ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เครื่องมือตรวจสอบระหว่างตั้งครรภ์
ปฏิทินเพื่อนับวันไข่ตก
รู้ช่วงเวลาของวันไข่ตก…........เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์

อุ่นใจ นับวันตกไข่ ให้เป๊ะ! ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์

 

ต้องบอกว่ารอบเดือนกับการตกไข่ เป็นเรื่องใกล้ตัวของผู้หญิง ดังนั้น การนับวันตกไข่จึงเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมในการตั้งครรภ์ และเนื่องจากวันไข่ตกจะเกิดเพียงขึ้นเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น ทำให้ต้องมีการวางแผนที่ดีสำหรับคู่รักที่ต้องการมีบุตร

การตั้งครรภ์นั้นจะเกิดขึ้นได้เมื่ออสุจิเข้าไปผสมกับไข่ในช่วงวันตกไข่ ฉะนั้นหากสามารถ นับวันตกไข่ ที่แน่นอนได้แล้ว ก็เท่ากับสามารถกำหนดวันมีเพศสัมพันธ์ที่มีโอกาสจะมีลูกได้มากขึ้น เพราะในช่วงวันที่ตกไข่จะเป็นช่วงที่อสุจิสามารถเข้าไปปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ได้และส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์นั่นเอง

ทำความเข้าใจเรื่องวันไข่ตก


วันไข่ตกคืออะไร

การไข่ตก (Ovulation) คือกลไกลธรรมชาติของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง โดยผู้หญิงแต่ละคนจะมีไข่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดถึงล้านใบ ซึ่งวันที่ไข่ตกเป็นวันที่ไข่ 1 ใบ จะถูกปล่อยให้ตกลงมาจากรังไข่ หากไข่ที่ตกลงมามีการปฏิสนธิกับเซลล์อสุจิในช่วงนั้น ผู้หญิงก็จะมีโอกาสในการตั้งครรภ์

ซึ่งเมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ แต่ละเดือนจะมีการตกไข่ 1 ครั้ง การที่ไข่ฟองไหนจะเจริญเติบโตและตก เป็นผลมาจากฮอร์โมนหลายตัวที่ทำงานร่วมกันคือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) โปรเจสเตอโรน (Progesterone) แอลเอช (LH – Luteinozing Hormone) และเอฟเอสเอช (FSH – Follicle Stimulating Hormone) โดยวงจรการตกไข่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ของรอบเดือน

ฮอร์โมนต่าง ๆ เหล่านั้นจะทำให้ฟองไข่ประมาณ 15-20 ฟองเจริญเติบโตอยู่ในถุงรังไข่จนถึงวันที่ 14 ของรอบเดือน แต่จะมีไข่ที่สมบูรณ์ที่สุดเพียง 1 ใบเท่านั้น ที่มีสิทธิ์ตกออกมาจากถุงรังไข่ และเคลื่อนตัวผ่านเข้าไปใน ท่อนำไข่ ก่อนที่จะหลุดจากท่อนำไข่เข้าไปในโพรงมดลูก

ช่วงเวลานับจากนาทีที่ไข่หลุดจากถุงรังไข่ อยู่ในท่อนำไข่ จนถึงนาทีที่หลุดเข้าไปในโพรงมดลูก เป็นช่วงเวลาสำคัญสุดที่ เรียกว่า “การตกไข่” นั่นเองค่ะ เหตุที่กล่าวว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสุด เพราะระยะเวลาดังกล่าว ยาวนานเพียงแค่ 12-24 ชั่วโมงเท่านั้น

ในช่วงระยะเวลาที่ไข่ถูกฟูมฟักให้สมบูรณ์ ฮอร์โมนที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็จะจัดเตรียมมดลูกให้พร้อมสำหรับไข่ที่ได้รับการผสม โดยมีการสร้างเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นมาใหม่ สร้างหลอดเลือดใหม่เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยง เพื่อให้ไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว จะสามารถฝังตัวได้ทันที และได้รับอาหารบำรุงพรั่งพร้อม เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแรง

เข้าใจวงจรวันไข่ตก


การไข่ตกจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

การไข่ตกจะเกิดขึ้น ประมาณช่วงกลางของรอบประจำเดือน วันไข่ตกของผู้หญิงจะมีความแตกต่างกันออกไปเนื่องจากความแตกต่างในรอบเดือนและระยะเวลาของรอบเดือน โดยปกติแล้วการไข่ตกจะเกินขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนรอบเดือนถัดไป ซึ่งกระบวนการตกไข่จะเริ่มไล่ลำดับวงจร ดังนี้

  • ระยะก่อนไข่ตก เป็นช่วงก่อนที่ประจำเดือนรอบใหม่จะเริ่มขึ้น ต่อมใต้สมองจะหลั่ง ฟอลลิเคิลสติมิวเลติงฮอร์โมน (Follicle Stimulating Hormone หรือ FSH) เพื่อช่วยกระตุ้นรังไข่ให้เจริญเติบโตก่อนที่จะมีการตกไข่ และเมื่อรังไข่เติบโตขึ้นก็จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อทำให้ผนังมดลูกหนาและแข็งแรงขึ้น สำหรับเตรียมพร้อมต่อการตั้งครรภ์
  • ระยะไข่ตก ต่อมใต้สมองในร่างกายจะผลิต ลูทิไนซิงฮอร์โมน (Luteinizing Hormone หรือ LH) เพื่อกระตุ้นให้ไข่และเซลล์ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในรังไข่เคลื่อนตัวไปยังท่อนำไข่ หรืออาจเรียกช่วงนี้ว่าเป็นระยะเจริญพันธ์ คือพร้อมที่จะมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ซึ่งการตกไข่จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 14 และจะมีการตกไข่แค่เพียง 12-24 ชั่วโมงเท่านั้น
  • ระยะหลังไข่ตก หากมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ก็จะมีการฝังตัวอ่อนในมดลูกต่อไป แต่ถ้าหากไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ก็จะมีเลือดขับออกทางช่องคลอดในวันที่ 28 ซึ่งนับเป็นรอบเดือนใหม่

การไข่ตกเกิดขึ้นนานแค่ไหน ไข่ตกอยู่ได้กี่วัน


การไข่ตกจะมีระยะประมาณ 12-24 ชั่วโมง แต่อย่างไรก็ตาม คุณจะสามารถปฏิสนธิได้นานถึง 6 วัน เพราะว่าอสุจิจะสามารถมีชีวิตอยู่ในร่างกายได้ถึง 5 วัน ดังนั้น หากคุณมีเพศสัมพันธ์ 5 วันก่อนวันไข่ตก คุณมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้

การนับวันไข่ตก สำคัญอย่างไร


การนับวันไข่ตกนั้นมีความสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการวางแผนมีลูก และจัดเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับสำคัญของการตั้งครรภ์ที่คุณผู้หญิงควรเรียนรู้ไว้ เนื่องจากการตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อไข่ที่ตกได้รับการผสมจากอสุจิ ซึ่งใน 1 เดือน จะมีการตกไข่เพียง 1 ครั้ง และช่วงที่ไข่จะพร้อมรอการผสม คือช่วงเวลาที่ไข่เคลื่อนตัวเดินทางจากถุงรังไข่ไปถึงโพรงมดลูกเท่านั้น ซึ่งยาวนาน เพียงแค่ 12-24 ชั่วโมงเท่านั้นในแต่ละเดือน

ถ้าหากมีการปฏิสนธิในช่วงเวลานี้ "ไข่" ที่ได้รับการผสม ก็จะไปฝังตัวกับเยื่อบุผนังมดลูกกลายเป็นตัวอ่อน พร้อมกับสร้างฮอร์โมนกระตุ้นให้มดลูกและเยื่อบุมดลูกมีการพัฒนาต่อไป เกิดเป็นการตั้งครรภ์ขึ้น แต่ถ้าไข่ไม่ถูกปฏิสนธิหรือผสมไม่สำเร็จ ไข่ก็จะฝ่อ และ เยื่อบุมดลูกที่ขาดฮอร์โมนจากไข่ที่ผสมแล้ว ก็จะเริ่มสลายตัว อีก 14 วันหลังจากนั้นก็จะกลายเป็นประจำเดือนปกตินั่นเอง

