Enfa สรุปให้
- คนท้องจำเป็นต้องใส่ใจกับอาหารการกินมากเป็นพิเศษ จำเป็นต้องกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย เพื่อให้ร่างกายของแม่และทารกในครรภ์สมบูรณ์แข็งแรง โดยกลุ่มสารอาหารสำคัญที่แม่ท้องควรได้รับ ได้แก่ DHA โปรตีน ธาตุเหล็ก โฟเลต แคลเซียม ไอโอดีน คาร์โบไฮเดรต โคลีน ไฟเบอร์ และโอเมก้า 3
- แม่ท้องจำเป็นต้องได้รับพลังงานที่มากขึ้นกว่าช่วงก่อนตั้งครรภ์ เพื่อให้พลังงานนั้นเพียงพอต่อร่างกายของคุณแม่ และเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าตั้งครรภ์แฝดก็อาจจะต้องกินอาหารมากกว่าปกติ เพื่อให้เพียงพอต่อลูกน้อยในครรภ์ทั้ง 2 หรืออาจจะต้องกินมากกว่าคุณแม่ที่ตั้งท้องลูกเพียงคนเดียว
- แม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงอาหารจำพวก อาหารกึ่งสำเร็จรูป ไข่ดิบ อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งทารกอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อนั้นด้วย อีกทั้งยังเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งเป้นหนึ่งในความผิดปกติของการตั้งครรภ์
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• 10 อาหารคนท้องที่แม่ท้องควรรับประทาน
• นมสำหรับคนท้องจำเป็นหรือไม่
• คุณแม่ท้องต้องกินมากขนาดไหนใน 1 วัน
• คุณแม่ท้องต้องกินอาหารเผื่อสำหรับ 2 คนหรือไม่
• คนท้องห้ามกินอะไรบ้าง
• เมนูคนท้องทำเองได้ง่าย ๆ
• อาการอยากอาหารและอาการพะอืดพะอม
• โรคชอบทานของแปลก
• ไขข้อข้องใจเรื่องอาหารสำหรับคนท้องกับ Enfa Smart Club
อาหารคนท้อง เป็นอีกเรื่องสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรใส่ใจ เพราะสารอาหารที่คุณแม่ได้รับ เป็นสิ่งเดียวกับที่ลูกจะได้รับด้วย คุณแม่ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารและวิตามินคนท้องครบถ้วน เพื่อให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโต และเสริมสร้างพัฒนาการทุกด้านของทารกในครรภ์ วันนี้ Enfa มีข้อมูลเรื่องสารอาหารสำหรับคุณแม่มาฝาก มาดูกันว่าตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน คนท้องห้ามกินอะไร และเมนูคนท้องอะไรบ้างที่คุณแม่ควรกิน
10 อาหารคนท้อง ที่แม่ท้องควรรับประทาน
นอกจากการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้ว เรื่องของคนท้องห้ามกินอะไร สารอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรให้ความใส่ใจ และเลือกกินมากเป็นพิเศษ มีดังต่อไปนี้
1. อาหารที่มี DHA สูง
ดีเอชเอ (Docosahexaenoic Acid) คือ กรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท นอกจากนี้ยังอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์บางอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้อีกด้วย อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น คุณแม่ควรกินอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้ง หรือดื่มนมสูตรเสริมดีเอชเอก็ดีเช่นกันค่ะ
2. อาหารที่มีโปรตีนสูง
โปรตีน เป็นสารอาหารสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างน้ำนมให้กับคุณแม่ ตัวอย่างอาหารที่มีโปรตีนสูง เหมาะสำหรับคนท้อง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ หรือถั่วต่าง ๆ ประมาณ 75 – 110 กรัม/วัน ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของคุณแม่ และไตรมาสของการตั้งครรภ์ โดยคำนวณง่าย ๆ คือในหนึ่งมื้ออาหาร ควรมีโปรตีนประมาณ 30 - 40% ของอาหารที่กินนั่นเอง
3. อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง
อาหารที่มีธาตุเหล็ก อาหารเสริมธาตุเหล็ก ถือเป็น อาหารคนท้องที่สำคัญอีกหนึ่งชนิด เพราะสามารถช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งถือเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการคลอดทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ดังนั้น คุณแม่ควรได้รับธาตุเหล็กไม่ต่ำกว่า 27 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งสามารถหาได้จากการกินอาหารประเภท เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น
4. อาหารที่มีโฟเลตสูง
กรดโฟลิก หรือโฟเลต ก็เป็นอีกหนึ่งสารอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรมองข้าม เพราะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง หากคุณแม่ได้รับโฟเลตไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้ลูกน้อยเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทได้ ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรได้รับโฟเลตอย่างน้อย 600-800 มิลลิกรัม/วัน จากการกินอาหารประเภท ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น
5. อาหารที่มีแคลเซียมสูง
อย่างที่รู้กันว่า แคลเซียมนั้นมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง โดยเฉพาะในช่วงเวลาการเจริญเติบโตของลูกน้อย ยิ่งทำให้คุณแม่ต้องบำรุงร่างกายเพิ่มเติมพร้อมเสริมแคลเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน โดยปกติ ผู้หญิงตั้งครรภ์มักจะต้องการแคลเซียมประมาณ 1,000 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งหาได้จากการกินอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น
6. อาหารที่มีไอโอดีนสูง
หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ อาจทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายผิดปกติ และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรควรได้รับไอโอดีนจำนวน 250 ไมโครกรัม/วัน ไอโอดีนอยู่ในจำพวกอาหารทะเลทุกชนิด ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา
7. อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต
การกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยลดอาการแพ้ท้องในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากเป็นสารอาหารที่ย่อยง่าย และให้พลังงานสูง ช่วยลดอาการคลื่นไส้ อย่างไรก็ตาม คนท้องไม่ควรกินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป เพราะอาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนระหว่างตั้งครรภ์ได้
8. อาหารที่มีโคลีนอย่างเพียงพอ
โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น จัดว่าเป็นอีกหนึ่งสารอาหารสำคัญที่คุณแม่ควรได้รับจากการกินอาหารในแต่ละวัน เพราะโคลีนมีส่วนสำคัญในการบำรุงระบบประสาทและสมอง ช่วยพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ การกินอาหารที่ให้สารโคลีนอย่างเพียงพอ หรือประมาณ 450 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับแม่ตั้งครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ได้
