ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
belly-button-changes-during-pregnancy

สะดือคนท้อง เปลี่ยนแปลงอย่างไร สะดือคนท้อง บอกเพศลูกได้จริงไหม

Enfa สรุปให้

  • เมื่อตั้งครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่สองและสาม มดลูกจะขยายตัวใหญ่ขึ้นรองรับการเจริญเติบโตของทารก ทำให้ท้องโตขึ้น และสะดือขยายตัวใหญ่ขึ้นจนนูนออกมาอย่างเห็นได้ชัด
  • สะดือคนท้องที่ใหญ่ขึ้น หรือสะดือจุ่นตอนท้อง เป็นเรื่องปกติของการตั้งครรภ์ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงต่อคุณแม่และทารกในครรภ์แต่อย่างใด
  • ในกรณีที่คุณแม่มีอาการเจ็บสะดือ อาจเกิดจากการเสียดสีของสะดือกับเสื้อผ้า หรืออาจเกิดจากไส้เลื่อนที่สะดือ หรืออาจเกิดจากอาการปวดท้องที่ลามมาถึงบริเวณสะดือ หากปวกรุนแรง รีบไปพบแพทย์

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • สะดือของคนท้อง บอกอะไร
     • คนท้องเจ็บสะดือ อันตรายไหม
     • ลักษณะสะดือคนท้อง บอกเพศลูกตามความเชื่อโบราณ

ตลอดระยะเวลา 9 เดือน คนท้องจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายมากมาย หนึ่งในนั้นคือรูปร่างของสะดือ แต่สะดือคนท้องจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง แล้วหลังคลอดลูกสะดือคนท้องจะกลับมาเป็นปกติไหม ให้บทความนี้จาก Enfa ตอบให้เลยดีกว่าค่ะ

สะดือคนท้องในแต่ละช่วงเวลาของการตั้งครรภ์บอกอะไรได้บ้าง


หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนขณะตั้งครรภ์คือสะดือของคนท้อง เมื่อถึงไตรมาสสองและสาม สะดือจะค่อย ๆ ขยายตัวใหญ่ขึ้น นูนออกมามากขึ้น ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของมดลูกภายในท้องทำให้กล้ามเนื้อและผิวหนังที่หน้าท้องขยายตัวมากขึ้นตามไปด้วย และดันให้สะดือนูนใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สะดือคนท้อง 1 สัปดาห์

สะดือคนท้องระยะแรกนั้นไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงค่ะ สะดือก่อนตั้งครรภ์เป็นอย่างไร สะดือคนเริ่มท้องก็จะยังคงสภาพเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากขนาดของมดลูกยังไม่ได้ขยายตัวจนดันให้หน้าท้องและสะดือนูนออกมา

สะดือคนท้อง 1 เดือน - 3 เดือน

สะดือคนท้องไตรมาสแรกนี้ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นค่ะ และในความเป็นจริงก็ยังไม่สามารถมองออกอย่างชัดเจนด้วยว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ รูปร่างของคุณแม่ไตรมาสแรกนั้นแทบจะเป็นปกติเหมือนไม่ได้ตั้งท้องเลยค่ะ

สะดือคนท้อง 4 เดือน - 6 เดือน

ช่วงไตรมาสสองนี้สะดือคนท้องหลาย ๆ คนจะเริ่มมีการนูนและขยายใหญ่ขึ้นบ้างเล็กน้อย แต่ช่วงแรก ๆ จะยังไม่ขยายใหญ่จนเห็นได้ชัดนักหรอกค่ะ เพราะขนาดท้องยังไม่ได้นูนโตออกมามากนัก แต่เมื่อเข้าช่วงปลายไตรมาสสอง ช่วงนี้แหละค่ะที่ลักษณะของสะดือจะเริ่มเปลี่ยนแปลงจนเห็นได้ชัด  

สะดือคนท้อง 7 เดือน - 9 เดือน

สะดือคนท้องไตรมาสสาม จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยค่ะว่าใหญ่ขึ้น นูนขึ้น คล้ายกับสะดือจุ่น ซึ่งบางครั้งแม้ว่าจะสวมเสื้อผ้าก็ยังสามารถมองเห็นรูปร่างของสะดือได้อย่างชัดเจนค่ะ

คนท้องเจ็บสะดือ อันตรายไหม ทำไมเจ็บสะดือจี๊ด ๆ ตอนตั้งครรภ์


ถือเป็นเรื่องปกติมาก ๆ ของคนท้องที่สะดือจะขยายตัวใหญ่ขึ้น นูนขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงของสะดือนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ เลยค่ะ คุณแม่สบายใจได้

อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็พบว่ามีคุณแม่หลายคนที่มีอาการเจ็บสะดือ ซึ่งลักษณะแบบนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุค่ะ เช่น

สะดือเป็นอวัยวะส่วนที่บอบบางมาก เมื่อขยายตัวออกจึงทำให้เกิดการสัมผัสและเสียดสีกับเสื้อผ้าได้ง่ายขึ้น จึงรู้สึกเจ็บจี๊ด ๆ ขึ้นมาได้

อาการเจ็บสะดือคนท้องนั้นมีสาเหตุมาจากคุณแม่เป็นไส้เลื่อนที่สะดือ ทำให้สะดือเลื่อนออกมามากผิดปกติ และปวดท้องบริเวณรอบ ๆ สะดือ

คุณแม่อาจมีอาการปวดท้องทำให้รู้สึกเจ็บลามมาถึงบริเวณสะดือ ซึ่งหากอาการปวดไม่ทุเลา หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด หรือทารกเริ่มไม่ดิ้น คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

คนท้องสะดือจุ่น ต้องกังวลไหม

คนท้องสะดือจุ่น ไม่มีอะไรให้ต้องกังวลค่ะ หรือถ้าก่อนหน้านั้นไม่ได้มีสะดือจุ่น แต่เพิ่งมาเกิดขึ้นตอนตั้งครรภ์ ก็ไม่ใช่สัญญาณผิดปกติแต่อย่างใด  

แต่เกิดขึ้นเพราะมดลูกขยายตัวใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับขนาดตัวของทารกที่โตขึ้น จึงดันผนังหน้าท้อง และดันสะดือให้ขยายนูนออกมา ซึ่งสะดือจุ่นที่เกิดขึ้นช่วงไตรมาสที่ 2-3 นี้เป็นเรื่องธรรมชาติของการตั้งครรภ์ และสามารถจะหายกลับมาเป็นสะดือรูปร่างปกติแต่เดิมได้หลังคลอดค่ะ

คนท้องเจาะสะดือได้ไหม ถ้าแม่เคยเจาะสะดือมาก่อน ควรเลิกเจาะหรือไม่

คนท้องไม่ควรทำการเจาะอวัยวะ หรือสักใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าหากเจาะสะดือ หรือเจาะอวัยวะมาก่อนแล้ว ให้ทำการถอดออกทั้งหมด เนื่องจากขณะตั้งครรภ์ คุณแม่จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย หากอุปกรณ์ที่ใช้เจาะไม่สะอาด หรือรักษาความสะอาดไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้  

มากไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ก็ทำให้คุณแม่มีอาการไวต่อการสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ง่ายขึ้นด้วย คุณแม่อาจจะมีอาการแพ้ทองคำ สแตนเลส หรือนิกเกิลที่ใช้เจาะสะดือได้

ดังนั้น ควรงดการเจาะอวัยวะต่าง ๆ ขณะตั้งครรภ์ ส่วนคุณแม่ท่านใดที่เจาะมาก่อนแล้ว แนะนำให้ถอดออกก่อนจะปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่านะคะ

ลักษณะสะดือคนท้อง บอกเพศลูกตามความเชื่อโบราณจริงไหม?


