ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วัคซีนเด็ก

วัคซีนเด็ก 2567 ตัวไหนต้องฉีด ตัวไหนต้องเสริม มาดูกัน

Enfa สรุปให้

  • วัคซีนเด็กเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคอันตรายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับเด็กเล็ก โดยในประเทศไทยมีการกำหนดรายการวัคซีนพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งจะเริ่มรับวัคซีนเข็มแรกตั้งแต่แรกเกิด
  • นอกจากรายการวัคซีนเด็กพื้นฐานที่เด็กต้องรับแล้ว ยังมีวัคซีนเสริมหรือทดแทนชนิดอื่น ๆ ที่สามารถฉีดเพิ่มเติมได้ โดยพิจารณาจากความเสี่ยงต่อโรคนั้น ๆ ไป ว่ามีมากหรือน้อยเพียงใด
  • หลังจากการฉีดวัคซีนเด็กแล้ว ลูกน้อยอาจจะมีอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นตามปกติได้ โดยอาการที่พบบ่อยหลังจากรับวัคซีน เช่น มีไข้ ตัวร้อน น้ำมูกไหล ไอ ผื่นขึ้น มีอาการปวด บวม หรือแดง เป็นต้น

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กไทยมีอะไรบ้าง
     • ตารางวัคซีนเสริมสำหรับเด็ก 2567
     • วัคซีนเด็กอื่น ๆ ที่อาจให้เสริมหรือทดแทน
     • เตรียมตัวพาลูกไปรับวัคซีนเด็กอย่างไร
     • อาการที่อาจเกิดขึ้นหลังจากเด็กได้รับวัคซีน
     • การฉีดวัคซีนเด็กมีค่าใช้จ่ายหรือไม่
     • พาลูกไปฉีดวัคซีนได้ที่ไหนบ้าง
     • เลื่อนฉีดวัคซีนสำหรับเด็กได้ไหม
     • ลูกได้รับวัคซีนล่าช้า จะส่งผลเสียอย่างไรบ้าง
     • ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับวัคซีนเด็กกับ Enfa Smart Club

ทารกที่ยังเล็ก เด็กที่อายุยังน้อย เป็นช่วงวัยที่มีความบอบบาง จึงเสี่ยงที่จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บชนิดต่าง ๆ ได้ง่าย เนื่องจากเด็กยังไม่มีภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเชื้อโรคเหล่านั้นได้ดีพอ การฉีดวัคซีนสำหรับเด็กจึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยเสริมเกราะป้องกันโรคชนิดต่าง ๆ ที่เสี่ยงจะเป็นอันตรายต่อเด็ก เพื่อให้เด็กแข็งแรงและสามารถเติบโตได้อย่างปลอดภัย

วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กไทยมีอะไรบ้าง


1.วัคซีนวัณโรค (BCG)

วัคซีนวัณโรคจะฉีดเมื่อแรกเกิด หรือหลังการคลอด จะฉีดบนไหล่ด้านซ้าย ไม่ฉีดที่สะโพก โดยส่วนใหญ่แล้ว หลังคุณแม่คลอดทางโรงพยาบาลก็จะจัดการฉีดวัคซีนตัวนี้ให้เลย ก่อนที่คุณแม่และลูกน้อยจะออกจากโรงพยาบาล

ในกรณีที่เด็กยังไม่เคยมีประวัติ หลักฐาน หรือแผลเป็นจากการฉีดวัคซีนตัวนี้มาก่อน สามารถเข้ารับการฉีดได้ทันที และไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำหากมีประวัติในการฉีดแล้ว

2. วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (HB)

วัคซีนตับอักเสบบี เป็นวัคซีนอีกตัวหนึ่งที่เด็กจะได้รับหลังคลอด ซึ่งวัคซีนตัวนี้เป็นวัคซีนที่เด็กทุกคนต้องได้รับอย่างน้อย 3 ครั้ง และเข็มสุดท้ายที่ได้รับต้องอายุมากกว่า หรือเท่ากับ 6 เดือน โดยมีข้อแนะนำในการรับวัคซีนตับอักเสบบี ดังนี้

