ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ลูก 1 เดือน เบ่งถ่าย

รู้จักอาการถ่ายยากของลูกน้อย ลักษณะแบบไหน ที่เรียกว่าท้องผูก

ตรวจสอบข้อมูลโดย : ผศ.พญ.ดิษจี ลุมพิกานนท์
กุมารแพทย์ สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล

Enfa สรุปให้

  • อาการท้องผูกในเด็ก จะพบได้ว่าลูกน้อยไม่ค่อยถ่ายหรือถ่ายน้อยกว่าปกติ อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ท้องตึงแข็ง มีการเบ่งถ่าย อาจจะมีเลือดปนมากับอุจจาระ รวมทั้งกินอาหารได้น้อยลงเพราะอึดอัดจากอาการไม่สบายท้อง
  • หากลูกน้อยไม่ได้รับการแก้ไขเมื่อมีอาการท้องผูกโดยเร็ว อาจทำให้ลูกมีปัญหาอาการท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ได้ โดยสามารถบรรเทาอาการลูกท้องผูกได้หลายวิธี เช่น การนวดท้องหรือเคลื่อนไหวร่างกายของลูกน้อย
  • ลูก 1 เดือน เบ่งถ่าย ลูกเบ่งทั้งคืน อาจเป็นสัญญาณว่าลูกมีอาการท้องผูก อย่างไรก็ตาม การที่ทารกเบ่งถ่ายเป็นเรื่องปกติที่สามารถพบได้ เนื่องจากทารกกำลังเรียนรู้ที่จะขับถ่าย อีกทั้งการขับถ่ายในลักษณะนอนราบ ยังยากต่อการขับถ่ายเนื่องจากไม่มีแรงโน้มถ่วงเข้ามาช่วยเหมือนกับการถ่ายในท่านั่ง

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • รู้จักการขับถ่ายของทารก
     • อาการเด็กท้องผูก
     • ข้อควรระวังเมื่อทารกไม่ถ่าย
     • วิธีดูแลเมื่อทารกไม่ถ่าย
     • ไขข้อข้องใจเรื่องเด็กท้องผูกกับ Enfa Smart Club

ทารกเบ่งอุจจาระไม่ออก ทารกไม่ถ่ายหรือถ่ายยาก เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็กเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กที่กินนมผงมักพบปัญหานี้มากกว่าเด็กที่กินนมแม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายใจของลูก และสร้างความกังวลใจให้คนเป็นแม่เป็นอันดับต้น ๆ 

เมื่อทารกไม่ถ่ายหรือถ่ายยากคุณแม่ก็อาจมีคำถามว่าลูกของตนกำลังมีปัญหาท้องผูกอยู่หรือไม่ เรามาหาคำตอบกันว่าอาการทารกไม่ถ่ายหรือถ่ายยากแบบไหนที่เรียกว่า “ท้องผูก”

ธรรมชาติการขับถ่ายของทารก


ก่อนอื่นเรามารู้จักธรรมชาติการขับถ่ายของทารกกันสักนิด ในช่วงสัปดาห์แรก ทารกจะถ่ายบ่อย คือประมาณ 8-10 ครั้ง แตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน โดยเด็กที่กินนมแม่จะถ่ายบ่อยกว่าเด็กที่กินนมผง และอุจจาระที่ถ่ายออกมาจะนิ่มหรือเหลว 

ขณะที่เด็กกินนมผงจะถ่ายน้อยครั้งกว่า ลักษณะของอุจจาระจะแข็งและเป็นรูปทรงมากกว่า เมื่ออายุมากขึ้นจำนวนการถ่ายก็จะลดลง เนื่องจากร่างกายมีการดูดซึมเพิ่มมากขึ้น หรืออาจเรียกได้ว่าร่างกายมีการกักเก็บกากสารอาหารที่มากขึ้นนั่นเอง เด็กบางคน 2-3 วันอาจจะถ่ายสักครั้งก็ได้ แต่จำนวนการถ่ายที่ลดลงก็ไม่ได้บอกว่าลูกท้องผูกหรือถ่ายยาก

ลูกถ่ายยาก อาจเป็นเพราะมีความผิดปกติในทางเดินอาหาร ซึ่งอาจมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป


อาการไหนบ้างที่อาจแสดงว่าลูกท้องผูก


1. ไม่ค่อยถ่าย

จำนวนการขับถ่ายแต่ละวันของเด็กแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน บางคนถ่ายมากบางคนถ่ายน้อย หากสังเกตว่าลูกถ่ายยาก อุจจาระน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ อาจเป็นสัญญาณของท้องผูกได้

2. อุจจาระเป็นก้อนแข็ง

หากลักษณะอุจจาระที่ลูกถ่ายออกมาเป็นก้อนแข็ง แห้ง หรือถ่ายเป็นเม็ดแข็ง แม้ลูกจะถ่ายทุกวัน ลักษณะอุจจาระแบบนี้อาจเป็นสัญญาณว่าลูกท้องผูกได้ ในทางกลับกัน หาก 2-3 วัน ถ่ายหนึ่งครั้งแต่อุจจาระนิ่มไม่แข็งก็ไม่เรียกว่าท้องผูก

