ตรวจสอบข้อมูลโดย : ผศ.พญ.ดิษจี ลุมพิกานนท์
กุมารแพทย์ สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล
การให้นมแม่กับลูกเป็นหนึ่งกิจกรรมที่จะช่วยให้คุณแม่ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับลูกมากขึ้น เพราะนอกจากลูกจะได้ดื่มน้ำนมแม่ที่มีสารอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะ สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อการสร้างภูมิคุ้มกันและการเจริญเติบโต เช่น MFGM (Milk Fat Globule Membrane) และ DHA (Docosahexaenoic Acid) แล้ว ยังเป็นโอกาสที่แม่จะได้บอกรักลูกผ่านการสัมผัสและสร้างสายสัมพันธ์อีกด้วย วันนี้ เราจึงมาพร้อมกับบทความดี ๆ ที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้เกี่ยวกับ ข้อที่ไม่ควรทำในช่วงให้นมลูก
คุณแม่มือใหม่ควรรู้: 10 ข้อที่ไม่ควรทำในช่วงให้นมลูก
- ให้ทารกหยุดนมแม่ก่อน 6 เดือน ช่วงเวลา 6 เดือนแรกนี้ ลูกควรกินนมแม่อย่างเดียว โดยไม่ต้องดื่มน้ำหรือกินอาหารอื่น เนื่องจากระบบการย่อยของเด็กเล็กยังพัฒนาไม่สมบูรณ์พอที่จะย่อยอาหารอย่างอื่นได้ นมแม่จะเหมาะสมกับระบบการย่อยของทารกมากที่สุด และในนมแม่มีสารอาหารที่สำคัญที่สุด เช่น MFGM และสารอาหารสำคัญอื่น ๆ ที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสมองและภูมิคุ้มกันของลูกน้อย ที่เพียงพอกับความต้องการของลูกอยู่แล้ว อีกทั้งนมแม่ยังมีสารต้านการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่จะเกิดในปาก จึงไม่ต้องดื่มน้ำล้างปาก การป้อนน้ำลูกกลับทำให้ลูกอิ่ม ส่งผลให้ลูกกินนมแม่ได้น้อยลง
- ฟอกสบู่ตรงหัวนมมากเกินไป การฟอกสบู่ตรงบริเวณหัวนมอาจจะทำให้ผิวแห้ง อีกทั้งไม่ควรแคะ แกะ เกาบริเวณหัวนม เพราะเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาหัวนมแตกที่จะเป็นอุปสรรคต่อการให้นมลูก อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ อีกด้วย
- ใช้ครีมทาที่ลานนมและหัวนม หลีกเลี่ยงการใช้ครีมทาที่ลานนมและหัวนม เพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำนมได้ เมื่อท่อน้ำนมอุดตัน ส่งผลให้เกิดการอักเสบและทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บเต้านม กระทบกับการให้นมลูก จนถึงอาจให้นมลูกไม่ได้ ทั้งยังเสี่ยงมีสารเคมีตกค้างบริเวณหัวนมอีกด้วย ยกเว้นในกรณีที่หัวนมแตกหรือมีแผล อาจใช้ครีมลาโนลิน ทาบาง ๆ บริเวณที่เป็น
- เช็ดทำความสะอาดหัวนมบ่อยจนเกินไป ก่อนให้นมลูกไม่จำเป็นต้องเช็ดหัวนมทุกครั้ง แต่ควรเช็ดด้วยน้ำสะอาดหรือล้างด้วยสบู่ถ้าแม่เหงื่อออกมาก หรือหัวนมมีคราบน้ำนมหรือน้ำลายของลูกน้อย ทั้งนี้การเช็ดหรือล้างมาก ๆ จะทำให้ผิวยิ่งแห้ง หัวนมจะแตกง่ายขึ้น เมื่อหัวนมแตกคุณแม่จะเจ็บ หากเป็นมากอาจต้องงดให้ลูกกินนมจากเต้า และใช้วิธีปั๊มนมแทน จากนั้นทาลาโนลินบาง ๆ และรอเวลาให้ผิวบริเวณหัวนมกลับมาปกติ
- ให้ลูกดูดนมจากเต้าสลับกับดูดจากขวด โดยเฉพาะช่วงเดือนแรกของการให้นม เพราะจะทำให้ลูกสับสนกับวิธีการดูดที่แตกต่างกัน การดูดจากเต้าลูกต้องใช้กล้ามเนื้อหลายมัดทำงาน ส่วนการดูดจากขวดเป็นการกัดจุกนมไว้ไม่ให้นมไหลในจังหวะที่ลูกกลืน ดังนั้นเวลาเปลี่ยนจากเต้าเป็นขวด จะทำให้ลูกกลืนนมไม่ทัน เพราะนมจะไหลเข้าปากตลอด ส่วนการเปลี่ยนจากขวดเป็นเต้าก็จะทำให้ลูกจะกัดนมแม่แรง เพราะชินกับการกัดจุกนมนั่นเอง หรือบางครั้งการที่ลูกดูดนมจากขวดได้สะดวกกว่า อาจทำให้ลูกไม่อยากดูดนมจากเต้าอีก นอกจากนี้การที่ลูกได้มีโอกาสดื่มนมแม่จากอก ยังเป็นการสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างแม่กับลูกอีกด้วย
- อุ่นนมแม่ด้วยไมโครเวฟ การอุ่นนมแม่ที่ถูกต้องคือ ให้อุ่นขวดนมในหม้อหรือเครื่องอุ่นนม แต่ห้ามอุ่นนมโดยตรงบนเตาหรือไมโครเวฟ เพราะความร้อนจะทำลายสารอาหารที่อยู่ในนม น้ำนมแม่มีสารอาหารสำคัญอยู่มากมาย ว่าจะเป็น MFGM หรือ DHA ซึ่งปริมาณดีเอชเอที่มีในนมแม่นั้น ธรรมชาติจะมีการปรับปริมาณให้เหมาะสมตามวันเวลาเพื่อเข้าไปปรับสมดุลในร่างกายของเด็ก ช่วยให้เซลล์สมองและสายตาของเด็กพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์
