ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
สิ่งที่ต้องระวัง! เมื่อฝากคนอื่นเลี้ยงลูก

สิ่งที่ต้องระวัง! เมื่อฝากคนอื่นเลี้ยงลูก

หากเลือกได้เชื่อแน่ว่าคุณแม่ทุกคนคงอยากเลี้ยงลูกเอง แต่ในเมื่อเลือกไม่ได้ คุณแม่ต้องกลับไปทำงานจึงต้องให้คนอื่นเลี้ยงลูกให้ ไม่ว่าจะเป็นปู่ย่าตายายหรือพี่เลี้ยงเด็ก ซึ่งการให้คนอื่นเลี้ยงลูกเองนั้นแม้จะช่วยแบ่งเบาภาระคุณแม่ช่วงที่ไปทำงานได้ แต่ก็มีบางเรื่องที่คุณแม่ควรระวังหรือควรตั้งรับไว้เพื่อจะได้ป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะตามมา

เมื่อต้องให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงลูก ต้องระวังสิ่งนี้

 

การเลี้ยงลูกนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นคอยดูแล และให้เวลากับลูกเท่าที่ทำได้ อย่าปล่อยให้พี่เลี้ยงเลี้ยงลูกอยู่อย่างเดียว

 

• แนวทางการเลี้ยงลูกไม่เหมือนกัน

แนวทางการเลี้ยงลูกที่ไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องยอดฮิตที่ต้องเจอเมื่อคุณแม่ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงลูกให้ เพราะต่างเติบโตมาในยุคสมัยที่แตกต่างกัน คุณแม่ว่าแบบนี้ปู่ย่าตายายว่าแบบนั้น หากปู่ย่าตายายขอดูแลหลานให้ระหว่างคุณแม่ไปทำงาน ขอให้คุณแม่ยืดหยุ่นตัวเองลงบ้าง คุณแม่บางคนจะระมัดระวังทุกเรื่องที่เกี่ยวกับลูก วางระเบียบแบบแผนเอาไว้เป๊ะทุกประการ ผิดจากนี้มีเครียดกันเลยทีเดียว เมื่อปู่ย่าตายายไม่ทำตามตาราง ก็ถูกดุ โวยวายใส่ท่าน โดยลืมไปว่าท่านเป็นพ่อแม่ของเรา ดังนั้นหากเรื่องไหนดูแล้วไม่เป็นอันตราย หรือเป็นผลเสียมากนัก คุณแม่ก็ยืดหยุ่นลงสักนิด ถ้าเรื่องสำคัญหรือเป็นอันตรายก็ค่อยเคร่งครัด
ที่สำคัญ แทนที่จะพูดให้ท่านเสียใจว่าวิธีของท่านตกยุคแล้ว ควรหาโอกาสเหมาะๆ คุยกับท่าน ขอบคุณที่ท่านยอมเหน็ดเหนื่อยมาช่วยเลี้ยงหลานให้ ชวนคุยถึงอนาคตของหลานที่ท่านคิดไว้ อยากเห็นหลานเป็นอย่างไรบ้าง จากนั้นก็วางแผนการดูแลหลานร่วมกัน ชวนท่านมารู้ข้อมูลใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กัน เช่น เปิดรายการทีวีเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกดูด้วยกัน หาหนังสือเรื่องการดูแลเด็กมาให้อ่านบ้าง ท่านก็อาจจะเข้าใจสางที่เราคิด เห็นมุมมองความเชื่อของเรา ยอมรับการเลี้ยงลูกแบบที่เราต้องการได้มากขึ้น ความขัดแย้งเรื่องการเลี้ยงลูกก็จะลดลงได้บ้าง

• ปู่ย่าตายายตามใจหลาน

ปู่ย่าตายายเกือบทุกคนตามใจหลานเพราะท่านคิดว่าการตามใจคือการให้ความรัก ซึ่งหากมากเกินไปจะเสี่ยงต่อการที่ลูกจะโตมาแบบขาดวินัยได้ เพราะถูกคนเลี้ยงตามใจ ตอนลูกยังเล็กปัญหานี้อาจจะยังไม่เห็นชัด แต่เมื่อลูกโตขึ้น คุณแม่อาจต้องร่วมกันสร้างวินัย สร้างกฎให้กับลูกร่วมกันกับปู่ย่าตายายว่าสิ่งไหนให้หลานทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้ เช่น ต้องกินข้าวให้เสร็จก่อนจึงจะเล่นได้ ไม่ใช่คุณยายตามป้อนขณะที่หลานเล่นไปด้วย หลานต้องเก็บของเล่นเข้าที่เองหลังจากเล่นเสร็จแล้วคุณย่าไม่ต้องเก็บให้ เป็นต้น

