Enfa สรุปให้
- เด็กดื้อ เด็กซน เอาแต่ใจ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งอายุที่มากขึ้น การอบรมเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมที่แตกต่าง หรืออาจเกิดจากโรคทางจิตเวช
- บางครั้งที่ลูกร้องไห้ อาจทำไปเพื่อเรียกร้องความสนใจ คุณพ่อคุณแม่ควรเพิกเฉย ไม่เข้าไปปลอบทันที เพราะจะยิ่งทำให้ลูกได้ใจ แค่ร้องไห้ ก็ได้ตามต้องการ
- หากลูกดื้อมาก ๆ ร้องไห้บ่อย อารมณ์รุนแรง ทำยังไงก็ไม่ดีขึ้น ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติทางจิตเวช
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• เด็กดื้อ คืออะไร? แบบไหนที่เรียกว่า “ดื้อ”?
• สาเหตุที่ลูกดื้อ ไม่เชื่อฟัง
• ลูกดื้อ ไม่เชื่อฟัง รับมืออย่างไรดี
• วิธีแก้ลูกดื้อ ไม่เชื่อฟัง
ธรรมชาติของเด็ก ๆ มักจะมีการซนบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่บางครั้งลูกอาจจะซนหนัก จนกลายเป็นเด็กดื้อ ทำให้คุณพ่อคุณแม่ปวดหัวไปตาม ๆ กัน แต่...ต้องดื้อขนาดไหน ถึงจะเรียกว่าเด็กดื้อ แล้วถ้าลูกดื้อ ไม่เชื่อฟัง คุณพ่อคุณแม่จะรับมือกับพฤติกรรมเด็กดื้อนี้ได้อย่างไรบ้างนะ
เด็กดื้อ คืออะไร? แบบไหนที่เรียกว่า “ดื้อ”?
ลูกดื้อ มักหมายถึงเด็ก ๆ ที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับวัย และมักแสดงออกด้วยท่าทีที่ก้าวร้าว ไม่มีเหตุ ไม่มีผล เช่น พูดจาไม่สุภาพ โกรธง่าย อารมณ์รุนแรง ตั้งใจก่อกวนให้เกิดความรำคาญ ชอบเถียงโดยไร้เหตุผล คุกคามผู้อื่นด้วยเจตนาที่ไม่ดี ทำร้ายร่างกาย ทำลายข้าวของ เป็นต้น
ทำไมลูกดื้อ ไม่เชื่อฟัง
ลูกดื้อ เด็กดื้อ จริง ๆ แล้วเป็นพฤติกรรมที่เกิดได้จากหลายเหตุปัจจัยเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น
- อายุที่มากขึ้น ยิ่งโตขึ้น เด็กก็จะเริ่มมีความคิด ความเชื่อเป็นของตัวเอง การแสดงออกบางครั้งจึงเป็นไปในรูปแบบของการต่อต้าน แสดงออกถึงความไม่พอใจ
- สภาพแวดล้อม หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยปละละเลย ไม่ฝึกฝนเรื่องวินัย อาจทำให้เด็กขาดทักษะในการควบคุมตนเอง และแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
- การเลี้ยงลูกแบบตามใจ บางครั้งก็เป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่เองนั่นแหละที่ตามใจลูกเสมอมา ไม่เคยสร้างขอบเขตที่สมเหตุสมผลกับลูก และทำให้ลูกเป็นเด็กดื้อที่เอาแต่ใจตัวเอง
- ความคาดหวังของผู้ปกครอง การมีขอบเขตที่แน่นหนาและอึดอัดจนเกินไป อาจทำให้ลูกรู้สึกกดดันที่ไม่สามารถทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ได้ จึงต้องการจะแสดงออกถึงความต่อต้าน
- สังคมนอกบ้าน แม้จะสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมในบ้านได้ แต่เมื่อเด็ก ๆ ไปโรงเรียน ไปเจอเพื่อ เจอสังคม บางครั้งอาจซึมซับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจากภายนอก และนำมาใช้ที่บ้าน
- ปัญหาสุขภาพ บางครั้งเด็กดื้ออาจมีสาเหตุมาจากโรคทางจิตเวช จึงส่งผลต่อการแสดงออกทางพฤติกรรมและทางอารมณ์ที่รุนแรง
ลูกดื้อมาก ลูกเอาแต่ใจ คุณพ่อคุณแม่ควรรับมือยังไงดี
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังเผชิญกับปัญหาลูกดื้อ เอาแต่ใจ แสดงกิริยาที่ไม่น่ารัก สามารถรับมือได้ ดังนี้
- พยายามสื่อสารและพูดคุยกับลูกให้มากขึ้น บางครั้งปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นเพราะต่างฝ่ายต่างไม่คุยกัน ไม่ทราบความต้องการของกันและกัน ควรพูดคุยกันบ่อย ๆ และพูดให้ตรงประเด็น ไม่อ้อมค้อม ด้วยน้ำเสียงที่สุภาพ ไม่ดุดัน