3. มีเลือดปนอุจจาระ

เด็กที่ท้องผูกอาจมีเลือดปนมากับอุจจาระได้ เนื่องจากผนังทวารหนักฉีกขาดจากการออกแรงเบ่งอุจจาระ เมื่อการเบ่งทำให้เจ็บ เด็กจึงไม่อยากเบ่ง นั่นทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการท้องผูกเรื้อรัง

4. ต้องเบ่งถ่าย

พ่อแม่ควรสังเกตว่าขณะถ่ายลูกต้องออกแรงเบ่งอุจจาระมากกว่าปกติ ลูกถ่ายยาก หรือมีอาการเจ็บขณะถ่ายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การเบ่งถ่ายอาจพบได้ในทารกปกติที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน โดยทารกอาจมีการเบ่งถ่าย หรือบางครั้งมีร้องหรือหน้าแดงร่วมด้วย แต่อุจจาระมีลักษณะนิ่มหรือเหลว โดยมักมีอาการเริ่มต้นในเดือนแรกและหายได้เอง ลักษณะแบบนี้ไม่ใช่อาการท้องผูก

5. กินอาหารได้น้อย

ลูกจะไม่ค่อยกินนมหรืออาหาร กินน้อย และมักรู้สึกอิ่มเร็ว เนื่องจากอึดอัดและไม่สบายท้องจากการไม่ได้ขับถ่ายของเสียเดิมออกมา

6. ท้องตึงแข็ง

ลักษณะท้องของลูกจะตึง แน่น หรือแข็ง ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นร่วมกับการท้องผูก

คุณแม่ลองสังเกตลูกน้อยนะคะว่าเข้าข่ายข้อใดบ้าง แล้วปรึกษาแพทย์เมื่อสงสัยว่าลูกท้องผูกหรือไม่ สิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรตระหนักคือ จำนวนของการอุจจาระในแต่ละวันไม่ได้บอกว่าลูกท้องผูก 

สิ่งสำคัญคุณแม่ต้องดูลักษณะของอุจจาระลูกว่าแข็งทำให้ลูกถ่ายลำบาก ต้องออกแรงเบ่ง และมีเลือดปนออกมาหรือไม่ เด็กบางคนถ่ายทุกวัน แต่หากลักษณะอุจจาระเข้าข่ายดังกล่าวถือว่าท้องผูกถ่ายยาก เด็กบางคน 2-3 วันอาจจะถ่ายสักครั้ง แต่ถ้าอุจจาระนิ่ม ถ่ายง่าย ถ่ายคล่องก็ไม่ถือว่าท้องผูก

ข้อควรระวังเมื่อทารกไม่ถ่าย ถ่ายยาก หรือท้องผูก


เมื่อลูกไม่ถ่าย ถ่ายยาก หรือท้องผูก หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว จะนำไปสู่ปัญหาท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเขา เพราะเขาจะเกิดความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว 

เช่น เด็กบางคนกินนมได้น้อย อิ่มเร็ว เพราะอึดอัดจากการไม่ได้ขับถ่ายของเสียเดิมออกมา ทำให้มีน้ำหนักน้อย ไม่โตตามวัย (พัฒนาการด้านร่างกาย) งอแง หงุดหงิดง่าย (พัฒนาการด้านอารมณ์) ไม่สนใจเรียนรู้สิ่งรอบตัว (พัฒนาการด้านสติปัญญาและการเรียนรู้) เป็นต้น

เมื่อพบว่าทารกไม่ถ่าย ถ่ายยาก หรือท้องผูก คุณแม่สามารถให้การดูแลเบื้องต้นได้เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาดังกล่าว

วิธีดูแลเบื้องต้น เมื่อทารกไม่ถ่าย ถ่ายยาก หรือท้องผูก


1. ให้ทารกกินนมแม่

ทารกที่กินนมแม่จะมีปัญหาไม่ถ่าย ถ่ายยาก หรือท้องผูกน้อยกว่าทารกที่กินนมผง

2. ชงนมตามสัดส่วนที่แนะนำ

หากมีความจำเป็นต้องกินนมผง ควรชงนมให้ได้สัดส่วนตามคำแนะนำข้างกล่องผลิตภัณฑ์นมชนิดนั้นๆ ไม่ชงนมเข้มหรือจางจนเกินไป

3. เลือกโภชนาการที่มีใยอาหารช่วยย่อย

หากกินนมผงแล้วลูกไม่ถ่าย ถ่ายยาก หรือท้องผูก คุณแม่สามารถเลือกโภชนาการที่มีใยอาหารช่วยในการย่อย โดยโภชนาการที่เหมาะสมอาจมีคุณสมบัติ เป็นโปรตีนผ่านการย่อยบางส่วน หรือ PHP (Partially Hydrolyzed Protein) โปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน มีโมเลกุลขนาดเล็ก ย่อยได้ง่าย และดูดซึมได้ดี ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มคงตัว ไม่แข็ง ขับถ่ายได้ง่าย

