ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 19 สัปดาห์ อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 19 สัปดาห์ อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 6 นิ้ว หนักประมาณ 240 กรัม มีขนาดเท่ากับผลมะม่วงค่ะ
  • อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ ทารกจะมีการดิ้นถี่และบ่อยมากขึ้น ทำให้คุณแม่สามารถสัมผัสถึงการดิ้นของลูกในท้องได้ชัดเจน
  • อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ ทารกเริ่มสร้างไขของทารกในครรภ์ (Vernix Caseosa) ปกคลุมทั่วทั้งร่างกาย ซึ่งไขนี้จะทำหน้าที่เคลือบผิวและปกป้องผิวหนังของทารก

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 19 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 19
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 19 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 19 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 19 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • 19 สัปดาห์ มีตรวจอัลตราวซาวนด์ นัดฝากครรภ์ไหม 
     • ท้อง 19 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 19 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 19 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

ท้อง 19 สัปดาห์ อีกเพียงไม่กี่วันจากสัปดาห์นี้คุณแม่ก็จะตั้งครรภ์ครบรอบ 5 เดือนแล้วค่ะ ซึ่งถือว่าคุณแม่กำลังจะผ่านพ้นครึ่งแรกของการตั้งครรภ์เข้ามาทุกที่แล้ว

แต่ก่อนจะไปถึงตอนนั้น เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่าท้อง 19 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน แล้วทารกอายุครรภ์ 19 สัปดาห์ จะมีพัฒนาการเป็นอย่างไรกันบ้าง

ท้อง 19 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ คุณแม่จะเริ่มมีปัญหาเรื่องการนอนมากขึ้น เนื่องจากขนาดหน้าท้องที่ขยายใหญ่ ทำให้นอนในท่าเดิมที่ถนัดไม่ค่อยได้ ทั้งยังรู้สึกปวดหน่วงท้อง และปัสสาวะบ่อยกว่าปกติอีกด้วย

ท้อง 19 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน

ทารกอายุครรภ์ 19 สัปดาห์ เจริญเติบโตอยู่ในมดลูก และมีพัฒนาการต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยทารกในระยะนี้สามารถที่จะได้ยินเสียงรอบ ๆ ตัว และสามารถสัมผัสถึงแสงจากภายนอกได้ด้วย แม้ว่าเปลือกตาจะยังคงปิดอยู่

อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

ตั้งครรภ์ 19 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือนกันนะ? แม่ท้อง 19 สัปดาห์ อายุครรภ์จะอยู่ที่ 4 เดือน กับอีก 3 สัปดาห์ค่ะ

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 19 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


ทารกอายุครรภ์ 19 สัปดาห์จะดิ้นถี่ขึ้นราวกับพายุ เริ่มมีการตอบสนองต่อแสงและเสียงจากภายนอกรอบ ๆ ตัวได้มากขึ้น

อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ น้ำหนักทารก ในครรภ์ประมาณไหน

ตั้งครรภ์ 19 สัปดาห์ ขนาดทารกจะหนักเท่าไหร่กันนะ? ทารกในระยะนี้จะมีน้ำหนักประมาณ 240 กรัมค่ะ

ตั้งครรภ์ 19 สัปดาห์ ลูกดิ้น แล้วหรือยัง

ทารกในช่วงสัปดาห์นี้จะดิ้นถี่มากขึ้นกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา คุณแม่ที่ยังไม่สามารถสัมผัสการดิ้นของลูกได้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อาจเริ่มสัมผัสได้ในสัปดาห์นี้ เพราะเจ้าตัวเล็กเริ่มมีการเคลื่อนไหวไปมามากขึ้น และมีการตอบสนองต่อเสียงและสิ่งรอบตัวมากขึ้นด้วยค่ะ

ขนาดทารกในครรภ์อายุ 19 สัปดาห์

ทารกอายุครรภ์ 19 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 6 นิ้ว หรือมีขนาดเท่ากับผลมะม่วงค่ะ

อวัยวะและระบบอื่น ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 19 สัปดาห์ มีดังนี้

          • ทารกเริ่มสร้างไขของทารกในครรภ์ (Vernix Caseosa) ปกคลุมทั่วทั้งร่างกาย ซึ่งไขนี้จะทำหน้าที่เคลือบผิวและปกป้องผิวหนังของทารก