• เด็กที่คลอดจากคุณแม่ที่มี HBsAg เป็นลบ ให้ฉีดวัคซีน จำนวน 3 ครั้ง เข็มแรกหลังการคลอดภายใน 24 ชม. เข็มที่ 2 ช่วงอายุ 1 – 2 เดือน และเข็มสุดท้ายในช่วงอายุ 6 เดือน ตามลำดับ

• กรณีไม่ทราบผลเลือดของคุณแม่ ควรให้วัคซีนครั้งแรกภายใน 12 ชม. หลังคลอด ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ที่อายุ 1 เดือน และ 6 เดือนตามลำดับ

• เด็กที่คลอดจากคุณแม่ที่มี HBsAg เป็นบวก (โดยเฉพาะ HBeAg เป็นบวกด้วย) พิจารณาให้ HBIG 0.5 มล. ภายใน 12 ชม. หลังคลอด และให้วัคซีนครั้งที่ 1 พร้อมกันคนละข้างกับ HBIG

  • กรณีเด็กได้รับ HBIG ให้ฉีดวัคซีนครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 1 – 2 เดือน และครั้งที่ 3 เมื่ออายุ 6 เดือน
  • กรณีเด็กไม่ได้รับ HBIG ควรให้วัคซีนครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 1 เดือน และครั้งที่ 3 เมื่ออายุ 6 เดือน

• ในกรณีที่มาทราบภายหลังว่า คุณแม่มี HBsAg เป็นบวก ควรพิจารณาให้ HBIG ถ้าเด็กได้รับวัคซีนมาแล้วไม่เกิน 7 วัน

• ตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ใช้วัคซีนรวมที่มี คอตีบ – บาดทะยัก – ไอกรน – ตับอักเสบบี – ฮิบ (DTP-HB-Hib) ที่อายุ 2, 4 และ 6 เดือน ถ้าหากคุณแม่มี HBsAg เป็นบวก และเด็กไม่ได้รับ HBIG ควรให้วัคซีนตับอักเสบบีแบบเดี่ยวเพิ่มตอนอายุ 1 เดือนด้วย (รวมเป็น 5 ครั้ง)

• เด็กที่คลอดจากคุณแม่ที่มี HBsAg เป็นบวก ควรตรวจ HBsAg และ anti-HBs เมื่ออายุประมาณ 9 – 12 เดือน

3. วัคซีนคอตีบ – บาดทะยัก – ไอกรน (DTwp)

วัคซีนชนิดนี้ เด็ก ๆ จะได้รับในช่วงวัย 2, 4 และ 6 เดือน สามารถใช้วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ (DTaP) แทนชนิดเซลล์ (DTwP) ได้ทุกครั้ง ในกรณีที่ใช้ชนิดไร้เซลล์ (DTaP) ควรใช้ชนิดเดียวกันทั้ง 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน หากไม่สามารถใช้ชนิดเดียวแทนกันได้ ให้ใช้ชนิดใดแทนกันก็ได้ และยังมีข้อแนะนำเพิ่มเติม ดังนี้

  • สำหรับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 18 เดือน อาจใช้ DTwP หรือ DTaP หรือ pentavalent (DTP-HB-Hib) ชนิดใดก็ได้
  • เมื่ออายุ 4 – 6 ปี อาจจะใช้ DTwP, DTaP หรือ Tdap (Boostrix™ หรือ Adacel™) ก็ได้
  • เมื่อเด็กอายุ 11 – 12 ปี ควรได้รับการฉีด Td หรือ TdaP (Boostagen™) ไม่ว่าจะเคยได้รับ Tdap เมื่ออายุ 4 – 6 ปี มาก่อนหรือไม่ หลังจากนั้นควรได้รับการฉีดกระตุ้นด้วย Td/Tdap ทุก 10 ปี
  • สำหรับผู้ใหญ่ควรได้รับ Tdap หรือ TdaP 1 เข็ม ไม่ว่าจะเคยได้รับ TT หรือ Td มานานเท่าไหร่แล้วก็ตาม จากนั้นให้ฉีดกระตุ้นด้วย Td/Tdap ทุก 10 ปี
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ Tdap/TdaP 1 เข็ม ที่อายุครรภ์ 27 – 36 สัปดาห์ทุก ๆ การตั้งครรภ์
  • ในปัจจุบันมีวัคซีน aP (Pertagen™) สำหรับผู้ที่มีอายุ 11 ปีขึ้นไป ที่ต้องการภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนเพียงอย่างเดียว โดยมีภูมิคุ้มกันต่อคอตีบ และบาดทะยักเพียงพอแล้ว

