Enfa สรุปให้:
- ทารกเพศชายวัย 9 เดือน หนักประมาณ 8.9 กิโลกรัม สูงประมาณ 72 เซนติเมตร ทารกเพศหญิงวัย 9 เดือน หนักประมาณ 8.2 กิโลกรัม สูงประมาณ 70.1 เซนติเมตร
- เด็ก 9 เดือนหลายคนเริ่มที่จะมีการยืน หรือเริ่มที่จะพยุงตัวเองให้ยืนขึ้นได้บ้างแล้ว เป็นช่วงเวลาที่เข้าสู่การหัดเดิน หรือเริ่มที่จะฝึกตั้งไข่ได้แล้วค่ะ
- พัฒนาการเด็ก 9 เดือน สามารถพูดคำซ้ำ ๆ สั้น ๆ 1-2 พยางค์ได้ เริ่มพูดตาม เริ่มเลียนแบบ เริ่มจำคนใกล้ชิดได้มากขึ้น เริ่มหวาดกลัวคนแปลกหน้าหรือคนที่ไมทคุ้นเคย
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• มีอะไรบ้างเกิดขึ้นในช่วงอายุ 9 เดือน
• น้ำหนักและส่วนสูงของทารกวัย 9 เดือน
• การกินของทารกวัย 9 เดือน
• การขับถ่ายของทารกวัย 9 เดือน
• การนอนของทารก 9 เดือน
• พัฒนาการเด็กทารก 9 เดือน
• กระตุ้นพัฒนาการทารก 9 เดือนอย่างไร
• ไขข้อข้องใจเรื่องพัฒนาการทารกวัย 9 เดือน กับ Enfa Smart Club
ในที่สุดเจ้าตัวเล็กก็ย่างเข้าสู่เดือนที่ 9 แล้ว ถือว่าเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังและใกล้ที่จะอายุเต็มขวบเข้าไปทุกทีแล้ว แต่เด็ก 9 เดือน จะมีพัฒนาการอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง และคุณพ่อคุณแม่จะช่วยเสริมพัฒนาการลูกได้อย่างไร Enfa พร้อมแล้วที่จะต้อนรับคุณพ่อคุณแม่เข้าสู่โลกของเจ้าตัวเล็กวัย 9 เดือน
พัฒนาการ ทารก 9 เดือน มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
เมื่อถึง 9 เดือน เจ้าตัวเล็กสามารถที่จะเคลื่อนที่ได้มากขึ้นและชอบที่จะสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทารกในวัยนี้คลานได้คล่องตัวมากขึ้น และสามารถพยุงตัวเองให้ยืนได้ด้วย ลูกน้อยวัยนี้ชอบที่จะกอดสมาชิกในครอบครัว บางครั้งก็เริ่มแสดงอาการเขินอายหรือกลัวคนแปลกหน้าออกมาด้วย
น้ำหนักและส่วนสูงของเด็ก 9 เดือน
เมื่อทารกเข้าเดือนที่ 9 ทารกก็จะมีรูปร่างที่ใหญ่ขึ้น น้ำหนักตัวมากขึ้น และมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละคนจะมีน้ำหนักและส่วนสูงที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ตามเกณฑ์ที่เหมาะสม แต่ก็มีบ้างบางกรณีที่ทารกวัย 9 เดือนมีน้ำหนักและส่วนสูงที่เกินหรือต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น
น้ำหนักเด็ก 9 เดือน
น้ำหนักของทารกวัย 9 เดือนนั้น สามารถแบ่งออกตามเพศโดยกำเนิดได้ดังนี้
• ทารกเพศชายวัย 9 เดือน หนักประมาณ 8.9 กิโลกรัม
• ทารกเพศหญิงวัย 9 เดือน หนักประมาณ 8.2 กิโลกรัม
ส่วนสูงเด็ก 9 เดือน
