Enfa สรุปให้
- การปั๊มนม คือ การระบายเอาน้ำนมออกมา เพื่อเก็บสำรองไว้ให้ทารก โดยคุณแม่แต่ละคนอาจจะมีรอบการปั๊มนมที่ต่างกันออกไป บางคนอาจจะปั๊มนมทุก ๆ 3 ชั่วโมง หรือทุก ๆ 4 ชั่วโมง
- หากคุณแม่ไม่ได้ปั๊มนมในรอบใดรอบหนึ่ง จะเรียกว่า การตกรอบปั๊มนม ซึ่งถ้าหากมีการตกรอบปั๊มบ่อย ๆ จะส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำนมหด น้ำนมหาย
- การปั๊มนมบ่อย ๆ ถือเป็นการกระตุ้นน้ำนมอีกทางหนึ่ง เพราะร่างกายจะจดจำว่ายังต้องการการระบายน้ำนมอยู่ แต่ถ้าตกรอบปั๊มบ่อย ๆ ร่างกายจะเข้าใจว่าไม่ต้องการน้ำนมแล้ว จึงเริ่มผลิตน้ำนมลดลง
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• ตกรอบปั๊มนมคืออะไร
• ตกรอบปั๊มนมบ่อย ๆ เป็นอะไรไหม
• ทำอย่างไรเมื่อตกรอบปั๊มนม
• ตกรอบกลางคืน แทนกลางวันได้ไหม
• ตกรอบปั๊มบ่อย น้ำนมหาย ทำไงดี
• ไขข้อข้องใจเมื่อตกรอบปั๊มนมกับ Enfa Smart Club
การปั๊มนม นอกจากจะช่วยให้ทารกมีน้ำนมไว้กินอย่างเพียงพอแล้ว ยังเป็นการช่วยให้ร่างกายจดจำการระบายน้ำนม และรับรู้ว่าคุณแม่ยังต้องการให้มีการระบายน้ำนมออกมาอีกเรื่อย ๆ
แต่...อาจมีบ้างครั้งที่คุณแม่มีการตกรอบปั๊มนม การที่ไม่ได้ปั๊มนมตามรอบที่ตั้งไว้แบบนี้ กำลังส่งผลเสียต่อคุณแม่หรือเปล่า ตกรอบปั๊มบ่อย ๆ เป็นอันตรายไหม บทความนี้จาก Enfa มีเฉลยมารออยู่แล้วค่ะ
ตกรอบปั๊ม คืออะไร
ตกรอบปั๊มนม คือ กรณีที่ถึงเวลาจะต้องระบายน้ำนมออก ไม่ว่าจะด้วยการให้ลูกดูดเต้า การบีบน้ำนม หรือการปั๊มนมก็ตาม แต่คุณแม่ไม่ได้ทำการระบายน้ำนมออกตามรอบที่ควรจะต้องระบายน้ำนมออก
เช่น คุณแม่จะต้องปั๊มนมทุก ๆ 4 ชั่วโมง แต่คุณแม่ไม่ได้ปั๊มนมในช่วงใดช่วงหนึ่ง จะเรียกกรณีนี้ว่า ตกรอบปั๊มนม
อย่างไรก็ตาม อย่างที่บอกว่าการระบายน้ำนมไม่ได้จำกัดแค่การปั๊มนมอย่างเดียวนะคะ ถ้าคุณแม่ไม่ได้ปั๊มนม แต่ให้นมลูกในช่วงนั้นแทน หรือบีบน้ำนมออกมาทิ้งไปเฉย ๆ ก็ไม่ถือว่าตกรอบปั๊มค่ะ
ตกรอบปั๊มนม บ่อย ๆ จะมีปัญหาอะไรไหม
การตกรอบปั๊มนมบ่อย ๆ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน น้ำนมหด น้ำนมหาย ที่เป็นแบบนี้เพราะร่างกายของเราจะมีกระบวนการจดจำและการรับรู้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย
ดังนั้น หากเกิดกรณีตกรอบน้ำนมบ่อย ๆ หรือไม่ได้มีการระบายน้ำนมออกตามปกติ จะทำให้ร่างกายจดจำว่าคุณแม่ไม่ได้ต้องการให้มีน้ำนมไหลออกมา จึงเริ่มลดกำลังการผลิตน้ำนมลง
แต่ถ้าคุณแม่ระบายน้ำนมออกบ่อย ๆ ร่างกายก็จะรับรู้ว่ายังคงมีกระบวนการระบายน้ำนมอยู่ จึงผลิตน้ำนมออกมาเรื่อย ๆ
ทำอย่างไรดี เมื่อคุณแม่ตกรอบปั๊มนม
ถ้าหากคุณแม่มีปัญหาตกรอบปั๊มนม ก่อนอื่นเลยให้ทำใจสบาย ๆ ค่ะ ไม่ต้องคิดมากหรือเอาแต่โทษตนเองที่ตกรอบปั๊มนม เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคนค่ะ
