ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 8 สัปดาห์ อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 8 สัปดาห์ อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ ขนาดทารกจะอยู่ที่ประมาณ 0.63 นิ้ว หนักประมาณ 1.1 กรัม มีขนาดเท่ากับผลราสป์เบอร์รี หรือมีขนาดประมาณถั่วแดง
  • อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ ลักษณะของตัวอ่อนในครรภ์จะดูคล้ายกับลักษณะของทารกแรกเกิดมากขึ้นค่ะ เริ่มมีแขนขา นิ้วมือนิ้วเท้าเล็ก ๆ กระดูกและกล้ามเนื้อก็เริ่มสร้างขึ้นจนเกือบจะสมบูรณ์แล้ว
  • อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ สามารถอัลตราซาวนด์พบทั้งตัวอ่อนและยังสามารถตรวจพบอัตราการเต้นหัวใจของทารกได้ด้วย

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 8 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 8
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 8 สัปดาห์
     • อาการคนท้อง 8 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • อาหารคนท้อง 8 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อัลตราซาวนด์ในสัปดาห์ที่ 8
     • มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ ถือว่าคุณแม่ตั้งครรภ์จนครบ 2 เดือนแล้วค่ะ และเข้าสู่ช่วงกลางไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งคนท้อง 8 สัปดาห์นี้เริ่มจะมีเรื่องให้ต้องคอยไปพบแพทย์มากขึ้น ทั้งยังอาจมีความผิดปกติที่จะเริ่มสามารถตรวจพบได้เมื่อตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ด้วย

ท้อง 8 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


สำหรับคนท้อง 8 สัปดาห์ หากตอนอายุครรภ์ 7 สัปดาห์ยังไม่มีอาการแพ้ท้อง ช่วงนี้แหละค่ะของจริง คุณแม่หลายคนจะเริ่มมีอาการคนท้องและอาการแพ้ท้องมากขึ้น ส่วนคนที่แพ้ท้องอยู่แล้วอาจรู้สึกว่ามีอาการแพ้ท้องมากขึ้นกว่าเดิมอีก ขณะที่ทารกเริ่มมีการสร้างนิ้วมือนิ้วเท้า ทั้งยังสามารถอัลตราซาวนด์เห็นตัวอ่อนได้ชัดเจนขึ้นด้วย

ท้อง 8 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่หลายคนอาจสงสัยว่าตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือนกันนะ? ซึ่งเมื่อนับอายุครรภ์เป็นเดือน จะเท่ากับว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ครบ 2 เดือนแล้วค่ะ และกำลังจะก้าวเข้าสู่เดือนสุดท้ายของไตรมาสแรกในอีกไม่กี่วันนี้

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์สัปดาห์ที่ 8 เป็นอย่างไร


ท้อง 8 สัปดาห์ ขนาดตัวอ่อน ขนาดเท่าไหน

ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ ขนาดทารกจะอยู่ที่ประมาณ 0.63 นิ้ว หนักประมาณ 1.1 กรัม มีขนาดเท่ากับผลราสป์เบอร์รี หรือมีขนาดประมาณถั่วแดงเท่านั้นเองค่ะ

อวัยวะและระบบต่าง ๆ

อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ ลักษณะของตัวอ่อนในครรภ์จะดูคล้ายกับลักษณะของทารกแรกเกิดมากขึ้นค่ะ เพราะเริ่มมีแขนขา นิ้วมือนิ้วเท้าเล็ก ๆ กระดูกและกล้ามเนื้อก็เริ่มสร้างขึ้นจนเกือบจะสมบูรณ์แล้ว

ขณะที่ลักษณะของใบหน้านั้นยังคงอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อไปอีกสักพักถึงจะเริ่มมีเค้าโครงที่ชัดเจน มากไปกว่านั้น ตัวอ่อนในระยะนี้ยังเริ่มสร้างระบบต่าง ๆ และอวัยวะที่สำคัญอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น

          • เริ่มกระบวนการสร้างระบบทางเดินหายใจ

          • ระบบประสาทเริ่มมีการเชื่อมโยงกันไปทั่วทั้งร่างกาย

          • ต่อมรับรสของทารกเริ่มก่อตัวขึ้น

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 8 สัปดาห์


ท้อง 8 สัปดาห์ ขนาดท้องของคุณแม่ยังไม่ขยายค่ะ แม้ว่ามดลูกจะมีการขยายตัวมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้ขยายใหญ่มากพอที่จะดันให้หน้าท้องนูนขึ้นมาจนเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม มีคุณแม่หลายคนที่อาจรู้สึกว่าเสื้อผ้าไซซ์ที่ใส่เป็นประจำเริ่มพอดีตัวมากขึ้น หรือมีน้ำหนักขึ้นประมาณ 1 - 2 กิโลกรัม

แต่...ก็มีคุณแม่หลายคนค่ะที่น้ำหนักตัวลดลงเพราะมีอาการแพ้ท้องรุนแรงจนกินอาหารได้น้อย และส่งผลกระทบต่อการพักผ่อน คุณแม่บางคนจึงอาจดูซูบลงนิดหน่อยในระยะนี้ค่ะ

อาการคนท้อง 8 สัปดาห์ เป็นแบบไหน


อาการแม่ท้อง 8 สัปดาห์ ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

         • เต้านมมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งรู้สึกว่าเจ็บเต้านม หรือหัวนม รวมไปถึงยังรู้สึกได้ด้วยว่าเต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากต่อมน้ำนมที่เริ่มก่อตัวขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสร้างน้ำนมสำหรับทารก

         • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า เพราะร่างกายมีการผลิตเลือดเพื่อส่งไปยังทารกในครรภ์มากขึ้น บวกกับระดับฮอร์โมนที่ผันผวนมากในช่วงนี้ ทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลียง่าย

         • อาการแพ้ท้องรุนแรง ความผันผวนของฮอร์โมนในร่างกายช่วงนี้ส่งผลให้คุณแม่หลายคนเริ่มมีอาการแพ้ท้อง หรือมีอาการแพ้ท้องหนักมาก จำเป็นต้องดูแลตัวเองให้ดี หากอาการแพ้ท้องรุนแรงจนกินอาหารไม่ได้หรือนอนไม่หลับบ่อย ๆ ควรไปพบแพทย์ เพราะจะส่งผลเสียต่อสุขภาพแม่และเด็กได้ค่ะ

         • ต่อมรับรสและการรับกลิ่นเปลี่ยนไป จากกลิ่นที่ชอบ อาหารที่ชอบ อาจเริ่มไม่ชอบ หรือกลิ่นบางอย่างที่ไม่ได้เหม็น หรือไม่มีกลิ่น คนท้องอาจรู้สึกว่าเหม็นจนแทบอาเจียน

         • ปวดหน่วงท้อง เกิดจากมดลูกและเส้นเอ็นในช่องท้องมีการขยายตัว ทำให้คุณแม่อาจรู้สึกปวดหน่วงที่ท้องบ้างเป็นระยะ

         • ท้องผูก ระดับฮอร์โมนที่ผันผวนมากในช่วงนี้ จะส่งผลต่อการทำงานที่ช้าลงของลำไส้ ขณะเดียวกันมดลูกก็เริ่มขยายตัว อาจส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะใกล้เคียงอย่างลำไส้ จึงก่อให้เกิดอาการท้องผูกได้ง่าย

         • ท้องอืด ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ส่งผลให้การย่อยอาหารทำได้ช้าลง จนรู้สึกท้องอืด

         • ปัสสาวะบ่อย ระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เพิ่มขึ้น ทำให้ไตต้องทำงานหนักตามไปด้วย จึงส่งผลกระทบทำให้ไตต้องสร้างปัสสาวะออกมามากขึ้น ทำให้คุณแม่มีอาการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่จะพบกับอาการคนท้องและอาการแพ้ท้อง ยังมีคุณแม่อีกหลายคนที่มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีอาการใด ๆ เลย ซึ่งไม่ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใด และยังถือว่าโชคดีด้วยซ้ำที่ไม่ต้องทรมานกับอาการแพ้ท้องที่รุนแรง ทำให้สามารถดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงได้ง่าย เพราะไม่ต้องกังวลกับอาการแพ้ท้องที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