วิธีนับวันไข่ตก สำหรับว่าที่คุณแม่ มีอะไรบ้าง


จดบันทึกรอบเดือนของตัวเอง

แนะนำว่าควรจดบันทึก “ความยาวของรอบเดือน” ไว้ทุกเดือน ตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนหรืออย่างน้อย เป็นระยะเวลา 8-12 เดือน โดยจดบันทึกวันแรกที่มีประจำเดือนทุกครั้ง

โดยระยะเวลา 1 รอบเดือน คือ วันแรกที่มีประจำเดือนของเดือนก่อน ถึงวันแรกที่มีประจำเดือนของเดือนนี้ แล้วดูว่ารอบเดือนครั้งไหนมีจำนวนวันที่น้อยที่สุดและมากที่สุด แล้วจึงนำมาคำนวณง่าย ๆ ตามสูตร ดังนี้

  • วันแรกที่พร้อมตั้งครรภ์ (First fertile day) = รอบเดือนที่มีวันน้อยสุด – 18
  • วันสุดท้ายที่พร้อมตั้งครรภ์ (Last fertile day) = รอบเดือนที่มีวันมากสุด – 11

ใช้เครื่องมือคํานวณวันไข่ตก

การนับวันไข่จะตก จะนับในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนที่ประจำเดือนรอบใหม่จะมา ซึ่งการจะคำนวณวันตกไข่ให้แม่น ๆ ได้นั้น จะใช้ได้เฉพาะกับผู้หญิงที่มีรอบเดือนสม่ำเสมอเท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่ประจำเดือนมาไม่ค่อยปกติ ก็อาจจะใช้วิธีนี้ไม่ได้ วิธีแก้ไขก็คือ ควรจดบันทึกเพื่อให้ทราบระยะการมีรอบเดือนอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถคำนวณวันที่อาจจะมีการตกไข่ได้แม่นยำมากขึ้น สามารถนำข้อมูลที่บันทึกไว้มาคำนวณหาวันที่อาจมีการไข่ตก ได้โดยนำข้อมูลการมีรอบเดือนครั้งล่าสุด และระยะการมีรอบเดือนในแต่ละครั้งลงใน ปฏิทินเพื่อนับวันไข่ตก ก็จะช่วยให้สามารถคำนวณวันและเวลาในการตกไข่ได้สะดวกขึ้น

ใช้ที่ตรวจไข่ตก

อีกหนึ่งวิธีที่สามารถใช้ในการคำนวณหาวันไข่ตกได้ก็คือการใช้ชุดตรวจการตกไข่ (LH ovulation test) ซึ่งชุดตรวจนี้จะเป็นการตรวจหาลูทิไนซิงฮอร์โมน (Luteinizing Hormone หรือ LH) ที่อยู่ในปัสสาวะ เพื่อดูว่าจะมีการตกไข่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้หรือไม่ โดยชุดตรวจการตกไข่จะประกอบไปด้วยแท่งสำหรับตรวจ หรือบางยี่ห้ออาจมีถ้วยสำหรับตวงปัสสาวะมาให้ด้วย

ซึ่งวิธีการตรวจหาวันไข่ตกนั้นก็คล้ายกับวิธีการตรวจครรภ์ คือปัสสาวะผ่านแท่งตรวจ หรือนำแท่งตรวจจุ่มลงไปในถ้วยตวงปัสสาวะ (แล้วแต่ยี่ห้อ บางยี่ห้อก็ไม่มีถ้วยตวงให้) และรออ่านผลภายใน 5 นาที โดยชุดตรวจจะมีขีดอยู่สองขีด ขีดแรกสำหรับบอกว่าอุปกรณ์สามารถใช้งานได้ ส่วนอีกขีดหนึ่ง หากมีสีที่เข้มขึ้นก็หมายความว่าร่างกายมีระดับฮอร์โมน LH สูง และอาจมีการตกไข่เกิดขึ้น

ใช้แอปนับวันไข่ตก

ในปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นมากมายสำหรับผู้หญิง ทั้งแอปบันทึกการมีรอบเดือน ไปจนถึงแอปนับวันตกไข่ ซึ่งใช้งานง่าย เพียงแค่กรอกข้อมูลลงไป แอปพลิเคชั่นก็จะประมวลผลของวันที่อาจจะเกิดการตกไข่ออกมา

