Enfa สรุปให้:
- ทารกเพศชายวัย 6 เดือน หนักประมาณ 7.9 กิโลกรัม สูงประมาณ 67.6 เซนติเมตร ทารกเพศหญิงวัย 6 เดือน หนักประมาณ 7.3 กิโลกรัม สูงประมาณ 65.7 เซนติเมตร
- เด็ก 6 เดือน เริ่มที่จะสนใจกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น จ้องมองมากขึ้น ทั้งยังสามารถที่จะจดจำใบหน้าที่คุ้นเคยได้มากขึ้น เริ่มส่งเสียงเป็นคำที่อาจจะยังไม่ได้ใจความนัก เช่น มามา ดาดา ปาปา โอโอ
- เด็ก 6 เดือน เป็นวัยที่คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มฝึกให้กินอาหารตามวัย (Solid Foods) ควบคู่ไปกับการให้นมแม่หรือนมผง เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารและพลังงานที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• มีอะไรบ้างเกิดขึ้นในช่วงอายุ 6 เดือน
• น้ำหนักและส่วนสูงของทารกวัย 6 เดือน
• การกินของทารกวัย 6 เดือน
• การขับถ่ายของทารกวัย 6 เดือน
• การนอนของทารก 6 เดือน
• พัฒนาการเด็กทารก 6 เดือน
• กระตุ้นพัฒนาการทารก 6 เดือนอย่างไร
• ไขข้อข้องใจเรื่องพัฒนาการทารกวัย 6 เดือน กับ Enfa Smart Club
วันเวลาผ่านไป ไวเหมือนโกหก เผลอแว๊บเดียวเจ้าตัวเล็กก็กลายเป็นเด็ก 6 เดือนแล้ว นี่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากค่ะ เพราะระบบต่าง ๆ ในร่างกายของทารกเริ่มจะพัฒนาได้เต็มที่มากขึ้นแล้ว และทารกวัยนี้ก็จะเริ่มกินอาหารอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากนมแม่แล้วด้วย เรามาดูกันค่ะว่าพัฒนาการเด็ก 6 เดือน มีพัฒนาการใดที่น่าสนใจบ้างนะ
เด็ก 6 เดือน มีอะไรบ้างที่เกิดขึ้นในช่วงอายุ 6 เดือน
สำหรับเด็ก 6 เดือนนั้น ช่วงนี้ถือเป็นช่วงแห่งการแสดงออกค่ะ ทั้งแสดงออกทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก เริ่มส่งเสียงเป็นคำที่อาจจะยังไม่ได้ใจความนัก เช่น มามา ดาดา ปาปา โอโอ เด็ก 6 เดือนเริ่มที่จะสนใจกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น จ้องมองมากขึ้น ทั้งยังสามารถที่จะจดจำใบหน้าที่คุ้นเคยได้มากขึ้นด้วย
และสิ่งที่จะต้องเตรียมตัวเตรียมใจยอมรับให้ดีเลยก็คือ เจ้าตัวเล็กวัยนี้ กำลังจะเริ่มคลานแล้วค่ะ ซึ่งนั่นอาจหมายถึงความยุ่งเหยิงต่าง ๆ ที่จะตามมา เพราะคราวนี้เจ้าตัวเล็กพร้อมแล้วที่จะเริ่มออกสำรวจมุมต่าง ๆ ภายในบ้าน ของมีคม ของที่เสี่ยงจะเกิดอันตราย คุณพ่อคุณแม่ต้องเริ่มเก็บเข้าที่เข้าทางให้เรียบร้อย เพราะอาจเป็นอันตรายกับลูกได้ค่ะ
น้ำหนักและส่วนสูงของพัฒนาการทารก 6 เดือน
เมื่อทารกเข้าเดือนที่ 6 ทารกก็จะมีรูปร่างที่ใหญ่ขึ้น น้ำหนักตัวมากขึ้น และมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละคนจะมีน้ำหนักและส่วนสูงที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ตามเกณฑ์ที่เหมาะสม แต่ก็มีบ้างบางกรณีที่ทารกวัย 6 เดือน มีน้ำหนักและส่วนสูงที่เกินหรือต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น
น้ำหนักทารก 6 เดือน
