Enfa สรุปให้
- คลอดธรรมชาติ (Natural birth) คือ การคลอดลูกโดยแม่เป็นผู้คลอดเองด้วยการออกแรงเบ่งทารกออกมา และไม่ผ่านกระบวนการผ่าตัด
- การคลอดธรรมชาติ จะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 37-40 ของการตั้งครรภ์ ทารกอาจจะคลอดออกมาเมื่อไหร่ก็ได้ในช่วงเวลานี้ หรือบวกลบแล้วไม่เกิน 42 สัปดาห์
- การคลอดธรรมชาติ คุณแม่จะรู้สึกเจ็บและปวดมาก โดยเฉพาะถ้าเลือกที่จะคลอดเองโดยไม่ใช้ยาระงับอาการปวด
คลอดธรรมชาติ เป็นกระบวนการคลอดลูกที่เบสิกและคลาสสิคที่สุด ที่คุณแม่จะเบ่งทารกน้อยออกมาด้วยกำลังแรงกายทั้งหมดที่มี แต่คลอดธรรมชาติยังเหมาะสมกับยุคปัจจุบันอยู่ไหม คลอดลูกธรรมชาติอันตรายหรือเปล่า แล้วคลอดธรรมชาติเจ็บไหม Enfa มีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการคลอดธรรมชาติมาฝาก ก่อนที่คุณแม่จะตัดสินใจว่าจะคลอดแบบไหนดี
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• คลอดธรรมชาติคืออะไร?
• กำหนดคลอดธรรมชาติกี่สัปดาห์?
• ข้อดี-ข้อเสียการคลอดธรรมชาติ
• ขั้นตอนการคลอดธรรมชาติ
• คลอดธรรมชาติเจ็บไหม?
• คลอดธรรมชาติใช้เวลากี่นาที?
• คลอดธรรมชาติกรีดช่องคลอดด้วยไหม?
• คลอดธรรมชาติบล็อกหลังหรือเปล่า?
• มีเพศสัมพันธ์หลังคลอดได้ตอนไหน?
• ไขข้อข้องใจเรื่องการคลอดธรรมชาติกับ Enfa Smart Club
คลอดธรรมชาติคืออะไร?
คลอดธรรมชาติ (Natural birth) คือ การคลอดลูกโดยแม่เป็นผู้คลอดเองด้วยการออกแรงเบ่งทารกออกมา และไม่ผ่านกระบวนการผ่าตัด ซึ่งการคลอดธรรมชาตินี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 37-40 ของการตั้งครรภ์ เพราะอาการเจ็บท้องคลอดจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้
คลอดธรรมชาติกี่สัปดาห์?
การคลอดธรรมชาติ จะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 37-40 ของการตั้งครรภ์ และทารกอาจจะคลอดออกมาเมื่อไหร่ก็ได้ในช่วงเวลานี้ หรือบวกลบแล้วไม่เกิน 42 สัปดาห์ โดยคุณแม่อาจจะมีอาการเจ็บครรภ์ใกล้คลอดตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 37 และคลอดจริงในสัปดาห์ที่ 40 หรืออาจคลอดก่อนสัปดาห์ที่ 40 ก็ได้
คลอดลูกธรรมชาติ มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร
ข้อดีของการคลอดธรรมชาติ
- แม่สามารถฟื้นตัวหลังคลอดได้เร็ว
- เสียเลือดน้อย
- เจ็บแผลคลอดน้อย
- ความเสี่ยงของแผลติดเชื้อน้อย
- ไม่มีความเสี่ยงของการเกิดพังผืดในช่องท้อง
- โอกาสที่จะเกิดภาวะรกเกาะต่ำในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปมีน้อย
- ทารกที่คลอดธรมชาติจะได้รับภูมิคุ้มกันในช่องคลอดมาด้วย
- ทารกมีความเสี่ยงต่อระบบทางเดินหายใจน้อย
ข้อเสียของการคลอดธรรมชาติ
- ไม่สามารถกำหนดวันคลอดที่แน่นอนได้ ต้องรอให้มีอาการเจ็บครรภ์คลอดเป็นสัญญาณ
- เสี่ยงที่จะเกิดภาวะสายสะดือทารกถูกกดทับ
- เสี่ยงที่ทารกจะขาดออกซิเจน หากการคลอดใช้เวลานาน
- อาจจำเป็นต้องใช้คีมคีบเด็กในกรณีที่แม่หมดสติ หรือหมดแรงคลอด
- ในกรณีที่ทารกมีขนาดตัวใหญ่ อาจทำให้คลอดลำบาก ช่องทางคลอดฉีกขาด เสียเลือดมากขึ้น
- ทารกเสี่ยงที่จะสำลักขี้เทา
ขั้นตอนการคลอดธรรมชาติมีอะไรบ้าง?