- สร้างกติกาและข้อตกลงร่วมกัน แต่...ไม่ใช่ว่าจะมีกติกาที่อกแบบโดยพ่อกับแม่เท่านั้นนะคะ ควรจะเป็นกติกาที่ลูกมีส่วนร่วมในการออกแบบด้วย เพื่อให้ตรงตามความต้องการของทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นธรรม
- อย่าคาดหวังในสิ่งที่เกินวัย คุณพ่อคุณแม่เองควรเข้าใจธรรมชาติของความเป็นเด็ก และคำว่าเด็ก เพราะตอนคุณพ่อคุณแม่เป็นเด็ก ก็ทำอะไรแบบเด็ก ๆ เช่นกัน อย่าคาดหวังว่าลูกจะต้องดี จะต้องเก่ง จะต้องโดดเด่นเหนือใคร จะต้องทำได้ทุกสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ ลดการตั้งเป้าหมายที่เกินวัยของเด็ก แต่ตั้งเป้าหมายให้ลูกได้ทำแล้วมีความสุขดีกว่า
- เป็นผู้ฟังที่ดี บางครั้งที่ลูกดื้อก็เพราะคุณพ่อคุณแม่ตั้งตนอยู่ในสถานะของการเป็นผู้พูด ผู้ออกคำสั่งโดยเผด็จการอยู่ฝ่ายเดียว ไม่เคยฟังว่าลูกต้องการอะไร ลูกอยากได้อะไร ถอยคนละก้าว และรับบทบาทการเป็นผู้ฟังที่ดีบ้าง เพื่อจะได้เข้าใจความต้องการของกันและกัน
- สร้างสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นในครอบครัว ควรใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันให้มาก พูดคุยกันบ่อย ๆ เพื่อสร้างความอบอุ่นและความใกล้ชิดระหว่างพ่อแม่ลูก การเลี้ยงดูที่ห่างเหิน ละเลยความใส่ใจ อาจทำให้ลูกเริ่มที่จะเรียกร้องความสนใจ ในขณะที่พ่อกับแม่มองว่าสิ่งนั้นไม่เหมาะสม หรือมองว่าลูกกำลังเป็นเด็กดื้อที่ไม่น่ารัก ทั้งที่ปัญหาหลัก ๆ ก็มาจากการหย่อนยานในการเลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นต้นเหตุ
วิธีแก้ลูกดื้อ ไม่เชื่อฟัง
ในกรณีที่ลูกมีพฤติกรรมไม่น่ารัก ไม่เชื่อฟัง และแสดงออกอย่างก้าวร้าว คุณพ่อคุณแม่จะต้องใจเย็นและค่อย ๆ รับมือกับพฤติกรรมของลูก การรับมือด้วยวิธีรุนแรง นอกจากจะไม่ช่วยให้ลูกหายดื้อแล้ว จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกร้าวฉานและเป็นปมฝังใจมากกว่าเดิม
เมื่อลูกร้องกรี๊ด เอาแต่ใจ
หากลูกร้องกรี๊ด ๆ แสดงอาการเอาแต่ใจ คุณพ่อคุณแม่ต้องหยุดนิ่ง ไม่เข้าไปปลอบทันที ต้องไม่แสดงอาการสนใจ และปล่อยให้ลูกสงบไปเอง เมื่อลูกเริ่มนิ่งจึงเข้าไปกอดปลอบ และพูดคุยด้วยอาการใจเย็น ไม่อารมณ์ร้อน พูดคุย ตักเตือน และแลกเปลี่ยนว่าลูกต้องการอะไร ครั้งต่อไปควรแก้ไขอย่างไร
เมื่อลูกร้องไห้ไม่หยุด
เด็กอาจจะร้องไห้นาน แต่จะหยุดร้องไห้ได้อย่างแน่นอน คุณพ่อคุณแม่ต้องใจแข็ง ต้องไม่สนใจ ต้องไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่า แค่ร้องไห้ก็จะได้ทุกอย่าง อดทนจนกว่าลูกจะหยุดร้องไห้ แล้วจึงเข้าไปปลอบ แลกเปลี่ยนความรู้สึก ถามความต้องการ และแนะนำวิธีแก้ไขที่เหมาะสม ไม่ดุ ไม่ตี ไม่แสดงอาการในเชิงลบเด็ดขาด
เมื่อลูกซน ไม่ยอมอยู่นิ่ง พูดไม่ฟัง
หากลูกไม่ยอมหยุดนิ่ง ดื้อซน พูดอะไรก็ไม่ฟัง คุณพ่อคุณแม่ต้องมีการนับเวลาถอยหลังจาก 10 – 1 เพื่อให้ลูกรู้ว่าสัญญาณของการดื้อซนจะต้องหยุดลงในไม่ช้า แสดงออกให้ลูกรู้ว่าหากไม่ฟังที่ตักเตือน จะต้องมีบทลงโทษอย่างไร เช่น หักค่าขนม จำกัดเวลาเล่นเกม งดขนมที่ชอบ ฯลฯ เมื่อพูดแล้วต้องทำจริงด้วยนะคะ เพราะไม่อย่างนั้นลูกก็จะจำแค่ว่านี่เป็นเพียงคำขู่เท่านั้น
ทำยังไงดีเมื่อลูกดื้อจนคุณพ่อคุณแม่รู้สึกเครียดและรับมือไม่ไหว