แล้วแบบนี้พัฒนาการทารก 6 เดือน หนักกี่โลกันนะ? น้ำหนักของทารกวัย 6 เดือนนั้น สามารถแบ่งออกตามเพศโดยกำเนิดได้ดังนี้
• ทารกเพศชายวัย 6 เดือน หนักประมาณ 7.9 กิโลกรัม
• ทารกเพศหญิงวัย 6 เดือน หนักประมาณ 7.3 กิโลกรัม
ส่วนสูงทารก 6 เดือน
ส่วนสูงของทารกวัย 6 เดือนนั้น สามารถแบ่งออกตามเพศโดยกำเนิดได้ดังนี้
• ทารกเพศชายวัย 6 เดือน สูงประมาณ 67.6 เซนติเมตร
• ทารกเพศหญิงวัย 6 เดือน สูงประมาณ 65.7 เซนติเมตร
การกินของทารกวัย 6 เดือน
อาหารการกินของทารกวัย 6 เดือน เริ่มที่จะกินอาหารอื่น ๆ นอกจากนมแม่ได้แล้วค่ะ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าให้เลิกกินนมแม่เลยนะคะ นมแม่ยังคงเป็นอาหารหลักเช่นเดิม เพียงแต่จำต้องเพิ่มอาหารตามวัยอื่น ๆ เข้ามาเสริมด้วยค่ะ
โภชนาการสำหรับทารก 6 เดือน
ทารกวัย 6 เดือน สามารถกินอาหารอื่น ๆ ได้แล้ว แต่... อาหารอื่น ๆ ที่ว่านั้น เด็ก 6 เดือน กินอะไรได้บ้างล่ะ? ซึ่งอาหารที่เด็กวัย 6 เดือนสามารถกินได้เพื่อพัฒนาการเด็ก 6 เดือนคือ
• ผัก เช่น ฟักทองบด มันบด
• ผลไม้ เช่น กล้วยบด มะม่วงสุกบด
• เนื้อสัตว์ เช่น ตับบด ไข่แดงบด
• ธัญพืชต่าง ๆ เช่น ข้าวบด ข้าวโอ๊ตบด
ซึ่งอาหารที่ว่านี้ ยังจำเป็นจะต้องมีการบดให้ละเอียดก่อนนะคะ เพราะแม้ว่าทารกจะสามารถกินอาหารตามวัยได้แล้ว แต่ยังจำเป็นจะต้องมีเนื้อสัมผัสที่นิ่ม เพื่อให้เด็กสามารถกลืนลงคอและย่อยได้ง่ายค่ะ
อาหารตามวัยนี้ ในแต่ละวันทารกควรได้รับประมาณ 1 ถึง 2 ช้อนโต๊ะสำหรับช่วงแรกที่เริ่มให้เด็กกินอาหารตามวัย เมื่อทารกเริ่มคุ้นชินกับอาหารตามวัยแล้ว สามารถเพิ่มขึ้นเป็น 3 ถึง 9 ช้อนโต๊ะได้ค่ะ
ปริมาณนมที่เหมาะสมสำหรับเด็ก 6 เดือน
ทารกวัย 6 เดือน ยังสามารถกินนมแม่ได้ตามปกติ หรือจะเริ่มให้เด็กกินนมผงสลับด้วยก็ได้เช่นกัน โดยปริมาณน้ำนมที่ทารกควรได้รับจะอยู่ที่ประมาณ 24 ถึง 30 ออนซ์ต่อวัน
Solid Foods
Solid Foods อาหารแข็ง หรืออาหารตามวัย เป็นอาหารที่ทารกวัย 6 เดือนควรจะต้องเริ่มทำความรู้จักกับอาหารรูปแบบอื่นที่นอกเหนือไปจากนมแม่ และควรต้องได้รับในปริมาณที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการกินนมแม่หรือนมผง เนื่องจากเด็กวัย 6 เดือนนี้ จำเป็นจะต้องได้รับสารอาหารและพลังงานที่มากขึ้นเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ซึ่งนมแม่เพียงอย่างเดียว ถือว่าไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องได้พลังงานและสารอาหารที่มีประโยชน์จากอาหารตามวัยนี้ด้วย
การขับถ่ายของเด็ก 6 เดือน
ทารกวัย 6 เดือน แน่นอนค่ะว่าเมื่อเริ่มกินอาหารอื่น ๆ ควบคู่ไปกับนมแม่ อัตราความถี่ในการอุจจาระก็อาจจะเพิ่มมากขึ้น ลักษณะอุจจาระ รวมถึงสีของอุจจาระ ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปตามอาหารที่กิน จากที่เมื่อก่อนจะเป็นอุจจาระจากการกินนมแม่แค่เพียงอย่างเดียว
ทารก 6 เดือน ถ่ายวันละกี่ครั้ง
สุขภาพของเด็กแต่ละคนนั้นแตกต่างกันค่ะ ดังนั้น จึงถือว่าเป็นเรื่องยากที่จะเจาะจงว่าทารกวัย 6 เดือนจะขับถ่ายวันละกี่ครั้ง ตามพัฒนาการทารก 6 เดือน อาจจะเป็น 1 ครั้ง 2 ครั้ง 3 ครั้ง หรือ 4 - 6 ครั้งต่อวันก็ได้เช่นกันค่ะ