ความสูงเด็ก 9 เดือนนั้น สามารถแบ่งออกตามเพศโดยกำเนิดได้ดังนี้
• ทารกเพศชายวัย 9 เดือน สูงประมาณ 72 เซนติเมตร
• ทารกเพศหญิงวัย 9 เดือน สูงประมาณ 70.1 เซนติเมตร
การกินของเด็ก 9 เดือน
เด็กวัย 9 เดือนสามารถกินอาหารได้หลากหลายมากขึ้น สามารถกินอาหารที่มีรสชาติและเนื้อสัมผัสที่หลากหลายขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญก็ยังจะต้องเป็นอาหารที่มีประโยชน์ และครบทั้ง 5 หมู่อยู่เหมือนเดิม ควบคู่ไปกับการกินนมแม่หรือนมผง เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน เหมาะสมกับวัย และดีต่อการเจริญเติบโต
โภชนาการสำหรับเด็ก 9 เดือน
เด็ก 9 เดือน กินกี่มื้อกันนะ? ทารกสามารถกินอาหารได้มากขึ้นค่ะ โดยสามารถกินมื้อหลักได้ 3 มื้อตามปกติ แต่อาจจะต้องเพิ่มมื้อว่างเข้าไปอีก 2 มื้อ เพื่อให้ลูกได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอในแต่ละวัน
โดยเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้เด็ก 9 เดือน ไม่ว่าจะเป็น กล้วย อะโวคาโด มันเทศ พริกหวาน เต้าหู้ ซีเรียล สามารถที่จะให้ลูกกินเป็นชิ้นพอดีคำแบบไม่ต้องมาคอยบดอีกต่อไป เพราะเด็กวัยนี้สามารถที่จะกินอาหารแข็งได้เก่งขึ้นแล้วค่ะ สิ่งสำคัญก็คือทารกควรได้รับโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมันในทุกมื้อค่ะ
อย่างไรก็ตาม อาหารสำหรับเด็กวัย 9 เดือนนี้ ยังไม่จำเป็นต้องมีการปรุงรสชาติใด ๆ นะคะ ไม่ต้องเพิ่มน้ำตาล ไม่ต้องปรุงโซเดียม เพราะเด็กอาจจะสะสมสารอาหารเหล่านี้มากเกินไปตั้งแต่ยังเล็ก จะเป็นผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดี
ปริมาณนมที่เหมาะสำหรับเด็ก 9 เดือน
เด็กวัย 9 เดือน ยังควรได้รับนมแม่สลับนมผงอยู่เช่นเดิมค่ะ โดยปริมาณนมแม่ที่เหมาะสำหรับเด็ก 9 เดือน ควรจะอยู่ระหว่าง 24 - 32 ออนซ์ต่อวัน และควรได้รับนม 4 - 6 ครั้งต่อวัน
ในช่วง 2-3 ปีแรก เป็นช่วงเวลาสำคัญของพัฒนาการของเด็ก และการให้เด็กได้รับโภชนาการที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการให้เด็กกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน (ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญและองค์การอนามัยโลก) น้ำนมแม่มีคุณประโยชน์ต่อพัฒนาการเด็กทุกด้าน MFGM เป็นหนึ่งในสารอาหารที่มีคุณค่าที่พบในน้ำนมแม่ ซึ่งช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็ก โดยเฉพาะพัฒนาการ 3 ด้านที่สำคัญ คือ สมอง ภูมิคุ้มกัน และระบบขับถ่าย MFGM ช่วยพัฒนา IQ และ EQ ของเด็ก รวมทั้งเสริมสร้างความแข็งแรงให้ระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยลดโอกาสที่จะติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนในเด็ก และยังให้ประโยชน์กับเด็กเช่นเดียวกับนมแม่
