เลือกอ่านเนื้อหาที่สนใจ

          • เราท้องหรือเปล่านะ?
          • มาทำความเข้าใจกับเรื่อง “การปฏิสนธิ”
          • อาการคนท้องจะเกิดขึ้นหลังจากมีเพศสัมพันธ์เร็วขนาดไหน?
          • เช็กลิสต์สังเกตอาการเบื้องต้นว่าท้องหรือไม่
          • การตรวจการตั้งครรภ์ และวิธีในการตรวจครรภ์
          • อาการคนท้องเป็นอย่างไร และเริ่มต้นเมื่อไหร่
          • อาการคนท้องอื่น ๆ ที่อาจจะพบเจอ
          • อาการคนท้องในแต่ละช่วงเวลา
          • เมื่อสงสัยว่าตั้งท้อง ควรไปพบแพทย์หรือไม่
          • อาการต่าง ๆ จะสามารถยืนยันว่าตั้งท้องได้จริงหรือไม่

เราท้องหรือเปล่านะ?

ผู้หญิงอย่างเราอาจจะมีคำถามนี้เกิดขึ้นมาบ่อย ๆ อย่าง จะรู้ได้อย่างไรว่าเราตั้งครรภ์ ถ้าเราท้องจะมีอาการยังไง หรือแบบไหน จะเป็นเหมือนในละครไหม ที่คนท้องมีอาการวิงเวียนศีรษะบ่อย ๆ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือประจำเดือนไม่มา 1 เดือน แบบนี้ ถือว่าท้องแล้วหรือยัง? โดยปกติแล้ว อาการเตือนคนเริ่มท้อง อาจจะเกิดได้หลังจากการมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุด ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น ในบางรายอาจจะไม่มีอาการเตือนการตั้งครรภ์เกิดขึ้นเลยก็ได้ ซึ่งก็ยังถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติ อาการคนท้องเริ่มต้น จะเริ่มต้นตั้งแต่ ประจำเดือนขาด เจ็บเต้านม เหนื่อยล้า คลื่นไส้ แพ้ท้อง หรือปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้อาจจะยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน ว่าเราตั้งครรภ์หรือไม่ ควรตรวจสอบเบื้องต้น ด้วยการใช้อุปกรณ์ตรวจการตั้งครรภ์ ซึ่งปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ และร้านขายยาทั่วไป

มาทำความเข้าใจกับเรื่อง “การปฏิสนธิ”

การปฏิสนธิจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายของผู้หญิงผลิตไข่ออกมาในช่วงการตกไข่ ก่อนจะเคลื่อนเข้าสู่ท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิกับสเปิร์ม และหากไข่ได้รับการปฏิสนธิ หรือผสมกับสเปิร์มแล้ว ก็จะเริ่มแบ่งเซลล์ขยายตัวออกเรื่อย ๆ จนเป็นกลุ่มใหญ่ขนาดย่อม และจะเริ่มเข้าสู่ระยะการฝังตัวกับผนังมดลูกเพื่อเติบโตเป็นตัวอ่อนต่อไป

การปฎิสนธิ

แล้วอาการคนท้องจะเกิดขึ้นหลังจากมีเพศสัมพันธ์เร็วขนาดไหน?

ไม่ใช่ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์แล้วจะสามารถตั้งท้องได้เลย จริงอยู่ที่ว่า การตั้งท้องจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีเพศสัมพันธ์ แต่จะต้องอยู่ในช่วงเวลาที่ฝ่ายหญิงมีการตกไข่ และไข่ได้รับการปฏิสนธิกับสเปิร์มอย่างสมบูรณ์ ซึ่งอาจจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที จนไปถึง 5 วัน ในการปฏิสนธิ

เมื่อไข่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว ก็จะเข้าสู่ช่วงการฝังตัวของไข่ที่ผสมกับสเปิร์มแล้วในผนังมดลูก โดยขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 5 – 15 วัน ระยะเวลาตั้งแต่ช่วงการปฏิสนธิและช่วงการฝังตัว รวมแล้วจะใช้เวลาประมาณ 10 – 20 วัน หรือ 2 – 3 สัปดาห์

