Enfa สรุปให้
- ชาเย็น จริง ๆ ก็คือชาร้อน ที่ชงใส่กับน้ำตาล บางสูตรอาจจะมีการเพิ่มนมสด นมข้นหวาน นมข้นจืด ครีมเทียม ต่าง ๆ ลงไปด้วย และตบท้ายคือเสิร์ฟพร้อมกับน้ำแข็งกลายเป็นชาเย็น
- ซึ่งใบชาที่นำมาชงเป็นชาเย็นนั้นส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นชาดำ ซึ่งในชาดำนั้นถือว่ามีปริมาณของคาเฟอีนที่สูงมาก หากดื่มบ่อย ๆ เสี่ยงที่ร่างกายจะสะสมปริมาณคาเฟอีนเอาไว้มากจนอาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์
- มากไปกว่านั้น การดื่มชาเย็นยังได้ทั้งคาเฟอีนสูง รวมถึงไขมันและน้ำตาลสูงจากสารให้ความหวานต่าง ๆ ในชาเย็นด้วย สำหรับแม่ท้องแล้วควรดื่มชาเย็นแค่เพียงวันละแก้ว หรือนาน ๆ ดื่มครั้ง จะช่วยลดการสะสมคาเฟอีน น้ำตาล และไขมัน ดีต่อสุขภาพในระยะยาวมากกว่า
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• คนท้องกินชาเย็นได้ไหม
• มีอะไรอยู่ในชาเย็นบ้าง
• ข้อดีและข้อเสียของการดื่มชาเย็น
• ดื่มชาอย่างไรให้ปลอดภัยขณะตั้งครรภ์
คุณแม่หลาย ๆ คนเป็นนักดื่มชาตัวยง พอท้องแล้วก็ยังอยากจะดื่มชาต่อไป เพราะดื่มแล้วรู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น และยังดีต่อสุขภาพด้วย โดยเฉพาะยิ่งถ้าเป็นชาที่ชงเย็น ๆ ใส่น้ำแข็งด้วยแล้วล่ะก็ ยิ่งชวนให้รู้สึกสดชื่นมากยิ่งขึ้นไปอีก แต่คนท้องดื่มชาเย็นได้ไหม หรือคนท้องควรจะหลีกเลี่ยงการดื่มชาไปเลยหรือเปล่า? วันนี้ Enfa จะชวนแม่ ๆ ไปไขข้อข้องใจเรื่องคนท้องกับการดื่มชากันค่ะ
คนท้องกินชาเย็นได้ไหม
ก่อนจะข้ามไปถึงชาเย็น เรามาพูดกันแค่ ชา เฉย ๆ ก่อนดีกว่าค่ะ ถ้าหากถามว่า คนท้องดื่มชาได้ไหม?
ตอบทันทีเลยว่า ดื่มได้ค่ะ! แต่...ได้ในปริมาณที่จำกัดนะคะ สาเหตุที่ต้องจำกัดก็เพราะว่าในใบชาเนี่ยมีคาเฟอีนอยู่สูงมาก และเจ้าคาเฟอีนตัวดีนี่แหละค่ะ ที่อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ หากรับเข้าไปในปริมาณที่สูง
เนื่องจากคาเฟอีนสามารถส่งผ่านไปยังรก และทารกในครรภ์ก็จะได้รับคาเฟอีนผ่านสายรกนั้น ด้วยเหตุนี้ หากคนท้องรับปริมาณคาเฟอีนเข้าไปมาก ๆ และติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจจะมีผลเสียต่อสุขภาพการตั้งครรภ์ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น
- เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
- เสี่ยงที่ทารกจะเกิดมามีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์
- เสี่ยงต่อการแท้งบุตร
- เสี่ยงต่อการตายคลอด
- คาเฟอีนจะรบกวนการนอนหลับของทารกในครรภ์
- ทารกที่เกิดมาอาจมีความเสี่ยงของโรคหัวใจ
- ทารกที่เกิดมาอาจมีความเสี่ยงต่อปัญหาการหายใจ
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนท้องไม่ควรรับคาเฟอีนมากเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน
ดังนั้น หากจะถามว่าแล้วคนท้องจะกินชาเย็นบ้างได้ไหม แน่นอนค่ะว่าดื่มได้เลย แต่ไม่ควรจะเกิน 1 แก้วต่อวัน เพราะอย่าลืมว่าใบชาที่นำมาชงเพื่อทำเมนูชาเย็นนั้น ยากที่จะกะเกณฑ์ว่ามีปริมาณคาเฟอีนอยู่เท่าไหร่ ยิ่งดื่มหลายแก้ว ก็ยิ่งได้ปริมาณคาเฟอีนมากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้น ดื่มแค่เพียงวันละแก้วก็เพียงพอแล้วค่ะ
รู้จักชาเย็นและสารอาหารในชาเย็น
ชาเย็น จริง ๆ ก็คือชาร้อน ที่ชงใส่กับน้ำตาล บางสูตรอาจจะมีการเพิ่มนมสด นมข้นหวาน นมข้นจืด ครีมเทียม ต่าง ๆ ลงไปด้วย และตบท้ายคือเสิร์ฟพร้อมกับน้ำแข็ง ปิ๊ง! กลายเป็นชาเย็น
ส่วนใบชาที่นำมาใช้ในการทำชาเย็นนั้น จริง ๆ ต้องบอกว่าค่อนข้างหลากหลายนะคะ ชาเย็นของแต่ละคน อาจจะหมายถึงใบชาคนละแบบก็ได้ แต่ชาเย็นทั่วไปในบ้านเรานั้น มักจะใช้ชาดำค่ะ
ซึ่งชาดำ ก็คือใบชาแบบเดียวกับชาเขียวนี่แหละค่ะ ใบชาจากต้นเดียวกันเลย เพียงแต่หลังจากเก็บมาแล้วชาดำจะถูกนำไปผ่านกระบวนการหมักอย่างสมบูรณ์ ทำให้ใบชากลายเป็นสีดำ เมื่อชงแล้วก็จะมีสีดำ ส่วนชาเขียวนั้นไม่ผ่านกระบวนการหมักอย่างสมบูรณ์เมื่อชงแล้วก็จะยังคงมีสีเขียวอยู่
เมื่อชาเย็นก็คือชาดำ และชาดำก็ทำมาจากใบชา ดังนั้น นอกจากสารต้านอนุมูลอิสระอย่างโพลีฟีนอลแล้ว ก็แน่นอนว่ามีสารคาเฟอีนอยู่เต็มเปี่ยมด้วย และเมื่อชาดำถูกนำมาชงให้กลายเป็นชาเย็นแล้ว เราก็จะได้โภชนาการในส่วนของน้ำตาลและไขมันเพิ่มตามไปด้วย เพราะชาเย็นส่วนมากนั้นมักจะมีรสหวาน ทั้งยังมีการเติมนมข้นหวานเข้าไปอีก ก็แน่นอนว่าได้ทั้งน้ำตาลและไขมันสูงอย่างแน่นอน ผลเสียในระยะยาวคือโรคอ้วน โรคเบาหวาน และปัญหาระดับน้ำตาลในเลือด
ข้อดีและข้อเสียของการดื่มชาเย็น
ข้อดีหลัก ๆ ของการดื่มชาเย็นนั้น นอกจากความสดชื่นและกระปรี้กระเปร่าที่ได้จากคาเฟอีนแล้ว ก็จะยังได้รับสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด โดยเฉพาะโพลีฟีนอล ซึ่งมีส่วนช่วยในการซ่อมแซมเซลล์ร่างกายส่วนที่สึกหรอ ลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้
แต่...พอเป็นชาเย็นแล้ว เรามักจะมีการเติมน้ำตาล นมข้นหวาน นมข้นจืด ครีมเทียมเข้าไปด้วย จุดนี้แหละที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะร่างกายก็จะได้ทั้งน้ำตาลและไขมันจากวัตถุดิบเหล่านี้ ซึ่งเสี่ยงต่อโรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันอุดตัน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งในระยะยาวถือว่าไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพเลยค่ะ
แล้วคนท้องดื่มชาประเภทอื่น ๆ ได้ไหม
สำหรับคุณแม่ที่ชอบดื่มชา อาจจะสงสัยว่า แล้วถ้าเปลี่ยนจากชาเย็นเป็นชาแบบอื่น ๆ ล่ะ คนท้องดื่มได้ไหม
