ภาวะครรภ์เป็นพิษเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์อย่างไร?
ขณะตั้งครรภ์ มีอาการหลายอย่างเกิดขึ้นและสร้างความกังวลให้คุณแม่ เพราะบางอย่างนั้นส่งผลกระทบและอันตรายต่อทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ หนึ่งในอาการเหล่านั้นคือ ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะนี้คืออะไร สาเหตุมาจากไหน อันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์อย่างไร มาหาคำตอบกันค่ะ
ภาวะครรภ์เป็นพิษคืออะไร
ภาวะครรภ์เป็นพิษ คือภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ โดยที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีความดันโลหิตสูง มีไข่ขาวหรือโปรตีนออกมาในปัสสาวะและมักมีอาการบวมที่มือ หน้า ขา และเท้า บางคนอาจมีอาการมึนปวดศีรษะ ตามัวและอาเจียน ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ดีพอ อาจทำให้ถึงขั้นชักหากรุนแรงจนถึงขั้นมีเลือดออกในสมอง อาจทำให้คุณแม่เสียชีวิตได้ ภาวะครรภ์เป็นพิษเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยประมาณ ร้อยละ 10 ของแม่ตั้งครรภ์ทีเดียว คุณแม่สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราเพื่อพบเคล็ดลับการดูแลสุขภาพของตัวเองเพิ่มเติมได้ คลิก..
สาเหตุของภาวะครรภ์เป็นพิษ
สาเหตุการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษนั้นยังไม่แน่ชัด แต่มีสมมติฐานว่าน่าจะเกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้
-
เกิดจากความผิดปกติของการฝังตัวของรก ที่ไม่ได้ฝังตัวบริเวณผนังมดลูกอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้มีออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงรกไม่เพียงพอ ส่งผลให้รกบางส่วนเกิดการขาดออกซิเจน ขาดเลือด เมื่อเลือดไปเลี้ยงรกได้น้อยลงจะเกิดการหลั่งสารที่เป็นสารพิษบางอย่างเข้าสู่กระแสเลือดของแม่ทีละน้อย เมื่อถึงจุดหนึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา
-
เกิดจากรกทำงานผิดปกติทำให้มีสารบางชนิดกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัวอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท
-
เกิดจากภาวะโปรตีนหรือไข่ขาวรั่วออกมาปะปนอยู่ในปัสสาวะ
สัญญาณเตือนของภาวะครรภ์เป็นพิษ
-
น้ำหนักตัวเพิ่ม ภาวะครรภ์เป็นพิษจะส่งผลให้น้ำหนักคุณแม่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าปกติ ปกติคุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัม คุณแม่ที่มีอาการนี้อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 1-2 กิโลกรัม โดยที่ไม่ได้กินอาหารเพิ่มขึ้น แต่น้ำหนักขึ้นจากการบวมน้ำ
-
บวม โดยให้สังเกตบริเวณหน้าแข้ง จะพบว่าเมื่อกดแล้วจะมีรอยบุ๋ม เปลือกตาบวม แหวนที่ใส่คับแน่น
-
ปวดศีรษะ เมื่อมีภาวะครรภ์เป็นพิษบางรายจะมีอาการปวดศีรษะ เนื่องจากความดันโลหิตที่สูงขึ้น
-
ความดันโลหิตสูง วัดได้ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
-
จุกแน่นใต้ชายโครง หากมีเลือดออกที่ตับหรือตับเสื่อมสภาพ จะทำให้มีอาการจุกแน่นที่ใต้ชายโครงทางด้านขวาหรือบริเวณลิ้นปี่ บางรายอาจหายใจลำบาก เนื่องจากมีน้ำในปอด บางรายมีอาการตาพร่าลาย เนื่องจากเลือดที่ไปเลี้ยงจอประสาทตาลดลง
-
ลูกดิ้นน้อยลงและท้องไม่ค่อยโตขึ้นตามอายุครรภ์ เพราะเลือดไปเลี้ยงมดลูกลดลง ในรายที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์ได้
ระดับความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษ
-
ระดับไม่รุนแรง คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท แต่ไม่เกิน 160/110 มิลลิเมตรปรอท ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อน
-
ระดับรุนแรง คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีความดันโลหิตสูงกว่า 160/110 มิลลิเมตรปรอท หรือตรวจพบความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับอักเสบ ไตทำงานลดลง เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดแดงแตก ฯลฯ
-
ระดับรุนแรงและมีภาวะชักร่วม คุณแม่ตั้งครรภ์ชัก เกร็ง หมดสติ อาจมีเลือดออกในสมอง หากอยู่ในระยะนี้ต้องรีบรักษาโดยเร็ว เพราะทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์จะมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ภาวะครรภ์เป็นพิษอันตรายต่อแม่และทารกในครรภ์อย่างไร
-
เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด เมื่อเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษที่รุนแรง แพทย์อาจตัดสินใจให้คุณแม่คลอดก่อนกำหนดเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับลูกในครรภ์และตัวคุณแม่เอง และเมื่อมีการคลอดก่อนกำหนดจะส่งผลต่อสุขภาพของทารกอย่างแน่นอน
-
รกลอกก่อนกำหนด โดยรกอาจจะลอกหรือหลุดก่อนกำหนด ซึ่งจะทำให้เกิดเลือดออกมาก ส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์
-
ทารกไม่เติบโตตามมาตรฐาน ภาวะครรภ์เป็นพิษส่งผลให้ทารกรับสารที่จำเป็น เช่น สารอาหารต่างๆ ออกซิเจน ได้น้อยลงส่งผลให้เมื่อถึงกำหนดคลอด ทารกจะมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ได้
-
คุณแม่ชัก ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจทำให้คุณแม่เกิดอาการชัก ซึ่งเป็นอันตรายมากต่อทารกในครรภ์และคุณแม่ หากเป็นบ่อยๆ แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการยุติการตั้งครรภ์เพื่อความปลอดภัย
-
อวัยวะต่างๆ เกิดความเสียหาย ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจทำให้ร่างกายคุณแม่เกิดความเสียหายได้ตามระดับความรุนแรงของภาวะนี้ ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ ปอด ตับ ไต ฯลฯ
การป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษทำได้อย่างไร
การตรวจคัดกรองช่วยป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้ระดับหนึ่ง โดยคุณแม่สามารถปรึกษาคุณหมอได้ถึงปัจจัยเสี่ยง การเจาะเลือด และการตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูการไหลเวียนของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมดลูก เพื่อคุณหมอจะได้ที่จะพิจารณาการให้รักษา ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์
ทำอย่างไรเมื่อมีภาวะครรภ์เป็นพิษ
หากคุณแม่มีอาการตามสัญญาณเตือนข้างต้น ให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อจะได้หาแนวทางในการดูแลรักษาที่เหมาะสม โดยแพทย์จะพิจารณาจากอายุครรภ์เป็นหลัก หากอายุครรภ์น้อยเกินไปแพทย์จะให้ยากระตุ้นปอดแล้วพิจารณาว่าสามารถประคับประคองให้ทารกอยู่ในครรภ์แม่ได้นานที่สุดกี่วัน แต่หากอายุครรภ์สามารถทำคลอดได้ แพทย์จะทำการผ่าคลอดหรือเร่งให้คลอดทางช่องคลอดเพื่อหยุดความรุนแรงของโรค
คุณแม่ได้ทราบถึงความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษนี้แล้ว จึงควรเฝ้าระวัง สังเกตอาการตัวเองขณะตั้งครรภนะคะ