9. อาหารที่มีไฟเบอร์สูง
ไฟเบอร์ เป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญที่ไม่ว่าจะเป็นแม่ก่อนคลอด แม่อุ้มท้อง แม่หลังคลอด หรือแม่ให้นมลูกก็ควรได้รับอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างตั้งครรภ์ ควรกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเป็นประจำ เพราะไฟเบอร์จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ไฟเบอร์ยังช่วยลดความเสี่ยงของความดันโลหิตสูงและอาจช่วยป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้อีกด้วย ซึ่งแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับไฟเบอร์ประมาณ 25-35 กรัมในแต่ละวัน โดยสามารถได้ไฟเบอร์จากอาหารจำพวกผักและผลไม้ต่าง ๆ
10. อาหารที่มีโอเมก้า 3
โอเมก้า 3 เป็นสารอาหารสำคัญที่ควรได้รับอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 200-300 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับแม่ตั้งครรภ์ เพราะโอเมก้า 3 มีส่วนช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่สมองของทารกมีการพัฒนาและเจริญเติบโตสูงสุด มากไปกว่านั้น การได้รับโอเมก้า 3 อย่างเพียงพอขณะตั้งครรภ์ ยังอาจช่วยต่อสู้กับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ควบคุมอารมณ์แปรปรวนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ และลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักแรกเกิดต่ำอีกด้วย
นมสำหรับคนท้องจำเป็นต่อคุณแม่ท้องหรือไม่
นมจำเป็นสำหรับคนทุกช่วงวัย และคนทุกคนช่วงวัยไม่ว่าจะท้องหรือไม่ จะเป็นเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ วัยวัยสูงอายุ ทุกคนควรดื่มนมเป็นประจำ เพื่อเสริมสร้างแคลเซียมและวิตามินดี
อย่างไรก็ตาม หากถามว่าคนท้องจำเป็นต้องดื่มนมหรือไม่ ก็ถือว่านมยังอยู่ในขอบข่ายของอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของแม่และเด็ก การดื่มนมควบคู่กับการกินอาหารที่มีประโยชน์ชนิดอื่น ๆ จึงช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีของแม่และทารกในครรภ์ได้
แต่ในส่วนของนมสูตรสำหรับคนท้องนั้น หากจะว่าจำเป็นก็อาจจะพูดได้ แต่ถ้าจะบอกว่าไม่จำเป็น ก็พูดได้เช่นกัน
- ในแง่ของความไม่จำเป็นนั้น การดื่มนมวัวถือว่าเพียงพอต่อการมีสุขภาพดีแล้ว เพราะนมวัวให้โปรตีน แคลเซียมสูงกว่านมชนิดอื่น ๆ อยู่แล้ว โดยที่คุณแม่ไม่จำเป็นจะต้องดื่มนมชนิดอื่น
- แต่ในแง่ของความจำเป็นนั้น ก็เพราะว่า ไม่ใช่คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนที่สามารถรับประทานอาหารให้ครบถ้วนตามปริมาณสารอาหารที่เหมาะสมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ได้ทุกมื้อทุกวัน และยังแม่คุณแม่อีกหลายคนที่ไม่สามารถดื่มนมวัวได้เนื่องจากอาการแพ้นมวัว ดังนั้นในกรณีจึงอาจกล่าวได้ว่า นมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ ก็ยังมีความจำเป็นสำหรับคุณแม่บางกลุ่มอยู่
คุณแม่ท้องต้องกินมากขนาดไหนใน 1 วัน
การจะกำหนดออกมาเป็นปริมาณของอาหารในแต่ละวันนั้น ก็อาจจะทำได้ยากหน่อย แต่คุณแม่ควรกินอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน โดย
- ไตรมาสแรก ควรกินอาหารให้ได้ 1,800 แคลอรี่ต่อวัน
- ไตรมาสสอง ควรกินอาหารให้ได้ 2,200 แคลอรี่ต่อวัน
- ไตรมาสสาม ควรกินอาหารให้ได้ 2,400 แคลอรี่ต่อวัน
และเพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่ได้กินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย จึงควรเน้นไปที่สารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวันด้วย ดังนี้
คุณแม่ท้องต้องกินอาหารเผื่อสำหรับ 2 คนหรือไม่
คุณแม่ตั้งครรภ์จำเป็นต้องได้รับพลังงานที่มากขึ้นกว่าช่วงก่อนตั้งครรภ์ เพื่อให้พลังงานนั้นเพียงพอต่อร่างกายของคุณแม่ และเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ด้วย ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คนท้องมักจะกินอาหารมากกว่าปกติ จนเกิดเป็นคำพูดกันติดปากว่า “กินเผื่อลูกในท้อง”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าตั้งครรภ์แฝดก็อาจจะต้องกินอาหารมากกว่าปกติ เพื่อให้เพียงพอต่อลูกน้อยในครรภ์ทั้ง 2 หรืออาจจะต้องกินมากกว่าคุณแม่ที่ตั้งท้องลูกเพียงคนเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณแม่ที่กำลังตั้งท้องนั้นจะต้องกินอาหารให้มากขึ้นจริง แต่...ปริมาณที่มากขึ้นนั้น ควรเป็นปริมาณที่เหมาะสมที่จะไม่ทำให้น้ำหนักแม่ตั้งครรภ์เกินกว่าน้ำหนักที่ควรจะเพิ่มขึ้นในแต่ละไตรมาส
การกินอาหารมากจนเกินไปขณะตั้งครรภ์ กลับจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้มีน้ำหนักตัวมากเกินไปจนเสี่ยงต่อโรคอ้วนขณะตั้งครรภ์ ซึ่งการที่คุณแม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นจนเกินไปนั้น ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพในขณะตั้งครรภ์มากมาย ดังนี้
- เสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง
- เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ
- เสี่ยงต่อเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- เสี่ยงที่จะต้องคลอดบุตรโดยการผ่าคลอด หรือใช้ระยะเวลานานกว่าที่จะคลอดสำเร็จ
- เสี่ยงที่จะมีการแท้งบุตร
- เสี่ยงที่ลูกจะคลอดออกมาพิการ
คนท้องห้ามกินอะไรบ้าง และอาหารชนิดใดที่ควรหลีกเลี่ยง
นอกเหนือจากการกินอาหารให้มีประโยชน์แล้ว ยังมีอาหารบางประเภทที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงเพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของทั้งคุณแม่และคุณลูกได้ โดยมี 4 ประเภทดังนี้
1. อาหารกึ่งสำเร็จรูป
คนท้องควรงดกินอาหารกึ่งสำเร็จรูป เนื่องจากมีส่วนผสมของผงชูรส สารกันบูดสูง และยังมีโซเดียมในปริมาณที่สูงเกินกว่าที่ร่างกายควรจะได้รับในแต่ละวัน ลองคิดดูสิคะว่า หากกินเข้าไปจะเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์มากขนาดไหน
2. ไข่ดิบ
คนท้องไม่ควรกินไข่ดิบเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจนำไปสู่การติดเชื้อซาลโมเนลลา เชื้อแบคทีเรียที่อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือเป็นไข้ ซึ่งเป็นผลเสียต่อทารกในครรภ์เป็นอย่างมาก ดังนั้น คนท้องจึงควรเลือกกินแต่ไข่ที่ปรุงสุกเท่านั้น และไม่ควรกินมากเกินวันละ 1 ฟอง
3. อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ
คนท้องควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบต่าง ๆ เช่น ปลาดิบ ซูชิ หอยนางรมสด หรือเนื้อสัตว์สุกไม่ทั่ว เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจมีเชื้อโรคหรือพยาธิแฝงอยู่ และเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้
4. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ในขณะตั้งครรภ์ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการของทารก ทำให้ทารกเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ เติบโตช้า และอาจส่งผลเสียถึงการทำงานของกล้ามเนื้อ รวมไปถึงอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติของลักษณะใบหน้าได้อีกด้วย ดังนั้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงถือเป็นของต้องห้ามอย่างเด็ดขาดสำหรับคนท้อง
แนะนำเมนูคนท้องทำเองได้ง่าย ๆ
อาหารที่ดีต่อคนท้องนั้น มีให้เลือกสรรมากมายหลายอย่าง ทั้งยังสามารถนำมาปรุงเป็นเมนูอร่อย ๆ และเหมาะสมกับคนท้องได้หลายอย่างด้วย ซึ่งอาหารคนท้องนั้นก็ควรเป็นอาหารที่รสไม่จัด และปรุงรสเอาแต่พอดี ไม่หวานจัด ไม่เค็มจัด ควรเป็นอาหารรสกลาง ๆ เพื่อป้องกันปัญหาโซเดียมหรือน้ำตาลสูง
โดยเมนูคนท้องที่แม่ ๆ สามารถทำกินในแต่ละวัน ก็สามารถทำได้ ดังนี้
เมนูอาหารสำหรับคนท้องช่วงไตรมาสแรก
ในไตรมาสแรกนั้นคุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้องอ่อน ๆ หรือแพ้ท้องหนักมาก อาหารจึงควรเป็นอาหารอ่อน ๆ ไม่มีรสหรือกลิ่นฉุน เพื่อให้สามารถกินได้ง่าย เช่น
- โจ๊ก
- ซุปต่าง ๆ
- ไก่ผัดขิง
- ผัดผัก เช่น บร็อคโคลีผัดกุ้ง ผัดผักรวม
- เมนูปลา เช่น ปลากะพงนึ่งมะนาว ปลาช่อนทะเลผัดขิง
- สลัดผัก หรือยำผลไม้รวม
เมนูอาหารสำหรับคนท้องไตรมาสสอง
ไตรมาสสอง ทารกมีขนาดตัวที่เพิ่มขึ้น และกำลังพัฒนาระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ขณะที่คุณแม่อาจบางคนอาจเริ่มมีอาการท้องผูก เนื่องจากมดลูกขยายตัวใหญ่ขึ้นและกดทับลำไส้ ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ไม่ค่อยดี และยังเป็นช่วงที่แม่ต้องการอาหารมากขึ้นด้วย เนื่องจากทารกตัวใหญ่ขึ้น และต้องการพลังงานมากขึ้น อาหารที่เหมาะจึงควรเป็นอาหารที่ช่วยเพิ่มพลังงานน และดีต่อระบบขับถ่าย เช่น
- เมนูผัดผักรวม หรือเมนูผัดผักกับเนื้อสัตว์ เช่น ตับผัดกระเพรา
- ต้มยำทะเล
- ต้มส้มปลาทู
- แกงส้มผักรวม
- ยำไข่ดาว
- ข้าวกล้องคลุกกะปิ
เมนูอาหารสำหรับคนท้องไตรมาสสาม
ไตรมาสสุดท้าย แม่มักจะกินอาหารได้น้อยลง เนื่องจากรู้สึกอึดอัดหรือแน่นท้องง่าย ทั้งนี้เป็นเพราะทารกมีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้นกว่าไตรมาสสอง และเป็นขนาดตัวที่พร้อมต่อการคลอด ดังนั้นกินอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็รู้สึกแน่นท้องแล้ว อาหารที่เหมาะก็จะไม่ต่างจากช่วงไตรมาสสองมากนัก เพียงแต่อาจจะต้องกินเป็นมื้อเล็ก ๆ แทน เช่น
- เมนูผัดผักรวม หรือเมนูผัดผักกับเนื้อสัตว์ เช่น ตับผัดกระเพรา
- ต้มยำทะเล
- ต้มส้มปลาทู
- แกงส้มผักรวม
- ยำไข่ดาว
- ข้าวกล้องคลุกกะปิ
อาการอยากอาหาร และอาการพะอืดพะอมอาหารระหว่างตั้งท้อง
อาการอยากอาหาร และอาการพะอืดพะอมในระหว่างที่ตั้งท้องนั้น เป็นหนึ่งในกลุ่มอาการแพ้ท้อง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้นกับคุณแม่ก็ได้ คุณแม่บางคนแพ้ท้องหนักมาก ขณะที่คุณแม่บางคนไม่แพ้ท้องเลย
แต่ถ้ามีอาการอยากอาหาร หรือพะอืดพะอม สามารถรับมือได้ดังนี้