พัฒนาการทารก 9 เดือน ด้านการขับถ่ายของ
ทารกวัย 9 เดือน แน่นอนค่ะว่าสามารถกินอาหารอื่น ๆ ควบคู่ไปกับนมแม่และนมผง อัตราความถี่ในการอุจจาระก็อาจจะเพิ่มมากขึ้น ลักษณะอุจจาระ รวมถึงสีของอุจจาระ ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปตามอาหารที่กิน จากที่เมื่อก่อนจะเป็นอุจจาระจากการกินนมแม่แค่เพียงอย่างเดียว
ทารก 9 เดือน ถ่ายวันละกี่ครั้ง
สุขภาพของเด็กแต่ละคนนั้นแตกต่างกันค่ะ ดังนั้น จึงถือว่าเป็นเรื่องยากที่จะเจาะจงว่าเด็กวัย 9 เดือนจะขับถ่ายวันละกี่ครั้ง อาจจะเป็น 1 ครั้ง 2 ครั้ง 3 ครั้ง หรือ 4-6 ครั้งต่อวันก็ได้เช่นกันค่ะ
สีอุจจารของเด็ก 9 เดือน
อุจจาระปกติควรจะเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองเข้ม แต่ในช่วงวัย 9 เดือนนี้ คุณแม่อาจะเริ่มสังเกตว่าสีอุจจาระลูกบางครั้งก็เปลี่ยนไป โดยบางครั้งอาจมีสีเขียวออกมาด้วย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้และไม่ใช่เรื่องผิดปกตินะคะ เพราะเด็กวัยนี้เริ่มกินอาหารอื่น ๆ นอกเหนือจากนมแม่ได้มากขึ้นแล้ว สีของอุจจาระ อาจแปรเปลี่ยนไปตามผักและผลไม้ที่ทารกกินเข้าไปได้ค่ะ
แต่ถ้าหากทารกมีอุจจาระสีดำ อุจจาระสีแดง อุจจาระสีขาว และอุจจาระสีเทา ถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย ควรพาลูกไปพบแพทย์ค่ะ
การนอนของเด็ก 9 เดือน
การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่สมบูรณ์และแข็งแรง จึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องพาลูกน้อยเข้านอนให้เหมาะสม
เด็ก 9 เดือน นอนกี่ชั่วโมง
เด็กวัย 9 เดือน ควรจะนอนให้ได้ประมาณ 14-15 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นนอนตอนกลางวัน 3-4 ชั่วโมง โดยให้เด็กได้นอนงีบ 2 ครั้งต่อวัน คือช่วงสายและช่วงบ่าย และนอนตอนกลางคืนอีก 11 ชั่วโมง
พัฒนาการเด็ก 9 เดือน
พัฒนาการทารก 9 เดือนที่เห็นได้ชัดเจนเลยก็คือ เข้าสู่วัยเริ่มเติบโตแล้ว ในวัยนี้เด็กหลายคนพร้อมที่จะยืน เดิน แต่เด็กบางคนอาจยังอยากที่จะคลานอยู่ ซึ่งนั่นไม่เป็นปัญหาสำหรับคุณแม่ เพราะเมื่อไหร่ที่ร่างกายและจิตใจของลูกพร้อมแล้ว เขาก็พร้อมจะยืนเดินด้วยตัวเอง ในเดือนนี้พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเจ้าตัวน้อยจะเป็นอย่างไรกันบ้าง ตามไปดูกันเลย!
พัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็ก 9 เดือน
• เมื่อลูกเข้าสู่วันหัดยืน และเริ่มปีน ระดับสายตาที่สูงกว่าตอนนั่ง หรือนอน ทำให้ค้นพบ “ช่องว่าง” ที่เกิดระหว่างการปีน หรือการอยู่ในระดับที่สูงกว่าจนเกิดช่องว่าง ซึ่งช่องว่างนี้อาจทำให้ลูกรู้สึกกลัวได้ เพราะลูกจะเชื่อมโยงความคิดว่าเขาสามารถตกหรือหลุดเข้าไปในช่องว่างนี้ได้ เด็กบางคนอาจพยายามแก้ไขความกลัวนี้ด้วยตัวเอง โดยการลุก ๆ นั่ง ๆ ทำซ้ำ ๆ แบบนี้ จนกล้าคลานหรือปีนไปคว้าหยิบสิ่งของที่ต้องการได้ แต่ถ้าไม่ และลูกแสดงความกลัวให้เห็นชัดเจน คุณแม่คงต้องเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ ลูก กอดและปลอบลูกว่าไม่เป็นอะไร และลองให้ลูกเอื้อมมือไปสัมผัสของสิ่งนั้นอีกที ความกลัวที่มีอยู่ก็จะค่อย ๆ ลดน้อยลง
• มีความรู้สึกไวต่อเด็กอื่นมาก เพราะเขาไม่สามารถคาดเดาอะไรได้จึงคอยแต่จ้องมองเพื่อน ๆ พี่ ๆ เล่นอยู่ข้าง ๆ และอาจสะดุ้งตกใจเมื่อมีการเคลื่อนไหวอย่างฉับพลัน หรือจู่ ๆ เสียงดังขึ้นมา
• ยังควบคุมอารมณ์ และความเครียดไม่ได้ โอกาสที่จะได้ยินเสียงร้องไห้จากการแย่งของเล่นกันจึงเกิดขึ้นได้
• สามารถประเมินอารมณ์ของคนอื่นได้บ้าง และรู้ว่าควรจะเล่นเงียบ ๆ หรืออยู่ในมุมที่ปลอดภัยจากพายุอารมณ์นั้น
• ชอบเมื่อมีคนชมหรือปรบมือให้ เพราะเขารับรู้ความหมายของการกระทำนี้แล้วว่า ทุกคนกำลังพอใจในสิ่งที่เขาทำ
พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารของเด็ก 9 เดือน
• ลูกอาจพูดคำ 1 – 2 พยางค์ ซ้ำ ๆ กันได้
• พูดคำที่มีความหมาย เช่น มะมา ปะปา ได้บ้างแล้ว
• รับรู้น้ำเสียงว่าแบบไหนคือ แม่กำลังดุ แบบไหนแม่กำลังชม
• เด็กบางคนอาจฟังเข้าใจในสิ่งที่คนพูดด้วย และสามารถพูดตอบกลับได้ เช่น ไม่ รวมทั้งสามารถทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ เช่น มาหาแม่ที หยิบลูกบอลให้หน่อย
พัฒนาการด้านสมองของเด็ก 9 เดือน
• ความจำ และความสามารถของสมองลูกพัฒนาขึ้นมาก จนบางครั้งเขาก็อาจเบื่อกับสภาพแวดล้อมเดิม ๆ การกระตุ้นซ้ำ ๆ ก็ได้ คุณแม่จึงต้องพยายามหาเกม หรือสิ่งใหม่ ๆ มาเล่นกับลูก เมื่อเริ่มสังเกตว่าลูกเริ่มเบื่อที่จะเล่นจ๊ะเอ๋ หรือซ่อนของแล้ว อาจชวนลูกเล่นต่อบล็อก โยนบอลใส่กล่อง อ่านนิทานเล่มใหม่ หรือพาไปเที่ยวเล่นนอกบ้านบ้างก็ได้เช่นกัน
พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของเด็ก 9 เดือน
• คลานได้คล่องขึ้น บางครั้งอาจเห็นลูกคลานหมุนไปรอบ ๆ ตัวหรือคลานไปพร้อมกับถือของเล่นไว้มือหนึ่ง
• เด็กบางคนอาจลุกขึ้นยืนโดยไม่ต้องจับเครื่องเรือน ยืนได้อยู่สักพักแล้วก็รู้จักงอเขานั่งลงเองได้แล้ว
• กล้ามเนื้อมัดเล็กทำงานดีขึ้น เริ่มจับสิ่งของชิ้นเล็ก ๆ เช่น กระดุม ได้แล้ว และชอบใช้นิ้วชี้แคะแหย่ตามช่อง ตามรูต่าง ๆ คุณแม่ควรปิดรูปลั๊กต่าง ๆ ให้เรียบร้อย
• ชอบตบมือ หรือเอาของเล่นมากระทบกันให้เกิดเสียง
• สามารถต่อบล็อกได้ 2 ชั้น
กระตุ้นพัฒนาการเด็ก 9 เดือน ด้วยวิธีไหน