หากคุณพ่อคุณแม่ได้พยายามที่จะลองปรับพฤติกรรมของลูกแล้ว และพบว่าการแสดงออกของลูกยังมีความดื้อซนอยู่เหมือนเดิม ควรหาเวลาพาลูกไปพบแพทย์เด็ก หรือนักจิตวิทยาเด็ก เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยร่างกายและพฤติกรรมของลูก เพราะบางครั้งอาจเป็นไปได้ว่า พฤติกรรมของลูกมีสาเหตุมาจากโรคทางจิตเวช หรือความผิดปกติทางด้านร่างกายค่ะ
นอกจากพาลูกไปพบแพทย์แล้ว คุณพ่อคุณแม่เองก็ควรหาเวลาไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาสภาวะจิตใจของตนเองด้วย เพื่อจะได้มีสุขภาวะจิตใจที่แข็งแรง เพราะถ้าทุกคนในบ้านอยู่ในสภาวะที่เครียดกันหมด ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็จะมีแต่แย่ลง ดังนั้น หากเหนื่อย ท้อ เครียด ควรหาเวลาไปพบแพทย์ด้วยนะคะ
MFGM สารอาหารในนมแม่ เพื่อ IQ ที่เหนือกว่าตั้งแต่ 5 ขวบปีแรก
คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมคะว่า เด็กจะมีพัฒนาการ IQ และ EQ ที่ก้าวล้ำตั้งแต่ยังเล็กได้นั้น นอกจากการฝึกฝน เลี้ยงดู และอบรมสั่งสอนแล้ว การใส่ใจกับโภชนาการตั้งแต่ลูกยังเล็ก โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีแรกของชีวิตนั้น ถือว่าเป็นการปูพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยให้ลูกพร้อมเติบโตมาเป็นเด็กที่ทั้งฉลาดทางความคิดและฉลาดทางอารมณ์
โดยโภชนาการที่สำคัญที่ลูกน้อยควรได้รับก็คือนมแม่ เพราะในนมแม่มีสารอาหารอย่าง MFGM หรือเยื่อหุ้มอนุภาคไขมันในนมแม่ ประกอบด้วยโปรตีนและไขมันกว่า 150 ชนิด อย่างสฟิงโกไมอิลีน ฟอสโฟลิปิด แกงกลิโอไซต์ ซึ่งเป็นกลุ่มสารอาหารที่มีส่วนช่วยสำคัญต่อการเสริมพัฒนาการรับรู้ เพื่อ IQ ที่เหนือกว่าตั้งแต่ 5 ขวบปีแรก
- NHS. Dealing with child behaviour problems. [Online] Accessed https://www.nhs.uk/conditions/baby/babys-development/behaviour/dealing-with-child-behaviour-problems/. [29 March 2024]
- สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ (กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข). ลูกดื้อ ลูกเอาแต่ใจ ต่อต้านพ่อแม่ พฤติกรรมที่ไม่ควรนิ่งดูดาย. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.camri.go.th/th/home/infographic/infographic-374. [29 มีนาคม 2024]
- โรงพยาบาลพญาไท. ทำไมลูกถึงดื้อและซนแบบนี้นะ นี่คือสาเหตุและวิธีรับมือ...ที่พ่อแม่ควรรู้ไว้!!. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.phyathai.com/th/article/2128-why_are_your_child_become_stubborn__this_is_way_to_handle_as_parents__branchpyt2. [29 มีนาคม 2024]
- โรงพยาบาลสมิติเวช. เทคนิคปราบลูกดื้อ. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/เทคนิคปราบลูกดื้อ. [29 มีนาคม 2024]
- โรงพยาบาลเพชรเวช. โรคดื้อ ต่อต้านในเด็กที่พ่อแม่ต้องสังเกต. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Oppositional-Defiant-Disorder. [29 มีนาคม 2024]
- โรงพยาบาลนครธน. ปราบเด็กดื้อ เอาแต่ใจ ก้าวร้าวอาละวาด. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.nakornthon.com/article/detail/ปราบเด็กดื้อ-เอาแต่ใจ-ก้าวร้าวอาละวาด. [29 มีนาคม 2024]
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่และลูกน้อย
- ลูกอ้วก ไม่มีไข้ ไม่ท้องเสียเกิดจากอะไร ทำไมลูกอ้วกบ่อย
- รู้จักกับโคลิค อาการที่ลูกน้อยร้องไห้ไม่หยุด
- ทารกท้องอืด ไม่สบายท้อง ร้องไห้โยเย แม่จ๋ารับมือยังไงดี
- รู้จักกับโคลิค อาการที่ลูกน้อยร้องไห้ไม่หยุด
- ลูกท้องผูก ลูกถ่ายไม่ออก เช็กวิธีแก้ฉบับแม่มือโปร!
- เพียเจต์คือใคร ทฤษฎีเพียเจต์นำมาใช้เลี้ยงลูกดีหรือไม่?