Enfa สรุปให้
- น้ำคร่ำ คือ ของเหลวที่ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันทารกจากการถูกกดทับหรือรัดจากสายสะดือ และป้องกันไม่ให้หายสะดือถูกทารกกดทับ และช่วยสร้างพัฒนาการทางกล้ามเนื้อ ระบบทางเดินหายใจ และปอดของทารก
- เจาะน้ำคร่ำ หรือ Amniocentesis คือ การใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านท้องเพื่อนำเอาน้ำคร่ำออกมาทำการตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ วินิจฉัยโรคความผิดปกติทางพันธุกรรม
- การเจาะน้ำคร่ำสามารถทำได้เมื่อมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 15-20 สัปดาห์ เพราะเป็นช่วงอายุครรภ์ที่มีน้ำคร่ำประมาณ 200 ซีซี และแพทย์จะทำการเจาะเอาน้ำคร่ำออกไปประมาณ 20 ซีซี โดยที่หลังจากเจาะน้ำคร่ำไปผ่านไปแล้ว 24 ชั่วโมง น้ำคร่ำก็จะทยอยผลิตขึ้นมาใหม่
การคลอดทารกที่มีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง และมีพัฒนาการสมวัย เป็นหนึ่งในความปรารถนาอันดับแรกของคุณแม่ทุกคน แต่ก็น่าเสียดายที่ไม่ใช่ทุกคนจะพบกับความสมหวังนั้นเสมอไป เพราะยังมีเด็กอีกหลายคนที่คลอดออกมาแล้วมีความผิดปกติ ความพิการ หรือเป็นโรคทางพันธุกรรม
ด้วยเหตุนี้ กระบวนการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอดจึงเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้คุณแม่ได้ทราบว่าทารกในครรภ์มีความเสี่ยงหรือมีแนวโน้มต่อความผิดปกติใดบ้าง ซึ่งหนึ่งในวิธีการตรวจครรภ์ที่ให้ผลลัพธ์แม่นยำก็คือ เจาะน้ำคร่ำ เพื่อตรวจครรภ์
แต่การเจาะน้ำคร่ำให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำจริงหรือ แล้วจะมีความเสี่ยงตามมาไหม หากทารกเกิดความผิดปกติ คุณแม่ควรทำอย่างไร เรามาไขข้อข้องใจเรื่องนี้กันค่ะ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• น้ำคร่ำคืออะไร
• เจาะน้ำคร่ำคืออะไร
• ทำไมต้องเจาะน้ำคร่ำ
• ความเสี่ยงของการเจาะน้ำคร่ำ
• เมื่อไหร่ที่ควรไปเจาะน้ำคร่ำ
• การเตรียมตัวก่อนเจาะน้ำครร่ำ
• เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม
• เจาะน้ำคร่ำ ราคาเท่าไหร่
• เจาะน้ำคร่ำ ตรวจดาวน์ซินโดรม แม่นยำแค่ไหน
• ผลเจาะน้ำคร่ำพบความผิดปกติ ทำอย่างไรดี
• ไขข้องใจเกี่ยวกับการเจาะน้ำคร่ำและการตรวจครรภ์กับ Enfa Smart Club
ทำความรู้จักกับการเจาะน้ำคร่ำ
น้ำคร่ำ คืออะไร?
ก่อนจะไปรู้จักกับการเจาะน้ำคร่ำ ต้องเข้าใจก่อนว่า น้ำคร่ำ คืออะไร และมีความสำคัญต่อทารกอย่างไร โดยน้ำคร่ำ คือ ของเหลวที่ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันทารกจากการถูกกดทับหรือรัดจากสายสะดือ และป้องกันไม่ให้สายสะดือถูกทารกกดทับ
มากไปกว่านั้น น้ำคร่ำยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่ให้ทารกสามารถขยับและเคลื่อนไหวได้ รวมถึงทำหน้าที่ในการพัฒนากล้ามเนื้อ ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ และปอดของทารกอีกด้วย
การเจาะน้ำคร่ำคืออะไร?
เจาะน้ำคร่ำ หรือ Amniocentesis คือ การใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านท้องเพื่อนำเอาน้ำคร่ำออกมาทำการตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ วินิจฉัยโรคความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือตรวจสอบโครโมโซมของทารกว่าผิดปกติหรือเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ หรือไม่
ทำไมต้องเจาะน้ำคร่ำ: เจาะน้ำคร่ำตรวจครรภ์ดีอย่างไร?
