เมื่อเด็กมีสมาธิจดจ่อต่อกิจกรรมหรือสิ่งรอบตัว จะช่วยให้กระบวนการรับและเก็บข้อมูลทำได้ดีขึ้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้ข้อมูลเหล่านั้น ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ในระบบความจำจะถูกเรียกกลับมาเชื่อมโยงกับประสบการณ์ใหม่ ประมวลผลและนำมาใช้งานต่อได้
การที่เราเรียนรู้และพัฒนาทักษะบางอย่างในช่วงวัยทารกไม่ว่าจะเป็นการนั่ง ยืน เดิน หรือส่งเสียงเพื่อการสื่อสารนั้น ต้องอาศัยความจำทั้งสิ้น นั่นคือ จำว่าเดินอย่างไรหรือส่งเสียงอย่างไร ซึ่งเป็นเสมือนฐานที่ทำให้เราเติบโตและมีพัฒนาการต่อๆ มานั่นเอง
เมื่อลูกเข้าสู่วัยเตาะแตะ เขาจะจำชีวิตตอนเป็นเด็กของตนช่วงหนึ่งได้ นักจิตวิทยาได้เล่นเครื่องเคาะเสียงกับเด็กวัย 1-10 เดือน 2 ปีต่อมา ปรากฏว่าเมื่อเด็กมาเล่นอีกครั้ง (โดยไม่มีนักจิตวิทยา) พฤติกรรมของเด็กๆ แสดงให้เห็นว่าเขาจำเสียงและเครื่องเคาะเหล่านั้นได้
เด็กก่อนวัยเรียนจะเริ่มจดจำสิ่งที่เป็นรูปธรรม เช่น สี จำนวนนับ ตัวอักษร ก-ข-ค หรือ ABC โดยเก็บข้อมูลแบบความจำระยะสั้น (Short term Memory) โดยต้องทบทวนความจำกันบ้างเพื่อให้สามารถเรียกออกมาใช้ได้ การทบทวนซ้ำจนสามารถจดจำได้นานขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ข้อมูลจากความจำระยะสั้นจะถูกย้ายไปบันทึกไว้ในความจำระยะยาว (Long term Memory) หลังจากนั้นกระบวนการทวนความจำเพื่อนำมาใช้ก็อาจง่ายขึ้นกว่าเดิม เช่น เมื่อชี้สีเขียว เด็กก็พูดออกมาได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องนึกว่าสีนี้เรียกว่าอะไร ด้วยข้อมูลที่มี เด็กจะรวบรวมข้อมูลทั้งหลาย และตัดสินใจว่าสิ่งไหนควรจำ เช่น ชื่อตัวเอง หน้าตาพ่อแม่ ลักษณะของเล่นชิ้นโปรด อาหารที่ชอบ ฯลฯ สิ่งไหนควรลบทิ้งไป เช่น ชุดคุณครูเมื่อ 3 วันที่แล้ว อาหารที่กินเมื่อ 2 วันก่อน ฯลฯ จากนั้นสมองเขาก็จะเก็บข้อมูลที่มีประโยชน์ไว้ และนำออกมาใช้เมื่อต้องการ
ความจำ : เกิดจากความสนใจ+สมาธิ
ก่อนที่ลูกน้อยจะสามารถใช้ความจำได้ ลูกต้องเพ่งสนใจไปยังสิ่งที่ต้องการจำนั้น และเก็บข้อมูลที่เห็นไว้ในระบบความทรงจำ ดังนั้นเมื่อจะให้ลูกเรียนรู้หรือจำเรื่องใด พยายามดึงความสนใจของลูกให้มีสมาธิและจดจ่ออยู่กับของสิ่งนั้นตั้งแต่เริ่มแรก
ความจำ : เกิดจากสังเกต-เชื่อมโยง
ความจำมีจุดเริ่มต้นมาจากสมาธิ การสังเกต และการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์หรือสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจ น่าตื่นเต้น เด็กก็จะจำได้ดี การเชื่อมโยงเปรียบเสมือนเครื่องมือที่เด็กใช้ปะติดปะต่อ ใช้ในการสื่อสารระหว่างตัวเขา ความจำ ประสบการณ์ที่ได้รับ กับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว ที่มีความแตกต่างกันอย่างมากมาย เช่น เชื่อมโยงลูกบอลกับของเล่น รอยยิ้มเชื่อมโยงกับความสุข ยิ่งลูกมีการเชื่อมโยงมากขึ้น เขาก็จะจดจำสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น
ความจำ : เกิดจากการทำซ้ำ
