สำหรับคนเป็นแม่แล้ว เราต่างรู้กันว่าช่วงเวลาของลูกน้อยนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเราต่างเฝ้าดูการเติบโตของลูกในทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นก้าวแรก คำพูดแรก หรือแม้กิจกรรมทั่วไประหว่างวัน ล้วนเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับคุณแม่เสมอ

กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นกิจวัตร ทั้งการพาเขาเข้านอน การกอด การให้นม การพาเขาไปเดินเล่น ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ ล้วนสร้างความผูกพันระหว่างแม่กับลูกไปในตัว ดูเผิน ๆ แล้วอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไร แต่คุณแม่ทราบหรือไม่ว่า การสร้างความผูกพันระหว่างแม่กับลูก สามารถส่งผลด้านทักษะของลูกได้เหมือนกันนะ

ทำไมการสร้างความผูกพันถึงเป็นสิ่งสำคัญ

การสร้างความผูกพันระหว่างแม่กับลูกน้อย เป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม มีผลการศึกษาในลูกลิงเกิดใหม่ แยกออกเป็นลูกลิงที่อยู่กับแม่ และลูกลิงที่อยู่กับตุ๊กตา พบว่า ลูกลิงที่อยู่กับแม่ และมีความผูกพันกับแม่ จะมีทักษะการเข้าสังคมที่ดีกว่าลูกลิงที่อยู่กับตุ๊กตา ซึ่งยังพบอีกว่า ในลูกลิงที่อยู่กับตุ๊กตา นอกจากจะมีทักษะในการเข้าสังคมที่น้อยกว่าแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่ลูกลิงจะมีความรู้สึกสิ้นหวัง

โดยนักวิจัยมองว่าการขาดความผูกพันระหว่างแม่กับลูกในกลุ่มทดลองของลูกลิง จะส่งผลเดียวกับมนุษย์ หากแม่และลูกไม่มีความผูกพันกัน ก็อาจจะทำให้เด็กขาดทักษะในการเข้าสังคม รวมทั้งมีความเสี่ยงที่เด็กจะมีความรู้สึกสิ้นหวังอีกด้วย

แล้วอะไรคือ “การสร้างความผูกพัน”

การสร้างความผูกพัน คือ การสร้างสายใยสัมพันธ์ หรือความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างตัวเรากับเด็ก หากจะอธิบายง่าย ๆ ก็คือ ความรู้สึกที่เราอยากจะทำอะไรให้เขาด้วยความรัก อยากจะปกต้องเขาจากอันตรายต่าง ๆ หรือความเป็นห่วงเป็นใย นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าความผูกพันนั่นเอง

เราเริ่มสร้างความผูกพันกับลูกน้อยตั้งแต่เมื่อไหร่

ในแต่ละครอบครัวก็จะสร้างความผูกผันแตกต่างกันไป แต่ความผูกพันแรกที่คุณแม่สามารถสัมผัสได้ นั่นคือช่วงเวลาที่ลูกน้อยได้ลืมตาดูโลก และได้เริ่มให้นมแม่จากเต้า เราจะค่อย ๆ รู้สึกผูกพันกับเขามากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละวันแบบที่เราเองก็อาจจะไม่รู้ตัว

อย่างไรก็ตาม ในบางครอบครัวอาจจะมีเหตุจำเป็นเช่น ลูกอาจจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลพิเศษหลังคลอด หรือคุณแม่อาจจะมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด การสร้างความผูกพันก็อาจจะใช้เวลาบ้าง แต่นั่นก็ยังถือเป็นเรื่องที่ปกติ ความผูกพันระหว่างแม่กับลูกยังคงอยู่ และยังสามารถสร้างสายใยได้เรื่อย ๆ ตลอดการเติบโตของลูกน้อย

