เมื่อลูกน้อยก้าวเข้าสู่ขวบปีแรก คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มเห็นพัฒนาการที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนมากขึ้น ทั้งการยืน การเดิน การสื่อสารด้วยภาษา เด็กในวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความเข้าใจในทุกด้านที่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายและอารมณ์ เพื่อให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่นใจ และปลอดภัยตลอดเวลา มาดูกันดีกว่าว่า พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ ที่พ่อแม่ควรรู้ มีอะไรบ้าง
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ เป็นอย่างไร
1.พัฒนาการทางร่างกาย
พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของลูกน้อย สำหรับ เด็กวัย 1 ขวบ จะมีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ จากการที่คลานไปทั่วบ้าน ก็จะเริ่มก้าวเข้าสู่การยืน และการเดิน เด็กต้องใช้เวลาในการ หัดยืน หัดเกาะ จากนั้นจึงค่อย ๆ เริ่มหัดก้าวเดินก้าวแรกด้วยตนเอง และเมื่อลูกน้อยของคุณเริ่มเดินเองได้แล้ว พัฒนาการขั้นต่อไปก็จะเป็นการเดินขึ้นบันไดโดยจับราวบันไดไว้ค่ะ พ่อแม่ไม่ควรเร่งรัดการหัดยืนหัดเดินของลูกน้อย ควรปล่อยให้เป็นธรรมชาติ
สิ่งต้องห้ามสำหรับพ่อแม่คือ ห้ามใช้เก้าอี้หัดเดินโดยเด็ดขาด เพราะเก้าอี้หัดเดินไม่ได้ทำให้เด็กสามารถฝึกการยืนการเดินได้ด้วยตนเองจริง ๆ การเดินของเด็กในเก้าอี้หัดเดินจะเป็นการถีบเท้าไปด้านหลัง ปล่อยให้ล้อของเก้าอี้พาตัวไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูง อีกทั้งเด็กยังไม่สามารถหยุดยั้งการเคลื่อนตัวของเก้าอี้หัดเดินได้ ทำให้สามารถเกิดอันตรายได้
เด็กบางคนอาจหัดยืนหัดเดินได้ช้า คุณพ่อคุณแม่จึงควรใส่ใจพัฒนาการทางธรรมชาตินี้ของ ลูกวัย 1 ขวบ ถ้าลูกอายุเกิน 1.5 ขวบแล้ว ยังลุกยืน หรือหัดเดินไม่ได้ ก็ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบว่า ลูกมีปัญหาในเรื่องของระบบกล้ามเนื้อ กระดูก และประสาทหรือไม่ ลูกน้อยวัย 1 ขวบ ของคุณเริ่มควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ปัสสาวะและขับถ่ายได้ แต่อาจยังไม่พร้อมต่อการใช้ห้องน้ำ ลูก ๆ จะเริ่มจากการหัดถอดเสื้อผ้าชิ้นที่ถอดออกง่ายได้ด้วยตนเอง เช่น หมวก ถุงมือ ถุงเท้า เป็นต้น นอกจากจะฝึกการเข้าห้องน้ำแล้วช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่สามารถหัดให้ลูกลองดื่มน้ำจากแก้วหรือใช้ช้อนตักอาหารรับประทานเองได้
2.พัฒนาการทางสติปัญญาและภาษา
-
2.1 เริ่มพูดเป็นคำ ๆ : เด็ก 1 ขวบจะเริ่มพูดออกมาเป็นคำ ๆ โดยเป็นคำใหม่ ๆ ที่มีความหมาย อาจไม่ใช่คำว่าพ่อแม่ แต่อาจจะเป็นชื่อคนคุ้นเคย สิ่งของหรือชื่อสัตว์เลี้ยงในบ้าน หากลูกฟังแล้วมีปฏิกิริยาตอบสนอง อย่างเช่นเรียกชื่อแล้วหันมา หรือ บอกว่า หม่ำ ๆ แล้วอ้าปากรอ แสดงว่าเข้าใจความหมายและได้ยินชัดเจน แต่ถ้านิ่งเฉยต่อคำเรียกเหล่านี้ ควรพาไปหาหมอเพื่อเช็กการได้ยิน
-
2.2 เริ่มชี้สิ่งของ : เด็ก 1 ขวบ เริ่มชี้สิ่งของเพื่อบอกว่าอยากได้หรือเพื่อให้ผู้ใหญ่สนใจ รวมถึงเรียนรู้ชื่อและวัตถุประสงค์ของการใช้สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น แปรงสีฟัน ช้อน โทรศัพท์ สามารถชี้และระบุชื่ออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือหลาย ๆ ส่วนได้
-
2.3 เริ่มแสดงความสนใจ : เด็ก 1 ขวบ เริ่มแสดงความสนใจเมื่อเล่านิทานให้ฟังและมองภาพตาม สามารถทำตามคำสั่งง่าย ๆ ที่ไม่ซับซ้อนโดยไม่ต้องใช้ท่าทางประกอบ เช่น ลุกขึ้น นั่งลง เริ่มเรียนรู้เลียนแบบจดจำท่าทางของผู้ใหญ่ และเริ่มวาดขีดเขียนบนกระดาษหรือพยายามวาดรูปตามต้นแบบเองได้ค่ะ
