ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
postpartum-confinement

อยู่ไฟหลังคลอดจำเป็นไหม? ไม่อยู่ไฟหลังคลอดได้หรือเปล่า?

Enfa สรุปให้

  • การอยู่ไฟหลังคลอดเป็นภูมิปัญญาไทยที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน โดยการอยู่ไฟจะช่วยให้มีสุขภาพดี ร่างกายหลังคลอดฟื้นตัวได้เร็ว ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ ขับน้ำคาวปลา และเลือดลมไหลเวียนดี
  • ในปัจจุบันการอยู่ไฟหลังคลอดมีความนิยมที่ลดลง เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้ความจำเป็นในการอยู่ไฟมีน้อยลง อย่างไรก็ตาม การอยู่ไฟมีการปรับให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ลดเวลาและขั้นตอนลงซึ่งเอื้อกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน
  • ขั้นตอนการอยู่ไฟหลังคลอดในปัจจุบัน จะเริ่มจากการนวดประคบสมุนไพร หลังจากนวดเสร็จแล้วจะทับหม้อเกลือที่บริเวณหน้าท้อง หลังส่วนล่าง และขา ก่อนจะจบด้วยการอบสมุนไพร

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • การอยู่ไฟหลังคลอดคืออะไร
     • อยู่ไฟจำเป็นไหม
     • คุณแม่ควรอยู่ไฟหลังคลอดกี่วัน
     • คุณแม่ผ่าคลอดสามารถอยู่ไฟได้ไหม
     • การอยู่ไฟช่วยอะไรบ้าง
     • การอยู่ไฟในปัจจุบันมีขั้นตอนอะไรบ้าง
     • อยู่ไฟหลังคลอดที่โรงพยาบาล VS ที่บ้าน
     • ไขข้อข้องใจเรื่องการอยู่ไฟหลังคลอดกับ Enfa Smart Club

อยู่ไฟหลังคลอด ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ ขับน้ำคาวปลา มักเป็นประโยคลูกคู่รับที่ได้ยินกันมาช้านานว่าผู้หญิงที่คลอดลูกในสมัยก่อนจะต้องอยู่ไฟเพื่อฟื้นฟูร่างกาย แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ภูมิปัญญาท้องถิ่นเช่นนี้ก็ค่อย ๆ ลดน้อยลงไป

กาลเวลาที่เปลี่ยนผ่านไปเร็วเช่นนี้ การอยู่ไฟหลังคลอดยังถือเป็นเรื่องจำเป็นในยุคปัจจุบันหรือเปล่า แล้วการไม่อยู่ไฟหลังคลอดจะมีผลเสียตามมาไหม เรามารู้จักกับการอยู่ไฟให้มากขึ้นกันดีกว่า

อยู่ไฟหลังคลอดคืออะไร?


อยู่ไฟหลังคลอด

การอยู่ไฟ หรืออยู่เดือน เป็นศาสตร์การแพทย์แผนไทยที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยมีความเชื่อว่าผู้หญิงที่อยู่ไฟหลังคลอดจะมีสุขภาพดี ร่างกายฟื้นตัวได้ดีขึ้น ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ ขับน้ำคาวปลา เลือดลมไหลเวียนดี

แต่เมื่อมองลึกลงไปก็จะพบว่าสาเหตุที่คนในสมัยก่อนเลือกใช้วิธีการอยู่ไฟนั้นอาจเป็นเพราะว่าการแพทย์ในสมัยโบราณนั้นไม่ได้ก้าวหน้าเหมือนสมัยนี้ หมอตำแยที่ทำคลอดก็ไม่ได้มีการเย็บปิดช่องคลอดที่มีการฉีกขาดจากการคลอดลูก

ดังนั้น การจะทำให้แผลสมานตัวได้เร็วที่สุดก็คือการให้ผู้ป่วยงดการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่การนอนเฉย ๆ ไม่ขยับเขยื้อนเลย ก็เป็นเหตุให้เกิดความอ่อนล้า อ่อนเพลีย ตามมา คนโบราณจึงเชื่อว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากการก่อไฟจะช่วยให้เลือดลมในร่างกายไหลเวียนได้ดี ทำให้แม่หลังคลอดรู้สึกสบายตัว คลายความปวดเมื่อย