การเจาะน้ำคร่ำ เพื่อวินิจฉัยการตั้งครรภ์ มีข้อดีอยู่ด้วยกันหลายประการ ดังนี้
- ตรวจหาโรคทางพันธุกรรม การเจาะน้ำคร่ำจะช่วยหาแนวโน้มความเสี่ยงของโรคทางพันธุกรรมที่อาจมาจากพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่เป็นพาหะ เช่น ดาวน์ซินโดรม โรคธาลัสซีเมียรุนแรง
- ตรวจการทำงานปอดของทารก น้ำคร่ำมีส่วนช่วยพัฒนาระบบทางเดินหายใจและปอดของทารก การเจาะน้ำคร่ำไปตรวจ จะช่วยให้ทราบว่าปอดของทารกทำงานเป็นปกติหรือไม่ หรือปอดของทารกสมบูรณ์พอที่จะทำให้ทารกมีชีวิตรอดไปจนถึงกำหนดคลอดหรือไม่
- ตรวจหาการติดเชื้อของทารกในครรภ์ บางกรณีแม่อาจเกิดการติดเชื้อขึ้น และการติดเชื้อนั้นอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ การเจาะน้ำคร่ำตรวจจะช่วยให้ทราบว่าทารกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงของการติดเชื้อหรือไม่
ความเสี่ยงของการเจาะน้ำคร่ำ
การเจาะน้ำคร่ำ แม้จะมีผลที่แม่นยำ แต่ก็ตามมาด้วยความเสี่ยงสูงหลายประการ ดังนี้
- เกิดการติดเชื้อที่รกและถุงน้ำคร่ำ
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- น้ำคร่ำแตก หรือน้ำเดินก่อนกำหนด
- มีอาการตกเลือด
- ทารกแท้ง
- ทารกคลอดก่อนกำหนด
เมื่อไหร่ควรไปเจาะน้ำคร่ำ
การเจาะน้ำคร่ำสามารถทำได้เมื่อมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 16-20 สัปดาห์ เพราะเป็นช่วงอายุครรภ์ที่มีน้ำคร่ำประมาณ 200 ซีซี และแพทย์จะทำการเจาะเอาน้ำคร่ำออกไปประมาณ 15-20 ซีซี โดยที่หลังจากเจาะน้ำคร่ำไปผ่านไปแล้ว 24 ชั่วโมง น้ำคร่ำก็จะทยอยผลิตขึ้นมาใหม่
ซึ่งแพทย์มักจะวินิจฉัยให้คุณแม่ที่มีแนวโน้มความเสี่ยงสูงเท่านั้นทำการเจาะน้ำคร่ำ เพื่อตรวจหาความผิดปกติในครรภ์ในกรณีที่ทารกมีแนวโน้มของความเสี่ยงที่อาจจะนำไปสู่ดาวน์ซินโดรม หรือความผิดปกติในการตั้งครรภ์อื่น ๆ
การเตรียมตัวก่อนเจาะน้ำคร่ำ
ก่อนจะเริ่มทำการเจาะน้ำคร่ำ อาจมีกระบวนการดังนี้
- แพทย์จะทำการให้ข้อมูลถึงกระบวนการในการเจาะน้ำคร่ำ และถามความสมัครใจจากพ่อและแม่
- อาจมีการขอให้ลงนามเพื่ออนุญาติให้ทำการเจาะน้ำคร่ำ
- คุณแม่ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่ามีอาการแพ้ยา หรืออาการทางสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจจะส่งผลต่อการเจาะน้ำคร่ำ
- ก่อนทำการเจาะน้ำคร่ำ ไม่ต้องมีการงดทำกิจกรรม หรืองดอาหารและเครื่องดื่มเป็นพิเศษ แต่ควรมีกับการถ่ายหรือปัสสาวะให้เรียบร้อย
เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม?
การเจาะน้ำคร่ำ แม่จะรู้สึกเจ็บเล็กน้อย อาการเจ็บจะคล้าย ๆ กับตอนที่ถูกเจาะเลือด ซึ่งหลังจากเจาะน้ำคร่ำเสร็จแล้ว แพทย์จะให้แม่พักเพื่อสังเกตอาการประมาณ 30 นาที แล้วจึงอนุญาตให้กลับบ้านได้
เจาะน้ำคร่ำ ราคาเท่าไหร่?
การตรวจครรภ์โดยการเจาะน้ำคร่ำ ก็มีค่าใช้จ่ายไม่ต่างไปจากการตรวจครรภ์ด้วยวิธีอื่น ๆ แต่ราคานั้นก็จะแตกต่างกันไปตามแต่สถานพยาบาล ราคาเจาะน้ำคร่ำโรงพยาบาลรัฐบาล กับโรงพยาบาลเอกชน ก็จะมีเรทราคาที่ไม่เหมือนกัน
โดยราคาเจาะน้ำคร่ำโรงพยาบาลรัฐบาลอาจมีราคาค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 3,000-9,000 บาท ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนอาจจะมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป ซึ่งคุณแม่สามารถสอบถามข้อมูลอัปเดตเพิ่มเติมได้โดยตรงจากสถานพยาบาลที่สนใจ
เจาะน้ำคร่ำตรวจดาวน์ซินโดรม แม่นยำแค่ไหน?