หลายคนอาจจะสงสัยว่า อะไรที่สร้างความผูกพันระหว่างเรากับลูกได้บ้าง ต้องบอกเลยว่า หลายเรื่องคือเรื่องทั่วไปที่เป็นกิจวัตรประจำวันของคุณแม่ และลูก เช่น การกอด การอาบน้ำให้ลูก การสัมผัส การยิ้ม การพูดคุย ฯลฯ อะไรก็ตามที่เราได้ทำกิจกรรมร่วมกับลูกน้อย ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสายใยความผูกพัน

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

เสริมสร้างสายใยความผูกพันด้วยกิจกรรมระหว่างแม่กับลูกน้อย

คุณแม่สามารถสร้างความผูกพันได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้เวลาทำกิจกรรมกับลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เป็นกิจวัตรประจำวัน รวมทั้งกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งสามารถทำได้ในแต่เด็กแต่ละช่วงวัย ดังนี้

สำหรับเด็กทารก: 

          • การให้นมแม่: คุณแม่สามารถเริ่มสร้างความผูกพันกับลูกน้อยได้ตั้งแต่ครั้งแรกหลังคลอด นั่นคือการให้นมแม่ การให้นมแม่ นอกจากจะทำให้ลูกได้รับสารอาการที่ดีและครบถ้วนแล้ว ยังช่วยร่างกายของคุณแม่ให้หลั่งฮอร์โมนที่มีส่วยช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย และเป็นกิจกรรมที่สร้างสายใจระหว่างแม่กับลูกน้อยได้

          • กอด และอุ้ม: กิจกรรมที่เป็นกิจวัตรอย่างการอุ้ม และการกอดเด็กทารก สามารถสร้างความผูกพันได้เป็นอย่างดี เมื่อผิวของเรา และของลูกน้อยได้สัมผัสกัน จะสร้างความผ่อนคลายให้กับคุณแม่ และลูกน้อย นอกจากนี้การลูบกล่อมเขาเบา ๆ ก็เป็นสิ่งที่ดีเช่นกัน

          • พูดคุยกับลูกน้อย: ถึงแม้ว่าเด็กวัยทารกจะยังไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาได้ แต่การพูดคุยกับเขาบ่อย ๆ ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยในการสร้างความผูกพันได้ นอกจากนี้ เวลาพูดคุยกับลูกน้อย ให้สบตากับลูกน้อยเสมอ เพื่อให้เขาเข้าใจว่า เรากำลังคุยกับเขาอยู่

          • ร้องเพลง หรืออ่านหนังสือ: นอกจาการพูดคุยแล้ว การร้องเพลง และการอ่านหนังสือให้ลูกน้อยฟังยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความผูกพันเช่นกัน รวมทั้งการอ่านหนังสือให้ลูกน้อยฟัง ยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ และทักษะทางด้านภาษาของลูกน้อยอีกด้วย

          • ใช้เป้อุ้มเด็ก: หากมีเวลาไหนที่คุณแม่และลูกน้อย ต้องออกไปทำธุระนอกบ้าน ลองเปลี่ยนมาใช้เป้อุ้มเด็ก แทนการใช้รถเข็น โดยการใช้เป้อุ้มเด็ก จะทำให้ลูกน้อยอยู่ใกล้ชิดเรามากขึ้น ได้ยินเสียงของคุณแม่ แม้กระทั่งเสียงหัวใจเต้น ที่นอกจากจะสร้างความผูกพันไปในตัวแล้ว ยังเป็นการส่งต่อไออุ่นให้กับลูกน้อย

สำหรับเด็กวัยเตาะแตะ และเด็กโต: 

          • รับประทานอาหารร่วมกัน: ในเด็กวัยที่โตขี้น เริ่มที่จะสามารถรับประทานอาหารได้ด้วยตัวเอง การให้เขาได้ร่วมนั่งทานอาหารมื้อต่าง ๆ ในแต่วัน เป็นอีกกิจกรรมที่สร้างความผูกพันได้อย่างดี นอกจากนี้การร่วมโต๊ะอาหารในครอบครัว ยังเป็นช่วงเวลาดี ๆ สำหรับครอบครัวอีกด้วย