ซึ่งการอยู่ไฟในสมัยก่อนนั้นค่อนข้างจะมีกฎเกณฑ์หลายข้อ โดยจะให้ผู้หญิงหลังคลอดนอนอยู่ในห้องสำหรับการอยู่ไฟโดยเฉพาะ ปิดประตูหน้าต่างมิดชิดเพื่อป้องกันไม่ให้ลมเข้า ในห้องก็จะมีเตียงและมีกองไฟที่ก่อไว้ข้างเตียง คล้ายกับการนอนผิงไฟเพื่อรับไออุ่นในหน้าหนาว ต้องมีคนคอยดูแลไม่ให้ไฟร้อนหรือเบาจนเกินไป

ส่วนคนที่อยู่ไฟก็ต้องอยู่ไฟจนครบสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ นอกจากนี้ก็ยังจะต้องอาบน้ำร้อน ดื่มน้ำอุ่น ๆ ไปจนถึงห้ามกินอาหารแสลงจำพวกเนื้อสัตว์ต่าง ๆ หรือไข่ เน้นกินข้าวกับเกลือหรือปลาเค็ม เพราะเชื่อว่าเกลือจะช่วยทดแทนเหงื่อที่สูญเสียไปขณะอยู่ไฟ

การอยู่ไฟช่วยอะไร?


อยู่ไฟหลังคลอด

ตามหลักของการแพทย์แผนไทยมองว่ากระบวนการคลอดลูก ไม่ว่าจะคลอดธรรมชาติ หรือผ่าคลอด นับว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้ร่างกายของผู้หญิงเสียสมดุลของธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย

การอยู่ไฟจะช่วยปรับสมดุลของธาตุในร่างกาย ทำให้รู้สึกสบายตัว ลดอาการคัดตึงเต้านม ช่วยขับน้ำคาวปลา ช่วยให้ฟื้นตัวหลังคลอดได้ดี บรรเทาอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงของสุขภาพที่จะตามมาหลังคลอดด้วย

ควรอยู่ไฟหลังคลอดกี่วัน


อยู่ไฟหลังคลอดกี่วัน

ในอดีตอาจมีการอยู่ไฟนานเป็นสัปดาห์ หรือสองสัปดาห์ หรือราว ๆ 7-15 วัน หรืออาจนานถึง 1 เดือน แต่การอยู่ไฟในปัจจุบันนี้มีการปรับลดลงมาให้ตอบรับกับยุคสมัย อยู่ไฟหลังคลอดกี่วันนั้น โดยปัจจุบันจะทำกันเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน ติดต่อกันประมาณ 5-10 วัน

รู้จักวิธีอยู่ไฟหลังคลอด อยู่ไฟหลังคลอดทำเองได้ไหม? การอยู่ไฟในปัจจุบันมีขั้นตอนอะไรบ้าง?


อยู่ไฟหลังคลอด

การอยู่ไฟหลังคลอดในปัจจุบันสามารถทำเองได้ที่บ้านอาจตัดบางขั้นตอนออกไป เช่น เหลือเพียงอบสมุนไพร หรือจะใช้บริการอยู่ไฟเดลิเวอรี่ โดนในปัจจุบันการอยู่ไฟนั้น จะเริ่มจากการ

