Enfa สรุปให้
- ของเตรียมคลอดเป็นอีกสิ่งที่คุณแม่ใกล้คลอดควรจัดเตรียมไว้เนิ่น ๆ เพื่อสะดวกต่อการหยิบจับหรือใช้งานเพื่อถึงเวลาคลอด โดยการเตรียมของไปคลอดส่วนใหญ่แล้ว จะประกอบไปด้วนเอกสารส่วนตัว ข้าวของเครื่องใช้สำหรับคุณแม่และลูกน้อย
- โรงพยาบาลบางแห่งจะมีบริการของเตรียมคลอดไว้ให้อยู่แล้ว ซึ่งสามารถสอบถามหรือตรวจเช็กกับโรงพยาบาลที่คุณแม่จะไปคลอดว่ามีของเตรียมคลอดอะไรให้แล้วบ้าง
- ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเตรียมของไปคลอด ควรเตรียมตั้งแต่เนิ่น ๆ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ หรืออายุครรภ์ประมาณ 8 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ใกล้กับกำหนดคลอด
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• เตรียมความพร้อมด้านสุขภาพของคุณแม่
• ของเตรียมคลอดมีอะไรบ้าง เตรียมของไปคลอดยังไงให้ครบและไม่ฉุกละหุก!
• ข้อควรรู้ และตอบคำถามของคุณแม่เตรียมคลอด
• ไขข้องข้องใจเรื่องการจัดของเตรียมคลอดกับ Enfa smart club
สำหรับคุณแม่มือใหม่ การเตรียมของไปคลอดที่โรงพยาบาล อาจเป็นเรื่องที่ชวนวิตกกังวล เพราะสำหรับการท้องครั้งแรกก็ไม่รู้ว่าควรจะเริ่มจากตรงไหนก่อน มีของสำคัญชิ้นไหนบ้างที่ขาดไม่ได้ และของชิ้นไหนบ้างที่จะเป็นประโยชน์ต่อแม่หลังคลอด
วันนี้เอนฟาจึงได้นำเคล็ดลับการเตรียมความพร้อมก่อนคลอดมาฝากคุณแม่ท้องแก่ใกล้คลอดกันค่ะ แต่จะมีวิธีการเตรียมตัวอย่างไรบ้างนั้น คุณแม่สามารถเริ่มเช็กลิสต์ไปพร้อม ๆ กันได้กับบทความนี้เลย
เตรียมความพร้อมด้านสุขภาพของคุณแม่
การเตรียมตัวอันดับแรกก่อนการคลอดที่อาจจะเรียกได้ว่าสำคัญที่สุดของหญิงตั้งครรภ์เลยก็คือ การเตรียมพร้อมด้านสุขภาพของคุณแม่ ให้มีความปลอดภัย และแข็งแรงทั้งแม่และเด็ก ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงกำหนดคลอด โดยคุณแม่สามารถเตรียมสุขภาพให้พร้อมก่อนคลอดได้ ดังนี้
• ตรวจสุขภาพครรภ์ตามนัดอย่างเคร่งครัด
การตรวจเช็กสุขภาพครรภ์ตามที่แพทย์นัดทุกครั้งจะช่วยให้คุณแม่รับรู้ถึงพัฒนาการของทารกในครรภ์และภาวะอื่น ๆ เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 9 ของการตั้งครรภ์ แพทย์จะนัดตรวจครรภ์ทุกสัปดาห์
เพราะสำหรับบางคนอาจมีอาการเจ็บครรภ์คลอดเมื่ออายุครรภ์ได้ 36 สัปดาห์หรือมีการคลอดฉุกเฉินขึ้น แพทย์จึงต้องเช็กความพร้อมของร่างกายคุณแม่อย่างสม่ำเสมอเพื่อดูอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์
• การตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ก่อนคลอดหนึ่งสัปดาห์
ในช่วงหนึ่งสัปดาห์สุดท้ายก่อนคลอด แพทย์จะตรวจดูความพร้อมของทารกในครรภ์ว่ากลับหัวแล้วหรือยัง โดยหัวของทารกจะต้องอยู่ที่อุ้งเชิงกรานของคุณแม่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดธรรมชาติ
แต่สำหรับกรณีที่ทารกไม่กลับศีรษะ คุณแม่อาจจะไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้ และจะต้องใช้การผ่าคลอดเข้ามาช่วย ซึ่งหากแพทย์ทราบพัฒนาการของทารกในครรภ์โดยคร่าว ๆ ก็จะง่ายต่อการประเมินและวางแผนการคลอดได้
ของเตรียมคลอดมีอะไรบ้าง เตรียมของไปคลอดยังไงให้ครบและไม่ฉุกละหุก!