3. พัฒนาการทางด้านสังคมและอารมณ์
ลูกน้อยวัย 1 ขวบ จะเริ่มสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ส่งเสียงเอะอะ ร้องเรียกให้หันมาสนใจ ใช้นิ้วชี้ไปยังสิ่งของที่ตัวเองต้องการเพื่อให้คนอื่นหยิบให้ เด็กอายุ 1 ขวบ จะเริ่มมีความกลัวสิ่งรอบตัวบางอย่าง เช่น กลัวสัตว์ กลัวการอาบน้ำ กลัวความมืด กลัวเสียง ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเด็ก เพราะความกลัวเป็นเรื่องปกติธรรมดาตามธรรมชาติที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจ และใจเย็นกับลูกให้มากเพราะ เด็กวัย 1 ขวบ ลูกมักจะมีอารมณ์อ่อนไหวง่าย
นอกจากนั้น พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ จะมีการแสดงความเป็นตัวเองมากขึ้น รู้จักปฎิเสธ รู้จักพยักหน้า เด็ก 1 ขวบ จะเริ่มสนใจคนรอบข้างมากขึ้น เริ่มสังเกตคนที่อยู่รอบตัว เริ่มเปรียบเทียบของเล่นตัวเองกับของเพื่อน ทำให้บางครั้งเริ่มรู้จักไปคว้าของคนอื่นมาเล่นเอง คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถเริ่มฝึกหัดสอนลูกให้รู้จักกับกฎเกณฑ์ง่าย ๆ ถึงเรื่องที่ทำได้และเรื่องทำไม่ได้
กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริม พัฒนาการของเด็กวัย 1 ขวบ
เพื่อให้ลูกน้อยมีพัฒนาการทั้งร่างกาย สติปัญญา และทางด้านอารมณ์ เหมาะสมตามวัย คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริม พัฒนาการลูกน้อยวัย 1 ขวบ ได้ด้วยกิจกรรมเหล่านี้
-
อ่านนิทานให้เด็กฟัง เป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่งให้ลูกต้องตั้งใจฟัง เป็นการช่วยพัฒนาทักษะการฟังให้ลูก
-
จัดหาพื้นที่ว่างเพื่อให้เด็กทำกิจกรรมและได้เล่นสนุก
-
หาของเล่นที่เลียนแบบอุปกรณ์จริง เช่น พลั่วพลาสติก ช้อนหรือส้อมพลาสติก เป็นต้น
-
ให้เด็กมีส่วนช่วยในการทำกิจวัตรประจำวันเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในครอบครัว
-
ส่งเสริมให้เด็กเล่นสร้างสิ่งต่าง ๆ อย่างการต่อตึก และสิ่งอื่น ๆ ที่เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์
-
ให้เด็กได้เล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน
-
ให้ของสำหรับปลอบโยนเมื่อเด็กต้องห่างพ่อแม่ เช่น ตุ๊กตาตัวโปรด เป็นต้น
-
หลีกเลี่ยงการให้เด็กดูโทรทัศน์หรือวิดีโอจากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ใด ๆ จนกว่าจะถึงอายุ 2 ขวบ
ยังมีสิ่งที่พ่อแม่ควรใส่ใจคือ ของเล่น และ การเล่นต่าง ๆ ที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยให้มาก เพราะของเล่นหลายอย่างสามารถก่ออันตรายได้ โดยธรรมชาติของตัวมันเอง อีกทั้ง เด็กวัย 1 ขวบ มีความอยากรู้อยากเห็น อยากลอง อาจนำของเล่นใส่เข้ารูจมูก หรือรูหู หรือกลืนลงไปได้
ไม่เพียงแต่ พัฒนาการเด็กวัย 1 ขวบ ที่คุณพ่อและคุณแม่ควรทำความเข้าใจเท่านั้น แต่คุณพ่อและคุณแม่ควรทำความเข้าใจเพิ่มเติมอีกว่า เด็กแต่ละคนมีลักษณะพัฒนาการที่เฉพาะตัวไม่เหมือนกัน เช่น บางคนอาจเดินได้เร็วกว่าพูด บางคนอาจจะพูดได้เร็วกว่าเดิน สิ่งที่เราในฐานะพ่อแม่สามารถช่วยลูกได้ คือสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกน้อยให้เติบโตสมวัย พร้อมสังเกตพัฒนาการของลูกน้อย หากพบความผิดปกติแนะนำพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาทันที
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการแต่ละช่วงวัยของลูกเป็นเรื่องสำคัญ หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของลูกน้อยแต่ละช่วงวัยสามารถอ่านบทความดี ๆ จากเราได้ที่ Enfa A + Smart Club
References