Enfa สรุปให้
- อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ทารกจะมีขนาดยาวประมาณ 4.6 - 5 นิ้ว มีน้ำหนักประมาณ 99-100 กรัม มีขนาดเท่ากับผลอะโวคาโด
- อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ สามารถอัลตราซาวนด์แล้วพบเพศลูกได้อย่างชัดเจน คุณพ่อคุณแม่จะได้รู้สักทีว่ากำลังจะได้ลูกผู้ชายหรือลูกผู้หญิง
- อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ คุณแม่หลายคนสามารถสัมผัสการดิ้นของลูกได้เป็นครั้งแรก
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• ท้อง 16 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
• พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 16
• การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 16 สัปดาห์
• อาหารคนท้อง 16 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
• อาการคนท้อง 16 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
• ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ ต้องอัลตราซาวนด์หรือไม่
• ท้อง 16 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
• ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์
• ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club
ท้อง 16 สัปดาห์ คุณแม่กำลังจะก้าวเข้าสู่ช่วงกลางของไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์แล้วค่ะ มาดูกันว่าอายุครรภ์ 16 สัปดาห์นี้คุณแม่จะพบกับการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ทารกในครรภ์ตอนนี้มีพัฒนาการสำคัญอย่างไร แล้วท้อง 16 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหนกันนะ
ท้อง 16 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้
ในสัปดาห์นี้นอกจากขนาดหน้าท้องที่เริ่มขยายใหญ่ขึ้นมาเรื่อย ๆ คุณแม่หลายคนเริ่มที่จะสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้แล้ว นั่นก็คือสามารถสัมผัสการดิ้นของลูกได้ค่ะ สามารถรู้สึกได้ว่ามีการเต้นตุบ ๆ เกิดขึ้นที่บริเวณหน้าท้อง
ท้อง 16 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้
ทารกอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ เจริญเติบโตอยู่ในมดลูก และมีพัฒนาการต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยคุณแม่สามารถอัลตราซาวนด์เห็นทารกในครรภ์และเพศของทารกได้อย่างชัดเจน
ท้อง 16 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน
อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือนกันนะ? สำหรับแม่ท้อง 16 สัปดาห์ ในวันสุดท้ายของสัปดาห์นี้ คุณแม่จะตั้งครรภ์ครบ 4 เดือนเต็มค่ะ และจะเริ่มเข้าสู่ช่วงกลางไตรมาสสองอย่างเป็นทางการ
พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 14 สัปดาห์ เป็นอย่างไร
ทารกอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ถือว่ามีพัฒนาการที่ชัดเจนมากขึ้นในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอวัยวะเพศที่สามารถเห็นเป็นรูปร่างที่ชัดเจน ทำให้ในสัปดาห์นี้คุณพ่อคุณแม่สามารถรู้เพศลูกผ่านการอัลตราซาวนด์ได้แล้วค่ะ
ท้อง 16 สัปดาห์ ลูกดิ้นหรือยัง
ทารกมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด แต่อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ถือว่าเป็นระยะแรก ๆ ที่คุณแม่สามารถรู้สึกเหมือนเส้นประสาทที่บริเวณหน้าท้องกระตุกเบา ๆ ซึ่งนั่นคืออาการลูกดิ้นนั่นเองค่ะ
ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ รู้เพศยัง
อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ อวัยวะเพศของทารกในครรภ์จะพัฒนาจนสามารถบอกเพศได้ชัดเจนขึ้น ดังนั้น การอัลตราซาวนด์ในสัปดาห์นี้ หากโชคดีทารกไม่หันหลังใส่ ไม่เอามือหรือขามาบังไว้ ก็จะสามารถมองเห็นอวัยวะเพศของลูกได้แล้วค่ะ
อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ขนาดทารก มีขนาดประมาณไหนนะ
ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ ขนาดทารกจะยาวประมาณ 4.6 - 5 นิ้ว มีน้ำหนักประมาณ 99-100 กรัม มีขนาดเท่ากับผลอะโวคาโดค่ะ
อวัยวะและระบบอื่น ๆ
การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ มีดังนี้
• จำนวนของเซลล์ประสาทของทารกในช่วงอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ จะเพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวนเซลล์ประสาทของผู้ใหญ่ และมีการโยงใยเส้นประสาทมากขึ้น มีการเชื่อมโยงระหว่างระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำให้ลูกสามารถควบคุมการขยับแขนขาและการเคลื่อนไหวได้ดียิ่งขึ้น
• ส่วนขาของทารกจะยาวกว่าแขน โครงกระดูกหนาแน่นขึ้นมีแคลเซียมมาเกาะมากขึ้น
• ส่วนหัวก็จะตั้งตรงกว่าเดิมมากขึ้น
• ดวงตาจากที่เคยอยู่ด้านข้างก็จะเคลื่อนมาด้านหน้าขึ้นเรื่อย ๆ
• หูก็เริ่มอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
• เริ่มมีการสร้างหนังศีรษะ ถึงแม้ปอยผมจะยังไม่ขึ้นก็ตาม
• หัวใจของทารกสามารถสูบฉีดโลหิตได้ประมาณ 52 ลิตรและจะมีการสูบฉีดโลหิตมากขึ้นเรื่อย ๆ
• ไตเริ่มทำงานได้เหมือนไตของผู้ใหญ่
• จำนวนเส้นประสาทและกล้ามเนื้อในช่วงอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ มากกว่าเดือนที่แล้วถึง 3 เท่า
• มีอวัยวะเพศที่ชัดเจน สามารถอัลตราซาวนด์เห็นเพศของทารกได้
เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 16 สัปดาห์
ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ ขนาดท้องของคุณแม่ยังคงไม่หยุดที่จะขยายออกมาจนเห็นได้ชัดค่ะ เพราะมดลูกของคุณแม่จะขยายตัวขึ้นมาที่ด้านบนได้ครึ่งทาง
จุดสูงสุดของท้องตอนนี้จะอยู่ระหว่างกระดูกหัวหน่าวกับสะดือ เส้นเอ็นต่าง ๆ รวมทั้งกล้ามเนื้อก็จะเข้ามาพยุงท้องที่กำลังขยายใหญ่ขึ้นและหนักขึ้นด้วย
มากไปกว่านั้น เมื่อมดลูกของคุณแม่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ร่างกายต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้นกว่าเดิม จึงมีการผลิตปริมาณเลือดออกมาเพิ่มขึ้น
อีกทั้งระหว่างการตั้งครรภ์ฮอร์โมนของการตั้งครรภ์จะทำให้เส้นเลือดต่าง ๆ ขยายตัวโป่งพองมากขึ้น คุณแม่หลายคนจึงมีเส้นเลือดขอดเกิดขึ้นได้ง่าย เป็นริดสีดวงได้ง่าย หรืออาจทำให้มีเลือดกำเดาไหลได้ง่าย
อาหารคนท้อง 16 สัปดาห์ มีอะไรบ้างที่ควรกิน
แม่ท้อง 16 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่
• ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น
• ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น
• โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น
• แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น
• ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น
• โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น
• โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่สามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น
ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง
อาการคนท้อง 16 สัปดาห์
อาการคนท้อง 16 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้
• คุณแม่อาจมีอาการคัดจมูก คัดจมูก และมีเลือดออกทางจมูก
• เริ่มมีอาการปวดหลัง เพราะน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น การรับน้ำหนักจึงเริ่มย้ายไปอยู่ที่ส่วนหลัง
• เส้นเลือดขอดและรอยแมงมุมเริ่มปรากฎขึ้นตามขา หรือหน้าท้อง
• มีอาการปวดเมื่อย เนื่องจากมดลูกที่ขยายตัว ทำให้เกิดอาการปวดเอ็นและกล้ามเนื้อที่รองรับ
• ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้น และมดลูกที่ขยายตัวออก อาจทำให้ท้องผูกได้
• เต้านมขยายใหญ่ขึ้นกว่าปกติ
อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ มีตรวจอัลตราซาวนด์ไหม
ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ อัลตราซาวนด์ท้องยังมีการตรวจเป็นปกติค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าแพทย์นัดให้เข้ามาทำการตรวจครรภ์ในสัปดาห์นี้ คุณแม่ไม่ควรพลาดนัด เพื่อที่แพทย์จะได้สามารถติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์ ตลอดจนประเมินความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์ด้วย
โดยในระยะนี้การอัลตราซาวนด์จะเผยให้เห็นพัฒนาการที่สำคัญของทารก ดังนี้
• ขนาดของทารก: เพื่อวัดความยาวของทารกตั้งแต่หัวจรดเท้า เพื่อดูว่าทารกเจริญเติบโตตามปกติหรือไม่
• ระดับน้ำคร่ำ: เพื่อประเมินว่าในปริมาณน้ำคร่ำว่าปกติหรือไม่ ทั้งยังอาจมองเห็นทารกเคลื่อนไหวภายในน้ำคร่ำด้วย
• การเคลื่อนไหวของทารก: อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ กล้ามเนื้อของทารกพัฒนาขึ้นมากจึงสามารถจับภาพการเคลื่อนไหวเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ เช่น การกระดิกนิ้วมือหรือนิ้วเท้า
• การเปิดเผยเพศ: ในบางกรณีที่ทารกไม่เขินอาย หรือไม่เอามือและเท้าปิดเอาไว้ อาจเป็นไปได้ที่จะมองเห็นเพศของทารกได้อย่างชัดเจน
ท้อง 16 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่?
อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่
และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ
ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ ลูกยังไม่ดิ้น ปกติหรือเปล่า
คุณแม่ส่วนใหญ่จะเริ่มรู้สึกถึงการดิ้นของลูกได้ในสัปดาห์นี้ แต่ถ้าไม่รู้สึกเลย ก็ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าผิดปกติค่ะ เพราะหนังหน้าท้องของคุณแม่อาจจะหนาจนสัมผัสการดิ้นของทารกได้ยาก หรือช่วงที่ทารกดิ้นอาจทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มีการเคลื่อนไหว จึงทำให้ไม่รู้สึก
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ยังไม่ต้องคิดมากค่ะ เพราะตราบที่อัลตราซาวนด์แล้วพบว่าทารกยังมีหัวใจเต้นตามปกติ และยังสามารถเคลื่อนไหวตามปกติ ก็ยังไม่มีอะไรต้องกังวล และอาจจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นมากขึ้นในสัปดาห์ถัดไปก็ได้ค่ะ
ท้อง 16 สัปดาห์ ท้องแข็ง อันตรายไหม
โดยทั่วไปแล้วอาการท้องแข็งนั้นจะพบในช่วงไตรมาสที่สาม หรือช่วงใกล้คลอด มักไม่พบในช่วงไตรมาสสองของการตั้งครรภ์ ดังนั้น หากพบว่ามีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสอง ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้ค่ะ
ท้อง 16 สัปดาห์ มีเลือดออก ต้องกังวลไหม
หากมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะอายุครรภ์เท่าไหร่ก็ตาม ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการวินิจฉัยว่าอาการเลือดออกนั้นเกิดจากสาเหตุใด เพราะอาจจะเป็นเลือดที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ตามปกติ หรือเกิดจากภาวะความผิดปกติอื่น ๆ เช่น การแท้ง ภาวะแท้งคุกคาม
ดังนั้น อย่ารอรีหรือมัวแต่ชะล่าใจนะคะ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอาการเลือดออกตอนท้องนี้มีสาเหตุมาจากอะไรจนกว่าจะได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ค่ะ
ตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ ปวดหน่วง หมายความว่าอย่างไร
ท้อง 16 สัปดาห์ ปวดท้องน้อย อาจมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเพื่อรองรับมดลูกที่กำลังขยายตัว