สีอุจจาระของทารกวัย 6 เดือน
อุจจาระปกติควรจะเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองเข้ม แต่ในช่วงวัย 6 เดือนนี้ คุณแม่อาจะเริ่มสังเกตว่าสีอุจจาระลูกบางครั้งก็เปลี่ยนไป โดยบางครั้งอาจมีสีเขียวออกมาด้วย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้และไม่ใช่เรื่องผิดปกตินะคะ เพราะเด็กวัยนี้เริ่มกินอาหารอื่น ๆ นอกเหนือจากนมแม่แล้ว สีของอุจจาระ อาจแปรเปลี่ยนไปตามผักและผลไม้ที่ทารกกินเข้าไปได้ค่ะ
แต่ถ้าหากทารกมีอุจจาระสีดำ อุจจาระสีแดง อุจจาระสีขาว และอุจจาระสีเทา ถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย ควรพาลูกไปพบแพทย์ค่ะ
การนอนของทารก 6 เดือน
การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็ก 6 เดือนมีพัฒนาการที่สมบูรณ์และแข็งแรง จึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องพาลูกน้อยเข้านอนให้เหมาะสม
เด็ก 6 เดือน นอนกี่ชั่วโมง
เด็กวัย 6 เดือน ควรจะนอนให้ได้ประมาณ 14-15 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นนอนตอนกลางวัน 3-4 ชั่วโมง และนอนตอนกลางคืนอีก 11 ชั่วโมง
เด็ก 6 เดือน ไม่ยอมนอนควรทำอย่างไร
ทารกวัย 6 เดือน บางครั้งอาจจะไม่ยอมนอน กล่อมยังไงก็ไม่ยอมนอน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากฟันที่เริ่มขึ้น ทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายตัว จนนอนไม่หลับ หรือเด็กอาจจะหิว เนื่องจากเริ่มโตขึ้นและต้องการพลังงานมากขึ้น ซึ่งวิธีรับมือเมื่อลูกนอนไม่หลับนั้น สามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้
• ควรดูให้แน่ใจว่าในแต่ละวันลูกได้กินนมและกินอาหารเพียงพอหรือไม่ หากลูกกินน้อยเกินไป อาจส่งผลให้เด็กตื่นกลางดึกบ่อย ๆ เพราะหิวนม
• การอุ้ม การกอด การลูบหลัง หรือสัมผัสที่อบอุ่น สามารถช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย ปลอดภัย และหลับได้ง่ายขึ้น
• จัดบรรยากาศให้เหมาะกับการนอน ไฟไม่ควรจะสว่างจ้า ควรจะสลัวให้มากที่สุด เพื่อให้เหมาะสมกับการนอนหลับ
• เมื่อจะพาลูกเข้านอน พยายามมีบทสนทนาให้น้อยที่สุด เพื่อเป็นสัญญาณว่าต้องเข้านอนแล้ว ยิ่งพูดคุยและหยอกล้อมาก อาจทำให้เด็กเข้าใจว่าตอนกลางคืนเป็นเวลาแห่งการเล่นสนุก
• ก่อนพาลูกเข้านอน ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมชิ้นใหม่ เพราะถ้ายังใช้ผ้าอ้อมชิ้นเดิม บางครั้งผ้าอ้อมอาจจะเต็มในตอนดึก ทำให้ลูกไม่สบายตัว และนอนไม่หลับได้
ฝึกลูกนอนยาว 6 เดือน
การฝึกลูกนอนยาวนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกันทุกบ้านค่ะ เพราะเด็กแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน และพัฒนาการเด็ก 6 เดือนก็แตกต่างกัน วิธีรับมือก็แตกต่างกัน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจมีวิธีเฉพาะที่ช่วยให้ลูกนอนหลับได้นานขึ้นในแบบฉบับของตัวเอง อย่างไรก็ตาม วิธีง่าย ๆ ดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้ลูกนอนหลับได้ยาวขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
• การให้ลูกเข้านอนในเวลาเดิมทุกวัน จะช่วยให้เด็กเริ่มจดจำว่า ช่วงเวลาแบบนี้ ตอนพ่อแม่ทำแบบนี้ เป็นเวลาเข้านอนแล้ว
• ลดเสียงรบกวนภายในห้องนอนของเด็กให้ได้มากที่สุด ไฟต้องสลัว เสียงเพลงกล่อมสามารถเปิดเบา ๆ ได้ เพื่อคลอจนทารกหลับ เมื่อหลับแล้วควรปิด เพื่อให้บรรยากาศสงบ เหมาะแก่การนอน
• พยายามให้ลูกได้กินอาหารตามวัย และกินนมอย่างเพียงพอ จะช่วยลดปัญหาลูกตื่นกลางดึกเพราะหิวได้ค่ะ
• พยายามอย่าให้ลูกนอนกลางวันนานเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกไม่ยอมนอน หรือนอนแป๊บเดียวแล้วก็ตื่น
• พยายามสร้างสัญญาณการนอน เช่น การอ่านนิทาน การร้องเพลงกล่อมก่อนเข้านอน เด็กก็จะค่อย ๆ เริ่มจดจำว่า เมือ่ถึงกิจกรรมเช่นนี้ แปลว่าใกล้จะได้เวลานอนแล้ว เป็นการช่วยฝึกให้เด็กเริ่มเข้านอนเป็นเวลา และสามารถนอนได้นานขึ้นค่ะ
พัฒนาการเด็ก 6 เดือน
สำหรับพัฒนาการทารก 6 เดือน ถือได้ว่าเจ้าตัวน้อยเติบโตมาจนครึ่งขวบแล้วนะคะ ซึ่งเดือนนี้ลูกกำลังเปลี่ยนผ่านจากเด็กที่นอนเล่นเป็นหลักมาเป็นนั่งเล่นเป็นหลักกันบ้างแล้ว รวมทั้งสนใจโลกรอบตัวมากขึ้นอีกด้วย มาดูพัฒนาการรอบด้านของลูกน้อยเดือนนี้กันค่ะ
พัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็ก 6 เดือน
• พัฒนาการทารก 6 เดือน หลายคนเริ่มมีอาการคันเหงือกหรือไม่ค่อยสบายจากการที่ฟันใกล้จะงอก ซึ่งส่งผลให้ลูกอาจงอแงได้ ทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาเจ็บปวดและความรู้สึกอารมณ์หงุดหงิดของลูกได้ คือให้คุณแม่ลองหายางกัดลวดลายน่ารัก ๆ ขนมปังกรอบ หรือผักผลไม้เนื้อแข็ง เช่น แตงกวา แอปเปิ้ล มาให้ลูกถือกัดเล่นแก้คันเหงือกได้
• เด็ก 6 เดือนจะอารมณ์ดีถ้าได้เล่น ยิ่งมีคนเล่นด้วยยิ่งชอบ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่ควรจัดสรรเวลาสำหรับการเป็นเพื่อนเล่นของลูกด้วย การเล่นที่จะทำให้หนูน้อยวัยนี้อารมณ์ดีก็คือ การเล่นจ๊ะเอ๋ เพียงแค่เอามือหรือผ้าปิดหน้าเราแล้วเปิดออก เจ้าตัวเล็กก็หัวเราะชอบใจแล้ว
• เด็กเริ่มที่จะมีอาการพึงพอใจกับตนเองมากขึ้น มักจะชอบยิ้มให้กับเงาตนเองในกระจกบ่อย ๆ
พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารของเด็ก 6 เดือน
• เด็ก 6 เดือนจะเริ่มส่งเสียงเลียนพยัญชนะได้มากขึ้น คุมการออกเสียงได้มากขึ้นแต่ว่ายังไม่ค่อยเป็นภาษาเท่าไร และมักใช้วิธีการส่งเสียงเพื่อบอกอารมณ์ต่าง ๆ ของตัวเอง
• พัฒนาการทารก 6 เดือน สามารถที่จะจดจำและรู้จักชื่อตัวเอง พร้อมที่จะหันหาเมื่อมีคนเรียก มีปฏิสัมพันธ์ตอบกลับเมื่อถูกเรียกชื่อ
พัฒนาการด้านสมองของเด็ก 6 เดือน
• เด็ก 6 เดือนจะเริ่มเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างมือและของที่อยู่ในมือผ่านการทำซ้ำ ๆ เช่น บางคนชอบที่จะคว้าของ โยน หรือปล่อยของลงพื้นซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อสังเกตดูปฏิกิริยาของสิ่งของที่ตกลงบนพื้น รวมไปถึงท่าทีของคนอื่น ๆ ต่อการกระทำของเขา และจะส่งเสียงให้รู้ว่าช่วยเก็บของมาคืนหนูหน่อย
• ระบบประสาทต่าง ๆ ของเด็ก 6 เดือนทำงานสัมพันธ์กันมากขึ้น คว้าสิ่งของด้วยความแม่นยำมากขึ้น มองตามวัตถุได้ทั้งซ้ายและขวา อย่างไรก็ตาม เด็กๆ ควรได้รับการพัฒนาระบบการรับรู้อย่างรอบด้าน ทั้งการมอง การได้ยิน การสัมผัสและการรับรส เพราะเด็กที่มีโอกาสมองเห็น ได้ยินและเคลื่อนไหวไปพร้อม ๆ กัน จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะการคิดได้หลากหลายและสมองทำงานเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบมากขึ้นด้วย
• เด็ก 6 เดือนสามารถเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะกิจวัตรประจำวัน รู้ว่าตื่นนอนแล้ว แม่จะพาไปอาบน้ำ กินนม เล่น เป็นต้น เด็ก 6 เดือนจะเข้าใจหน้าที่ของของเล่นและของใช้ต่าง ๆ ได้ดี โดยเชื่อมโยงกับกิจกรรมประจำวัน เช่น ช้อนเอาไว้ตักอาหารเข้าปาก
พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของเด็ก 6 เดือน
• พัฒนาการเด็ก 6 เดือน สามารถหันหน้าเอี้ยวตัวไปมาได้อย่างคล่องแคล่ว เช่นเดียวกับการพลิกคว่ำที่บางครั้งอาจพลิกคว่ำมาเป็นท่าทางกึ่งนั่งได้
• เดือนนี้คุณแม่อาจได้เห็นลูกพยายามเคลื่อนตัวไปข้างหน้าในลักษณะคืบไปข้างหรือถอยหลังได้บ้างแล้ว
• เด็ก 6 เดือนสามารถนั่งได้มั่นคงขึ้น แต่คุณแม่ก็ต้องหาหมอนหรือเบาะนุ่มๆ วางไว้รอบ ๆ ตัวลูกป้องกันไว้ เพราะบางครั้งลูกอาจเสียศูนย์ หน้าคว่ำหรือหงายหลังได้
• ลูกสามารถถือขวดนม จับแก้วน้ำแบบมีหูเองได้แล้ว จับของเล่นและถ่ายของจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่งได้อย่างคล่องแคล่วเช่นกัน
กระตุ้นพัฒนาการทารก 6 เดือนด้วยวิธีไหนดี
วิธีเล่นกับลูก 6 เดือน เพื่อกระตุ้นพัฒนาการนั้นถือว่ามีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ทารกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ แข็งแรง และสมวัย คุณพ่อคุณแม่สามารถเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ทุกวัน ดังนี้
1. พัฒนาการทารก 6 เดือน ด้านอารมณ์และสังคม
เด็กวัย 6 เดือน เริ่มที่จะสนุกกับการเข้าหาและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมทักษะด้านอารมณ์และสังคมของลูกน้อยได้ ดังนี้
• พยายามพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ อาจจะเป็นเรื่องต่าง ๆ ใกล้ตัว เรื่องอาหาร เรื่องนิทาน เพื่อเสริมทักษะปฏิสัมพันธ์ โดยเวลาพูดให้พยายามพูดด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะ อ่อนโยน
• พยายามหาของเล่นที่เด็กสามารถเห็นเงาสะท้อนของตัวเองได้ เช่น กระจก เพื่อให้เด็กสามารถเห็นหน้าตาและการเคลื่อนไหวของตัวเองได้
• พยายามให้ลูกได้เล่นเกมที่ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น
2. พัฒนาการทารก 6 เดือน ด้านภาษาและการสื่อสาร