          • จมูก หู และริมฝีปากของทารกมีรูปร่างที่ชัดเจนมากขึ้น และสามารถมองเห็นผ่านการอัลตราซาวนด์

          • ทารกเริ่มมีลายนิ้วมือและลายนิ้วเท้า

          • ประสาทสัมผัสของทารกทำงานประสานกันได้มากขึ้น ทั้งการตอบสนองต่อกลิ่น รส การได้ยิน การมองเห็น และการสัมผัส

          • เซลล์ประสาทมีการเชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อ ประกอบกับกระดูกแขนขาที่ยาวขึ้น ทำให้ทารกสามารถยืดแข้งยืดขาได้และเคลื่อนไหวได้อิสระมากขึ้น

          • เส้นผมและขนคิ้วเริ่มยาวขึ้นทีละนิด ๆ

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 19 สัปดาห์


ท้อง 19 สัปดาห์ ขนาดท้องจะนูนออกมาชัดเจน ชนิดที่ใครเห็นก็รู้ได้ค่ะว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์อยู่ นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถพบกับการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ได้อีกหลายอย่าง ดังนี้

          • คุณแม่หลายคนเริ่มประสบกับอาการบวม ทั้งบวมน้ำ บวมตามมือ บวมเท้า หรือบวมที่ข้อเท้า ซึ่งอาจเกิดจากฮอร์โมนตั้งครรภ์ทำให้เนื้อเยื่อร่างกายกักเก็บน้ำมากผิดปกติจนมีอาการบวมน้ำ อีกทั้งขนาดของมดลูกที่โตขึ้นจนเริ่มกดดันอวัยวะอื่น ๆ ก็ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดทำได้ไม่ค่อยดี จนมีอาการบวมตามมื้อและเท้าได้ค่ะ

          • ขนาดท้องในสัปดาห์นี้จะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าคุณแม่ท้องเล็กในระยะนี้ ก็ไม่ถือว่าผิดปกติค่ะ อาจเป็นเพราะตั้งครรภ์ครั้งแรก ส่วนใหญ่คนที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก ๆ ขนาดท้องมักจะไม่ใหญ่นัก หรือตั้งครรภ์ตอนอายุน้อย หรือท้องสาว ขนาดท้องก็มักจะไม่นูนออกมาอย่างชัดเจนนัก หรือคุณแม่มีผนังหน้าท้องหนา

เช่น ออกกำลังกายมาตลอดตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ทำให้มีผนังท้องหนา ทำให้มดลูกที่ขยายตัวไม่สามารถดันให้หน้าท้องนูนออกมาได้มากนัก และถ้าคุณแม่เป็นคนที่สรีระเล็ก ขนาดหน้าท้องก็มักจะไม่ใหญ่เกินกว่าสรีระของคุณแม่ค่ะ ทั้งนี้ถ้าไปตรวจครรภ์แล้วทารกแข็งแรงปกติ ก็ไม่มีอะไรให้ต้องกังวลค่ะ

          • ปกติท้องไตรมาสสองอาจจะยังไม่ได้มีอาการท้องแข็งมากเท่ากับท้องไตรมาสสาม แต่แม่ท้อง 19 สัปดาห์หลายคนอาจจะเริ่มมีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้

แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

          • น้ำหนักตัวของคุณแม่ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่คุณแม่จะต้องคอยควบคุมดูแลไม่ให้เกิดตามที่แพทย์แนะนำนะคะ สำหรับอายุครรภ์ 19 สัปดาห์ ยังอยู่ในไตรมาสที่สอง คุณแม่ที่มีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI ปกติควรจะต้องคอยดูแลน้ำหนักไม่ให้เกิน 5-6 กิโลกรัมค่ะ

อาหารคนท้อง 19 สัปดาห์ มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรกิน


แม่ท้อง 19 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ดังนี้

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่สามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

อาการคนท้อง 19 สัปดาห์ ที่พบบ่อย


อาการคนท้อง 19 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

          • ปวดหลัง ปวดสะโพก เพราะน้ำหนักตัวเริ่มมากขึ้น ขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดการกดทับที่บริเวณช่วงหลังหรืออวัยวะช่วงล่าง