การกระตุ้นพัฒนาการนั้นถือว่ามีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ทารกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ แข็งแรง และสมวัย คุณพ่อคุณแม่สามารถเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ทุกวัน ดังนี้
• ให้ลูกเล่นได้มากขึ้น สร้างบรรยากาศให้เหมาะกับการเล่น เพื่อเสริมให้เด็กได้เคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากทารก 9 เดือนสามารถที่จะเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วแล้วค่ะ
• อย่าละทิ้งการอ่าน วัย 9 เดือนนี้สมองของทารกพัฒนาขึ้นมาก จึงเหมาะที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะด้านการเรียนรู้ และทักษะภาษาผ่านการอ่านนิทาน โดยอาจจะเป็นหนังสือนิทานเสียง หรือหนังสือนิทานที่มีภาพขนาดใหญ่ สีสันสวยงาม
• เด็กวัย 9 เดือนก็ยังคงชอบของเล่นที่มีการโต้ตอบอยู่ค่ะ ไม่จำเป็นต้องใช้ของเล่นที่พิสดารอะไรมากมาย แค่กดปุ่มแล้วมีเสียงก็ถือว่าใช้ได้แล้ว เพราะเจ้าตัวเล็กชอบที่จะเล่นกับของเล่นที่มีปฏิกิริยาโต้ตอบ ช่วยเสริมทักษะด้านการสื่อสารได้ดีทีเดียวค่ะ
• พูดกับลูกบ่อย ๆ เด็ก 9 เดือนเริ่มมีทักษะในการจดจำมากขึ้น สามารถที่จะพูดอ้อแอ้ลอกเลียนแบบคำสั้น ๆ ที่พ่อกับแม่คุยด้วยได้ การพูดกับลูกบ่อย ๆ จะช่วยกระตุ้นทักษะการสื่อสาร
• ระบบประสาทส่วนการจดจำของทารก 9 เดือน สามารถทำงานได้ดี จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการพาลูกทำกิจกรรมที่เป็นกิจวัตร เพื่อให้ลูกเกิดความคุ้นเคยมากขึ้น เช่น ตื่นนอนเวลานี้ เข้านอนเวลานี้ กินข้าวเวลานี้ อาบน้ำเวลานี้ จะช่วยเสริมสร้างให้เด็กเกิดความจดจำได้ดีขึ้นด้วย
ของเล่นเด็ก 9 เดือน
ของเล่นเสริมพัฒนาการ 9 เดือน ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยเสริมพัฒนาทักษะให้กับเด็กได้หลายด้าน ตั้งแต่พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว ภาษา การสื่อสาร ตลอดจนอารมณ์และสังคม โดยของเล่นที่เหมาะกับทารก 9 เดือนก็มีด้วยกันหลายอย่างค่ะ เช่น
• ของเล่นที่มีการโต้ตอบ เช่น ของเล่นที่กดปุ่มแล้วจะมีเสียงพูดหรือเสียงดนตรี หนังสือนิทานแบบมีเสียง จะช่วยให้เด็กสนุกและผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งยังเป็นการฝึกพูดโต้ตอบไปในตัวด้วย
• ของเล่นที่มีการเคลื่อนไหว เช่น รถไขลาน รถบังคับ ช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดการเคลื่อนไหวตาม ทำให้เด็กได้ออกกำลังกายมากขึ้น
• ของเล่นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ตัวต่อ การต่อบล็อก จะช่วยกระตุ้นทักษะความคิดให้กับเจ้าตัวเล็กได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรระวังคือเรื่องของความไวค่ะ เพราะเผลอแป๊บเดียว ลูกอาจจะคว้าเอาของเล่นเข้าปากได้ โดยเฉพาะของเล่นชิ้นเล็ก ๆ ที่หากเด็กคว้าเข้าปาก อาจจะส่งผลเสียได้ ควรติดตามดูอย่างใกล้ชิดในเวลาที่ลูกเล่นของเล่นนะคะ
ไขข้อข้องใจเรื่องพัฒนาการเด็ก 9 เดือน กับ Enfa Smart Club
นมผงเด็ก 9 เดือน กินได้หรือยัง?
