเกินไปจะทำลายคุณค่าทางอาหารในน้ำนม
  • นำถุงนมหรือขวดนมที่วางพักไว้ใส่ลงไปในถ้วยหรือชามที่เทน้ำอุ่นไว้ก่อนหน้านี้ และยังไม่ต้องเปิดฝาออก ทิ้งไว้ 1-2 นาที หรือจนกว่านมจะอุ่นพอตามที่ต้องการ
  • ไม่ควรนำนมไปอุ่นในไมโครเวฟ เพราะความร้อนจากไมโครเวฟจะทำให้คุณค่าทางสารอาหารในน้ำนมลดลง
  • ขณะที่รออุ่นนม ให้คุณแม่ล้างมือให้สะอาด เมื่อนมมีอุณหภูมิได้ที่ตามต้องการแล้วให้เปิดฝาแล้วรินนมใส่ลงในขวดนม หรือหากมีลักษระเป็นขวดนมอยู่แล้วก็จัดการใส่จุกนมให้เรียบร้อย
  • เอียงขวดนมไปมา เพื่อให้ไขมันรวมตัวเป็นเนื้อเดียวกันกับน้ำนม แค่เอียงไปมาเท่านั้น ห้ามเขย่าเด็ดขาด!
  • เมื่ออุณหภูมินมได้ที่แล้ว จึงนำไปป้อนทารก

วิธีละลายนมแม่หลังจากแช่แข็ง


วิธีละลายน้ำนมจากช่องแช่แข็งนั้น มีอยู่ด้วยกัน 2 กรณีคือ

กรณีที่ 1 ไม่ละลายนมทันที

  • หากจะนำถุงนมหรือขวดนมที่แช่ไว้ในช่องแช่แข็งมาอุ่น ให้คุณพ่อคุณแม่เลือกเลยว่าจะใช้ถุงไหน หรือขวดไหน จะใช้กี่ถุงหรือกี่ขวด
  • เมื่อเลือกได้แล้วให้นำถุงนมหรือขวดนมนั้นมาแช่ในช่องแช่เย็นปกติ และแช่ทิ้งไว้หนึ่งคืนเพื่อให้น้ำนมละลาย
  • จากนั้นก็นำนมมาอุ่นตามวิธีอุ่นนมจากตู้เย็นตามปกติ

กรณีที่ 2 ต้องการละลายนมทันที

  • ในกรณีที่ต้องการอุ่นนมจากช่องแช่แข็งทันที ก็ให้ทำตามวิธีอุ่นนมจากตู้เย็นตามปกติ แต่ที่จะต้องทำเพิ่มก็คือ จะต้องอุ่นนมนานกว่าปกติ และอาจใช้เวลาตั้งแต่ 10-15 นาทีเป็นต้นไป

นมแม่แช่แข็งอยู่ได้นานเท่าไหร่


นมแม่ที่แช่ในห้องแช่แข็งด้วยอุณหภูมิต่ำกว่า 18 องศา สามารถอยู่ได้นานถึง 12 เดือน แต่โดยทั่วไปแล้วจะไม่เก็บนมแม่ไว้นานเป็นปีขนาดนั้น เพราะระยะเวลาที่น้ำนมยังคงคุณภาพไว้ดีที่สุดคือ 6 เดือน

น้ำนมเหลืองมีแลคโตเฟอร์ริน


ในน้ำนมแม่ระยะแรก หรือที่เรียกกันว่า น้ำนมเหลือง น้ำนมเหลืองจะมีสีเหลืองเข้ม และพบสารอาหารที่ชื่อว่า แลคโตเฟอร์ริน ได้สูงที่สุด แลคโตเฟอร์ริน เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา ชาวยส่งเสริมภูมิคุ้มกันของลูกน้อย คุณแม่จึงไม่ควรพลาดการเก็บน้ำนมในช่วงนี้ หากเป็นไปได้คุณแม่ควรให้น้ำนมเหลืองกับทารกทันทีหลังคลอด