- หากมีอาการอยากอาหารมาก ควรหลีกเลี่ยงอาหารขยะ หรืออาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อแม่และเด็กในครรภ์ หากรู้สึกหิวก็สามารถกินได้ แต่ควรกินอาหารที่มีประโยชน์เท่านั้น หรือควรจัดของว่างจำพวกผลไม้ หรือธัญพืชต่าง ๆ ไว้แก้หิว
- หากมีอาการพะอืดพะอม ควรเริ่มปรับที่การกินอาหาร กินอาหารที่ย่อยง่าย เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง และแบ่งอาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอในแต่ละวัน หรือควรมีของว่างติดเตียงเอาไว้ เพื่อที่จะได้กินของว่างรองท้องก่อนตั้งแต่ตอนตื่นนอน ก็สามารถช่วยลดอาการวิงเวียน พะอืดพะอมได้ แต่ถ้ามีอาการพะอืดพะอมรุนแรง หรืออาเจียนรุนแรง ควรไปพบแพทย์
โรคชอบทานของแปลกที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ตั้งท้อง
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์หลายคนมักมีอาการแปลก ๆ ในช่วงแพ้ท้อง หรือตลอดการตั้งครรภ์ คืออยากจะกินอาหารที่แปลก ๆ ในขณะที่ตั้งครรภ์ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยนึกอยากจะกินอาหารเหล่านั้นมาก่อน หรืออาจจะอยากกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายนัก เช่น อยากกินยางลบ อยากกินดิน อยากกินน้ำแข็ง หรืออยากกินสิ่งของจำพวกโลหะ เป็นต้น
อาการอยากกินอาหารแปลก ๆ ที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการเหล่านี้ เรียกว่า Pica หรือโรคชอบกินของแปลก
ซึ่งอาการเช่นนี้ อาจเป็นสัญญาณของการขาดสารอาหารบางอย่าง หากมีอาการอยากกินของแปลก ๆ ที่ไม่ใช่อาหารขึ้นมา ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา เพราะการเผลอกินอาหารที่ไม่ดีต่อร่างกายเข้าไป อาจเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์
ไขข้อข้องใจเรื่องอาหารสำหรับคนท้องกับ Enfa Smart Club
คนท้องต้องกินเผื่อ 2 คนไหม
คนท้องอาจจะมีการกินอาหารมากกว่าปกติบ้าง เพราะจะต้องคอยเพิ่มน้ำหนักให้เหมาะสมในแต่ละไตรมาส และยังจำเป็นต้องกินอาหารเพื่อให้พลังงานนั้นเพียงพอต่อร่างกายของคุณแม่ และเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ด้วย
แต่การกินของคนท้องนั้น ไม่ควรจะเป็นการตามใจปากและตะบี้ตะบันกินเยอะขึ้นด้วยความเชื่อว่า “กินเผื่อลูกในท้อง”
เพราะความเชื่อดังกล่าว ถือว่าเป็นความเชื่อที่ผิดค่ะ การที่คุณแม่ท้องกินอาหารมากจนเกินไป และให้เหตุผลว่ากินเผื่อลูก ความเชื่อนี้เสี่ยงที่จะทำให้น้ำหนักตัวขณะตั้งครรภ์สูงเกินกว่าที่กำหนดเอาไว้ในแต่ละไตรมาสได้
และแน่นอนว่าหากน้ำหนักแม่ตั้งครรภ์สูงเกินไป ความเสี่ยงต่อสุขภาพก็จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ รวมถึงอาจเสี่ยงต่อการผ่าคลอดเพราะทารกในครรภ์ตัวใหญ่
คนท้องกินแตงโมได้ไหม
คนท้องสามารถกินแตงโมได้ เพราะมีโพแทสเซียมสูง ดีต่อการควบคุมความดันโลหิตขณะตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม อะไรที่มากเกินไปย่อมไม่ดี แตงโมมีน้ำมาก การกินแตงโมในปริมาณมากเป็นประจำ อาจเสี่ยงต่ออาการบวมน้ำได้
อีกทั้งยังเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง เสี่ยงต่อการสะสมน้ำตาลในร่างกาย อาจเสี่ยงต่อเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ จึงควรกินอย่างเหมาะสม ไม่ให้มากเกินไป
คนท้องกินสับปะรดได้ไหม
คนท้องสามารถกินสับปะรดได้ และสับปะรดเองก็ให้คุณค่าทางสารอาหารทั้งวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อแม่ตั้งครรภ์ แต่อะไรที่มากเกินไปก็ไม่ดี ควรกินแต่พอเหมาะจะดีที่สุด เพื่อให้สามารถกินผลไม้อื่น ๆ ได้หลากหลายขึ้น
