ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 12 สัปดาห์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 12 สัปดาห์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ทารกจะมีขนาดยาวประมาณ 2.1 นิ้ว หนักประมาณ 13-14 กรัม มีขนาดเท่ากับผลลูกพลัม หรือลูกมะนาว
  • อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ อวัยวะของทารกมีการสร้างขึ้นครบแล้วทุกระบบ และจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเป็นอวัยวะที่สมบูรณ์
  • อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ หัวใจของทารกจะเต้นประมาณ 140-160 ครั้งต่อนาที และทารกสามารถขยับนิ้วมือและนิ้วเท้าได้มากขึ้นด้วย

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 12 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 12
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 12 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 12 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ ต้องอัลตราซาวนด์หรือไม่
     • ท้อง 12 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

ฮิบ ฮิบ ฮูเร่! ยินดีด้วยค่ะคุณแม่ เพราะทันทีที่สิ้นสุดสัปดาห์ที่ 12 ก็เป็นอันว่าคุณแม่ได้ตั้งครรภ์ครบ 3 เดือน และสิ้นสุดการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกอย่างเป็นทางการแล้วค่ะ

จากนี้ไปจะเริ่มเข้าสู่การตั้งครรภ์ในไตรมาสสอง ที่คุณแม่จะพบกับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและพัฒนาการของทารกในครรภ์อีกหลายอย่าง

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เรามาดูกันก่อนว่าท้อง 12 สัปดาห์มีอาการอะไรบ้าง อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ทารกมีพัฒนาการเป็นอย่างไร แล้วท้อง 12 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหนกันนะ

ท้อง 12 สัปดาห์ มีอะไรบ้างเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้


อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ คุณแม่หลายคนมีอาการแพ้ท้องเบาบางลงไปมาก หรือบางคนก็ไม่มีอาการแพ้ท้องเหลืออีกแล้ว เพราะระดับฮอร์โมนในร่างกายเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ความผันผวนทางอารมณ์และอาการต่าง ๆ ค่อย ๆ กลับมาเป็นปกติ

อย่างไรก็ตาม ยังมีคุณแม่อีกหลายคนที่ใจอยากพัก แต่ร่างกายอยากไปต่อ ขณะที่คุณแม่คนอื่นเริ่มไม่มีอาการแพ้ท้องแล้ว แต่ยังมีคุณแม่อีกหลายคนที่ยังคงมีอาการแพ้ท้องรุนแรงอยู่เช่นเดิม

ท้อง 12 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน

ทารกอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เจริญเติบโตอยู่ในมดลูก และมีพัฒนาการต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยคุณแม่สามารถอัลตราซาวนด์แล้วเห็นทารกในครรภ์ได้อย่างชัดเจน แต่ยังไม่สามารถเห็นเพศลูกได้ในระยะนี้ค่ะ

ท้อง 12 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

ในวันสุดท้ายของอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ จะเท่ากับว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ครบ 3 เดือนแล้ว ถือเป็นการสิ้นสุดไตรมาสแรก และก้าวเข้าสู่การตั้งครรภ์ในไตรมาสสอง

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 12 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


ทารกอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ อวัยวะของทารกจะสร้างครบสมบูรณ์ทุกระบบในสัปดาห์นี้ และจะเริ่มมีการสะสมแคลเซียมมากขึ้นเพื่อสร้างมวลกระดูกที่แข็งแรง และยังสามารถตรวจพบอัตราการเต้นหัวใจได้ราว ๆ 140-160 ครั้งต่อนาที ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ชวนอบอุ่นหัวใจไม่น้อยทีเดียวค่ะ

อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ขนาดทารก มีขนาดเท่าไหนนะ

การอัลตราซาวนด์ในระยะนี้ ภาพทารกในครรภ์ 12 สัปดาห์ ยาวประมาณ 2.1 นิ้ว หนักประมาณ 13-14 กรัม มีขนาดเท่ากับผลลูกพลัม หรือลูกมะนาว

ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ ลูกดิ้น แล้วหรือยัง

ทารกอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ สามารถเคลื่อนไหวไปมาได้ ขยับแขน ขยับขา ขยับนิ้วมือและนิ้วเท้าได้ แต่...คุณแม่จะยังไม่สามารถรู้สึกถึงลูกดิ้นได้ในระยะนี้ แต่สามารถพบเห็นอริยาบถเหล่านี้ผ่านการอัลตราซาวนด์ได้ค่ะ