สิ่งใดที่ทำซ้ำๆ บ่อยๆ สมองเด็กจะสร้างเป็นความจำขึ้นมา หากต้องการให้ลูกจดจำเรื่องใด ก็ต้องหมั่นให้เขาทำเรื่องนั้นซ้ำๆ เช่น การบอกคำเรียกของสิ่งต่างๆ เมื่อลูกได้ฟังบ่อยๆ สมองของเขาก็จะจดจำ และพูดออกมาให้รู้ในที่สุด
กิจกรรมสำหรับ ลูกน้อยวัย 1-3 ขวบ |
รายละเอียด |
สร้างกิจวัตรที่แน่นอน |
การที่คุณพ่อคุณแม่กำหนดเวลาในการทำกิจวัตรแต่ละวันให้ลูกอย่างต่อเนื่อง เป็นขั้นตอนตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน จะช่วยให้ลูกจดจำสิ่งที่เขาจะทำในแต่ละวันได้ เช่น ตื่นนอน เก็บผ้าห่ม เข้าห้องนอน ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ ทานข้าว ฯลฯ |
ชวนเก็บของเล่น |
เป็นเรื่องพื้นฐานที่พ่อแม่มักคาดหวังให้ลูก “เล่นแล้วเก็บ” แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเอง ต้องผ่านการฝึกตั้งแต่เล็ก โดยทำให้เป็นเรื่องสนุกและง่ายที่ลูกจะทำตาม เช่น เพื่อบอกให้ลูกจำได้ว่าของชิ้นไหน ควรเก็บไว้ตรงไหน อาจมีภาพของเล่นชิ้นนั้นแปะไว้หน้าลิ้นชัก เพื่อลูกจะได้จดจำและทำตามที่เราบอกได้ง่ายขึ้น เมื่อลูกเก็บได้ถูกต้องก็ชมเขาหรือมีรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ให้เขาเพื่อเสริมแรงให้อยากทำต่อไป |
ดูภาพฝึกความจำ |
เกมนี้ช่วยส่งเสริมความจำและพัฒนาการทางภาษาให้ลูก วิธีเล่น คือ ให้ลูกดูภาพแมว ม้า นก หมา คน ในหนังสือ แล้วบอกลูกว่ารูปที่เห็นเรียกว่าอะไร ตัวไหน “เห่า” ได้ ตัวไหน “บิน” ได้ ฯลฯ จากนั้นปิดภาพนั้น แล้วคุณแม่ก็ถามลูกว่า ตัวไหน “เห่า” ได้ ตัวไหน “บิน” ได้ ฯลฯ ลูกจะดึงข้อมูลเก่าๆ ที่เขามีในสมองออกมาตอบคำถามของคุณแม่ ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ และส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาด้วย |
ท่องคำคล้องจอง |
การท่องคำคล้องจองให้ลูกฟังพัฒนาความจำลูกได้ เพราะเด็กเล็กๆ นั้นสามารถที่จะเรียนรู้เสียงและจำเสียงได้ ยิ่งเสียงที่ได้ยินบ่อยๆ ฟังซ้ำๆ ก็จะรู้จักเสียง คุ้นเคย และจดจำเสียงที่ได้ยินนั้น จนสามารถแยกแยะเสียงได้ ที่สำคัญเด็กจะสนุกกับการฟังถ้อยคำที่ไพเราะ สัมผัสกัน และมีท่วงทำนอง มีจังหวะ ซึ่งช่วยให้เด็กจดจำได้ง่าย |
เล่าหรืออ่านนิทานให้ลูกฟัง |
หลังจากเล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้ลูกฟังแล้ว ให้ทบทวนความจำลูกด้วยการให้ลูกเล่าเนื้อหานิทานที่เพิ่งได้ฟังจบไป หรือตั้งคำถามจากเนื้อเรื่องให้ลูกตอบ |
ตั้งคำถามสิ่งที่พบ |
เมื่อไปไหนกับลูก กลับมาให้คุณพ่อคุณแม่ถามลูกถึงสิ่งที่ได้พบ เช่น ไปพบใคร ทำอะไรมา มีลักษณะอย่างไร เพื่อฝึกความจำของเขา |
เล่นเกมจับคู่ |
ให้ลูกดูภาพแล้วคว่ำภาพนั้นลง จากนั้นให้ลูกจับคู่ภาพที่เห็นกับภาพตรงหน้า จากนั้นอาจเพิ่มความยากด้วยการจับคู่ภาพที่มีความเชื่อมโยงกัน เช่น รองเท้ากับถุงเท้า แม่กับลูก จานกับช้อน เป็นต้น |
เล่นดูภาพ |