นมแม่ดีที่สุดโดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน

ไขข้อข้องใจเรื่องการอุ่นนมแม่กับ Enfa Smart Club


นมแม่ออกจากตู้เย็นอยู่ได้กี่ชั่วโมง

นมแม่ที่ไม่ได้เก็บแช่ตู้เย็น เมื่ออยู่ในอุณหภูมิห้อง นมแม่จะอยู่ได้นาน 4 ชั่วโมง

แต่นมแม่ที่นำออกจากตู้เย็นหรือช่องแช่แข็ง จะอยู่ได้นานแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น หากพ้น 2 ชั่วโมงไปแล้ว และทารกกินนมนั้นไม่หมด หรือนมเหลือ ให้ทิ้งนมนั้นทันที ไม่ควรนำน้ำนมที่เหลือมาอุ่นซ้ำรอบสอง หรือนำกลับไปแช่แข็งแล้วเอากลับมาอุ่นให้ทารกกินอีก เนื่องจากเสี่ยงจะทำให้ทารกท้องเสีย

นมแม่อุ่นรวมกันได้ไหม หากมาจากถุงที่เก็บคนละรอบ

ควรอุ่นนมทีละถุง เพราะเป็นปริมาณที่เพียงพอต่อการกินนมของทารกในแต่ละรอบ และน้ำนมที่นำออกจากตู้เย็นมาอุ่น จะอยู่ได้นานแค่ 2 ชั่วโมง การอุ่นนมหลายถุงรวมกัน และทารกกินไม่หมดในรอบเดียว จะทำให้น้ำนมเสียไปโดยเปล่าประโยชน์แทนที่จะได้เก็บเอาไว้อุ่นให้ทารกกินในรอบต่อไป

นมแม่ผสมน้ำได้ไหม

ไม่ควรนำน้ำมาผสมกับนมแม่ เด็กทารกควรได้รับนมแม่เพียว ๆ เพราะจะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนจากนมแม่ การผสมน้ำเข้าไป อาจทำให้ทารกท้องเสียหรือไม่สบายได้ ถ้าหากน้ำไม่สะอาด อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในเด็กทารก

นมแม่ต้องอุ่นไหม ไม่อุ่นได้หรือเปล่า

นมแม่ควรจะต้องนำมาอุ่น เพื่อให้น้ำนมมีอุณหภูมิคล้ายกับนมแม่ที่ทารกดูดจากเต้า ทารกจะได้รู้สึกคุ้นชิน และกินนมได้ง่ายขึ้น มากไปกว่านั้น น้ำนมที่ถูกแช่เย็นมาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ไขมันในน้ำนมแม่จะมีการแยกชั้นและไปกองอยู่ที่ก้นถุง การอุ่นนมจะช่วยให้ไขมันส่วนนั้นกลับมารวมตัวกับน้ำนมอีกครั้ง

เครื่องอุ่นนมทำลายสารอาหารจริงไหม

ไม่มีผลการศึกษาอย่างชัดเจนว่าเครื่องอุ่นนมทำลายสารอาหารในน้ำนมจริงหรือไม่ แต่เครื่องอุ่นนมส่วนมากก็มักจะอุ่นนมในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ร้อนจนทำลายสารอาหารในน้ำนม

อย่างไรก็ตาม เครื่องอุ่นนมเป็นเพียงการตลาดที่ชวนให้น่าซื้อ เพราะหากพูดถึงวิธีการอุ่นนมแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถทำเองได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อเครื่องอุ่นนมที่มีราคาแพงก็ได้ แต่ถ้าใครสะดวกที่จะซื้อก็ไม่ว่ากัน

อุ่นนมแม่กี่องศาถึงจะดีที่สุด

อุณหภูมิที่ใช้ในการอุ่นนมแม่ ไม่ควรจะร้อนเกินกว่าอุณหภูมิห้องปกติ และไม่ควรอุ่นนมที่อุณหภูมิสูงเกิน 40 องศา

นมแม่ละลายแล้วลูกกินไม่หมด ยังเก็บต่อได้ไหม

หากละลายนมแล้วและทารกกินไม่หมด ให้นำนมนั้นไปทิ้งให้หมด ห้ามนำกลับมาอุ่นต่อ หรือนำกลับไปแช่ตู้เย็นแล้วนำมาอุ่นต่อเด็ดขาด เพราะเสี่ยงที่จะทำให้ทารกท้องเสีย หรือไม่สบายได้


บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

บทความที่แนะนำ

น้ำนมแม่ที่แช่ไว้มาให้ลูกกิน
เคล็ด (ไม่) ลับ เพิ่มน้ำนมแม่ให้ลูกน้อย
EFB form
Mobile efb banner
mobile banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner