Enfa สรุปให้:
- ทารกเพศชายวัย 1 ขวบ หนักประมาณ 9.6 กิโลกรัม สูงประมาณ 75.7 เซนติเมตร ทารกเพศหญิงวัย 1 ขวบ หนักประมาณ 8.9 กิโลกรัม สูงประมาณ 74 เซนติเมตร
- พัฒนาการ 1 ขวบ ถือได้ว่าเป็นช่วงที่ลูกมีพัฒนาการตามช่วงอายุที่ชัดเจนมากขึ้น จากที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จนตอนนี้เริ่มนั่ง คลาน เดิน รวมทั้งยังเข้าใจภาษา และอารมณ์ได้มากขึ้น
- เด็กวัย 1 ขวบ จะมีความกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น และกล้าแสดงออกมากขึ้น ในวัยนี้ ลูกน้อยอาจเริ่มใช้พูดเป็นคำ ๆ หรือพูดคำซ้ำ ๆ ได้บ่อยขึ้น เริ่มที่จะพยุงตัวยืนขึ้นได้เอง เริ่มก้าวได้สั้น ๆ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• มีอะไรบ้างเกิดขึ้นในช่วงอายุ 1 ขวบ
• น้ำหนักและส่วนสูงของทารกวัย 1 ขวบ
• การกินของทารกวัย 1 ขวบ
• การขับถ่ายของทารกวัย 1 ขวบ
• การนอนของทารก 1 ขวบ
• พัฒนาการเด็กทารก 1 ขวบ
• กระตุ้นพัฒนาการทารก 1 ขวบ
• ไขข้อข้องใจเรื่องพัฒนาการทารกวัย 1 ขวบ กับ Enfa Smart Club
1 ปีผ่านไปไว แต่ไม่เหมือนโกหก เพราะคุณพ่อคุณแม่อาจจะรู้สึกได้ว่าเวลา 1 ปีนั้นมันช่างผ่านไปเร็วเสียเหลือเกิน ในที่สุดเจ้าตัวเล็กก็มีอายุครบ 1 ขวบแล้ว แต่เด็ก 1 ขวบจะมีพัฒนาการอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง และคุณพ่อคุณแม่จะช่วยเสริมพัฒนาและฝึกพัฒนาการลูก 1 ขวบ ได้อย่างไร Enfa พร้อมแล้วที่จะต้อนรับคุณพ่อคุณแม่เข้าสู่โลกของเจ้าตัวเล็กวัย 1 ขวบ
พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของเด็ก 1 ขวบ
เด็ก 1 ขวบ ถือว่าลูกได้ก้าวพ้นจากวัยทารกแบเบาะ มาเป็นเด็กน้อยวัยเตาะแตะแล้ว เด็กวัย 1 ขวบ จะมีความกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น และกล้าแสดงออกมากขึ้น ในวัยนี้ ลูกน้อยอาจเริ่มใช้พูดเป็นคำ ๆ หรือพูดคำซ้ำ ๆ ได้บ่อยขึ้น เริ่มที่จะพยุงตัวยืนขึ้นได้เอง เริ่มก้าวได้สั้น ๆ ถือว่าเป็นช่วงวัยแห่งการเจริญเติบโตที่ก้าวกระโดดมากอีกวัยหนึ่งค่ะ
น้ำหนักและส่วนสูงของเด็ก 1 ขวบ
เมื่อทารกอายุได้ 1 ขวบ ทารกก็จะมีรูปร่างที่ใหญ่ขึ้น น้ำหนักตัวมากขึ้น และมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละคนจะมีน้ำหนักและส่วนสูงและพัฒนาการ เด็ก 1 ขวบที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ตามเกณฑ์ที่เหมาะสม แต่ก็มีบ้างบางกรณีที่ทารกวัย 1 ขวบ มีน้ำหนักและส่วนสูงที่เกินหรือต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น
น้ำหนักเด็ก 1 ขวบ
น้ำหนักของทารกวัย 1 ขวบนั้น สามารถแบ่งออกตามเพศโดยกำเนิดได้ดังนี้
• ทารกเพศชายวัย 1 ขวบ หนักประมาณ 9.6 กิโลกรัม
• ทารกเพศหญิงวัย 1 ขวบ หนักประมาณ 8.9 กิโลกรัม
ส่วนสูงเด็ก 1 ขวบ