หากดูจากช่วงเวลาในการปฏิสนธิ และการฝังตัวแล้ว อาการของคนท้องจะเกิดขึ้นหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ เป็นต้นไป โดยสัญญาณแรก ๆ ที่เราอาจจะสังเกตได้ คือการขาดประจำเดือน หรือประจำเดือนมาล่าช้ากว่าปกติ

เช็กลิสต์อาการคนท้อง

มีอาการแบบนี้หรือไม่? เช็กลิสต์สังเกตอาการคนท้องเบื้องต้น
          • ประจำเดือนขาด หรือมาล่าช้ากว่าปกติ
          • ประจำเดือนมากะปริดกะปรอย
          • อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น คล้ายเป็นไข้
          • มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลียง่าย แบบไม่มีสาเหตุ
          • มีอาการคลื่นไส้
          • อารมณ์แปรปวนได้ง่าย
          • ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

หากลองเช็กดูแล้ว มีอาการเบื้องต้นที่กล่าวมาบางส่วน หรือทั้งหมด หลังจากการมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุด เป็นไปได้ว่า คุณอาจจะกำลังตั้งครรภ์ และควรใช้ที่ตรวจครรภ์ เพื่อยืนยันผลที่แน่ชัดเบื้องต้น

ชวนอ่าน "เรียนรู้ภาวะอาการไข่ตก และวิธีนับวันไข่ตก สิ่งสำคัญสำหรับว่าที่แม่มือใหม่"

การตรวจการตั้งครรภ์ และวิธีในการตรวจ

นอกจากการสังเกตอาการเบื้องต้น วิธีเดียวที่เราจะได้คำตอบว่า เราตั้งครรภ์หรือไม่ คือการตรวจการตั้งครรภ์ โดยการตรวจการตั้งครรภ์สามารถแบ่งออกเป็น 3 วิธี หลัก ๆ ดังนี้

วิธีตรวจการตั้งครรภ์

1. การตรวจการตั้งครรภ์โดยใช้ที่ตรวจการตั้งครรภ์
ที่ตรวจการตั้งครรภ์ อุปกรณ์ที่สามารถหาได้ตามร้านสะดวกซื้อ และร้านขายยาทั่วไป มีหลากหลายยี่ห้อ เป็นอุปกรณ์แรก ๆ ที่เราสามารถซื้อมาตรวจได้ด้วยตัวเอง โดยการทำงานของที่ตรวจการตั้งครรภ์ จะตรวจจับฮอร์โมนเอชซีจี (Human Chorionic Gonadotropin) ในปัสสาวะ ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้ จะพบเมื่อร่างกายมีการตั้งครรภ์

วิธีใช้ที่ตรวจการตั้งครรภ์ คือการนำแท่งที่ตรวจไปจุ่มกับปัสสาวะ บางยี่ห้ออาจจะใช้การหยดปัสสาวะลงบนช่องที่กำหนดไว้ และรอผลประมาณ 10 นาที เพื่อให้ได้ผลที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การตรวจโดยวิธีนี้ อาจจะให้ผลที่คลาดเคลื่อนจากหลายปัจจัย เช่น ตรวจเร็วเกินไป หรือตรวจในวันแรก ๆ ที่ประจำเดือนไม่มาตามกำหนด ในบางรายร่างกายอาจจะผลิตฮอร์โมนเอชซีจีต่ำ จนที่ตรวจไม่สามารถจับได้ รวมถึงประสิทธิภาพของที่ตรวจ เป็นต้น