- ลดน้ำหนักด้วยการอดอาหารหลังคลอด เพราะคุณแม่มีกิจกรรมที่ต้องทำมากขึ้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับที่เปลี่ยนไป จากที่เคยนอนหลับยาวตลอดคืนกลายมาเป็นหลับ ๆ ตื่น ๆ เพราะต้องตื่นขึ้นมาให้นมและเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก ทั้งนี้ การควบคุมน้ำหนักนั้นสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้แคลอรี่สูงแต่คุณค่าทางอาหารต่ำ เช่น ขนมหวาน อาหารที่มันมาก น้ำอัดลม เป็นต้น ร่วมกับการออกกำลังกาย ซึ่งจะได้ผลดีกว่าและทำให้ร่างกายแข็งแรงกว่าการลดน้ำหนักด้วยการจำกัดอาหารเพียงอย่างเดียว
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะคาเฟอีนและแอลกอฮอล์จะส่งผ่านทางน้ำนมไปสู่ลูก จะทำให้ลูกกระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย นอกจากนี้ปริมาณคาเฟอีนที่สูงเกินไปอาจไปลดธาตุเหล็กในน้ำนมแม่ได้เช่นกัน
- รับประทานอาหารรสเผ็ด เนื่องจากอาหารรสจัดมัก ประกอบด้วยสมุนไพรที่มีรสร้อน เช่น กะเพรา ขิง พริกไทย ที่ช่วยบำรุงน้ำนม แต่อาหารเหล่านี้มักจะอยู่ในเมนูที่มีความเผ็ดด้วย ซึ่งคุณแม่บางท่านอาจเข้าใจผิดว่า ยิ่งกินเผ็ดน้ำนมจะได้ไหลดี ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะอาหาร "เผ็ด" กับ อาหาร "รสจัด" แตกต่างกัน อาหารรสเผ็ดบางชนิดจะทำให้คุณแม่เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารได้มากกว่าเดิม ดังนั้น เวลาเลือกรับประทานอาหาร คุณแม่จึงควรระมัดระวัง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ดมากเกินไป เพราะจะส่งผลให้ลูกรับรสเผ็ดจากน้ำนมแม่ และอาจทำให้ลูกปวดท้องได้เช่นกัน
- รับประทานทานยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ในขณะให้นมลูกคุณแม่ไม่ควรรับประทานยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์เพราะยาบางชนิดส่งผ่านน้ำนมไปยังลูกได้ หากจำเป็นต้องทานยาชนิดใด คุณแม่ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งว่ากำลังอยู่ในช่วงให้นมลูก แม้ว่ายาส่วนใหญ่ เช่น ยาแก้หวัด ยาลดไข้ ฯลฯ จะออกไปสู่น้ำนมได้น้อย แต่คุณแม่ควรระมัดระวังในการใช้ ปกติยาจะมีปริมาณสูงสุดในกระแสเลือดหลังจากกินไปแล้วประมาณ 1-3 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับชนิดของยา ฉะนั้นจึงควรกินยาหลังจากให้ลูกกินนมเสร็จทันที หรือเลือกช่วงที่ลูกหลับนานที่สุด เพื่อช่วยลดโอกาสที่ยาจะผ่านน้ำนมไปสู่ลูก
ข้อที่ไม่ควรทำในช่วงให้นมลูก ที่ทางเราได้รวบรวมมาฝากกันในวันนี้นี้คือสิ่งที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อให้ลูกได้รับสิ่งดี ๆ จากการได้รับนมแม่อย่างเต็มที่ และเพื่อให้การให้นมของคุณแม่สำเร็จได้อย่างที่ตั้งใจ ขอให้คุณแม่ทุกคนมีความสุขกับการให้นมลูกนะคะ
นมแม่ดีที่สุดโดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน
แลคโตเฟอร์ริน โปรตีนในนมแม่ที่จะพบได้มากที่สุดในน้ำนมเหลือง หรือน้ำนมระยะแรกที่จะไหลออกมาใน 1-3 วันแรกหลังคลอด ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา จึงช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย, MFGM เยื่อหุ้มอนุภาคไขมันในน้ำนม ช่วยให้เซลล์ไขมันคงรูปอยู่ได้ในน้ำนม MFGM ประกอบด้วยสารอาหารต่างๆ เช่น โปรตีนต่างๆ และไขมันเชิงซ้อน ซึ่งล้วนแต่เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมองเด็ก และมีดีเอชเอ กรดไขมันที่ช่วยพัฒนาสมองเด็กนั่นเอง
นอกจากวิธีเตรียมความพร้อมที่เรานำมาฝากวันนี้ คุณแม่มือใหม่ยังสามารถหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการดูแลลูกน้อย ได้ที่ Enfa A + Smart Club รับรองว่าได้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลลูกน้อยเพียบ