ความสูงเด็ก 1 ขวบนั้น สามารถแบ่งออกตามเพศโดยกำเนิดได้ดังนี้
• ทารกเพศชายวัย 1 ขวบ สูงประมาณ 75.7 เซนติเมตร
• ทารกเพศหญิงวัย 1 ขวบ สูงประมาณ 74 เซนติเมตร
การกินของเด็ก 1 ขวบ
เด็กวัย 1 ขวบนี้ เริ่มที่จะกินอาหารได้แบบเดียวกับที่ผู้ใหญ่กินแล้วค่ะ เริ่มสามารถนั่งกินข้าวได้เอง สามารถที่จะเคี้ยวอาหารได้ดี และแน่นอนว่าสามารถที่จะกินอาหารที่เป็นเมนูต่าง ๆ ได้หลากหลายมากขึ้นด้วย เป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่สามารถรังสรรค์เมนูใหม่ ๆ มาให้เจ้าตัวเล็กได้ทุกวันเลยค่ะ
อาหารเด็ก 1 ขวบ
เด็ก 1 ขวบ กินได้เกือบทุกอย่าง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถที่จะทำเมนูเด็ก 1 ขวบได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นต้ม ผัด แกง ทอด เด็ก 1 ขวบก็สามารถที่จะกินได้ เช่น
• ผัดฟักทอง
• ไข่เจียว
• ไข่ข้น
• หอมใหญ่ทอด
• ข้าวตุ๋น
• โจ๊ก
• ผัดยากิโซบะ
• พาสต้า
สิ่งสำคัญคือต้องแน่ใจว่าในแต่ละมื้ออาหารนั้น ลูกจะได้รับทั้งเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และธัญพืชอย่างเพียงพอ เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารและพลังงานที่เหมาะสมในแต่ละวันค่ะ
นมผงเด็ก 1 ขวบ
เมื่อเด็กอายุครบ 1 ขวบ คุณแม่สามารถที่จะหยุดการให้นมแม่และนมผงสำหรับเด็ก 1 ขวบ พูดง่าย ๆ คือถึงเวลาที่ลูกจะต้องเริ่มหย่านมได้แล้วค่ะ
อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ยังอยากให้ลูกได้กินนมควบคู่ไปกับอาหารตามวัยอยู่ ก็สามารถทำได้เช่นกันค่ะ โดยปริมาณนมแม่หรือนมผงที่เด็ก 1 ขวบควรได้รับต่อวัน จะอยู่ที่ประมาณ 24 ออนซ์ต่อวัน
การขับถ่ายของเด็ก 1 ขวบ
ทารกวัย 1 ขวบ แน่นอนค่ะว่าสามารถกินอาหารอื่น ๆ ควบคู่ไปกับนมแม่และนมผงได้ อัตราความถี่ในการอุจจาระก็อาจจะเพิ่มมากขึ้น ลักษณะอุจจาระ รวมถึงสีของอุจจาระ ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปตามอาหารที่กิน จากที่เมื่อก่อนจะเป็นอุจจาระจากการกินนมแม่แค่เพียงอย่างเดียว
เด็ก 1 ขวบ ถ่ายวันละกี่ครั้ง
สุขภาพของเด็กแต่ละคนนั้นแตกต่างกันค่ะ ดังนั้น จึงถือว่าเป็นเรื่องยากที่จะเจาะจงว่าเด็กวัย 1 ขวบจะขับถ่ายวันละกี่ครั้ง อาจจะเป็น 1 ครั้ง 2 ครั้ง 3 ครั้ง หรือ 4-6 ครั้งต่อวันก็ได้เช่นกัน หรือบางครั้งที่ลูก 1 ขวบ ท้องเสีย ก็อาจจะมีการขับถ่ายหลายครั้งต่อวัน ซึ่งถ้าหากูกมีอาการท้องเสีย ควรพาลูกไปพบแพทย์โดยเร็วนะคะ
สีอุจจาระของเด็ก 1 ขวบ
อุจจาระปกติควรจะเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองเข้ม แต่ในช่วงอายุ 1 ขวบนี้ คุณแม่อาจะเริ่มสังเกตว่าสีอุจจาระของลูกบางครั้งก็เปลี่ยนไป โดยบางครั้งอาจมีสีเขียวออกมาด้วย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้และไม่ใช่เรื่องผิดปกตินะคะ เพราะเด็กวัยนี้เริ่มกินอาหารอื่น ๆ นอกเหนือจากนมแม่ได้มากขึ้นแล้ว สีของอุจจาระ อาจแปรเปลี่ยนไปตามผักและผลไม้ที่ทารกกินเข้าไปได้ค่ะ