ขั้นตอนในการคลอดธรรมชาติจะไม่ได้ยุ่งยากหรือซับซ้อนอะไร เพราะเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ ซึ่งจะมีลำดับการเกิดขึ้น ดังนี้
- แม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอด หรือเจ็บท้องคลอดจริง โดยจะมีอาการตั้งแต่ อาการปวดท้องคลอด ท้องแข็งสม่ำเสมอ ท้องลด ปากมดลูกเปิด 10 เซนติเมตร และน้ำคร่ำเดิน
- เมื่อน้ำคร่ำเดินและปากมดลูกเปิดเต็มที่แล้ว แพทย์ก็จะเริ่มกระบวนการทำคลอด โดยจะมีการกรีดที่บริเวณช่องคลอดและฝีเย็บ เพื่อให้ทารกสามารถคลอดออกมาได้ง่ายขึ้น
- จากนั้นจะเริ่มให้คุณแม่พยายามออกแรงเบ่ง ขณะที่ทำการเบ่งคลอด แพทย์ก็จะแนะนำให้มีการหายใจและนับจังหวะในการเบ่งเพื่อให้สามารถเบ่งทารกออกมาได้ และเพื่อให้แม่สามารถถนอมแรงเอาไว้จนกว่าจะเบ่งคลอดเสร็จ
- เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว แพทย์จะทำการตัดสายสะดือ ทำความสะอาดช่องคลอด นำเอารกออกมา รวมถึงเย็บบริเวณปากช่องคลอดและฝีเย็บ
คลอดธรรมชาติเจ็บไหม?
การคลอดธรรมชาติ คุณแม่จะรู้สึกเจ็บและปวดมาก โดยเฉพาะถ้าเลือกที่จะคลอดเองโดยไม่ใช้ยาระงับอาการปวด แต่ถ้าคุณแม่เลือกที่จะทำการบล็อกหลัง หรือขอยาระงับความเจ็บปวด ก็จะรู้สึกเจ็บน้อยลงหรือไม่เจ็บเลย ทั้งนี้ การพิจารณาใช้ยาระงับปวด หรือบล็อกหลัง คุณแม่ควรปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลการคลอด
คลอดธรรมชาติใช้เวลากี่นาที?
การคลอดธรรมชาติอาจใช้เวลาตั้งแต่ 30 นาที ไปจนถึง 1 ชั่วโมง นับตั้งแต่เริ่มเบ่งจนคลอด ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแม่ ขนาดตัวของทารก ไปจนถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจจะมีผลให้คลอดช้าหรือคลอดเร็วได้
คลอดธรรมชาติ กรีดช่องคลอดด้วยไหม?
โดยมากแล้วแพทย์จะต้องทำการกรีดช่องคลอดและฝีเย็บเพื่อทำการขยายช่องคลอดให้ทารกสามารถที่จะคลอดออกมาได้ง่ายขึ้น
คลอดธรรมชาติ บล็อกหลังหรือเปล่า?
การคลอดธรรมชาติจะทำการบล็อกหลังหรือไม่ก็ได้ แต่โดยมากแล้วแม่ที่คลอดธรรมชาติมักไม่ทำการบล็อกหลังกันเท่าไหร่นัก การบล็อกหลังจะนิยมทำในกรณีที่ต้องมีการผ่าคลอดมากกว่า
มีเพศสัมพันธ์หลังคลอดได้ตอนไหน?
คุณแม่สามารถเริ่มมีเซ็กซ์ได้เมื่อแผลฝีเย็บหายสนิท และน้ำคาวปลาหยุดไหล ซึ่งโดยทั่วไปก็จะอยู่ระหว่าง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด
ไขข้อข้องใจเรื่องการคลอดธรรมชาติกับ Enfa Smart Club
1. คลอดเองเจ็บไหม?
การคลอดเองตามธรรมชาติมีความเจ็บปวดมาก โดยเฉพาะถ้าเลือกที่จะคลอดเองโดยไม่ใช้ยาระงับอาการปวด แต่ถ้าคุณแม่เลือกที่จะทำการบล็อกหลัง หรือขอยาระงับความเจ็บปวด ก็จะรู้สึกเจ็บน้อยลงหรือไม่เจ็บเลย
2. คลอดเองช่องคลอดหลวมไหม?
หลังคลอด คุณแม่อาจจะรู้สึกว่าช่องคลอดของตัวเองไม่เหมือนเดิม รู้สึกว่าช่องคลอดกว้างขึ้น และหลวมขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของผู้หญิงที่ผ่านการคลอดลูกมาแล้ว การฝึกขมิบช่องคลอด อาจช่วยให้ช่องคลอดยืดหยุ่นและกระชับขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม หากกังวล หรือรู้สึกไม่มั่นใจ สามารถปรึกษากับแพทย์เพื่อขอคำแนะนำถึงวิธีการรักษาเพิ่มเติม
3. คลอดธรรมชาติ ออกกําลังกายได้ตอนไหน?