ว่าด้วยอาการไข่ตก ช่วงที่มีไข่ตก ผู้หญิงจะมีอาการอย่างไร


  • อุณภูมิร่างกายจะสูงขึ้น การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Basal body temperature – BBT)

เป็นการใช้ความรู้ด้านสรีรวิทยาที่ว่า อุณหภูมิในร่างกายจะลดลง 12-24 ชั่วโมงก่อนที่จะมี การตกไข่ หลังจากนั้นก็จะสูงขึ้นประมาณครึ่งองศาเมื่อมีการตกไข่ (0.5 degree Celsius/C) ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)

ดังนั้น คุณผู้หญิงจะต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิของตนเองทุกเช้า โดยนอนหลับสนิทติดต่อกันอย่างน้อย 5 ชั่วโมง เมื่อตื่นนอนและก่อนทำกิจกรรมใด ๆ ให้วัดอุณหภูมิร่างกายทันทีด้วยปรอทวัดไข้ธรรมดา แล้วจดบันทึกเอาไว้ด้วยการใช้ปรอทวัดไข้ธรรมดาหลังจากตื่นนอนและก่อนทำกิจกรรมใด ๆ ควรทำสม่ำเสมอเพื่อดูแนวโน้มและจะได้สามารถคาดคะเน วันไข่ตก ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น เมื่อดูจากค่าอุณหภูมิที่บันทึกไว้ เราก็สามารถเลือกวันที่จะมีเพศสัมพันธ์เพื่อให้ตั้งครรภ์ได้

  • เกิดการเปลี่ยนแปลงบริเวณปากมดลูก

ปกติแล้ว ปากมดลูกจะอยู่ในระดับต่ำ มีลักษณะแห้งและแข็ง เมื่อแตะดูจะมีความรู้สึกเหมือนแตะที่ปลายจมูก แต่เมื่อถึง วันตกไข่ ปากมดลูกจะเลื่อนขึ้นไปอยู่สูงขึ้น เมื่อแตะดูแล้วจะมีความอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ (เหมือนริมฝีปาก) เปียก ๆ แฉะ ๆ และต้องตรวจทุก ๆ วันในช่วงเวลาเดิม แต่หากมีอาการปัสสาวะแล้วปวดแสบ มีอาการติดเชื้อหรืออักเสบในช่องคลอดก็ห้ามใช้วิธีนี้

  • อารมณ์ทางเพศที่เพิ่มขึ้น

อารมณ์ทางเพศที่เพิ่มขึ้น เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของผู้หญิง โดยฝ่ายหญิงจะมีอารมณ์หรืออยากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาตกไข่ เพราะช่วงตกไข่ จะเป็นช่วงที่ปากมดลูกเลื่อนขึ้นไปอยู่สูง อ่อนนุ่มขึ้น และสร้างของเหลวที่ช่วยในการหล่อลื่นมากเป็นพิเศษเพื่อการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงยังมีเลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณช่องคลอดมากขึ้น จึงทำให้เกิดอารมณ์อยากมีเพศสัมพันธ์มากขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การสังเกตด้วยวิธีนี้ก็อาจจะไม่แน่นอนเสมอไป เพราะความเครียดหรือปัจจัยอื่น ๆ ก็อาจทำให้อารมณ์เพศลดน้อยลงได้

  • มีตกขาว หรือมูกไข่ตก

เมื่อใกล้ช่วงตกไข่ ร่างกายจะมีการขับสารคัดหลั่งออกมาที่ปากมดลูก หรือเรียกว่า มูกไข่ตก มีลักษณะเป็นเมือกลื่น ๆ คล้ายกับไข่ขาวดิบ ซึ่งเมือกนี้จะช่วยให้อสุจิสามารถว่ายเข้าสู่ปากมดลูกได้เร็วขึ้น เพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิ และเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์

  • เต้านมนิ่มขึ้น

ช่วงก่อนตกไข่ และระหว่างตกไข่ จะมีการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งจะทำให้รู้สึกว่าช่วงนี้เต้านมนิ่มขึ้น และน่าสัมผัสมากขึ้น รวมถึงมีอาการเจ็บหัวนม หรือเสียวหัวนมเวลาสัมผัส