แต่ถ้าหากทารกมีอุจจาระสีดำ อุจจาระสีแดง อุจจาระสีขาว และอุจจาระสีเทา ถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย ควรพาลูกไปพบแพทย์ค่ะ
การนอนของเด็ก 1 ขวบ
การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่สมบูรณ์และแข็งแรง จึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องพาลูกน้อยเข้านอนให้เหมาะสม เพื่อเสริมพัฒนาการ 1 ขวบ
เด็ก 1 ขวบ นอนกี่ชั่วโมง
เด็กวัย 1 ขวบ ควรจะนอนให้ได้ประมาณ 14-15 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นนอนตอนกลางวัน 3-4 ชั่วโมง โดยให้เด็กได้นอนงีบ 2 ครั้งต่อวัน คือช่วงสายและช่วงบ่าย และนอนตอนกลางคืนอีก 11 ชั่วโมง
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ
พัฒนาการ 1 ขวบ ถือได้ว่าเป็นช่วงที่ลูกมีพัฒนาการตามช่วงอายุที่ชัดเจนมากขึ้น จากที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จนตอนนี้เริ่มนั่ง คลาน เดิน รวมทั้งยังเข้าใจภาษา และอารมณ์ได้มากขึ้น ตามไปดูกันดีกว่าว่า ในเดือนที่ 12 นี้ เจ้าตัวเล็กของเราจะมีพัฒนาการด้านไหนเป็นอย่างไรบ้าง
พัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็ก 1 ขวบ
• วัย 1 ขวบ เด็กจะแสดงออกทางอารมณ์มากขึ้น ไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ โกรธเกรี้ยว อาละวาด ไม่พอใจ ซึ่งลูกจะแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมเพียงใด ขึ้นอยู่กับคุณแม่ที่ต้องคอยสอนให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเองด้วย เทคนิคง่าย ๆ ที่ช่วยให้ลูกที่กำลังโกรธเกรี้ยวสงบลงคือ การเบี่ยงเบนความสนใจ พาลูกออกมาจากพื้นที่ความขัดแย้งแล้วดึงความสนใจลูกไปยังสิ่งอื่น ๆ สิ่งที่ต้องระวังให้มากคือ การใช้อารมณ์หรือลงโทษแรง ๆ
• เด็ก 1 ขวบ สามารถรับรู้อารมณ์ของคนอื่นได้มากขึ้นว่าพอใจหรือไม่พอใจเช่นกัน
• มีความกลัว พร้อมกับความรู้สึกไม่อยากให้แม่ห่างไปไหนไกล จะรู้สึกอึดอัดเมื่อไม่มีแม่อยู่ใกล้ ๆ หรือแม่ออกไปทำงานเป็นเวลานาน คุณแม่จะเห็นปฏิกิริยาดีใจของลูกเมื่อเห็นคุณแม่กลับมา ในเด็กบางคนอาจจะมีความกลัวคนแปลกหน้า และสถานที่ใหม่ ๆ เวลาไปสนามเด็กเล่น หรือลานจอดรถ โดยคุณแม่สามารถช่วยลูกให้ใจเย็นลงได้ด้วยการกอด ให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย และคอยอยู่ใกล้ชิดกับลูกน้อย ให้ค่อย ๆ คุ้นชิน จากนั้นค่อย ๆ ปล่อยให้ลูกน้อยก้าวออกไปเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ
พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารของเด็ก 1 ขวบ
• ลูกยังคงเรียนรู้ที่จะเปล่งเสียงพูดให้เป็นภาษามากขึ้น ยิ่งคุณแม่พูดคุย เล่นกับลูก อ่านหนังสือให้ลูกฟัง รวมทั้งพาลูกไปเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ บ่อย ๆ หรือจะใช้ของเล่นเสริมพัฒนาการ 1 ขวบ เล่นกับลูกน้อยก็จะช่วยเพิ่มทักษะการใช้ภาษาของลูกให้พัฒนายิ่งขึ้น
พัฒนาการด้านสมองของเด็ก 1 ขวบ
• สามารถจดจำ และเลียนแบบท่าทางของพ่อแม่ หรือคนรอบข้างได้ดี จนคุณแม่อาจจะแปลกใจที่เห็นลูกอ่านหนังสือคนเดียว หรือเอาของเล่นใส่หูแล้วพึมพำ
• เรียนรู้เกี่ยวกับการแทนที่ โดยถือของเล่นอีกชิ้น แทนอีกชิ้น เรียนรู้เกี่ยวกับการหมุน และการพลิกกลับของวัตถุด้วยการเล่น การสังเกต และการทำซ้ำ
• เด็ก 1 ขวบ สามารถแยกแยะของเล่นตามสี และรูปร่างได้
• สามารถหาของเล่นที่มองไม่เห็นได้ แต่จำได้ว่าเก็บไว้ที่ไหน
• พัฒนาการ เด็ก 1 ขวบ นั้นสามารถจดจำเหตุการณ์ และรับรู้เรื่องราวได้นานขึ้นเรื่อย ๆ
พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของเด็ก 1 ขวบ
• ส่วนใหญ่เริ่มเดินได้บ้างแล้ว โดยจะพยายามทรงตัวด้วยการกางแขนออก การเดินนับเป็นความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจสำหรับลูกไม่น้อย แม้จะเป็นเพียงก้าวหรือสองก้าวแล้วล้มก็ตามที เพราะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่นน้อยลง ก็ใคร ๆ ในบ้านก็เดินได้กันทั้งนั้น
• ลูกจะพยายามฝึกฝนเดินทั้งวัน ซึ่งเขาต้องใช้ทั้งสมาธิและความตั้งใจอย่างมากเพื่อที่จะเดินให้ได้ กำลังใจจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเขามาก
• ใช้มือได้ดีขึ้น เพราะกระดูกมือและนิ้วแข็งแรงพอที่จะยก ถือของที่มีน้ำหนักได้มากขึ้น หากมีของเล่นหลายชิ้น ลูกจะรู้จักใช้อ้อมแขนหอบของเล่นไว้ โดยมือทั้งสองก็ถือของเล่นไว้ด้วยและใช้มือข้างที่ถนัดทำสิ่งต่าง ๆ หากต้องการทราบว่าลูกถนัดมือไหน ให้ยื่นของให้เขารับ ซึ่งเด็กจะยื่นมือข้างที่ถนัดมารับ
• นิ้วแข็งแรงพอที่จะจับดินสอสีแท่งโตขีดเขียนลงน้ำหนักได้มากขึ้น หยิบจับของชิ้นเล็ก ๆ ได้ดีขึ้นด้วย
กระตุ้นและฝึกพัฒนาการลูก 1 ขวบ ด้วยวิธีไหนดี
การกระตุ้นและฝึกพัฒนาการลูก 1 ขวบนั้น ถือว่ามีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ทารกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ แข็งแรง และสมวัย คุณพ่อคุณแม่สามารถเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ทุกวัน ดังนี้
• สวมบทบาทสมมุติในการเล่นแอบซ่อนบางสิ่งบางอย่างและเกลี้ยกล่อมให้ลูกค้นหา ลูกจะได้ใช้ทักษะการสังเกต และทักษะการค้นหา
• พยายามสื่อสารกับลูกในเวลาแต่งตัว เช่น บอกให้ลูกยื่นแขนมาหน่อย ถ่างขาออกหน่อย ยืนขึ้นหน่อย เป็นการฝึกให้ลูกได้ฝึกทักษะการตอบรับ และมีการเชื่อมต่อกันกับคุณพ่อคุณแม่ผ่านกิจกรรมง่าย ๆ อย่างการแต่งตัว