เมื่อให้พี่เลี้ยงเลี้ยงลูก ต้องระวังสิ่งนี้

 

การให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงลูกดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าหากเราไม่คอยดูแลลูกเลยลูกอาจโดนตามใจจนเคยตัวได้

 

• ลูกติดพี่เลี้ยงมากกว่าพ่อแม่

ปัญหาลูกติดพี่เลี้ยงมากกว่าพ่อแม่ เกิดได้เมื่อคุณพ่อคุณแม่มีเวลาให้ลูกน้อย ไม่ค่อยมาคลุกคลีใกล้ชิด ปล่อยให้พี่เลี้ยงดูแลลูกเรามากไป ทั้งๆ ที่บางเวลา เช่น เวลาเลิกงาน กลางคืน และวันหยุด เราสามารถใช้เวลาอยู่กับลูก เพื่อชดเชยเวลาที่หายไปขณะเราไปทำงานได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหานี้เมื่อเลิกงานกลับมา คุณแม่ควรดูแลลูกเอง ใกล้ชิดลูกมาก วันหยุดก็อยู่กับเขา ทำกิจกรรมต่างๆ กับเขา กลางคืนก็นอนกับเขา ไม่ปล่อยให้อยู่กับพี่เลี้ยง เพื่อลูกจะได้ใกล้ชิดผูกพันกับคุณแม่
หากลูกมีเวลาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่น้อย ความสำคัญของพ่อแม่ในความรู้สึกของลูกก็จะลดน้อยลงไปมาก จริงอยู่ เราไม่จำเป็นต้องอยู่กับเขาตลอด 24 ชั่วโมง แต่ลูกต้องรู้สึกได้ถึงการอยู่ด้วยกัน รู้สึกได้ถึงความรักใคร่ใส่ใจของพ่อแม่ที่มีให้เขาในแต่ละวัน ความรู้สึกว่าพ่อแม่มีความสำคัญสำหรับเขา และเขาเองก็มีความสำคัญสำหรับชีวิตพ่อแม่ด้วย แล้วเขาจะไม่ติดพี่เลี้ยงอย่างแน่นอน

• พี่เลี้ยงทำร้ายลูก

การให้พี่เลี้ยงซึ่งเป็นคนอื่นมาเลี้ยงลูกให้เรานั้นถือว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงทีเดียว เพราะหากได้พี่เลี้ยงไม่ได้คุณภาพ ผลเสียจะตกอยู่ที่ลูกน้อยของเรา ไม่ว่าจะเป็นลูกถูกทำร้าย ลูกกินไม่อิ่ม ลูกไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างที่ควรจะเป็น ฯลฯ
ดังนั้นคุณแม่จึงต้องให้ความสำคัญกับการเลือกพี่เลี้ยงตั้งแต่เริ่มแรก ดูให้ละเอียดถี่ถ้วน หลังเลิกงานกลับบ้านก็ต้องสังเกตลูกน้อยของเราว่าดูร่าเริงดีหรือไม่ มีท่าทางหิวหรือไม่ เนื้อตัวลูกมีรอยฟกช้ำดำเขียวหรือบาดแผลหรือไม่ ฯลฯ และควรติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้เพื่อเช็คดูการทำงานของพี่เลี้ยงด้วย คุณแม่จะได้เบาใจระดับหนึ่ง
เหล่านี้คือสิ่งที่คุณแม่ต้องตั้งรับเมื่อให้คนอื่นเลี้ยงลูกแทนเราค่ะ นอกจากนี้สำหรับเด็กเล็กเรื่องการกินนมก็เป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่ไม่ควรละเลยที่จะบอกคนเลี้ยงลูกเราในเรื่องต่อไปนี้

• คนเลี้ยงจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเราได้รับนมเพียงพอ