คนท้องกินชาไทยได้ไหม
คนท้องดื่มชาไทยได้ค่ะ แต่ไม่ควรดื่มเกินวันละ 1 แก้ว เนื่องจากในชานั้นมีคาเฟอีน และคนท้องไม่ควรรับคาเฟอีนเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งการจะกะเกณฑ์ปริมาณคาเฟอีนต่อแก้วนั้นอาจจะทำได้ยาก ดังนั้น ยิ่งดื่มน้อย ก็ยิ่งได้รับคาเฟอีนเข้าไปน้อย ดีต่อสุขภาพมากกว่าดื่มวันละหลาย ๆ แก้วค่ะ
นอกจากเรื่องของคาเฟอีนแล้ว ในชาไทยก็มักจะมีการเติมน้ำตาล นมข้นหวาน นมข้นจืด ครีมเทียมเข้าไปด้วย จุดนี้แหละที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะร่างกายก็จะได้ทั้งน้ำตาลและไขมันจากวัตถุดิบเหล่านี้ ซึ่งเสี่ยงต่อโรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันอุดตัน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งในระยะยาวถือว่าไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพเลยค่ะ
คนท้องกินชาจีนได้ไหม
ชาจีน ที่เราเรียกกันติดมาก ส่วนมากก็คือชาอู่หลงนั่นแหละค่ะ คนท้องก็สามารถดื่มได้ แต่ทางที่ดีก็ไม่ควรจะดื่มเยอะเกินวันละ 1-2 แก้วค่ะ เพราะชาอู่หลงเองก็มีคาเฟอีนอยู่มากเช่นกัน ดังนั้น พยายามดื่มแต่น้อย รับคาเฟอีนแค่พอประมาณ จะดีต่อสุขภาพการตั้งครรภ์มากกว่านะคะ
คนท้องกินชามะลิได้ไหม
ชามะลิก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนที่ชอบดื่มชา เพราะชามะลินี้นอกจากรสชาติดีแล้ว ยังได้กลิ่นหอมอ่อน ๆ ช่วยให้ผ่อนคลายได้ดีอีกด้วย ซึ่งคุณแม่ท้องสามารถดื่มได้ค่ะ แต่ก็เช่นเดียวกันชาประเภทอื่น ๆ คือ ไม่ควรเกินวันละ 1-2 แก้วค่ะ เพราะชามะลิเองก็มีคาเฟอีนอยู่มากเช่นกัน
อ้าว แต่ทำไมมะลิถึงมีคาเฟอีนด้วยล่ะ? ชาดอกไม้มีคาเฟอีนด้วยหรือ? จริง ๆ แล้วชามะลิที่เราเข้าใจกันเนี่ย ไม่ใช่เป็นการนำดอกมะลิมาอบทำเป็นชาแบบเพียว ๆ นะคะ แต่เป็นการนำใบชาอู่หลงมาอบผสมกับดอกมะลิ จนได้เป็นชามะลิออกมา
ดังนั้น แม้จะชื่อชามะลิ แต่ก็ยังมีใบชาที่มีสารคาเฟอีนอยู่ด้วย คุณแม่จึงควรดื่มแต่น้อย รับคาเฟอีนแค่พอประมาณ จะดีต่อสุขภาพการตั้งครรภ์มากกว่านะคะ
ชามะนาวคนท้องกินได้ไหม
ชามะนาวเป็นอีกเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมาก รสชาติเปรี้ยวนำ หวานตาม เย็นชื่นใจ กินแล้วสดชื่น กระปรี้กระเปร่า คุณแม่ท้องสามารถดื่มได้ค่ะ
แต่ชามะนาวเองก็จะมีทั้งคาเฟอีนในใบชา และยังมีน้ำตาลที่ใส่เพิ่มเข้ามาอีกด้วย เรียกได้ว่าต้องระวังแบบ 2 เด้งเลยค่ะ คือนอกจากจะต้องระวังเรื่องของปริมาณคาเฟอีนแล้ว ก็ยังต้องเลี่ยงความหวานจากน้ำตาลด้วย
ดังนั้น ดื่มแต่น้อย หรือดื่มวันละแก้ว หรือนาน ๆ ดื่มที ก็จะดีต่อสุขภาพในระยะยาวมากกว่าค่ะ
ดื่มชาอย่างไรให้ปลอดภัยขณะตั้งครรภ์
