ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 13 สัปดาห์ อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 13 สัปดาห์ อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ ทารกจะมีขนาดราว ๆ 2.9 นิ้ว หรืออาจยาวสูงสุดเกือบ 4 นิ้ว หนักประมาณ 22 กรัม มีขนาดเท่ากับผลเลม่อน หรือยาวเท่ากับฝักถั่วลันเตา
  • อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ กระดูกของทารกจะค่อย ๆ เจริญเติบโต ขณะเดียวกันทารกจะเริ่มดูดปาก กลืนน้ำคร่ำ และไตของทารกเริ่มมีการผลิตปัสสาวะออกมาด้วย
  • อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ ตอนนี้รกพัฒนาเกือบสมบูรณ์ และทำหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจน ส่งผ่านอาหาร และขับถ่ายของเสีย

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 13 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 13
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 13 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 13 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 13 สัปดาห์ ยังแพ้ท้องอยู่ไหม
     • ตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์ ต้องอัลตราซาวนด์หรือไม่
     • ท้อง 13 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

ในที่สุดคุณแม่ก็ผ่านพ้นการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก และเข้าสู่ไตรมาสที่สองอย่างเป็นทางการแล้วค่ะ ปรบมือ!! แน่นอนว่าท้อง 13 สัปดาห์นี้ คุณแม่จะเริ่มสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ทารกอายุครรภ์ 13 สัปดาห์ก็มีพัฒนาการต่อเนื่องด้วยเช่นกัน เรามาดูกันว่าจะมีมีเช็กลิสต์ที่น่าสนใจอะไรบ้างในการตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์นี้

ท้อง 13 สัปดาห์ มีอะไรบ้างเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้


อายุครรภ์ 13 สัปดาห์นี้ คุณแม่หลายคนแทบไม่มีอาการแพ้ท้อง หรือหายแพ้ท้องแล้ว แต่เริ่มพบกับความเปลี่ยนของขนาดครรภ์ที่เริ่มยื่นออกมามากขึ้น และดูเหมือนเป็นคนท้องจริง ๆ มากขึ้นด้วย

มากไปกว่านั้น ยังพ่วงมากับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคุณแม่จะต้องคอยควบคุมให้มีน้ำหนักตัวตามที่แพทย์กำหนด เพื่อลดความเสี่ยงของทารกในครรภ์ เช่น หากน้ำหนักมากเกินไป ทารกอาจมีขนาดตัวใหญ่ ทำให้เสี่ยงต้องมีการผ่าคลอด หรือมีน้ำหนักตัวน้อยเกินไป ทารกอาจคลอดออกมาแล้วมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ เป็นต้น

ท้อง 13 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ เท่ากับ 3 เดือน 1 สัปดาห์ และคุณแม่ได้เข้าสู่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ในไตรมาสสองอย่างเป็นทางการ

ท้อง 13 เดือน ลูกอยู่ตรงไหน

ทารกอายุครรภ์ 13 สัปดาห์ เจริญเติบโตอยู่ในมดลูก และมีพัฒนาการต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยคุณแม่สามารถอัลตราซาวนด์แล้วเห็นทารกในครรภ์ที่มีขนาดตัวใหญ่ขึ้นได้อย่างชัดเจน

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 13 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ กระดูกของทารกจะค่อย ๆ เจริญเติบโต รวมถึงขากรรไกรก็จะเริ่มมีตุ่มฟันครบสามสิบสอง ขณะเดียวกันทารกจะเริ่มดูดปาก กลืนน้ำคร่ำ และปล่อยเป็นปัสสาวะออกมาในช่วงนี้ด้วย

