ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เด็กอ้วน อันตราย! เพราะโรคอ้วนในเด็กไม่ใช่เรื่องล้อเล่น

เด็กอ้วน อันตราย! เพราะโรคอ้วนในเด็กไม่ใช่เรื่องล้อเล่น

Enfa สรุปให้:

  • โรคอ้วนในเด็ก (Childhood Obesity) คือ ภาวะที่ร่างกายมีไขมันส่วนเกินสะสมจนทำให้มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ ซึ่งโรคอ้วนในเด็กนี้จัดว่าเป็นโรคเรื้อรังชนิดไม่ติดต่อ
  • โรคอ้วนในเด็ก หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมา เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตันในเส้นเลือด ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น
  • โรคอ้วนในเด็ก ยังมีผลต่อความมั่นใจของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากถูกบูลลี่เรื่องรูปร่าง ถูกล้อเลียนสภาวะทางร่างกาย ก็จะส่งผลเสียต่อปัญหาทางจิตใจ กลายเป็นโรคจิตเวชตามมาได้อีกด้วย

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • รู้จักกับโรคอ้วนในเด็ก
     • สาเหตุและปัจจัยของโรคอ้วนในเด็ก
     • ความเสี่ยงและอันตรายของโรคอ้วนในเด็ก
     • ป้องกันความเสี่ยงการเป็นโรคอ้วนในเด็ก
     • แนะนำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพเด็ก

เด็กอ้วน เด็กจ้ำม่ำ เห็นแล้วก็น่ารัก น่าชัง ใครเห็นเป็นต้องรู้สึกหมั่นเขี้ยวขึ้นมาทันที แต่... รู้หรือไม่ว่า? ความจ้ำม่ำของเด็ก ๆ นี้ หากปล่อยไว้ในระยะยาวและไม่มีการดูแลอย่างเหมาะสม อาจกลายเป็นว่าคุณพ่อคุณแม่เองนั่นแหละ ที่ส่งเสริมให้ลูกเสี่ยงต่อโรคอ้วนในเด็กโดยที่ไม่รู้ตัว

ทำความเข้าใจกับ “เด็กอ้วน” ปัญหาสุขภาพของลูกที่ไม่ควรมองข้าม


โรคอ้วนในเด็ก (Childhood Obesity) คือ ภาวะที่ร่างกายมีไขมันส่วนเกินสะสมจนทำให้มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ ซึ่งโรคอ้วนในเด็กนี้จัดว่าเป็นโรคเรื้อรังชนิดไม่ติดต่อ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ และมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันในอนาคต หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม

โรคอ้วนในเด็ก ไม่ใช่แค่ว่าอ้วน จ้ำม่ำ แล้วก็จบกันไป แต่เป็นภาวะสุขภาพที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมา เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตันในเส้นเลือด ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้ขนาดว่าเป็นในผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เองยังใช้ชีวิตลำบาก หากเป็นในเด็ก ก็แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างใหญ่หลวงทีเดียว

มากไปกว่านั้น ปัญหาเรื่องรูปร่างยังมีผลต่อความมั่นใจของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากถูกบูลลี่เรื่องรูปร่าง ถูกล้อเลียนสภาวะทางร่างกาย ก็จะส่งผลเสียต่อปัญหาทางจิตใจ กลายเป็นโรคจิตเวชตามมาได้อีกด้วย

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอ้วนในเด็ก


โรคอ้วนในเด็ก เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น

          • พันธุกรรม เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่หรือสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคอ้วน มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคอ้วนในเด็ก

          • พฤติกรรมการกิน เด็กที่กินแต่อาหารที่มีแคลอรีสูง บริโภคน้ำตาลและไขมันมาก จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วนในเด็กมากกว่าปกติ

          • ไม่ออกกำลังกาย เด็กที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ออกกำลังกาย จะทำให้อัตราการเผาผลาญแคลอรีน้อย ส่งผลให้มีไขมันส่วนเกินสะสมและเป็นโรคอ้วน

          • ปัญหาสภาพจิตใจ ความเครียด ซึมเศร้า ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยทางอ้อมที่ส่งผลต่อโรคอ้วน เด็กบางคนเครียดมากไป ก็อาจจะทำให้กินมากขึ้น เพื่อรับมือกับความเครียด ยิ่งกินมาก ก็ยิ่งเสี่ยงต่อโรคอ้วนในเด็กมากเท่านั้น

          • ปัจจัยทางสังคม ไม่ใช่เด็กทุกคนที่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีและมีประโยชน์ได้อย่างเพียงพอ และมีเด็กอีกหลายคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี การอยู่ในสถานะที่เลือกไม่ได้เช่นนี้ ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาวอย่างโรคอ้วนได้เช่นกัน

ความเสี่ยงและอันตรายจากโรคอ้วนในเด็ก


โรคอ้วนเป็นปัญหาสุขภาพที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังในระยะยาวมากมาย ดังนี้

     • เสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2

     • เสี่ยงต่อคอเลสเตอรอลสูงและความดันโลหิตสูง

     • เสี่ยงต่อโรคหัวใจ

     • เสี่ยงต่อภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือด

     • เสี่ยงต่อโรคไขมันพอกตับ เนื่องจากมีการสะสมไขมันส่วนเกินในร่างกายมากเกินไป

     • เสี่ยงต่อการปวดตามข้อเนื่องจากน้ำหนักตัวที่มากเกินส่งผลให้เกิดแรงกดที่บริเวณข้อเข่าและสะโพก

     • มีปัญหาด้านการหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในเด็ก

ดูแลเด็กอ้วนอย่างไร เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนในเด็ก


หากลูกมีแนวโน้มของน้ำหนักตัวที่มากเกว่าเกณฑ์ หรือมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคอ้วนในเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจกับการแก้ไขปัญหาน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานโรคอ้วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาว โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลสุขภาพของลูกน้อยที่มีภาวะอ้วนได้ ดังนี้

     • แบบอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน การไม่ปล่อยให้ใครสักคนถูกโดดเดี่ยว ถือเป็นแรงผลักดันที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ แทนที่จะปล่อยให้ลูกต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแค่คนเดียว แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ร่วมด้วย ปฏิบัติไปด้วยกัน ก็จะช่วยให้ลูกมีกำลังใจ และไม่รู้สึกว่าถูกทิ้งให้ทรมานอยู่คนเดียว

     • ปรับพฤติกรรมการกิน อาจจะเป็นเรื่องที่ยากและต้องฝืนใจ แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ คุณพ่อคุณแม่ต้องเริ่มปรับมื้ออาหารให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ลดน้ำตาล ลดไขมัน ลดโซเดียม เน้นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

     • ดูแลเรื่องการหลับนอน หมั่นดูแลให้ลูกได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพออยู่เสมอ เพราะถ้าลูกนอนหลับไม่เพียงพอ จะมีผลต่อความสมดุลของฮอร์โมน และส่งผลต่อพฤติกรรมการกิน อาจทำให้อยากอาหารมากขึ้น

     • ออกกำลังกายด้วยกัน พยายามจัดกิจกรรมการออกกำลังกายให้ลูกอย่างสม่ำเสมอ และจะดียิ่งกว่าถ้าทุกคนในบ้านไปร่วมออกกำลังกายพร้อมกัน การฝึกให้ลูกเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้นก็จะช่วยเพิ่มการเผาผลาญได้ดีขึ้น

     • สร้างแรงจูงใจใหม่ ๆ เพื่อให้ลูกเกิดแรงบันดาลใจในเชิงบวก และเห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น ทั้งยังเป็นการสร้างกำลังใจที่ดีที่จะเดินหน้าควบคุมน้ำหนักและดูแลสุขภาพต่อไป

แนะนำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคอ้วนในนักเรียน


สำหรับเด็กในวัยเรียนที่มีปัญหาโรคอ้วน น้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ การทำกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยให้เด็กนักเรียนมีสุขภาพที่ดี และห่างไกลจากความเสี่ยงของโรคอ้วนได้

     • การเล่นกีฬาหลังเลิกเรียน โดยเฉพาะกีฬาประเภททีม เช่น ฟุตบอล วอลเล่ย์บอล บาสเกตบอล ที่นอกจากจะช่วยส่งเสริมการเคลื่อนไหวของร่างกายมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมทักษะทางสังคมให้กับเด็กวัยเรียนอีกด้วย

     • ส่งเสริมพฤติกรรมการกินเพื่อสุขภาพ โรงเรียนสามารถที่จะปรับ-เปลี่ยนเมนูอาหารกลางวันและของว่างให้ดีต่อสุขภาพของนักเรียนได้ ถือเป็นการสร้างสุขลักษณะนิสัยทางการกินที่ดี และเริ่มต้นได้ง่าย ๆ จากในโรงเรียนนี่เอง

     • การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้ทราบความเสี่ยงเบื้องต้นว่านักเรียนคนใดมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพในระยะยาว

     • กิจกรรมตลาดนัดสุขภาพ โดยอาจจัดให้เด็กแต่ละคนนำเมนูสุขภาพจากที่บ้านมาร่วมแบ่งปันในมื้อกลางวันร่วมกัน หรือจะจัดเป็นงานซุ้มขายอาหารสุขภาพโดยให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการคิดค้นเมนูสุขภาพด้วยตนเองก็ได้เช่นกัน

     • กิจกรรมเวิร์กช็อป จัดให้มีกิจกรรมเวิร์กช็อปเกี่ยวกับสุขภาพ เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้พูด ได้แชร์ประสบการณ์การดูแลสุขภาพของตนเอง เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการรักษาสุขภาพ



บทความแนะนำสำหรับสุขภาพลูกน้อย

บทความที่แนะนำ

baby-growth-chart
ตารางน้ำหนัก - ส่วนสูงมาตรฐานตามอายุของเด็กควรเป็นอย่างไร
Enfa Smart Club

Leaving page banner

 

Leaving page banner