ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
พัฒนาการทารกเดือนที่ 3

คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 3 เดือน

Enfa สรุปให้

  • ทารกเพศชายวัย 3 เดือน หนักประมาณ 6.4 กิโลกรัม สูงประมาณ 61.4 เซนติเมตร ส่วนทารกเพศหญิงวัย 3 เดือน หนักประมาณ 5.8 กิโลกรัม สูงประมาณ 59.8 เซนติเมตร
  • ทารกวัย 3 เดือน สมองเริ่มมีการเติบโตและพัฒนาได้เกือบเท่ากับสมองของผู้ใหญ่ เริ่มจดจำเสียงต่าง ๆ ได้มากขึ้น เริ่มจดจำใบหน้าคนได้มากขึ้น
  • พัฒนาการเด็ก 3 เดือน เริ่มมีการส่งเสียงอือ อา ตอบรับการสื่อสาร เริ่มมีการสัมผัสกับร่างกายตัวเองมากขึ้น จับแก้ม จับตา ดึงผม

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • น้ำหนักและส่วนสูงของเด็กทารกวัย 3 เดือน
     • การกินของลูกน้อยวัย 3 เดือน
     • การขับถ่ายของลูกน้อยวัย 3 เดือน
     • การนอนหลับของลูกน้อยวัย 3 เดือน
     • ทารก 3 เดือน เป็นแบบนี้ ปกติหรือผิดปกติกันแน่
     • พัฒนาการเด็ก 3 เดือน
     • กระตุ้นพัฒนาการลูก 3 เดือนยังไงดี
     • ของเล่นเสริมพัฒนาการ 3 เดือน
     • ตารางเลี้ยงลูก 3 เดือน
     • ไขข้อข้องใจเรื่องทารกวัย 3 เดือนกับ Enfa Smart Club

ทารกวัย 3 เดือน ยังถือเป็นช่วงวัยที่มีความบอบบางสูง และจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและตลอดเวลา คุณพ่อคุณแม่จำเป็นที่จะ ต้องคอยดูแลทั้งเรื่องการกิน การนอน การขับถ่าย และการเล่น เพื่อดูแลให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่สมบูรณ์และสมวัย สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง

น้ำหนักและส่วนสูงของเด็ก 3 เดือน


น้ำหนักและส่วนสูงของทารกวัย 3 เดือนนั้น จะมีความแตกต่างกันไปเล็กน้อยค่ะ เด็กแต่ละคนจะมีน้ำหนักและส่วนสูงที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ตามเกณฑ์ที่เหมาะสม แต่ก็มีบ้างบางกรณีที่ทารกวัย 3 เดือนมีน้ำหนักและส่วนสูงที่เกินมาตรฐานที่ควรจะเป็น

น้ำหนักทารก 3 เดือน

พอลูกอายุได้ 3 เดือน คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ก็อาจจะนึกสงสัยกันอยู่ว่า ทารก 3 เดือนหนักกี่กิโลกรัมกันนะ

ซึ่งน้ำหนักของทารกวัย 3 เดือนนั้น สามารถแบ่งออกตามเพศโดยกำเนิดได้ดังนี้

  • ทารกเพศชายวัย 3 เดือน หนักประมาณ 6.4 กิโลกรัม
  • ทารกเพศหญิงวัย 3 เดือน หนักประมาณ 5.8 กิโลกรัม
     

ส่วนสูงทารก 3 เดือน

ส่วนสูงของทารกวัย 3 เดือนนั้น สามารถแบ่งออกตามเพศโดยกำเนิดได้ดังนี้

  • ทารกเพศชายวัย 3 เดือน สูงประมาณ 61.4 เซนติเมตร
  • ทารกเพศหญิงวัย 3 เดือน สูงประมาณ 59.8 เซนติเมตร
     

การกินของลูกน้อยวัย 3 เดือน


เด็ก 3 เดือน ยังไม่ควรที่จะกินอาหารชนิดอื่น ๆ ค่ะ เพราะระบบทางเดินอาหารและระบบย่อยอาหารของทารกนั้นยังทำงานได้ไม่เต็มระบบ ดังนั้น แหล่งโภชนาการที่สำคัญที่สุดก็คือ นมแม่ และทารกควรจะได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวและต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน หรือนานสูงสุด 2 ปี

โภชนาการสำหรับทารก 3 เดือน

นมแม่ถือเป็นอาหารที่สำคัญที่สุดสำหรับทารกวัยแรกเกิด - 6 เดือน ซึ่งในนมแม่นั้นอุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญมากมายหลายชนิด ทั้งยังมีสารภูมิคุ้มกันที่มีส่วนช่วยให้ทารกแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่ายด้วย