ท้อง 8 สัปดาห์ อาการแพ้ท้องหายไป แบบนี้ปกติไหมนะ

คุณแม่แต่ละคนมีระดับอาการแพ้ท้องที่แตกต่างกันไปค่ะ บางคนอาจแพ้ท้องมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 6 แล้ว พอถึงสัปดาห์ที่ 8 อาการแพ้ท้องกลับทุเลาลง และค่อย ๆ หายไป ขณะที่คุณแม่หลายคนเพิ่งเริ่มมีอาการแพ้ท้องในระยะนี้ และอาการแพ้ท้องเริ่มรุนแรงขึ้นก็เป็นไปได้เช่นกัน

ซึ่งอาการแพ้ท้องนั้นไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่าการตั้งครรภ์ผิดปกติหรือไม่ผิดปกติค่ะ และถ้าให้คุณแม่หลายคนเลือก แน่นอนว่าเสียงข้างมากก็ขอเลือกให้มีอาการแพ้ท้องแค่เล็กน้อย หรือไม่มีอาการแพ้ท้องเลยจะดีกว่า

อาหารคนท้อง 8 สัปดาห์ ต้องกินอะไรบ้าง


แม่ท้อง 8 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ คือ

         • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

         • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

         • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

         • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

         • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

         • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

         • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บางวันคุณแม่อาจกินอาหารได้น้อย หรือมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ได้รับอาหารได้ไม่ตรงตามที่ต้องการในแต่ละวัน หรือมีอาการแพ้อาหาร เป็นต้น คุณแม่สามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ

โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ อัลตราซาวนด์ ดูอะไรบ้างนะ


หากคุณแม่ยังไม่เคยอัลตราซาวนด์เลยจนกระทั่งอายุครรภ์ 8 สัปดาห์ อัลตราซาวนด์ครั้งแรกนี้จะทำให้คุณแม่หัวใจพองโตมากค่ะ เพราะจะสามารถเห็นตัวอ่อนที่เริ่มมีลักษณะโค้งงอคล้ายกับทารกขนาดเต็มวัย และยังอาจตรวจจับอัตราการเต้นหัวใจของทารกในครรภ์ได้ด้วย

ท้อง 8 สัปดาห์ ไม่เห็นตัวอ่อน ปกติไหม

ไปอัลตราซาวนด์ตอนท้อง 8 สัปดาห์ เจอแต่ถุงไข่แดง ไม่เจอตัวอ่อนเลย กรณีนี้แบบนี้ยังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่ามีความผิดปกติค่ะ แพทย์จะนัดให้คุณแม่มาทำการตรวจอัลตราซาวนด์ในครั้งต่อไป เพื่อวินิจฉัยกันอีกครั้งว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติไหม

ส่วนในกรณีที่ผิดปกติ โดยมากแล้วหากอัลตราซาวนด์ไม่พบตัวอ่อนในระยะนี้ ถือว่ามีโอกาสสูงที่จะเป็นท้องลม หรือท้องนอกมดลูกค่ะ

อย่างไรก็ตาม แพทย์จะไม่วินิจฉัยทันทีจากการอัลตราซาวนด์เพียงครั้งเดียว แต่จะมีการติดตามผลในครั้งต่อ ๆ ไป เพื่อดูว่าขนาดถุงตั้งครรภ์โตขึ้นไหม ซึ่งก็มีหลายกรณีมากที่ตรวจไม่พบตัวอ่อนในอายุครรภ์ 8 สัปดาห์ แต่หลังจากนั้นก็ตรวจพบถุตั้งครรภ์ที่ขยายขึ้น และพบตัวอ่อนตามปกติค่ะ

ท้อง 8 สัปดาห์ ไม่เห็นหัวใจ น่ากังวลไหม

อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ หัวใจเต้น และเริ่มเห็นอัตราการเต้นของหัวใจได้จริง แต่...ก็ไม่เสมอไปค่ะ เพราะบางครั้งก็อาจจะยังตรวจไม่พบ จึงเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าทารกเสียชีวิต หรือเป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ

คุณแม่ควรรอตรวจอัลตราซาวนด์ในครั้งถัดไปเพื่อที่แพทย์จะได้รวบรวมข้อมูลประกอบการวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้นว่าทารกในครรภ์เสียชีวิตไปแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่

ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยากที่จะทำใจให้สบายและไม่เครียด แต่คุณแม่ก็ต้องพยายามค่ะ เพราะถ้ายิ่งเครียด หรือวิตกกังวลมากไป จะยิ่งส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ และอาจเกิดการแท้งขึ้นมาได้จริง ๆ ให้รอตรวจอัลตราซาวนด์ในครั้งถัดไปก่อนค่ะ เพราะอาจจะตรวจพบหัวใจของทารกในครั้งหน้าก็ได้ค่ะ

ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่?


ช่วงอายุครรภ์ 8 สัปดาห์นี้ ไม่ใช่แค่อาการคนท้องและอาการแพ้ท้องเท่านั้นนะคะที่คุณแม่สามารถสังเกตได้ เพราะคุณแม่ยังสามารถสังเกตได้ถึงความผิดปกติบางอย่างในช่วงนี้ด้วย

ซึ่งอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์นั้นอาจเป็นเรื่องปกติหรือเป็นสัญญาณของความผิดปกติก็ได้ ดังนั้น หากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ท้อง 8 สัปดาห์ มีเลือดออกสีน้ำตาล

เป็นเรื่องปกติค่ะที่คุณแม่จะมีอาการกังวลเวลาที่มีเลือดออกในขณะตั้งครรภ์ เพราะโดยมากแล้วหากมีเลือดออกตอนท้อง ก็มักจะเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ โดยเฉพาะการมีเลือดออกในอายุครรภ์ 8 สัปดาห์ อาจเสี่ยงที่จะมีการแท้งเกิดขึ้นก็ได้

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คุณแม่มีเลือดออกสีน้ำตาล ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและอัลตราซาวนด์ว่าเลือดสีน้ำตาลที่ไหลออกมานี้เกิดจากอะไร เพราะอาจเป็นไปได้หลายกรณี เช่น

           • เมื่ออัลตราซาวนด์แล้วพบว่าตัวอ่อนยังมีชีวิต ถุงตั้งครรภ์และถุงไข่แดงยังอยู่ครบตามปกติ เลือดสีน้ำตาลที่ไหลออกมานี้ มักไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ค่ะ

           • กรณีที่มีเคยอัลตราซาวนด์แล้วไม่พบความผิดปกติ แต่คุณแม่ยังมีเลือดสีน้ำตาลออกมาไม่หยุด ควรกลับไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมว่ามีความผิดปกติที่มดลูกหรือเปล่า เพื่อจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

           • บางครั้งเลือดสีน้ำตาลที่ไหลออกมา อาจเป็นเพียงเลือดเก่าที่คั่งค้างอยู่ภายในช่องคลอด และเพิ่งไหลออกมา ซึ่งโดยมากจะไม่ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ค่ะ

           • อาจจะเป็นการแท้งค้าง คือ แท้งไปแล้ว แต่ตัวอ่อนหรือทารกยังตกค้างอยู่ในครรภ์และยังไม่หลุดออกมา อาจทำให้มีของเหลวที่คล้ำไหลปะปนออกมากับเลือด ซึ่งกรณีนี้หากคุณแม่ไม่ได้ไปฝากครรภ์ และไม่ได้มีการตรวจอัลตราซาวนด์ครรภ์ ก็มักจะไม่รู้ตัวว่ามีการแท้งเกิดขึ้น

           • ในบางครั้งอาจเป็นสัญญาณของภาวะแท้งคุกคาม ซึ่งมักจะมีเลือดไหลออกมาทางช่องคลอดแม้ว่าปากมดลูกยังปิดอยู่ โดยเลือดนั้นอาจมีสีน้ำตาล หรือสีแดงสดก็ได้ค่ะ

ท้อง 8 สัปดาห์ ปวดท้องหน่วง ๆ

หากคุณแม่มีอาการปวดท้องหน่วง ๆ ในช่วงนี้ ถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ เพราะขนาดของมดลูกที่ขยายตัวใหญ่ขึ้น ทำให้เส้นเอ็นต่าง ๆ ในท้องก็ต้องมีการขยายยืดออกตามไปด้วย คุณแม่จึงอาจมีอาการปวดหน่วงที่ท้องได้ค่ะ

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดท้องติดต่อกัน ปวดท้องรุนแรง ปวดท้องไม่หยุด หรือมีอาการเลือดออกร่วมด้วย ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ท้อง 8 สัปดาห์ มีเลือดออกนิดนึง

เลือดออกเล็กน้อยในช่วงอายุครรภ์ 8 สัปดาห์ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุค่ะ เช่น

           • เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์
           • การแท้งบุตร
           • การท้องนอกมดลูก
           • ภาวะแท้งคุกคาม

ซึ่งดีที่สุดสำหรับกรณีเช่นนี้ ให้คุณแม่ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยดูค่ะว่าเลือดที่ออกมานิดหนึ่งนี้ เกิดจากอะไร มีสาเหตุมาจากภาวะอันตรายขณะตั้งครรภ์หรือไม่

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

มากไปกว่านั้น หากยังไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ ให้รีบไปฝากครรภ์ทันที เพื่อจะได้เข้าสู่กระบวนการตรวจครรภ์และติดตามการตั้งครรภ์ไปจนกระทั่งคลอด

ฝากครรภ์และตรวจสุขภาพ

หากยังไม่เคยไปฝากครรภ์ และมาเริ่มฝากครรภ์ตอนท้องได้ 8 สัปดาห์ คุณแม่ก็จะได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์ครั้งแรกเพื่อดูว่าถุงตั้งครรภ์มีขนาดเท่าไหร่ มองเห็นถุงไข่แดงไหม มองเห็นตัวอ่อนไหม และมองเห็นอัตราการเต้นหัวใจของทารกไหม

ซึ่งการฝากครรภ์และการตรวจสุขภาพนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ค่ะ เพราะแพทย์จะได้มีข้อมูลประกอบการวินิจฉัยและประเมินความเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ว่ายังปกติไหม หรือเริ่มมีสัญญาณความผิดปกติไหม โดยแพทย์จะติดตามการตั้งครรภ์ของคุณแม่ได้อย่างใกล้ชิด ตลอดจนช่วยดูแลและป้องกันในกรณีที่คุณแม่อาจตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงขณะตั้งครรภ์

น้ำหนักช่วงตั้งครรภ์

อายุครรภ์ 8 สัปดาห์นี้ น้ำหนักตัวของคุณแม่จะยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนักค่ะ อย่างไรก็ตาม คุณแม่บางคนอาจมีน้ำหนักขึ้น 1-2 กิโลกรัมในช่วงนี้ แต่คุณแม่อีกหลายคนอาจพบว่ามีอาการแพ้ท้องรุนแรง กินไม่ได้ นอนก็ไม่ค่อยหลับ ทำให้น้ำหนักลดลง ก็เป็นไปได้เช่นกัน

ซึ่งน้ำหนักคนท้องกับการตั้งครรภ์นี้ถือว่าเป็นอีกเรื่องสำคัญที่คุณแม่จะต้องคอยดูแลให้ดี เพราะน้ำหนักตัวของแม่ที่มากหรือน้อยเกินไปจะส่งผลต่อขนาดของทารกในครรภ์ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดด้วย

คำนวณวันกำหนดคลอด

การคำนวณวันคลอดนั้น แพทย์จะใช้ข้อมูลหลายส่วนประกอบกันค่ะ ก่อนอัลตราซาวนด์ แพทย์จะคำนวณจากวันแรกที่มีประจำเดือน มาจนถึงวันที่ตรวจพบการตั้งครรภ์ เพื่อให้สามารถคำนวณอายุครรภ์ได้คร่าว ๆ ว่าขณะนี้ท้องได้กี่สัปดาห์ และอีกกี่สัปดาห์จะมีการคลอด

แต่ถ้าคุณแม่มาตรวจครรภ์และฝากครรภ์ครั้งแรกตอนอายุครรภ์ 8 สัปดาห์ และแพทย์ได้มีการตรวจอัลตราซาวนด์ กรณีนี้แพทย์ก็จะใช้ข้อมูลจากขนาดของถุงตั้งครรภ์และขนาดตัวอ่อนมาใช้ในการคำนวณอายุครรภ์และคำนวณวันคลอดค่ะ

ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


ท้อง 8 สัปดาห์ ใหญ่แค่ไหนกันนะ?