          • คุณแม่บางคนเริ่มมีรอยแตกลายเกิดขึ้นที่หน้าท้อง หากกังวลว่าจะเป็นรอยที่หายยาก สามารถเริ่มใช้ครีมบำรุงป้องกันรอยแตกลายได้

          • เริ่มมีอาการนอนไม่ค่อยหลับ เพราะนอนไม่สบายตัวเนื่องจากมีขนาดท้องที่นูนใหญ่ขึ้น หรือทารกมีการดิ้นบ่อยจนรบกวนการนอนหลับของแม่

          • คุณแม่บางคนมีอาการเลือดออกตามไรฟันหรือเหงือกบวม ที่เกิดจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนพุ่งสูงขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก และทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อโรคเหงือกอักเสบได้

          • ปวดท้อง หรือปวดหน่วงท้องน้อย เกิดจากการขยายตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นหน้าท้อง เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของลูกน้อย

          • คุณแม่มีอาการบวมที่มือหรือเท้า ซึ่งมีสาเหตุมาจากการกดทับของมดลูกที่ขยายตัว ทำให้เลือดไหลเวียนย้อนกลับหัวใจได้ไม่ดี และเกิดการคั่งค้างอยู่ที่อวัยวะส่วนล่าง

          • คุณแม่มีอาการตัวบวม หรือบวมน้ำ เกิดจากฮอร์โมนในร่างกายที่พุ่งสูง และส่งผลให้เนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ในร่างกายมีการดูดซึมน้ำและเก็บกักน้ำเอาไว้มากผิดปกติ

อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ มีตรวจอัลตราซาวนด์ หรือนัดฝากครรภ์ไหม


จริง ๆ แล้วการอัลตราซาวนด์และการฝากครรภ์ของคุณแม่แต่ละคนนั้นแตกต่างกันค่ะ คุณแม่อาจจะมีตรวจครรภ์ในสัปดาห์นี้ หรือไม่มีนัดก็ได้

ซึ่งสำหรับอายุครรภ์ 19 สัปดาห์นั้น หากคุณแม่เพิ่งรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ก็จำเป็นจะต้องเริ่มฝากครรภ์กันเลยทันทีค่ะ เพื่อที่แพทย์จะได้มีการตรวจครรภ์และทำการอัลตราซาวนด์ดูว่าทารกในครรภ์ปกติไหม

โดยการตรวจครรภ์ จะตรวจดูว่า น้ำคร่ำน้อยหรือมากไปไหม การเคลื่อนไหวทารกเป็นยังไง หัวใจทารกเตนปกติไหม ตำแหน่งรกอยู่ตรงไหน รวมถึงตรวจดูอวัยวะต่าง ๆ ของทารกว่าเป็นปกติหรือไม่ และยังใช้ข้อมูลจากการอัลตราซาวนด์มาใช้ในการคำนวณอายุครรภ์และกำหนดวันคลอดได้อย่างแม่นยำด้วยค่ะ

ส่วนกรณีที่คุณแม่ฝากครรภ์มาตั้งนานแล้ว ก็อาจจะมีนัดกับแพทย์เพื่อมาทำการอัลตราซาวนด์ในสัปดาห์นี้เช่นกันค่ะ โดยอาจจะเป็นการตรวจโดยทั่วไปว่าทารกยังเติบโตเป็นปกติไหม หรือตรวจดูเพศลูกในกรณีที่ยังไม่ได้ทำการอัลตราซาวนด์ดูเพศลูกมาก่อน

ท้อง 19 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่?


อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ท้อง 19 สัปดาห์ ลูกยังไม่ดิ้น ผิดปกติไหม

คุณแม่ส่วนใหญ่สามารถรู้สึกถึงการดิ้นของลูกได้อย่างชัดเจนในสัปดาห์นี้ แต่ถ้าไม่รู้สึกเลย ก็ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าผิดปกติค่ะ เพราะการที่ลูกไม่ดิ้น อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

          • ผนังหน้าท้องของคุณแม่อาจจะหนาจนสัมผัสการดิ้นของทารกได้ยาก

          • ช่วงที่ทารกดิ้นอาจทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มีการเคลื่อนไหว จึงทำให้ไม่รู้สึก

          • ตอนที่ทารกดิ้น คุณแม่นอนหลับ ตอนที่คุณแม่ตื่น ทารกหลับ ช่วงเวลาที่ลูกดิ้นจึงคลาดเคลื่อนไปจากการรับรู้ของคุณแม่

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ยังไม่ต้องคิดมากค่ะ หากอัลตราซาวนด์แล้วพบว่าทารกยังมีหัวใจเต้นตามปกติ และยังสามารถเคลื่อนไหวตามปกติ ก็ยังไม่มีอะไรต้องกังวล และอาจจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นมากขึ้นในสัปดาห์ถัดไปก็ได้ค่ะ

ตั้งครรภ์ 19 สัปดาห์ ท้องแข็ง ต้องกังวลไหม

อาการท้องแข็งบางครั้งอาจจะพบได้ตลอดการตั้งครรภ์ แต่จะพบได้บ่อยจนเป็นปกติในช่วงไตรมาสที่สาม หรืออาจพบได้เร็วหน่อยตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสสองของการตั้งครรภ์ 

ซึ่งถ้าอาการท้องแข็งนี้ปวดไม่บ่อย ปวดแล้วหายเองได้ ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล แต่ถ้าหากพบว่ามีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสอง และอาการปวดนั้นถี่ขึ้น ปวดแรงขึ้น และอาการปวดไม่ลดลง 

คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือมีภาวะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

นอกจากนี้สำหรับแม่ที่สังเกตว่ามีอาการปวดท้องรุนแรง และอาการปวดท้องไม่ทุเลาลงเลย หรือสังเกตว่ามีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยว่าอาการดังกล่าวเกิดจากอะไร และเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป เพราะถ้าหากปล่อยไว้แล้วมีสาเหตุมาจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะแท้งคุกคาม ครรภ์เป็นพิษ หรือเสี่ยงต่อการแท้ง จะส่งผลเสียต่อแม่และทารกในครรภ์ได้ค่ะ

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 19 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

รู้จักกับภาวะแท้งคุกคามและสัญญาณอันตรายระหว่างตั้งครรภ์

ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened Abortion) คือ ความผิดปกติของการตั้งครรภ์ ที่สามารถพบได้ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยแม่ที่มีภาวะแท้งคุกคามจะมีเลือดออกทางช่องคลอดในขณะที่ปากมดลูกยังไม่เปิด ซึ่งเลือดที่ไหลออกมานั้นอาจเป็นเลือดสีสด มูกเลือด หรือเลือดสีน้ำตาลก็ได้ ทั้งนี้ ภาวะแท้งคุกคาม เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น

          • โครโมโซมผิดปกติ
          • ทารกพิการตั้งแต่ในครรภ์
          • มดลูกและโพรงมดลูกผิดปกติ
          • การได้รับยาหรือสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย
          • มีประวัติการแท้งบุตรมาก่อน
          • ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก
          • แม่ท้องมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

ภาวะแท้งคุกคาม จำเป็นจะต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพราะถือว่าเป็นภาวะการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ และเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้ ดังนั้น หากมีเลือดออกในขณะตั้งครรภ์ ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุว่าอาการเลือดออกนั้นมีที่มาจากอะไรกันแน่ ในกรณีที่เป็นสัญญาณของความผิดปกติ แพทย์จะได้ทำการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

เพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์ สามารถทำได้หรือไม่

คนท้องสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ทุกช่วงอายุครรภ์ค่ะ แต่เมื่อขนาดครรภ์ใหญ่ขึ้นท่าเซ็กซ์ควรจะลดความผาดโผนลง เพื่อลดความเสี่ยงของการกระทบกระเทือนกับครรภ์

พยายามให้คุณแม่เป็นฝ่ายควบคุมจังหวะอยู่ด้านบนด้วยตนเอง หรือท่าเซ็กซ์ในลักษณะที่นอนราบด้วยกันทั้งคู่ หรือมีการสอดใส่จากด้านหลัง หรือมีเซ็กซ์ในท่ายืน พยายามหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในลักษณะที่เสี่ยงจะกระทบกระเทือนกับหน้าท้องเป็นดีที่สุด