โดยสารอาหารสำคัญที่พบได้ในนมแม่ เช่น

  • โปรตีน ซึ่งประกอบด้วยโปรตีนสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ เวย์และเคซีน ประมาณ 60% เป็นเวย์โปรตีน และอีก 40% เป็นเคซีนโปรตีน ด้วยสัดส่วนที่สมดุลของโปรตีนทั้ง 2 ชนิดนี้ จึงช่วยให้ทารกสามารถที่จะดูดซึมไปใช้งานได้ง่าย สามารถย่อยได้ง่าย อีกทั้งโปรตีนยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของกล้ามเนื้อ
  • ไขมัน ในนมแม่มีไขมันที่ถือว่าเป็นแหล่งพลังงานหลักของทารก อีกทั้งไขมันในนมแม่ยังมีส่วนช่วยพัฒนาสมอง และช่วยในการดูดซึมวิตามินที่สามารถละลายในไขมันได้ดี
  • วิตามินต่าง ๆ ทารกจะได้รับวิตามินต่าง ๆ ผ่านนมแม่ ไม่ว่าจะเป็นวิตามินซี วิตามินเอ วิตามินเค วิตามินดี วิตามินอี เป็นต้น ถามว่าวิตามินเหล่านี้มาจากไหน ก็มาจากอาหารการกินต่าง ๆ ที่คุณแม่กินเข้าไปนั่นแหละค่ะ ยิ่งคุณแม่กินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย ทารกก็จะได้รับสารวิตามินที่สำคัญเหล่านั้นด้วย
  • คาร์โบไฮเดรต ในนมแม่นั้นจะมีสารอาหารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แลคโตส ซึ่งถือว่าเป็นคาร์โบไฮเดรตหลักที่พบในนมของแม่ แลคโตสนี้จะช่วยลดปริมาณของแบคทีเรียที่ไม่ดีในกระเพาะอาหาร มากไปกว่านั้น แลคโตสยังทำหน้าที่สำคัญคือ ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม เพราะสารอาหารเหล่านี้จะทำช่วยเพิ่มปริมาณของแบคทีเรียชนิดดีในกระเพาะอาหารของทารก
  • MFGM นมแม่มี MFGM หรือ Milk fat globule membrane ซึ่งเป็นสารอาหารเฉพาะที่พบได้ในนมแม่หรือนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น โดย MFGM ประกอบไปด้วย โพลาร์ลิพิด (Polar lipid) ไกลโคลิพิด (Glycolipid) และโปรตีน โดย MFGM ในนมแม่ มีส่วนช่วยพัฒนาระบบประสาท ป้องกันการติดเชื้อต่างและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
     

ปริมาณนมที่เหมาะสมสำหรับลูกวัย 3 เดือน

เมื่อทารกเริ่มโตขึ้น ปริมาณนมแม่ต่อออนซ์ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย แล้วแบบนี้ ลูก 3 เดือนกินกี่ออนซ์กันนะ?

สำหรับปริมาณนมแม่ในแต่ละวันที่เหมาะสมกับเด็กทารกวัย 3 เดือนนั้น คุณแม่ควรจะต้องให้ทารกกินนมครั้งละ 4-5 ออนซ์ ในทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง ซึ่งเป็นปริมาณที่เท่ากันกับทารกวัย 2 เดือนค่ะ

การขับถ่ายของเด็ก 3 เดือน


เรื่องของการขับถ่าย ก็ถือเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการทารก 3 เดือน สำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องหมั่นสังเกตและเอาใจใส่อยู่เสมอนะคะ เพราะบางครั้งอุจจาระของทารกก็สามารถที่จะบอกถึงความผิดปกติได้เหมือนกัน

ทารก 3 เดือนถ่ายวันละกี่ครั้ง

อย่างน้อย ๆ ทารกอาจจะถ่ายวันละ 1-2 ครั้งค่ะ แต่ก็จะไม่ค่อยตายตัว เพราะบางครั้งทารกก็อาจจะขับถ่ายประมาณ 3-4 ครั้ง หรือ 5-6 ครั้งต่อวันก็เป็นไปได้เช่นกันค่ะ

ตราบเท่าที่อุจจาระของทารกยังนิ่มอยู่ แม้ว่าจะ 2-3 วันถึงจะถ่ายออกมาสักที ก็ยังถือว่าปกติค่ะ อุจจาระที่ผิดปกติของทารกคือ อุจจระที่เป็นก้อนแข็ง แห้ง และเบ่งออกยาก

สีอุจจาระทารก 3 เดือนเป็นอย่างไร

เด็กทารกที่กินนมแม่ จะมีอุจจาระเป็นสีเหลืองเข้มค่ะ ดังนั้น สีอุจจาระของทารกวัย 3 เดือน ก็จะเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองเข้มค่ะ เนื่องจากทารกในวัยนี้จะได้รับอาหารแค่เพียงนมแม่อย่างเดียวเท่านั้น