4. วัคซีนฮิบ (Hib)

ฮิบ หรือ เชื้อฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซา ชนิดบี (Haemophilus influenzae type B) คือเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคอย่าง โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคปอดอักเสบ เป็นต้น โดยเด็กจะได้วัคซีนฮิบในช่วงวัย 2, 4 และ 6 เดือน เช่นเดียวกับวัคซีนคอตีบ – บาดทะยัก – ไอกรน

หากเด็กมีสุขภาพแข็งแรง อาจจะไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเมื่ออายุ 12 – 18 เดือน แนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่มีม้าม หรือม้ามทำงานผิดปกติ และไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนฮิบในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันปกติ อายุ 2 ปี ขึ้นไป

5. วัคซีนโปลิโอ (OPV, IPV)

สำหรับวัคซีนโปลิโอ จะเป็นวัคซีนชนิดกิน (OPV) และชนิดฉีด (IPV) เด็กจะได้วัคซีนแบบกินก่อน โดยแต่ละครั้งจะต้องหยดวัคซีน 5 ครั้ง และเมื่อเด็กอายุ 4 เดือน จะให้วัคซีนชนิดกิน ร่วมกับวัคซีนชนิดฉีด 1 เข็ม โดยจะเด็กจะได้รับวัคซีนโปลิโอเมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน ตามลำดับ

6. วัคซีนโรต้า (Rota)

วัคซีนโรต้า เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า ที่ทำให้เกิดอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ และอาเจียนรุนแรงในทารกและเด็กเล็ก โดยเด็กจะได้รับวัคซีนในช่วงวัย 2, 4 และ 6 เดือน ซึ่งมีข้อแนะนำในการรับวัคซีน ดังนี้

  • วัคซีนโรต้า มีด้วยกัน 2 ชนิด แบ่งออกเป็น
    • ชนิด monovalent มี 2 ชนิด ได้แก่
      • human monovalent (Rotarix™) ให้กิน 2 ครั้ง เมื่ออายุประมาณ 2 และ 4 เดือน และ human-bovine monovalent (Rotavac™) ให้กิน 3 ครั้ง เมื่ออายุประมาณ 2, 4 และ 6 เดือน
    • ชนิด human-bovine pentavalent (RotaTeq™, Rotasiil™) ให้กิน 3 ครั้ง เมื่ออายุประมาณ 2, 4 และ 6 เดือน

โดยวัคซีนทั้ง 4 ชนิด สามารถเริ่มให้ได้ครั้งแรก เมื่ออายุ 6 – 15 สัปดาห์ และครั้งสุดท้ายไม่เกิน 8 เดือน โดยแต่ละครั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์ หรืออาจจะพิจารณาให้ในเด็กที่มีอายุมากกว่าที่กำหนดไว้ได้ แต่อายุต้องไม่เกิน 2 ปี ซึ่งเป็นคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยแพทย์ควรอธิบายความเสี่ยงให้ผู้ปกครองได้ทราบ

  • ควรใช้วัคซีนชนิดเดียวกันจนครบ หากจำเป็นต้องใช้วัคซีนต่างชนิดกันในแต่ละครั้ง หรือไม่ทราบว่าครั้งก่อนหน้าได้รับวัคซีนชนิดอะไรมา ต้องให้วัคซีนทั้งหมด 3 ครั้ง
  • สามารถให้วัคซีนโรต้าร่วมกับวัคซีนโปลิโอชนิดกินได้
  • ห้ามใช้วัคซีนนี้ ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (severe combined immune deficiency: SCID) และในเด็กที่มีประวัติลำไส้กลืนกัน