แม้ว่าเด็กจำเป็นจะต้องได้รับนมแม่ต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน แต่ก็ไม่ใช่แม่ทุกคนที่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะแม่บางคนอาจมีปัญหาน้ำนมน้อย น้ำนมไม่ไหล ซึ่งแพทย์ก็อาจจะแนะนำให้สลับนมแม่กับนมผง ดังนั้น เด็กบางคนจึงอาจกินนมผงมาตั้งแต่ช่วง 6 เดือนแรกแล้วค่ะ
ส่วนเด็ก 9 เดือน คุณแม่สามารถที่จะสลับให้นมแม่กับนมผงได้เช่นกันค่ะ เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารและพลังงานที่เพียงพอในแต่ละวัน
ลูก 9 เดือน ยังไม่คลาน?
เด็กจะเริ่มคลานในช่วงอายุ 6-10 เดือน และเด็กแต่ละคนก็เริ่มคลานในช่วงเวลาที่ต่างกัน เด็กบางคนอาจเริ่มคลานในช่วงอายุ 6 เดือน เด็กบางคนอาจจะไปเริ่มคลานเอา 10 เดือนก็มี ดังนั้น ลูก 9 เดือนยังไม่คลาน ก็ยังไม่ถือว่าผิดปกติค่ะ
ลูก 9 เดือน ยังไม่นั่ง?
พัฒนาการทารก 9 เดือน ในวัยนี้ยังไม่ยอมนั่ง หรือยังต้องคอยให้พ่อแม่ประคองลุกขึ้นนั่ง อันนี้ถือว่าเสี่ยงที่จะมีความผิดปกติค่ะ เพราะช่วงเวลาที่เด็กจะเริ่มลุกขึ้นนั่งเองนั้นจะอยู่ระหว่างเดือนที่ 6-8 แต่ถ้าเข้าเดือนที่ 9 แล้วลูกยังไม่สามารถลุกขึ้นนั่งเองได้ ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยค่ะ
ลูก 9 เดือน ไม่ยอมดูดขวด?
ปัญหาลูกติดเต้า ไม่เอาขวดนม ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาโลกแตกที่เข้าใจได้ค่ะ แต่สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องจำไว้ก็คือ ปัญหานี้ต้องใช้เวลาและความอดทนเท่านั้นค่ะ หรืออาจใช้วิธีดังต่อไปนี้
• พยายามให้ลูกได้กินนมจากขวดมากขึ้น ให้ลูกได้จับขวดนมบ่อย ๆ หรือถ้าไม่ได้ผล อาจต้องลองป้อนด้วยภาชนะอื่น ๆ
• ลดการเข้าเต้า พยายามหลีกเลี่ยงการให้นมลูกจากเต้านมแม่
• ให้นมลูกในท่าเดียวกับเวลาให้นมจากเต้า แต่เปลี่ยนจากเต้านมมาเป็นขวดนมแทน อาจช่วยให้ลูกยอมกินนมขวดได้ง่ายขึ้น
• ไม่ให้นมลูกพร่ำเพรื่อ ให้เฉพาะเวลาที่หิวจริง ๆ เท่านั้น ซึ่งเมื่อลูกหิว ลูกอาจจะยอมรับขวดนมได้ง่ายขึ้นก็ได้ค่ะ
เพิ่มน้ำหนักลูก 9 เดือน?
การเพิ่มน้ำหนักลูกนั้น คุณพ่อคุณแม่จำเป็นจะต้องใส่ใจในเรื่องของโภชนาการค่ะ ควรเน้นโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมันในทุก ๆ มื้ออาหาร และควรให้ลูกได้กินอาหารที่หลากหลายเพื่อลดอาการเบื่ออาหาร ซึ่งอาจทำให้ลูกกินอาหารได้น้อยลง จนส่งผลต่อน้ำหนักตัวที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม หากน้ำหนักตัวของลูกลดลงอย่างต่อเนื่อง ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยทันที เพราะอาจเกิดความผิดปกติขึ้นกับทารกได้ค่ะ
ลูก 9 เดือน ตกเตียง?
