ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วิธีทําให้ ทารกหลับ กลางคืน

วิธีทําให้ ทารกหลับ กลางคืน?

ก่อนกลับไปทำงาน จะดีไม่น้อยหากคุณแม่สามารถฝึกลูกให้นอนหลับยาวรวดเดียว ชนิดที่ตื่นมาอีกทีพร้อมคุณแม่เลย เพื่อตัวคุณแม่จะได้ไม่ต้องอดนอนไปทำงานด้วย แม้เรื่องนี้จะดูเป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ คุณแม่สามารถฝึกลูกนอนหลับยาวได้ ด้วยเทคนิคที่เอนฟานำมาฝากกันค่ะ

สิ่งที่แม่ต้องมี : ความมีวินัย และความใจแข็ง!

ผู้ร่วมมือ : คุณพ่อ

ตัวช่วย : เพลงเด็ก ผ้าห่ม ตุ๊กตาตัวโปรด (ตุ๊กตาเน่า)

เริ่มการฝึกลูกนอนหลับยาวได้!

1. เวลาตื่นและเวลาหลับฝึกได้

เพราะเด็กๆ มักนอนหลับยาวในตอนกลางวัน เขาเลยชอบตื่นมาเล่นตอนกลางคืน “มีงานวิจัยบอกว่าเด็กๆ สามารถเรียนรู้ที่จะปรับเวลานอนของเขาได้” จอห์น เฮอร์แมน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการนอนหลับของเด็กที่ศูนย์ดูแลเด็ก ในดัลลัส สหรัฐอเมริกาบอกไว้ สิ่งที่คุณแม่ควรทำก็คือ เริ่มจากพรุ่งนี้เช้า ปลุกลูกเราให้ตื่นตอนเช้า โดยปลุกเวลาเดิมแบบนี้ไปทุกวัน

“แสงธรรมชาติที่ส่องเข้ามาจะเป็นตัวบอกให้เด็กตื่นเอง” เฮอร์แมนบอกต่อ และให้เอาลูกเข้านอนเวลาเดียวกันทุกวันด้วย เด็กๆ ควรนอนวันละอย่างน้อย 10 ชั่วโมง ก่อนเอาลูกเข้านอนก็ควรให้ลูกอยู่ในอารมณ์สงบ อย่าให้เล่นอะไรที่ตื่นเต้น หัวเราะร่า หรือโลดโผนมากเกินไป

2. ให้ลูกรู้ความแตกต่างของกลางวันกลางคืน

เมื่อให้นมลูกตอนกลางคืนให้จัดบรรยากาศการให้นมที่เงียบสงบสำหรับเขา ไม่ต้องเปิดไฟจ้า หรือพูดเสียงดัง ให้เขาชินว่าบรรยากาศที่เงียบนี่คือเวลากลางคืน และตอนให้นมลูกตอนกลางวัน ก็อาจให้นมไปร้องเพลงกับเขาไป ทำอะไรที่สนุกสนานระหว่างนั้นได้ ลูกจะได้รับรู้ความแตกต่างของกลางวันและกลางคืน และรู้ว่ากลางคืนเขาต้องนอน

 

ทารกกำลังอาบน้ำกับเป็ดยาง

 

3. อาบน้ำอุ่นและเปิดเสียงที่เขาเคลิ้มให้ฟัง

ก่อนนอนคุณแม่อาจอาบน้ำอุ่นสบายๆ ให้ลูกผ่อนคลาย ให้นม และเปิดเพลงเด็กกล่อมเด็กที่ทำนองนุ่มนวล ฟังสบาย ชวนเคลิ้มหลับ หรือหาเพลงบรรเลงที่เป็นเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงลมพัด เสียงน้ำไหล เสียงนกร้อง ฯลฯ เปิดเบาๆ คลอไประหว่างที่เขากำลังจะหลับ เขาก็จะรู้แล้วว่าพอเสียงมา แปลว่าถึงเวลานอนของเขาแล้ว

4. ท่าทีต่อการร้องของลูก

คุณแม่อย่าเชื่อทฤษฎีที่ว่า ถ้าลูกร้องก็ปล่อยให้เขาร้องไปนะคะ เพราะมีงานวิจัยออกมามากมายว่าถ้าทำแบบนั้น จะส่งผลกับความรู้สึกมั่นคงในจิตใจของเด็กได้ ถ้าลูกร้อง ก็เข้าไปปลอบเขาเลย เขาจะรู้สึกปลอดภัยกว่า เข้าไปลูบหลัง ปลอบโยน ให้นม และไม่ต้องเปิดไฟสว่างจ้า หรือตกใจกับเสียงร้องของลูก ความรู้สึกกังวลและตกใจของแม่นี่ล่ะค่ะ จะทำให้ลูกหลับยาก ทำใจสบายๆ เข้าไว้ เปิดเพลงที่เปิดกล่อมเขาก่อนนอนอีกครั้งก็ได้ แล้วเขาจะค่อยๆ หลับไปเอง

ในคืนต่อไปถ้าลูกยังร้องอีก เขาจะเริ่มเรียนรู้ว่าเดี๋ยวแม่ก็มา ถึงตอนนี้แม่ต้องใจแข็งขึ้นสักนิดนะคะ อย่ารีบเข้าไปหาเลย ให้ค่อยๆ เข้าไปหาเขา คือยืดเวลาการเข้าไปหาเขาให้นานอีกนิด อีกนิดไปเรื่อยๆ สิ่งนี้คือการฝึกเขา เขาก็จะรู้ว่าร้องไห้เรียกแม่ไม่ได้แล้ว เขาจะหยุดร้องและนอนหลับไปเองได้ค่ะ

ผ่านไปสัก 5 วัน ลูกคุณแม่จะเริ่มหลับยาวได้แล้ว ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ!

