Enfa สรุปให้
- เด็กทารกในช่วงแรกเกิด ต้องการการนอนหลับประมาณ 17 – 18 ชั่วโมง/วัน ซึ่งการนอนหลับที่ดีและมีคุณภาพของเด็กทารกจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้ในยามตื่น เพื่อให้ให้การนอนหลับของเด็กทารกมีคุณภาพ ควรให้เด็กทารกได้นอนหลับในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีเสียงหรือแสงรบกวน อุณหภูมิของสถานที่ไม่ควรร้อนหรือเย็นเกินไป รวมทั้งมีอากาศถ่ายเทสะดวก
- ในช่วงเดือนแรก เด็กทารกจะสามารถส่ายศีรษะไปมาได้เล็กน้อย สามารถขยับแขน ขยับขา กระพริบตาได้ นอกจากนี้ คุณแม่ยังสามารถกระตุ้นพัฒนาการการเคลื่อนไหวได้ด้วยการโอบอุ้มหรือนวดสัมผัสส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- เด็กทารกแรกเกิดจะสามารถสื่อสารได้ด้วยการร้อง เพื่อส่งสัญญาณแสดงความต้องการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หิวนม ไม่สบายตัว เป็นต้น
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• พัฒนาการเด็กทารกแรกเกิดด้านสติปัญญา
• พัฒนาการเด็กทารกแรกเกิดด้านร่างกาย
• พัฒนาการเด็กทารกแรกเกิดด้านภาษา
• พัฒนาการเด็กทารกแรกเกิดด้านอารมณ์
สำหรับเด็กทารกแรกเกิดแล้ว แม้ว่าในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด คุณแม่จะเห็นลูกน้อยเอาแต่นอนทั้งวัน แต่ก็ใช่ว่าลูกจะทำอะไรไม่ได้เลย เพราะทุกเวลานาทีที่ผ่านไปคุณแม่สามารถสร้างเสริมพัฒนาการของลูกน้อยได้ไม่ต่างจากทารกในวัยอื่น ๆ อีกทั้งช่วงเวลานี้ยังเป็นช่วงเวลาสำคัญในการปรับตัวระหว่างคุณแม่กับลูกน้อยด้วย
พัฒนาการทารกแรกเกิด ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้
- สัปดาห์แรกของชีวิต ลูกน้อยต้องการเวลานอนหลับประมาณ 17-18 ชั่วโมงต่อวัน การนอนหลับที่เพียงพอ สำคัญยิ่งต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและสมองของลูก เพราะขณะที่ลูกหลับร่างกายจะหลั่ง Growth Hormone ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโตและช่วยเพิ่มพลังงานให้สมองพร้อมสำหรับการเรียนรู้ในยามตื่น ฉะนั้นการนอนหลับที่ไม่เพียงพอหรือการนอนหลับไม่สนิท เช่น อยู่ในสถานที่เสียงดังเกินไป เย็นหรือร้อนเกินไป ย่อมไม่ส่งผลดีต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูก
- ประสาทหูของลูกค่อนข้างไวต่อเสียงได้ยินอะไรนิดหน่อยก็สะดุ้งผวา
- เวลากระทบแสงจ้าจะหยี่ตา ประสิทธิภาพในการมองเห็นยังไม่ดีนัก มองเห็นได้เพียงรางๆ ระยะห่างไม่เกิน 8 นิ้วเท่านั้น
- ลูกน้อยสามารถรับรู้เวลาได้รับการโอบอุ้ม สัมผัส ยิ่งคุณแม่โอบอุ้มลูกให้อยู่ในท่าที่มั่นคงเพื่อให้นมลูกก็จะสามารถไซ้หาหัวนมคุณแม่ได้
- ลูกสามารถคว้าจับสิ่งของได้หากบังเอิญไปแตะเข้า หรือหากคุณแม่ลองสอดนิ้วเข้าไปในอุ้งมือของลูก ลูกจะกำนิ้วของคุณแม่ไว้แน่นทีเดียว
- ลูกสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างรสหวานและขมได้ในช่วง 3-4 วันหลังคลอด
พัฒนาการทารกแรกเกิด ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว
- เพราะศีรษะที่ยาวเกือบครึ่งหนึ่งของลำตัวจึงทำให้ทารกเคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด เช่น ขยับแขนขา กระพริบตา ส่ายศีรษะไปมาได้เล็กน้อย เป็นต้น แต่การเคลื่อนไหวส่วนใหญ่เป็นไปในรูปแบบของปฏิกิริยาสะท้อนกลับ (Reflexes) เช่น ถ้าคุณแม่เปลี่ยนท่านอนลูกอย่างฉับพลันหรือมีเสียงดัง ลูกจะสะดุ้งผวา แขนขากางออกแล้วงอกลับมาอยู่ในท่าห่อตัวอย่างรวดเร็ว หรือหากคุณแม่ลองเอานิ้วเขี่ยที่แก้มของลูก เขาจะหันหาตามทิศทางที่คุณสัมผัส
- ลูกสามารถหันศีรษะจากข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งได้ บางครั้งอาจยกขึ้นลงได้เล็กน้อย
- หากจับลูกอุ้มขึ้นบ่าลูกจะพยายามยกศีรษะและขยับร่างกาย แต่ถ้านอนคว่ำลูกจะนอนในท่าคู้ตัวกลม
- คุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของลูกน้อยได้ ด้วยการโอบอุ้มหรือนวดสัมผัสตามส่วนต่างๆ ของร่างกายลูกบ่อยๆ ซึ่งช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านร่างกายและการเรียนรู้ดีขึ้น
พัฒนาการทารกแรกเกิด ด้านภาษาและการสื่อสาร
- แม้ว่าลูกจะพูดไม่ได้แต่สามารถสื่อสารได้ด้วยการส่งเสียง “ร้อง” เช่น เมื่อรู้สึกหิว รู้สึกไม่สบายเนื้อตัว หากคุณแม่ตอบสนองลูกน้อยอย่างถูกต้องและทันท่วงทีด้วยการอุ้มด้วยท่าที่มั่นคงจะช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่นใจ ไม่เกรี้ยวกราด และเป็นเด็กอารมณ์ดีได้ไม่ยาก
พัฒนาการทารกแรกเกิด ด้านอารมณ์และสังคม
- ในแต่ละวันลูกจะมีเวลาตื่นตัวประมาณ 3% ในช่วงเวลากลางวัน จึงเป็นช่วงที่คุณแม่กับลูกน้อยควรจะได้สบตาทักทายเพื่อสร้างความอบอุ่นคุ้นเคยต่อกันมากขึ้น
- ลูกวัยนี้ชอบมองใบหน้าคนจริงๆ มากกว่าสิ่งของ และชอบฟังเสียงสูงของแม่มากกว่าเสียงทุ้มๆ ของคุณพ่อ
- ชอบมองดูวัตถุที่มีลวดลายมากกว่าสีเรียบๆ เนื่องจากไม่ว่าจะมองจากมุมไหนหรือแสงสว่างอย่างไร ลวดลายนั้นยังคงเหมือนเดิม แต่สีจะเปลี่ยนไประดับความสว่างในห้อง
คุณแม่คงเห็นแล้วนะคะว่าแม้ลูกน้อยจะยังใหม่ต่อโลกแต่เขาก็พร้อมที่จะเรียนรู้ ปรับตัว และพัฒนาศักยภาพอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ขอเพียงเราเข้าใจและเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกอย่างรอบด้าน โดยผ่านดูแลอย่างเหมาะสมค่ะ