7. วัคซีนหัด – คางทูม – หัดเยอรมัน (MMR)

วัคซีนหัด – คางทูม – หัดเยอรมัน จะให้ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9 – 12 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 18 เดือน หากเด็กอยู่ในพื้นที่ที่มีการรายงานโรคหัดจำนวนน้อย อาจจะฉีดเข็มแรกเมื่ออายุ 12 เดือน และยังมีข้อแนะนำในการรับวัคซีนตัวนี้ ดังนี้

  • ในกรณีที่มีการระบาด หรือสัมผัสโรค ควรเริ่มฉีดวัคซีน และฉีดให้ครบโดยเร็ว ดังนี้
    • สามารถเริ่มฉีดเข็มแรก ตั้งแต่อายุ 6 – 9 เดือน ให้ฉีดซ้ำเข็มที่ 2 ที่อายุ 12 เดือน และเข็มที่ 3 ที่อายุ 18 เดือน
    • ถ้าเริ่มฉีดเข็มแรกตั้งแต่อายุ 9 – 12 เดือน ให้ฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน ได้ 2 เข็ม ถือว่าฉีดครบ
    • ถ้าเริ่มฉีดเข็มแรกหลังอายุ 12 เดือน ให้ฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 1 เดือน ได้ 2 เข็ม ถือว่าฉีดครบ ทั้งนี้ ในกรณีที่ต้องการควบคุมโรคระบาดของหัด อาจใช้วัคซีนหัด – หัดเยอรมัน (MR) แทนได้ในเด็กที่มีอายุมากกว่า 4 ปี และผู้ใหญ่
  • ในกรณีที่ต้องการฉีดวัคซีน หัด – คางทูม – หัดเยอรมัน และอีสุกอีใสในเวลาเดียวกัน สามารถใช้วัคซีนรวม หัด – คางทูม - หัดเยอรมัน – อีสุกอีใส (MMRV) แทนการฉีดแบบแยกเข็มได้ทุกครั้งในเด็ก ที่มีอายุตั้งแต่ 1 – 12 ปี
  • การใช้วัคซีนรวม MMRV ในเด็กอายุ 12 – 23 เดือน เข็มแรกมีโอกาสที่จะเกิดอาการชักได้มากกว่าการฉีดแยกเข็ม สำหรับการฉีดวัคซีนรวม MMRV ที่อายุ 2 – 4 ปี พบว่ามีอาการข้างเคียงไม่ต่างกัน
  • กรณีเคยได้วัคซีน MMR หรือ VZV มาก่อน แนะนำให้ฉีดวัคซีนรวม MMRV ห่างจากวัคซีน MMR และ VZV ครั้งก่อน อย่างน้อย 3 เดือน

8. วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Live JE)

วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี มีด้วยกันอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนชนิดเชื้อไม่มีชีวิต (inactivated; JEVAC™) ฉีด 3 ครั้ง เริ่มเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป เข็มต่อมาอีก 1 – 4 สัปดาห์ และ 1 ปีตามลำดับ อีกชนิดคือ วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต (live JE; CD-JEVAX™ และ IMOJEV™/THAIJEV™) ให้ฉีด 2 ครั้ง เข็มแรกที่อายุ 9 – 12 เดือน เข็มต่อมาอีก 12 – 24 เดือน live JE ทั้งสองชนิดสามารถใช้แทนกันได้

นอกจากนี้ สามารถใช้วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต (live JE) ฉีดกระตุ้นในผู้ที่เคยฉีดวัคซีนชนิดไม่มีชีวิต (inactivated JE) ได้ และสามารถใช้วัคซีนชนิดไม่มีชีวิต (inactivated JE) ฉีดกระตุ้นในผู้ที่เคยฉีดชนิดมีเชื้อชีวิต (live JE) ได้ โดยห่างกันอย่างน้อย 12 เดือน