ทารกในครรภ์และขนาดมดลูกในช่วงอายุครรภ์ 8 สัปดาห์ ยังไม่ได้มีขนาดใหญ่มากพอที่จะดันท้องของคุณแม่ให้นูนออกมาได้ค่ะ ดังนั้น ในช่วงนี้ขนาดหน้าท้องของคุณแม่จึงยังไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็นอยู่

ภาวะท้องลมจะรู้ตอนไหน?

ภาวะท้องลมอาจสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 6-7 สัปดาห์ หรือตรวจพบตั้งแต่การอัลตราซาวนด์ครั้งแรก อย่างไรก็ตาม บางครั้งอาจมาตรวจพบอย่างชัดเจนเมื่ออายุครรภ์ 8 สัปดาห์ขึ้นไปก็มีค่ะ

ท้อง 8 สัปดาห์ ลูกดิ้นหรือยัง?

อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ ทารกมีขนาดเท่าผลราสป์เบอร์รีเท่านั้นเองค่ะ คุณแม่จึงจะยังไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวใด ๆ ของทารกในอายุครรภ์ 8 สัปดาห์

อาการท้อง 8 สัปดาห์ มีอาการเป็นแบบไหน?

อาการคนท้อง 8 สัปดาห์ สามารถพบได้หลายอาการค่ะ ไม่ว่าจะเป็น

          • เต้านมมีการเปลี่ยนแปลง รู้สึกว่าเจ็บเต้านม หรือหัวนม และยังรู้สึกได้ด้วยว่าเต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น

          • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าได้ง่าย

          • อาการแพ้ท้องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน

          • ต่อมรับรสและการรับกลิ่นเปลี่ยนไป จากกลิ่นที่ชอบ อาหารที่ชอบ อาจเริ่มไม่ชอบ หรือรู้สึกว่ามีกลิ่นที่เหม็นผิดปกติ

          • ปวดหน่วงท้อง เกิดจากมดลูกและเอ็นในช่องท้องมีการขยายตัว ทำให้คุณแม่อาจรู้สึกปวดหน่วงที่ท้องบ้างเป็นระยะ

          • ท้องผูกง่าย

          • ท้องอืด กรดไหลย้อน

          • ปัสสาวะบ่อย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่จะพบกับอาการคนท้องนะคะ และอาการคนท้องในแม่แต่ละคนก็ต่างกันไป บางคนเป็นมาก บางคนเป็นน้อย และบางคนไม่มีอาการอะไรเลย ซึ่งก็ไม่ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ

รับมืออย่างไรเมื่อท้อง 8 สัปดาห์ เวียนหัว คลื่นไส้บ่อย?

หากคุณแม่มีอาการเวียนหัว และคลื่นไส้บ่อย อาจสามารถรับมือกับอาการดังกล่าวได้ ดังนี้

          • ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ และช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลียและวิงเวียนศีรษะได้

          • จิบชาหรือน้ำอุ่น หรือน้ำขิงสด สามรถช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะได้

          • พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะยิ่งพักผ่อนน้อย ยิง่ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ส่งผลต่ออาการวิงเวียนศีรษะหรือคลื่นไส้ได้ง่าย

          • กินอาหารให้เพียงพอ หรือกินอาหารว่างให้บ่อยขึ้น เพราะหากกินอาหารได้น้อย จะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้รู้สึกเวียนหัวได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม หากอาการเวียนหัวและคลื่นไส้นั้นรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยจนส่งผลกระทบต่อการกิน ทำให้กินได้น้อย หรือทำให้นอนไม่หลับบ่อย ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไปค่ะ เพราะถ้าหากปล่อยเอาไว้จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

แคลเซียมคนท้อง จำเป็นแค่ไหน เสริมแคลเซียมยังไงให้พอดี
อัลตราซาวนด์ 4 มิติ คืออะไร ดีกว่าการซาวนด์แบบอื่นยังไง
อาหารเสริมคนท้อง จำเป็นไหม แม่ท้องควรกินวิตามินอะไรบ้าง
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner