Enfa สรุปให้
- ปวดท้องน้อยหลังคลอด หรืออาการปวดมดลูกหลังคลอด (Postpartum Afterpains) คืออาการปวดเกร็ง เป็นตะคริว บริเวณท้องส่วนล่างหรืออุ้งเชิงกรานหลังจากที่คลอดลูกทันที และจะเริ่มปวดรุนแรงขึ้นในวันที่ 2-3 ของการคลอดลูก
- อาการปวดท้องน้อยหลังคลอดพบได้ทั้งในแม่ที่คลอดธรรมชาติ และแม่ที่ผ่าคลอด แม้ว่ากระบวนการคลอดจากต่างกัน แต่กระบวนการคืนสภาพเดิมของมดลูกไม่เปลี่ยนไป
- แม่แต่ละคนมีพื้นฐานสุขภาพที่แตกต่างกัน ดังนั้นระยะเวลาในการฟื้นตัวหลังคลอดก็จะแตกต่างกันไปด้วย อาการปวดท้องน้อยหลังคลอดที่ปกติแล้วมักจะเกิดขึ้นทันที และเริ่มมีอาการปวดรุนแรงขึ้นในวันที่ 2-3 ก่อนจะค่อย ๆ ทุเลาลง แต่จะยังคงมีอาการปวดต่อไปราว ๆ 1 สัปดาห์ หรือ 10 วัน หรือจนกว่ามดลูกจะกลับคืนสู่สภาพเดิมจนสมบูรณ์ประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• อาการปวดท้องน้อยคืออะไร
• อาการปวดท้องน้อยเกิดจากอะไร
• ปวดท้องน้อยหลังคลอดจะหายเมื่อไหร่
• อาการปวดหน่วงช่องคลอดหลังคลอด
• สัญญาณอันตรายของอาการปวดท้องน้อย
• บรรเทาอาการปวดท้องน้อยหลังคลอด
• ไขข้อข้องใจเรื่องอาการปวดท้องน้อยหลังคลอดกับ Enfa Smart Club
หลังคลอด คุณแม่อาจพบกับสมาคมอาการปวดแห่งคนท้องทั้งปวง ตั้งแต่อาการปวดหลัง ปวดเต้านม ปวดสะโพก ไปจนถึงปวดท้องน้อย ซึ่งอาการปวดท้องน้อยนี้อาจปวดจนทำให้รู้สึกกังวลว่าจะเป็นอันตราย
แต่จริง ๆ แล้ว ปวดท้องน้อยหลังคลอดอันตรายไหม แล้วทำไมถึงมีอาการปวดท้องน้อยหลังคลอด เรามาหาคำตอบกันได้ที่บทความนี้เลย
อาการปวดมดลูกและปวดท้องน้อยหลังคลอดคืออะไร
ปวดท้องน้อยหลังคลอด หรืออาการปวดมดลูกหลังคลอด (Postpartum Afterpains) คือ อาการปวดเกร็ง เป็นตะคริว บริเวณท้องส่วนล่างหรืออุ้งเชิงกรานหลังจากที่คลอดลูกทันที และจะเริ่มปวดรุนแรงขึ้นในวันที่ 2-3 ของการคลอดลูก
อีกทั้งอาจมีอาการปวดยาวต่อเนื่องประมาณหนึ่งสัปดาห์ หรือจนกว่ามดลูกจะกลับสู่สภาพปกติ ซึ่งถือเป็นอาการปกติที่พบได้โดยทั่วไปในคุณแม่หลังคลอด
อาการปวดท้องน้อยหลังคลอดเกิดจากอะไร? ทำไมหลังคลอดยังปวดมดลูกอยู่?