ท้อง 13 สัปดาห์ ลูกดิ้นหรือยัง

ถ้าดูด้วยการอัลตราซาวนด์ทางหน้าท้องขณะที่คุณแม่ท้อง 13 สัปดาห์ จะเห็นว่าทารกในครรภ์สามารถดิ้นไปดิ้นมา พลิกตัว กลับตัวได้ แต่ในช่วงอายุครรภ์ 13 สัปดาห์นี้ คุณแม่จะยังไม่สามารถรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวนี้ เนื่องจากการดิ้นอาจจะยังไม่กระทบผนังมดลูก หรือหากกระทบผนังมดลูกก็อาจจะยังไม่แรงพอที่จะทำให้คุณแม่สามารถจับความรู้สึกได้

ท้อง 13 สัปดาห์ รู้เพศยัง

ในช่วงอายุครรภ์ 13 สัปดาห์ อวัยวะเพศของลูกพัฒนาเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นแล้วค่ะ การอัลตราซาวนด์อาจสามารถบอกเพศลูกได้ค่ะ แต่เนื่องจากอวัยวะเพศของลูกยังไม่ได้มีขนาดที่ใหญ่จนสังเกตได้ ดังนั้น จึงยังไม่สามารถบอกเพศได้ชัดเจน และไม่ใช่ทุกคนที่จะอัลตราซาวนด์แล้วเห็นเพศลูกชัดเจนในสัปดาห์นี้ค่ะ

อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ ขนาดทารก มีขนาดประมาณไหน

ทารกในครรภ์ 13 สัปดาห์ จะมีขนาดราว ๆ 2.9 นิ้ว หรืออาจยาวสูงสุดเกือบ 4 นิ้ว มีขนาดเท่ากับผลเลม่อน หรือยาวเท่ากับฝักถั่วลันเตา

อวัยวะและระบบต่าง ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 13 สัปดาห์ มีดังนี้

          • ระบบทางเดินอาหารของทารกเริ่มทำงาน

          • ระบบประสาทและกล้ามเนื้อของทารกเริ่มทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น

          • ทารกในครรภ์จะเริ่มมีดวงตาและหูที่เด่นชัด เริ่มมีเปลือกตาให้เห็น แต่ยังคงปิดสนิทเพื่อปกป้องดวงตาที่อยู่ในช่วงพัฒนา

          • เนื้อเยื่อที่จะพัฒนาเป็นกระดูกจะก่อตัวขึ้นที่ศีรษะ แขนและขา แต่เราอาจมองเป็นซี่โครงท่อนเล็ก

          • เส้นเลือดดำและอวัยวะต่าง ๆ ก็เริ่มเป็นรูปร่างที่เด่นชัดขึ้นผ่านผิวหนังบาง ๆ ของทารก

          • ไตของทารกเริ่มมีการผลิตปัสสาวะ

          • ทารกเริ่มกำมือและแบมือ และบางครั้งก็ดูดนิ้วมือด้วย

          • ทารกเริ่มสร้างขนอ่อนขึ้นเพื่อให้ความอบอุ่นและปกป้องร่างกาย

          • ตอนนี้รกพัฒนาเกือบสมบูรณ์ และทำหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจน ส่งผ่านอาหาร และขับถ่ายของเสีย

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 13 สัปดาห์


อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ มดลูกของคุณแม่จะโตขึ้นกว่าเดิมมากขึ้นจนโผล่พ้นจากบริเวณอุ้งเชิงกรานมาที่บริเวณท้อง มดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นในช่วงอายุครรภ์ 13 สัปดาห์นี้ จะไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้คุณแม่ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น

มากไปกว่านั้น คุณแม่อาจรู้สึกหายใจเร็วขึ้น ถี่ขึ้นกว่าเดิม ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์ เพราะร่างกายต้องการระบายปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากลูกส่งผ่านออกมาผ่านทางรก จึงทำให้อัตราการหายใจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ท้อง 13 สัปดาห์ ท้องใหญ่ ขนาดไหน

ท้อง 13 สัปดาห์ ขนาดท้องของคุณแม่ขยายออกมาจนคนรอบข้างเริ่มสังเกตได้บ้างแล้วค่ะว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ ตอนนี้คุณแม่หลายคนเริ่มเปลี่ยนมาสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายมากขึ้น จากกางเกงพอดีตัว ก็มาเป็นกางเกงยางยืด หรือเดรส เพื่อลดความรู้สึกอึดอัน หรือแน่นคับ ซึ่งอาจทำให้ไม่สบายตัว

