Enfa สรุปให้
- ตรวจครรภ์ 1 ขีด มีโอกาสท้องได้ ในกรณีที่เพิ่งมีการปฏิสนธิเกิดขึ้นไม่นาน คุณแม่อายุครรภ์น้อยมากๆ จนตรวจไม่พบ เพราะอุปกรณ์ไม่สามารถตรวจจับฮอร์โมน hCG ที่อาจยังไม่ถูกสร้างหรือมีปริมาณน้อยมากๆ ได้
- สาเหตุที่ท้อง แต่ตรวจไม่ขึ้น มีความเป็นไปได้หลากหลาย ตั้งแต่การตรวจครรภ์เร็วเกินไป การดื่มน้ำมากจนปัสสาวะเจือจาง การใช้อุปกรณ์ตรวจครรภ์ผิดวิธี ไปจนถึงความบกพร่องของอุปกรณ์ที่ใช้
- หากตรวจครรภ์ 1 ขีด แต่ท้อง โดยมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยชัดเจน หรือมีการตรวจซ้ำหลังจากนั้นแล้วพบว่าที่ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีด คุณแม่ควรรีบไปฝากครรภ์เพื่อให้ทารกน้อยๆ ในครรภ์อยู่ในการดูแลของคุณหมอ แต่หากตรวจครรภ์ 1 ขีด แต่ประจำเดือนไม่มาสักที อาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพ ควรไปปรึกษาคุณหมอเพื่อไม่ให้กระทบกับการตั้งครรภ์ในอนาคต
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• ตรวจครรภ์ 1 ขีด มีโอกาสท้องไหม
• สาเหตุที่ท้อง แต่ตรวจไม่ขึ้น
• ตรวจครรภ์ 1 ขีด แต่ท้อง
• ตรวจครรภ์ 1 ขีด แต่ประจำเดือนไม่มา
ตรวจครรภ์ 1 ขีด มีโอกาสท้องไหม
โดยปกติแล้ว การที่ที่ตรวจครรภ์ขึ้น 1 ขีด นั่นแปลว่าไม่พบฮอร์โมน hCG ในปัสสาวะ ซึ่งในกรณีส่วนใหญ่แปลว่า “ไม่พบการตั้งครรภ์” นั่นเองค่ะ แต่แน่นอนว่าที่ตรวจครรภ์ขึ้น 1 ขีดก็มีโอกาสท้อง เพราะคุณแม่อาจเป็นหนึ่งในเคสจำนวนน้อยมากๆ ที่ “ตั้งครรภ์แล้วแต่ยังตรวจไม่พบ” ก็ได้
เหตุการณ์ที่ชุดอุปกรณ์ตรวจครรภ์ขึ้น 1 ขีด แต่คุณแม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจริง มีชื่อเรียกว่า “False Negative” หรือ “ผลลบลวง” ซึ่งเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุด้วยกันค่ะ
สาเหตุที่ท้อง แต่ตรวจไม่ขึ้น
ทำไมตั้งครรภ์ แต่ที่ตรวจครรภ์กลับขึ้นแค่ขีดเดียว มาดูสาเหตุที่เป็นไปได้กันค่ะ
คุณแม่อาจตรวจครรภ์เร็วเกินไป
สาเหตุที่ท้อง แต่ตรวจไม่ขึ้น อาจมาจากการที่คุณแม่ตรวจการตั้งครรภ์เร็วเกินไปค่ะ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าวิธีการตรวจครรภ์ที่ใช้กันทุกวันนี้ ใช้วิธีการตรวจหา Human Chorionic Gonadotrophin ซึ่งมักเรียกกันว่าฮอร์โมน hCG หรือฮอร์โมนตั้งครรภ์ เจ้าฮอร์โมน hCG จะถูกผลิตจากเซลล์ของรกหลังจากที่เกิดการปฏิสนธิประมาณ 6-10 วัน ทำให้เราสามารถบอกได้ว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นหรือไม่
เมื่อคุณแม่ตรวจหาการตั้งครรภ์เร็วเกินไป ร่างกายอาจจะยังไม่ได้ผลิตฮอร์โมน hCG เพียงพอให้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์สามารถตรวจจับฮอร์โมนนี้ได้จากปัสสาวะ ทำให้ชุดตรวจขึ้น 1 ขีด แต่หากมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจริง เมื่อคุณแม่ใช้ที่ตรวจซ้ำหลังมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 14 วัน หรือหลังประจำเดือนขาด ก็จะพบว่าที่ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีดจางๆ ซึ่งแปลว่าตั้งครรภ์แล้วค่ะ
จะสังเกตได้ว่ายิ่งคุณแม่ตรวจหลังประจำเดือนขาดหลายวัน ขีดที่ 2 บนที่ตรวจครรภ์ก็จะยิ่งชัดขึ้นเพราะร่างกายคุณแม่มีปริมาณฮอร์โมน hCG เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง โดยฮอร์โมน hCG จะยิ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงอายุครรภ์ 8 สัปดาห์ไปจนถึง 11 สัปดาห์ค่ะ