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถใช้อาการนี้ในการคำนวณการตกไข่ได้เสมอไป เพราะการเปลี่ยนแปลงเต้านมอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การตกไข่ และเป็นเพียงสัญญาณที่อาจบอกได้ว่ามีการตกไข่เกิดขึ้นเท่านั้น

  • ปวดท้อง หรือปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน

ช่วงที่มีรอบเดือนผู้หญิงก็มักจะมีอาการปวดท้องหรือปวดที่อุ้งเชิงกรานกันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากจู่ ๆ มีอาการปวดขึ้นแบบเฉียบพลันในช่วงกลางของการมีประจำเดือน อาจเป็นไปได้ว่ามีการตกไข่เกิดขึ้น

รู้วันไข่ตกแล้ว ได้เวลากำหนดระยะเวลาเจริญพันธ์ให้เหมาะสม


การกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์ (The standard days method – SDM) เป็นการกำหนดช่วงเวลาไปเลยว่าในวันที่ 8-19 (แถบสีฟ้า) ของรอบเดือนจะเป็นช่วงที่มีโอกาสทำให้เกิดการตั้งครรภ์ โดยเป็นการคำนวณค่าเฉลี่ยของรอบประจำเดือนของสตรีทั่วไปที่มีรอบประจำเดือน 26-32 วัน หากต้องการมีลูกก็ให้มีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาดังกล่าวค่ะ

ไข่ตกกี่วันถึงจะท้อง ว่าที่คุณแม่ควรเริ่มตรวจครรภ์ช่วงไหนดี


เป็นเรื่องยากที่จะระบุว่าหลังจากไข่ตกแล้วต้องรออีกกี่วันถึงจะท้อง เพราะมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องนำมาประกอบ เช่น มีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ไข่ตกหรือไม่ มีภาวะการมีบุตรยากหรือไม่ มีภาวะน้ำอสุจิน้อยหรือไม่ หรือเป็นหมันหรือไม่ ซึ่งหากมีปัจจัยอื่นที่เสี่ยงต่อการมีบุตรยาก โอกาสในการตั้งครรภ์ก็อาจจะน้อย หรือไม่มีเลย

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว ไข่จะตกและพร้อมต่อการปฏิสนธิแค่เพียง 12-24 ชั่วโมงเท่านั้น หากมีการปฏิสนธิเกิดขึ้นในระหว่างนี้ นับถัดไปอีกประมาณ 12-14 วัน หากประจำเดือนขาด ก็สามารถลองตรวจครรภ์ดูได้ว่าท้องหรือไม่ แต่ถ้าหลังจากวันตกไข่ผ่านไป 12-14 วันแล้วมีเลือดประจำเดือนขับออกทางช่องคลอด ก็อาจเป็นไปได้ว่าแผนการตั้งครรภ์รอบนี้ยังไม่สำเร็จ

อาการหลังไข่ตกแล้วท้อง เป็นอย่างไร?


หลังวันตกไข่ผ่านไปแล้ว และประจำเดือนไม่มา อาจเป็นสัญญาณที่พอจะคาดเดาได้ว่ามีการตั้งท้องเกิดขึ้น ซึ่งการตรวจครรภ์จะช่วยให้ทราบผลลัพธ์ที่แม่นยำขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น อาจพบกับอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • มีเลือดล้างหน้าเด็ก เกิดจากการฝังตัวอ่อนลงในโพรงมดลูก ถือเป็นกลุ่มอาการเริ่มแรกสุดที่บ่งบอกว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น และตัวอ่อนเริ่มมีการเจริญเติบโตในมดลูกแล้ว
  • เวียนหัว ปวดหัว เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนและการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนโลหิตในร่างกาย
  • เต้านมขยายใหญ่ขึ้น มีอาการคัดตึงเต้านม เจ็บเต้านมหรือหัวนม เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนและการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนโลหิตในร่างกาย ซึ่งเมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น เลือดก็จะไหลเวียนไปยังเต้านมมากขึ้น เพื่อเริ่มเตรียมร่างกายให้พร้อมต่อการให้นมบุตรในอนาคต
  • ประสาทสัมผัสไวต่อกลิ่นและรสชาติต่าง ๆ อาหารบางอย่างที่เคยชอบรับประทานก็อาจจะไม่ชอบขึ้นมาเสียดื้อ ๆ หรือรู้สึกว่ามีรสโลหะอยู่ในปาก
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น กระบวนการไหลเวียนโลหิตในร่างกายช่วงตั้งครรภ์จะเปลี่ยนแปลงไป โดยนอกจากจะไหลไปยังเต้านมมากขึ้นแล้ว ก็ยังไหลไปที่ไตมากขึ้นกว่าปกติด้วย จึงเป็นการกระตุ้นให้ไตผลิตปัสสาวะออกมามากขึ้น
  • คลื่นไส้ อาเจียน มักพบได้บ่อยในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ หรือที่มักเรียกกันติดปากว่า อาการแพ้ท้อง
  • ท้องผูกบ่อย ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในร่างกาย ส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร ทำให้กระบวนการย่อยอาหารทำได้ช้าลง จึงเกิดปัญหาท้องผูก หรือมีแก๊สในลำไส้มากขึ้น
  • ร่างกายอ่อนเพลีย เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมากกว่าปกติ เพื่อเตรียมมดลูกให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ ซึ่งระดับโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้นนี้เองส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติ

นับวันไข่ตก แต่ไม่ท้อง เกิดขึ้นได้อย่างไร


เทคนิคการนับวันตกไข่อาจใช้ไม่ได้กับทุกคน โดยเฉพาะในคนที่มีปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ มาบ้างไม่มาบ้าง การนับวันตกไข่ อาจใช้ไม่ได้ผล เพราะอาจมีความคลาดเคลื่อนกันในแต่ละเดือน แนะนำว่าควรพบแพทย์เพื่อปรึกษา เพราะการที่ประจำเดือนจะมาตรงเวลาหรือไม่นั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ

ไขข้อข้องใจเรื่องการนับวันไข่ตกกับ Enfa Smart Club


1. มีเทคนิคนับวันไข่ตกให้ได้ลูกแฝดหรือไม่

ปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยรองรับอย่างเพียงพอว่านับวันตกไข่อย่างไรจึงจะได้ลูกแฝด ซึ่งการจะมีลูกแฝดได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่กรรมพันธ์ ไปจนถึงอายุหรือจำนวนครั้งของการตั้งครรภ์ จะอาศัยเพียงการนับวันตกไข่แล้วตั้งท้องแฝดไม่ได้ หรือหากต้องการมีลูกแฝด อาจจำเป็นจะต้องปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการปฏิสนธินอกมดลูกด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ก็อาจจะเพิ่มโอกาสในการมีลูกแฝดได้

2. นับวันไข่ตกอย่างไรให้ได้ลูกสาว

ปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยรองรับอย่างเพียงพอว่านับวันตกไข่อย่างไรจึงจะได้ลูกสาว

3. นับวันไข่ตกอย่างไรให้ได้ลูกชาย

ปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยรองรับอย่างเพียงพอว่านับวันตกไข่อย่างไรจึงจะได้ลูกชาย

4. ช่วงไข่ตก มีอาการปวดท้องหรือหน่วงท้อง ผิดปกติหรือไม่

ช่วงที่ตกไข่ อาจมีอาการปวดท้องหรือปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานขึ้นมาอย่างเฉียบพลันได้ ซึ่งถือเป็นกลุ่มอาการปกติของการตกไข่

5. ยากระตุ้นไข่ตกคืออะไร

ยากระตุ้นไข่ตก เป็นยาฮอร์โมนสังเคราะห์ที่จะไปช่วยกระตุ้นไข่ในรังไข่ให้ผลิตจำนวนออกมามากขึ้น เพิ่มโอกาสในการไข่ตกมากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ยากระตุ้นไข่ตก ไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป จำเป็นต้องมีการสั่งจ่ายหรือได้รับการวินิจฉัยว่าควรรับประทานจากแพทย์ก่อนเสมอ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์


 

 
Enfa Smart Club

Leaving page banner

 

Leaving page banner