อาหารคนท้อง 13 สัปดาห์ ต้องกินอะไรบ้างนะ


แม่ท้อง 13 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่สามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ

โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

อาการคนท้อง 13 สัปดาห์ ยังมีอาการแพ้ท้องอยู่ไหม


ท้อง 13 สัปดาห์ อาการแพ้ท้องส่วนมากแทบจะไม่มีเหลือแล้ว หรืออาจจะมีอยู่บ้างแต่ก็ทุเลาลงมากแล้วค่ะ แต่ถ้าหากคุณแม่ยังมีอาการแพ้ท้องอยู่ ก็ไม่ถือว่าผิดปกติค่ะ

เพราะร่างกายของแม่แต่ละคนแตกต่างกัน บางคนอาจจะแพ้ท้องนาน หรือบางคนไม่แพ้ท้องเลยก็มี และตราบเท่าที่ไปตรวจครรภ์แล้วทารกในครรภ์ยังปกติ ก็ไม่มีอะไรต้องกังวลค่ะ

อย่างไรก็ตาม อาการคนท้องอายุครรภ์ 3 สัปดาห์ โดยทั่วไปที่สามารถพบได้ในระยะนี้ ประกอบไปด้วย

          • ความดันโลหิตของคุณแม่จะลดลง เนื่องจากฮอร์โมนของการตั้งครรภ์จำทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตเกิดการขยายตัวมากขึ้น จนกระทั่งถึงสัปดาห์ที่ 24 ความดันโลหิตถึงกลับไปสู่ระดับเดิมก่อนการตั้งครรภ์

          • การไหลเวียนของเลือดที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดอาการคัดจมูกและแม้กระทั่งเลือดกำเดาไหลบ่อย

          • คุณแม่บางคนรู้สึกว่าผิวคล้ำขึ้น ผิวแห้งขึ้น

          • มีตกขาวมากขึ้น เพราะมีการไหลเวียนเลือดไปที่ช่องคลอดมากขึ้น และฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คุณแม่หลายคนมีอาการตกขาวออกมามากขึ้น

          • มีอาการปวดท้อง เนื่องจากการขยายตัวของมดลูกและเส้นเอ็นบริเวณหน้าท้อง

          • เริ่มมองเห็นเส้นเลือดที่บริเวณผิวหนังหรือหน้าท้องชัดเจนมากขึ้น เพราะร่างกายมีการไหลเวียนเลือดที่เพิ่มขึ้น

          • ระยะนี้ปากมดลูกจะมีไวต่อการสัมผัสมากขึ้น ทำให้คุณแม่หลายคนมีอารมณ์ทางเพศสูง

ตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์ ต้องไปทำอัลตราซาวนด์ไหมนะ


อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ อัลตราซาวนด์สามารถทำได้ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากแพทย์มีการนัดอัลตราซาวนด์ คุณแม่ควรไปพบแพทย์ทุกครั้ง เพื่อที่แพทย์จะได้ทำการตรวจดูว่าทารกในครรภ์ยังปกติหรือไม่ หรือคุณแม่มีความเสี่ยงใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์

มากไปกว่านั้น แพทย์ยังจำเป็นจะต้องอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจหาความเสี่ยงของภาวะบกพร่องทางโครโมโซมและพันธุกรรม เพื่อหาความเสี่ยงของดาวน์ซินโดรม รวมถึงการตรวจเลือด และตรวจวัดระดับฮอร์โมนในร่างกายด้วย

ท้อง 13 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่?


อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ท้อง 13 สัปดาห์ ท้องไม่ออก ปกติไหม

ท้อง 13 สัปดาห์ แต่ขนาดหน้าท้องยังไม่โตนั้น ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติเสียทีเดียวค่ะ เพราะไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่จะหน้าท้องโตทั้งแต่อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ มากไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงของหน้าท้องยังขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น

          • คุณแม่ตั้งครรภ์ครั้งแรก หน้าท้องจึงมักไม่ขยายใหญ่

          • คุณแม่ออกกำลังกายกายมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ทำให้มีผนังหน้าท้องที่หน้า เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ หน้าท้องจึงไม่นูนออกมาง่าย ๆ

          • คุณแม่ตั้งครรภ์ตอนอายุยังน้อย

          • คุณแม่มีสรีระที่เล็ก ขนาดหน้าท้องจึงไม่ขยายใหญ่เกินกว่าสรีระของคุณแม่

ท้อง 13 สัปดาห์ มีเลือดออก อันตรายไหม

หากมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะอายุครรภ์เท่าไหร่ก็ตาม ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการวินิจฉัยว่าอาการเลือดออกนั้นเกิดจากสาเหตุใด เพราะอาจจะเป็นเลือดที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ตามปกติ หรือเกิดจากภาวะความผิดปกติอื่น ๆ เช่น การแท้ง ภาวะแท้งคุกคาม

ดังนั้น อย่ารอรีหรือมัวแต่ชะล่าใจนะคะ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอาการเลือดออกตอนท้องนี้มีสาเหตุมาจากอะไรจนกว่าจะได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ค่ะ

ท้อง 13 สัปดาห์ ปวดท้องน้อย หมายความว่าอย่างไร

อาการปวดท้องน้อยในอายุครรภ์ 13 สัปดาห์ อาจมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของมดลูก และเส้นเอ็นหน้าท้องที่มีการขยายตัว แต่ถ้าหากมีอาการปวดท้องน้อยติดต่อกันหลายวันแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือปวดมากจนเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการแท้ง หรือภาวะความเสี่ยงอื่น ๆ ในขณะตั้งครรภ์ได้

ท้อง 13 สัปดาห์ ท้องแข็ง ต้องไปหาหมอหรือเปล่า

โดยทั่วไปแล้วอาการท้องแข็งนั้นจะพบในช่วงไตรมาสที่สาม หรือช่วงใกล้คลอด มักไม่พบในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์

ดังนั้น หากพบว่ามีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรก ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้ค่ะ

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 13 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

อาหารและกิจกรรมที่คุณแม่ท้อง 13 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยง

แม่ท้องต้องใส่ใจเรื่องอาหารการกินมากเป็นพิเศษ เพื่อสร้างสุขภาพที่แข็งแรงทั้งแม่และลูกในท้อง ดังนั้น นอกจากกลุ่มอาหารที่มีประโยชน์ซึ่งคุณแม่ควรกินเป็นประจำทุกวันแล้ว ยังมีอาหารที่คุณแม่จำเป็นต้องเลี่ยงเพื่อความปลอดภัยในการตั้งครรภ์ ได้แก่

          • นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย ชีส ที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์

          • เนื้อสัตว์ปีก อาหารทะเล และไข่ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก

          • อาหารทะเลหรือปลาที่มีสารปรอทสูง เช่น ปลากระโทงดาบ ปลาไทล์ฟิช ปลาฉลาม ปลาแมคเคอเรล และปลาทูน่าตาโต

          • แป้งดิบ ไม่ว่าจะเป็นแป้งคุกกี้หรือแป้งเค้กก็ตาม

          • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรืออาหารที่มีการใส่แอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม

มากไปกว่านั้น คุณแม่ยังควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมประเภทที่ต้องมีการตอบโต้กันไปมา เช่น การชกมวย รักบี้ ฟุตบอล เพราะเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงขณะปะทะกัน รวมถึงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม เช่น ขี่ม้า ปีนเขา