          • พูดคุยกับลูกในทุก ๆ วัน: เมื่อคุณแม่ออกไปทำงาน หรือลูกน้อยเริ่มเข้าเรียน อาจจะทำให้เวลาที่อยู่กับลูกน้อยมีน้อยลงไปบ้าง การไถ่ถามเรื่องราวต่าง ๆ ที่เราและลูกน้อยไม่รู้ ก็เป็นเรื่องที่ดีเช่นกัน เด็ก ๆ จะได้รู้ว่า คุณแม่ทำอะไรมาระหว่างวัน รู้จักกับอาชีพของคุณแม่ และคุณแม่ก็ได้รู้เรื่องราวของเด็ก ๆ ระหว่างไปโรงเรียน ว่าลูกเรานั้นได้ทำอะไรไปบ้าง มีอะไรใหม่ ๆ บ้าง ที่ลูกได้พบเจอ

          • เล่นด้วยกัน: การเล่นไม่ใช่กิจกรรมสำหรับเด็ก ๆ เสียเพียงอย่างเดียว คุณแม่สามารถร่วมกิจกรรมเล่นของเล่น เล่นเกมกับลูกน้อยได้ ให้เขาและเราสามารถเข้าถึงด้วยกิจกรรมชนิดเดียวกัน

          • ให้ความเข้าใจซึ่งกันและกัน: มีหลายครั้งที่เราอาจจะไม่พอใจในการกระทำของลูก เช่น ลูกอาจจะดื้อ ซน ชนของในบ้านตกแตก ไม่เชื่อฟังคำสั่งบ้าง เมื่อคุณแม่เจอแบบนี้ อาจจะหลุดอารมณ์ ตะโกน แสดงความไม่พอใจใส่เขา ซึ่งอาจจะทำให้เขากลัว ไม่ชอบ ปลีกตัวออกจากคุณแม่ก็ได้ คุณแม่ต้องคำนึงถึงอารมณ์ของตัวเองเสมอ พยายามไม่ใส่อารมณ์ลงไปที่ลูก ค่อย ๆ พูดกับถึงเหตุและผล ให้เขาได้เข้าใจ ซึ่งเมื่อเกิดความเข้าใจแล้ว ปัญหาลูกปลีกตัวออกก็จะไม่เกิดขึ้น และไม่เกิดรอยร้าวระหว่างความสัมพันธ์

          • กอด: กิจกรรมที่ไม่แนะนำไม่ได้คือ การกอด เป็นกิจกรรมที่เราและลูกน้อยสามารถทำได้เสมอ และยังเป็นการมอบความรัก ความอบอุ่นระหว่างกันได้เป็นอย่างดี

          • การให้ความรัก: อีกสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการสร้างความผูกพัน นั่นคือการให้ความรัก การให้ความรักสามารถทำได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การบอกรัก การกอด การทำอาหารให้ การไปเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น หรือง่าย ๆ คือการแสดงให้ลูกเราเห็นว่า เราใส่ใจและห่วงใยเขา ซึ่งการให้ความรักเป็นเรื่องที่แต่ละครอบครัวอาจจะทำแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่สำคัญคือให้ลูกเข้าใจในรูปแบบความรักที่เรามอบให้ ให้เขาได้สัมผัสถึง

แต่ละบ้าน แต่ละครอบครัวก็จะมีกิจกรรมในการสร้างความผูกพันแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากการสร้างความผูกพันระหว่างเราและลูกน้อย นั่นคือ การทำให้เราได้เห็น และสัมผัสความรักที่งดงาม เป็นสายใยความรักที่ผูกพันระหว่างแม่กับลูกน้อย

Reference:

          - How to Create Quality Time With Your Family. https://bit.ly/3CtfgwF
          - How to Nurture Your Parent-Child Bond. https://bit.ly/3lDUFjs
          - The New Science of Mother-Baby Bonding. https://bit.ly/3jqjRHi
          - Bonding With Your Baby. https://bit.ly/3lTIejI
          - Bonding with your newborn. https://bit.ly/2TY5Zvo