คนโบราณมีความเชื่อกันว่า รูปร่าง ลักษณะสะดือของคนท้องนั้น สามารถที่จะบอกเพศลูกได้ค่ะ ซึ่งแน่นอนว่าในทางการแพทย์นั้น สะดือ กับ เพศของทารก ไม่มีความเชื่อมโยงกัน จึงไม่สามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการบอกเพศลูกอย่างแม่นยำได้นะคะ

อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถลองทายกันดูเล่น ๆ ได้ ไม่มีอะไรเสียหาย เป็นการลุ้นล่วงหน้าว่าใครจะทายแม่นกว่ากัน

สะดือคนท้องลูกสาว

สะดือ ลักษณะคนท้องลูกผู้หญิง จะสังเกตได้จากสะดือด้านบนจะยื่นออกมา มองดูแล้วคล้ายกับสะดือคว่ำลง และท้องจะออกมาเป็นทรงกลม หากเข้าตำรานี้ คนโบราณเชื่อว่าจะได้ลูกสาวค่ะ

สะดือคนท้องลูกผู้ชาย

สะดือคนท้องที่สะดือด้านล่างยื่นออกมา มองดูแล้วเหมือนสะดือหงายขึ้น และท้องออกมาเป็นทรงแหลม ไม่กลม ลักษณะแบบนี้ คนโบราณเชื่อว่าคุณแม่กำลังตั้งท้องลูกผู้ชายค่ะ

คนท้องสะดือคว่ำ สะดือหงาย หมายถึงอะไร

สะดือคว่ำ กับ สะดือหงาย เป็นลักษณะการกำหนดเพศลูกตามความเชื่อของคนโบราณ ถ้าสะดือคว่ำแปลว่าได้ลูกสาว แต่ถ้าสะดือหงาย แปลว่าได้ลูกชาย

ซึ่งการคว่ำหงายของสะดือนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งการตัดสายสะดือ การดูแลสะดือตั้งแต่ตอนตัดสายสะดือใหม่ ๆ สภาพผิวหนังของแต่ละคน กรรมพันธุ์ หรือเคยเป็นไส้เลื่อนที่สะดือมาก่อน เป็นต้น  

ดังนั้น สะดือจะคว่ำจะหงาย จึงไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเพศของลูกค่ะ  

อนาคตที่ดีที่สุดของลูก เริ่มต้นด้วยโภชนาการผ่านคุณแม่ 

เด็กจะเติบโตมาแข็งแรง มีสุขภาพดี ฉลาด มีไอคิวที่สมวัยได้ พื้นฐานต้องเริ่มมาจากอาหารการกินของคุณแม่ค่ะ

โดยกลุ่มสารอาหารสำคัญที่คุณแม่จะต้องได้รับอย่างเพียงพอตลอดการตั้งครรภ์ ได้แก่

  • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท นอกจากนี้ยังอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์บางอย่าง  
  • โปรตีน ดีต่อการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างน้ำนมให้กับคุณแม่
  • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งถือเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการคลอดทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ
  • กรดโฟลิก หรือโฟเลต มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง หากคุณแม่ได้รับโฟเลตไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้ลูกน้อยเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทได้  
  • แคลเซียม มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ป้องกันภาวะกระดูกพรุนทั้งแม่และทารก
  • ไอโอดีน ป้องกันภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายผิดปกติ และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์
  • โคลีน มีส่วนสำคัญในการบำรุงระบบประสาทและสมอง ช่วยพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ ลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์
  • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา ลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักแรกเกิดต่ำอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าโภชนาการสำหรับแม่ตั้งครรภ์นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะถ้าหากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ อาจเพิ่มความเสี่ยงที่อันตรายต่อทารกได้ตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่

อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ใส่ใจเรื่องอาหารการกินเป็นประจำทุกมื้อ ก็จะเป็นการปูพื้นฐานการมีสุขภาพดี มีสมองที่ดี ส่งเสริมให้ลูกพร้อมที่จะเติบโตอย่างสมวัย และก้าวไกลไปสู่อนาคตที่ดีอย่างมีคุณภาพได้ค่ะ 



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

บทความที่แนะนำ

vaginal-discharge-during-pregnancy
ข้อห้ามคนท้อง 1 3 เดือน
ผักที่คนท้องควรกิน บำรุงทารกในครรภ์ มีอะไรบ้างนะ
Enfa Smart Club

Leaving page banner