การนอนหลับของลูกน้อยวัย 3 เดือน


การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทารกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์และแข็งแรง จึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องพาลูกน้อยเข้านอนให้เหมาะสม

เด็ก 3 เดือน ควรจะนอนให้ได้ประมาณ 15 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นนอนตอนกลางวัน 4-5 ชั่วโมง และนอนตอนกลางคืนอีก 9-10 ชั่วโมง

บางครั้งทารกอาจจะนอนนานเกินไปบ้าง ถือว่าเกิดขึ้นได้เป็นปกติค่ะ ซึ่งถ้าเป็นตอนกลางคืนก็อาจจะไม่ค่อยน่ากังวลนักค่ะ การที่ทารกนอนกลางคืนได้เพียงพอนั้นถือว่าเป็นข้อดี เพราะทารกจะได้นอนหลับอย่างเต็มอิ่ม คุณพ่อคุณแม่ก็ถือว่าได้พัก เพราะทารกไม่ร้องไห้โยเยรบกวนกลางดึก

แต่ถ้าเป็นตอนกลางวัน คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องคอยดูให้ลูกน้อยวัย 3 เดือนนอนไม่เกิน 4-5 ชั่วโมงค่ะ เพราะถ้าหากนอนมากเกินไปกว่านั้น อาจจะทำให้เด็กไม่ยอมหลับในตอนกลางคืน หรือหลับยาก อาจส่งผลเสียต่อตารางการนอนหลับของเด็กได้ค่ะ

ทารก 3 เดือน เป็นแบบนี้ ปกติหรือผิดปกติกันแน่


ทารกวัย 3 เดือน มีพฤติกรรมและพัฒนาการตามวัยหลายอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต บางอย่างอาจเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการเด็กในวัยนี้ แต่บางอย่างก็อาจจะเป็นสัญญาณความผิดปกติที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยหรือรับการรักษา

  • หัวแบน หัวเบี้ยว

ลูก 3 เดือนหัวแบน หัวเบี้ยว แค่ฟังดูก็น่าตกใจแล้วใช่ไหมคะ แต่ใจเย็น ๆ ค่ะ ไม่ต้องตระหนกไป การหัวแบนไม่ได้ส่งผลเสียต่อทารกแต่อย่างใดค่ะ เมื่อโตขึ้นก็จะดูแบนหรือเบี้ยวน้อยลงไปได้เองค่ะ

ทั้งนี้ปัญหาลูกหัวแบนหัวเบี้ยวนั้น เกิดขึ้นมาจากท่านอนของลูกนั่นแหละค่ะ บางทีคุณพ่อคุณแม่อาจจะปล่อยให้ลูกนอนท่าเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะท่านอนหงาย ซึ่งแม้ว่าจะเป็นท่านอนที่ปลอดภัยต่อเด็กมากที่สุด แต่หากนอนในท่านี้นาน ๆ จะทำให้ศีรษะของลูกถูกกดทับ และสามารถทำให้ลูกหัวแบนได้ พยายามเปลี่ยนท่านอนให้ลูกได้หันซ้าย หันขวาบ้าง และหมอนที่ใช้ก็ควรเป็นหมอนที่นิ่มกำลังดี ไม่มีรูหรือหลุมตรงกลาง

  • ดึงผมตัวเอง

บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะสังเกตเห็นว่าทารก 3 เดือนดึงผมตัวเอง ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ เป็นช่วงเวลาที่ทารกกำลังพยายามทำความรู้จักกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ที่อยู่รอบตัว และตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น อย่างสัมผัสกับเส้นผม อยากเห็นเส้นผม ก็เลยพยายามจะดึงผมของตัวเอง

มากไปกว่านั้น ทารกมักจะดึงผมตัวเองเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น

  • รู้สึกตกใจกับเสียงต่าง ๆ แสงต่าง ๆ หรือกิจกรรมต่าง ๆ รอบตัวที่มากมาย หรืออึกทึกเกินไป
  • เป็นการแสดงออกว่าต้องการที่เล่น และอยากเล่นให้มากขึ้น เล่นให้นานขึ้น
  • รู้สึกเหนื่อยหรือหิว
  • ถ่ายเป็นสีเขียว

ปกติแล้วทารกวัยแรกเกิด - 6 เดือน มักจะมีอุจจาระสีเหลืองหรือเหลืองเข้ม เนื่องจากช่วงวัยนี้จะกินแค่นมแม่เพียงอย่างเดียว เด็กที่กินนมแม่จึงมักจะมีอุจจาระสีเหลืองเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูก 3 เดือนถ่ายเป็นสีเขียวบ้าง ก็ไม่ต้องตกใจไปนะคะ เด็กที่กินนมแม่หรือกินนมผง สามารถที่จะมีอุจจาระสีเขียวบ้างในบางครั้งค่ะ ไม่ใช่สัญญาณผิดปกติแต่อย่างใด