อย่าลืมว่าในแต่ละวันคุณแม่มีกิจกรรมมากมายที่จะต้องทำ ไหนจะความเหนื่อยล้าจากการเลี้ยงลูก ความอ่อนเพลีย และอีกหลายปัจจัย จึงทำให้คุณแม่อาจจะหลงลืมไปบ้างเป็นบางครั้ง เป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ค่ะ
แต่เมื่อคุณแม่ตกรอบปั๊มนมแล้ว ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้ เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาน้ำนมหด น้ำนมหาย
• เมื่อรู้ตัวแล้วว่าตกรอบปั๊มนม ให้รีบปั๊มนมทันทีที่รู้สึกตัวได้ อย่ารอให้ถึงรอบต่อไป รู้ตัวตอนไหน ปั๊มนมตอนนั้น เมื่อถึงรอบต่อไปก็ให้ปั๊มตามปกติ ไม่ต้องบวกหรือทดเวลาเพิ่มไปล่วงหน้า
• หากอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เอื้อให้มีการปั๊มนม เช่น ติดประชม หรืออยู่ข้างนอก ให้รีบขอตัวไปเข้าห้องน้ำ หรือหาห้องน้ำที่ใกล้ตัวที่สุด แล้วทำการบีบน้ำนม แม้ว่าจะต้องบีบนมทิ้งไปก็จำเป็นต้องทำค่ะ เพื่อให้ร่างกายยังรับรู้ว่าคุณแม่ยังมีการระบายน้ำนมและต้องการน้ำนมอยู่
• เมื่อตกรอบปั๊มนม และเริ่มปั๊มนมทันทีที่รู้ตัว ให้พยายามปั๊มนมในครั้งนั้นให้ได้นาน 30 นาที เพื่อให้เกิดการระบายน้ำนมออกมาให้ได้มากที่สุด ไม่เหลือตกค้างจนอุดตัน
• เมื่อตกรอบปั๊มนม และเริ่มปั๊มนมทันทีที่รู้ตัว ให้ทำการนวดคลึงเต้านมเพื่อช่วยให้น้ำนมระบายออกมาได้ดี โดยนวดคลึงเป็นรูปก้นหอยทั่วทั้งเต้านมประมาณ 5 นาที จากนั้นใช้นิ้วโป้งและนิ้วชีคลึงที่หัวนมเบา ๆ ประมาณ 2 นาที และเมื่อรู้สึกว่าน้ำนทจะพุ่งออกมา ให้เปลี่ยนมาบีบรอบ ๆ เต้านม สลับบีบทั้งข้างซ้ายและขวา จนรู้สึกว่าน้ำนมไหลออกมาเกลี้ยงเต้าแล้ว
• ใช้มือจับดูที่เต้านมด้วยว่ามีก้อนอยู่ในเต้านมหรือไม่ ให้พยายามนวดกระตุ้นน้ำนม บีบน้ำนมตามปกติ แต่ถ้าหากในการปั๊มนมครั้งต่อไปยังคงมีก้อนอยู่ และเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ หรือคุณแม่มีอาการปวดเต้านมด้วย ให้รีบไปพบแพทย์ค่ะ
ตกรอบปั๊มนม กลางคืน ไปปั๊มนมทดแทนตอนกลางวันได้ไหม
หากคุณแม่ตกรอบน้ำนมตอนกลางคืน เมื่อรู้สึกตัว หรือมารู้ตัวเอาตอนเช้าแล้ว ให้คุณแม่รีบปั๊มนมทันที และเมื่อถึงรอบปั๊มนมในครั้งถัดไป ก็ทำการปั๊มนมในรอบนั้นตามปกติ ไม่ต้องบวกหรือทดเวลาเพิ่มจากการตกรอบปั๊มนมแต่อย่างใด
ตกรอบปั๊มนมบ่อยครั้ง จนน้ำนมหาย มีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยกู้น้ำนมกลับมาได้
หากคุณแม่ตกรอบปั๊มบ่อย จนกระทั่งน้ำนมเริ่มหาย หรือไม่ค่อยมีน้ำนมไหลออกมา อาจจะลองเริ่มจากการนวดเต้านม บีบหัวนม เพื่อกระตุ้นการไหลของน้ำนมดูก่อน หรือจะใช้การประคบอุ่นที่เต้านมด้วยก็ได้ค่ะ
แต่ถ้าลองแล้วไม่หาย คุณแม่ต้องหยุดคิดที่จะใช้สมุนไพรเพิ่มน้ำนมใด ๆ นะคะ แต่ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยดูว่านอกจากการตกรอบปั๊มนมบ่อย ๆ แล้ว คุณแม่มีความผิดปกติใด ๆ ที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำนมน้อยลงหรือเปล่า หรือคุณแม่อาจจะนวดเต้านมผิดวิธีหรือไม่
ไขข้อข้องใจเมื่อตกรอบปั๊มนมกับ Enfa Smart Club
กลางคืนไม่ปั๊ม น้ำนมจะหายไหม?
