Enfa สรุปให้
-
ชุดทดสอบการตกไข่ หรือ ที่ตรวจไข่ตก (LH Ovulation Test Strip) เป็นชุดทดสอบเพื่อตรวจหาว่าผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ จะมีการตกไข่ในช่วงเวลาใด หรือวันไหน
-
ที่ตรวจไข่ตกจะทำการวัดระดับฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing hormone หรือ LH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นจากต่อมใต้สมอง และทำหน้าที่ในการกระตุ้นให้รังไข่ทำการตกไข่ หากระดับฮอร์โมนลูทิไนซิงสูงถึงเกณฑ์ที่กำหนด การตกไข่ก็จะเกิดขึ้นภายใน 12-36 ชั่วโมงหลังจากการตรวจ
-
หลักการใช้งานที่ตรวจไข่ตก ก็ไม่ต่างจากการใช้ที่ตรวจครรภ์ เวลาตรวจจะทำโดยการปัสสาวะใส่ในถ้วยตวงปัสสาวะแล้วนำชุดตรวจไข่ตกไปจุ่มให้ชุ่ม หรือปัสสาวะโดยตรงใส่แถบของชุดตรวจไข่ตกให้ชุ่ม จากนั้นรอดูผล โดยแถบที่ตรวจจะมีเส้นอยู่สองเส้น เส้นแรกคือเส้นควบคุม และอีกเส้นคือเส้นสำหรับทดสอบ หากเส้นทดสอบมีสีเข้มกว่าเส้นควบคุม หรือขึ้นสองขีด แสดงว่ากำลังอยู่ในระยะของการตกไข่ แต่ถ้าเส้นทดสอบจางกว่าเส้นควบคุมจนมองไม่เห็น หรือมีขีดขึ้นแค่ขีดเดียว ถือว่ายังไม่มีการตกไข่เกิดขึ้น
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• ที่ตรวจไข่ตกคืออะไร
• ที่ตรวจไข่ตกควรใช้ตอนไหน
• ทำไมเราจึงควรตรวจวันไข่ตก
• วิธีใช้ที่ตรวจไข่ตก
• ตรวจไข่ตกตอนไหนดีที่สุด
• วิธีอ่านผลที่ตรวจไข่ตก
• ข้อควรรู้ก่อนใช้ที่ตรวจไข่ตก
• ไขข้อข้องใจเรื่องการใช้ที่ตรวจไข่ตกกับ Enfa Smart Club
นอกเหนือจากการนับวันตกไข่แล้ว อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการหาวันตกไข่ก็คือการตรวจโดยใช้ ที่ตรวจไข่ตก เพื่อดูว่าวันไหน ช่วงเวลาใด ที่มีโอกาสจะเกิดไข่ตก เพื่อจะเพิ่มโอกาสในการมีเพศสัมพันธ์และมีการปฏิสนธิตัวอ่อนจนเกิดเป็นการตั้งครรภ์ แต่ที่ตรวจไข่ตกคืออะไร ชุดตรวจไข่ตกแม่นยำมากแค่ไหน ผลของแผ่นตรวจไข่ตกมีโอกาสคลาดเคลื่อนหรือไม่ Enfa พร้อมจะมาไขข้อข้องใจนี้แล้วค่ะ
ชุดตรวจไข่ตก หรือ LH Ovulation Test Strip คืออะไร?