และโดยมากแล้วอุจจาระสีเขียวมักจะเกิดจากยาหรือวิตามินที่ทารกกินเข้าไป หรืออาจมาจากยาหรือวิตามินที่แม่กินเข้าไป แล้วส่งไปถึงทารกผ่านทางน้ำนม ก็สามารถทำให้ทารกอุจจาระเป็นสีเขียวได้เหมือนกันค่ะ

  • คอเอียง

ลูก 3 เดือนคอเอียง อาการนี้แบ่งออกเป็น 2 กรณีค่ะ คือหัวเอียงปกติ กับหัวเอียงไม่ปกติ และต้องไปพบแพทย์

หัวเอียงปกติคือ แม้ว่าศีรษะจะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง แต่ยังสามารถที่จะหันคอได้ จับศีรษะให้ตั้งตรงได้ ลักษณะเช่นนี้มักเกิดจากการอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น นอนตะแคงซ้าย กินนมก็กินแต่ข้างซ้าย การที่ลูกอยู่แต่ท่าเดิมแบบนี้นาน  ๆจึงอาจทำให้คอเอียงได้ แก้ง่าย ๆ ด้วยการสลับฝั่งให้ลูกบ้าง ให้นอนตะแคงขวาบ้าง เข้าเต้าขวาบ้าง

ส่วนปัญหาหัวเอียง คอเอียงที่ต้องไปพบแพทย์คือ มีปัญหาหัวเอียงแต่ไม่สามารถจับศีรษะให้ตั้งตรงได้ ไม่สามารถหันคอได้ กรณีเช่นนี้ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันทีค่ะ เพราะอาจมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อคอ หรือความผิดปกติรุนแรงอื่น ๆ ได้

  • ชอบอมมือ

ลูก 3 เดือนชอบอมมือ ถือเป็นเรื่องปกติที่พบได้ทั่วไปของเด็กทารกวัยนี้ค่ะ การอมมือจะทำให้ทารกรู้สึกผ่อนคลาย สงบ และปลอดภัย และเมื่ออายุมากขึ้นอาการชอบอมมือก็จะค่อย ๆ หายไปได้เองค่ะ

สิ่งสำคัญที่ควรระวังคือนิ้วมือที่สกปรก หรือทำความสะอาดไม่เพียงพอ อาจจะทำให้ทารกได้รับสิ่งสกปรกหรือเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย ควรทำความสะอาดมือของทารกอยู่เสมอ

หรืออาจจะทดแทนด้วยการใช้จุกนมปลอมแทนก็ได้นะคะ จุกนมปลอมจะดีกว่าจุกหลอกเพราะสามารถเลิกได้ง่ายกว่า  แต่เวลาให้ลูกใช้จุกนมปลอม อย่าลืมทำความสะอาดทั้งก่อนและหลังใช้งานให้เรียบร้อยด้วยนะคะ เพื่อป้องกันเชื้อโรคและแบคทีเรียต่าง ๆ

พัฒนาการเด็ก 3 เดือน


เข้าสู่เดือนที่ 3 กันแล้ว ในเดือนนี้สมองของลูกน้อย จะเติบโตและพัฒนาได้เกือบเท่ากับสมองของผู้ใหญ่ ซึ่งจะทำให้ลูกน้อยมีพัฒนาการ และการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ที่ก้าวหน้ามากขึ้น

โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตเห็นพัฒนาการทารก 3 เดือน ด้านต่าง ๆ ได้ดังนี้

พัฒนาการทารกด้านการเรียนรู้ และสติปัญญา

          • ลูกน้อยจะสามารถเรียนรู้จากการสำรวจสิ่งรอบตัวผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้ดีขึ้น
          • หลังจากที่ลูกน้อยจดจำเสียงของคุณแม่ได้ ยังมีความสนใจที่จะฟังเสียงอื่น รอบ ๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นเสียงนกร้อง เสียงเห่าของสุนัข เสียงการเปิด – ปิดประตู เสียงเพลง และเสียงอื่น ๆ เป็นต้น
          • รู้ความแตกต่างของเสียงที่ได้ยิน และถ้าได้ยินเสียงเพลงจะหันไปหาที่มาของเสียง
          • ลูกน้อยเริ่มจดจำคุณแม่ และสมาชิกในครอบครัวได้มากขึ้น การมองเห็นก็ดีขึ้นเช่นกัน สามารถมองเห็นได้รอบห้อง จากที่เคยมองเห็นได้เพียงระยะใกล้แค่ 1 ฟุต และรับรู้ระยะใกล้ หรือไกลของวัตถุต่าง ๆ
          • การประสานงานระหว่างมือกับตาจะมีพัฒนาการดีขึ้นมาก สังเกตได้จากการที่ลูกจะพยายามใช้มือคว้าจับของเล่น หรือสิ่งของ
          • เริ่มเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงสิ่งที่ทำกับผลของการกระทำได้บ้างแล้ว ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นเรียนรู้เรื่องเหตุและผลที่สำคัญ เช่น เรียนรู้ว่าถ้าเขาเอามือแตะวัตถุที่อยู่ตรงหน้า วัตถุนั้นจะเคลื่อนไหว หรือถ้าเขาเขย่ากรุ๋งกริ๋งในมือจะมีเสียงดัง หรือรู้สึกพึงพอใจเมื่อได้เอานิ้วเข้าปาก
          • ลูกน้อยพึงพอใจกับการเล่นกับ “มือ” แต่ควรหาของเล่นอื่น ๆ เล่น กรุ๋งกริ๋ง ยางกัด ลูกบอลสีสดใส (บีบแล้วมีเสียง) มาเล่นกับลูก ของเล่นเหล่านี้จะช่วยให้เขาสามารถจดจำสัมผัสผิววัตถุ สีสัน รูปทรง และเสียงได้

พัฒนาการทารกด้านร่างกาย และการเคลื่อนไหว

          • สามารถยกศีรษะตั้งขึ้นทำมุม 45 องศาได้แล้วแม้จะอยู่ในท่านอนคว่ำ
          • ชันคอได้นานเมื่อนอนคว่ำ แต่ชันหน้าอกได้เป็นพัก ๆ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยออกกำลังกล้ามเนื้อคอให้ลูกได้ด้วยการจับลูกนอนหงาย แล้วดึงมือลูกให้ลุกขึ้นมาสู่ท่านั่งอย่างช้า ๆ ลูกจะพยายามเกร็งกล้ามเนื้อคอและศีรษะให้ตั้งตรง หากทำบ่อย ๆ จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อคอให้ลูกได้ดี
          • เมื่อจับลูกยืนจะสามารถเหยียดขายันพื้นได้เพียงชั่วครู่
          • ลูกสามารถนั่งพิงหมอนได้บ้างแล้ว แต่ก็อาจมีอาการง่อนแง่นให้เห็นในบางครั้ง
          • ลูกเริ่มพัฒนาทักษะในการใช้มืออย่างจริงจัง แม้จะยังใช้มือจับอะไรได้ไม่นานนัก แต่ก็สามารถใช้มือตีสิ่งของต่าง ๆ ได้
          • ใช้มือคว้าจับสิ่งของหรือดึงของที่อยู่ใกล้ ๆ เข้าหาตัวได้แล้ว และยังชอบใช้มือสำรวจสิ่งต่าง ๆ บนใบหน้าของตัวเองอีกด้วย สามารถเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวให้ลูกน้อยได้ โดยหาโมบายล์สีสดใส จะเป็นแบบแขวนหรือแบบวางตั้งก็ได้ ให้ลูกนอนหงายและสามารถใช้มือเอื้อมคว้าปัดป่ายโมบายล์เล่นได้

พัฒนาการทารกด้านภาษา และการสื่อสาร

          • ส่งเสียงอืออาเพื่อตอบรับเสียงที่ได้ยิน และมักเรียกร้องความสนใจเมื่อเห็นแม่เดินมา หรืออยู่ใกล้ ๆ
          • ลูกวัยนี้ยิ้มง่ายขึ้น การยิ้มของลูกคล้ายจะสื่อว่า สนใจหนูหน่อย มาเล่นกับหนูบ้าง
          • ลูกสามารถโต้ตอบต่อสิ่งเร้าได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสียง หันหา นิ่งฟัง ยิ้ม ขยับแข้งขาไปมา และแสดงความสนใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานถึง 45 นาที
          • บางครั้งลูกก็ส่งเสียงอือออเหมือนกำลังคุยกับคุณแม่ได้นานขึ้น หากคุณแม่ตอบสนองพูดคุยด้วย ลูกก็ยิ่งอยากจะสื่อสารและแสดงออกมา โดยเฉพาะเวลาดีใจ สนุก ลูกจะขยับแขนขา ยิ้ม บางทีถึงกับหัวเราะได้เลย เป็นพัฒนาการในเดือนที่ 3 ที่เห็นได้อย่างชัดเจน

พัฒนาการทารกด้านอารมณ์ และสังคม

          • เด็กในวัยนี้เริ่มไว้วางใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คุ้นเคยกับกิจวัตรประจำวัน เช่น เรียนรู้ที่จะรอเมื่อมีอาหารมา ถึงแม้แม่จะช้า แต่เมื่อลูกได้ยินเสียงเดินของแม่ลูกก็หยุดร้องไห้ ทักษะนี้ขึ้นอยู่กับว่าแม่มีการดูแลลูกอย่างสม่ำเสมอหรือไม่
          • แม้ว่าลูกจะมีการเล่นกับตัวเองมากขึ้น แต่ก็ยังต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ดังนั้นเขาจึงไม่ชอบถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังเป็นเวลานาน แม่ควรใช้เวลาในการเล่นกับลูกด้วยเช่นกัน

กระตุ้นพัฒนาการลูก 3 เดือนยังไงดี


เพื่อให้ทารกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ แข็งแรง และสมวัย คุณพ่อคุณแม่สามารถเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ทุกวัน ดังนี้

1. พัฒนาการลูกน้อยวัย 3 เดือน ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้

เสริมสร้างการเรียนรู้จากสิ่งเล็ก ๆ รอบตัว

ทารกอายุ 3 เดือนมีความไวต่อผิวหนังมาก ดังนั้น การเริ่มสร้างพัฒนาการให้ลูกผ่านการสัมผัส จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะสัมผัสของคุณพ่อคุณแม่ที่สัมผัสลูกน้อยโดยตรง ถือเป็นสัมผัสแห่งการเรียนรู้ที่อยู่กับทารกมาตั้งแต่แรกเกิด และเป็นความอบอุ่นที่เด็กรู้สึกได้

การกระตุ้นด้วยการสัมผัส เช่น การลูบ การกอด พบว่ามีส่วนช่วยเพิ่มความเร็วของสมองส่วนรับสัมผัส มากไปกว่านั้น ทารกวัย 3 เดือนยังสามารถแยกแยะการสัมผัสของบุคคลที่ตนสัมผัสด้วยได้ ว่าเป็นคนที่คุ้นเคย หรือเป็นสัมผัสของคนแปลกหน้า อีกทั้งเด็ก 3 เดือน ยังสามารถที่จะสัมผัสได้ถึงอารมณ์และความรู้สึกของคนที่มาสัมผัสตัวเองได้อีกด้วย นับเป็นการเรียนรู้และพัฒนาการของลูกน้อยวัย 3 เดือนที่ชัดเจนมาก

เคล็ดลับกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 3 เดือน ด้านการรับสัมผัส : อุ้มลูกบ่อย ๆ ให้ผิวของพ่อแม่ได้สัมผัสกับผิวลูก เวลาที่ลูกอารมณ์ดี ให้วางวัสดุที่มีพื้นผิวแตกต่างกัน เช่น นุ่มบ้าง แข็งบ้าง ใส่ไว้ในฝ่ามือลูก เด็กทารก 3 เดือนจะได้เริ่มเรียนรู้ผิวสัมผัสของวัสดุต่าง  ๆ หรือหาของนุ่ม ๆ เช่น ขนนกมาเขี่ยเบา ๆ ที่แขนและขา หรือใช้มือลูกจับกระดาษทราย กระดาษแก้ว กระดาษลูกฟูก สำลี ผ้าแบบต่าง ๆ ลูกบอล บล็อกไม้ ฯลฯ และสิ่งของที่มีผิวสัมผัสต่าง ๆ กันให้ลูกได้สัมผัส โดยอาจเอาไปสัมผัสที่ผิวลูก ที่แก้ม ที่ฝ่าเท้า  ก็สามารถกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 3 เดือน ด้านการสัมผัสที่ผิวหนังได้ หรือหมั่นเปลี่ยนท่านอนให้ลูกบ้าง จะช่วยให้ลูกได้รับผิวสัมผัสที่แตกต่างออกไป ความรู้สึกที่ได้จากการสัมผัสนี้จะส่งต่อไปยังสมอง เก็บไว้ในความทรงจําว่าสัมผัสที่ลูกได้รับนั้นเป็นอย่างไร

2. พัฒนาการทารก 3 เดือน ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว

เลือกของเล่น เพื่อส่งเสริมกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวของลูก

ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในวัยเด็กเล็ก เป็นพื้นฐานที่สำคัญของพัฒนาการเด็ก 3 เดือน ทางด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในวัยต่อ ๆ ไป ดังนั้น คุณแม่จึงไม่ควรมองข้ามการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่-มัดเล็กของลูก โดยให้ลูกได้เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อเหล่านี้ ซึ่งการเลือกของเล่นเพื่อเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อของลูกก็เป็นสิ่งสำคัญ

ของเล่นเสริมกล้ามเนื้อสำหรับเด็กทารก 3 เดือน ได้แก่ ของเล่นที่บีบหรือเขย่าแล้วเกิดเสียง ของเล่นที่มือสอดกำได้  ลูกบอลนุ่ม ตุ๊กตาผ้ารูปสัตว์ เพื่อส่งเสริมการใช้มือของลูก ลูกจะเอื้อมคว้า ตีหรือเขย่าของเล่นเหล่านั้นเพื่อสำรวจ  คุณแม่นำมาให้ลูกเล่นขณะลูกนอน ลูกจะได้พัฒนาทั้งกล้ามเนื้อ สายตา และประสาทรับเสียงค่ะ