พัฒนาการทารก 6 เดือน เริ่มมีการโต้ตอบ เริ่มมีการแสดงออกถึงสิ่งที่ตนเองต้องการมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมทักษะด้านภาษาและการสื่อสารของลูกน้อยได้ ดังนี้
• พยายามมีส่วนร่วมกับบทสนทนาของลูก พูดโต้ตอบกับลูกบ่อย ๆ แม้ว่าลูกจะยังไม่สบามารถตอบกลับเป็นภาษาที่เข้าใจได้ก็ตาม
• พยายามเรียกชื่อลูกบ่อย ๆ เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับชื่อของตนเอง และสามารถที่จะคุ้นเคย หรือมีการโต้ตอบกลับเมื่อถูกเรียกชื่อ
3. พัฒนาการทารก 6 เดือน ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้
สมองของเด็ก 6 เดือนพัฒนาขึ้นมาก เด็กเริ่มที่จะสงสัย อยากรู้ อยากเห็น อยากหยิบจับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมทักษะด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ของลูกน้อยได้ ดังนี้
• พยายามหาของเล่นที่เด็ก 6 เดือน สามารถหยิบขึ้นมาได้ด้วยมือเดียว เพื่อให้เด็กสามารถหยิบจับและทำความเข้าใจกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ง่ายขึ้น
• เวลาเล่นของเล่นกับลูก ควรมีบทสนทนาในการเรียกชื่อของเล่นต่าง ๆ ด้วย เพื่อให้เด็กเกิดการจดจำสิ่งใหม่ ๆ รอบตั
4. พัฒนาการทารก 6 เดือน ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว
เด็กวัย 6 เดือน สามารถเคลื่อนที่ได้อิสระมากขึ้น เริ่มที่จะม้วนตัวเองได้ กลิ้งไปมาได้ เริ่มคลานได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมทักษะด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวของลูกน้อยได้ ดังนี้
• พยายามปล่อยให้ลูกได้มีอิสระในการหยิบจับของเล่นด้วยตัวเอง ให้ลูกสามารถคลานไปมาได้ ได้ลองกลิ้งตัว ม้วนตัวด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องเข้าไปช่วยทุกครั้ง เพียงแค่คอยระวังเมื่อจะเกิดท่าทางที่เป็นอันตรายก็พอ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวที่มากขึ้น
ไขข้อข้องใจเรื่องพัฒนาการทารกวัย 6 เดือน กับ Enfa Smart Club
ลูก 6 เดือน ยังไม่นั่ง ปกติไหม?
เด็กวัย 6 เดือน สามารถที่จะเริ่มลุกขึ้นนั่งเองได้โดยไม่ต้องให้พ่อกับแม่คอยประคองแล้วค่ะ แต่ก็อาจจะยังทุลักทุเลอยู่บ้าง อาจมีการเอนเอียงนิดหน่อย แต่โดยรวมถือว่าเริ่มนั่งเองได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม เด็ก 6 เดือนบางคนก็อาจจะยังไม่เริ่มนั่งในเดือนที่ 6 ซึ่งไม่ถือว่าผิดปกติค่ะ เพราะช่วงเวลาที่เด็กจะเริ่มลุกขึ้นนั่งเองนั้นจะอยู่ระหว่างเดือนที่ 6-8 แต่ถ้าเข้าเดือนที่ 9 แล้วลูกยังไม่สามารถลุกขึ้นนั่งเองได้ ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยค่ะ
ทารก 6 เดือน กินข้าวกี่มื้อ?
ทารก 6 เดือนเริ่มกินอาหารตามวัยอื่น ๆ นอกเหนือจากนมแม่ได้แล้ว แต่อาหารหลักก็ยังคงเป้นนมแม่อยู่นะคะ ส่วนอาหารตามวัยนั้นในระยะเดือนที่ 6 นี้ อาจเริ่มให้แค่เพียงวันละมื้อก่อนค่ะ แล้วค่อยเพิ่มจำนวนมื้อเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
ทารก 6 เดือน กินผลไม้อะไรได้บ้าง?