 

ทารกหลับบนหน้าอกของแม่ที่ตั้งครรภ์

 

ข้อดีเมื่อลูกหลับยาว

  • การที่ลูกนอนหลับยาวส่งผลดีต่อการหลั่งของฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต ที่จะหลั่งได้ดีในช่วงเวลาที่เด็กหลับสนิท
  • การที่ลูกนอนหลับยาวช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ของลูก เพราะเมื่อลูกตื่นขึ้นมาในตอนเช้า ลูกจะสดชื่นและตื่นตัวในการเรียนรู้ และสมองสามารถจัดการกับข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับตลอดวันได้ดี
  • การนอนหลับยาวจะช่วยระบบภูมิคุ้มกันของเด็กทำงานได้ดี จึงส่งผลต่อความแข็งแรงของร่างกายด้วย
  • คุณแม่ได้พักผ่อนเต็มที่ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ต้องไปทำงานในตอนเช้า การที่ลูกหลับยาวได้เป็นเรื่องที่คุณแม่ทุกคนต้องการ

ต้องปลุกให้ลูกตื่นมากินนมมั้ย

คุณแม่มือใหม่อาจสงสัยว่า จำเป็นต้องปลุกลูกให้ตื่นมากินนมมั้ย ช่วงที่ลูกอายุ 1-2 เดือนแรก จำเป็นต้องให้กินนมตอนกลางคืน เพราะลูกอาจได้รับนมไม่เพียงพอ หากลูกกินนมแม่ตัวคุณแม่ก็อาจจะมีปัญหาเต้านมคัดและน้ำนมลดลงได้หากไม่ไห้นมลูกตอนกลางคืน

เมื่อลูกอายุ 3 เดือน ขึ้นไป การนอนหลับกลางคืนจะยาวขึ้น เพราะกระเพาะอาหารลูกจะใหญ่ขึ้น จะดูดนมแม่ได้มากขึ้น จะเว้นระยะห่างมื้อนมได้นานมากขึ้น รวมทั้งนอนได้นานขึ้นด้วย แต่เนื่องจากฮอร์โมนโปรแลกตินที่ช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมมีมากในเวลากลางคืน หากลูกกินนมแม่ถ้าตอนกลางคืนลูกหลับยาวเกิน 3 ชั่วโมง ควรปลุกให้ลูกได้กินนมแม่อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งระยะเวลาในการดูดแต่ละมื้อ ลูกจะเป็นคนกำหนดเอง จะช่วยให้ฮอร์โมนโปรแลกตินในเลือดสูงตลอดเวลา และช่วยให้การสร้างน้ำนมเป็นไปด้วยดี ลูกจะได้รับน้ำนมอย่างเพียงพอและยังช่วยป้องกันเต้านมคัดด้วย และเพื่อให้คุณแม่พักผ่อนขณะให้นมมื้อดึกได้ แนะนำให้ใช้ท่านอนให้นมลูก

เมื่อลูกโตขึ้นอายุ 4-5 เดือนไปแล้ว กระเพาะอาหารของลูกจะขยายใหญ่ขึ้น ดูดนมแม่ได้มากขึ้นและเว้นระยะห่างระหว่างมื้อนมได้นานขึ้น รวมทั้งนอนได้นานขึ้นโดยไม่ตื่นมากินนมได้แล้ว ช่วงวัยนี้จึงไม่จำเป็นต้องปลุกลูกมากินนมมื้อดึกให้ลูกนอนหลับยาวได้เลย แต่คุณแม่อาจต้องลุกมาปั๊มนมสัก 1 ครั้งเพื่อระบายน้ำนมออก ป้องกันเต้านมคัด และกระตุ้นการสร้างน้ำนมใหม่ค่ะ

คุณแม่จะเห็นว่าการฝึกลูกนอนหลับยาวสามารถฝึกได้ โดยใช้ความอดทนของคุณแม่ในช่วงแรก เมื่อผ่านช่วงแรกไปได้ สิ่งที่คุณแม่ฝันคือลูกนอนหลับยาวก็เป็นจริงได้ค่ะ

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

บทความที่แนะนำ

คุณแม่มือใหม่กลับไปทำงานแบบมืออาชีพ
ปั๊มนมทำสต็อกก่อนแม่กลับไปทำงาน
กลับไปทำงานน้ำนมหด กู้น้ำนมยังไงดี
EFB form

Leaving page banner

 

Leaving page banner