ข้อแนะนำในการตรวจการครรภ์ โดยการที่ตรวจครรภ์ ควรเลือกที่ตรวจที่มีคุณภาพดี ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจปัสสาวะ คือช่วงเวลาตอนเช้า หลังตื่นนอน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ปัสสาวะมีความเข้มข้นของฮอร์โมนเอชซีจีสูง หรือหากไม่สะดวกตรวจในตอนเช้า ควรตรวจในช่วงเวลาที่เราไม่ได้ปัสสาวะมาเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ควรทำการตรวจซ้ำอย่างต่ำ 2 ครั้ง ในเวลาที่ห่างกัน เพื่อผลที่แน่ชัด และเพื่อลดความคลาดเคลื่อนในการตรวจ หากพบว่าผลการตรวจออกมาเป็นลบ แต่ประจำเดือนยังไม่มาตามกำหนด ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจการตั้งครรภ์ในรูปแบบอื่น ๆ

2. การตรวจการตั้งครรภ์ด้วยการตรวจปัสสาวะ
วิธีนี้ไม่ต่างจากวิธีแรกที่ใช้ที่ตรวจการตั้งครรภ์ แต่การตรวจการตั้งครรภ์โดยการตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจที่ต้องใช้ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของสถานพยาบาล ซึ่งสามารถให้ผลที่คลาดเคลื่อนน้อยลง และแม่นยำกว่าการตรวจโดยใช้ที่ตรวจการตั้งครรภ์

3. การตรวจการตั้งครรภ์โดยการตรวจเลือด
การตรวจการตั้งครรภ์โดยการตรวจเลือด เป็นการตรวจที่ให้ผลที่แม่นยำ และมีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งการตรวจนี้ และต้องอาศัยการตรวจในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของสถานพยาบาล โดยการตรวจเลือด จะทำการตรวจหาฮอร์โมนเอชซีจีในเลือด ซึ่งสามารถแยกการตรวจได้เป็น 2 ขนิด

          1. การตรวจหาฮอร์โมนเอชซีจีเชิงคุณภาพ: การตรวจชนิดนี้ จะทำการตรวจหาฮอร์โมนเอชซีจีในร่างกายว่ามีการผลิตขึ้นมาหรือไม่ ซึ่งจะให้คำตอบได้เลยว่า เรากำลังตั้งครรภ์ หรือไม่ได้ตั้งครรภ์

          2. การตรวจหาฮอร์โมนเอชซีจีเชิงปริมาณ: การตรวจชนิดนี้ เป็นการตรวจวัดระดับของค่าฮอร์โมนเอชซีจีในเลือดโดยเฉพาะ ซึ่งหากตรวจพบว่าค่าระดับฮอร์โมนเอชซีจีอยู่ในระดับที่สูงตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็แสดงว่า เรานั้นกำลังตั้งครรภ์ ในกรณีที่ตรวจพบค่าฮอร์โมนเอชซีจีสูง หรือต่ำไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งไม่สามารถให้ผลที่แน่ชัดได้ว่า กำลังตั้งครรภ์หรือไม่ แพทย์อาจจะขอทำการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องเพิ่ม หรือทำการตรวจวัดค่าระดับฮอร์โมนอีกครั้ง การตรวจการตั้งครรภ์โดยการตรวจเลือด ด้วยวิธีการตรวจหาฮอร์โมนเอชซีจีเชิงปริมาณ จะสามารถให้ผลที่แม่นยำ มากกว่าการตรวจหาฮอร์โมนเอชซีจีเชิงคุณภาพ และการตรวจปัสสาวะ เพราะสามารถตรวจจับจำนวนฮอร์โมนเอชซีจีในปริมาณที่น้อยได้ดีกว่า

ชวนอ่าน "เกร็ดน่ารู้สำหรับคุณแม่! อาการแพ้ท้องที่เกิดจากฮอร์โมน HCG"