ทารกวัย 6 เดือนสามารถกินผลไม้ได้หลายชนิดมากค่ะ ตราบเท่าที่ผลไม้นั้นมีเนื้อสัมผัสที่นิ่ม และไม่แข็งจนเกินไป โดยผลไม้เด็ก 6 เดือน ที่เหมาะ เช่น กล้วย อะโวคาโด มะม่วงสุก มะละกอสุก เป็นต้น
ลูก 6 เดือนตกเตียง ต้องไปพบแพทย์ไหม?
อาจต้องดูปัจจัยแวดล้อมร่วมด้วยค่ะ เช่น ลูกตกจากเตียงสูงมากไหม ลูกมีเลือดออกไหม ลูกตัวนิ่งแข็งทื่อไหม ลูกร้องไห้ไม่หยุดหรือเปล่า หากมีอาการข้างต้น ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยค่ะ
แต่ถ้าหากลูกไม่มีอาการใด ๆ ที่น่าเป็นห่วง เช่น แม้จะร้องไห้ แต่ปลอบแล้วก็หยุดร้อง และสามารถกินนม กินข้าวได้ตามปกติ อย่างนี้ก็สบายใจได้ค่ะ ถือว่าไม่มีอาการที่น่ากังวล อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่ไม่สบายใจ ก็สามารถพาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการเช็กดูว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับลูกหรือไม่
เด็ก 6 เดือนนอนยาก ทำอย่างไรดี?
วิธีรับมือเมื่อเด็ก 6 เดือนนอนไม่หลับนั้น สามารถทำไดหลายวิธี เช่น
• ควรดูให้แน่ใจว่าในแต่ละวันลูกได้กินนมและกินอาหารเพียงพอหรือไม่ หากลูกกินน้อยเกินไป อาจส่งผลให้เด็กตื่นกลางดึกบ่อย ๆ เพราะหิวนม
• การอุ้ม การกอด การลูบหลัง หรือสัมผัสที่อบอุ่น สามารถช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย ปลอดภัย และหลับได้ง่ายขึ้น
• จัดบรรยากาศให้เหมาะกับการนอน ไฟไม่ควรจะสว่างจ้า ควรจะสลัวให้มากที่สุด เพื่อให้เหมาะสมกับการนอนหลับ
• เมื่อจะพาลูกเข้านอน พยายามมีบทสนทนาให้น้อยที่สุด เพื่อเป็นสัญญาณว่าต้องเข้านอนแล้ว ยิ่งพูดคุยและหยอกล้อมาก อาจทำให้เด็กเข้าใจว่าตอนกลางคืนเป็นเวลาแห่งการเล่นสนุก
• ก่อนพาลูกเข้านอน ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมชิ้นใหม่ เพราะถ้ายังใช้ผ้าอ้อมชิ้นเดิม บางครั้งผ้าอ้อมอาจจะเต็มในตอนดึก ทำให้ลูกไม่สบายตัว และนอนไม่หลับได้
- Verywell Family. Average Baby Weight and Length By Age. [Accessed] https://www.verywellfamily.com/first-year-infant-growth-431721#toc-average-baby-length-height. [2 March 2023]
- Verywell Family. Your 6-Month-Old Baby’s Development and Milestones. [Accessed] https://www.verywellfamily.com/your-6-month-old-baby-development-and-milestones-4172585#toc-6-month-old-baby-food. [2 March 2023]
- Unicef. Your baby's developmental milestones at 6 months. [Accessed] https://www.unicef.org/parenting/child-development/your-babys-developmental-milestones-6-months#social-and-emotional. [2 March 2023]
- Active Babies Smart Kids. When should a baby be sitting? ‘Please do not sit me until I do it by myself’. [Accessed] https://activebabiessmartkids.com.au/articles/please-sit/?v=322b26af01d5. [2 March 2023]
- What to expect. 6-Month-Old Baby. [Accessed] https://www.whattoexpect.com/first-year/month-by-month/month-6.aspx#section-body. [2 March 2023]
- The Bump. 6-Month-Old Baby. [Accessed] https://www.thebump.com/baby-month-by-month/6-month-old-baby#3. [2 March 2023]
- โรงพยาบาลสมิติเวช. เบบี๋ตกเตียง เมื่อไหร่ที่พ่อแม่ควรตกใจ. [เข้าถึงได้จาก] https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/เบบี๋ตกเตียง. [2 มีนาคม 2023]
บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 1 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 2 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 3 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 4 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 5 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 6 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 7 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 8 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 9 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 10 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 11 เดือน
- คู่มือคุณแม่เมื่อต้องดูแลทารก 1 ขวบ