มากไปกว่านั้น ความรุนแรง พุ่งโหน โจนทะยานใด ๆ ที่เคยปฏิบัติกันมา ก็ขอให้ลดลง และกระทำกันด้วยความนุ่มนวล เพื่อป้องกันไม่ให้มีเลือดออก หรือเกิดการฉีกขาดของช่องคลอด และลดแรงกระแทกที่อาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์ได้ค่ะ

การฉีดวัคซีนระหว่างการตั้งครรภ์

การฉีดวัคซีนสำหรับคนท้องนั้นโดยมากแล้วสามารถทำได้และปลอดภัยค่ะ ซึ่งการเข้ารับวัคซีนตามที่แพทย์แนะนำก็จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในขณะตั้งครรภ์ได้ โดยวัคซีนที่แม่ท้องควรได้รับ มีดังนี้

          • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัดใหญ่นั้นค่อนข้างที่จะส่งผลเสียต่อคนท้องมากกว่าคนทั่วไป เพราะอาจเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ในขณะตั้งครรภ์ได้ เช่น ปอดอักเสบ ดังนั้น การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจากแม่สู่ลูก ทั้งยังป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ในขณะตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งโดยมากแล้วมักจะฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เมื่อมีอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป

          • วัคซีนป้องกันบาดทะยัก ถามว่าทำไมต้องฉีด นั่นเป็นเพราะว่าในช่วงการคลอดนั้น คุณแม่จำเป็นจะต้องมีการผ่าตัด หรือเกิดแผลในขณะคลอด ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคบาดทะยักได้ การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันบาดทะยักจึงช่วยลดความเสี่ยงของโรคบาดทะยักลง และยังช่วยให้ทารกในครรภ์มีภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยักตั้งแต่แรกเกิดด้วย โดยวัคซีนบาดทะยักจะเริ่มฉีดเข็มแรกในเดือนที่ 1 ฉีดเข็มที่ 2 ในเดือนที่ 6 และฉีดเข็มที่ 3 หลังคลอด

          • วัคซีนโควิด แม้ว่าในปัจจุบันนี้โรคโควิดจะเบาบางลงไปมากแล้วก็ตาม แต่สำหรับคนท้องซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย โรคโควิดในคนท้องจึงอาจส่งผลเสียต่อแม่และทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น การไปรับไปวัคซีนโควิดก็จะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงลงและช่วยส่งต่อภูมิคุ้มกันไปยังทารกในครรภ์ด้วย โดยคุณแม่สามารถรับวัคซีนโควิดได้เมื่อมีอายุครรภ์ครบ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป

          • วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นการเสริมภูมิคุ้มกันให้แม่และทารก เนื่องจากโรคเหล่านี้สามารถติดเชื้อถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้ โดยจะฉีดเมื่ออายุครรภ์ระหว่าง 27 – 36 สัปดาห์

          • วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ซึ่งอาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนด หรือเสี่ยงต่อการตกเลือดได้

อาการปวดท้องระหว่างตั้งครรภ์

อาการปวดท้องในขณะตั้งครรภ์ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุค่ะ ไม่ว่าจะเป็น

          • กินอาหารมากเกินไป
          • การขยายตัวของมดลูกและเส้นเอ็นที่อยู่รอบ ๆ มดลูก
          • มีอาการท้องผูก ท้องอืด
          • มีอาการกรดไหลย้อน

อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดท้องไม่ดีขึ้นเลย หรือปวดท้องติดต่อกันตั้งแต่ 1-3 วันขึ้นไป ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม

1,000 วันแรก คืออะไร และสำคัญอย่างไร

การเริ่มต้นเสริมพัฒนาการของลูกน้อยให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและสมวัยนั้น หลายคนอาจจะเข้าใจว่าให้เริ่มตอนที่ลูกเริ่มรู้ความ เริ่มอ่านออกและเขียนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วการเสริมพัฒนาการของลูกนั้นควรเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 วันแรกค่ะ ช่วงเวลา 1,000 วันของลูกน้อย สามารถแยกออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่

          • ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
          • ช่วงที่ 2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
          • ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)