แล้วอาการคนท้องนั้นเป็นอย่างไร และเริ่มต้นเมื่อไหร่

โอกาสที่จะสามารถตั้งครรภ์ได้นั้น จะต้องอยู่ในช่วงที่ผู้หญิงมีการตกไข่ และไข่เคลื่อนเข้าสู่ท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิกับสเปิร์ม เมื่อไข่ได้ทำการปฏิสนธิแล้ว จะเริ่มเข้าสู่ระยะฝังตัว จะเกิดขึ้นภายใน 24 ชม. หลังจากการปฏิสนธิ โดยไข่จะอยู่ในท่อนำไข่อีกประมาณ 3 – 4 วัน และจะเคลื่อนไปยังมดลูกเพื่อฝังตัวที่ผนังมดลูก ในระหว่างนี้อาจจะมีเลือดออกจากช่องคลอดแบบกระปริดกระปรอยได้ ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจว่าเป็นประจำเดือน และไม่ทราบว่าตัวเองกำลังตั้งท้องแบบไม่รู้ตัว

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าท้อง? อาการของการตั้งท้องจะเริ่มเมื่อ ไข่ที่ถูกปฏิสนธิแล้ว เคลื่อนไปฝังตัวในมดลูกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอาการคนท้องระยะแรก ๆ จะปรากฏหลังจากนี้ ประมาณ 1 – 4 สัปดาห์ ซึ่งอาการโดยปกติทั่วไปของคนท้องในระยะแรก ๆ มีดังนี้

อาการคนท้องในระยะแรก

          • ประจำเดือนขาด: หากประจำเดือนของคุณขาด มาช้าไป 1 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น อาการนี้ อาจจะใช้สังเกตได้เฉพาะกับคนที่ประจำเดือนมาตามปกติในทุกครั้ง

          • หน้าอกบวม เจ็บหน้าอก หรือคัดเต้า: อาการนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายเมื่อเกิดการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจจะทำให้หน้าอกของคุณบวม มีความรู้สึกเจ็บหน้าอก หรือคัดเต้า ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว อาการนี้จะหายไปหลังจากนั้น 2 – 3 อาทิตย์ เนื่องจากร่างกายของเราสามารถปรับตัวเข้ากับฮอร์โมนที่ใช้ในการตั้งครรภ์ได้

          • คลื่นไส้ แต่ไม่มีอาเจียน: อาการแพ้ท้องที่เกิดขึ้นกับใครหลาย ๆ คน อาการนี้ได้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลาของวัน ไม่ว่าจะเป็นกลางวัน หรือกลางคืน โดยส่วนมากอาการนี้จะเริ่มเกิดหลังจากการตั้งครรภ์มาแล้ว 1 เดือน ในบางคนอาจจะเกิดอาการนี้ก่อนหน้า หรืออาจจะไม่เกิดอาการนี้ขึ้นเลยก็ได้

          • ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ: เกิดจากการที่ร่างกายผลิตเลือดเพิ่มขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ ส่งผลให้ไตผลิตปัสสาวะมากขึ้น เป็นเหตุให้ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

          • เหนื่อยล้า: อาการเหนื่อยล้า เป็นอาการแรก ๆ ของการตั้งท้อง สาเหตุเกิดจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมีระดับที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความรู้สึกง่วงนอน และเหนื่อยล้าได้ง่าย

อาการคนท้องอื่น ๆ ที่อาจจะพบเจอ

นอกจากการอาการปกติทั่วไป ที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ก็ยังมีอาการคนท้องอื่น ๆ ที่สามารถพบได้ในการตั้งครรภ์ช่วงแรก ๆ ได้เช่นกัน ซึ่งอาการเหล่านี้ อาจจะไม่ได้บอกแน่ชัดว่า ตัวเองกำลังตั้งครรภ์ แต่ก็เป็นอาการที่พบได้ในผู้ตั้งครรภ์ช่วงต้น หรือในช่วงไตรมาสแรก ได้แก่

          • อารมณ์แปรปรวน หรือหงุดหงิดได้ง่าย: ถึงแม้ว่าอารมณ์แปรปรวนจะเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ แต่ในช่วงการตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณจะเต็มไปด้วยฮอร์โมนที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้คุณมีอารมณ์ที่ผิดปกติจากเดิม อ่อนไหว ร้องไห้ หรือหงุดหงิดได้ง่าย

          • ท้องอืด: การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายช่วงแรกของการตั้งครรภ์ อาจจะทำให้คุณรู้สึกท้องอืด