อาการแพ้ท้องยังไม่หมดไป ทำอย่างไรดี

หากคุณแม่ยังคงมีอาการแพ้ท้องรบกวนอยู่ในสัปดาห์นี้ ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นความผิดปกตินะคะ ร่างกายของแม่แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะแพ้ท้องนาน บางคนอาจแพ้ท้องไม่กี่เดือน ตราบเท่าที่ไปตรวจครรภ์แล้วทารกยังเติบโตตามปกติก็ไม่มีอะไรต้องกังวลค่ะ

คุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้อง สามารถดูแลตัวเองง่าย ๆ เพื่อบรรเทาอาการแพ้ท้องให้ดีขึ้นได้ ดังนี้

          • พักผ่อนให้เพียงพอ
          • งดอาหารรสจัด รสเผ็ด รสเปรี้ยวจัด
          • พยายามอย่าปล่อยให้ท้องว่าง ควรมีของว่างติดตัวไว้ตลอด
          • แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ 5-6 มื้อ
          • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
          • จิบน้ำอุ่น ชาขิง หรือน้ำขิงสด

อย่างไรก็ตาม หากอาการแพ้ท้องส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น แพ้ท้องรุนแรงจนนอนไม่หลับ แพ้ท้องจนกินอาหารไม่ได้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม เพราะถ้าปล่อยไว้นานจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์ได้ค่ะ

รู้จักกับภาวะแท้งคุกคาม

ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened Abortion) คือ ความผิดปกติของการตั้งครรภ์ ที่สามารถพบได้ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยแม่ที่มีภาวะแท้งคุกคามจะมีเลือดออกทางช่องคลอดในขณะที่ปากมดลูกยังไม่เปิด ซึ่งเลือดที่ไหลออกมานั้นอาจเป็นเลือดสีสด มูกเลือด หรือเลือดสีน้ำตาลก็ได้

ภาวะแท้งคุกคาม เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น

          • โครโมโซมผิดปกติ
          • ทารกพิการตั้งแต่ในครรภ์
          • มดลูกและโพรงมดลูกผิดปกติ
          • การได้รับยาหรือสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย
          • มีประวัติการแท้งบุตรมาก่อน
          • ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก
          • แม่ท้องมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

ภาวะแท้งคุกคาม จำเป็นจะต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพราะถือว่าเป็นภาวะการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ และเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้

ดังนั้น หากมีเลือดออกในขณะตั้งครรภ์ ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุว่าอาการเลือดออกนั้นมีที่มาจากอะไรกันแน่

ในกรณีที่เป็นสัญญาณของความผิดปกติ แพทย์จะได้ทำการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

1,000 วันแรก คืออะไร และสำคัญอย่างไร

ช่วงเวลา 1,000 วันแรก คือช่วงเวลาที่นับตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงวันเกิดครบ 2 ขวบของลูกน้อย ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากที่คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก

หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน โดยช่วงเวลา 1,000 วันของลูกน้อย สามารถแยกออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่

          • ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
          • ช่วงที่ 2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
          • ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 13 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


ตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์ มีเลือดออก ทารกในครรภ์จะมีความผิดปกติหรือไม่?

หากมีอาการเลือดออกขณะตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยดูว่าเกิดจากสาเหตุใด และตรวจดูว่าทารกในครรภ์ยังปกติหรือไม่ค่ะ

ท้อง 13 สัปดาห์ ควรกินอะไร?

แม่ท้อง 13 สัปดาห์ ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย ครบทั้ง 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ และต้องกินอาหารที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสที่มากับอาหาร มากไปกว่านั้น ยังควรเน้นสารอาหารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์ ดังนี้

         • ดีเอชเอ พบได้มากในอาหารจำพวก ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

         • ธาตุเหล็ก พบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

         • โฟเลต พบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

         • แคลเซียม พบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

         • ไอโอดีน พบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

         • โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

         • โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

threatened-abortion
second-trimester-of-pregnancy
เข็มกลัดคนท้อง แม่ ๆ รู้ไหม เราติดไว้ทำไมกันนะ?
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner