ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 2 สัปดาห์ อายุครรภ์ 2 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 2 สัปดาห์ อายุครรภ์ 2 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

Enfa สรุปให้

  • การนับอายุครรภ์ในทางการแพทย์ ไม่ได้นับตั้งแต่วันที่ตรวจพบการตั้งครรภ์ แต่จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุด เพราะมีความแม่นยำในการกำหนดคลอดมากกว่า
  • อายุครรภ์ 2 สัปดาห์ ยังไม่ถือว่าตั้งครรภ์ เพราะอยู่ในช่วงของการตกไข่ และยังไม่มีการปฏิสนธิใด ๆ เกิดขึ้นในระยะนี้
  • หากสามารถนับวันไข่ตกได้แม่นยำ และมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันในวันไข่ตก หรือก่อนวันไข่ตก 2-3 วัน ก็จะมีโอกาสเกิดการปฏิสนธิและตั้งครรภ์ได้

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 2 สัปดาห์ ถือว่าท้องแล้วหรือยัง
     • อายุครรภ์ 2 สัปดาห์ นับอย่างไร
     • ท้อง 2 สัปดาห์ตรวจได้ไหม
     • อาการคนท้อง 2 สัปดาห์
     • การเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์
     • ปวดหน่วงท้องน้อยเมื่อตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์
     • พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 2 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 1 - 2  สัปดาห์
     • คำแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

เวลาพูดว่าท้อง 2 สัปดาห์ คุณแม่อาจจะกำลังเข้าใจผิดว่าตอนนี้ท้องได้ 2 สัปดาห์แล้ว เพราะในทางการแพทย์นั้นจะไม่ได้เริ่มนับอายุครรภ์จากวันที่ตรวจพบการตั้งครรภ์แบบที่หลายคนเข้าใจค่ะ

บทความนี้จาก Enfa จะพาคุณแม่มาไขจักรวาลการนับอายุครรภ์ไปพร้อม ๆ กันค่ะ มาดูกันว่าจริง ๆ แล้วอายุครรภ์ 2 สัปดาห์ที่ถูกต้องนั้นนับยังไง และเราเข้าใจผิดอะไรเกี่ยวกับอายุครรภ์ 2 สัปดาห์บ้างนะ

ท้อง 2 สัปดาห์ ทางการแพทย์ถือว่าตั้งครรภ์แล้วหรือยัง?


เวลาพูดถึงท้อง 2 สัปดาห์ หรือตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์ อันดับแรกคุณแม่ทุกคนจะต้องเข้าใจก่อนว่าในทางการแพทย์แล้วอายุครรภ์จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด

ซึ่งนั่นหมายความว่า ในวันที่คุณแม่ประจำเดือนขาดในเดือนถัดมา และตรวจพบว่าตั้งครรภ์ ขณะนั้นคุณแม่ถือว่าได้ตั้งครรภ์ไปแล้ว 4 - 5 สัปดาห์ โดยการนับอายุครรภ์แบบนี้ในทางการแพทย์ถือว่าสามารถคาดการณ์กำหนดคลอดได้แม่นยำมากกว่าค่ะ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้ช่วง 2 สัปดาห์แรกนั้นจะยังไม่ถือว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นค่ะ เพราะหากนับจากวันสุดท้ายของประจำเดือนครั้งล่าสุดไปจนครบ 2 สัปดาห์ ร่างกายของผู้หญิงจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการตกไข่ของรอบเดือนนั้น ๆ

เพราะฉะนั้นระยะนี้จึงยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น แต่...มีโอกาสที่จะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น หากว่ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันในวันตกไข่ค่ะ

ดังนั้น ท้อง 2 สัปดาห์ ในทางการแพทย์จึงยังไม่ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์จริง ๆ ค่ะ แต่ถ้าหากมีการปฏิสนธิจนตั้งครรภ์ขึ้นมาจริง ๆ เมื่อนับย้อนไปจนถึงวันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุด ก็จะพบว่าอายุครรภ์เกิน 2 สัปดาห์ไปแล้วค่ะ

อายุครรภ์ 2 สัปดาห์ นับอย่างไร


การนับอายุครรภ์ในทางการแพทย์จะเริ่มตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุดค่ะ โดยเมื่อนับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุดไปจนครบ 1 สัปดาห์ ช่วงนี้จะเป็นระยะการเริ่มต้นของประจำเดือนครั้งถัดไป และเมื่อถึงสัปดาห์ที่ 2 จะเป็นช่วงที่ร่างกายของผู้หญิงเข้าสู่กระบวนการตกไข่

หากไข่กับอสุจิเกิดการปฏิสนธิกัน จนกระทั่งฝังตัวในมดลูก นั่นแหละค่ะถึงจะเริ่มเข้าสู่การตั้งครรภ์อย่างเป็นทางการ ซึ่งก็จะเป็นช่วงหลังจากตกไข่ไปแล้วประมาณ 6 - 10 วัน หรือการตั้งครรภ์จริง ๆ จะเริ่มในช่วงสัปดาห์ที่ 3 นี่แหละค่ะ

ท้อง 2 สัปดาห์ตรวจได้ไหม


เนื่องจากอายุครรภ์ 2 สัปดาห์ในทางการแพทย์นั้น จะเป็นเพียงระยะเตรียมพร้อมก่อนการตกไข่ ดังนั้น จึงยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์นี้อย่างแน่นอน แต่ระยะ 2 สัปดาห์นี้จะถูกนำมาคำนวณเป็นอายุครรภ์ก็ต่อเมื่อคุณแม่ตรวจพบการตั้งครรภ์ค่ะ

อาการคนท้อง 2 สัปดาห์ ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์มีอาการอย่างไร


อาการตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์เป็นยังไง คุณแม่รู้สึกได้ไหม คำตอบคือ ไม่ได้ค่ะ เพราะช่วงอายุครรภ์ 2 สัปดาห์นี้จะยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงระยะการตกไข่ของผู้หญิง ดังนั้น อาการท้อง 2 สัปดาห์ จึงควรเรียกว่า อาการตกไข่ ถึงจะถูกต้องค่ะ

โดยสัญญาณของอาการไข่ตกที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

     • อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเล็กน้อย คล้ายกับมีไข้ต่ำ ๆ

     • ปากมดลูกบาง มีเมือกลื่นใส ๆ คล้ายไข่ขาวไหลออกมา

     • ช่วงที่ไข่ตก ผู้หญิงหลายคนอาจรู้สึกปวดหน่วงท้องเล็กน้อย

     • ช่วง 2 - 3 วันก่อนไข่ตก อาจมีอารมณ์ทางเพศสูงกว่าปกติ

     • คัดตึงเต้านม เจ็บหัวนม

     • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย หรือซึมเศร้า

เข้าใจร่างกายของคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์


สิ่งสำคัญสำหรับคนที่กำลังวางแผนจะตั้งครรภ์ จะต้องรู้ก่อนว่าอายุครรภ์ 2 สัปดาห์ที่ว่านั้นจะยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจริง ๆ แต่เป็นช่วงที่ร่างกายเข้าสู่กระบวนการไข่ตกต่างหาก ซึ่งระยะไข่ตกนี้ ร่างกายของว่าที่คุณแม่ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงที่สามารถสังเกตได้หลายอย่างด้วยเหมือนกัน

การเปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณแม่

ในช่วงอายุครรภ์ 2 สัปดาห์ หรือช่วงไข่ตกนั้น คุณแม่อาจพบสัญญาณทางร่างกายต่าง ๆ ดังนี้

     • อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเล็กน้อย คล้ายกับมีไข้ต่ำ ๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากระดับฮอร์โมนในร่างกายที่พุ่งสูงขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตกไข่

     • ปากมดลูกบาง มีเมือกลื่นใส ๆ คล้ายไข่ขาวไหลออกมา เพราะช่วงที่ไข่ตกนั้นร่างกายจะมีการผลิตมูกออกมามากขึ้น เพื่อให้มูกเหล่านี้ช่วยในการลำเลียงอสุจิไปยังไข่ รวมถึงยังช่วยให้อสุจิมีชีวิตได้นานขึ้น 3 - 5 วันอีกด้วย มากไปกว่านั้น ยังช่วยในการหล่อลื่นขณะมีเพศสัมพันธ์ในวันไข่ตก จึงถือได้ว่ามูกเหล่านี้มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้อีกทางหนึ่ง

     • มีอาการปวดหน่วงท้องเล็กน้อย ซึ่งบางคนก็รู้สึกได้ แต่บางคนก็ไม่ทันได้สังเกตว่ามีอาการเช่นนี้เกิดขึ้น โดยช่วงเวลาที่ไข่ตกนั้น ถุงรังไข่ที่มีการขยายตัวจะเกิดการแตกออก และไข่ที่สุกก็จะตกลงมา ทำให้หลายคนอาจมีอาการปวดจี๊ด ๆ หรือปวดหน่อง ๆ ที่ท้องน้อย หรือบริเวณอุ้งเชิงกราน

     • คัดตึงเต้านม เจ็บหัวนม เกิดจากระดับฮอร์โมนในร่างกายที่มีความผันผวน ส่งผลให้หลายคนมีอาการคัดตึงเต้านม จับที่หัวนมแล้วรู้สึกเจ็บแปล๊บ ๆ หรือเวลาสัมผัสที่หัวนมจะรู้สึกเสียวเป็นพิเศษ

การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์คุณแม่

นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่สามารถสังเกตได้แล้ว ระยะไข่ตกนี้ยังสามารถสังเกตได้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น

     • มีอารมณ์ทางเพศสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 2 - 3 วันก่อนไข่ตก หลายคนจะมีความต้องการทางเพศสูงเป็นพิเศษ เนื่องจากระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในรังไข่มีปริมาณสูงขึ้น ซึ่งเป็น 'ฮอร์โมนเพศชาย' ที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมสมรรถภาพทางเพศ ช่วยเพิ่มความรู้สึกทางเพศให้มากขึ้น

     • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย หรือซึมเศร้า อารมณ์ที่แปรปรวนไปเหล่านี้ นอกจากจะพบได้ในช่วงที่เป็นประจำเดือนแล้ว ก็ยังพบได้ในช่วงที่ไข่ตกด้วยเหมือนกันค่ะ นั่นเป็นเพราะว่าช่วงที่ไข่ตกนั้นระดับฮอร์โมนในร่างกายจะผันผวน จึงส่งผลต่อระดับอารมณ์ที่แปรปรวนตามไปด้วย

ปวดหน่วงท้องน้อย ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์ เกิดจากอะไร


อาการปวดหน่วงท้องน้อยในช่วงอายุครรภ์ 2 สัปดาห์นั้น จริง ๆ ยังไม่ใช่อาการใด ๆ ที่แสดงออกว่าตั้งครรภ์ค่ะ แต่อาการปวดหน่วงท้องน้อยในระยะนี้ เป็นผลมาจากการตกไข่

โดยในช่วงก่อนที่ไข่จะตกนั้น ถุงรังไข่จะมีการขยายตัวใหญ่ขึ้น เมื่อไข่สุก ถุงรังไข่ก็จะแตกโพล๊ะ ทำให้ไข่ที่สุกแล้วตกลงมา ช่วงที่รังไข่แตกจึงอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหน่วงที่ท้องน้อยได้ค่ะ

อย่างไรก็ตาม อาการปวดหน่วงนี้ผู้หญิงบางคนก็เป็น บางคนก็ไม่เป็น หรือบางครั้งก็ปวดแค่เพียงเล็กน้อยจนแทบไม่รู้สึกตัวก็มีค่ะ

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ช่วง 2 สัปดาห์แรก


เนื่องจากในช่วงอายุครรภ์ 2 สัปดาห์นั้น ถือเป็นช่วงก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น หรือเรียกได้ว่าเป็นช่วงการเตรียมพร้อมสู่การตั้งครรภ์ ดังนั้น ในระยะนี้จึงจะยังไม่มีทั้งตัวอ่อนหรือตัวทารกอยู่ในท้องแน่นอนค่ะ

ท้อง 2 สัปดาห์ เป็นตัวหรือยัง

อายุครรภ์ 2 สัปดาห์ เป็นช่วงการตกไข่ ดังนั้น จึงยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น มีเพียงไข่ที่รอเวลาให้สุก เพื่อจะตกลงมายังท่อนำไข่และรอให้เกิดการปฏิสนธิ ส่วนมดลูกก็ยังว่างเปล่า เพราะยังไม่มีการปฏิสนธิ จึงยังไม่มีตัวอ่อนมาฝังตัวที่มดลูกค่ะ

ท้อง 2 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน

ภายในท้องของคุณแม่ในช่วงอายุครรภ์ 2 สัปดาห์นั้น จะมีเพียงไข่ ซึ่งมีขนาดเล็กมาก ๆ นอนรออยู่ในท่อนำไข่ และไข่นั้นมีอายุอยู่ได้เพียงราว ๆ 24 ชั่วโมงเท่านั้น หากไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ในช่วง 2-3 วันก่อนไข่ตก หรือไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กันในวันไข่ตก อีก 14 วันหลังจากนั้น คุณแม่ก็จะมีประจำเดือนตามปกติ

ท้อง 2 สัปดาห์ ท้องโตขนาดไหน

ในกระบวนการตั้งครรภ์จริง ๆ นั้น กว่าที่ทารกในครรภ์และมดลูกจะขยายใหญ่จนท้องนูนออกมาให้เห็นได้ชัดนั้นก็ล่วงเข้าไปถึงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์แล้วค่ะ

ดังนั้น ช่วงอายุครรภ์ 2 สัปดาห์ที่ยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นเนี่ย แทบไม่ได้ส่งผลต่อขนาดหน้าท้องของผู้หญิงเลยแม้แต่น้อยค่ะ ยกเว้นว่าช่วงนั้นกินมากผิดปกติ ก็อาจจะมีพุงเล็ก ๆ พุงหมาน้อย หรือขี้ปุ๋ม ซึ่งพุงเหล่านี้ก็ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์อยู่ดีค่ะ

อาหารคนท้อง 1 - 2 สัปดาห์แรก


อาการคนท้อง 1-2 สัปดาห์แรกนั้น จริง ๆ จะเรียกว่าเป็นอาการคนท้องก็ไม่ถูกค่ะ ช่วงนี้ควรเรียกว่าเป็นอาการไข่ตกน่าจะถูกต้องมากกว่า เพราะเป็นระยะที่ร่างกายจะมีการตกไข่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิสนธิและนำไปสู่การตั้งครรภ์

ดังนั้น หากกำลังวางแผนที่จะตั้งครรภ์อยู่ล่ะก็ ควรที่จะเริ่มปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น เริ่มออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ งดการสูบบุหรี่ งดการใช้ยาหรือสารเสพติด เพื่อให้มีภาวะเจริญพันธุ์ที่สมบูรณ์ เป็นการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์

อย่างเรื่องอาหารการกินนี้ หากวางแผนที่จะตั้งครรภ์จริง ๆ ควรเริ่มกินอาหารที่มีประโยชน์เพื่อสะสมสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น

     • โฟลิก หญิงวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับกรดโฟลิกวันละ 400 ไมโครกรัมก่อนตั้งครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะซีด หรือภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์

     • แคลเซียม มีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบสืบพันธุ์และกระตุ้นการตกไข่ให้ดีขึ้น

     • ธาตุเหล็ก นอกจากจะมีส่วนสำคัญช่วยลดความเสี่ยงของโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กแล้ว ยังมีส่วนช่วยช่วยให้การไหลเวียนของเลือดทำงานได้ดี ทำให้มดลูกแข็งแรงอีกด้วย

     • โอเมก้า 3 ช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง และมีส่วนช่วยให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายสมดุล ทั้งยังมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการตกไข่ได้ดีขึ้นด้วย

     • ดีเอชเอ การเสริมดีเอชเอก่อนตั้งครรภ์ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญค่ะ เพราะปริมาณดีเอชเอที่สะสมไว้นี้จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะคลอดก่อนกำหนดได้

ซึ่งสารอาหารเหล่านี้สามารถพบได้ในอาหารทั่วไปที่เรากินกันในชีวิตประจำวันนี่เองค่ะ นอกจากนี้ยังสามารถเสริมได้ด้วยการดื่มนม เพราะบางครั้งอาจจะมีอาการเบื่ออาหาร หรือกินอาหารได้น้อย ก็อาจจะทำให้ร่างกายได้สารอาหารจำเป็นไม่ครบถ้วน

การดื่มนมเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มพูนสารอาหารให้แก่ร่างกายได้ง่าย ๆ และนมสำหรับคนท้องนั้นก็สามารถเริ่มกินได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ด้วยค่ะ

Enfamama TAP No. 1

คำแนะนำสำหรับคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์


สำหรับว่าที่คุณแม่ที่วางแผนจะตั้งครรภ์นั้น ควรเริ่มตั้งต้นที่จะดูแลตนเองได้เลยค่ะ ไม่จำเป็นต้องรอให้ตั้งครรภ์จริง ๆ ก่อนแล้วถึงค่อยปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพราะยิ่งสภาพร่างกายสมบูรณ์และแข็งแรงมากเท่าไหร่ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้มากขึ้นได้

ไปพบแพทย์ วางแผนก่อนการตั้งครรภ์

จริงอยู่ค่ะที่ว่าถ้าวางแผนจะมีลูก แค่ตกลงกันกับคนรักก็จบแล้ว แต่...อย่าลืมว่าการตั้งครรภ์นั้นมีความเสี่ยง เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าทารกที่จะเกิดมานั้นจะมีความผิดปกติอะไรบ้าง หรือสภาวะร่างกายของคุณแม่เสี่ยงจะเกิดภาวะอันตรายอะไรหรือเปล่า

หรือมีใครเป็นหมัน หรือภาวะมีบุตรยากหรือเปล่า หรือใครมีพาหะที่จะส่งต่อไปยังทารกที่จะเกิดมาไหม การไปพบแพทย์พร้อมกันทั้งคู่เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยร่างกาย ตรวจหาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในขณะตั้งครรภ์ ก็จะเป็นตัวช่วยวางแผนอนาคตการตั้งครรภ์ได้ดีทีเดียว

ยิ่งเริ่มรับประทานโฟลิกเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น

เมื่อไปพบแพทย์ ทุกอย่างลงตัว การตั้งครรภ์ไม่มีความเสี่ยง หรือความเสี่ยงน้อย สุขภาพของทั้งคู่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ ก็ควรที่จะเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เพื่อเสริมภาวะเจริญพันธุ์ให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์

โดยหนึ่งในสารอาหารสำหรับว่าที่คุณแม่ที่กำลังวางแผนจะมีลูกควรจะต้องเริ่มสะสมเอาไว้ตั้งแต่ก่อนจะตั้งท้องก็คือ โฟลิก หรือโฟเลต ซึ่งมีส่วนช่วยลดความบกพร่องของท่อประสาทไขสันหลัง ลดความพิการของทารกในครรภ์

ดังนั้น หากสามารถเริ่มสะสมได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ก็จะยิ่งลดความเสี่ยงของความบกพร่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและสมองของลูกได้ค่ะ

หลีกเลี่ยงสารเสพติด เพื่อลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์

สารเสพติดนอกจากจะไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ และทำให้สมรรถภาพทางเพศแย่ลงแล้ว ยังเพิ่มโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ ทั้งการคลอดก่อนกำหนด การแท้ง หรือทารกมีความพิการแต่กำเนิด

งดบุหรี่และแอลกอฮอล์ เสริมภาวะการเจริญพันธุ์

สำหรับผู้ชายแอลกอฮอล์และสารพิษจากบุหรี่ มีส่วนในการทำลายอสุจิ ทำให้อสุจิไม่แข็งแรง หรือเสื่อมสภาพ สำหรับผู้หญิงก็จะมีผลต่อการตกไข่ ทำให้ไข่ไม่สมบูรณ์ หรือไข่ไม่ตก ซึ่งเมื่อไข่และอสุจิไม่สมบูรณ์ การปฏิสนธิก็เป็นไปได้ยาก ทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดลง

ทำจิตใจให้สบาย ลดความเครียด

ความเครียดนอกจากจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ ทำให้สมรรถภาพทางเพศถดถอย การตกไข่ผิดปกติ ไข่ไม่สมบูรณ์ ประจำเดือนผิดปกติ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดลง

หรือต่อให้สามารถตั้งครรภ์ได้สำเร็จ คุณแม่ก็จะมีความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์อื่น ๆ ตามมา เช่น การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด อันเป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงของสารชีวเคมีในร่างกายขณะเครียด

ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์กับ Enfa Smart Club


ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์ เริ่มนับตอนไหน?

การนับอายุครรภ์ในทางการแพทย์นั้น จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุดค่ะ ซึ่งเมื่อนับมาจนครบ 2 สัปดาห์ ก็จะเป็นช่วงที่ร่างกายอยู่ในกระบวนการตกไข่ จึงยังไม่ถือว่าช่วงนี้เป็นระยะการตั้งครรภ์ แต่จะถูกนำมานับรวมเป็นอายุครรภ์ทันทีเมื่อตรวจพบการตั้งครรภ์ค่ะ

คนท้อง 2 สัปดาห์ จะรู้ตัวว่าท้องหรือยัง?

อายุครรภ์ 2 สัปดาห์ ยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น เพราะเป็นช่วงระยะไข่ตกเท่านั้น ดังนั้น จึงยังไม่มีอาการคนท้องหรือสัญญาณคนท้องใด ๆ เกิดขึ้นมาในช่วงนี้ จะมีก็แค่เพียงอาการไข่ตกค่ะที่สามารถสังเกตได้

ปวดหน่วงท้องน้อย ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์ ผิดปกติไหม?

อาการปวดหน่วงท้องน้อยในช่วงอายุครรภ์ 2 สัปดาห์นั้น จริง ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการตั้งครรภ์ค่ะ แต่เกิดขึ้นจากการตกไข่ โดยในช่วงก่อนไข่ตกนั้นถุงรังไข่จะมีการขยายตัวใหญ่ขึ้น เมื่อถึงเวลาไข่ตก ถุงรังไข่ก็จะแตกให้ไข่หลุดออกมายังท่อนำไข่ ช่วงที่ถุงรังไข่แตกนี้จึงอาจทำให้รู้สึกปวดหน่วงท้องน้อย หรือเจ็บจี๊ด ๆ ที่ท้องน้อยได้ค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

Triferdine คืออะไร? มารู้จักกับยาเม็ดเสริมไอโอดีนกัน!
foods-to-avoid-during-pregnancy
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner