เลือกอ่านตามหัวข้อ
• สัญญาณเตือนอาการแพ้นมวัว
• ลูกแพ้นมวัวควรดูแลอย่างไร
• ความเชื่อเรื่องอาการแพ้นมวัว
• ลูกแพ้นมวัวหายได้หรือไม่
• ลูกแพ้นมวัว แม่รับประทานอะไรได้บ้าง
• ลูกอุจจาระเป็นมูก แพ้นมวัวหรือไม่
7 สัญญาณเตือนของอาการแพ้นมวัว
ปัจจุบันอาการแพ้ต่าง ๆ รวมถึงแพ้นมวัวพบได้บ่อยขึ้นในเด็กไทย คุณแม่หลายท่านมักจะไม่ทราบว่าลูกเกิดการแพ้นมวัว และปล่อยอาการไว้ค่อนข้างนาน จนกระทั่งอาการรุนแรงขึ้น จึงจะพาลูกไปพบแพทย์ ทำให้การรักษายากขึ้น ดังนั้น แนวทางที่ดีที่สุดคือหมั่นสังเกตอาการแพ้ของลูกและหาทางป้องกันรักษาแต่เนิ่น ๆ
คุณแม่สามารถสังเกต 7 สัญญาณเตือนของอาการแพ้นมวัว ดังนี้เลย
1. มีผื่น แดง คัน หรือริมฝีปาก ใบหน้า และรอบดวงตาบวม
2. ร้องงอแงผิดปกติหลังกินนม หงุดหงิด เมื่อถึงเวลาให้นม และเริ่มมีน้ำหนักตัวลดลง
3. อาเจียน หรือแหวะนม
4. ท้องเสีย ปวดท้อง ไม่สบายท้อง หรือท้องผูก
5. ถ่ายเป็นเลือด
6. น้ำมูกไหลเรื้อรัง คัดจมูก
ยิ่งคุณพ่อคุณแม่ยพบอาการได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งสามารถพาไปพบแพทย์และทำการรักษาได้เร็วและง่ายขึ้นะคะ เนื่องจากเอาการอาจจะไม่รุนแรง ก็จะเป็นผลดีต่อลูกค่ะ
"แพ้นมวัว" หนึ่งในภาวะแพ้อาหารที่พบได้บ่อยที่สุดในทารก
อาการแพ้นมวัว (Cow Milk Allergy – CMA) หรือแพ้โปรตีนนมวัว (Cow Milk Protein Allergy – CMPA) หนึ่งในรูปแบบภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยในทารก เนื่องจากระบบภูมิต้านทานและระบบทางเดินอาหารของทารกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้ย่อยโปรตีนได้ไม่ดี โมเลกุลโปรตีนขนาดใหญ่สามารถผ่านผนังเยื่อบุลำไส้ไปกระตุ้นระบบภูมิต้านทานก่อให้เกิดการแพ้ ดังนั้นจึงแนะนำให้สังเกตอาหารแพ้ในช่วงที่ทารกจะเริ่มกินอาหารอื่น ๆ นอกเหนือจากนมแม่ เช่น ช่วงเริ่มนมผสม เริ่มกินอาหารเสริมตามวัย
อาการแพ้นมวัวสามารถพบได้ในเด็กตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 1 ขวบ และมีโอกาสที่อาการจะเกิดในเด็กทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวด้วยเช่นกัน เนื่องจากได้รับสารอาหารผ่านนมแม่ อาการแพ้นมวัวสามารถเกิดขึ้นได้ทันทีหลังกินนมวัว หรือใช้เวลานานหลายวัน โดยทั่วไปมักพบอาการแสดงภายใน 1 สัปดาห์
ลูกแพ้นมวัว ควรดูแลอย่างไร
หากแพทย์วินิจฉัยว่าลูกน้อยแพ้นมวัว แพทย์ก็จะทำการรักษาอาการแพ้ และให้คำแนะนำในการดูแลลูกน้อย เช่น
1. หากคุณแม่ให้ลูกน้อยกินนมแม่อยู่แล้ว ก็จะแนะนำให้กินนมแม่ต่อไป
2. งดการกินนมวัวในเด็ก และคุณแม่ก็ต้องงดการกินนมวัวและอาหารทุกชนิดที่มีส่วนประกอบของนมวัวเช่นกัน
3. กรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้ ควรให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์อาจแนะนำ* โปรตีนย่อยอย่างละเอียด ที่มีคุณสมบัติ Hypoallergenic ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ โมเลกุลเล็ก ดูดซึมได้ดี และอาจมีโพรไบโอติกส์ แลคโตบาซิลัส จีจี (LGG) ซึ่งมีบทบาทช่วยหยุดอาการแพ้นมวัว ช่วยให้ลูกกลับมาทานนมวัวได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังป้องกันการเกิดภูมิแพ้ในอนาคต
*อ้างอิงจากแนวทางการรักษาโรคแพ้โปรตีนนมวัวของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
หากคุณแม่สงสัยลูกอาจจะแพ้นมวัว ไม่ควรรอช้านะคะ มาลองทำแบบทดสอบเพื่อเช็คความเสี่ยงกันได้ที่นี่
ความเชื่อ vs ความจริง
จริงหรือไม่ แพ้นมวัวกินนมแพะได้ไหม?
เป็นหนึ่งในความเชื่อผิด ๆ ที่พบบ่อย ความจริง คือ “นมแพะมีส่วนประกอบโปรตีนที่เป็นสาเหตุสำคัญของการแพ้” เช่นเดียวกับที่พบในอาการเด็กแพ้นมวัว เช่น เบต้า-แลคโตโกลบูลิน (Beta-Lactoglobulin) เด็กจึงมีโอกาสแพ้นมแพะได้เช่นเดียวกับแพ้โปรตีนนมวัว ดังนั้นเด็กที่แพ้โปรตีนนมวัวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้นมแพะเช่นกัน
จริงหรือไม่ แพ้นมวัวกินนมถั่วเหลืองแทนได้ไหม?
ส่วนนมถั่วเหลือง ก็อาจไม่ใช่ทางเลือกของเด็กแพ้โปรตีนนมวัว เนื่องจากโปรตีนถั่วเหลืองมีขนาดโมเลกุลใหญ่ ดังนั้นจึงมักพบว่าในเด็กที่แพ้โปรตีนนมวัวประมาณ 1 ใน 3 จะแพ้นมถั่วเหลืองด้วย และหากเด็กแพ้นมถั่วเหลืองร่วมด้วย จะทำให้โอกาสการเลิกแพ้ยากขึ้นเป็นสองเท่าเมื่ออายุ 1 ปี และอาจส่งผลให้เกิดการแพ้อาหารอื่น ๆ อีกตามมาเพิ่มอีก
คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกแพ้โปรตีนนมวัวแล้วจะเปลี่ยนให้ลูกมากินนมถั่วเหลืองนั้นควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้นมถั่วเหลืองในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือนหรือมีอาการแพ้รุนแรง
พ่อแม่ไม่เป็นภูมิแพ้ ลูกคงไม่แพ้โปรตีนนมวัว?
เป็นความเชื่อที่ผิด จากรายงานพบว่า ร้อยละ 10 - 15% ของเด็กแพ้โปรตีนนมวัว จะไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว หรือในบางรายพ่อแม่มีประวัติภูมิแพ้ แต่ไม่เคยทราบว่าพ่อแม่เป็นโรคภูมิแพ้ คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรละเลยในการสังเกตอาการลูกว่ามีอาการใดที่บ่งบอกว่าลูกแพ้โปรตีนนมวัวหรือไม่
หากพบว่าลูกมีภาวะแพ้โปรตีนนมวัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาให้อาการหายโดยเร็ว ทำให้เด็กเจริญเติบโตได้เป็นปกติ ที่สำคัญกว่านั้น คือเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กไปแพ้อย่างอื่นอีก เช่น แพ้ไข่ แป้งสาลี ถั่วเหลือง อาหารทะเล แพ้อากาศ ผื่นแพ้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในการดูแลที่ตามมาในอนาคต
ลูกแพ้นมวัวผ่านนมแม่ได้จริงหรือไม่?
เป็นความจริงค่ะ หากแม่ดื่มนมวัวหรือกินผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนมวัว เมื่อลูกได้รับนมแม่ สารอาหารและโปรตีนในนมวัวจะถูกส่งผ่านไปยังลูกผ่านทางน้ำนม ซึ่งเด็กบางคนร่างกายจะไวต่อโปรตีนเหล่านั้น จึงทำให้เกิดการแพ้ขณะกินนมแม่
ลูกแพ้นมวัวจะหายได้หรือไม่?
มีโอกาสหายได้ การรักษาที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่เริ่มมีอาการในตอนเด็ก จะยิ่งช่วยหยุดอาการแพ้ได้เร็วขึ้น โดยมากหลังอายุ 1 ปี อาการแพ้นมวัวจะดีขึ้น และส่วนใหญ่จะหายได้ภายในอายุ 5 ปี แต่หลังจากนั้นอาจมีอาการแพ้จากสาเหตุอื่น
ลูกแพ้นมวัว แม่รับประทานอะไรได้บ้างคะ
อาหารคุณแม่ควรงดมีเพียงกลุ่มอาหารที่ลูกแพ้ เช่น หากลูกแพ้นมวัว แม่จะต้องงดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของนมวัว ทั้งเบเกอรี่ กาแฟหรือโกโก้แบบใส่นม ฯลฯ หรือถ้าลูกแพ้อาหารจำพวกถั่ว แม่ก็อาจจะต้องงดด้วยเช่นกัน เพราะสารบางอย่างผ่านทางน้ำนมแม่สู่ลูกได้ นอกเหนือจากนี้ คุณแม่สามารถทานอาหารได้ปกตินะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่ให้นมลูก การทานอาหารให้หลากหลาย สารอาหารครบถ้วน มีคุณประโยชน์ก็เป็นเรื่องสำคัญ
โภชนาการอาหารสำคัญที่เหมาะกับการบำรุงร่างกายคุณแม่ และไม่มีส่วนประกอบของนมวัว ยกตัวอย่างเช่น
• การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
• รับประทานอาหารที่มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา ฯลฯ เพราะโปรตีนเป็นองค์ประกอบสำคัญของในน้ำนม ที่ส่งเสริมการเจริญทางร่างกายรวมถึงภูมิต้านทานของลูก
• ทานปลา เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู ปลากะพง หรืออื่นๆ เพราะเป็นแหล่งสารอาหารอย่าง โอเมก้า 3 และดีเอชเอ จำเป็นต่อการพัฒนาระบบประสาทและสมอง
• รับประทานผักและผลไม้สม่ำเสมอ ช่วยเพิ่มวิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด
• ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
• อาหารกลุ่มข้าว-แป้งที่ขัดสีน้อยหรือไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง
• แหล่งอาหารเสริมธาตุเหล็ก อย่าง ตับ ไข่แดง เลือด ผักใบเขียว เช่น คะน้า กวางตุ้ง
• แหล่งอาหารเสริมแคลเซียม เช่น ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งฝอย
อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีข้อสงสัย รวมทั้งอยากทราบสาเหตุและการรักษาที่ถูกต้อง ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนะคะ นอกจากนี้ ยังสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวภูมิแพ้ในเด็ก ได้ที่ ภูมิแพ้ในเด็ก อาการและปัจจัยเสี่ยง คุณแม่ควรรับมืออย่างไรเมื่อลูกเป็นภูมิแพ้
ทารกอุจจาระมีมูก แบบนี้อันตรายหรือไม่!?
อาการแพ้ระบบทางเดินอาหาร หนึ่งในรูปแบบอาการแพ้นมวัวที่พบบ่อยในเด็ก ซึ่งอาการที่พบจะมีตั้งแต่อาการน้อย คือ ท้องอืด ท้องเสีย ถ้าหากรุนแรงขึ้นอาจมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือด ทีนี้คุณแม่สงสัยมั้ยคะว่า มูกในอุจจาระลูก เกิดจากอะไร?