ชุดทดสอบการตกไข่ หรือ ที่ตรวจไข่ตก (LH Ovulation Test Strip) เป็นชุดทดสอบเพื่อตรวจหาว่าผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ จะมีการตกไข่ในช่วงเวลาใด หรือวันไหน
โดยชุดทดสอบจะทำการวัดระดับฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing hormone หรือ LH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นจากต่อมใต้สมอง และทำหน้าที่ในการกระตุ้นให้รังไข่ทำการตกไข่ หากระดับฮอร์โมนลูทิไนซิง สูงถึงเกณฑ์ที่กำหนด การตกไข่ก็จะเกิดขึ้นภายใน 12-36 ชั่วโมงหลังจากการตรวจ
มาทำความเข้าใจหลักการทำงานของชุดทดสอบฮอร์โมน LH กัน
ชุดตรวจไข่ตกมีลักษณะที่ไม่ต่างไปจากที่ตรวจครรภ์มากนัก คือจะมีแถบสำหรับตรวจ ถ้วยตวงปัสสาวะ ซึ่งบางยี่ห้อก็มีให้ บางยี่ห้อก็ไม่มีให้
หลักการใช้งานที่ตรวจไข่ตก ก็ไม่ต่างไปจากการใช้ที่ตรวจครรภ์เช่นกัน เวลาตรวจจะทำโดยการปัสสาวะใส่ในถ้วยตวงปัสสาวะแล้วนำชุดตรวจไข่ตกไปจุ่มให้ชุ่ม หรือปัสสาวะโดยตรงใส่แถบของชุดตรวจไข่ตกให้ชุ่ม จากนั้นรอดูผล โดยแถบที่ตรวจจะมีเส้นอยู่สองเส้น เส้นแรกคือเส้นควบคุม และอีกเส้นคือเส้นสำหรับทดสอบ
หากเส้นทดสอบมีสีเข้มกว่าเส้นควบคุม แสดงว่ากำลังอยู่ในระยะของการตกไข่ แต่ถ้าเส้นทดสอบจางกว่าเส้นควบคุม ถือว่ายังไม่มีการตกไข่เกิดขึ้น
ที่ตรวจไข่ตกควรใช้เมื่อไหร่
การตกไข่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางของรอบเดือน การตรวจจึงควรทำก่อนจะถึงช่วงกลางของรอบเดือนประมาณ 2-3 วัน ตัวอย่างก็คือ ประจำเดือนมาทุก 28 วัน ครึ่งหนึ่งของ 28 ก็คือ 14 ดังนั้น วันที่ 14 จึงนับเป็นช่วงกลางของการมีรอบเดือน ทีนี้หากต้องการจะทราบวันที่ไข่ตกโดยใช้ที่ตรวจไข่ตก ก็จะต้องทำการตรวจ 2-3 วันก่อนหน้านั้น ซึ่งก็จะตรงกับวันที่ 10-11 ถ้าหากมีประจำเดือนมาไม่ปกติ ก็ไม่ต้องตกใจ แต่ให้นับย้อนไปในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แล้วดูว่ามีเดือนไหนที่มีระยะของรอบเดือนสั้นที่สุด เพื่อเป็นแนวทางในการตรวจไข่ตก
โดยในกรณีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ให้เลือกจากรอบเดือนที่สั้นที่สุดเป็นหลัก และทำการตรวจให้เร็วขึ้น โดยทำการตรวจก่อนหน้าที่จะถึงช่วงกลางของรอบเดือนประมาณ 3-4 วัน
อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจจากที่ตรวจไข่ตกจะแม่นยำที่ประมาณ 97-99 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่ามีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ ควรทำควบคู่กับการนับวันไข่ตก เพื่อเพิ่มความแม่นยำมากขึ้น
ทำไมเราจึงควรตรวจวันไข่ตก