3. พัฒนาการทารก 3 เดือน ด้านภาษาและการสื่อสาร

รู้จักและพัฒนาภาษาของลูกวัย 3 เดือนแรก

จากการศึกษาพบว่า พัฒนาการทารก 3 เดือนทางด้านของภาษานั้น เริ่มต้นด้วยการที่ทารกร้องไห้ และใช้ท่าทางและสุ้มเสียงต่าง ๆ กัน การที่ทารก 3 เดือนจะพัฒนาจนพูดได้นั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมทางกายและระบบประสาทของเขา  โดยพัฒนาการทางภาษาของทารก 3 เดือนแรก คือ การเปล่งเสียงจากคอหรือทำเสียงคูคู โดยลูกจะค้นพบว่าเขาสามารถส่งเสียงได้ โดยการใช้ลิ้นดุนหรือดันไปที่ริมฝีปากให้เปิดออก จากนั้นก็ปิดริมฝีปากลงใหม่ได้ อาจมีน้ำลายไหลออกมาจากปากบ้าง คล้าย ๆ กับการพ่นน้ำลายออกมา  แต่นี่คือการหัดส่งเสียง หรือพยายามจะพูดของเด็ก  แต่อาจจะไม่มีเสียงหรือคำพูดออกมาให้ได้ยิน เพราะลูกยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งในการฝึกฝนการพ่นลมหรือพ่นน้ำลายนั้นออกมาเป็นเสียง  ต่อมาไม่นานก็จะเป็นขั้นของเล่นปนกันไปกับการออกเสียง จนสามารถออกมาเป็นสระ เช่น อา... หรืออู...ได้ และอ้อแอ้โต้ตอบคนที่มาเล่นด้วยได้ ซึ่งเป็นการสื่อสารของลูกนั่นเอง

เพื่อพัฒนาการเด็ก 3 เดือน ในด้านภาษาและการสื่อสาร คุณแม่จึงควรชวนลูกพูดคุยบ่อย ๆ ทุกวัน  โดยคุณแม่อาจทำหน้าตา ปากล้อเลียนลูก เช่น ทำปากจู๋ อ้าปากหาว แลบลิ้น จะเห็นว่าลูกสามารถขยับปาก หรือทำหน้าตาเหมือนคุณแม่ได้  ช่วยส่งเสริมความคิดและสติปัญญาและการเรียนรู้ของลูกได้ค่ะ

4. พัฒนาการทารก 3 เดือน ด้านอารมณ์และสังคม

เล่นสนุก สร้างความฉลาดทางอารมณ์ให้ลูกน้อย

เริ่มตั้งแต่เช้า ยามเมื่อลูกน้อยตื่นขึ้น แทนที่คุณแม่จะปล่อยให้เด็กทารก 3 เดือนนอนเล่นอยู่ตามลำพัง ควรอุ้มเขาขึ้นมา  พูดคุยทักทาย จากนั้นประคองเขาไว้ด้วยแขนทั้งสองข้าง แล้วทำท่าไกวเปล แล้วบอกว่าไกวเปล ๆ ลูกจะรู้สึกสนุก เป็นการช่วยเขาเปลี่ยนบรรยากาศจากท่านอนแบบเดิม ๆ สร้างความตื่นเต้นให้ลูกบ้าง แต่หากเล่นไปสักพักลูกเริ่มเบ้หน้า คุณแม่ต้องหยุด เพราะลูกอาจเหนื่อยและอยากหยุด

ของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก 3 เดือน


เด็กอายุ 3 เดือนนั้น สามารถที่จะยกศีรษะขึ้นได้เอง สามารถที่จะเกลือกกลิ้งไปมาได้ และยังเริ่มหัวเราะได้มากขึ้นด้วย เด็กวัยนี้จึงเริ่มที่จะโต้ตอบกับของเล่นต่าง ๆ ได้มากขึ้น

โดยของเล่นเด็ก 3 เดือน ที่เหมาะสมตามวัย ได้แก่ของเล่นจำพวก

สิ่งสำคัญคือ ควรเลือกของเล่นที่มีความปลอดภัย ผลิตจากวัสดุที่ได้มาตรฐาน และเวลาเล่นจะต้องอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่เสมอ เพราะเด็กอาจจะเผลอหยิบของเล่นบางชิ้นเข้าปาก อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ค่ะ

ตารางเลี้ยงลูก 3 เดือน


ตารางการเลี้ยงลูกนั้น อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว แต่โดยพื้นฐานสำหรับเด็กทารกวัย 3 เดือนนั้น ก็จะไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่นักค่ะ เน้นสำคัญอยู่ที่กินให้พอ นอนให้พอ เพื่อให้ทารกได้มีพัฒนาการที่แข็งแรงและสมวัย

ตารางเลี้ยงลูก 3 เดือน

ไขข้อข้องใจเรื่องทารกวัย 3 เดือนกับ Enfa Smart Club


ลูก 3 เดือนถ่ายบ่อย แบบนี้ดีหรือไม่ดี

เด็กทารกตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงวัย 3 เดือน มีการถ่ายบ่อยเป็นเรื่องปกติค่ะ วันหนึ่งอาจถ่ายได้บอย 3 - 4 ครั้ง หรืออาจมากถึง 5 - 6 ครั้งต่อวัน

ทารก 3 เดือนเดินทางไกลได้ไหม

จริง ๆ ไม่มีการกำหนดตายตัวค่ะว่าเด็กอายุเท่าไหร่จึงจะสามารถเดินทางไกลกับคุณพ่อคุณแม่ได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของคุณพ่อคุณแม่เป็นสำคัญว่าจะสามารถดูแลลูกในระหว่างการเดินทางได้ไหม สามารถยอมรับกับสายตาของคนรอบข้างเวลาที่ลูกร้องไห้งอแงรบกวนคนอื่น ๆ ได้ไหม หรือทารกมีความพร้อมทางด้านร่างกายต่อการเดินทางไกลไหม เพราะทารกบางคนอาจจะไม่สบาย หรือมีปัญหาสุขภาพที่อาจจะยังไม่เหมาะสำหรับการเดินทางไกล ดังนั้น ก่อนเดินทางไกล อาจจะพาลูกไปตรวจสุขภาพเพื่อเช็กความพร้อมของลูกก่อนก็ดีเหมือนกันค่ะ

ทารก 3 เดือนไม่ถ่าย อันตรายไหม ไม่ถ่ายกี่วันต้องไปหาหมอ

เป็นเรื่องปกติค่ะที่ทารกวัย 3 เดือนอาจจะไม่ถ่ายเลยเป็นเวลา 1-2 วัน หรือบางครั้งก็อาจนานถึง 3-4 วัน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะนวดท้องเบา ๆ หรือพาทารกทำท่าปั่นจกรยาน เพื่อกระตุ้นให้ลำไส้ของทารกเกิดการเคลื่อนไหว อาจช่วยให้ทารกถ่ายออกมาได้

อย่างไรก็ตาม หากทารกไม่ถ่ายเลยมากกว่า 1 สัปดาห์เป็นต้นไป อาจจะต้องหาเวลาพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อที่แพทย์จะได้ทำการวินิจฉัยและทำการรักษา เพราะบางครั้งลูกอาจจะมีอาการท้องผูก และแพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพื่อช่วยในการขับถ่ายให้

ลูก 3 เดือนไม่ฉี่ตอนกลางคืน ไม่ฉี่หลายชั่วโมง อันตรายไหม

ทารกวัย 3 เดือนขึ้นไปมักจะฉี่บ่อยค่ะ เฉลี่ยแล้วจะมีการฉี่ทุก ๆ ชั่วโมง ดังนั้น หากทารกไม่ฉี่เลย หรืออัตราการฉี่ขาดตอน ไม่ต่อเนื่อง อันนี้อาจจะต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นว่าลูกมีความผิดปกติเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ หรืออวัยวะอื่น ๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะหรือไม่

เด็ก 3 เดือนล้างจมูกได้ไหม

การล้างจมูกเด็กทารกสามารถทำได้ตั้งแต่ในช่วงขวบปีแรกเลยค่ะ แม้ว่าทารกอาจจะุยังไม่เต็มขวบดีก็สามารถทำได้ โดยไม่มีอันตรายแต่อย่างใด

เด็ก 3 เดือนกินกล้วยได้ไหม 

เด็กทารกวัยแรกเกิด - 6 เดือน ระบบทางเดินอาหารยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ จึงยังไม่พร้อมที่ย่อยอาหารนิดอื่น ๆ นอกจากนมแม่ ดังนั้น จึงยังไม่ควรให้ทารกวัยก่อน 6 เดือนกินอาหารชนิดอื่น ๆ เลยค่ะ แม้กระทั่งกล้วยบดก็ถือว่าไม่ปลอดภัยต่อทารก อาจทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย หรือมีปัญหาลำไส้รุนแรงจนต้องเข้ารับการผ่าตัดลำไส้ ทางที่ดีอดใจรอจนทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไปก่อนแล้วจึงค่อยเริ่มป้อนกล้วยบดให้ก็ยังไม่สายนะคะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

บทความที่แนะนำ

ลูกตาแฉะ คุณแม่มือใหม่แก้ไขอย่างไรดี
เคล็ด (ไม่) ลับ เพิ่มน้ำนมแม่ให้ลูกน้อย
Enfa Smart Club

Leaving page banner

 

Leaving page banner