ตรวจสอบข้อมูลโดย : ผศ.พญ.ดิษจี ลุมพิกานนท์
กุมารแพทย์ สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล
น้ำนมแม่เป็นนมที่ดีที่สุดสำหรับลูก เด็กทารกควรได้รับน้ำนมแม่อย่างต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด และสามารถกินนมแม่ร่วมกับอาหารประเภทอื่นๆ ได้จนถึง 2 ขวบหรือมากกว่า ในน้ำนมแม่มีสารอาหารสำคัญที่ครบถ้วน รวมถึง MFGM (Milk Fat Globule Membrane) หรือ “เยื่อหุ้มอนุภาคไขมันในนม” และดีเอชเอ ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่มีส่วนในการช่วยเสริมสร้างสมองให้เด็ก มาดูกันดีกว่าว่าคุณแม่จะสามารถเพิ่มคุณค่าให้แก่นมแม่ ซึ่งเป็นนมที่ดีที่สุดนี้ให้มากขึ้นไปอีกได้อย่างไรบ้าง
เคล็ดลับเพิ่มคุณภาพน้ำนมแม่ ทำได้ไม่ยาก
-
กินอาหารที่เหมาะสม
อาหารหลังคลอดที่คุณแม่กินนั้นแน่นอนว่ามีผลต่อสุขภาพของคุณแม่ และก็ส่งผลต่อคุณภาพน้ำนมด้วยเช่นกัน ดังนั้นการใส่ใจสิ่งที่กินเข้าไปให้เหมาะสมและสมดุลจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเพื่อเพิ่มคุณภาพให้น้ำนมแม่ คุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการกินอาหารเหล่านี้
- ผักและผลไม้ แหล่งของวิตามินและเกลือแร่จำเป็นต่อคุณแม่ให้นมลูก ทั้งวิตามิน เอ ซี และโฟเลต ฯลฯ ล้วนมีในผักและผลไม้ครบถ้วน ข้อสำคัญคือ คุณแม่ต้องไม่ลืมที่จะกินผักที่มีใบสีเขียวเข้ม เช่น ผักขม ผักกูด ยอดกระถิน หรือพริกหวาน ซึ่งเป็นผักที่มีธาตุเหล็กสูง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างน้ำนมคุณภาพ
- ธัญพืช อาจเป็นข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต เมล็ดควินัว ขนมปังโฮลวีท พาสต้า ฯลฯ นอกจากจะเป็นอาหารเพิ่มพลังงานให้คุณแม่แล้ว ยังเป็นแหล่งสำคัญของวิตามิน เกลือแร่ และใยอาหารอีกด้วย
- เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ไข่ ถั่ว และผลิตภัณฑ์จากนมต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่มีปริมาณธาตุเหล็กและแคลเซียมสูง ทั้งหมดนี้สำคัญต่อการสร้างน้ำนมที่มีคุณภาพให้ลูกน้อย
- ไขมันที่มีคุณภาพ คุณแม่ต้องไม่ขาดไขมันไม่อิ่มตัวจากอาหาร เช่น อโวคาโด ถั่วต่างๆ อาหารทะเล หรือน้ำมันมะกอก หรือเมล็ดอัลมอนด์ ฯลฯ ไขมันที่ได้จากอาหารเหล่านี้เป็นไขมันที่ดีต่อคุณแม่ เช่น DHA ซึ่งเป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งมีมากในเนื้อปลา นอกจากนั้นคุณแม่ควรลดปริมาณไขมันอิ่มตัวหรือไขมันทรานส์ด้วย ทำได้ด้วยการลดปริมาณอาหารทอด เบเกอรี่เนยเยิ้มๆ หรือเนื้อติดมัน
- อาหารเสริมต่างๆ หากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าได้รับสารอาหารที่จำเป็นเพียงพอหรือเปล่า อาหารเสริมก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี แต่คุณแม่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนถึงชนิดและปริมาณที่ควรกิน
-
ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- น้ำ เป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่สำคัญที่สุด ในการสร้างนมแม่ให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อย
-
- 88% ของน้ำนมแม่คือน้ำ (เทียบโดยน้ำหนัก)
- จากเริ่มต้นที่ปริมาณน้ำนมเพียง 50 มิลลิลิตร ในวันแรก ปริมาณน้ำนมของคุณแม่อาจเพิ่มขึ้นถึง 750 มิลลิลิตรต่อวันได้ เมื่อมีปริมาณสารอาหารตั้งต้นที่เพียงพอ
- ระหว่างช่วงการให้นมลูก คุณแม่ควรดื่มน้ำให้มากๆ หรือให้ได้อย่างน้อยวันละ 2.7 ลิตร
- เมนูซุปต่างๆ ก็ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำที่ร่างกายคุณแม่ต้องการได้ แต่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงน้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