ไม่ว่าจะเป็นการนับวันไข่ตก หรือการตรวจวันตกไข่โดยใช้ที่ตรวจไข่ตก ต่างก็ทำขึ้นเพื่อหาว่าวันไหนที่จะมีการตกไข่ เพื่อที่จะได้มีเพศสัมพันธ์ในระยะเวลานั้น และหวังผลในการตั้งครรภ์ ดังนั้น หากต้องการที่จะเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ ก็ควรลองใช้ที่ตรวจไข่ตกเพื่อหาวันไข่ตก โดยทำควบคู่ไปกับการนับวันไข่ตก เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้น
ประเภทของแผ่นตรวจไข่ตกและวิธีใช้ที่ตรวจไข่ตกแต่ละแบบ
ที่ตรวจไข่ตก มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท เช่นเดียวกับที่ตรวจครรภ์ โดยที่ตรวจไข่ตกที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาและร้านสะดวกซื้อทั่วไป มีดังนี้
-
ชุดตรวจไข่ตกแบบจุ่ม
ที่ตรวจวันไข่ตกแบบจุ่ม จะมีแท่งสำรวจตรวจ และถ้วยตวงปัสสาวะ เมื่อตวงปัสสาวะใส่ถ้วยแล้ว นำแท่งตรวจจุ่มลงไปให้ชุ่ม โดยตอนจุ่มให้นำด้านที่มีหัวลูกศรลงในถ้วยปัสสาวะ แต่ระวังอย่าให้ปัสสาวะท่วมเกินแถบที่กำหนด จุ่มไว้ประมาณ 5 วินาที จากนั้นนำขึ้นมาพักไว้ราว ๆ 5 นาที เพื่อรออ่านผล
-
ชุดตรวจไข่ตกแบบตลับหยด
ที่ตรวจการตกไข่แบบตลับ หรือแบบหยด จะมีแท่งสำหรับการตรวจ หลอดหยด และถ้วยตวงปัสสาวะ (บางยี่ห้อก็มีบางยี่ห้อก็ไม่มี) เวลาตรวจให้ปัสสาวะลงในถ้วยตวง แล้วนำหลอดหยด ดูดเอาปัสสาวะขึ้นมา จากนั้นนำไปหยดลงในหลุมทดสอบประมาณ 3-4 หยด ทิ้งไว้ราว ๆ 5 นาที เพื่อรออ่านผล
-
ชุดตรวจไข่ตกแบบปัสสาวะผ่าน
ชุดทดสอบไข่ตกแบบปัสสาวะผ่าน จะมีแท่งสำหรับการตรวจมาให้ โดยแท่งดังกล่าวจะมีฝาครอบมาด้วย เวลาตรวจให้ถอดฝาครอบออก แล้วปัสสาวะให้โดนส่วนปลายของแท่งตรวจ โดยปัสสาวะผ่านประมาณ 7-10 วินาที ทิ้งไว้ราว ๆ 5 นาที เพื่อรออ่านผล
-
ที่ตรวจไข่ตกดิจิตอล
ที่ตรวจตกไข่แบบดิจิตอล มีลักษณะคล้ายกับที่ตรวจไข่ตกแบบปัสสาวะผ่าน แต่เป็นระบบดิจิตอล เวลาตรวจให้ถอดฝาครอบออก แล้วปัสสาวะให้โดนส่วนปลายของแท่งตรวจ โดยปัสสาวะผ่านประมาณ 7-10 วินาที ทิ้งไว้ราว ๆ 5 นาที เพื่อรออ่านผล โดยผลจะแสดงขึ้นเป็นระบบดิจิตอล มีผลแสดงตั้งแต่ Low คือยังไม่มีการตกไข่ High คือมีโอกาสตกไข่สูง และ Peak คือมีโอกาสตกไข่สูงสุด
ตรวจไข่ตกตอนไหนดี
ในช่วง 2-3 วันก่อนที่จะมีการตกไข่จริง สามารถทำการตรวจไข่ตกในช่วงเวลาใดก็ได้ตามที่สะดวก เช้า กลางวัน บ่าย หรือตอนเย็นก็ได้ทั้งนั้น แต่ข้อสำคัญคือในแต่ละวันที่ตรวจ ควรทำในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น ถ้าเลือกจะตรวจตอนเช้า วันอื่น ๆ ก็ควรจะตรวจในช่วงเช้าเหมือนกันหมด
มากไปกว่านั้น การดื่มน้ำหรือของเหลวอื่น ๆ สามารถเจือจางปัสสาวะได้ หากจะทำการตรวจไข่ตก ควรงดดื่มน้ำก่อนหน้านั้น 2 ชั่วโมง เพื่อให้ที่ตรวจสามารถตรวจจับระดับของฮอร์โมนลูทิไนซิงได้
อ่านผลจากชุดตรวจไข่ตกอย่างไร
ผลการตรวจจากที่ตรวจไข่ตก สามารถอ่านผลลัพธ์ได้ ดังนี้
-
ที่ตรวจไข่ตกขึ้น 2 ขีดเข้ม
หากที่ตรวจไข่ตกขึ้นสีเข้มสองขีด หรือเรียกว่าผลบวก แปลว่ามีโอกาสสูงมากที่ไข่กำลังจะตก
-
ที่ตรวจไข่ตกขึ้นขีดจาง ๆ