  1. นวดประคบสมุนไพร เพื่อให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย ทั้งยังช่วยผ่อนคลายความเมื่อยของกล้ามเนื้อ รวมถึงช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้นอีกด้วย
  2. ทับหม้อเกลือ หลังจากนวดเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการทับหม้อเกลือ โดยหม้อเกลือก็คือหม้อดินเผาขนาดเล็ก ใส่เกลือไว้ภายใน จากนั้นห่อทับด้วยใบพลับพลึงและผ้าขาวบาง นำมาประคบวางที่หน้าท้อง หลังส่วนล่าง และขา ความร้อนจากการทับหม้อเกลือนี้เชื่อว่าจะช่วยเปิดรูขุมขน ช่วยเร่งขับน้ำคาวปลาออกมาตามรูขุมขน ทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น และยังช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อ ทั้งยังเป็นการกระชับหน้าท้องได้อีกทางหนึ่ง
  3. อบสมุนไพร จบจากการทับหน้าเกลือ ก็จะเป็นการอบสมุนไพร โดยใช้สมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณช่วยในการบรรเทาอาการปวดเมื่อย และมีสรรพคุณเป็นสารระเหยช่วยให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย ทำให้เลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้น รู้สึกสบายตัวมากขึ้น

 

คำถามที่มักพบบ่อยเกี่ยวกับการอยู่ไฟหลังคลอด

อยู่ไฟหลังคลอดที่โรงพยาบาล VS ที่บ้าน คุณแม่มือใหม่เลือกอยู่ไฟที่ไหนดี?

ปัจจุบันรูปแบบการอยู่ไฟมีความหลากหลายมากขึ้น คุณแม่ที่สนใจการอยู่ไฟจึงมีตัวเลือกที่ตอบโจทย์ต่อความสะดวกสบาย

สถานพยาบาลหลายแห่งที่มีศูนย์แพทย์แผนไทยก็มีการเปิดคอร์สอยู่ไฟที่โรงพยาบาล เพื่อบริการแก่แม่หลังคลอดที่สนใจ ซึ่งก็จะได้รับการบริการจากผู้ที่มีความชำนาญด้านการแพทย์แผนไทยโดยตรง

แต่แม่หลายท่านก็อาจสะดวกที่จะทำการอยู่ไฟหลังคลอดแบบทำเองที่บ้าน โดยอาจจะสั่งซื้อชุดอยู่ไฟหลังคลอด หรือชุดอยู่ไฟด้วยตัวเองซึ่งก็มีจำหน่ายตามร้านขายยาที่มีสินค้าแพทย์แผนไทย

หรืออยู่ไฟกับสถานบริการแพทย์แผนไทย ซึ่งบางสถานบริการก็มีการปรับรูปแบบให้สะดวกมากขึ้น เช่น มีบริการอยู่ไฟหลังคลอดแบบเดลิเวอรี่ ก็จะช่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง และคุณแม่หลังคลอดไม่จำเป็นต้องทิ้งลูกไว้ที่บ้านเพื่อไปเข้ารับการอยู่ไฟข้างนอกด้วย โดยคุณแม่สามารถเลือกรูปแบบการอยู่ไฟได้ตามความสนใจ

ยังจำต้องอยู่ไฟหลังคลอดไหม

ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่ากระแสการอยู่ไฟนั้นลดลงไปมากแล้ว เพราะรูปแบบการอยู่ไฟของคนสมัยก่อนนั้น บางข้อก็ไม่ได้มีความสมเหตุสมผล เช่น การห้ามแม่หลังคลอดกินอาหารบางประเภท เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แม่หลังคลอดควรจะได้กินอาหารที่หลากหลาย และครบถ้วน เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ฟื้นตัวหลังคลอดได้เร็วขึ้น และดีต่อการผลิตน้ำนม

หรือการต้องปิดประตูหน้าต่างขณะอยู่ไฟให้มิดชิด ทั้งที่จริงแล้วการก่อไฟและอยู่ในที่มิดชิดไม่มีอากาศถ่ายเท เสี่ยงต่อการสูดเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจจะทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้นก่อนที่มดลูกจะเข้าอู่