สำหรับผู้ที่เคยรับวัคซีนเชื้อไม่มีชีวิตชนิด (mouse-brain derived vaccine) ครบแล้ว อาจจะพิจารณาให้วัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิตกระตุ้นซ้ำอีก 1 ครั้ง โดยห่างจากเข็มสุดท้ายอย่างน้อย 1 ปี

9. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนสำคัญอีกตัวที่เด็กทารกควรได้รับ โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะพิจารณาให้ฉีด ตอนเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี และเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรครุนแรง เช่น เด็กที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง (รวมหอบหืด), โรคหัวใจ, โรคอ้วน (มีค่าBMI มากกว่า 35), ภูมิคุ้มกันบกพร่อง, หญิงตั้งครรภ์ และโรคเรื้อรังอื่น ๆ เป็นต้น

10. วัคซีน HPV สำหรับเด็กหญิง

วัคซีน HPV เป็นวัคซีนที่ป้องกันไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก และเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่ทำลายสุขภาพของผู้หญิงในปัจจุบัน การฉีดวัคซีน HPV จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดอัตราความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก โดยแพทย์จะแนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV ในเด็กผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 9-26 ปี อย่างไรก็ตาม วัคซีน HPV ยังสามารถฉีดในเด็กผู้ชายได้เหมือนกัน โดยจะไปช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งองคชาต มะเร็งช่องปากและหลอดคอ มะเร็งทวารหนัก หูดที่อวัยวะเพศของผู้ชาย

การฉีดในเด็กผู้หญิง

  • แพทย์แนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV ในเด็กผู้หญิงที่มีอายุ 9 ปีขึ้นไป สำหรับเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง หากฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี แพทย์จะแนะนำให้ฉีด 2 เข็ม ในเดือนที่ 0, 6 – 12 เดือน สำหรับหญิงอายุ 15 – 26 ปี ให้ฉีด 3 เข็ม ในเดือนที่ 0, 1 - 2 และ 6

การฉีดในเด็กผู้ชาย

  • แพทย์อาจพิจารณาให้ฉีดวัคซีน HPV เฉพาะชนิด 4 สายพันธุ์ ในช่วงอายุ 9 – 26 ปี

ตารางวัคซีนเสริมสำหรับเด็ก 2567


Vaccine for Thai Children 2022

ทั้งนี้การให้วัคซีนช่วงตลอดช่วงอายุ 1 – 12 เดือนของลูกน้อย อาจจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่โดยหลัก ๆ แล้ว เด็กในช่วงวัยนี้ จะได้รับวัคซีนตามที่กำหนดไว้หลัก ๆ ประมาณ 9 ตัวด้วยกัน

นอกจากนี้ยังมีวัคซีนอื่น ๆ ที่จะเสริม หรือทดแทน ซึ่งขึ้นอยู่กับการประเมิน และคำแนะนำของแพทย์ ดังนั้นคุณแม่ ควรพาลูกน้อยเข้ารับวัคซีนตามที่แพทย์นัดหมายให้ครบถ้วน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญของสุขภาพลูกน้อย

วัคซีนเด็กอื่น ๆ ที่อาจให้เสริมหรือทดแทน


การรับวัคซีนหลักสำหรับเด็ก ถือว่าเพียงพอต่อการป้องกันโรคพื้นฐานที่เสี่ยงต่อเด็ก อย่างไรก็ตาม วัคซีนเสริมชนิดอื่น ๆ ก็จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับเจ้าตัวเล็กได้มากขึ้นไปอีก

ส่วนจะจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเสริมหรือไม่นั้น ขอให้พิจารณาดูว่าเจ้าตัวเล็กมีความเสี่ยงต่อโรคนั้น ๆ มากหรือน้อยเพียงใด หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมาก ก็อาจจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนเสริมสำหรับเด็ก โดยวัคซีนเสริมสำหรับเด็ก มีดังนี้

  • วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ วัคซีนชนิดไร้เซลล์นี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนได้ตามปกติ แต่มีผลข้างเคียงหลังฉีดที่น้อยกว่า
  • วัคซีนป้องกันโปลิโอชนิดฉีด การฉีดวัคซีนโปลิโอให้ประสิทธิภาพเท่ากับวัคซีนชนิดกิน และสามารถใช้แทนชนิดกินได้ทุกครั้ง ซึ่งมักฉีดรวมพร้อมกับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน
  • วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี อย่างไรก็ตาม เด็กที่ฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส ก็ยังสามารถเป็นอีสุกอีใสได้อยู่ แต่มักเป็นเพียงเล็กน้อย ไม่ได้เป็นมากเท่ากับเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส
  • วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ จะฉีดให้เด็กที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป โดยให้ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน ซึ่งจะช่วยป้องกันอาการดีซ่านจากโรคไวรัสตับอักเสบเอ
  • วัคซีนป้องกันโรคปอดบวม (ไอพีดี) ฉีดเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุกล้ำ โดยจะเริ่มฉีดเมื่อเด็กมีอายุ 2, 4, 6 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 12-15 เดือน
  • วัคซีน HPV เป็นวัคซีนที่ป้องกันไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก โดยแพทย์จะแนะนำให้ฉีดในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายที่อายุ 9 - 26 ปี ซึ่งสำหรับเด็กผู้ชายนั้นวัคซีน HPV จะช่วยป้องกันโรคหูดหงอนไก่ และมะเร็งทวารหนัก
  • วัคซีนไข้เลือดออก สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-45 ปี โดยแพทย์จะเว้นระยะการฉีดเป็น 3 ครั้ง คือ 0, 6 และ 12 เดือน
  • วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สามารถเข้ารับการฉีดได้ทุกช่วงวัยโดยไม่จำเป็นต้องมีประวัติเป็นโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน แต่เพื่อลดความเสี่ยง ควรไปเข้ารับการฉีดวัคซีนตั้งแต่เนิ่น ๆ
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนที่ควรฉีดปีละ 1 ครั้ง และสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน

เตรียมตัวพาลูกไปรับวัคซีนเด็กอย่างไร


ก่อนพาลูกไปเข้ารับวัคซีนหลักหรือวัคซีนเสริมตามกำหนด พ่อแม่ควรปฏิบัติดังนี้

  • พ่อแม่ควรนำสมุดบันทึกการรับวัคซีนติดตัวมาด้วยทุกครั้ง
  • หากลูกมีอาการแพ้ยา หรือแพ้อาหาร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอ
  • ในกรณีที่เด็กมีไข้ขึ้นสูง ไม่สบาย ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อนจนกว่าจะหายดี
  • ในกรณีที่ไม่สามารถมาตามนัดได้ ควรแจ้งต่อแพทย์ และสามารถพาลูกมารับวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ครบโดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่
  • หลังรับวัคซีน ควรรอสังเกตอาการอย่างน้อย 30 นาที แล้วจึงกลับบ้าน

อาการที่อาจเกิดขึ้นหลังจากเด็กได้รับวัคซีน


การฉีดวัคซีนเด็ก เป็นการเสริมภูมิคุ้มกันเด็กให้แข็งแรง สามารถต่อสู้กับโรคและไวรัสต่าง ๆ ได้ ดังนั้นเมื่อรับวัคซีนไปแล้ว ร่างกายจึงอาจมีปฏิกิริยากับวัคซีนที่เพิ่งรับไป และแสดงอาการบางอย่างออกมาให้เห็น

แต่เนื่องจากวัคซีนที่ฉีดเป็นวัคซีนต่างชนิดกัน ป้องกันโรคคนละชนิดกัน อาการหลังการฉีดวัคซีนก็จะแตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • มีไข้ ตัวร้อน มักพบได้หลังจากฉีดวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก
  • มีอาการไอ น้ำมูกไหล ผื่นขึ้น มักพบได้หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมัน
  • มีตุ่มหนอง มักพบได้หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG)
  • มีอาการปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน อาจเกิดจากการร้องงอแง การขยับตัวขณะฉีดวัคซีน การประคบเย็นสามารถช่วยบรรเทาได้
  • มีอาการชัก มักพบในเด็กที่มีไข้สูงหลังฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีนเด็กมีค่าใช้จ่ายหรือไม่