• ฝึกให้ลูกพูด สวัสดี บ๊ายบาย ขอบคุณ บ่อย ๆ สิ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้ลูกเกิดการจดจำคำศัพท์ใหม่ ๆ และเป็นการกระตุ้นทักษะทางด้านอารมณ์และสังคมไปในตัวด้วย
• ชมลูกบ่อย ๆ เมื่อลูกเริ่มมีการพูดโต้ตอบกับคนอื่น หรือเริ่มพูดคำซ้ำ ๆ เป็นการกระตุ้นให้เด็กได้ฝึกพูดและสื่อสาร
• เวลาลูกชี้ไปที่สิ่งต่าง ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรจะตอบรับด้วยการพูดชื่อสิ่งนั้น ๆ ออกมา เป็นการสร้างภาพจำและเพิ่มคลังศัพท์ให้กับลูก
• พยายามปล่อยให้ลูกได้เล่นคนเดียวอย่างมีอิสระ เพื่อให้ลูกได้เติมเต็มจินตนาการของตนเองได้ คุณพ่อคุณแม่เพียงคอยระวังดูอยู่ใกล้ ๆ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายก็พอค่ะ
ของเล่นเสริมพัฒนาการ 1 ขวบ
ของเล่น เสริมพัฒนาการ 1 ขวบ ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยเสริมพัฒนาทักษะให้กับเด็กได้หลายด้าน ตั้งแต่พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว ภาษา การสื่อสาร ตลอดจนอารมณ์และสังคม
โดยของเล่น เสริมพัฒนาการ 1 ขวบนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ตจำเป็นจะต้องหาของเล่นสุดพิเศษ ที่มีลูกเล่นเลิศล้ำอะไรเลยค่ะ ของเล่นธรรมดา ของเล่นง่าย ๆ สำหรับเด็ก ที่ราคาจับต้องได้ ก็ถือว่าเพียงพอแล้วค่ะ
สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องความปลอดภัยมากกว่า ควรเลือกเฉพาะของเล่นที่ไม่เสี่ยงอันตรายเป็นหลัก โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะเลือกของเล่นจำพวก:
• ของเล่นที่มีการโต้ตอบ เช่น ของเล่นที่กดปุ่มแล้วจะมีเสียงพูดหรือเสียงดนตรี หนังสือนิทานแบบมีเสียง จะช่วยให้เด็กสนุกและผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งยังเป็นการฝึกพูดโต้ตอบไปในตัวด้วย
• ของเล่นที่มีการเคลื่อนไหว เช่น รถไขลาน รถบังคับ ช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดการเคลื่อนไหวตาม ทำให้เด็กได้ออกกำลังกายมากขึ้น
• ของเล่นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ตัวต่อ การต่อบล็อก จะช่วยกระตุ้นทักษะความคิดให้กับเจ้าตัวเล็กได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรระวังคือเรื่องของความไวค่ะ เพราะเผลอแป๊บเดียว เด็ก 1 ขวบ อาจจะคว้าเอาของเล่นเข้าปากได้ โดยเฉพาะของเล่นชิ้นเล็ก ๆ ที่หากเด็กคว้าเข้าปาก อาจจะส่งผลเสียได้ ควรติดตามดูอย่างใกล้ชิดในเวลาที่ลูกเล่นของเล่นนะคะ
ไขข้อข้องใจเรื่องพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ กับ Enfa Smart Club
ลูกเบื่ออาหาร 1 ขวบ ทำอย่างไรดี?