แต่ถ้าหากมีอาการปวดท้องน้อยติดต่อกันหลายวันแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือปวดมากจนเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการแท้ง หรือภาวะความเสี่ยงอื่น ๆ ในขณะตั้งครรภ์ได้
ท้อง 16 สัปดาห์ ท้องเล็กอยู่ แบบนี้ปกติไหม
ท้องได้ 4 เดือนแล้ว หน้าท้องของคุณแม่ควรที่จะนูนออกมาชัดเจน แต่ถ้าท้องเล็กมาก หรือแทบไม่นูนออกมาเลย ก็ยังไม่ถือว่าผิดปกติเสียทีเดียวนะคะ เพราะการเปลี่ยนแปลงของหน้าท้องยังขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น
• คุณแม่ตั้งครรภ์ครั้งแรก หน้าท้องจึงมักไม่ขยายใหญ่
• คุณแม่ออกกำลังกายกายมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ทำให้มีผนังหน้าท้องที่หน้า เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ หน้าท้องจึงไม่นูนออกมาง่าย ๆ
• คุณแม่ตั้งครรภ์ตอนอายุยังน้อย
• คุณแม่มีสรีระที่เล็ก ขนาดหน้าท้องจึงไม่ขยายใหญ่เกินกว่าสรีระของคุณแม่
และตราบที่ตรวจอัลตราซาวนด์แล้วพบว่าทารกยังมีการเจริญเติบโตตามปกติ หัวใจเต้นตามปกติ ก็ไม่มีอะไรต้องเป็นกังวลค่ะ
ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 16 สัปดาห์
คุณแม่อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด
ทำความรู้จักกับภาวะแท้งคุกคามและสัญญาณอันตราย
ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened Abortion) คือ ความผิดปกติของการตั้งครรภ์ ที่สามารถพบได้ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยแม่ที่มีภาวะแท้งคุกคามจะมีเลือดออกทางช่องคลอดในขณะที่ปากมดลูกยังไม่เปิด
ซึ่งเลือดที่ไหลออกมานั้นอาจเป็นเลือดสีสด มูกเลือด หรือเลือดสีน้ำตาลก็ได้ ภาวะแท้งคุกคาม เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น
• โครโมโซมผิดปกติ
• ทารกพิการตั้งแต่ในครรภ์
• มดลูกและโพรงมดลูกผิดปกติ
• การได้รับยาหรือสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย
• มีประวัติการแท้งบุตรมาก่อน
• ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก
• แม่ท้องมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
ภาวะแท้งคุกคาม จำเป็นจะต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพราะถือว่าเป็นภาวะการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ และเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้
ดังนั้น หากมีเลือดออกในขณะตั้งครรภ์ ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุว่าอาการเลือดออกนั้นมีที่มาจากอะไรกันแน่ ในกรณีที่เป็นสัญญาณของความผิดปกติ แพทย์จะได้ทำการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
การตรวจภาวะดาวน์ซินโดรม
ขณะตั้งครรภ์แพทย์จะทำการอัลตราซาวนด์ท้องเพื่อตรวจหาความเสี่ยงของภาวะบกพร่องทางโครโมโซมและพันธุกรรม เพื่อหาความเสี่ยงของดาวน์ซินโดรม และภาวะอื่น ๆ
คุณแม่จึงอาจจะได้รับการตรวจวัดความหนาของน้ำที่สะสมบริเวณต้นคอทารก (NT::Nuchal Translucency) เพื่อดูว่าทารกมีความเสี่ยงของดาวน์ซินโดรมหรือไม่ รวมถึงการตรวจเลือด และตรวจวัดระดับฮอร์โมนในร่างกายด้วย
ซึ่งการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมนี้ถือว่าเป็นประโยชน์มาก เพราะต้องยอมรับกันในความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะมีความพร้อมในการเลี้ยงดูและดูแลเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม ซึ่งในกรณีที่มีความเสี่ยงต่อภาวะดาวน์ซินโดรมสูง แพทย์อาจแนะนำหรือปรึกษาให้ยุติการตั้งครรภ์
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่ออายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
เมื่อมีอายุครรภ์ครบ 4 เดือน หรือตั้งท้องได้ 4 เดือนขึ้นไป คุณแม่ควรหาเวลาไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ในขณะตั้งครรภ์
อีกทั้งภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนยังสามารถส่งต่อไปยังทารกในครรภ์ ช่วยลดอันตรายจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้ในกรณีที่คุณแม่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่
1,000 วันแรกคืออะไร และสำคัญอย่างไร
ช่วงเวลา 1,000 วันแรก คือช่วงเวลาที่นับตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงวันเกิดครบ 2 ขวบของลูกน้อย ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากที่คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก
หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน
โดยช่วงเวลา 1,000 วันของลูกน้อย สามารถแยกออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่
• ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
• ช่วงที่ 2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
• ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)
ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 16 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club
อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ น้ำหนัก เป็นอย่างไร?
อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ทารกจะมีน้ำหนักประมาณ 99-100 กรัมค่ะ
อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ลูกดิ้น แล้วหรือยัง?
คุณแม่สามารถที่จะสัมผัสถึงการดิ้นของลูกในท้องได้อย่างชัดเจนตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไปค่ะ แต่ถ้าหากยังไม่รู้สึกว่าลูกดิ้นในตอนนี้ ก็อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะ อาจเป็นไปได้ว่าผนังท้องของคุณแม่หนาจนไม่รู้สึกถึงแรงกระตุกเวลาทารกเคลื่อนไหว
อย่างไรก็ตาม หากอัลตราซาวนด์แล้วพบว่าทารกยังมีหัวใจเต้นตามปกติ และยังสามารถเคลื่อนไหวตามปกติ ก็ยังไม่มีอะไรต้องกังวล และคุณแม่อาจจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นมากขึ้นในสัปดาห์ถัดไปก็ได้ค่ะ
- Baby Center. 16 weeks pregnant: Ultrasound, symptoms, belly, and more. [Online] Accessed https://www.babycenter.com/pregnancy/week-by-week/16-weeks-pregnant. [23 August 2023]
- The Bump. 16 Weeks Pregnant. [Online] Accessed https://www.thebump.com/pregnancy-week-by-week/16-weeks-pregnant. [23 August 2023]
- Enfamil. 16 weeks pregnant: Week-by-Week Guide. [Online] Accessed https://www.enfamil.com/articles/16-weeks-pregnant/. [23 August 2023]
- Medical News Today. Your pregnancy at 16 weeks. [Online] Accessed https://www.medicalnewstoday.com/articles/301481. [23 August 2023]
- What to Expect. Pregnancy Nutrition Chart: 33 Essential Nutrients for Pregnant Women. [Online] Accessed https://www.whattoexpect.com/pregnancy/diet/pregnancy-nutrition-chart/. [23 August 2023]
- โรงพยาบาลสินแพทย์. วัคซีนที่จำเป็นต้องฉีดในคนท้อง. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.synphaet.co.th/วัคซีนที่จำเป็นต้องฉีด/. [23 สิงหาคม 2023]
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened abortion). [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.si.mahidol.ac.th/sirirajdoctor/article_detail.aspx?ID=1468. [23 สิงหาคม 2023]
- โรงพยาบาลพญาไท. ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ เสี่ยงอันตรายแค่ไหน. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.phyathai.com/th/article/2688-ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์_เ. [23 สิงหาคม 2023]
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์