ปัสสาวะเจือจางจากการดื่มน้ำมากเกินไป
อีกสาเหตุที่ท้อง แต่ตรวจไม่ขึ้น ก็คือการดื่มน้ำมากเกินไปก่อนตรวจครรภ์นั่นเอง เคยสงสัยกันไหมคะว่าทำไมจึงมักแนะนำให้ตรวจครรภ์ในเวลาเช้าด้วยปัสสาวะแรกของวัน นั่นก็เป็นเพราะในระหว่างวัน คุณแม่มีการบริโภคทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และยา ทำให้ปัสสาวะอาจจะปนเปื้อนสารอื่นๆ ได้ รวมถึงการดื่มน้ำมากเกินไปอาจจะทำให้ฮอร์โมน hCG ในปัสสาวะเจือจางจนตรวจไม่พบการตั้งครรภ์ได้
ใช้อุปกรณ์ตรวจครรภ์ผิดวิธี
อีกหนึ่งสาเหตุที่ท้อง แต่ตรวจไม่ขึ้น ก็คือคุณแม่มือใหม่ยังใช้อุปกรณ์ตรวจครรภ์ผิดวิธี เช่น ไม่ได้อ่านคู่มือการใช้งานให้ดี ใช้ปัสสาวะในการตรวจน้อยเกินไป เป็นต้น
อุปกรณ์ตรวจครรภ์ไม่แม่นยำ
สาเหตุสุดท้ายที่แม่ท้อง แต่ตรวจตั้งครรภ์ไม่ขึ้น ก็อาจจะเกิดจากตัวอุปกรณ์เองค่ะ ชุดตรวจครรภ์ที่คุณแม่ใช้อาจจะเป็นของเก่าเก็บที่หมดอายุไปนานแล้ว หรือชุดตรวจครรภ์ดังกล่าวอาจจะมีข้อบกพร่องในกระบวนการผลิตและส่งผลต่อความแม่นยำ ซึ่งต้องบอกว่าโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากๆ
ตรวจครรภ์ 1 ขีด แต่ท้อง
ไม่ว่าสาเหตุที่ตรวจครรภ์แล้วขึ้น 1 ขีดจะเป็นข้อใดก็ตามแต่ เมื่อที่ตรวจครรภ์ขึ้น 1 ขีดแต่ท้อง Enfa ต้องขอแสดงความยินดีด้วยกับชีวิตน้อยๆ ที่คุณแม่กำลังโอบอุ้มไว้ด้วยความรักนะคะ ได้เวลาฝากครรภ์เพื่อพาเจ้าตัวเล็กในท้องและตัวคุณแม่เองไปอยู่ในการดูแลของคุณหมอแล้วค่ะ
ตรวจครรภ์ 1 ขีด แต่ท้อง แสดงว่ามีการปฏิสนธิเกิดขึ้นจริง แต่มีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นกับการตรวจครรภ์ครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเร็วเกินไป หรือปัสสาวะมี hCG เจือจางทำให้ตรวจไม่พบในรอบแรก หรืออาจจะเป็นปัญหาของตัวอุปกรณ์หรือความเข้าใจในการใช้อุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์ ซึ่งเมื่อตรวจซ้ำอย่างถูกวิธีในช่วงที่ฮอร์โมน hCG เพิ่มมากขึ้นก็จะพบว่าที่ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีดค่ะ
ตรวจครรภ์ 1 ขีด แต่ประจำเดือนไม่มา
หากประจำเดือนไม่มา 1 เดือน แต่ที่ตรวจครรภ์ก็ยังขึ้น 1 ขีด อาจจะได้เวลาไปหาคุณหมอเพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพแล้วค่ะ เพราะสาเหตุของอาการประจำเดือนขาดมีหลากหลายประการ ในบางรายอาจจะประจำเดือนไม่มา 2-3 เดือนหรือนานกว่านั้นโดยที่ไม่ได้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น แต่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น ความผิดปกติของมดลูก ความผิดปกติของรังไข่ รวมถึงการที่น้ำหนักตัวลดลงเร็วเกินไป หรือออกกำลังกายหนักมากก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มาได้ ควรไปปรึกษาคุณหมอเพื่อรักษาและป้องกันไม่ให้มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ในอนาคต
อนาคตที่ดีที่สุดของลูกน้อย เริ่มต้นด้วยโภชนาการผ่านคุณแม่
คุณพ่อคุณแม่ทุกคนล้วนคาดหวังให้ลูกน้อยแข็งแรงร่าเริง เติบโตเป็นเด็กที่เฉลียวฉลาดและพาตนเองไปสู่เส้นทางของความสำเร็จได้ แต่รู้ไหมคะว่า 1,000 วันแรกของลูกน้อยสำคัญอย่างมากต่ออนาคตของเค้า เพราะเป็นช่วงเวลาที่สมองของลูกเติบโตถึง 80% และ 1,000 วันแรกนี้ก็เริ่มตั้งแต่วันที่คุณแม่ตั้งครรภ์ชีวิตน้อยๆ ไปจนถึงวัย 2 ขวบของเค้านั่นเอง