-
ทำจิตใจให้สงบ
- งานวิจัยจากโรงพยาบาลในรัฐ Massachusetts สหรัฐอเมริกา พบว่าความเครียดของคุณแม่อาจส่งผลต่อคุณภาพของน้ำนมได้ ดังนั้นคุณแม่ควรทำใจให้สบาย ทำให้ช่วงเวลาที่อยู่กับลูกน้อยเป็นเวลาที่มีความสุข สนุกสนาน เป็นช่วงเวลาในการสร้างความสำคัญระหว่างคุณแม่และลูกน้อย เรามีเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ มาแนะนำค่ะ
-
- เลือกสถานที่ให้นมที่สงบ ไม่มีสิ่งรบกวน ซึ่งคงเป็นเรื่องยากสักหน่อยหากคุณแม่อยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนมากมาย ดังนั้นคุณแม่ควรตั้งขอบเขตของตัวเองว่าจะอยู่ห่างจากผู้คนเท่าไหร่ และรวมไปถึงขอบเขตของความคิดด้วยว่าหยุดคิดเรื่องต่างๆ ที่ทำให้ตนเองไม่สบาย ปล่อยวาง ทำใจให้สบาย
- เลือกนั่งบนเก้าอี้ หรือเตียงที่รู้สึกสบาย อาจหรี่ไฟลงเล็กน้อยพร้อมเปิดเพลงเบาๆ เพิ่มความรู้สึกให้ผ่อนคลายมากขึ้น
- อย่ากังวลกับปริมาณของน้ำนมตนเอง พยายามให้ลูกได้ดูดนมบ่อยๆ แล้วนมจะมาเอง
-
อาหารที่ควรเลี่ยง
คุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการเลือกกินอาหารที่ผ่านการเตรียมและปรุงอย่างสะอาด ปลอดภัยเท่านั้น โดยหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้
- บอกลาเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- จำกัดปริมาณคาเฟอีนต่อวันอยู่ที่ 200 มิลลิกรัม
- งดอาหารหมักดอง หรืออาหารที่ไม่แน่ใจในความสะอาด เพราะส่งผลต่อคุณภาพน้ำนมได้
- หากต้องกินยา ต้องแจ้งให้ผู้จ่ายยาทราบทุกครั้งว่าให้นมลูกอยู่
-
อาหารส่งผ่านน้ำนมได้
ก่อนกินสิ่งใด คุณแม่ต้องหยุดคิดสักนิดว่า สิ่งที่ตัวเองกินเข้าไปส่งผลต่อลูกและน้ำนมด้วย
- ส่งผลต่อรสชาติ หากลูกทำท่าปฏิเสธการกินน้ำนมแม่ สาเหตุหนึ่งอาจมาจากรสชาติของน้ำนมที่เปลี่ยนไป เด็กบางคนมีความรู้สึกที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของรสชาติ เช่น รสของกระเทียม หัวหอม ซึ่งรสของอาหารกลิ่นแรงเหล่านี้จะผ่านไปยังน้ำนมได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ให้คุณแม่ทบทวนสิ่งที่ตัวเองกินเข้าไปในช่วงที่ผ่านมา และพยายามเลี่ยงอาหารเหล่านั้นในระยะให้นม
- ส่งผลต่ออาการแพ้ หากสังเกตเห็นสัญญานของการแพ้ เช่น ลูกน้อยมีผดผื่น จาม น้ำมูกไหลหรือมีอาการท้องเสียหลังจากกินนมแม่ ให้สันนิษฐานว่าลูกอาจแพ้อาหารที่คุณแม่กินเข้าไป เช่น นมหรือผลิตภัณฑ์จากนม ชีส อาหารทะเล ฯลฯ คุณแม่ควรปรึกษาหมอเพื่อตรวจสอบให้ชัดเจนว่าเป็นผลจากการแพ้อาหารที่แม่กินเข้าไปจริงๆ หากคนในครอบครัวมีอาการแพ้อาหารบางชนิด คุณแม่ควรเลี่ยงการกินอาหารชนิดนั้นระหว่างให้นม
หากคุณแม่ได้ดูแลเอาใจใส่การเพิ่มคุณภาพน้ำนมแม่ ลูกน้อยก็จะได้ยิ่งได้รับประโยชน์จากนมที่ดีที่สุดอย่างนมแม่ค่ะ
นมแม่ดีที่สุดโดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน
เพราะมีแลคโตเฟอร์ริน โปรตีนในนมแม่ที่จะพบได้มากที่สุดในน้ำนมเหลือง หรือน้ำนมระยะแรกที่จะไหลออกมาใน 1-3 วันแรกหลังคลอด ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา จึงช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย
นมแม่ดีที่สุดต่อสมองเด็ก
เพราะมี MFGM เยื่อหุ้มอนุภาคไขมันในน้ำนม ช่วยให้เซลล์ไขมันคงรูปอยู่ได้ในน้ำนม MFGM ประกอบด้วยสารอาหารต่างๆ เช่น โปรตีนต่างๆ และไขมันเชิงซ้อน ซึ่งล้วนแต่เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมองเด็ก และมีดีเอชเอ กรดไขมันที่ช่วยพัฒนาสมองเด็กนั่นเอง