หากลูกเบื่ออาหาร คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะเปลี่ยนเมนูอาหารทุก ๆ 3-4 วัน เพื่อให้เกิดความหลากหลายของเมนูดูบ้างค่ะ ขนาดเราเป็นผู้ใหญ่บางครั้งก็ยังเบื่ออาหาร เด็กก็รู้สึกเบื่อได้เช่นกันค่ะ
อย่างไรก็ตาม อาจมีบางกรณีที่ลูกเบื่ออาหารเพราะกำลังไม่สบาย กรณีเช่นนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตดูว่าลูกเบื่ออาหาร หรือไม่กินอาหารเลยหรือเปล่า ลูกอ่อนเพลียไหม ลูกร้องไห้งอแงบ่อยไหม มีไข้ไหม เพราะบางครั้งอาการเบื่ออาหารในเด็กอาจเกิดขึ้นจากการไม่สบาย หรือกำลังติดเชื้อค่ะ กรณีนี้ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา
แนะนำเมนู 1 ขวบ ง่าย ๆ
จะเมนูต้ม ผัด แกง ทอด เด็ก 1 ขวบก็สามารถกินได้ทั้งนั้นค่ะ ขอแค่เพียงในแต่ละวันนั้นลูกได้รับอาหารครบทั้ง 5 หมู่ก็เพียงพอแล้วค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะลองทำเมนูง่าย ๆ สำหรับลูกน้อยวัย 1 ขวบ เช่น
• ผัดฟักทอง
• ไข่เจียว
• ไข่ข้น
• หอมใหญ่ทอด
• ข้าวตุ๋น
• โจ๊ก
• ผัดยากิโซบะ
• พาสต้า
ตารางเลี้ยงลูก 1 ขวบ
ลูกน้อยวัย 1 ขวบ เน้นกินให้อิ่ม นอนอย่างเพียงพอ และเสริมพัฒนาการ เด็ก 1 ขวบให้กับลูกในทุก ๆ วัน ก็เพียงพอที่จะช่วยให้ลูกได้เติบโตอย่างสมวัยแล้วค่ะ โดยตารางเลี้ยงลูก 1 ขวบ เบื้องต้นนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจกับสิ่งเหล่านี้
• ให้ลูกได้กินอาหารครบทั้ง 3 มื้อ เสริมด้วยอาหารว่างอีก 2 มื้อ และอาหารในทุกมื้อควรจะครบสารอาหารทั้ง 5 หมู่
• จริง ๆ แล้ว เด็ก 1 ขวบควรที่จะเริ่มหย่านมได้แล้ว แต่ถ้าต้องการให้ลูกได้รับนมแม่และนมผงควบคู่ไปกับมื้ออาหารต่าง ๆ เด็กควรได้รับนมประมาณ 24 ออนซ์ต่อวัน
• คอยดูแลให้ลูกได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ลูกน้อยวัย 1 ขวบ ควรจะนอนให้ได้ประมาณ 14-15 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นนอนตอนกลางวัน 3-4 ชั่วโมง ให้เด็กได้นอนงีบ 2 ครั้งต่อวัน คือช่วงสายและช่วงบ่าย และนอนตอนกลางคืนอีก 11 ชั่วโมง
ลูก 1 ขวบ ร้องกรี๊ด เอาแต่ใจ ทำอย่างไรดี?