โดยปกติแล้วแพทย์จะกำหนดวันคลอดคร่าว ๆ ให้คุณแม่ได้รู้และเตรียมตัวก่อนล่วงหน้า แต่สำหรับคุณแม่บางคนก็อาจจะปวดท้องคลอดก่อนกำหนด การเตรียมพร้อมไว้ก่อน สามารถลดความฉุกละหุกได้
ดังนั้น หากมีการเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้าอย่างเรียบร้อย ก็จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันท่วงที โดยของเตรียมคลอดมีอะไรบ้างนั้น เช็คลิสต์เตรียมคลอดของทั้งคุณแม่และลูกน้อย มีดังนี้
เช็คลิสต์เตรียมคลอด ของใช้เตรียมคลอดสำหรับลูกน้อย
- ผ้าอ้อม ผ้าสะอาดสำหรับการเช็ดทำความสะอาด
- คาร์ซีทหรือเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก ควรมีติดรถไว้เมื่อใกล้กำหนดคลอด
- เสื้อผ้าสำหรับเด็กทารก เตรียมเผื่อหรือให้เพียงพอ
- ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็กทารก
- ของใช้ทำความสะอาดร่างกายสำหรับเด็ก ได้แก่ ยาสระผมสำหรับเด็กแรกเกิด สบู่สำหรับเด็กแรกเกิด
- สมุดบันทึกพัฒนาการของเด็ก
- ผ้าห่อตัวเด็ก ควรเลือกเป็นผ้านุ่ม ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวเด็ก
- ชุดสำหรับใส่กลับบ้าน
เช็คลิสต์เตรียมคลอด ของใช้เตรียมคลอดสำหรับคุณแม่
- เอกสารสำคัญ เช่น บัตรประจำตัวผู้ป่วย ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน หรือเอกสารเกี่ยวกับประกันสุขภาพต่าง ๆ รวมถึงเอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับใช้ในการแจ้งเกิด เอกสารหรือสมุดฝากครรภ์ ใบนัดแพทย์ บันทึกการตั้งครรภ์ ใบขับขี่ เอกสารเกี่ยวกับประกันสุขภาพหรือประกันสังคม
- ชื่อสำหรับการแจ้งเกิดเด็ก
- เสื้อผ้าตัวหลวม เพื่อให้รู้สึกสบายตัว และไม่รัดและเสียดสีบาดแผลจากการคลอด
- เสื้อผ้าอย่างน้อยประมาณ 2-3 ชุด หรือเตรียมให้เพียงพอต่อการเปลี่ยน
- ชุดชั้นในอย่างน้อยประมาณ 2-3 ชุด หรือเตรียมให้เพียงพอต่อการเปลี่ยน
- บราสำหรับให้นม เพื่อช่วยให้คุณแม่สามารถให้นมลูกได้อย่างสะดวกมากขึ้น
- แผ่นซับน้ำนม เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำนมส่วนเกินไหลออกมาเปื้อนเสื้อผ้า
- ผ้าอนามัยหลังคลอด เพื่อซับเปลี่ยนน้ำคาวปลาหลังคลอด
- ของใช้ทำความสะอาดร่างกาย ได้แก่ ครีมอาบน้ำหรือสบู่ ยาสระผม ครีมนวดผม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก
- ของใช้ส่วนตัว ได้แก่ ครีมทาผิว ครีมทาหน้า โรลออนระงับกลิ่นกาย ลิปบาล์ม เครื่องสำอาง หวีผม ยางรัดผม
- ของใช้อื่น ๆ ตามแต่ไลฟ์สไตล์ เช่น หูฟัง หนังสือ คอมพิวเตอร์แบบพกพา ไอแพด โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ กล้อง
- ขนมหรืออาหารที่สามารถกินได้หลังคลอด และมีประโยชน์ในการสร้างน้ำนม
- เงินสด หรือบัตรเครดิต
- ยารักษาโรค หรือยาที่แพทย์แนะนำ
- รองเท้าแตะสำหรับใส่ในบ้าน
- ชุดสำหรับใส่กลับบ้าน
- ขวดสำหรับใส่น้ำดื่ม หรือน้ำดื่ม
ข้อควรรู้ และตอบคำถามของคุณแม่เตรียมคลอด
ควรเริ่มซื้อของเตรียมคลอดตอนอายุครรภ์กี่เดือน
โดยทั่วไปแล้วคุณแม่และคุณพ่อสามารถเริ่มจัดเตรียมของใช้เตรียมคลอดได้ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ หรือเริ่มเตรียมไว้ได้ตั้งแต่เดือนที่ 8 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป เพื่อให้พร้อมสำหรับการคลอดที่ใกล้เข้ามาทุกที หรือเผื่อไว้สำหรับกรณีที่อาจมีการคลอดก่อนกำหนด
เตรียมของไปคลอดโรงพยาบาลรัฐอย่างไรดี? ต่างกับการคลอดที่โรงพยาบาลเอกชนไหม?