ความผิดปกติของทารกในครรภ์บางอย่าง อาจสามารถพบได้จากการอัลตราซาวด์ ขณะที่โรคทางพันธุกรรมบางประเภทอย่าง ดาวน์ซินโดรมนั้นไม่สามารถจะตรวจพบได้แม่นยำจากการอัลตราซาวด์เพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องมีการตรวจเฉพาะทางร่วมด้วย เพื่อดูว่ามีโครโมโซมคู่ใดที่ผิดปกติและมีแนวโน้มที่ทารกในครรภ์จะเป็นดาวน์ซินโดรมหรือไม่
ซึ่งการตรวจดาวน์ซินโดรมด้วยการเจาะน้ำคร่ำ ถือเป็นวิธีที่แม่นยำ แต่ก็มีความเสี่ยงสูง เพราะมีกรณีที่เจาะน้ำคร่ำแล้วทำให้เกิดการแท้งขึ้น โดยแม่ที่ทำการเจาะน้ำคร่ำ 500 คน จะเกิดการแท้งจากการเจาะน้ำคร่ำ 1 คน
อย่างไรก็ตาม การเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจหาดาวน์ซินโดรมนั้น จะทำในกรณีที่แม่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น คือ
- แม่ตั้งครรภ์ตอนอายุมากกว่า 35 ปี
- มีประวัติคลอดลูกที่เป็นดาวน์ซินโดรมมาก่อน
- สมาชิกในครอบครัวมีประวัติการคลอดบุตรที่เป็นดาวน์ซินโดรม
- พบความผิดปกติบางประการที่อาจนำไปสู่ดาวน์ซินโดรม เช่น ทารกขาสั้นผิดปกติ ลิ้นของทารกโตกว่าปกติ
- การตรวจพบความเสี่ยงต่อภาวะดาวน์ซินโดรมจากการตรวจเลือด
ทำอย่างไรถ้าผลเจาะน้ำคร่ำออกมาว่าทารกมีความผิดปกติ
หลังจากเจาะน้ำคร่ำแล้ว จะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ จนกว่าผลตรวจจะออก ซึ่งเมื่อผลลัพธ์ออกมาแล้ว หากพบว่าทารกมีความผิดปกติจริง แพทย์ก็จะอธิบายถึงแนวโน้มความเสี่ยงต่อจากนั้น และประเมินแนวทางการรักษา หรือในกรณีที่ทารกติดเชื้อร้ายแรงที่อาจส่งผลกระทบต่อแม่ด้วย แพทย์อาจแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของแม่ หรือในกรณีที่ทารกมีความผิดปกติ หรือพิการ อาจให้พ่อและแม่ทำการตัดสินใจว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่
ไขข้องใจเกี่ยวกับการเจาะน้ำคร่ำและการตรวจครรภ์กับ Enfa Smart Club
1. เจาะน้ำคร่ำแพงไหม? ราคาเจาะน้ำคร่ำโรงพยาบาลรัฐบาลเท่าไหร่?
การเจาะน้ำคร่ำ อาจมีราคาค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 3,000 - 9,000 บาท หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลแต่ละแห่ง
อย่างไรก็ตาม บางสถานพยาบาลของรัฐก็มีการตรวจเจาะน้ำคร่ำในแม่กลุ่มเสี่ยงฟรี ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่อัปเดตมากที่สุดควรสอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายในการเจาะน้ำคร่ำกับสถานพยาบาลที่สนใจหรือสถานพยาบาลที่ฝากครรภ์โดยตรง
2. เจาะน้ำคร่ำ รู้เพศชัวร์ไหม?
หากเป็นการเจาะน้ำคร่ำเพื่อนำไปตรวจเพื่อหาความผิดปกติของโครโมโซม ซึ่งโครโมโซมก็สามารถที่จะบอกได้ว่าทารกในครรภ์เป็นเพศอะไร ดังนั้น จึงสามารถที่จะทราบเพศของลูกได้จากการเจาะน้ำคร่ำ
แต่มักไม่นิยมทำการตรวจเพศของทารกด้วยวิธีนี้ เพราะส่วนมากจะดูเพศลูกในท้องด้วยการอัลตราซาวด์ซึ่งสะดวกและมีความเสี่ยงน้อยกว่า
3. เจาะน้ำคร่ำ ต้องรอผลกี่วัน?