อวัยวะและระบบต่าง ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ มีดังนี้

          • นิ้วมือนิ้วเท้าแยกออกจากกันอย่างสมบูรณ์ สามารถขยับนิ้วมือและนิ้วเท้าได้ เล็บเริ่มงอก

          • ในช่วงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ อวัยวะเพศจะยังเห็นเป็นเพียงตุ่มเล็กๆ ซึ่งยังไม่สามารถบอกเพศได้ชัดเจน

          • ทารกสามารถแสดงสีหน้าได้บ้างแล้ว เช่น หรี่ตาและขมวดคิ้วได้

          • ไตเริ่มขับของเสียออกจากกระเพาะปัสสาวะได้

          • ระบบประสาทเส้นต่าง ๆ ในสมองก็จะเริ่มเชื่อมโยงหากันมากขึ้นเรื่อย ๆ

          • ดวงตาจะเริ่มเคลื่อนที่จากด้านข้างไปอยู่ด้านหน้าใกล้เคียงตำแหน่งของดวงตาที่ถูกต้อง

เข้าใจการเปลี่ยนร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์


ท้อง 12 สัปดาห์ ท้องใหญ่แค่ไหน คุณแม่จะเริ่มมีพุงยื่นออกมาหรือยังนะ?

ถือเป็นข่าวดีสำหรับคุณแม่ที่งก ๆ เงิ่น ๆ ดูหน้าท้องตัวเองที่หน้ากระจกมาหลายสัปดาห์ ช่วงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์นี้คุณแม่เริ่มที่จะเห็นท้องนูนออกมาแล้วค่ะ และคนรอบข้างก็สามารถที่จะสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ด้วยเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม มีคุณแม่อีกหลายคนที่หน้าท้องยังไม่ขยายในสัปดาห์นี้ค่ะ ซึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกตินะคะ ตราบที่ไปตรวจครรภ์แล้วพบว่าทารกในครรภ์ยังเติบโตและแข็งแรงดี ก็ไม่มีเรื่องอะไรต้องกังวลค่ะ

อาหารคนท้อง 12 สัปดาห์ ต้องกินอะไรบ้างนะ


แม่ท้อง 12 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่สามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ

โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

อาการคนท้อง 12 สัปดาห์ ยังมีอาการแพ้ท้องอยู่ไหม


ท้อง 12 สัปดาห์ แพ้ท้องจะไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไป เพราะคุณแม่ส่วนมากจะเริ่มมีอาการแพ้ท้องลดลง หรือบางคนไม่เหลืออาการแพ้ท้องอีกต่อไปแล้วค่ะ เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายถึงช่วงที่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ความผันผวนต่าง ๆ ในร่างกายจึงลดน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ร่างกายของแม่แต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น จึงยังมีคุณแม่อีกหลายคนค่ะที่ยังแพ้ท้องรุนแรงเหมือนเดิม ซึ่งอาจจะค่อย ๆ ทุเลาลงในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป หรืออาจไม่ทุเลาเลยตลอดการตั้งครรภ์

ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ ต้องไปทำอัลตราซาวนด์ไหมนะ


ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ อัลตราซาวนด์ท้องในระยะนี้แพทย์จะทำการตรวจหาความเสี่ยงของภาวะบกพร่องทางโครโมโซมและพันธุกรรม เพื่อหาความเสี่ยงของดาวน์ซินโดรม และภาวะอื่น ๆ

คุณแม่จึงอาจจะได้รับการตรวจวัดความหนาของน้ำที่สะสมบริเวณต้นคอทารก (NT::Nuchal Translucency) เพื่อดูว่าทารกมีความเสี่ยงของดาวน์ซินโดรมหรือไม่ รวมถึงการตรวจเลือด และตรวจวัดระดับฮอร์โมนในร่างกายด้วย

อัลตราซาวนด์ท้อง 12 สัปดาห์ ไม่เห็นตัวอ่อน

หากอัลตราซาวนด์ตอนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์แล้วไม่พบตัวอ่อน มีโอกาสเป็นไปได้สูงว่าคุณแม่จะมีการแท้งบุตรหรือมีภาวะท้องลม

แต่ก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญค่ะและแพทย์อาจขอให้มาตรวจครรภ์อีกครั้งในสัปดาห์ถัดไปเพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้น เพราะอาจเป็นไปได้ว่ามีการนับอายุครรภ์ไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้ยังตรวจไม่พบตัวอ่อน

มากไปกว่านั้น แพทย์จะไม่วินิจฉัยการแท้งหรือภาวะท้องลมจากการอัลตราซาวนด์แค่เพียงครั้งเดียวค่ะ จำเป็นจะต้องมีการติดตามดูผลในครั้งต่อไป คุณแม่ควรทำใจให้สบายแล้วรอไปตรวจครรภ์อีกครั้งตามที่แพทย์นัดเพื่อดูว่าทุกอย่างเป็นปกติหรือไม่

ท้อง 12 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่?


อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งเราขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ท้อง 12 สัปดาห์ มีเลือดออกสีน้ำตาล หมายความว่าอะไร

ท้อง 12 สัปดาห์ มีเลือดออก หรือมีเลือดออกสีน้ำตาล เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยค่ะ แนะนำให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและอัลตราซาวนด์ว่าเลือดสีน้ำตาลที่ไหลออกมานี้เกิดจากอะไร เพราะอาจเป็นไปได้หลายกรณี ดังนี้

         • เมื่ออัลตราซาวนด์แล้วพบว่าตัวอ่อนยังมีชีวิต ถุงตั้งครรภ์และถุงไข่แดงยังอยู่ครบตามปกติ เลือดสีน้ำตาลที่ไหลออกมานี้ มักไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ค่ะ

         • กรณีที่มีเคยอัลตราซาวนด์แล้วไม่พบความผิดปกติ แต่คุณแม่ยังมีเลือดสีน้ำตาลออกมาไม่หยุด ควรกลับไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมว่ามีความผิดปกติที่มดลูกหรือเปล่า เพื่อจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

         • บางครั้งเลือดสีน้ำตาลที่ไหลออกมา อาจเป็นเพียงเลือดเก่าที่คั่งค้างอยู่ภายในช่องคลอด และเพิ่งไหลออกมา ซึ่งโดยมากจะไม่ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ค่ะ

         • เลือดสีน้ำตาลนั้น อาจเป็นการแท้งค้าง คือ แท้งไปแล้ว แต่ตัวอ่อนหรือทารกยังตกค้างอยู่ในครรภ์และยังไม่หลุดออกมา อาจทำให้มีของเหลวที่คล้ำไหลปะปนออกมากับเลือด ซึ่งกรณีนี้หากคุณแม่ไม่ได้ไปฝากครรภ์ และไม่ได้มีการตรวจอัลตราซาวนด์ครรภ์ ก็มักจะไม่รู้ตัวว่ามีการแท้งเกิดขึ้น

         • กรณีที่อันตราย เลือดสีน้ำตาลนั้นอาจเป็นสัญญาณของภาวะแท้งคุกคาม ซึ่งมักจะมีเลือดไหลออกมาทางช่องคลอดแม้ว่าปากมดลูกยังปิดอยู่ โดยเลือดนั้นอาจมีสีน้ำตาล หรือสีแดงสดก็ได้ค่ะ

ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ ปวดท้องน้อย เกิดจากอะไร

อาการปวดท้องน้อยในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ อาจมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของมดลูก แต่ถ้าหากมีอาการปวดท้องน้อยติดต่อกันหลายวันแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือปวดมากจนเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการแท้ง หรือภาวะความเสี่ยงอื่น ๆ ในขณะตั้งครรภ์ได้

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

รับมือกับอาการแพ้ท้องอย่างไร

คุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้อง สามารถดูแลตัวเองง่าย ๆ เพื่อบรรเทาอาการแพ้ท้องให้ดีขึ้นได้ ดังนี้

         • พักผ่อนให้เพียงพอ
         • งดอาหารรสจัด รสเผ็ด รสเปรี้ยวจัด
         • พยายามอย่าปล่อยให้ท้องว่าง ควรมีของว่างติดตัวไว้ตลอด
         • แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ 5-6 มื้อ
         • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
         • จิบน้ำอุ่น ชาขิง หรือน้ำขิงสด

อย่างไรก็ตาม หากอาการแพ้ท้องส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น แพ้ท้องรุนแรงจนนอนไม่หลับ แพ้ท้องจนกินอาหารไม่ได้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม เพราะถ้าปล่อยไว้นานจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์ได้ค่ะ

รู้จักกับภาวะแท้งคุกคาม

ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened Abortion) คือ ความผิดปกติของการตั้งครรภ์ ที่สามารถพบได้ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยแม่ที่มีภาวะแท้งคุกคามจะมีเลือดออกทางช่องคลอดในขณะที่ปากมดลูกยังไม่เปิด ซึ่งเลือดที่ไหลออกมานั้นอาจเป็นเลือดสีสด มูกเลือด หรือเลือดสีน้ำตาลก็ได้ ทั้งนี้ภาวะแท้งคุกคาม เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น