เลือกภาพที่มองเห็นชัดเจน ไม่มีรายละเอียดมาก มาเล่นฝึกความจำลูก โดยให้ลูกดูภาพสัก 1 นาทีแล้วคว่ำภาพลง ให้ลูกบอกว่าเห็นอะไรในภาพบ้าง ภาพที่ลูกเห็นในครั้งแรกจะเข้าไปอยู่ในความจำระยะสั้นของเขา เพื่อพร้อมสำหรับการถูกดึงออกมาใช้ในระยะเวลาสั้นๆ การดูภาพเป็นการฝึกฝนความจำระยะสั้นให้ลูก แต่ความจำระยะสั้นนี้จะถูกเปลี่ยนไปเป็นความจำระยะยาว หากภาพนั้นเป็นภาพที่มีความหมายกับเขา เช่น ภาพลูกแมวที่เขารัก ภาพของเล่นที่เขาชอบ เป็นต้น |
เล่นเกม หาของใต้ถ้วย |
คุณแม่คว่ำถ้วยสีทึบ 3 ใบครอบของเล่นให้ลูกเห็น จากนั้นเลื่อนถ้วยทั้ง 3 สลับที่กันช้าๆ ให้ลูกบอกว่าของเล่นอยู่ใต้ถ้วยใบไหน ลูกจะได้เรียนรู้เรื่องทักษะการสังเกต จดจำ การคิดจนสามารถรู้ว่าของเล่นอยู่ที่ไหน |
ปิดตาทายของ |
คุณแม่นำผลไม้ที่มีกลิ่นมาให้ลูกสังเกต จับ และดม จากนั้นใช้ผ้าปิดตาลูก ให้เขาจับและดมผลไม้ แล้วทายว่าเป็นผลไม้ชนิดใด เกมนี้จะช่วยพัฒนาทักษะการจำ ของลูกได้เป็นอย่างดี เพราะเขาต้องจดจำสิ่งของนั้นผ่านประสาทสัมผัสอันหลากหลาย ทั้งการมอง การสัมผัส และการดมกลิ่น แล้วประมวลข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ออกมา เพื่อตอบให้ได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร |
เกมจับของ |
นำขวดปากแคบหรือกล่องทึบ ๆ ใส่ของที่ลูกคุ้นเคย เช่น รถของเล่น ตุ๊กตา ช้อนส้อม หรือของที่เจอในชีวิตประจำวัน จากนั้นก็ให้ลูกเอามือล้วงลงไปแล้วทายว่าของสิ่งนั้นคืออะไร ช่วยฝึกความจำให้ลูกได้ |
ร้องเพลง พัฒนาความจำ |
เด็กจะสนุกกับเสียงเพลงและจังหวะ เมื่อสนุกก็จะจดจำได้ง่าย คุณแม่สามารถเลือกเพลงมาร้องกับลูก เพื่อฝึกความจำของเขา เช่น เพลงแมงมุมลาย เพลงโดเรมี เพลงช้าง หรือเพลงอื่นๆ ที่ลูกสนุกที่จะร้อง โดยคุณแม่อาจเว้นเนื้อร้องให้ลูกเติม เช่น “ช้างๆๆ น้องเคย.....ช้างมันตัวโตไม่เบา......” เป็นต้น |
ดูภาพถ่ายครอบครัว |
คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกดูภาพถ่ายครอบครัวแล้วถามลูกว่าใครอยู่ในภาพบ้าง สถานที่ในภาพคือที่ไหน ลูกทำอะไรที่นั่นบ้าง ฯลฯ เพื่อกระตุ้นความจำของลูก |
ทายปัญหาทวนความจำ |
นำประสบการณ์จริงของลูกในแต่ละวัน แต่ละวาระที่สำคัญของลูกมาตั้งคำถาม เพราะเป็นช่วงเวลาสำคัญและมีความหมายที่เขาจะจดจำรายละเอียดได้ เพื่อทบทวนความจำลูก เช่น ตอนวันเกิดลูก คุณตาอวยพรลูกว่าอะไร คุณพ่อให้ของขวัญอะไรลูก เป็นต้น |
ใช้เทคนิคฝึกจำ 3 ขั้นตอน |
ฝึกลูกในสิ่งที่สอนได้ คุณแม่ลองใช้ขั้นตอนต่อไปนี้ 1.คุณแม่หาของใกล้ๆ ตัวที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น ปากกา ดินสอ และพู่กันมา คุณแม่ชูดินสอขึ้น พร้อมกับบอกลูกว่า “นี่คือดินสอ” 2.ให้ชูปากกาและดินสอ ขึ้นพร้อมกันแล้วถามลูกว่า อันไหนคือดินสอ 3.เมื่อลูกชี้ในข้อ 2 ได้ถูกต้องให้คุณแม่ชูดินสอขึ้น (เพื่อตอกย้ำ) แล้วถามว่านี่คืออะไร ลูกอาจจะยังตอบไม่ได้ คุณแม่สามารถตอบแทนลูกเพื่อย้ำความจำเขา เมื่อลูกได้ยินบ่อยๆ ก็จะจดจำได้เองว่าคำตอบที่ถูกต้องเรียกว่าอะไร ถ้าฝึกความจำของลูกด้วยวิธีนี้บ่อยๆ ลูกก็จะเริ่มจำได้ เมื่อลูกจำได้ดีแล้ว คุณแม่ค่อยๆ เพิ่มความยากในการฝึกลูกโดยการเปลี่ยนสิ่งของเป็นอย่างอื่น หรือค่อยๆ เพิ่มจำนวนของให้มากขึ้น |