ปวดท้องน้อยหลังคลอด เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ดังนี้
อาการปวดท้องน้อยในคุณแม่คลอดธรรมชาติ
ขณะตั้งครรภ์มดลูกจะมีการขยายใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับรกและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ แต่เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว มดลูกก็จะค่อย ๆ หดตัวกลับสู่ขนาดปกติเหมือนเมื่อก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์ โดยขณะที่มดลูกค่อย ๆ หดตัวกลับสู่สภาพเดิมนั้น ร่างกายก็จะมีการบีบอัดเส้นเลือดเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลออกมามากจนเกินไป
ในช่วงเวลาที่มดลูกค่อย ๆ หดตัวกลับคืนสู่สภาพเดิมนี้ก็จะทำให้คุณแม่หลังคลอดรู้สึกปวดที่บริเวณท้องส่วนล่าง อุ้งเชิงกราน หรือบางรายก็พบว่ามีอาการปวดหลังร่วมด้วย
อาการปวดท้องน้อยในคุณแม่ผ่าคลอด
อาการปวดท้องน้อยหลังคลอดพบได้ทั้งในแม่ที่คลอดธรรมชาติ และแม่ที่ผ่าคลอด แม้ว่ากระบวนการคลอดจะแตกต่างกัน แต่กระบวนการคืนสภาพเดิมของมดลูกไม่เปลี่ยนไป
ดังนั้น คุณแม่ที่ผ่านการผ่าตัดใหญ่อย่างการผ่าคลอด จึงมักรู้สึกอึดอัดและไม่สบายที่ช่องท้องหรือบริเวณแผลผ่าคลอด มีอาการปวดที่บริเวณท้องส่วนล่าง อุ้งเชิงกราน หรือบางรายก็พบว่ามีอาการปวดหลังร่วมด้วย
ปวดท้องน้อยหลังคลอดจะหายเมื่อไหร่
เนื่องจากคุณแม่แต่ละท่านมีพื้นฐานสุขภาพที่แตกต่างกัน ดังนั้น ระยะเวลาในการฟื้นตัวหลังคลอดก็จะแตกต่างกันไปด้วย
อาการปวดท้องน้อยหลังคลอดที่ปกติแล้วมักจะเกิดขึ้นทันที และเริ่มมีอาการปวดรุนแรงขึ้นในวันที่ 2-3 ก่อนจะค่อย ๆ ทุเลาลง แต่จะยังคงมีอาการปวดต่อไปราว ๆ 1 สัปดาห์ หรือ 10 วัน หรือจนกว่ามดลูกจะกลับคืนสู่สภาพเดิมจนสมบูรณ์ประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด
บรรเทาอาการปวดมดลูกหลังคลอดยังไงดี
คุณแม่ที่มีอาการปวดท้องน้อยหลังคลอด สามารถดูแลตัวเองหลังคลอดเพื่อบรรเทาอาการปวดท้องน้อยได้หลายวิธี ดังนี้
- ยาบรรเทาอาการปวด แพทย์อาจสั่งจ่ายยาบรรเทาอาการปวด เช่น ไอบูโพรเฟน เพื่อช่วยลดอาการปวด อย่างไรก็ตาม ก่อนการใช้ยาแก้ปวดชนิดใดก็ตาม โปรดสอบถามกับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เนื่องจากแม่ให้นมบุตรหลังคลอด ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง
- การหายใจ เมื่อมีอาการปวดท้องน้อยเกิดขึ้น ให้คุณแม่พยายามหายใจเข้าลึก ๆ และช้า ๆ หรือใช้วิธีการหายใจเข้าออกแบบเดียวกับตอนที่คลอดก็ได้เช่นกัน การฝึกเทคนิคการหายใจจะช่วยบรรเทาอาการปวดให้ทุเลาลง หรือรู้สึกสบายตัวขึ้นได้
- เคลื่อนไหวร่างกาย คุณแม่หลังคลอดควรพยายามลุกขึ้นเดินไปมาบ้างทันทีที่รู้สึกว่ามีแรงพอจะเดินได้ การเคลื่อนไหวเดินไปเดินมา จะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะในคุณแม่หลังคลอดที่มีอาการปวดท้องเนื่องจากอาการท้องผูก การหมั่นเดินและเคลื่อนไหวร่างกายก็จะช่วยลดอาการท้องผูกลงด้วย