ตลอดระยะเวลา 1,000 วัน คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน โดยเฉพาะเรื่องของโภชนาการที่คุณแม่ควรจะเริ่มกินอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือเริ่มตั้งแต่วางแผนจะตั้งครรภ์ ไปจนกระทั่งตั้งครรภ์ คลอดลูก และให้นมบุตร

เมื่อคุณแม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ทารกในครรภ์ก็จะได้รับสารอาหารเหล่านั้นด้วย การปูพื้นฐานเรื่องโภชนาการนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่พัฒนาการด้านอื่น ๆ เพราะเมื่อทารกแข็งแรง มีสุขภาพดี ก็พร้อมสำหรับการเรียนรู้ที่ไม่สะดุดและต่อเนื่องไปตามวัย

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 19 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


ตั้งครรภ์ 19 สัปดาห์ ลูกดิ้นมากน้อยแค่ไหน?

อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ ทารกจะดิ้นถี่และดิ้นแรงมากขึ้น เวลาที่คุณแม่จับที่ท้อง อาจสามารถสัมผัสถึงการดิ้นของทารกได้บ่อย ๆ ค่ะ แต่จะดิ้นมากหรือน้อยนั้น ไม่สามารถวัดจำนวนที่แน่นอนได้ค่ะ เพราะทารกแต่ละคนดิ้นไม่เท่ากันในแต่ละวัน

ท้อง 19 สัปดาห์ ขนาดท้องคุณแม่จะใหญ่มากไหม?

ขนาดท้องของคุณแม่ 19 สัปดาห์ แม้จะไม่ได้ใหญ่เบิ้มเหมือนคนท้องไตรมาสสาม แต่ท้อง 4 เดือนกว่า ๆ นี้ก็นูนออกมามากพอที่คนทั่วไปจะสามารถรับรู้ได้โดยดุษฎีว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ ส่วนคุณแม่ที่ท้องครั้งที่ 2 หรือ 3 เป็นไปได้ว่าอาจจะมีขนาดหน้าท้องใหญ่กว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรกค่ะ

ถ้าท้อง 19 สัปดาห์ แล้วยังท้องเล็กอยู่ ถือว่าปกติไหม?

ท้อง 4 เดือนกว่า ๆ แล้ว แต่ท้องยังเล็กอยู่ เป็นเรื่องปกติที่พบได้ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณแม่เป็นคนตัวเล็ก หรือท้องครั้งแรก หรือท้องตอนอายุน้อย หรือมีผนังหน้าท้องหนา ก็อาจจะมีท้องเล็กได้ค่ะ

มากไปกว่านั้น เรื่องท้องเล็กหรือท้องใหญ่ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ควรกังวลค่ะ ตราบเท่าที่ผลการตรวจครรภ์และอัลตราซาวนด์ออกมาว่าทารกในครรภ์เติบโตปกติ มีพัฒนาการครบถ้วนตามวัย ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลค่ะ

ท้อง 19 สัปดาห์ เริ่มปวดหลัง จะบรรเทาอาการยังไงดี?

หากคุณแม่มีอาการปวดหลัง สามารถบรรเทาอาการปวดหลังได้ง่าย ๆ ดังนี้

          • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัวแทน

          • พยายามเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายบ้าง เช่น การเดิน ปั่นจักรบาน โยคะ เพื่อช่วยยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ

          • เวลานอนให้ใช้หมอนรองที่หว่างขา หรือเอว หรือหลัง เพื่อลดแรงกดทับที่หลัง

          • ปรับเปลี่ยนอริยาบถให้เหมาะสม ไม่นั่งท่าเดิมนาน ๆ เปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ นั่งหลังตรง ไม่นั่งหลังงอ เพราะจะทำให้อาการปวดหลังแย่ลงได้

          • ทาครีมยาบรรเทาอาการปวดหลัง

          • ไปนวดกับแพทย์แผนไทยที่เชี่ยวชาญการนวดคนท้อง และควรแจ้งกับคนนวดทุกครั้งว่ากำลังตั้งครรภ์

          • กินยาบรรเทาอาการปวดตามที่แพทย์แนะนำ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

threatened-abortion
preterm-birth
baby-movements-during-pregnancy
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner