1. ดูดเร็ว
ยิ่งให้ลูกกินนมแม่เร็วเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น โรงพยาบาลหลายแห่งที่เป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก ทันทีที่ลูกคลอดออกมา คุณหมอและพยาบาลจะรีบนำลูกมาให้เริ่มดูดนมแม่ตั้งแต่บนเตียงคลอดเลยทีเดียว การทำเช่นนั้น ลูกยังไม่ได้รับน้ำนมหรอกนะคะ แต่จุดสำคัญคือเป็นการช่วยกระตุ้นให้น้ำนมมาเร็ว ถ้าเริ่มช้า น้ำนมก็จะยิ่งมาช้านั่นเอง...และที่สำคัญกว่าก็คือ การที่ลูกน้อยซึ่งเพิ่งเกิดได้มานอนซบอกอุ่นของคุณแม่ เป็นช่วงเวลาแห่งความดื่มด่ำใจที่หาใดมาเทียบไม่ได้
2. ดูดบ่อย
คุณแม่มือใหม่ควรให้ลูกกินนมแม่บ่อยตามที่ลูกต้องการ หิวเมื่อไรก็ให้ดูด เพราะนมแม่นั้นย่อยง่าย ในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมบ่อยๆ อาจจะประมาณทุก 1 – 2 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้น้ำนมมา หลังจากนี้ก็ให้ลูกดูดตามต้องการ โดยไม่ต้องตั้งเวลา แต่ถ้ารู้สึกคัดเต้านม ต้องให้ลูกดูดนมออกทันที การให้ลูกกินนมแม่บ่อยจะช่วยระบายน้ำนมออกจากเต้า และให้เต้านมสร้างน้ำนมใหม่เรื่อยๆ ไม่เช่นนั้น คุณแม่จะเจ็บเพราะคัดเต้านม และทำให้เต้านมสร้างน้ำนมได้น้อยลงด้วย
วิธีที่จะทราบว่าลูกน้อยหิวนมแม่แล้ว ก็คือสังเกตอากัปกิริยาของลูก เมื่อไรที่ลูกเริ่มส่ายหน้าหาหัวนม เอามือถูที่ปาก หรือทำท่าดูด ฯลฯ แสดงว่า ลูกต้องการดูดนมแล้ว
3. ดูดถูกวิธี
ท่าดูดนมที่ถูกต้องสำหรับลูกมีดังนี้ค่ะ
-
ปากลูกต้องเปิดกว้าง เพื่ออมหัวนมให้ลึกที่สุดจนมิดลานนม ถ้าลานนมกว้างก็ให้อมให้มากที่สุด คางแนบเต้า ปลายจมูกชิดหรือแตะเต้านม และริมฝีปากบน-ล่างบานออก
-
ลูกดูดแรงโดยใช้ลิ้นรีดน้ำนมเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ได้ยินเสียงกลืนนมเป็นจังหวะ
-
ถ้าลูกไม่ค่อยดูดหรือดูดช้าลง ให้บีบเต้านมช่วยเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมเข้าปากลูก
วิธีสังเกตว่าลูกกินนมแม่ “ถนัดดี”
-
ลูกอ้าปากกว้างดี
-
คางของลูกจรดกับเต้านมแม่
-
ตัวลูกอยู่ในแนวเส้นตรง
-
ปากลูกอมทั้งหัวนม และด้านล่างของลานหัวนม
-
จมูกลูกไม่ถูกสิ่งใดกดเบียด
-
ลูกเริ่มดูดทันที จากนั้นค่อยๆ ปรับจังหวะดูดแรงและหนักขึ้น
-
ขณะดูดนม สังเกตเห็นขากรรไกรและใบหูของลูกขยับเล็กน้อยตามจังหวะการกลืน
-
แม่ลูกได้สบตากันด้วย
4. ดูดเกลี้ยงเต้า
นอกจากดูดถูกวิธีแล้ว การให้ลูกกินนมแม่แต่ละครั้งต้องนานพอ เพื่อให้ลูกดูดนมได้จนเกลี้ยงเต้า เต้านมจะได้ผลิตน้ำนมใหม่อย่างต่อเนื่อง ป้องกันปัญหาการมีน้ำนมน้อยลง และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือน้ำนมก้นเต้าหรือน้ำนมส่วนหลังมีไขมันสำคัญอย่างดีเอชเอที่จะไปเสริมพัฒนาการลูกน้อยทางสมองและสายตาของเจ้าตัวเล็ก ทั้งยังมีน้ำย่อยไลเปสช่วยย่อยไขมันจากนม ซึ่งเป็นเหตุผลที่ลูกกินนมแม่แล้วท้องไม่ผูก
วิธีสังเกตเพื่อให้คุณแม่แน่ใจว่าลูกดูดนมเกลี้ยงเต้าก็คือ หลังให้ลูกดูดนมเสร็จแล้ว เต้านมนิ่มลงทั้งเต้า อาการเจ็บตึงที่เต้านมหรือที่เรียกว่านมคัดก็หายไปด้วย ถ้ายังไม่แน่ใจให้ลองบีบเต้านมดู น้ำนมจะไม่พุ่งแต่ออกมาเพียง 1-2 หยดเท่านั้น