          • ประจำเดือนมากะปริดกะปรอย: ถึงแม้การขาดประจำเดือน จะเป็นหนึ่งในอาการของการตั้งท้อง แต่การมีประจำเดือนกะปริดกะปรอย ก็สามารถเป็นสัญญาณแรกของการตั้งท้องได้เหมือนกัน โดยเกิดขึ้นระหว่างการเคลื่อนตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว เคลื่อนตัวไปฝังในมดลูก ซึ่งเป็นเวลาคาบเกี่ยวระหว่างช่วงที่จะมีประจำเดือน ทำให้มีเลือดไหลออกมากะปิดกะปรอย แต่อาการนี้ไม่ได้เกิดกับผู้หญิงทุกคน

          • เป็นตะคริว: ในผู้หญิงบางคน อาจจะเกิดอาการเป็นตะคริวที่มดลูดในช่วงการตั้งครรภ์

          • ท้องผูก: นอกจากอาการท้องอืดแล้ว อาการท้องผูกก็ยังเป็นสัญญาณเตือนของการตั้งครรภ์ได้เหมือนกัน เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ช้าลง

          • อาการเกลียด หรือไม่ชอบอาหารบางชนิด: การตั้งครรภ์อาจจะทำให้คุณไวต่อกลิ่นอาหารมากกว่าเดิม และอาจจะไม่ชอบกลิ่น หรือรสชาติของอาหารนั้น ๆ ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย

          • คัดจมูก: การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายระหว่างการตั้งครรภ์มีระดับที่สูงขึ้น สามารถทำให้เยื่อเมือกในโพรงจมูกบวม แห้ง และมีเลือดออกได้ง่าย เป็นผลให้เกิดอาการคัดจมูก และน้ำมูกไหล

ชวนอ่าน "ฉันท้องหรือเปล่านะ? อาการท้องไม่รู้ตัว สังเกตได้อย่างไร"

ช่วงเวลาของอาการคนท้อง

วิธีการสังเกตวันในการตั้งครรภ์หลังการมีเพศสัมพันธ์เบื้องต้น หากประจำเดือนในรอบเดือนนั้นของเราไม่มา ให้นับจากวันแรกของของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย และคำนวณดูแล้ว ประจำเดือนไม่มาตามกำหนดเดิม อาจจะเป็นไปได้ว่า เราอาจจะตั้งครรภ์

นอกจากนี้ หลังจากช่วงเวลาการขาดประจำเดือนประมาณไม่กี่สัปดาห์ จะเริ่มมีอาการเตือนในการตั้งครรภ์ บางคนในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของการตั้งครรภ์อาจจะยังไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้น โดยอาการของการเตือนการตั้งครรภ์สามารถเกิดขึ้นได้ในแต่ละช่วงเวลา ดังนี้

อาการของการตั้งท้อง

ช่วงเวลา

(นับจากวันแรกของของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย*) 

ตะคริว และประจำเดือนมากะปิดกะปรอย

สัปดาห์ที่ 1 – 4

ขาดประจำเดือน

สัปดาห์ที่ 4

เหนื่อยล้า

สัปดาห์ที่ 4 – 5

คลื่นไส้

สัปดาห์ที่ 4 – 6

หน้าอกบวม เจ็บหน้าอก หรือคัดเต้า

สัปดาห์ที่ 4 – 6

ปัสสาวะบ่อยครั้ง

สัปดาห์ที่ 4 – 6

ท้องอืด

สัปดาห์ที่ 4 – 6

อาการเมารถ

สัปดาห์ที่ 5 – 6

อารมณ์แปรปรวน

สัปดาห์ที่ 6

อุณหภูมิของร่างกายเปลี่ยนแปลง

สัปดาห์ที่ 6

ความดันโลหิตสูง

สัปดาห์ที่ 8

อ่อนเพลียมากเป็นพิเศษ และมีอาการเสียดท้อง

สัปดาห์ที่ 9

หัวใจเต้นเร็วขึ้น

สัปดาห์ที่ 8 – 10

หัวนม และเต้านมมีการเปลี่ยนแปลง

สัปดาห์ที่ 11

สิว

สัปดาห์ที่ 11

น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สัปดาห์ที่ 11

ผิวสว่างและมันมากกว่าปกติ หรือเปล่งปลั่ง

สัปดาห์ที่ 12

 