เรื่องการกินนมของลูกนั้น คุณแม่ต้องพูดคุยรายละเอียดกับคนเลี้ยง (ทั้งย่ายายและพี่เลี้ยงเด็ก) ตั้งแต่แรกเริ่ม ดังนี้
- หากลูกกินนมผงก็ต้องบอกเขาเรื่องปริมาณนมที่ลูกกินในแต่ละมื้อ และวันละกี่มื้อ ชงนมให้เขาดูว่าใช้นมผงกี่ช้อนชงกับน้ำปริมาณเท่าไหร่ แต่ละมื้อลูกกินห่างกันกี่ชั่วโมง หากเขาให้ลูกกินตามที่คุณแม่บอกไว้ก็แน่ใจได้ว่าลูกเราได้รับนมเพียงพอ
- หากลูกกินนมแม่ คุณแม่ก็ต้องเป็นคนบอกเขาเช่นกันว่าแต่ละวันลูกกินนมวันละกี่ออนซ์ วันละกี่มื้อ เพื่อคนเลี้ยงจะได้อุ่นนมในสต็อกให้เพียงพอกับการกินในแต่ละมื้อของลูก
- เมื่อได้นมตามที่ลูกกินในแต่ละมื้อแล้ว บอกคนเลี้ยงว่าให้ป้อนนมลูกให้หมดขวด เพื่อลูกจะได้รับนมอย่างเพียงพอ หลังจากลูกอิ่มนมก็ให้เขาจับลูกไล่ลมด้วย
- เพื่อความมั่นใจว่าลูกได้รับนมอย่างเพียงพอ ให้คนเลี้ยงนับจำนวนการถ่ายปัสสาวะของลูกในแต่ละวันว่าได้จำนวน 5-6 ครั้งหรือไม่

• สอนคนเลี้ยงอุ่นนมแม่ให้ถูกสุขลักษณะ

- ตอนเย็น คุณแม่เอานมจากช่องแช่แข็งลงมาไว้ให้ละลายที่ช่องตู้เย็นธรรมดาก่อน 1 คืนตามปริมาณที่ลูกกินใน 1 วัน
- เมื่อนมละลายแล้ว ถ้าลูกชอบกินนมแบบเย็นๆ ก็บอกคนเลี้ยงว่าเพียงเขย่าให้ไขมันที่แยกชั้นละลายเข้ากัน หรือนำถุงนมมาแช่หรือแกว่งในน้ำธรรมดาก่อนแล้วป้อนให้ลูกได้เลย แต่ถ้าลูกชอบกินแบบอุ่น ให้คนเลี้ยงแกว่งถุงนมในน้ำอุ่นหรืออุ่นขวดนมในหม้อใส่น้ำวางบนเตาหรือเครื่องอุ่นนม แต่ห้ามอุ่นน้ำนมโดยตรงบนเตาหรือไมโครเวฟ เพราะจะทำลายสารอาหารที่อยู่ในนม
- เน้นย้ำกับคนเลี้ยงว่าหากลูกต้องการกินนมเพิ่ม ไม่ควรปล่อยให้นมแช่แข็งละลายเองที่อุณหภูมิห้อง ถ้าต้องการให้นมละลายเร็ว ให้แช่ในน้ำธรรมดาจนนมละลายแล้วจึงเปลี่ยนเป็นแช่น้ำอุ่นแล้วนำไปป้อนลูก
- อย่าลืมเน้นย้ำคนเลี้ยงว่าน้ำนมแม่ที่นำมาละลายหรืออุ่นแล้ว และลูกกินไม่หมดในมื้อนั้นๆ ให้ทิ้งไป ไม่นำกลับมาแช่เย็นหรือกินอีกในมื้อต่อไป

แม้ว่าจริงๆ แล้วคุณแม่ควรจะเลี้ยงลูกเอง แต่เมื่อจำเป็นต้องให้คนอื่นเลี้ยงลูก เราก็สามารถดูแล เอาใจใส่คนเลี้ยงลูกเราให้เลี้ยงอย่างที่เราต้องการได้เช่นกันแม้ว่าจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตามค่ะ

 

บทความที่แนะนำ

คุณแม่มือใหม่กลับไปทำงานแบบมืออาชีพ
ปั๊มนมทำสต็อกก่อนแม่กลับไปทำงาน
กลับไปทำงานน้ำนมหด กู้น้ำนมยังไงดี
Enfa Smart Club

Leaving page banner

 

Leaving page banner