อีกทั้ง ยังควรเลือกโภชนาการที่มีใยอาหาร อย่าง โพลีเด็กซ์โตรส (PDX) และกาแลคโตโอลิโกแซคคาไรด์ (GOS) ซึ่งช่วยในการทำงานของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้และปรับลักษณะอุจจาระให้นิ่มขึ้น

นอกจากนี้ โพลีเด็กซ์โตรส (PDX) และกาแลคโตโอลิโกแซคคาไรด์ (GOS) ยังเป็นเส้นใยอาหารคุณภาพ และมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก ซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์สุขภาพที่มีอยู่ในลำไส้ใหญ่ ด้วยโครงสร้างของพีดีเอ็กซ์ที่ซับซ้อนกว่าไฟเบอร์ชนิดอื่น จึงทำให้กระบวนการย่อยเป็นไปอย่างช้าๆ 

ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของจุลินทรีย์สุขภาพ ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ได้อย่างทั่วถึง เป็นการรักษาสมดุลในลำไส้ ขณะที่กอส ก็จะช่วยกระตุ้นและเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เด็กระบบขับถ่ายที่ดี ไม่มีปัญหาท้องผูกแล้ว ยังเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับเด็กอีกด้วย

4. เพิ่มน้ำ ผัก ผลไม้

หากลูกอยู่ในวัยกินอาหารเสริมตามวัยแล้ว ควรให้ลูกกินน้ำให้มากขึ้น และเพิ่มเมนูอาหารที่เป็นผักให้มากขึ้น ให้ลูกกินผลไม้ช่วยย่อย เช่น ส้ม มะละกอสุก มะม่วงสุก ฯลฯ ระหว่างมื้อทุกวัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คุณแม่ควรเข้าใจก็คือเด็กไม่จำเป็นต้องถ่ายอุจจาระทุกวัน เพราะระบบขับถ่ายของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน สิ่งสำคัญที่ควรสังเกตคือ แม้ไม่ได้ถ่ายทุกวัน แต่ถ้าลูกยังร่าเริง มีสุขภาพแข็งแรง น้ำหนักขึ้นดี ไม่แสดงอาการอึดอัดขณะที่ถ่าย รวมถึงลักษณะของอุจจาระยังนิ่ม ขับถ่ายสะดวก ก็แสดงว่าลูกไม่ได้ท้องผูก คุณแม่ยังไม่ต้องกังวล 

แต่หากพบว่าลูกมีอาการเข้าข่ายของอาการท้องผูกถ่ายยาก การแก้ไขปัญหาทารกไม่ถ่าย ถ่ายยาก หรือท้องผูกแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ลูกกลับมาขับถ่ายเป็นปกติได้ แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษากุมารแพทย์เพื่อช่วยวินิจฉัยและรักษาค่ะ

ไขข้อข้องใจเรื่องเด็กท้องผูกกับ Enfa Smart Club


ลูก 1 เดือน เบ่งถ่าย ลูกเบ่งทั้งคืน ปกติไหม

ทารกเบ่งถ่าย เป็นเรื่องปกติที่พบได้ในทารก เนื่องจากยังอยู่ในช่วงที่กำลังเรียนรู้การขับถ่าย อีกทั้งการขับถ่ายในท่าที่นอนราบไปกับพื้นนั้น ยังยากต่อการขับถ่ายเนื่องจากไม่มีแรงโน้มถ่วงเข้ามาช่วยเหมือนกับการขับถ่ายในท่านั่ง

โดยหากพบว่าทารกเบ่งตลอดเวลาที่ขับถ่าย สามารถสังเกตลักษณะอื่น ๆ ร่วมด้วยว่าลูกมีอาการท้องผูกหรือไม่  โดยอาการเด็กท้องผูกจะมีลักษณะ ดังนี้

     • อุจจาระแข็งหรือแห้ง อาจมีลักษณะเป็นเม็ด
     • งอแงเหมือนไม่สบายตัว ร้องไห้เมื่อต้องขับถ่าย
     • ไม่ถ่ายตามปกติ หรือไม่ถ่ายหลายวัน
     • มีเลือดปนมากับอุจจาระที่แข็งแห้ง

หากพบอาการข้างต้นนั้น เป็นสัญญาณว่าลูกท้องผูก ควรบรรเทาอาการท้องผูกเบื้องต้น เช่น การนวด การเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งหากลองทำแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการร่วมเหล่านี้ อาทิ อาเจียน ซึม มีไข้ ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจและรักษาต่อไป



บทความที่แนะนำ

นมแม่ดีที่สุด ช่วยให้ระบบขับถ่ายและสมองดี
Enfa Smart Club

Leaving page banner

 

Leaving page banner