โดยทั่วไปแล้วการเตรียมของไปคลอดโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชนนั้นแทบไม่มีความแตกต่างกัน เพราะเป็นของที่คุณแม่เตรียมไปเอง และพิจารณาถึงความสำคัญและความจำเป็นแล้วว่าจะต้องใช้
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลบางแห่งอาจจะมีการเตรียมของจำเป็นสำหรับหลังคลอดไว้ให้แล้ว จึงควรตรวจสอบกับโรงพยาบาลที่จะไปคลอดให้เรียบร้อย เพราะหากมีบริการดังกล่าวให้ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกต่อคุณแม่และคุณพ่อได้อีกทางหนึ่ง
เอกสารเตรียมคลอด เอกสารสำคัญที่ควรเตรียมไว้มีอะไรบ้าง
เอกสารถือเป็นอีกหนึ่งของสำคัญที่ไม่ควรลืม เพื่อให้การประสานงานหรือติดต่อต่าง ๆ สามารถเป็นไปได้อย่างราบรื่น โดยเอกสารเตรียมคลอดสำคัญที่คุณพ่อและคุณแม่ควรเตรียมไว้ ได้แก่
- บัตรประชาชนของคุณพ่อและคุณแม่
- สำเนาทะเบียนบ้านของคุณพ่อและคุณแม่
- ใบขับขี่ หรือบัตรประจำตัวผู้ขับขี่
- ใบฝากครรภ์
- ใบนัดแพทย์
- บันทึกการตั้งครรภ์
- เอกสารเกี่ยวกับประกันภัย หรือประกันสุขภาพ หรือเอกสารสำหรับยื่นเบิกจ่ายประกันสังคม
- เอกสารสำหรับการแจ้งเกิด ได้แก่
- บัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดา
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งเกิด หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
- หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร. 1/1) ออกโดยสถานพยาบาล
- เอกสารแจ้งเกิดเข้าทะเบียนบ้าน ใช้สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) ที่ต้องการย้ายชื่อเด็กเข้า
- โดยการแจ้งเกิดนี้จะต้องทำภายใน 15 วัน หลังจากที่เด็กเกิด
ไขข้องข้องใจเรื่องการจัดของเตรียมคลอดกับ Enfa smart club
ท้อง 6-7 เดือน เริ่มเตรียมของใช้เตรียมคลอดได้หรือยัง?
โดยทั่วไปแล้วมักจะมีการเริ่มเตรียมของคลอดในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ หรือประมาณเดือนที่ 8 ของการตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากคุณพ่อและคุณแม่ตื่นเต้นจนรอไม่ไหว หรือกลัวว่าถ้าไปเตรียมช่วงใกล้คลอดแล้วจะหลง ๆ ลืม ๆ อยากจะเริ่มเตรียมไว้ก่อนตั้งแต่เดือน 6-7 ก็สามารถทำได้
เพียงแต่ของบางอย่างอาจมีอายุการใช้งานที่สั้น จึงต้องหมั่นตรวจสอบอยู่เสมอว่าของที่เตรียมไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ นั้น ไม่มีการชำรุด หรือหมดอายุ หรือหากเริ่มเตรียมไว้แล้ว เมื่อใกล้กำหนดคลอดควรตรวจเช็กอีกครั้งว่ามีของครบหรือไม่ หรือของชิ้นใดที่จำเป็นต้องเปลี่ยนก็ควรเปลี่ยนให้เรียบร้อย
ซื้อของเตรียมคลอดควรเตรียม Budget ไว้เท่าไหร่ดี?
