ตรวจสอบข้อมูลโดย : ผศ.พญ.ดิษจี ลุมพิกานนท์
กุมารแพทย์ สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
วชิรพยาบาล
นมแม่ดีที่สุดโดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน
ลูกน้อยทุกๆคนนั้นควรได้รับน้ำนมแม่ในระยะ 1-3 วันแรกนั่นก็คือ ซึ่งมีแลคโตเฟอร์ริน โปรตีนในนมแม่ที่จะพบได้มากที่สุดในน้ำนมเหลือง ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา จึงช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย
แต่เมื่อลูกน้อยโตขึ้น ก็ถึงเวลาที่คุณแม่ต้องกลับไปทำงานหรือต้องมีกิจกรรมนอกบ้านแล้วปั๊มนมใส่ขวดหรือใส่แก้วให้ลูกกิน เด็กที่ไม่เคยได้รับการฝึกให้กินนมจากขวด จะงอแง ไม่ยอมกินนม เพราะเขาไม่คุ้นกับจุกนมหรือดื่มจากขวดหรือแก้วมาก่อน เรื่องนี้สำคัญ คุณแม่ต้องฝึกให้นมลูกจากขวดหรือแก้วก่อนที่จะกลับไปทำงานนะคะ เพราะหากไม่ฝึกลูกอาจไม่ยอมกินนมเอาได้ค่ะ
ฝึกให้นมลูกจากขวดเริ่มได้เมื่อไหร่
สำหรับคุณแม่ที่ทำงานด้วย ให้นมลูกด้วย แนะนำให้วางแผนให้ลูกฝึกดูดนมจากขวดตั้งแต่เริ่มเข้าสู่เดือนที่สอง ที่ไม่ควรฝึกในเดือนแรก เพราะลูกอาจสับสนระหว่างจุกนมที่เป็นยางและหัวนมแม่ได้ค่ะ เมื่อเด็กอายุมากกว่า 1 เดือนไปแล้ว จะสามารถปรับตัวเข้ากับหัวนมแม่และจุกนมขวดได้ คุณแม่จึงควรลูกดูนมจากขวดบ้างวันละครั้ง เมื่อถึงเวลาที่คุณแม่ต้องไปทำงานจะได้ไม่มีปัญหา ส่วนคุณแม่ที่ให้ลูกกินนมขวดอยู่แล้วก็ไม่มีปัญหานี้
วิธีฝึกให้ลูกดูดนมจากขวดทำได้ดังนี้ค่ะ
-
ให้ลูกรู้จักจุกนมก่อน
โดยทำให้เป็นของเล่นของลูก ซึ่งลูกอาจอยากเคี้ยวจุกเล่นดูก่อน ปล่อยให้ลูกคุ้นเคย ให้เล่นกับจุกนมก่อนที่จะดูดจริง
-
ฝึกลูกในช่วงเย็นหลังจากดูดนมปกติไปแล้ว
ช่วงนี้ลูกจะอารมณ์ดี เพราะได้กินอิ่มแล้ว เริ่มจากนมในปริมาณน้อยๆ ประมาณครึ่งออนซ์ดูก่อน
-
เลือกจุกนมให้ถูกใจลูก
โดยเลือกแบบที่เป็นยางซิลิโคนที่มีผิวสัมผัสยืดหยุ่นนุ่มนวลคล้ายเต้านมแม่ เลือกจุกนมแบบที่ไหลช้าๆ คุณแม่สามารถดูดได้จากข้างกล่องจะเขียนว่า slow-flow จุกเบอร์ 1 ซึ่งน้ำนมไหลช้าๆ เหมือนการดูดจากเต้านมของคุณแม่
-
อย่าให้แม่ฝึกเพราะกลิ่นแม่เป็นปัญหา
คุณแม่ต้องให้ผู้อื่นให้นมลูก เพราะหากคุณแม่เป็นคนป้อนลูกจะจำกลิ่นแม่ได้ และเขาก็จะเรียกร้องการดูดนมจากเต้า ไม่ยอมดูดขวด ทำให้ฝึกไม่สำเร็จค่ะ
-
ให้ลูกชิมนมที่จุกนมก่อน
โดยคุณแม่ใช้น้ำนมแม่เล็กน้อยแตะที่จุกนม ให้ลูกได้ลองชิมดูก่อน พอรู้ว่าเป็นน้ำนมแม่ที่กินประจำลูกจะมั่นใจในการดูดมากขึ้น
-
เตรียมนมให้พร้อมดูด
ไม่ควรให้ลูกดูดจุกนมที่เย็น หรือน้ำนมแม่ที่เย็น ควรให้นมอุณหภูมิปกติก่อนค่อยนำมาป้อน จะได้เหมือนกินน้ำนมแม่
-
เบี่ยงเบนความสนใจลูก