หากคุณแม่ตกรอบปั๊มนมในตอนกลางคืนบ่อย ๆ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณน้ำนมน้อยลงได้ค่ะ เพราะร่างกายจะจำว่าคุณแม่ไม่ได้ต้องการที่จะระบายน้ำนมออกอีกต่อไปแล้ว
ดังนั้น พยายามตั้งปลุก หรือให้สามีช่วยกันตั้งปลุก เพื่อลุกขึ้นมาปั๊มนมตามรอบ หรือถ้าหากตกรอบไปแล้ว ให้ปั๊มนมทันทีที่รู้สึกตัว เพื่อให้ร่างกายจดจำว่าคุณแม่ยังต้องการการระบายน้ำนมอยู่
เทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้า?
การนวดเต้านม เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่จะช่วยให้คุณแม่สามารถปั๊มนมได้เกลี้ยงเต้า โดยสามารถทำได้ ดังนี้
• ให้เริ่มนวดคลึงเป็นรูปก้นหอย โดยนวดให้ทั่วทั้งเต้านมประมาณ 5 นาที
• จากนั้นใช้นิ้วโป้งและนิ้วชีคลึงที่หัวนมเบา ๆ ประมาณ 2 นาที
• เมื่อรู้สึกว่าน้ำนมจะพุ่งออกมา ให้เปลี่ยนมาบีบรอบ ๆ หัวนม
• ให้สลับบีบรอบหัวนมทั้งข้างซ้ายและขวาไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่าน้ำนมไหลออกมาเกลี้ยงเต้าแล้ว
ต้องทำ PP วันละกี่รอบ?
ขึ้นอยู่กับว่าคุณแม่เลือกใช้หลักการของ PP (Power Pumping) วิธีใด เพราะมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น
• สูตร 20:10:10:10:10 คือ ปั๊มนมพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง เวลาปั๊มให้ปั๊มนาน 20 นาที พัก 10 นาที ปั๊ม 10 นาที พัก 10 นาที ปั๊ม 10 นาที รวมเป็นเวลา 60 นาทีต่อการทำ PP 1 รอบ วิธีนี้จะทำแค่วันละรอบ
• สูตร 10:10:10 x 2 รอบ คือ ปั๊มนมพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง โดยปั๊ม 10 นาที พัก 10 นาที ปั๊ม 10 นาที รวมเป็นเวลา 30 นาทีต่อการทำ PP 1 รอบ วิธีนี้จะทำวันละ 2 รอบ
- Amarin Baby&Kids. วิธี ปั๊มน้ำนม แบบ power pumping เพิ่มน้ำนมได้จริงหรือ?. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.amarinbabyandkids.com/pregnancy/baby-feeding/breast-pump-power-pumping/. [20 กันยายน 2023]
- สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ. power pumping. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://web.facebook.com/SuthiRaXeuxPhirocnKic/photos
/a.711286372230846/1870039923022146/?type=3&locale=th_TH&_rdc=1&_rdr. [20 กันยายน 2023] - พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care. ตกรอบปั๊มนมต้องทำยังไง นมไม่หด ท่อน้ำนมไม่ตัน เต้านมไม่อักเสบ หลังตกรอบปั๊มต้องปั๊มนมตอนไหน. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=yA7-CVETMUc. [20 กันยายน 2023]
- Nurse Kids. ตกรอบปั๊มน้ำนมหดทำแบบนี้. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=lXQObQgbtg0. [20 กันยายน 2023]
บทความแนะนำสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
- อาหารบำรุงน้ำนม ที่แม่น้ำนมน้อย น้ำนมหด ควรกินบ่อย ๆ
- รู้ไหม? นมแม่อยู่ได้กี่ชม. เก็บนมแม่ยังไงให้อยู่ได้นานๆ
- ปั๊มนมยังไงให้ถูกวิธี ปั๊มแบบไหนให้นมเกลี้ยงเต้า
- วิธีอุ่นนมแม่ อุ่นยังไงให้ถูกต้อง และน้ำนมไม่เสียคุณภาพ
- "นมแม่" อาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก โดยเฉพาะ "น้ำนมเหลือง" ที่มีแลคโตเฟอร์ริน MFGM และ DHA
- อาหารหลังคลอดกินอะไรดี อาหารแม่หลังคลอดห้ามกินอะไรบ้าง