สำหรับวัคซีนหลักสามารถพาลูกที่ไปเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ เช่น รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ในส่วนของวัคซีนเสริมอาจมีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทของวัคซีนที่ฉีด และสถานพยาบาลที่เข้ารับการฉีด

คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกไปฉีดวัคซีนได้ที่ไหนบ้าง


สำหรับวัคซีนหลัก สามารถพาลูกที่ไปเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ เช่น รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงคลินิกและโรงพยาบาลเอกชน (กรณีนี้อาจมีค่าใช้จ่าย ควรสอบถามกับคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชนที่สนใจก่อน)

ในส่วนของวัคซีนเสริม อาจมีค่าใช้จ่ายตามแต่ประเภทของวัคซีน คุณแม่จำเป็นที่จะต้องสอบถามค่าใช้จ่ายกับสถานพยาบาลก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน เนื่องจากราคาอาจมีการปรับขึ้นหรือลงได้ในแต่ละปี

เลื่อนฉีดวัคซีนสำหรับเด็กได้ไหม


การเลื่อนฉีดวัคซีนเด็กแม้จะไม่ใช่คำแนะนำที่ดีนัก เพราะการรับวัคซีนที่ไม่ตรงตามกำหนด อาจเสี่ยงที่จะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันโรคไม่ตรงตามช่วงวัยอย่างเพียงพอ ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้ติดโรคหรือไวรัสต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความจำเป็น หรือในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เช่นนี้ อาจส่งผลให้การเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปฉีดวัคซีนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย ซึ่งสมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทยได้แนะนำว่าหากเป็นวัคซีนที่จำเป็นต้องฉีดตามกำหนด ควรไปเข้ารับวัคซีนตามกำหนด เช่น วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากถูกสุนัขกัดจำเป็นต้องมารับวัคซีนตามกำหนด

วัคซีนเด็กที่สามารถเลื่อนออกไปได้ 1-2 สัปดาห์

  • วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (HB) 3 เข็มแรก
  • วัคซีนโรต้า (Rota)
  • วัคซีนโปลิโอ (OPV, IPV)
  • วัคซีนคอตีบ – บาดทะยัก – ไอกรน (DTwp) 3 เข็มแรก
  • วัคซีนไอพีดี (IPD) 3 เข็มแรก
  • วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Live JE)
  • วัคซีนหัด – คางทูม – หัดเยอรมัน (MMR)
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

วัคซีนเด็กที่สามารถเลื่อนออกไปได้ 2-4 สัปดาห์

  • วัคซีนโปลิโอ (OPV, IPV) และวัคซีนคอตีบ – บาดทะยัก – ไอกรน (DTwp) สำหรับเข็มกระตุ้นตอนอายุ 1 ขวบครึ่ง และอายุ 4 ขวบ
  • วัคซีนไอพีดี (IPD) เข็มกระตุ้นตอนอายุ 12-15 เดือน
  • วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ
  • วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส

วัคซีนเด็กที่สามารถเลื่อนออกได้นานกว่า 1 เดือน

  • วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีน HPV
  • วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยักสำหรับวัยรุ่น

ลืมพาลูกไปฉีดวัคซีน ลูกได้รับวัคซีนล่าช้า ไม่ตรงตามกำหนด จะส่งผลเสียอย่างไรบ้าง


การเลื่อนฉีดวัคซีนเด็ก หรือไปเข้ารับวัคซีนเด็กไม่ตรงตามกำหนด อาจเสี่ยงที่จะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันโรคไม่ตรงตามช่วงวัยอย่างเพียงพอ ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้ติดโรคหรือไวรัสต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับวัคซีนเด็กกับ Enfa Smart Club