ควรหากิจกรรมที่ทำให้ลูกผ่อนคลายขณะฝึกดูดขวด ถ้าลูกน้อยเป็นเด็กที่ติดการเคลื่อนไหว ให้ใช้การเคลื่อนไหวเพื่อหยุดการร้องไห้ ลองนั่งเก้าอี้โยกป้อนนมดู จะทำให้ลูกผ่อนคลายและเพ่งความสนใจไปที่จังหวะการโยกเก้าอี้ของคุณแม่ จนดูดนมจากขวดเพลินไปเลยค่ะ
-
ฝึกดูดจากแก้วเป็นขั้นต่อไป
หลังจากที่ฝึกให้นมลูกจากขวดแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็ฝึกลูกกินนมจากแก้ว กุมารแพทย์ส่วนใหญ่แนะนำว่าควรฝึกลูกกินนมจากแก้วประมาณเดือนที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกกินอาหารเสริมได้แล้ว แต่หากลูกยังไม่พร้อมก็อาจรอและไปเริ่มที่อายุ 9 เดือน เด็กๆ มีความอยากรู้อยากเห็น คุณแม่จึงให้เขาลองได้จิบน้ำหรือนมจากแก้ว แล้วค่อยๆ เพิ่มเป็นการฝึกดูดจากหลอด ครั้งแรกลูกอาจจะบ้วนน้ำหรือนมออกมาบ้าง เตรียมผ้ากันเปื้อนเอาไว้ให้พร้อม แต่ใช้เวลาไม่นานลูกๆ ก็สามารถฝึกดูดจากขวดและแก้วได้อย่างแน่นอนค่ะ
จุกนมหลอก ตัวช่วยคุณแม่
คุณแม่คงเคยได้ยินคนเตือนมาบ้างว่า อย่าให้ลูกดูดจุกนมหลอกเล่นโดยไม่จำเป็น แต่ในการฝึกลูกดูดนมจากขวด จุกนมหลอกเป็นตัวช่วยคุณแม่ได้ค่ะ เพราะมีลักษณะเหมือนจุกนมจริงนั่นเอง จึงช่วยให้เด็กคุ้นเคย คุณแม่สามารถให้ลูกดูดจุกนมหลอกได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยวิธีป้อนจุกนมหลอกสลับกับป้อนนมจากเต้าระหว่างให้นมแม่ วิธีนี้จะทำให้ปากของลูกได้รู้จักสัมผัสใหม่ ๆ นอกจากเต้านมแม่ รวมถึงคุ้นเคยกับการดูดนมจากจุกนมยางมากขึ้น เมื่อถึงเวลาให้นมลูกจากขวดจริงๆ ลูกจะยอมรับได้ง่าย
ควรเลือกจุกนมหลอกที่ติดกันเป็นชิ้นเดียว สามารถทำความสะอาดได้ และมีขนาดเหมาะสมกับช่วงอายุของลูก ขนาดฐานของจุกนมหลอกควรกว้างไม่น้อยกว่าหนึ่งนิ้วครึ่ง ทำด้วยพลาสติกที่แข็งแรง และมีรูระบายด้วย
สิ่งที่แม่ควรใส่ใจ
-
ลูกกินนมจากขวดได้น้อยเป็นเรื่องปกติ
การดูดนมจากขวดครั้งแรก ลูกอาจจะดูดได้ไม่มากตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ ต้องสลับกับกินจากเต้าด้วยเพื่อให้ลูกได้รับนมอย่างเพียงพอ คุณแม่อย่ากังวลนะคะ ค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ เมื่อลูกชินแล้ว จะดูดนมเพิ่มมากขึ้น
-
การฝึกต้องใช้เวลา
ในการฝึกให้นมลูกจากขวดแทนการให้นมจากเต้า ต้องค่อยๆ ฝึก และสิ่งสำคัญคือคนช่วยป้อนต้องใจเย็นและอดทน เพราะลูกจะงอแงหรือต่อต้าน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และในช่วงวันหยุดที่คุณแม่ได้อยู่กับลูก อย่าใจอ่อนให้ลูกดูดจากเต้าทุกมื้อนะคะ ควรให้ลูกได้กินนมแม่จากขวดเป็นหลัก และสลับมาเข้าเต้าเป็นบางมื้อ เพราะไม่เช่นนั้นลูกจะกลับไปติดหัวนมแม่ได้อีก
สำหรับคุณแม่ที่ไม่ได้ฝึกให้นมลูกจากขวดมาก่อน แต่มาฝึกในอาทิตย์สุดท้ายของวันลาคลอด คงต้องทำใจกันสักนิด เพราะจะฝึกไม่ทัน ลูกจะงอแง เพราะฉะนั้นต้องวางแผนการฝึกกันดีๆ ค่ะ ขอให้คุณแม่ประสบความสำเร็จนะคะ