         • โครโมโซมผิดปกติ
         • ทารกพิการตั้งแต่ในครรภ์
         • มดลูกและโพรงมดลูกผิดปกติ
         • การได้รับยาหรือสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย
         • มีประวัติการแท้งบุตรมาก่อน
         • ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก
         • แม่ท้องมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

ภาวะแท้งคุกคาม จำเป็นจะต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพราะถือว่าเป็นภาวะการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ และเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้

ดังนั้น หากมีเลือดออกในขณะตั้งครรภ์ ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุว่าอาการเลือดออกนั้นมีที่มาจากอะไรกันแน่ ในกรณีที่เป็นสัญญาณของความผิดปกติ แพทย์จะได้ทำการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

มีอะไรบ้างที่คุณแม่ต้องเฝ้าระวังในช่วงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์

คุณแม่ท้อง 12 สัปดาห์ ควรระมัดระวังเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น

         • ควรดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อดลความเสี่ยงของภาวะขาดน้ำ และการดื่มน้ำให้เพียงพอสามารถช่วยป้องกันปัญหาทั่วไปในการตั้งครรภ์ได้ เช่น ท้องผูก ริดสีดวงทวาร รวมถึงลดความเสี่ยงของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะด้วย

         • หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ และควรกินอาหารที่ผ่านการปรุงสุกเท่านั้น ไม่กินอาหารกึ่งสุก กึ่งดิบ เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่มาจากอาหาร

         • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง เพราะเสี่ยงจะทำให้คุณแม่มีน้ำหนักเกินค่าดัชนีมวลกาย และเสี่ยงที่น้ำหนักจะไม่สัมพันธ์กับอายุครรภ์

1,000 วันแรก คืออะไร และสำคัญอย่างไร

ช่วงเวลา 1,000 วันแรก คือช่วงเวลาที่นับตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงวันเกิดครบ 2 ขวบของลูกน้อย ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากที่คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก

หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน โดยช่วงเวลา 1,000 วันของลูกน้อย สามารถแยกออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่

         • ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
         • ช่วงที่ 2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
         • ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 12 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


ท้อง 12 สัปดาห์ มีอาการอย่างไร?

แม่ท้องอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ อาจพบกับอาการคนท้องดังต่อไปนี้

         • รู้สึกอึดอัดมากขึ้น เพราะหน้าท้องเริ่มขยาย ใส่เสื้อผ้า ใส่กางเกงตัวเดิมแล้วรู้สึกแน่น

         • ผมมันมากขึ้น หรือผมแห้งมากขึ้น หรือผมร่วงมากขึ้น อันเป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย

         • เล็บยาวเร็วขึ้น แต่ก็เปราะง่าย หักง่าย

         • อ่อนเพลียง่าย เพราะร่างกายต้องทำงานหนักเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารก

         • ตกขาวคนท้องระยะแรกมากขึ้น เพราะมีการไหลเวียนเลือดไปที่ช่องคลอดมากขึ้น และฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คุณแม่หลายคนมีอาการตกขาวออกมามากขึ้น

ท้อง 12 สัปดาห์ ควรกินอะไร?

แม่ท้อง 12 สัปดาห์ ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย ครบทั้ง 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ และต้องกินอาหารที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสที่มากับอาหาร มากไปกว่านั้น ยังควรเน้นสารอาหารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์ ได้แก่

         • ดีเอชเอ พบได้มากในอาหารจำพวก ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

         • ธาตุเหล็ก พบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

         • โฟเลต พบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

         • แคลเซียม พบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

         • ไอโอดีน พบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

         • โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

         • โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

ท้อง 12 สัปดาห์ ปวดหลัง ทำอย่างไรดี?

คุณแม่ที่มีอาการปวดหลัง สามารถบรรเทาอาการปวดหลังได้ง่าย ๆ ดังนี้

         • ทาครีมยาที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย

         • เปลี่ยนอริยาบถบ่อย ๆ ไม่นั่งหรือนอนในท่าเดิมนาน ๆ

         • เวลานั่งหรือนอน ควรมีเบาะรองเพื่อรองรับน้ำหนัก

         • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือควรขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัว

         • พยายามคุมน้ำหนักให้ได้ตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อลดแรงกดดันที่กระดูกช่วงหลัง

อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดหลังไม่ดีขึ้นเลยจนคุณแม่รู้สึกทรมาน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

blighted-ovum
แพ้ท้องแทนเมีย
milk-and-dairy-pregnancy
Enfa Smart Club

Leaving page banner

 

Leaving page banner