หลังคลอด คุณแม่ควรรอให้ร่างกายฟื้นฟูอย่างเต็มที่ก่อนที่จะเริ่มทำกิจกรรมหนักอย่างการออกกำลังกาย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หลังคลอด 6 สัปดาห์ คุณแม่ก็สามารถที่จะเริ่มออกกำลังกายได้อย่างเต็มที่
4. คลอดลูกธรรมชาติกี่วันแผลหาย?
แผลคลอดจะค่อย ๆ ทุเลาลงในช่วง 5-10 วันหลังคลอด และจะหายสนิทเมื่อคลอดผ่านไปแล้ว 3-4 สัปดาห์
5. คลอดธรรมชาติ พุงไม่ยุบทำไงดี?
แม่ที่คลอดธรรมชาติหลายท่านมีปัญหาที่ว่า หลังคลอดแล้ว พุงไม่ยุบ ซึ่งสามารถดูแลตัวเองง่าย ๆ ได้ดังนี้
- ฝึกแขม่วหน้าท้องวันละ 10-15 นาที
- กินน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตให้พอดี ไม่ควรกินมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดไขมันสะสมที่หน้าท้องมากขึ้น
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อให้ระบบขับถ่ายและระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- แม่ ๆ เช็กให้พร้อม ดูซิ! ของเตรียมคลอดที่จำเป็นมีอะไรบ้าง
- ปวดท้องน้อยหลังคลอด ผิดปกติไหม อันตรายหรือเปล่า
- แผลฝีเย็บหลังคลอด ดูแลอย่างไรให้ปลอดภัย ไม่ติดเชื้อ
- ลดน้ำหนัก ลดหน้าท้องหลังคลอด ลดยังไงให้ปลอดภัย และได้ผล
- เริ่มเลย! ออกกำลังกายหลังคลอด ทวงหุ่นฟิต พิชิตความเฟิร์ม
- นมแม่ สารพันประโยชน์ และคุณค่าดี ๆ จากอกแม่
- อาหารบำรุงน้ำนมที่แม่น้ำนมน้อย น้ำนมหด ควรกินบ่อย ๆ
- อาหารหลังคลอด ที่แม่ให้นมลูกห้ามกิน เลี่ยงได้เลี่ยง
- น้ำนมหด น้ำนมน้อย น้ำนมไม่ไหล จะกู้น้ำนมยังไงได้บ้าง
- ปั๊มนมยังไงให้ถูกวิธี ปั๊มแบบไหนให้นมเกลี้ยงเต้า
- รู้ไหม? นมแม่อยู่ได้กี่ชม. เก็บนมแม่ยังไงให้อยู่ได้นานๆ
- วิธีอุ่นนมแม่ อุ่นยังไงให้ถูกต้อง และน้ำนมไม่เสียคุณภาพ
- ภูมิแพ้ในเด็ก คุณแม่ควรรับมืออย่างไรเมื่อลูกน้อยเป็นภูมิแพ้
- บล็อกหลังผ่าคลอดปลอดภัยไหม เสี่ยงอันตรายหรือเปล่า
- KidsHealth. Natural Childbirth. [Online] Accessed https://kidshealth.org/en/parents/natural-childbirth.html. [3 March 2022]
- Healthline. What to Expect During a Vaginal Delivery. [Online] Accessed https://www.healthline.com/health/pregnancy/intrapartum-care-vaginal-de…. [3 March 2022]
- NHS. Vagina changes after childbirth. [Online] Accessed https://www.nhs.uk/live-well/sexual-health/vagina-changes-after-childbi…. [3 March 2022]
- What to expect. Giving Birth by Vaginal Delivery. [Online] Accessed https://www.whattoexpect.com/pregnancy/labor-and-delivery/vaginal-birth/. [3 March 2022]
- โรงพยาบาลพญาไท. “คลอดธรรมชาติ” ไม่น่ากลัว..หากเตรียมตัวดี. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.phyathai.com/article_detail/2464/th/. [3 มีนาคม 2022]
- โรงพยาบาลพญาไท. คลอดเองหรือผ่าคลอด...วิธีไหนดี?. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.phyathai.com/article_detail/2984/th. [3 มีนาคม 2022]
- โรงพยาบาลศิครินทร์. คำถามยอดฮิตที่คุณแม่ผ่าคลอดอยากรู้. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.sikarin.com/health/. [3 มีนาคม 2022]
- โรงพยาบาลสมิติเวช. ข้อควรรู้เกี่ยวกับการคลอดธรรมชาติ. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/natural-birth-deli…. [3 มีนาคม 2022]
- โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. คลอดบุตรปกติ / คลอดธรรมชาติ. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.bumrungrad.com/th/treatments/normal-vaginal-delivery. [3 มีนาคม 2022]