หลังเจาะน้ำคร่ำ จะต้องรอผลตรวจจากห้องปฏิบัติการประมาณ 1 - 3 สัปดาห์ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตรวจว่าตรวจหาความผิดปกติอะไรด้วย
4. คนท้องต้องเจาะน้ำคร่ำทุกคนไหม?
คนท้องไม่จำเป็นต้องเจาะน้ำคร่ำทุกคน เนื่องจากการเจาะน้ำคร่ำมีความเสี่ยงสูง ดังนั้น จึงมักจะทำการเจาะน้ำคร่ำในแม่ตั้งครรภ์ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น
5. เจาะน้ำคร่ำกับเจาะเลือด แบบไหนดีกว่ากัน?
หากพูดถึงความเสี่ยงจากการตรวจ การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาความผิดปกติในการตั้งครรภ์ ก็อาจจะดีกว่า เพราะไม่มีความเสี่ยงที่รุนแรง ขณะที่การเจาะน้ำคร่ำนั้นมีความเสี่ยงตั้งแต่ การติดเชื้อ ไปจนถึงการแท้ง
อย่างไรก็ตาม การตรวจทั้งสองประเภทก็จะให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน ซึ่งอาจจำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลอื่น ๆ อย่างอายุครรภ์ ประวัติความเสี่ยงทางสุขภาพ ไปจนถึงความผิดปกติที่พบ มาประกอบการวินิจฉัย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำสูงสุด
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ อันตรายมากน้อยแค่ไหน
- นมสำหรับคนท้อง จำเป็นไหม? แม่ท้องควรดื่มนมแบบไหนถึงจะดี
- อาการใกล้คลอด สังเกตทัน รับมือได้
- บล็อกหลังผ่าคลอดปลอดภัยไหม เสี่ยงอันตรายหรือเปล่า
- ผ่าคลอด 101 คุณแม่ควรรู้อะไรเกี่ยวกับการผ่าคลอดบ้าง
- เข้าใจการคลอดธรรมชาติ ปลอดภัยและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
- คลอดลูกในน้ำ วิธีคลอดแบบใหม่ เจ็บน้อยลง ฟื้นตัวเร็วขึ้น
- แม่ ๆ เช็กให้พร้อม ดูซิ! ของเตรียมคลอดที่จำเป็นมีอะไรบ้าง
- ปวดท้องน้อยหลังคลอด ผิดปกติไหม อันตรายหรือเปล่า
- รู้จักกับน้ำคาวปลาหลังคลอด ที่แสนจะกวนใจคุณแม่
- แผลผ่าคลอด ดูแลอย่างไร ให้หายเร็ว และลดรอย
- ลดน้ำหนัก ลดหน้าท้องหลังคลอด ลดยังไงให้ปลอดภัย และได้ผล
- เริ่มเลย! ออกกำลังกายหลังคลอด ทวงหุ่นฟิต พิชิตความเฟิร์ม
- ภูมิแพ้ในเด็ก คุณแม่ควรรับมืออย่างไรเมื่อลูกน้อยเป็นภูมิแพ้
- Mayo Clinic. Amniocentesis. [Online] Accessed https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/amniocentesis/about/pac-203…. [24 February 2022]
- NHS. Amniocentesis. [Online] Accessed https://www.nhs.uk/conditions/amniocentesis/. [24 February 2022] - The Johns Hopkins University. Amniocentesis. [Online] Accessed https://www.hopkinsmedicine.org/health/treatment-tests-and-therapies/am…. [24 February 2022]
โรงพยาบาลสมิติเวช. Polyhydramnios ภาวะน้ำคร่ำมาก. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/%E0%B8%A0%E0%B8%B2…. [24 กุมภาพันธ์ 2022]
- โรงพยาบาลสมิติเวช. ดาวน์ไม่ดาวน์ รู้ได้ตั้งแต่ 3 เดือนแรก. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/. [24 กุมภาพันธ์ 2022]
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. การตรวจกรองในหญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันภาวะปัญญาอ่อน. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=179. [24 กุมภาพันธ์ 2022]
- โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล อ้อมน้อย. เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร ทำไมต้องเจาะ. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://vichaivej-omnoi.com/health-info/. [24 กุมภาพันธ์ 2022]
- โรงพยาบาลศิครินทร์. การเจาะตรวจน้ำคร่ำเพื่อการวินิจฉัยก่อนคลอด. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.sikarin.com/health/. [24 กุมภาพันธ์ 2022]
- โรงพยาบาลธนบุรี. การเจาะตรวจน้ำคร่ำ. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.thonburihospital.com/. [24 กุมภาพันธ์ 2022]
- โรงพยาบาลบางโพ. ดาวน์ซินโดรม (down syndrome) …รู้ก่อนได้ เพื่อเตรียมพร้อมการดูแล. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://bangpo-hospital.com/. [24 กุมภาพันธ์ 2022]