วัคซีนบาดทะยักฉีดตอนไหน

โดยปกติแล้ววัคซีนป้องกันบาดทะยักมักจะถูกให้ร่วมกับวัคซีน DTaP เพื่อป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก ซึ่งวัคซีนรวม DTap นี้ จำเป็นที่จะต้องฉีด 5 เข็ม โดยจะได้รับตามช่วงอายุคือ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 15 ถึง 18 เดือน และอายุ 4 ถึง 6 ปี

วัคซีนเด็ก 4 ขวบมีวัคซีนอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่

เมื่อเด็กมีอายุ 4 ปีควรได้รับวัคซีนหลักและวัคซีนเสริม ดังนี้

วัคซีนหลักสำหรับเด็กอายุ 4 ปี

  • วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ กระตุ้น เข็มที่ 2 (DTwP กระตุ้น 2)
  • วัคซีนโปลิโอ ชนิดกิน กระตุ้น ครั้งที่ 2 (OPV กระตุ้น 2),

วัคซีนเสริมสำหรับเด็กอายุ 4 ปี

  • วัคซีนป้องกันคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน ชนิดไร้เซลล์กระตุ้น เข็มที่ 2 (DTaP กระตุ้น 2)
  • วัคซีนโปลิโอ ชนิดฉีด เข็มที่ 5 (IPV 5)
  • วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ครั้งที่ 2 (VZV 2) หรือ วัคซีนรวมหัด, หัดเยอรมัน, คางทูม, อีสุกอีใส เข็ม 2 (MMRV 2)

ส่วนค่าใช้จ่ายนั้นจะแตกต่างกันไปตามแต่สถานพยาบาล จึงควรติดต่อและสอบถามกับสถานพยาบาลโดยตรงเพื่อให้ได้ข้อมูลล่าสุดที่ถูกต้อง

วัคซีนเด็ก 6 เดือนคือวัคซีนอะไร

เมื่อเด็กมีอายุ 6 เดือน ควรได้รับวัคซีนดังนี้

  • วัคซีนรวม 6 โรค (วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-วัคซีนโปลิโอ-วัคซีนฮิป-วัคซีนตับอักเสบบี) เข็มที่ 3
  • วัคซีนไวรัสโรต้า (RV) ป้องกันโรคท้องร่วง ครั้งที่ 3
  • วัคซีนเสริม : วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (IPD) ครั้งที่ 3

พาลูกไปฉีดวัคซีนที่คลินิกได้ไหม

สามารถพาลูกไปฉีดวัคซีนเด็กได้ตามสถานพยาบาลทั่วไปทั้งรัฐบาลและเอกชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมถึงคลินิกด้วย

ลูกฉีดวัคซีนแล้วมีไข้ ควรดูแลอย่างไร

หากลูกฉีดวัคซีนแล้วมีอาการไข้ตามมา ควรให้ลูกพักผ่อนให้เพียงพอ นำผ้าเช็ดตัวหรือผ้าสะอาดมาชุบน้ำอุ่น เพื่อเช็ดตัวทำความสะอาดร่างกาย และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง แต่ถ้ามีอาการไข้นานเกินกว่า 2 วัน ควรพาไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษา

ทำสมุดฉีดวัคซีนเล่มสีชมพูหาย คุณแม่ควรทำอย่างไร

หากสมุดฉีดวัคซีนเล่มสีชมพูหาย คุณแม่สามารถไปติดต่อขอรับสมุดเล่มใหม่ได้ที่โรงพยาบาลที่มีการเกิด หรือโรงพยาบาลที่มีประวัติการฉีดวัคซีนได้เลย



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

บทความที่แนะนำ

พาลูกวัย 2 ขวบขึ้นเครื่องบิน ไม่ง่ายอย่างที่คิดนะ?
พาลูกไปพบหมอ ต้องเตรียมอะไรบ้าง
Enfa Smart Club

Leaving page banner

 

Leaving page banner