- ไม่กลั้นปัสสาวะ การกลั้นปัสสาวะจะยิ่งทำให้รู้สึกอึดอัดกระเพาะปัสสาวะและทำให้อาการปวดบริเวณท้องน้อยแย่ลงด้วย หมั่นดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อจะได้ขับปัสสาวะออกมา แม้ว่าจะต้องลุกไปห้องน้ำบ่อย ๆ ก็ตาม แต่ไม่ควรอั้นปัสสาวะอย่างเด็ดขาด
- ประคบอุ่น-เย็น การใช้ถุงน้ำร้อน แผ่นทำความร้อน หรือขวดน้ำร้อน ประคบวางบริเวณที่ปวดก็สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดท้องน้อยได้ แต่ถ้าใครที่ชอบความรู้สึกเย็บก็สามารถนำน้ำแข็งมาห่อด้วยผ้าสะอาดแล้ววางประคบก็ได้เช่นกัน
- ใช้หมอน คุณแม่บางท่านอาจรู้สึกสบายมากขึ้นเมื่อนั่งบนหมอนที่ออกแบบมาให้รองรับสรีระ หรือหมอนที่มีการบุรูให้เหมาะแก่การนั่ง ไม่ทำให้เกิดแรงก้นทับที่ก้นกบจนทำให้รู้สึกปวดที่ท้องน้อยหรือหลังส่วนล่าง
- ไปพบแพทย์ ในกรณีที่มีอาการปวดมาก ปวดต่อเนื่อง แม้จะผ่านมาเป็นสัปดาห์หรือ 10 วันแล้ว หรือนานกว่านั้น แต่อาการปวดก็ไม่ได้ดีขึ้นเลย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย อาจเป็นไปได้ว่าอาการปวดท้องน้อยที่เป็นอยู่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการคลอดลูกเพียงอย่างเดียว แต่อาจมาจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น มีการติดเชื้อ ท้องผูกเรื้อรัง
แล้วอาการปวดหน่วงช่องคลอดหลังคลอดเป็นเรื่องปกติไหม
อาการปวดหน่วง หรือปวดที่ช่องคลอด เป็นอาการปกติที่สามารถพบได้ในแม่หลังคลอด เนื่องจากมดลูกและช่องคลอดมีการฉีกขาดจากการคลอดลูก หรือแผลเย็บจากการคลอดลูก แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับเมื่อแผลที่ช่องคลอดหรือแผลเย็บสมานตัวกันสนิทแล้ว
หลังคลอดปวดท้องน้อย บวกกับมีอาการแบบนี้ร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณอันตราย
แม้อาการปวดท้องน้อยหลังคลอดจะเป็นอาการปกติ แต่ถ้าหากมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณอันตรายได้
- มีไข้สูงกว่า 38 องศา
- มีของเหลวไหลออกทางช่องคลอด โดยของเหลวหรือน้ำคาวปลานั้นมีสีที่แปลกตา ไม่คุ้นชิน และมีกลิ่นเหม็น
- มีเลือดหรือของเหลวไหลออกมามากผิดปกติ จนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมง
- มีอาการปวดท้องเวลาปัสสาวะ
- มีอาการปวดท้องรุนแรง และปวดรุนแรงติดต่อกันนานเกิน 3 วัน
- มีรอยแดงขึ้นบริเวณที่ปวด เช่น รอยผ่าคลอด หรือรอยเย็บ
ไขข้อข้องใจเรื่องอาการปวดท้องน้อยหลังคลอดกับ Enfa Smart Club
อาการปวดหัวหน่าวหลังคลอด อันตรายไหม?
โดยทั่วไปแล้วอาการปวดหัวหน่าวหลังคลอดถือเป็นอาการปกติ การบรรเทาอาการปวดเบื้องต้นสามารถช่วยให้อาการปวดลดลง และอาการปวดก็จะค่อย ๆ ทุเลาลงจนหายเป็นปกติ
ปวดจิมิหลังคลอด เมื่อไหร่จะหาย?
คุณแม่แต่ละท่านมีพื้นฐานสุขภาพที่แตกต่างกัน ดังนั้น การฟื้นตัวก็จะแตกต่างกันตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วอาการปวดบริเวณมดลูก ช่องคลอด หรืออวัยวะเพศ ควรจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับตั้งแต่ช่วง 3 วัน หรือหนึ่งสัปดาห์หลังคลอด
ปวดเชิงกรานหลังคลอด อันตรายไหม?