งบสำหรับการซื้อของเตรียมคลอดนั้น ไม่มีตายตัว และงบประมาณมักแปรผันตามสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น หากข้าวของแพง งบก็อาจจะต้องเพิ่มขึ้นตามอัตราราคาของสินค้าที่แพงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องเน้นซื้อของแพงเสมอไป เน้นซื้อของให้ครบตามความจำเป็นต่อการใช้งานถือว่าดีที่สุด
- Healthline. The Third Trimester of Pregnancy. [Online] Accessed https://www.healthline.com/health/pregnancy/third-trimester-developing-…. [1 February 2022]
- What to expect. Hospital Bag Checklist. [Online] Accessed https://www.whattoexpect.com/pregnancy/checklist/hospital-packing.aspx. [1 February 2022]
- Baby Center. How to prepare for a baby: Things to do before giving birth. [Online] Accessed https://www.babycenter.com/pregnancy/your-body/10-smart-ways-to-prepare…. [1 February 2022]
- Pregnancy, Birth and Baby. What to take to hospital - checklist (text version). [Online] Accessed https://www.pregnancybirthbaby.org.au/what-to-take-to-hospital-checklis…. [1 February 2022]
- โรงพยาบาลพิษณุเวช. คุณแม่มือใหม่ เตรียมตัวก่อนคลอดอย่างไร?. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.pitsanuvej.com/. [1 กุมภาพันธ์ 2022]
- โรงพยาบาลบางปะกอก 3. ของใช้ที่คุณแม่มือใหม่ ควรเตรียมไว้ก่อนคลอด. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://bangpakok3.com/care_blog/view/88. [1 กุมภาพันธ์ 2022]
- โรงพยาบาลสมิติเวช. เก็บกระเป๋าเตรียมตัวไปคลอด. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.samitivejhospitals.com/th/. [1 กุมภาพันธ์ 2022]
- ไทยรัฐออนไลน์. 4 เอกสารแจ้งเกิด 2563 ใช้อะไรบ้าง และต้องแจ้งเกิดภายในกี่วัน. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.thairath.co.th/lifestyle/mom-and-kids/1916795. [1 กุมภาพันธ์ 2022]
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- อาการใกล้คลอด สังเกตทัน รับมือได้
- บล็อกหลังผ่าคลอดปลอดภัยไหม เสี่ยงอันตรายหรือเปล่า
- ผ่าคลอด 101 คุณแม่ควรรู้อะไรเกี่ยวกับการผ่าคลอดบ้าง
- เข้าใจการคลอดธรรมชาติ ปลอดภัยและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
- คลอดลูกในน้ำ วิธีคลอดแบบใหม่ เจ็บน้อยลง ฟื้นตัวเร็วขึ้น
- ปวดท้องน้อยหลังคลอด ผิดปกติไหม อันตรายหรือเปล่า
- รู้จักกับน้ำคาวปลาหลังคลอด ที่แสนจะกวนใจคุณแม่
- แผลฝีเย็บหลังคลอด ดูแลอย่างไรให้ปลอดภัย ไม่ติดเชื้อ
- แผลผ่าคลอด ดูแลอย่างไร ให้หายเร็ว และลดรอย
- ลดน้ำหนัก ลดหน้าท้องหลังคลอด ลดยังไงให้ปลอดภัย และได้ผล
- เริ่มเลย! ออกกำลังกายหลังคลอด ทวงหุ่นฟิต พิชิตความเฟิร์ม
- ภูมิแพ้ในเด็ก คุณแม่ควรรับมืออย่างไรเมื่อลูกน้อยเป็นภูมิแพ้
- ผ่าคลอด ประกันสังคม จ่ายให้เท่าไหร่ ใช้สิทธิ์ยังไงได้บ้าง
- ผ่าคลอดโรงพยาบาลรัฐ เตรียมตัวยังไง ใช้สิทธิ์อะไรได้บ้างนะ