หากที่ตรวจไข่ตกขึ้นสองขีด แต่อีกขีดหนึ่งมีสีที่จางกว่า แปลว่า มีโอกาสที่ไข่กำลังจะตก แต่อาจจะไม่มากเท่าไหร่ หรืออาจเกิดจากการดื่มน้ำก่อนที่จะทำการตรวจ ทำให้ปัสสาวะเจือจาง จึงตรวจหาระดับฮอร์โมนลูทิไนซิงได้น้อยลง
-
ที่ตรวจไข่ตกไม่ขึ้นสีเลย
หากที่ตรวจไข่ตกขึ้นแค่ขีดเดียว ก็แปลว่ายังไม่มีไข่ตกเกิดขึ้นในช่วงนี้ หรือในบางกรณีที่พบได้ แต่พบได้น้อย คือ ที่ตรวจไข่ตกอาจชำรุด หรือไม่ได้คุณภาพ
ข้อควรรู้สำหรับว่าที่คุณแม่ก่อนใช้ที่ตรวจไข่ตก
ก่อนที่จะเริ่มใช้ที่ตรวจไข่ตก ควรเข้าใจข้อจำกัดเกี่ยวกับที่ตรวจไข่ตกเบื้องต้นก่อน ดังนี้
-
ที่ตรวจไข่ตก จะตรวจหาระดับฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing hormone หรือ LH) เพื่อดูว่ามีโอกาสที่จะมีการตกไข่หรือไม่ ถ้าระดับฮอร์โมนสูง ก็มีโอกาสที่จะเกิดการตกไข่สูง แต่ข้อสำคัญคือ...ที่ตรวจไข่ตกไม่สามารถระบุวันได้ว่าไข่จะตกในวันไหน
-
ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป หรือผู้หญิงในวัยใกล้หมดประจำเดือน ร่างกายจะผลิตอร์โมนลูทิไนซิงออกมามาก การใช้ที่ตรวจไข่ตกในผู้หญิงกลุ่มนี้ จึงไม่ให้ผลลัพธ์การตกไข่ที่แม่นยำ
-
ผู้หญิงที่มีปัญหาเกี่ยวกับภาวะการเจริญพันธุ์ หรือภาวะการมีบุตรยาก และรับประทานยาเพื่อรักษาภาวะดังกล่าว ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาคืออาจทำให้ผลการตรวจจากที่ตรวจไข่ตกคลาดเคลื่อนและไม่แม่นยำ
-
ที่ตรวจไข่ตกมีราคาที่ค่อนข้างสูง และเวลาใช้จำเป็นจะต้องใช้หลายอันเพื่อตรวจซ้ำในวันถัดไป ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก โดยที่ตรวจไข่ตกมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 300-800 บาท และสำหรับที่ตรวจไข่ตกแบบดิจิตอล อาจมีราคาสูงตั้งแต่ 1,500-3,000 บาท
ไขข้อข้องใจเรื่องการใช้ที่ตรวจไข่ตกกับ Enfa Smart Club
ใช้ที่ตรวจไข่ตกแล้วจะท้องไหม
การใช้ที่ตรวจไข่ตกไม่ได้เป็นการการันตีว่าจะมีการตั้งท้องเกิดขึ้น เพราะผลจากการตรวจอาจพบว่าไม่มีไข่ตก ซึ่งก็จะไม่นำไปสู่การท้องได้ ดังนั้น การตรวจโดยใช้ที่ตรวจไข่ตก จึงเป็นเพียงแนวทางแรกเริ่มของการวางแผนตั้งครรภ์ เพื่อให้ทราบถึงช่วงเวลาที่จะมีโอกาสเกิดการปฏิสนธิเท่านั้น ไม่สามารถการันตีว่าจะตั้งท้องได้
เพราะนอกจากเรื่องของการตกไข่แล้ว ก็ยังมีปัจจัยในเรื่องของสุขภาพคู่รัก ความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งต้องนำมาพิจารณาควบคู่กันไป
ที่ตรวจไข่ตกขึ้น 2 ขีดเข้มหลายวัน แบบนี้ผิดปกติไหม
การตรวจหาวันไข่ตก จะตรวจเพื่อหาช่วงเวลาที่จะมีการตกไข่ในระยะเวลา 12-36 ชั่วโมง แต่การที่ตรวจแล้วขึ้นสองขีดติดต่อกันหลายวัน อาจเป็นไปได้ว่าผลการตรวจผิดพลาด ชุดตรวจชำรุดหรือไม่ได้มาตรฐาน หรืออาจมีปัจจัยสุขภาพอื่น ๆ ในกรณีเช่นนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย
เครื่องตรวจไข่ตกแบบดิจิตอลแม่นยำกว่าแบบใช้แล้วทิ้งไหม
โดยทั่วไปแล้วที่ตรวจไข่ตกจะให้ผลลัพธ์แม่นยำประมาณ 97-99 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นที่ตรวจแบบดิจิตอลหรือแบบใช้แล้วทิ้ง ก็ให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกัน สิ่งสำคัญคือเลือกใช้ที่ตรวจที่ได้คุณภาพ ไม่ชำรุด ไม่หมดอายุการใช้งาน เพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำ ไม่คลาดเคลื่อน
ที่ตรวจไข่ตกสามารถซื้อจากเซเว่น หรือร้านสะดวกซื้อทั่วไปได้ไหม
ปัจจุบันที่ตรวจไข่ตกสามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าออนไลน์ และร้านขายยาทั่วไป แต่ถ้าหากอยากได้คำแนะนำในการใช้ ก็สามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาที่มีเภสัชกรแนะนำ
การตรวจไข่ตกต้องตรวจบ่อยแค่ไหน
การตรวจไข่ตกควรตรวจก่อนที่จะถึงช่วงกลางของรอบเดือนประมาณ 3-5 วัน และควรตรวจทุกวันเพื่อเช็กดูผลลัพธ์รายวัน
- Healthline. Trying to Conceive? Here’s When to Take an Ovulation Test. [Online] Accessed https://www.healthline.com/health/womens-health/when-to-take-an-ovulati…. [15 March 2022]
- What to expect. How to Use Ovulation Test Strips to Predict Your Most Fertile Days. [Online] Accessed https://www.whattoexpect.com/getting-pregnant/ovulation/ovulation-test-…. [15 March 2022]
- Verywell Family. Using Ovulation Test Strips to Detect Your Most Fertile Time. [Online] Accessed https://www.verywellfamily.com/all-about-ovulation-predictor-kits-19602…. [15 March 2022]
- WebMD. How to Use an Ovulation Test. [Online] Accessed https://www.webmd.com/parenting/how-to-use-an-ovulation-test#1. [15 March 2022]
- เมดไทย. 8 วิธีการนับวันไข่ตก (คํานวณวันไข่ตก) & การตกไข่ คือ ?. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/. [15 มีนาคม 2022]
- พบแพทย์. ตรวจไข่ตกขึ้น 2 ขีดเข้มมา 4 วันติดกันแล้ว แบบนี้ผิดปกติไหม. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.pobpad.com/. [15 มีนาคม 2022]
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- สังเกต 6 อาการคนท้องระยะเริ่มต้น ในช่วง 1 สัปดาห์แรก
- อาการแพ้ท้อง รับมืออย่างไรให้ไม่แพ้
- อยากมีลูกต้องทำไง? อยากท้องไวๆ ต้องมาดูเคล็ดลับนี้เลย
- จุกหลอก ดีหรือไม่ดีต่อเบบี๋กันแน่นะ
- ท้องลม ท้องหลอก คือท้องจริงๆ หรือว่าท้องเทียม
- อาการเจ็บเต้านม ปวดเต้านมตอนท้องแบบนี้ ปกติหรือควรระวัง?
- อาการใกล้คลอด สังเกตทัน รับมือได้
- ภูมิแพ้ในเด็ก คุณแม่ควรรับมืออย่างไรเมื่อลูกน้อยเป็นภูมิแพ้
- ไข่ตกอยู่ได้กี่วัน มีเพศสัมพันธ์ช่วงวันไข่ตกจะท้องจริงหรือ