สำหรับคนท้องที่ชอบดื่มชา ข้อสำคัญหลัก ๆ ในการดื่มชาที่ปลอดภัยก็คือ พยายามดื่มให้น้อยลงค่ะ หากเมื่อก่อนดื่มวันละหลาย ๆ แก้ว ก็ให้พยายามลดลงมาเรื่อย ๆ จนเหลือแค่วันละ 1-2 แก้ว หรือไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน เพื่อไม่ให้ร่างกายมีปริมาณคาเฟอีนสะสมเอาไว้มากจนเกินไป เพราะในระยะยาวปริมาณคาเฟอีนเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้
อีกข้อหนึ่งก็คือ ชาประเภทที่ต้องมีการเติมน้ำตาล นมข้นหวาน นมข้นจืดต่าง ๆ แม้จะดื่มแล้วอร่อย สดชื่น แต่สารให้ความหวานที่เติมเข้ามานี้ เป็นตัวทำลายสุขภาพในระยะยาวได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ ทางที่ดีควรลดหวาน หรือหลีกเลี่ยงการปรุงรสหวานไปเลยจะดีกว่า หรือถ้าอดใจไม่ได้จริง ๆ ก็พยายามจำกัดการดื่มแค่วันละ 1 แก้ว เพื่อที่ร่างกายจะได้ไม่สะสมน้ำตาลและไขมันมากจนเกินไป อาจเสี่ยงต่อโรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันอุดตัน หรือโรคหัวใจได้ค่ะ
- Baby Center. How much caffeine can I have in pregnancy?. [Online] Accessed https://www.babycentre.co.uk/a3955/how-much-caffeine-can-i-have-in-preg…. [9 December 2022]
- Baby Center. Pregnancy-safe tea. [Online] Accessed https://www.babycenter.com/pregnancy/diet-and-fitness/herbal-teas-durin…. [9 December 2022]
- Healthline. Is Tea Safe During Pregnancy?. [Online] Accessed https://www.healthline.com/nutrition/is-tea-safe-during-pregnancy. [9 December 2022]
- The Trustees of the University of Pennsylvania. The Hidden Health Benefits of Tea. [Online] Accessed https://www.pennmedicine.org/updates/blogs/health-and-wellness/2019/dec…. [9 December 2022]
- Pregnancy Food Checker. Is Thai Tea Safe During Pregnancy? Iced, Caffeine, and More. [Online] Accessed https://www.pregnancyfoodchecker.com/thai-tea-safe-pregnancy-iced-caffe…. [9 December 2022]
- Pregnancy Food Checker. Can Pregnant Women Drink Jasmine Tea? How Much Is Safe?. [Online] Accessed https://www.pregnancyfoodchecker.com/can-pregnant-women-drink-jasmine-t…. [9 December 2022]
- โรงพยาบาลเพชรเวช. คนท้องกินกาแฟ โกโก้ หรือชาเขียวได้ไหม. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/pregnant-…. [9 ธันวาคม 2022]
- Good Life Update. ชาเขียว ชาดำ ชาแดง ชาอูหลง ชาขาว เลือกดื่มชาชนิดไหนให้ถูกกับโรค. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://goodlifeupdate.com/lifestyle/86059.html. [9 ธันวาคม 2022]
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์