ปัญหาการให้นมลูก อาทิ ลูกไม่ยอมดูดนมแม่ ลูกไม่ยอมเข้าเต้า จนทำให้ ลูกกินนมน้อย อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจมีบางสิ่งเกิดกับลูก ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจและลูกกำลังสื่อสารให้คุณรู้ถึงสิ่งผิดปกตินั้น ลองมาดูกันดีกว่าว่ามีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง
สาเหตุที่ ลูกกินนมน้อย หรือ ลูกไม่ยอมดูดนมแม่
- เจ็บเหงือกเพราะฟันกำลังขึ้นโดยมักจะเกิดขึ้นในช่วงอายุ 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ฟันกำลังขึ้น
- มีการติดเชื้อราในช่องปาก โดยจะเห็นเป็นคราบสีขาวคล้ายฝ้าภายในช่องปากหรือบริเวณลิ้นของเด็ก ทำให้ลูกมีอาการหงุดหงิด ไม่สบาย ไม่อยากกินนมทำให้ ลูกกินนมน้อย
- หูอักเสบติดเชื้อ ทำให้เกิดความเจ็บปวดขณะดูดนม ทำให้ลูกไม่ยอมดูดเต้า
- ท่าให้นมไม่ถูกวิธี หรือไม่ลงตัวสำหรับแม่และลูก ทำให้ลูกไม่สบายตัว เจ็บปวด หรือรู้สึกว่าดูดนมได้ไม่เต็มที่ จึงไม่อยากกินนมแม่
- ความสับสนที่ต้องพรากจากแม่เป็นเวลานาน หรือมีการเปลี่ยนแปลงในกิจวัตรประจำวัน เช่น แม่ที่เคยอยู่ด้วยทั้งวันต้องกลับไปทำงาน หรือแม้แต่การเดินทางไกล แล้วลูกไม่ได้รับน้ำนมเป็นเวลานานก็อาจจะทำให้เกิดอาการสับสนได้เช่นกัน
- ลูกถูกดึงดูดความสนใจโดยสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ รอบตัว ทำให้ไม่สนใจในการกินนมแม่เท่าเดิม
- เป็นหวัดคัดจมูก ซึ่งทำให้หายใจลำบาก หรือมีอาการเจ็บคอขณะดูดนม จึงทำให้ ลูกปฏิเสธเต้านม
- ปริมาณน้ำนมแม่ที่ลดลง เนื่องจากให้ลูกดูดจากขวดนมเพิ่มขึ้น หรือดูดจุกหลอกมากเกินไป ทำให้ลูกได้กินนมแม่น้อยลง ส่งผลให้ต่อมน้ำนมผลิตนมน้อยลงตามไปด้วย นอกจากนี้อาการติดจุกหลอกอาจสร้างปัญหาในช่องปากและฟัน และเสี่ยงต่อการติดเชื้อในหูอีกด้วย
- ปฏิกิริยาไม่พอใจของแม่เมื่อถูกลูกกัดเวลาให้ลูกดูดนม คุณแม่บางท่านอาจไม่ได้ตั้งใจมีปฏิกิริยารุนแรงเวลาตกใจเมื่อลูกกัดหัวนม ซึ่งปฏิกิริยาเหล่านี้อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีในการดูดนมแม่ครั้งต่อ ๆ ไป
- เป็นการตอบสนองต่อความเครียด จากการถูกกระตุ้นให้ดูดนมมากเกินไป หรือถูกเลื่อนการให้นมเมื่อถึงเวลาต้องกินนมอยู่บ่อย ๆ
ลูกปฏิเสธเต้านม ลูกไม่ยอมดูดนมแม่ จะมีวิธีแก้อย่างไร
สิ่งสำคัญคือคุณแม่มือใหม่ต้องไม่รู้สึกผิด หรือโทษว่าเป็นความผิดของตัวเอง ทำใจให้สบาย ผ่อนคลาย แล้วลองปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- พยายามให้ลูกดูดนมตรงเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงอาการเต้านมคัด และนำไปสู่อาการท่อน้ำนมอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ ลูกไม่ยอมกินนมแม่ มากขึ้นไปอีก
- ดูจำนวนครั้งของการปัสสาวะของลูกเพื่อให้แน่ใจว่าลูกได้รับน้ำนมเพียงพอ (5-6 ครั้งต่อวัน)
- ลองปรับเปลี่ยนท่าให้นมหลาย ๆ ท่า เพื่อหาท่าที่ลงตัวสำหรับคุณแม่และลูก โดยสามารถศึกษาท่าให้นมลูกได้โดยคลิกที่นี่
- ให้ความสนใจและปลอบโยนลูกด้วยการสัมผัสและกอดเขามากขึ้น
- ให้นมในห้องที่เงียบ สงบ ปราศจากสิ่งรบกวนใด ๆ มีเพียงคุณและลูกน้อยตามลำพัง
- พยายามเสนอเต้าให้ลูกดูด หากว่า ลูกไม่ยอมดูดนมแม่ ให้หยุดและลองทำใหม่ทีหลัง และลองทำอีกครั้งเมื่อลูกกำลังจะนอนหรือเมื่อง่วงมาก ๆ อย่าหงุดหงิด หัวเสีย หรือเอาแต่กังวลใจ และอย่าถอดใจง่าย ๆ อย่าลืมว่าลูกรอน้ำนมและความช่วยเหลือจากคุณแม่อยู่
นมแม่ดีที่สุด โดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน
แลคโตเฟอร์ริน โปรตีนในนมแม่ที่จะพบได้มากที่สุดในน้ำนมเหลือง หรือน้ำนมระยะแรกที่จะไหลออกมาใน 1-3 วันแรกหลังคลอด ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา จึงช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย, MFGM เยื่อหุ้มอนุภาคไขมันในน้ำนม ช่วยให้เซลล์ไขมันคงรูปอยู่ได้ในน้ำนม MFGM ประกอบด้วยสารอาหารต่างๆ เช่น โปรตีนต่างๆ และไขมันเชิงซ้อน ซึ่งล้วนแต่เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมองเด็ก และมีดีเอชเอ กรดไขมันที่ช่วยพัฒนาสมองเด็กนั่นเอง
นอกจากแนวทางในการแก้ไขปัญหาการให้นมลูกสำหรับคุณแม่ให้นมที่เรานำมาฝากกันวันนี้ คุณแม่มือใหม่สามารถติดตามสาระที่น่าสนใจเกี่ยวกับพัฒนาการของลูกน้อย และเคล็ดลับโภชนาการดี ๆ ได้ที่ Enfa A + Smart Club