ขณะคลอด อาจทำให้กระดูกเชิงกรานเสียหายได้ เช่น กระดูกก้นกบหัก จึงส่งผลให้รู้สึกปวดที่เชิงกราน อย่างไรก็ตาม อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับและค่อย ๆ หายปวดไปเอง
ปวดท้องน้อยหลังคลอด 1 เดือน ปกติไหม?
คุณแม่แต่ละท่านมีพื้นฐานสุขภาพที่แตกต่างกัน ดังนั้น การฟื้นตัวก็จะแตกต่างกันตามไปด้วย อาการปวดท้องน้อยอาจนานแค่เพียงหนึ่งสัปดาห์ในคุณแม่บางราย แต่โดยทั่วไปแล้วอาการปวดจะคงอยู่ราว ๆ 4-6 สัปดาห์
ปวดท้องน้อยหลังคลอด 3 เดือน ปกติไหม?
อาการปวดท้องน้อยควรจะนานที่สุดเพียง 1-2 เดือน หากพ้นจากนี้แล้วยังมีอาการปวดอยู่ ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง
เพราะอาจเป็นไปได้ว่าอาการปวดท้องน้อยที่เป็นอยู่นั้นมีเหตุผลมาจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นอันตรายหรือไม่มีอันตรายก็ได้
ปวดท้องน้อยหลังคลอด 6 เดือน อันตรายไหม?
อาการปวดท้องน้อยควรจะนานที่สุดเพียง 1-2 เดือน หากพ้นจากนี้แล้วยังมีอาการปวดอยู่ ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง
เพราะอาจเป็นไปได้ว่าอาการปวดท้องน้อยที่เป็นอยู่นั้นมีเหตุผลมาจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นอันตรายหรือไม่มีอันตรายก็ได้
- Healthline. What Causes Cramping After Birth and What Can You Do to Treat It?. [Online] Accessed https://www.healthline.com/health/postpartum-cramps.[14 February 2022]
- WebMD. Pelvic Bone Problems After Childbirth. [Online] Accessed https://www.webmd.com/women/pelvic-bone-problems-after-childbirth.[14 February 2022]
- Today’s Parent. Involution: How to deal with postpartum afterpains. [Online] Accessed https://www.todaysparent.com/pregnancy/giving-birth/involution-how-to-d… February 2022]
- Healthy Mom&Baby. Afterpains. [Online] Accessed https://www.health4mom.org/afterpains/.[14 February 2022]
- โรงพยาบาลพญาไท. ปวดมดลูกหลังคลอด...อันตรายไหม อาการแบบไหนควรรีบพบแพทย์. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.phyathai.com/article_detail/3297/th/.[14 February 2022]
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
- ลดน้ำหนัก ลดหน้าท้องหลังคลอด ลดยังไงให้ปลอดภัย และได้ผล
- เริ่มเลย! ออกกำลังกายหลังคลอด ทวงหุ่นฟิต พิชิตความเฟิร์ม
- นมแม่ สารพันประโยชน์ และคุณค่าดี ๆ จากอกแม่
- อาหารบำรุงน้ำนมที่แม่น้ำนมน้อย น้ำนมหด ควรกินบ่อย ๆ
- อาหารหลังคลอด ที่แม่ให้นมลูกห้ามกิน เลี่ยงได้เลี่ยง
- น้ำนมหด น้ำนมน้อย น้ำนมไม่ไหล จะกู้น้ำนมยังไงได้บ้าง
- ปั๊มนมยังไงให้ถูกวิธี ปั๊มแบบไหนให้นมเกลี้ยงเต้า
- รู้ไหม? นมแม่อยู่ได้กี่ชม. เก็บนมแม่ยังไงให้อยู่ได้นานๆ
- วิธีอุ่นนมแม่ อุ่นยังไงให้ถูกต้อง และน้ำนมไม่เสียคุณภาพ
- ภูมิแพ้ในเด็ก คุณแม่ควรรับมืออย่างไรเมื่อลูกน้อยเป็นภูมิแพ้
- ทารกเป็นหวัด หายใจไม่สะดวก คุณพ่อคุณแม่รับมืออย่างไรดี
- ปวดท้องข้างขวา ปวดจี้ด ๆ ปวดหน่วง ๆ แบบนี้ปกติไหมนะ