มากไปกว่านั้น การแพทย์ในยุคปัจจุบันยังพัฒนาขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก โดยก่อนที่จะคลอดแพทย์จะทำการฉีดยา “ออกซิโทซิน” หรือยาเร่งคลอด ซึ่งยาดังกล่าวจะช่วยให้มดลูกบีบและหดตัวลงหลังคลอด และมีการเย็บปิดแผลคลอดลูกอย่างดี จึงไม่ต้องกังวลว่าหลังคลอดแล้วมดลูกจะไม่หดตัว หรือมดลูกจะไม่เข้าอู่ จึงไม่จำเป็นต้องมีการอยู่ไฟแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เรื่องการอยู่ไฟก็อาจจะเป็นเรื่องปัจเจก หากสนใจหรืออยากลองทำ ก็สามารถทำได้ เพราะการอยู่ไฟในสมัยนี้ก็มีการพัฒนาและปรับให้เข้ากับโลกในปัจจุบันมากขึ้น แต่เพื่อความปลอดภัยควรทำการอยู่ไฟกับสถานบริการที่น่าเชื่อถือและมีใบอนุญาตถูกต้อง

คุณแม่ผ่าคลอดสามารถอยู่ไฟได้ไหม


คุณแม่ที่ผ่าคลอดก็สามารถทำการอยู่ไฟได้เช่นกัน เพียงแต่ยังไม่สามารถทำได้ทันทีหลังผ่าคลอด เพราะจะต้องรอให้แผลผ่าคลอดหายดีหรือหายสนิทก่อน แล้วจึงเริ่มทำการอยู่ไฟได้

ไขข้อข้องใจเรื่องอยู่ไฟหลังคลอด กับ Enfa Smart Club


ไม่อยู่ไฟหลังคลอดได้ไหม? การไม่อยู่ไฟมีผลเสียต่อสุขภาพคุณแม่ในระยะยาวจริงหรือ?

กรมอนามัยของไทยเองกล่าวว่า การอยู่ไฟในปัจจุบันไม่ได้มีความจำเป็นอีกแล้ว เพราะกระบวนการคลอดในปัจจุบันมีกระบวนการที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน

โดยก่อนที่จะคลอดแพทย์จะทำการฉีดยา “ออกซิโทซิน” หรือยาเร่งคลอด ซึ่งยาดังกล่าวจะช่วยให้มดลูกบีบและหดตัวลงหลังคลอด และมีการเย็บปิดแผลคลอดลูกอย่างดี จึงไม่ต้องกังวลว่าหลังคลอดแล้วมดลูกจะไม่หดตัว หรือมดลูกจะไม่เข้าอู่

อีกทั้งในต่างประเทศก็ไม่ปรากฎว่ามีการอยู่ไฟหลังคลอดด้วยเช่นกัน เป็นภูมิปัญญาและความเชื่อที่พบแค่เพียงในบ้านเรา

อยู่ไฟแบบโบราณ ต่างกับการอยู่ไฟในปัจจุบันอย่างไร?

การอยู่ไฟแบบโบราณ มีข้อจำกัดมากมายที่ต้องปฏิบัติตั้งแต่การอยู่ในห้องที่ปิดมิดชิด ต้องมีคนคอยควบคุมไฟไม่ให้ร้อนหรือเบาเกินไป จำกัดการกินอาหาร การหลีกเลี่ยงของแสลง เป็นต้น

แต่การอยู่ไฟในปัจจุบันมีการปรับให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น โดยมีระยะเวลาที่สั้นลง และทำเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน ไม่จำเป็นต้องนอนอุดอู้ข้างกองไฟในห้องทั้งวันเหมือนในอดีต

และจากเมื่อก่อนที่ต้องก่อไฟในห้องที่ปิดมิดชิด ปัจจุบันก็พัฒนามาเป็นถุงน้ำร้อน กระเป๋าน้ำร้อน ชุดคาดไฟ หรือหม้อเกลือ ซึ่งสะดวกกว่า และแม่หลังคลอดไม่ต้องไปลำบากนอนผิงไฟจนรู้สึกไม่สบายตัวเป็นเวลาหลายวันติดต่อกันอีกต่อไป



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

บทความที่แนะนำ

cervix-dilation
ครั้งแรกที่ได้ยินและเห็นหัวใจของลูก
คลอดลูกฉุกเฉิน กับวิธีรับมือที่คุณพ่อและคุณแม่ควรรู้
Enfa Smart Club

Leaving page banner

 

Leaving page banner