คนท้องกินน้ำกระท่อมได้ไหม
สมุนไพรต่าง ๆ ไม่มีผลการวิจัยที่เพียงพอจะรองรับว่ามีความปลอดภัยต่อแม่ตั้งครรภ์และแม่ให้นมบุตร ซึ่งก็รวมถึงกระท่อมด้วย และคุณแม่ไม่ควรดื่มหรือกินสมุนไพร หรือพืชที่มีสรรพคุณทางยาอื่น ๆ โดยที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์
คนท้องกินยาพาราได้ไหม
ยาพาราเซตามอล สามารถใช้ในแม่ตั้งครรภ์ได้ แต่ควรกินตามขนาดยาที่แพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรกินเกินกว่านั้น เพราะอาจเสี่ยงต่ออันตรายได้
- Healthline. 13 Foods to Eat When You’re Pregnant. [Online] Accessed https://www.healthline.com/nutrition/13-foods-to-eat-when-pregnant. [28 April 2022]
- Healthline. Nutritional Needs During Pregnancy. [Online] Accessed https://www.healthline.com/health/pregnancy/nutrition. [28 April 2022]
- Healthline. Everything You Need to Know About Pica. [Online] Accessed https://www.healthline.com/health/pica. [28 April 2022]
- What to expect. Pregnancy Nutrition Chart: 33 Essential Nutrients for Pregnant Women. [Online] Accessed https://www.whattoexpect.com/pregnancy/diet/pregnancy-nutrition-chart/. [28 April 2022]
- NHS. Have a healthy diet in pregnancy. [Online] Accessed https://www.nhs.uk/pregnancy/keeping-well/have-a-healthy-diet/. [28 April 2022]
- Asociación Española de Pediatría. Consumption of paracetamol during pregnancy. [Online] Accessed https://www.analesdepediatria.org/en-consumption-paracetamol-during-pre…. [28 April 2022]
- Medline Plus. Eating right during pregnancy. [Online] Accessed https://medlineplus.gov/ency/patientinstructions/000584.htm. [28 April 2022]
- WebMD. Binge Eating and Pregnancy. [Online] Accessed https://www.webmd.com/mental-health/eating-disorders/binge-eating-disor…. [28 April 2022]
- BBC. Should pregnant women eat for two?. [Online] Accessed https://www.bbc.com/future/article/20120626-can-pregnant-women-eat-for-…. [28 April 2022]
- โรงพยาบาลพญาไท. คุณแม่ตั้งท้อง กินอย่างไรไม่ให้อ้วน. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.phyathai.com/article_detail/2679/th. [28 เมษายน 2022]
- โรงพยาบาลสมิติเวช. เมนูอาหารแม่ท้อง. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/. [28 เมษายน 2022]
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. 7 อาการป่วนตอนท้อง ตอนที่ 1. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=512. [28 เมษายน 2022]
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ อันตรายมากน้อยแค่ไหน
- เจาะน้ำคร่ำจำเป็นไหม แล้วใครบ้างที่ควรเจาะน้ำคร่ำ
- อาการใกล้คลอด สังเกตทัน รับมือได้
- แม่ ๆ เช็กให้พร้อม ดูซิ! ของเตรียมคลอดที่จำเป็นมีอะไรบ้าง
- ภูมิแพ้ในเด็ก คุณแม่ควรรับมืออย่างไรเมื่อลูกน้อยเป็นภูมิแพ้
- คนท้องกินอีโนได้ไหม แน่นท้องและอาหารไม่ย่อย ควรทำอย่างไร
- คนท้องกินมาม่าดิบได้ไหม กินมาม่าได้รึเปล่า