หากเด็ก 1 ขวบร้องกรี๊ด เอาแต่ใจ ทำยังไงก็ไม่ยอมหยุดงอแง คุณพ่อคุณแม่อาจลองใช้วิธีดังต่อไปนี้ในการรับมือได้ค่ะ
• เมื่อลูกกรี๊ด คุณพ่อคุณแม่ควรลดโทนเสียงให้ต่ำลง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ลูกสนใจฟังมากขึ้น โดยอาจจะกระซิบข้างหูลูกก็ได้ โทนเสียงที่ต่ำลงจะช่วยดึงดูดความสนใจของเด็กได้ค่ะ
• ทำหน้าที่เป็นนักสืบ พยายามพูดคุยกับลูก แม้ว่าเด็ก 1 ขวบจะยังพูดไม่เป็นภาษา แต่ก็สามารถออกเสียงเป็นคำ ๆ ได้ เช่น ร้องไห้เหรอคะ โกรธเหรอคะ หิวไหม เจ็บเหรอ เป็นอะไรคะ เป็นต้น บางครั้งลูกอาจจะหยุดฟัง หรือพยายามตอบกลับมาเป็นคำ ๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจสามารถคาดเดาได้ว่าลูกร้องกรี๊ดเพราะอะไร
• สู้กลับด้วยเสียงหัวเราะ ยิ่งลูกกรี๊ด ยิ่งต้องพยายามหัวเราะกลบ ทำสีหน้าตลกกลบเกลื่อน เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ และทำให้เด็กเสียสมาธิ จนหยุดร้องสะอึกสะอื้น แล้วหันมาจดจ่อกับคุณพ่อคุณแม่แทน
• เปิดเพลงโต้ ถ้าลูกเริ่มร้อง ให้เริ่มเปิดเพลง แล้วอุ้มลูกร้องเพลงไปพร้อม ๆ กัน อาจช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย แล้วหันมาสดในคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังร้องเพลงแทน
อย่างไรก็ตาม บางครั้งที่เด็กร้องงอแง ก็อาจจะมาจากอาการเจ็บป่วย หรือไม่สบายได้ หากพยายามแล้วลูกยังไม่ยอมหยุดร้อง ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยค่ะ
ลูก 1 ขวบ ยังไม่เดิน?
เด็กวัย 1 ขวบ สามารถที่จะเริ่มที่จะยืน และเริ่มเดินก้าวสั้น ๆ ได้บ้าง แต่ส่วนมากก็จะยังไม่สามารถเดินได้คล่อง หรือเดินแค่ไม่กี่ก้าวก็ล้มลง ดังนั้น ถ้าลูก 1 ขวบแล้ว แต่ยังไม่เดิน หรือยังทรงตัวยืนได้ไม่ดี ก็ยังไม่ถือว่าผิดปกตินะคะ เด็กจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเดินอย่างเต็มรูปแบบเมื่ออายุ 16-17 เดือนเป็นต้นไป
- Verywell Family. Average Baby Weight and Length By Age. [Accessed] https://www.verywellfamily.com/first-year-infant-growth-431721#toc-average-baby-length-height. [3 March 2023]
- Verywell Family. 1-Year-Old Child Development Milestones. [Accessed] https://www.verywellfamily.com/1-year-old-developmental-milestones-289864. [3 March 2023]
- Unicef. Your toddler's developmental milestones at 1 year. [Accessed] https://www.unicef.org/parenting/child-development/your-toddlers-developmental-milestones-1-year#social-and-emotional. [3 March 2023]
- Unicef. Feeding your baby: 1–2 years. [Accessed] https://www.unicef.org/parenting/food-nutrition/feeding-your-baby-1-2-years. [3 March 2023]
- WebMD. Baby Development: Your 1-Year-Old. [Accessed] https://www.webmd.com/parenting/baby/baby-development-1-year-old#091e9c5e8043986b-1-6. [3 March 2023]
- What to expect. 12-Month-Old Baby. [Accessed] https://www.whattoexpect.com/toddler/12-month-old/#section-symptoms. [3 March 2023]
- What to expect. Toddler Screaming. [Accessed] https://www.whattoexpect.com/toddler/behavior/screaming-and-screeching.aspx#stop. [3 March 2023]
บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 1 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 2 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 3 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 4 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 5 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 6 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 7 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 8 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 9 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 10 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 11 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 1 ขวบ