อาจต้องดูปัจจัยแวดล้อมร่วมด้วยค่ะ เช่น ลูกตกจากเตียงสูงมากไหม ลูกมีเลือดออกไหม ลูกตัวนิ่งแข็งทื่อไหม ลูกร้องไห้ไม่หยุดหรือเปล่า หากมีอาการข้างต้น ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยค่ะ
แต่ถ้าหากลูกไม่มีอาการใด ๆ ที่น่าเป็นห่วง เช่น แม้จะร้องไห้ แต่ปลอบแล้วก็หยุดร้อง และสามารถกินนม กินข้าวได้ตามปกติ อย่างนี้ก็สบายใจได้ค่ะ ถือว่าไม่มีอาการที่น่ากังวล
อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่ไม่สบายใจ ก็สามารถพาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการเช็กดูว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับลูกหรือไม่
ลูก 9 เดือน กินยาก?
เรื่องนี้คุณพ่อคุณแม่จำเป็นจะต้องดูหลายองค์ประกอบหน่อยค่ะ เพราะบางทีลูกอาจเบื่ออาหาร พอเปลี่ยนเป็นเมนูใหม่ ๆ ลูกก็อาจจะกลับมากินอาหารเหมือนเดิม หรือลูกอาจจะกินมื้อก่อนหน้ามาเยอะแล้ว และอาหารยังไม่ย่อย จึงทำให้ไม่หิว หรือไม่อยากกิน ซึ่งกรณีไม่ถือว่าผิดปกติค่ะ
กับอีกกรณีหนึ่งที่ค่อนข้างน่าเป็นกังวลนั่นก็คือลูกกินยาก เบื่ออาหาร ไม่กินอาหาร เพราะไม่สบาย ซึ่งหากเป็นกรณีเช่นนี้ ควรต้องพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา เพราะบางครั้งลูกอาจกำลังป่วย ไม่สบาย หรือมีอาการแพ้อาหารบางชนิดอยู่ก็ได้ค่ะ
- Verywell Family. Average Baby Weight and Length By Age. [Accessed] https://www.verywellfamily.com/first-year-infant-growth-431721#toc-average-baby-length-height. [3 March 2023]
- Verywell Family. Your 9-Month-Old Baby’s Development and Milestones. [Accessed] https://www.verywellfamily.com/your-9-month-old-baby-development-and-milestones-4172786. [3 March 2023]
- WebMD. Baby Development: Your 9-Month-Old. [Accessed] https://www.webmd.com/parenting/baby/baby-development-9-month-old. [3 March 2023]
- WebMD. Slideshow: Common Baby Feeding Problems. [Accessed] https://www.webmd.com/parenting/baby/ss/slideshow-feeding-problems. [3 March 2023]
- Unicef. Your baby's developmental milestones at 9 months. [Accessed] https://www.unicef.org/parenting/child-development/your-babys-developmental-milestones-9-months#social-and-emotional. [3 March 2023]
- What to expect. 9-Month-Old Baby. [Accessed] https://www.whattoexpect.com/first-year/month-by-month/month-9.aspx#section-body. [3 March 2023]
- The Bump. 9-Month-Old Baby. [Accessed] https://www.thebump.com/baby-month-by-month/9-month-old-baby#4. [3 March 2023]
- โรงพยาบาลสมิติเวช. เบบี๋ตกเตียง เมื่อไหร่ที่พ่อแม่ควรตกใจ. [เข้าถึงได้จาก] https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/เบบี๋ตกเตียง. [3 มีนาคม 2023]
บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 1 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 2 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 3 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 4 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 5 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 6 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 7 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 8 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 9 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 10 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 11 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 1 ขวบ