สมองของลูกเริ่มพัฒนาตั้งแต่ในระหว่างตั้งครรภ์ โภชนาการที่คุณแม่ได้รับจะถูกส่งต่อไปยังตัวเล็กที่อยู่ในครรภ์ ซึ่งในระหว่างนี้ คุณแม่และทารกน้อยต้องการสารอาหารหลากหลายชนิดที่ช่วยให้สุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยสมบูรณ์ที่สุดตลอดการตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด ไม่ว่าจะเป็น
ดีเอชเอ (DHA) คือกรดไขมันจำเป็นในตระกูลโอเมก้า 3 เป็นโครงสร้างพื้นฐานของเซลล์สมอง และจอประสาทตา โดย WHO แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ และแม่ให้นมบุตรรับประทาน DHA ในปริมาณ 200 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของสมองลูก
โคลีน (Choline) ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทส่วนกลาง และ Cognitive Function ของทารก โดยปริมาณที่แนะนำคือ 450 มิลลิกรัมต่อวัน
โฟเลต (Folate) หรือกรดโฟลิก (Folic Acid) ช่วยป้องกันการสร้างหลอดประสาทไม่สมบูรณ์ซึ่งอาจทำให้ทารกพิการ และป้องกันภาวะซีดหรือโลหิตจางในคุณแม่ตั้งครรภ์ ปริมาณที่แนะนำคือ 0.6 มิลลิกรัมต่อวัน
แคลเซียม (Calcium) เพื่อการเจริญของระบบกระดูกของทารก โดยปริมาณแคลเซียมที่คุณแม่ควรได้รับคือ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
เหล็ก (Iron) เพื่อการพัฒนาของตัวอ่อนและรก รวมถึงการเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงของคุณแม่ โดยคุณแม่ควรได้รับธาตุเหล็กในระหว่างการตั้งครรภ์ในปริมาณ 15-30 มิลลิกรัมต่อวันเพื่อป้องกันภาวะโลหิตจาง
และยังรวมถึงสารอาหารอื่นๆ อีกมากมายที่คุณแม่อาจจะไม่ได้รับประทานอย่างครบถ้วนจากมื้ออาหารปกติ การรับประทานนมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์จึงเป็นทางเลือกที่ดีอย่างยิ่งในการเสริมสารอาหารให้กับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ และอย่าลืมเลือกนมที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ด้วยนะคะ
อ้างอิง
Cleveland Clinic. Pregnancy Tests. [Online] Accessed https://my.clevelandclinic.org/health/diagnostics/9703-pregnancy-tests. [27 April 2024]
Cleveland Clinic. Human Chorionic Gonadotropin. [Online] Accessed https://my.clevelandclinic.org/health/articles/22489-human-chorionic-gonadotropin. [27 April 2024]
Colleen de Bellefonds. What not to do before taking a pregnancy test. [Online] Accessed https://www.babycenter.com/getting-pregnant/pregnancy-tests/what-not-to-do-before-taking-a-pregnancy-test_41001470. [27 April 2024]
Robin Elise Weiss. 9 Common Pregnancy Test Mistakes to Avoid. [Online] Accessed https://www.healthcentral.com/slideshow/common-pregnancy-test-mistakes-to-avoid. [27 April 2024]
- สังวาลย์ เตชะพงศธร. ท้องไม่ท้อง รู้ให้แน่ ด้วยการตรวจครรภ์หาค่าเอชซีจี (hCG). [Online] Accessed https://www.nakornthon.com/article/detail/ท้องไม่ท้อง-รู้ให้แน่ด้วยการตรวจครรภ์หาค่าเอชซีจี-hCG. [27 April 2024]