          * การสังเกตอาการของการตั้งท้อง เริ่มนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย เช่น หากประจำเดือนในรอบปัจจุบัน มาทุกวันที่ 1 และมีประจำเดือนเฉลี่ย 6 วัน หมายความว่า วันสุดท้ายของการมีประจำเดือน คือ วันที่ 6 เท่ากับว่า วันแรกของการของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเป็นวันที่ 7 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของรอบเดือนใหม่ เหล่านี้เป็นอาการเบื้องต้น ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงที่ตั้งท้องตลอดสัปดาห์ที่ 1 ถึงสัปดาห์ที่ 12 หรือในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก หรือ 3 เดือนแรก อย่างไรก็ตามอาการบางอย่างอาจจะเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้นกับคนท้องก็ได้

ชวนอ่าน "เทคนิคนับอายุครรภ์ ด้วยตนเองแบบง่าย ๆ"

เมื่อสงสัยว่าตั้งท้อง ควรไปพบแพทย์หรือไม่

เมื่อสงสัยว่าท้อง ต้องไปพบแพทย์ไหม

เมื่อเราสังเกตว่าเรามีอาการเตือนที่เป็นสัญญาณของการตั้งท้อง นอกจากการใช้ที่ตรวจการตั้งครรภ์ที่สามารถตรวจได้ด้วยตัวเองแล้ว ควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง และหากพบว่าตัวเองตั้งครรภ์ ก็สามารถทำการฝากครรภ์ และวางแผนดูแลสุขภาพต่อไปได้

อาการต่าง ๆ จะสามารถยืนยันว่าเราท้องได้จริงหรือไม่

สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อาจจะมีคำถามว่า ถ้ามีอาการที่กล่าว ๆ มา หมายความว่าเราท้องแล้ว? ที่จริงแล้ว อาการของการตั้งครรภ์ยังไม่มีรูปแบบ หรือลักษณะเฉพาะที่จะบ่งบอกว่าเราตั้งครรภ์ได้อย่างแน่ชัดมากนัก เนื่องจากอาการเหล่านี้ อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยในบางคน หรืออาจจะเป็นอาการเตือนการป่วยของโรคอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม หากเรามีอาการบางอย่าง และมีความสงสัยว่าเราตั้งครรภ์หรือไม่ เพื่อผลที่แน่ชัดของการตั้งครรภ์ ควรได้รับการตรวจการตั้งครรภ์ เบื้องต้นอาจจะใช้ที่ตรวจการตั้งครรภ์ และเข้ารับการตรวจปัสสาวะ หรือการตรวจเลือดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งรับคำปรึกษาในกรณีที่ทราบผลว่าตั้งครรภ์ เพื่อวางแผนในการฝากครรภ์ การดูแลสุขภาพคุณแม่และลูกน้อยตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน

มาเตรียมพร้อมต้อนรับลูกน้อยกับ Enfa Smart Club รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญฟรี! และอ่านบทความดี ๆ สำหรับลูกน้อย รวมทั้งสิทธิพิเศษอีกมากมายได้ "ที่นี่"

Reference:

          - Symptoms of pregnancy: What happens first
          - Early Pregnancy Symptoms
          - How Soon After Sex Do You Get Pregnant?
          - Tests Used to Confirm Pregnancy
          - การปฏิสนธิเป็นอย่างไร เกิดขึ้นตอนไหน?
          - When Is the Best Time to Take a Pregnancy Test?
          - ประจำเดือนครั้งล่าสุดสำคัญขนาดไหน ต้องจดไว้กันลืม