ทารกอุจจาระมีมูกเกิดจากอะไร
มูกในอุจจาระเกิดจากเยื่อบุผิวของลำไส้ใหญ่ที่ผลิตมูกมาคลุมเยื่อผิวหนังของลำไส้ใหญ่ จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื่น ทำให้อุจจาระไหลผ่านลำไส้ได้ง่ายมากขึ้น มูกในอุจจาระจะมีลักษณะเหลวเป็นเส้น หรือมีลักษณะคล้ายเจลลี่ โดยส่วนใหญ่แล้วทารกถ่ายเป็นเมือก มักจะพบในทารกที่กินนมแม่ เนื่องจากอุจจาระของทารกที่กินนมแม่สามารถย่อยได้ดี และไหลผ่านลำไส้ได้อย่างรวดเร็ว
ลูกถ่ายเป็นมูกอันตรายไหม
ปกติการถ่ายมีมูกในอุจจาระทารกจะไม่เป็นอันตรายกับสุขภาพลูกน้อย แต่ถ้าพบว่ามีอาการอื่น เช่น พบเลือดในอุจาระ (ถ่ายเป็นมูกเลือด) มีไข้ ร้องไห้ งองแง ร่วมด้วย ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกปัญหาสุขภาพของลูกได้เช่นกัน สรุปได้ว่า หากอุจจาระลูกน้อยมีมูกมากกว่าปกติ ร่วมกับอาการข้างต้น ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อทำการหาสาเหตุ และรักษาต่อไป
ลูกถ่ายเป็นมูกเลือดเกิดจากสาเหตุใด
ลูกถ่ายมีมูกปนเลือด สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
• ลูกน้อยอาจจะท้องผูก ทำให้อุจจารที่แห้งและแข็ง ขูดไปกับผิวหนังบริเวณถวารหนักเป็นแผล
• อาการท้องเสียจากภาวะติดเชื้อ
• แพ้อาหาร
• ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ลำไส้แปรปรวน หรือความผิดปกติเชิงโครงสร้างของลำไส้
อีกหนึ่งสาเหตุของทารกถ่ายเป็นมูกเลือด คือ อาการแพ้นมวัว เกิดจากผนังลำไส้และระบบภูมิต้านทานของทารกไม่แข็งแรง เมื่อลูกดื่มนมเข้าไป ร่างกายคิดว่าโปรตีนในนมเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงเกิดปฏิกิริยาการหลั่งสารเคมีก่อให้เกิดอาการแพ้ อาการอักเสบ ซึ่งส่งผลต่อการระคายเคืองทางเดินอาหาร ท้องอืด ท้องเสีย หรือถ่ายเป็นมูกเลือดได้
แนะนำให้คุณแม่พาลูกน้อยไปพบแพทย์ หากพบการถ่ายปนเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากถ่ายมีเลือดปนมากับอุจจาระเป็นจำนวนมาก เคยถ่ายเป็นเลือดในหลายวันก่อน ก่อนที่จะหายไป และกลับมาถ่ายเป็นเลือดเป็นซ้ำ มีอาการท้องเสียหรืออาเจียนร่วมด้วย เพื่อให้ลูกได้รับการรักษาทันเวลา เพราะอาการดังกล่าวอาจมีอันตรายรุนแรง
สีของมูกในอุจจาระทารกแตกต่างกัน บ่งบอกอะไร
ทารกถ่ายเป็นมูกสีน้ำตาล มูกสีเขียว หรือสีเหลือง: บ่งบอกถึงสีอุจจาระที่เป็นการผสมปนกันมากับมูกในทารกโดยปกติ แต่หากมีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย ซึ่งบ่งชี้ถึงการอักเสบ หรือระคายเคืองลำไส้ และคุณแม่มีความกังวล ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจ
ลูก 2 เดือน ถ่ายเป็นมูกเลือด อันตรายไหม: การถ่ายเป็นมูกเลือดเป็นสัญญาณอันตราย ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการถ่ายเป็นมูกเลือด และทำการรักษา
ทารก 1 เดือน ถ่ายมีมูกเลือด อันตรายไหม: ทารก 1 เดือน ไม่ควรมีลักษณะการถ่ายเป็นมูกเลือด รวมทั้งการถ่ายเป็นมูกเลือด ยังเป็นสัญญาณที่ลูกน้อยอาจจะกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพ ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอาการ และรักษาอย่างทันท่วงที